ร็อกแอนด์โรล จากดนตรีของคนดำ สู่สัญลักษณ์แห่งความขบถและการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ

หากแจ๊ซคือดนตรีอิมโพรไวซ์ที่ทำให้คนนิ่งและนั่งฟัง 

ร็อกแอนด์โรลก็คือดนตรีที่ปลุกให้ทุกคนลุกขึ้นเต้นอย่างบ้าคลั่งอีกครั้ง

แม้ปัจจุบันคนจะคิดว่าแนวดนตรีในตำนานนี้ตายไปแล้ว แต่ในช่วงหนึ่ง ร็อกแอนด์โรล เป็นเหมือนความหวังใหม่ของโลกดนตรี ต่อจากยุคปลายของดนตรีแจ๊ซที่นักดนตรีทำเพลงซับซ้อนขึ้น เต้นยากขึ้น แต่ไม่มีใครเลยที่ต้านทานจังหวะของร็อกแอนด์โรลได้ จนกลายเป็นเพลงขวัญใจของวัยรุ่นทั่วโลกในยุคนั้น

บทความนี้เราสรุปเนื้อหาจากงานเสวนา เสียงเพลงแห่งศตวรรษ จัดโดย OKMD และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล งานนี้ใช้ชื่อตอนว่า ‘Rock ‘n Roll ร็อคกันเถิดเรา’ พาเราย้อนกลับดูบรรยากาศของโลกในยุคที่ร็อคแอนด์โรลกำลังเบ่งบาน  สำรวจที่มาที่ไปของดนตรีร็อกแอนด์โรลในรอบ 100 ปี และเหตุการณ์ที่น่าสนใจในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมคลั่งไคล้นักร้องนำ ต้นแบบการเล่นวงแบบปัจจุบัน การเปลี่ยนดนตรีของคนผิวดำมาเป็นของคนผิวขาว ก่อนย้อนกลับมาดูจุดเริ่มต้นดนตรีประเภทนี้ในไทย

ทำไมดนตรีร็อกแอนด์โรลถึงกลายเป็นตำนาน คงต้องย้อนกลับไปราวต้นยุค 50 ในบรรยากาศแห่งชัยชนะของอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เชื้อเชิญให้หนุ่มสาวออกมากระโดดไปตามจังหวะดนตรี และตั้งคำถามถึงโลกที่สงบสุขอีกครั้ง

การล่มสลายของวงดนตรี Big Band 

จะบอกว่าจุดเริ่มต้นของร็อกแอนด์โรลเกิดขึ้นได้เพราะดนตรีแจ๊ซเข้าสู่ช่วงขาลงก็คงไม่ผิดนัก

ย้อนกลับไปปี 1940 ยุคปลายของเพลงแจ๊ซยุครุ่งเรือง นักดนตรีมักเล่นเป็นวงใหญ่แบบที่เรียกว่า Big Band ซึ่งเป็นวิธีการเล่นที่เหมาะกับยุคสมัยเนื่องจากยังไม่มีการประดิษฐ์เครื่องขยายเสียง การเล่นแบบวงใหญ่จึงทำให้เสียงไปได้ไกลมากขึ้น 

แต่หลังจากนั้นไม่นาน วงดนตรี Big Band ก็ซบเซาอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุผลหลัก 3 ข้อคือ หนึ่ง นักดนตรีเบื่อหน่ายจากการเล่นดนตรีจังหวะเดิมๆ สอง นักดนตรีต่างถูกเรียกไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลต่อมาในเหตุผลข้อที่สาม คือภาวะสงครามทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ขาดแคลนเงินจ้างนักวงดนตรีในวงใหญ่ๆ 

ผลที่ตามมาคือ นักดนตรีรวมตัวกันประท้วงหยุดงานกับค่ายเพลงเพราะไม่ได้รับค่าตอบแทนจากยอดขายแผ่นเสียง ลุกลามไปจนถึงการแบนสถานีวิทยุที่เปิดเพลงแต่ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ จนค่ายเพลงไม่มีเพลงใหม่ๆ ออกมา และวิทยุก็เล่นแต่เพลงเดิมซ้ำๆ วนไป

ขณะเดียวกันจากเดิมการเล่นเป็นวงใหญ่ มักมีจังหวะสนุกๆ แต่เพราะความเบื่อหน่ายของนักดนตรี จึงเริ่มมีการใส่ลูกเล่นและเทคนิคที่แพรวพราวขึ้น แลกมากับดนตรีมีจังหวะซับซ้อนจนคนไม่สามารถเต้นให้ลงจังหวะพอดีได้ มันจึงเหมาะกับการหยุดเพื่อนั่งฟัง ดนตรีที่ขาดคนเต้นก็อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณช่วงขาลงของดนตรีแจ๊ซ

ไอดอลคนแรกของโลกถือกำเนิด

ขณะที่นักดนตรีกำลังได้รับผลกระทบอยู่นั้น อีกด้านหนึ่งคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้คือ นักร้องที่ใช้เสียงร้องของตัวเอง 

ช่วง 4 ปีของการประท้วง จุดสนใจถูกย้ายมาอยู่ที่นักร้อง จากเดิมที่ความสำคัญมักตกเป็นของหัวหน้าวง และมองว่านักร้องนำเป็นเพียงพร็อพในวงเท่านั้น จากเหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นครั้งแรกที่ตำแหน่งนักร้อง (Vocalist) ถูกจดจำและมีชื่อเสียงมากกว่านักดนตรีอื่นๆ 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด นักร้องเหล่านี้กลายเป็นดาวเด่น ในขณะที่วงดนตรีค่อยๆ ถูกลดบทบาทลงเป็นเสียงที่อยู่เบื้องหลังเท่านั้น เหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของ Teen Idol ยุคแรกนั่นคือ แฟรงค์ ซินาตรา (Frank Sinatra) 

ประจวบเหมาะกับเครื่องดนตรีที่ถูกคิดค้นเพื่อนักร้องนำอย่าง ไมค์หรือเครื่องขยายเสียง ทำให้แฟรงค์สามารถใช้สไตล์การร้องแบบ crooning หรือการฮัมเบาๆ ด้วยเสียงนุ่ม ทุ้มต่ำ คล้ายเสียงกระซิบกระซาบข้างหู โดยที่ผู้ชมยังได้ยินอย่างชัดเจนไม่ว่าจะนั่งอยู่ไกลแค่ไหน

สิ่งที่ทำให้แฟรงค์เป็นที่คลั่งไคล้ของแฟนเพลงนอกจากเสียงร้อง คือเนื้อเพลงที่สื่อถึง Poppy love ในมุมมองของเด็กหนุ่มที่ตกหลุมรักสาวในฝันอย่างหัวปักหัวปำ ด้วยความรู้สึกนี้เองที่ช่วยเติมเต็มความปรารถนาของสาวๆ ที่อยากถูกรักอย่างหมดใจในช่วงสงครามที่ไม่รู้ว่าคนรักจะกลับมาเมื่อไหร่ ทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายจากผู้หญิงวัยรุ่นในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย 

ด้วยความประสบความสำเร็จของนักร้องนำหน้าใสที่มีเพลงรักหวานซึ้ง ทำให้ดนตรีลักษณะนี้แยกจากดนตรีแจ๊ซอย่างชัดเจน กลายเป็น Traditional Pop หรือเพลงป๊อปแบบดั้งเดิม โดยมีนักร้องดาวเด่น เช่น Nat King Cole, Perry Como, Doris Day และ Patti Page แนวเพลงนี้เติบโตไปพร้อมๆ กับร็อกตลอดช่วงยุค 50 แต่ไม่ได้มีกลิ่นหรืออิทธิพลของเพลงร็อกอยู่ในดนตรี

การรีแบรนด์ครั้งใหญ่ จาก RnB สู่ Rock ‘n Roll

เพลงป๊อปแบบดั้งเดิมทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นชินว่าวงดนตรีต้องมีนักร้องนำ อีกด้านหนึ่งดนตรีฝั่งคนผิวดำในอเมริกาก็เริ่มพัฒนาขึ้น จากเดิมมักถูกเรียกรวมๆ ว่า Race Records ซึ่งหมายถึงเพลงที่บันทึกจากคนดำ จนเปลี่ยนมาเป็น Rhythm and Blues ช่วงปี 1950s เพื่อเรียกดนตรีของคนผิวดำที่พัฒนาขึ้นมาจากแจ๊ซ ในจังหวะที่หนักหน่วงขึ้น 

Rhythm and Blues เป็นคำที่ถูกใช้โดยคนผิวขาวด้วยเหตุผลทางการตลาด เนื่องจากช่วงนั้นการแบ่งแยกสีผิวยังคงเข้มข้นในอเมริกา คนขาวยุคนั้นจะไม่ฟังเพลงของคนดำ ดังนั้นต่อให้เพลงฮิตๆ ของคนดำจะเป็นแนวเพลงอื่นๆ เช่น Blues, Motown & Soul, Soul & Funk หรือ Soul & Hip Hop ก็จะถูกรวมกันอยู่ในชาร์ตเพลงที่ชื่อ Rhythm and Blues หรือ RnB มาตลอด 

ในแง่หนึ่ง การเรียกดนตรีแบบรวมๆ คือหนึ่งในการลดทอนอัตลักษณ์ของคนผิวดำ ท่ามกลางบรรยากาศของการแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรง โชว์ดนตรีของคนขาวและคนดำถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจน หรือถึงจะดูโชว์ด้วยกันก็ต้องนั่งแบ่งฝั่งกัน จนมีการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิพลเมือง (Civil Right Movement) เกิดขึ้นในช่วงนั้น มีมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นแกนนำการเรียกร้องความเสมอภาคโดยไม่แบ่งแยกสีผิวในอเมริกา

แม้ว่าช่วงทศวรรษ 50 จะมีนักร้องหรือมือกีตาร์คนผิวดำที่มีฝีมือ แต่พวกเขากลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลายคนเชื่อว่าศิลปินผิวขาวขโมยเพลงไปจากคนอเมริกันผิวดำ และทำให้ประสบความสำเร็จอย่างที่คนผิวดำทำไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เพลง ‘Tutti Frutti’ ที่ลิตเติล ริชาร์ด (Little Richard) ซึ่งเป็นคนผิวสีได้ร้องไว้ ก่อนที่แพทบูน (PATBOONE) ศิลปินผิวขาวจะเอามาคัฟเวอร์จนติดอยู่ในอันดับต้นๆ บนชาร์ตเพลง แม้จะค้านสายตาหลายๆ คนว่าต้นฉบับร้องได้ดีกว่าก็ตาม

เช่นเดียวกับชัค เบอร์รี่ (Chuck Berry) มือกีตาร์ร็อกคนแรกๆ ที่สร้างวิธีการเล่น Rock Guitar ที่ถูกพัฒนาจนถึงทุกวันนี้ เขามีแฟนเพลงทั้งคนผิวขาวและผิวดำ แต่กลับไม่ได้รับชื่อเสียงเท่าที่ควรในสมัยนั้น เช่นเพลง Johnny B. Goode

นั่นทำให้ลีโอ มินซ์ (Leo Mintz) โปรโมเตอร์ดนตรีของคนผิวดำที่อยากขายเพลง RnB ให้คนผิวขาว แต่หากบอกว่าเป็นเพลง RnB คงไม่มีใครฟัง เขาเลยบอกให้ อลัน ฟรีด (Alan Freed) ซึ่งเป็นดีเจอยู่ขณะนั้นคิดคำขึ้นใหม่ จนได้คำว่า ‘Rock ‘n Roll’ มีที่มาจากการเคลื่อนไหวของเรือตามจังหวะคลื่น ซ้ายที ขวาที เหมือนการเต้นในเพลงร็อกแอนด์โรล

แล้วนับจากนั้นร็อกแอนด์โรลก็กลายเป็นดนตรีที่หมู่วัยรุ่นผิวขาวคลั่งไคล้ แม้แต่นักร้องผิวขาวใหม่ๆ ก็นำ RnB มาปรับใช้ด้วย จนถึงทุกวันนี้ภาพจำเมื่อพูดถึงดนตรีร็อกแอนด์โรล ก็ยังเป็นคนผิวขาว อย่างไรก็ตามก็ต้องไม่ลืมว่าจริงๆ แล้วศิลปินผิวดำเองที่เป็นคนให้กำเนิดแนวนี้

ดนตรีของเหล่าวัยรุ่นหัวขบถ

นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อมาเป็นร็อกแอนด์โรลก็ตกแฟนเพลงวัยรุ่นได้จำนวนมาก สไตล์เพลงมีเอเนอจี้ที่ตอบโจทย์ต่อความดื้อและหัวขบถของวัยรุ่นหัวทองสมัยนั้น ภาพของ James Dean, Marlon Brando และ Elvis Presley กลายเป็นภาพแทนของวัยรุ่นยุคนั้นได้อย่างดี

ราชาเพลงร็อกแอนด์โรลที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ เอลวิส เพลสลีย์ (Elvis Presley) คนขาวที่หลงใหลดนตรีแบบคนดำ ซึ่งถูกผลักดันโดยแซม ฟิลิปส์ (Sam Phillips) โปรดิวเซอร์เพลง Black music ที่ต้องการให้คนขาวได้ฟังดนตรีของคนผิวดำแบบออริจินัลโดยไม่ต้องปรับเพื่อเอาใจคนขาว เขาเห็นออร่าบางอย่างของเอลวิสจึงปลุกปั้นให้เขาเป็นตัวแทนของดนตรีคนผิวดำเพื่อลดแรงต้านจากคนผิวขาวด้วยกัน จนกลายเป็นไอคอนคนสำคัญที่ทำให้เพลงร็อกแอนด์โรลไปได้ไกลขึ้น และเป็นภาพลักษณ์ที่อยู่กับ Pop Culture ถึงทุกวันนี้ 

ช่วงปลายยุค 50 เพลงร็อกแอนด์โรลคือการผสมผสานระหว่างเพลงร็อกและแนวเพลงฮิลล์บิลล์ลี (Hillbilly) หรือเพลงคันทรี เราเรียกเพลงแบบนี้ว่า Rockabilly

ลักษณะเด่นของเพลงคันทรีคือ มีคอร์ดแบบง่ายๆ ฟอร์มเพลงจะเน้นเล่นซ้ำ (repetition) เนื้อเพลงจำง่าย มีท่อนคอรัสติดหู เสียงร้องแปร่งๆ จากการใช้สำเนียงทางใต้ เนื้อหามักพูดถึงเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ความรัก ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากตัวเองหรือคนรู้จัก ศิลปินที่โด่งดังจากแนวเพลงนี้ คือ Hank Williams นักดนตรีที่มีอิทธิพลต่อแนวเพลง Rockabilly ในเวลาต่อมา

การผสมผสานระหว่างเพลงจังหวะหนักหน่วงอย่างร็อก และเพลงสบายๆ อย่างคันทรี จนได้แนวดนตรีเฉพาะตัวอย่าง Rockabilly มีลักษณะเด่นคือการเล่นเป็นวง โดยมีกีตาร์เป็นตัวนำและให้จังหวะ ตามด้วยเบส และเสียงร้อง บางครั้งก็ไม่มีกลองเพราะใช้เบสแทนได้ มีเสียง Echo Delay และ Reverb ชัดเจน พัฒนาจังหวะ Blues ให้เร็วขึ้น มีเสียง deep และ overheated อย่างเพลง Be-Bop-A-Lula ของ Gene Vincent and His Blue Caps 

เอลวิสเองก็ได้สร้างรากฐานให้แนว Rockabilly ด้วย จาก 2 เพลงแรกที่เขาได้บันทึกเสียงเอาไว้ และนั่นก็ทำให้นักดนตรีที่เคยไปดูเอลวิสแสดงทั้งหมดต่างหันมาเล่นเพลงแบบ Rockabilly ไปด้วย แม้แต่ศิลปินคันทรีอย่าง Buddy Holly ก็มาเล่นแนวนี้ด้วยเช่นกัน 

แนวเพลงนี้ได้สร้างรูปแบบ Band music อย่าง Pop-Rock ในปัจจุบัน และมีอิทธิพลโดยตรงกับแนวเพลง British Invasion ในเวลาต่อมา

ถึงเวลาบอกลาร็อกแอนด์โรล สู่เส้นทางร็อกแบบใหม่ๆ

ตั้งแต่เข้ายุค 60 เป็นต้นมาร็อกแอนด์โรลก็ไม่ใช่ดนตรีที่ได้รับความสนใจเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว เพราะความจำเจและการพูดถึงความรักไม่ได้เซ็กซี่เหมือนที่ผ่านมา ในบริบทที่คนหันมาสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น ด้วยฉากหลังในยุคนี้เป็นสงครามเวียดนาม ผู้คนจึงหันมาตั้งคำถามและพูดถึงสิทธิมนุษยชนแทน ยุคนี้มี Bob Dylan เป็นตัวแทนของเพลง Folk หรือเพลงเพื่อมวลชนในยุคนี้

อย่างไรก็ตาม ร็อกแอนด์โรลก็ยังไม่ถือว่าเป็นกองไฟที่มอดดับลงไปเสียทีเดียว เพราะถูกจับไปผสมผสานกับดนตรีแบบต่างๆ จนเกิดเป็นร็อกแบบใหม่ๆ ขึ้นมา อย่าง British Invasion, Folk Rock, Psychedelic, Progressive Rock และ Hard Rock

แนวดนตรีแบบ British Invasion เกิดขึ้นนับตั้งแต่ที่ฝั่งอังกฤษหันหยิบเอาดนตรีร็อกแอนด์โรลมาปัดฝุ่น สวมเสื้อผ้าใหม่ให้ดูสุภาพมากขึ้น จนได้ The Beatles หรือวง The Rollin Stones ผู้คนพร้อมใจให้ความสนใจถล่มทลายและกลายเป็นวงที่โด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้ 

นอกจากนี้ยังมีการเกิดขึ้นของ Folk Rock ในเวลาใกล้ๆ กัน ที่ผสมผสานระหว่างเพลง Folk ของ Bob Dylan และ British Invasion ของ The Beatles จนถือกำเนิดวง The Byrds เช่นเพลง Mr.Tambourine Man (Bob Dylan) เพลง Folk Rock เพลงแรกที่สามารถทะยานขึ้นอันดับ 1 บนบิลบอร์ดภายใน 3 เดือน

จนกระทั่งช่วงกลางยุค 60 วัยรุ่นชาวฮิปปี้รักในเสรีภาพ ความรัก และความสงบสุข เริ่มต้นตั้งคำถามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทำไมต้องมีสงคราม? ทำไมเราถึงส่งเสียงมากกว่านี้ไม่ได้ (ตามหลักการของ Free speech)? ทำไมประเทศถึงขับเคลื่อนด้วยผู้ชาย? โลกเรามีแค่ 2 เพศจริงหรือ? และทำไมยาเสพติดถึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย? แม้จะดูเป็นการตั้งคำถามที่สุดโต่งก็นำมาสู่การสร้างแนวดนตรีแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่าง Psychedelic Rock

แนวดนตรีนี้คือการที่นักดนตรีใช้ประสบการณ์เมื่อเล่น LSD มาแต่งเพลง ผสมกับดนตรีร็อก ส่งผลให้ดนตรีที่ได้มีความเมา เคลิบเคลิ้มไปกับจังหวะดนตรีที่ไร้กฎเกณฑ์ คล้ายอาการเมายา ซึ่งนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลดนตรีอย่าง Woodstock และ Monterey ด้วย 

ดนตรีร็อกในเวลาต่อมานับตั้งแต่ปลายปี 60 – 70 เริ่มกลายเป็นเพลงร็อกที่เรารู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างดนตรี Progressive Rock ช่วงปลาย 60 ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี ซาวนด์แปลกๆ และแนวดนตรีที่ไม่ใช่ร็อกช่วงเริ่มแรกมาผสมด้วย อย่างเพลง 21st Century Schizoid Man โดย King Crimson 

จนถึงช่วงต้น 70 ดนตรีร็อกกลายเป็นดนตรีที่ชาวร็อกเชื่อกันว่าความหนวกหูคือจิตวิญญาณ และเล่นกีตาร์ไฟฟ้าด้วยคอร์ดปีศาจ ร็อกประเภทนี้ถูกเรียกว่า Hard Rock อย่างเพลง Black Sabbath โดย Black Sabba

ย้อนกลับมาที่ไทยเองก็เริ่มได้รับอิทธิพลจากดนตรีร็อกช่วงยุค 60 – 70 แล้ว โดยเฉพาะสงครามเวียดนามที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้ามาสร้างฐานทัพและค่ายทหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำดนตรีร็อกแอนด์โรลเข้ามาด้วย ซึ่งก็ได้รับความนิยมในไทยไม่แพ้กัน โดยมีการจ้างวงท้องถิ่นมาเล่นคัฟเวอร์เพลง และเป็นจุดเริ่มต้นตำนานร็อกแอนด์โรลในเมืองไทย อย่างวิสูตร ตุงคะรัต, วง V.I.P หรือแหลม มอริสัน

ร็อกแอนด์โรลเป็นดนตรีที่อยู่เคียงข้างกับการต่อสู้ในช่วงเวลาต่างๆ มาโดยตลอด ขณะเดียวกันแม้หลายคนจะเชื่อว่ามันตายไปแล้ว แต่ตราบใดที่โลกเรายังมีวัยรุ่นหัวขบถอยู่ก็เชื่อได้ว่าดนตรีร็อกจะยังไม่ตายไปง่ายๆ และหาที่ทางอยู่เป็นเพื่อนไปกับพวกเขาเหมือนอย่างที่เป็นมา

ขอบคุณภาพจาก OKMD สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

AUTHOR