หลบความวุ่นวายมาผ่อนคลายและฟังเสียงของใจท่ามกลางธรรมชาติกับเส้นทาง ‘มุมมองเติบโตผ่านสวน’

ท่ามกลางชีวิตคนเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและเสียงรบกวนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเสียงรถสัญจรไปมา เสียงก่อสร้าง เสียงกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทั้งวันทั้งคืน รวมไปถึงเสียงของผู้คนรอบตัวที่ไม่ว่าจะไปไหนก็มักจะมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาให้เราได้ยินและรับรู้อยู่เสมอ

ในหนึ่งวันตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เราต้องรับฟังเสียงจากสิ่งแวดล้อมมากมาย การฟังจึงเป็นทักษะสำคัญต่อการใช้ชีวิตเพราะเราต้องใช้ในการสื่อสาร คำถามคือเราคิดว่าตัวเองเป็นผู้ฟังที่ดีมากน้อยแค่ไหน?

เส้นทางที่ 2 ‘มุมมอง เติบโตผ่านสวน’ ของกิจกรรมการเรียนรู้ที่ OKMD ร่วมกับ BASE Playhouse และ a day ชวนทุกคนหลบหนีความวุ่นวายมาหยุดนิ่ง ฟังและสำรวจเสียงรอบตัวในสวนป่าใจกลางเมืองที่มีความหลากหลายของเสียงจากธรรมชาติ เพื่อสะท้อนเสียงภายในใจของตัวเอง ซึ่งกระบวนการของกิจกรรมจะมีทั้งหมด 4 ช่วงคือ Open Ears, Reminding, Deep Listening และ Self-listening and Empowering โดยมี แอ๊ป-ปิยฉัตร สินพิมลบูรณ์ จาก BASE Playhouse เป็นผู้นำกระบวนกิจกรรมของเส้นทางนี้

เปิดหู เปิดตา เปิดใจ

จากจุดลงทะเบียน พวกเราเดินตรงมายังลานกว้างอัฒจันทร์ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมในครั้งนี้ บริเวณนี้ตั้งอยู่ใกล้กับถนนภายนอกของสวนเบญจกิติ ด้วยความที่สวนป่าเบญจกิติตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ หากลองตั้งใจฟังดีๆ ก็จะได้ยินเสียงวุ่นวายภายนอกแทรกอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเสียงรถยนต์บนถนน เสียงงานก่อสร้าง เสียงกดชัตเตอร์ถ่ายรูป เสียงพูดคุยจ้อกแจ้กของผู้คนที่เดินไปมา หรือแม้แต่เสียงลำโพงขายของอยู่เป็นระยะๆ

ในขณะเดียวกันก็มีเสียงภายในสวนมาจากทุกทิศทาง เพราะทันทีที่ก้าวย่างเข้ามาในสวนป่าแห่งนี้ เราได้ยินเสียงธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกนานาชนิด เสียงจิ้งหรีดร้อง เสียงกิ่งไม้เสียดสีกัน เสียงคลื่นน้ำ หรือแม้แต่เสียงลมเย็นพัดโชยผ่านใบหน้าก็ตาม

‘เราได้ยินเสียงอะไรกันบ้าง’ แอ๊ปเริ่มต้นกิจกรรมโดยการชวนทุกคนทำความคุ้นเคยโดยฟังเสียงรอบตัว จากนั้นให้แต่ละคนอธิบายลักษณะเสียงที่ได้ยินอย่างละเอียดเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด อย่างเช่น ระดับของความทุ้ม ความดัง จังหวะสั้นยาว หรือความรู้สึกที่เกิดเมื่อได้ฟัง โจทย์แรกคือให้ผู้เข้าร่วมอธิบายเสียงพูดของวิทยากร มีคนตอบว่า เสียงฉะฉานมีพลัง เสียงดุ เสียงใจดี เสียงที่บอกว่ามีประสบการณ์ และต่างๆ มากมาย

ต่อมาเป็นเสียงเคาะ Singing bowl มีคนตอบว่าเป็นเสียงที่มีความถี่สูง เสียงกังวาน เสียงถูไถของวัตถุสองชิ้นที่เสียดสีกัน เสียงที่ให้ความรู้สึกสงบนึกถึงวัด เสียงที่ทำให้รู้สึกโฟกัสมากขึ้น เสียงที่ทำให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวเหมือนมีบางสิ่งเข้าไปแล้วทำงานกับความรู้สึกข้างในตัวเอง แต่อีกคนกลับบอกว่าเสียงนี้พาเขาออกไปยังโลกภายนอก

ทำไมทุกคนถึงฟังเสียงเดียวกัน แต่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน เราเก็บความสงสัยนี้ไว้แล้วทำภารกิจต่อไป

หลังจากนั้นให้แต่ละคนเดินชมธรรมชาติ และเก็บเสียงที่ได้ยินรอบตัวภายในบริเวณที่กำหนด โดยเลือกเสียงที่เราสนใจมา 1 เสียงแล้วเขียนอธิบายเสียงนั้นอย่างละเอียดที่สุดลงในกระดาษแผ่นใหญ่ พร้อมเขียนคำเฉลยบนกระดาษโน้ต เมื่อภารกิจเริ่มขึ้นทุกคนต่างจดจ่ออยู่กับตัวเองเพื่อฟังเสียงรอบข้าง บางคนก็เดินออกไปฟังเสียงตามจุดต่างๆ

เมื่อหยุดนิ่งตั้งใจฟังเสียงรอบข้างอย่างมีสมาธิ เราได้ยินตั้งแต่เสียงอื้ออึงของจักจั่น เสียงลมกระทบกาย เสียงนกร้องโต้ตอบกัน เสียงกระหึ่มของเครื่องยนต์ที่สัญจรไปมาบนถนน เสียงนกหวีดของเจ้าหน้าที่ เสียงรองเท้ากระทบพื้นทั้งพื้นปูนและพื้นหญ้า ไปจนถึงเสียงพูดคุยของผู้คนที่แว่วมาจากที่ไกลๆ ซึ่งมีทั้งเสียงที่ทำให้เรารู้สึกดีและเสียงที่ทำให้เรารู้สึกรำคาญปะปนกันเต็มไปหมด

เมื่อครบเวลาห้านาที เรารวมตัวแบ่งกลุ่มกันเพื่อผลัดกันอ่านเสียงที่ตัวเองได้บันทึกมาให้ผู้เข้าร่วมในกลุ่มฟังแล้วทายว่าเสียงนั้นคือเสียงอะไร ระหว่างทำกิจกรรมทุกคนดูสนุกสนานกับการทายเสียงต่างๆ

เสียงที่ดังอยู่ในใจ

กิจกรรมต่อไปนี้ แอ๊ปชวนทุกคนสลับกระดาษกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ โดยให้เลือกคำในกระดาษของคนอื่นที่เราสนใจ แล้วนึกถึงเสียงที่เทียบเคียงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตหรือประสบการณ์ที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงกับเสียงภายในใจของตัวเอง

เมื่อแต่ละคนเลือกคำของตัวเองได้แล้ว ก็ได้จับคู่กันเพื่อเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเสียงนั้นๆ กับฝ่ายตรงข้ามว่าสถานการณ์ตอนนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน และเป็นอย่างไรบ้าง โดยมีกติกา 5 อย่างด้วยกันคือ ไม่ตัดสิน, ไม่ด่วนปลอบใจ, ไม่แทรกถาม, ไม่แนะนำ และไม่ทำแทน เพื่อสะท้อนความรู้สึกทั้งตอนเป็นผู้เล่าและตอนเป็นผู้ฟังให้ได้มากที่สุด

ระหว่างที่ทุกคนผลัดกันเล่าหรือฟังเรื่องราวของกันและกัน บางคนมีหน้ายิ้มแย้มหัวเราะเต็มไปด้วยความสุข บางคนก็มีเคล้าน้ำตา รู้สึกคิดถึง เพราะเหมือนตัวเองได้กลับไปทบทวนบางอย่างที่มันเลือนลางไป ทุกคนล้วนรับฟังด้วยความตั้งใจและมีความรู้สึกร่วมด้วย เมื่อบวกกับความเป็นห่วงเป็นใยจึงทำให้ระหว่างบทสนทนามีบางคนแอบเผลอทำข้อห้ามในกติกาไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

ฟังด้วยใจไม่ใช่แค่หู

เคยเป็นไหมเวลาที่มีคนมาปรึกษาปัญหาชีวิตแล้วเราได้ให้คำแนะนำไปต่างๆ นานา แต่เขาไม่ได้ทำตามในสิ่งที่เราบอก จนบางครั้งอาจจะทำให้เรารู้สึกขัดใจอยู่บ่อยๆ

อาจเป็นเพราะเรารับฟังแค่ ‘เสียง’ แต่ไม่เคยฟัง ‘น้ำเสียง’ ของเขาเลย

‘ทำไมเราจะต้องฝึกฟัง’ แอ๊ปตั้งคำถามชวนคิดต่อ พร้อมพูดถึงทฤษฎีการฟังอย่างลึกซึ้งของอ็อตโต ชาเมอร์ (Otto Scharmer) นักวิชาการศึกษาชาวเยอรมัน ที่บอกว่าหากเราต้องการส่งสารไปเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง เราควรฟังด้วยหัวใจตามทฤษฎีตัวยู (Theory U) สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้

  1. Downloading คือ ผู้ฟังได้ยินและตัดสินจากความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ หรือความคุ้นเคยเดิมของตัวเองเป็นหลัก และนำข้อมูลที่มีในสมองออกมาแสดงปฏิกิริยาทันที การฟังขั้นนี้ตัวผู้ฟังจะมีข้อสรุปในใจของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังทั้งหมดอยู่แล้ว ทำให้ไม่ได้ตั้งใจฟังผู้พูดจริงๆ และจะเห็นด้วยกับสิ่งที่ตนเองเห็นด้วยเท่านั้น
  2. Factual Listening คือ ผู้ฟังไม่ยัดเยียดความเชื่อหรือประสบการณ์เดิมของตัวเอง แต่จะหยุดฟังเรื่องราวจนได้ยินเนื้อหาทั้งหมด และเอาไปเปรียบเทียบกับเนื้อหาที่เคยมีมาก่อนในชีวิต ส่วนใหญ่การโต้แย้งและการปะทะอารมณ์มักจะเกิดขึ้นในระดับนี้
  3. Empathic Listening คือ ผู้ฟังจะฟังจนได้ยินความรู้สึกและอารมณ์ของผู้พูด เข้าใจสิ่งสำคัญที่ผู้พูดกำลังจะสื่อ โดยไม่มีความคิดเห็นหรือทัศนคติที่แตกต่างแสดงออกระหว่างสนทนา หลายครั้งก็มีอารมณ์ร่วมไปกับผู้พูดจนถึงขั้นหัวเราะหรือร้องไห้ไปด้วยกัน เป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา
  4. Generative Listening คือ ผู้ฟังรับฟังอย่างใส่ใจเหมือนเข้าไปนั่งในใจของผู้พูด เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับมนุษย์แล้วเข้าด้วยกัน จนแทบจะได้ยินเสียงลมหายใจและระดับหัวใจว่าเต้นถี่ขนาดไหน รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละชั่วขณะของผู้พูด รวมไปถึงเปิดใจรับฟังในสิ่งที่ไม่รู้ ไม่ชอบ ไม่พอใจให้สามารถปรากฏขึ้นมาและผ่านไปได้ด้วย

มีคนสงสัยต่อว่าหลังจากระดับที่ 4 แล้วจะเป็นยังไงต่อไป แอ๊ปอธิบายว่า เมื่อได้ทำตามครบทั้ง 4 ระดับแล้ว วิธีการแก้ปัญหาจะใช้งานได้หรือไม่ได้ต้องใช้วิจารณญาณของแต่ละคน ไม่มีหลักการที่ตายตัวเพราะคนที่จะตอบได้ชัดเจนที่สุดคือผู้ฟังเอง แต่ก่อนที่เราจะให้คำแนะนำหรือสะท้อนอะไรออกไป ถ้าใจเรายังสั่นไหวหรือยังมีอารมณ์ของตัวเองเป็นส่วนใหญ่ก็ไม่ควรพูดออกไป ให้เก็บเอาไว้ก่อน จนกว่าเราจะสามารถสะท้อนบริบทภาพรวมและเข้าไปนั่งในใจร่วมกับเขาแล้วจริงๆ

ทิ้งท้ายกิจกรรมด้วยการให้ทุกคนเลือกคำที่เชื่อมโยงกับเสียงในใจตัวเอง อาจจะเป็นเสียงที่สามารถเยียวยาและฮีลใจเราได้ในวันที่แย่หรือวันที่เรารู้สึกเหนื่อยล้า โดยให้เขียนลงในกระดาษ รวบรวมและแบ่งปันซึ่งกันและกัน ทุกคนสามารถหยิบกลับไปสร้างพลังเชิงบวกให้กับตัวเองและคนรอบข้างเพื่อสามารถกลับไปเผชิญเรื่องต่างๆ ในชีวิตต่อไปได้

มีคำตอบมากมายน่าสนใจ เราเก็บบางส่วนมาให้ผู้อ่านทุกคนได้หยิบไปใช้กันต่อไป

‘เราชอบเสียงช้อนชงกาแฟ เพราะเป็นเสียงที่สร้างพลังใจด้วยตัวเองได้โดยที่เราไม่ต้องพึ่งพาเสียงจากที่อื่น เสียงช้อนชงกาแฟเป็นเสียงที่เราได้ยินทุกเช้า ซึ่งเป็นสัญญาณการเริ่มต้นใหม่ในแต่ละวัน เวลาที่ท้อก็แค่ไปชงกาแฟ หมดก็ชงใหม่เรื่อยๆ ได้ทั้งวัน ถ้าเป็นเวลาที่ชงไม่ได้แล้วเป็นสัญญาณของจบวัน เราต้องหยุดเพื่อไปพักผ่อนได้แล้ว’

‘เราเลือกเสียงจากความเงียบ แต่ละวันเราฟังอะไรมาเยอะมาก การที่อยู่เงียบๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรเลยมันก็ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง เราได้เคลียร์ทุกอย่าง เราปล่อยทุกอย่างแล้วค่อยกลับมาเริ่มต้นใหม่’

‘เราคิดว่าเสียงจากด้านในของตัวเอง เรามักจะชอบพูดกับตัวเองเวลาเจอสถานการณ์ที่กดดันหรือเครียดจากงาน ก็จะบอกตัวเองว่าไม่เป็นไรนะเดี๋ยวมันก็ผ่านไป บางทีเราไม่ได้แค่พูดแต่เราตบบ่าตัวเองแล้วพูดไปด้วย ทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปได้’

ในแต่ละวันที่เราต้องพบเจอกับปัญหามากมาย เราอยากชวนทุกคนลองหาเวลาเพียงไม่กี่นาทีออกมาฟังเสียงลม เสียงคลื่นน้ำ เสียงสัตว์ต่างๆ ตามธรรมชาติ เพราะเสียงเหล่านี้อาจจะทำให้เราลืมความวุ่นวายต่างๆ และทำให้จิตใจเราสงบลงได้ในเวลาเดียวกัน

สุดท้ายนี้เราเชื่อว่าหากทุกคนเปิดใจรับฟังด้วยหัวใจอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะกับตัวเราเองหรือคนอื่นก็ตาม ก็จะสามารถให้คำแนะนำและพาตัวเองและคนที่เรารักออกจากสถานการณ์ที่ยากลำบากได้อย่างตรงจุดมากขึ้น แม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถใช้ทฤษฎีนี้ได้กับทุกเรื่องในชีวิต และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนคลายลงได้บ้างก็ยังดี