ยอมรับความหลากหลายผ่านการสำรวจคำศัพท์ที่ซ่อนอยู่ในระบบนิเวศกับเส้นทาง ‘สังคมเติบโตผ่านสวน’

ทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยผู้คนที่มีความหลากหลาย เพราะแต่ละคนเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ทำให้มีแนวความคิด ทัศนคติ และประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ เช่นเดียวกันกับความหลากหลายในระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต แม้จะต่างกันแต่ก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน

หลังจากที่เราชวนทุกคนไปเยียวยาจิตใจผ่านการบำบัดน้ำเสียในเส้นทางแรก ‘ใจ เติบโตผ่านสวน’ ไปฟังเสียงของธรรมชาติใน เส้นทางที่ 2 ‘มุมมอง เติบโตผ่านสวน’ และ สวมบทเป็นนักล่าสมบัติใน เส้นทางที่ 3 ‘เป้าหมาย เติบโตผ่านสวน’ กันไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เราเดินทางมาถึงกิจกรรมสุดท้ายในเส้นทางที่ 4 ‘สังคม เติบโตผ่านสวน’ ที่ OKMD ร่วมกับ BASE Playhouse และ a day โดยครั้งนี้จะชวนทุกคนมารู้จักความหลากหลายของธรรมชาติที่สวนป่าเบญจกิติ ผ่านการเล่นเกมแนะนำตัวด้วยคำศัพท์ที่มีอย่างจำกัดเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของความไม่หลากหลายในสังคม และพาทุกคนไปสำรวจระบบนิเวศในพื้นที่สวนป่าเบญจกิติเพื่อทำความเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพเชื่อมโยงกับความหลากหลายของคนในสังคม โดยจะมี ต้น-สกล ทัศนงาม จาก BASE Playhouse เป็นผู้นำกระบวนการในครั้งนี้

โลกของความไม่หลากหลาย

หากพูดถึงสถานที่ใจกลางเมืองสีเขียวที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เชื่อว่าสวนป่าเบญจกิติเป็นสถานที่อันดับแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง ระบบนิเวศในสวนมีการพึ่งพาอาศัยกัน ระหว่างต้นไม้ น้ำ และสัตว์นานาชนิด ความหลากหลายทางชีวภาพทำให้สวนป่าแห่งนี้สมบูรณ์และสวยงามจนกลายเป็นแหล่งการเรียนรู้ให้กับผู้คนในเมือง

ในบรรยากาศฝนพรำหลังจากพายุโหมกระหน่ำตั้งแต่เช้ามืด เมื่อถึงเวลาจัดกิจกรรมท้องฟ้าสดใส เหมือนธรรมชาติช่วยดลใจให้เราได้เรียนรู้และเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้อย่างราบรื่นท่ามกลางลมพัดเย็นสบาย ทีมงานได้พาพวกเราเดินชมบรรยากาศรอบสวนเบญจกิติก่อนจะมาหยุดที่บริเวณลานนาข้าวข้างอาคารพิพิธภัณฑ์

อย่างที่หลายคนรู้กันดีว่าสวนแห่งนี้ได้ดึงเอาน้ำเสียจากคลองไผ่สิงโตเข้ามาผ่านกระบวนการบำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติ ส่งน้ำให้ไหลผ่านไปสู่บึงในสวนทั้ง 4 โดยเริ่มจากบึงพืชพันธุ์ป่าชายเลน ส่งต่อมายังพืชพันธุ์บึงนำจืด จนมาถึงบึงที่เริ่มใช้ต้นไม้ขนาดใหญ่ และบึงสุดท้ายที่เต็มไปด้วยพืชพันธุ์แบบวนเกษตร ด้วยความที่บริเวณนี้เป็นบึงสุดท้ายที่รองรับน้ำเสียไหลผ่านจึงทำให้น้ำสะอาดและมีคุณภาพเพียงพอสำหรับปลูกพืชทั้งสวน รวมถึงสามารถปลูกข้าวให้คนบริโภคได้อีกด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บริเวณนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศและสัตว์นานาชนิด

ก่อนเริ่มกิจกรรมทีมงานให้แต่ละคนจับคู่พูดคุยเพื่อทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนกันผ่านหัวข้อ ‘หากมีพลังวิเศษได้แค่วันเดียว อยากให้ตัวเองมีพลังอะไร’ เมื่อทุกคนได้รับโจทย์ต่างแยกย้ายเดินกันไปเป็นคู่ตามมุมต่างๆ เพื่อเล่าและรับฟังเรื่องราวของฝ่ายตรงข้าม

กิจกรรมแรก ต้นชวนพวกเราทำความรู้จักกับความไม่หลากหลายในระบบนิเวศผ่านเกมแนะนำตัว โดยแต่ละคนจะได้รับแผ่นสติกเกอร์ แผนที่เส้นทาง และปากกาเพื่อใช้จดสะสมคำศัพท์ตลอดเกม ซึ่งแผ่นสติกเกอร์ที่ทุกคนได้รับจะแบ่งเป็นช่องสีต่างๆ คือ ช่องสีเขียวให้เขียนชื่อของตัวเอง ช่องสีฟ้าให้เขียนคำศัพท์ที่คิดขึ้นเอง 3 คำ และช่องสีแดงให้เขียนคำศัพท์ที่ตัวเองสำรวจเจอว่ามีคำอะไรบ้าง ในช่วงแรกป้ายคำศัพท์จะตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ของบริเวณลานนาข้าว จากนั้นให้ทุกคนเดินสำรวจพร้อมกับนำคำศัพท์ที่ได้มาเรียบเรียงเป็นประโยคเพื่ออธิบายความเป็นตัวเองให้มากที่สุด

ระหว่างที่เราเดินสำรวจเพื่อสะสมคำศัพท์ เราสังเกตเห็นว่าป้ายในบริเวณนี้เป็นคำศัพท์ซ้ำๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวทั้งหมด ด้วยความที่คำศัพท์มีอย่างจำกัดและที่ไม่หลากหลาย ทำให้การแนะนำตัวในครั้งแรกมีคำศัพท์ที่นำมาอธิบายความเป็นตัวเองได้ไม่เพียงพอ

ต้นอธิบายว่า กิจกรรมแรกเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงผลกระทบของความไม่หลากหลาย เพราะมีคำศัพท์แค่หมวดหมู่เดียว หากในระบบนิเวศมีแค่สิ่งมีชีวิตเดียวก็อาจจะทำให้การต่อยอดทรัพยากรเป็นไปได้ยากขึ้น สุดท้ายแล้วระบบนิเวศนั้นก็อาจจะล่มสลายได้ในที่สุด

สัตว์สังคมกับการพึ่งพาอาศัย

กิจกรรมที่สองต้นได้ชวนทุกคนค้นหาความหลากหลายด้วยการเดินสำรวจธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตต่างๆ บริเวณพรรณไม้วนเกษตรสวนบ้านที่กว้างและมีคำศัพท์ที่หลากหลายมากขึ้นในกติกาเดียวกัน โดยครั้งนี้แต่ละคนจะได้รับสติกเกอร์เพิ่มคนละ 1 ใบ ระหว่างทางหากเจอคำไหนที่น่าสนใจก็สามารถถ่ายรูปเก็บไว้เพื่อนำมาเรียบเรียงเป็นประโยคทีหลังได้

ผ่านไปไม่นาน ภายในสวนเริ่มมีแสงแดดอ่อนๆ สาดเข้ามาทำให้บรรยากาศเริ่มอบอุ่นขึ้น ระหว่างเดินตามเส้นทางมีคนพูดขึ้นมาว่าให้ความรู้สึกเหมือนเดินป่า นั่นเพราะตลอดเส้นทางเราถูกโอบล้อมไปด้วยพืชน้ำและต้นไม้นานาพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นคล้าช่อห้อย คล้าช่อตั้ง กก สนทะเล จันทร์กระจ่างฟ้า มะขาม ดอกบัว ในขณะเดียวกันก็ได้ยินเสียงนกและแมลงไม่ทราบชนิดดังขึ้นสลับกัน

‘มองเห็นปลาในน้ำไหม’ ต้นถามพวกเราเมื่อเดินเข้ามาถึงจุดหนึ่งกลางบึง อธิบายต่อว่าน้ำในบึงดอกบัวเป็นน้ำที่ค่อนข้างสะอาดมาก ทำให้มีปลาเล็กปลาน้อยสามารถอาศัยอยู่ได้ ทั้งยังมีฝูงนกยางคอยมากินหอยเชอรี่ที่เกาะตามบึง นอกจากนี้ยังมีสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจิงโจ้น้ำ ชันโรง ผีเสื้อ แมลงปอ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เห็นว่าสวนแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสังคมที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของระบบนิเวศ

ระหว่างทาง ต้นเล่าถึงบทบาทสำคัญของสิ่งมีชีวิตภายในสวน และชวนผู้เข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณต่างๆ ตลอดเส้นทาง เมื่อเดินครบครึ่งรอบชวนทุกคนมานั่งพักที่ศาลากลางสวน ระหว่างนั้นให้ทุกคนจับกลุ่มพูดคุยถึงประสบการณ์และความรู้สึกหลังจากที่ได้เห็นความหลากหลายมากขึ้น

ต้นตั้งคำถามชวนคิดว่า ‘หากเปรียบตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตภายในสวน คุณคิดว่าตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตอะไร เพราะอะไร’ มีคำตอบที่น่าสนใจมากมาย เราเก็บความคิดเห็นบางส่วนมาให้ทุกคนได้อ่านกัน

‘เราแทนตัวเองเป็นข้าว เพราะข้าวให้ประโยชน์กับทุกๆ คน เราอยากเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ อะไรที่เราสามารถทำได้เราก็อยากจะทำ’

‘เราเลือกดอกบัว เพราะหลายๆ คนอาจจะเคยเป็นบัวที่อยู่ใต้น้ำ บางคนอาจจะโดดเด่นมาตั้งแต่เด็ก บางคนอาจจะโดดเด่นตอนที่อายุมากแล้วก็ได้ แต่เราเชื่อว่าทุกคนจะมีวันที่สามารถผุดขึ้นมาอยู่ในจุดที่ตัวเองโดดเด่นได้แน่นอน’

‘เรามองตัวเองเป็นจิงโจ้น้ำ เป็นแมลงตัวเล็กๆ ที่อาจจะไม่ได้มีประโยชน์มากมาย หรือไม่ได้มีบทบาทสำคัญที่ยิ่งใหญ่อะไร จิงโจ้น้ำสามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก ถ้าธรรมชาติขาดจิงโจ้น้ำไปก็อาจจะเสียสมดุลหรืออาจจะทำให้เกิดผลกระทบอะไรบางอย่างในระบบนิเวศได้เหมือนกัน เรามองตัวเองเป็นฟันเฟืองตัวนึงของระบบ’

สังคมมนุษย์ก็เปรียบเสมือนระบบนิเวศที่เราได้ไปสำรวจกันก่อนหน้านี้ มันทำให้เราเห็นว่าสิ่งมีชีวิตและธรรมชาติอันหลากหลายอยู่ร่วมกันมาเสมอ ซึ่งมนุษย์ก็เป็นหนึ่งในธรรมชาติที่มีความแตกต่าง ต้นชวนทุกคนคิดต่อว่ามีวิธีไหนบ้างที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยที่ยังรักษาความแตกต่างของคนอื่นไว้ได้ ทุกคนต่างแชร์ความคิดเห็นและประสบการณ์ของตัวเองที่มีจุดร่วมกันว่าควรจะให้เกียรติและเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ไม่ตัดสินหรือคิดแทน รวมไปถึงการเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นที่ต่างกันออกไปของคนในสังคม

จากนั้นมีกติกาเพิ่มเติมคือผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนหรือเพิ่มคำศัพท์ของตนเองกับเพื่อนร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ เพื่อสร้างเป็นคำใหม่ที่หลากหลายมากขึ้นได้อีกด้วย

เปิดรับความหลากหลายสู่ความเป็นไปได้ใหม่

เราเดินกลับมายังจุดเริ่มต้น ในกิจกรรมสุดท้ายนี้ต้นให้ทุกคนนำคำศัพท์ทั้งหมดมาคัดเลือกเพื่อเรียบเรียงเป็นประโยคแนะนำตัวอีกครั้ง เมื่อทุกคนมีคำที่หลากหลายก็ทำให้สามารถอธิบายความเป็นตัวเองได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

‘จากกิจกรรมครั้งแรกที่มีแค่คำศัพท์ข้าวเพียงอย่างเดียว ทำให้เราอาจจะสร้างประโยคได้ไม่หลากหลายมากนัก แต่เมื่อเราได้ออกไปสำรวจระบบนิเวศที่มีความหลากหลายมากขึ้น ก็ทำให้แต่ละคนสามารถสร้างประโยคจากคำได้อีกมากมาย นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนคำศัพท์กันแล้ว ยังได้พูดคุย ตกตะกอนความคิดซึ่งกันและกัน’

ก่อนกิจกรรมวันนี้จะสิ้นสุดลง ต้นได้แนะนำหนังสือ 7 Habits of Highly Effective People เขียนโดยคุณสตีเฟน อาร์. โควีย์ ที่อธิบายเกี่ยวกับความหลากหลายของผู้คนและสังคมให้นำไปศึกษากันต่ออีกด้วย

เรารู้สึกว่าการได้มาทำกิจกรรมท่ามกลางธรรมชาติ นอกจากจะรู้จักพืชพรรณหรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ภายในสวนมากขึ้นแล้ว ยังได้พบเจอผู้คนมากมายที่แตกต่างกัน ทำให้เรามีความคิดและมุมมองที่กว้างมากขึ้น

โลกใบนี้เต็มไปด้วยความแตกต่างและหลากหลาย ลองคิดดูว่าในสังคมที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนเล็กๆ รวมกันเปรียบเป็นบึงใหญ่ จากบึงเดียวที่ได้ทำกิจกรรมยังเห็นความแตกต่างหลากหลายขนาดนี้ แล้วสังคมท่ีเต็มไปด้วยบึงอีกหลายๆ บึงจะมีความหลากหลายมากอีกขนาดไหน และท่ามกลางความหลากหลายนี้ หากทุกคนมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันมันคงจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้นไม่น้อยเลย