ทิ้งความเหนื่อยล้าเดินเข้าสวนป่าให้ธรรมชาติบำบัดกับเส้นทาง ‘ใจเติบโตผ่านสวน’

หลายๆ ครั้งที่เรารู้สึกเหนื่อยล้ากับโลกข้างนอก เมื่อก้าวเข้ามาในสวนอยู่กับธรรมชาติ การได้หยุดพักอยู่นิ่งๆ ก็ทำให้จิตใจเราสงบลงบ้างเหมือนกัน

หากธรรมชาติยังสามารถบำบัดตัวเองให้ฟื้นฟูขึ้นด้วยวิธีการของมันเองได้ แล้วคนเราสามารถเยียวยาจิตใจด้วยวิธีใดได้บ้าง?

เส้นทางแรก ‘ใจ เติบโตผ่านสวน’ คือกิจกรรมการเรียนรู้หนึ่งใน 4 เส้นทางที่ OKMD ร่วมกับ BASE Playhouse และ a day ชวนทุกคนกลับมาดูแลและเยียวยาจิตใจท่ามกลางธรรมชาติที่สวนป่าเบญจกิติ ผ่านวิธีการบำบัดน้ำเสีย หรือเรียกกันว่า Nature-based Solution ซึ่งกิจกรรมจะมี 3 ฐานคือ Prepare-Aware-Grow โดยมีผู้นำกระบวนการ กร-ปกรณ์ นาวาจะ จาก BASE Playhouse เป็นคนนำเส้นทางกิจกรรมในครั้งนี้

เตรียมใจพร้อมรับสิ่งใหม่

เริ่มต้นทีมงานได้พาพวกเราเดินชมบรรยากาศรอบสวนเบญจกิติ ลัดเลาะตามทางเดินเข้ามาในโซนพื้นที่ชุ่มน้ำเต็มไปด้วยพืชน้ำหลากชนิด ก่อนจะมาหยุดที่โซนพรรณไม้ป่าดินลุ่มต่ำและป่าดิบแล้ง บริเวณใกล้ทางเข้าอาคารพิพิธภัณฑ์

แม้จะได้เหงื่อจากการเดินทางอยู่บ้าง แต่เมื่อเห็นความสวยงามละลานตาและความร่มรื่นของระบบนิเวศในสวนป่าแห่งนี้ทำให้ลืมความเหนื่อยไปปลิดทิ้ง

กรเล่าให้เราฟังว่า พื้นที่สวนป่าเบญจกิติ เดิมเคยเป็นอาคารและโกดังโรงงานยาสูบที่เป็นพื้นที่ดาดแข็งมาก่อน ได้ถูกรื้อและปรับปรุงสภาพดินผ่านการขุดร่องตามภูมิปัญญาของเกษตรกรไทยสมัยก่อน ไม่เพียงแค่ช่วยให้เปลี่ยนสภาพหน้าดินให้กลับมาเหมาะกับการปลูกต้นไม้ แต่ยังช่วยดูแลรักษาพื้นที่ด้วยตัวของระบบเองทั้งในช่วงหน้าแล้งและหน้าฝน ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ สามารถเข้ามาอาศัยในพื้นที่ได้ ทีมสถาปนิกได้ออกแบบสวนเพื่อให้พืชพรรณสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยที่มนุษย์เข้าไปมีส่วนร่วมกับการเจริญเติบโตน้อยที่สุด

นอกจากนี้ทางทีมสถาปนิกยังได้ดึงเอาน้ำจาก ‘คลองไผ่สิงโต’ หนึ่งในคลองที่ประสบปัญหาเน่าเสียมาโดยตลอด สาเหตุหลักเกิดจากชุมชนฝั่งสุขุมวิทที่มีการปล่อยเศษอาหาร กากน้ำมัน ขยะต่างๆ ลงคลองเข้ามาบำบัดภายในสวน เพื่อช่วยให้พื้นที่ทั้งในและนอกสวนนั้นสะอาดสวยงาม เป็นการพัฒนาพื้นที่โดยรอบไปพร้อมๆ กัน

เส้นทางกิจกรรมครั้งนี้ได้จำลองกระบวนการบำบัดน้ำเสียโดยธรรมชาติ หรือ Nature-based Solution มาเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนการจัดการอารมณ์ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการรับมือกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของตัวเอง

เริ่มต้นด้วยการให้แต่ละคนได้ทำความรู้จักกับ ‘ใจ’ ของตัวเอง โดยเลือกเรื่องราวหรือประสบการณ์เชิงลบในใจที่ผ่านมาแล้ว ย้อนกลับไปทบทวนอีกครั้งว่าเราผ่านมาได้ยังไงบ้าง ระหว่างนั้นทีมงานแจกแก้วน้ำ สติกเกอร์ ปากกา ให้ทุกคนเขียนชื่อของตัวเองลงไปแปะบนแก้วน้ำ และตกแต่งแสดงความเป็นตัวเองเต็มที่

หลังจากที่ทุกคนเขียนชื่อของตัวเองเสร็จแล้ว กรเดินนำทางไปยังฐานต่อไป ชวนเทและเติมน้ำในแก้วระหว่างทาง เพื่อให้ทุกคนโฟกัสกับเรื่องราวในใจของตัวเอง สะท้อนสภาวะอารมณ์ของเราว่าใสเหมือนน้ำในแก้วขนาดไหน และสิ่งที่อยู่ในใจของเรากับน้ำที่อยู่ในแก้วมีปริมาณมากน้อยเพียงใด

ใจของเรามีอะไรอยู่บ้าง

“น้ำเสียที่เราสามารถมองเห็นและรับรู้ได้เลยคือลักษณะน้ำเสียทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น สี ความขุ่น ซึ่งสาเหตุของน้ำเสียก็จะมีขยะ ขยะที่ย่อยสลายได้เมื่อมาอยู่ในน้ำกลายเป็นว่า น้ำเกิดความเป็นกรด สัตว์ที่อยู่ในน้ำก็ใช้ชีวิตไม่ได้ สุดท้ายก็ตายและเน่า” กรอธิบายลักษณะทางกายภาพ

ฐาน Aware ให้ทุกคนนำเรื่องราวที่ได้เลือกก่อนหน้านี้ ย้อนกลับไปคิดอีกครั้งว่าเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นเราผ่านมันมาได้เป็นยังไง และรู้สึกกับมันยังไงบ้าง ให้ทุกคนระบายออกมาผ่านการใช้ material 5 อย่าง แทนอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ

อย่างแรก สีผสมอาหาร แทนอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ 

อย่างที่สอง ทราย แทนความไม่ชัดเจน ความขุ่นข้องหมองมัวในใจ

อย่างที่สาม ใบไม้ แทนเรื่องต่างๆ ที่ลอยเข้ามาทับถมในใจ

อย่างที่สี่ น้ำมัน แทนเรื่องที่ค้างคาพูดไม่ได้

และอย่างสุดท้าย กรวดหิน แทนเรื่องที่อัดอั้นในใจไม่ได้ระบายออกไป

ผ่านไปไม่กี่นาที ทุกคนเหมือนได้หยุดอยู่กับตัวเองตัดขาดจากโลกภายนอก ตั้งใจถ่ายทอดความรู้สึกผ่านแก้วน้ำของตัวเองอย่างจริงจัง บางคนครุ่นคิดกับตัวเองสักพักแล้วค่อยตักทีละอย่างลงไปจนครบทั้งหมด สิ่งที่สังเกตเห็นได้คือแก้วของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย บางคนใช้สีเดียวทั้งแก้ว บางคนใช้สีขั้วตรงข้ามจนน้ำกลายเป็นสีดำ บางคนใช้ครบทุกสีจนกลายเป็นสีรุ้งแยกชั้นกันอย่างสวยงาม

ระหว่างนั้นมีคนแอบสังเกตแก้วของเราแล้วบอกว่า “เป็นคนมีสีสันสนุกสนาน แต่ก็มีความรู้สึกที่ขัดแย้งกันบ้าง เพราะเลือกสีส้มกับสีฟ้าซึ่งเป็นสีคู่ตรงข้าม (หัวเราะ)”

ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรืออะไร ความน่าสนใจคือเขาเดาความรู้สึกของเราในตอนนั้นได้ถูกต้องทีเดียว

เมื่อทุกคนได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจผ่านแก้วน้ำของตัวเองเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นให้จับคู่แลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อสะท้อนเรื่องราวที่อยู่ภายในแก้วของฝ่ายตรงข้าม แต่ละคนก็มีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเรื่องชีวิต ครอบครัว การงาน ความรัก และต่างๆ อีกมากมาย

ระหว่างเดินไปฐานสุดท้าย เราเห็นสีหน้าและแววตาของทุกคนตั้งใจที่จะเล่าและรับฟังเรื่องราวของกันและกันตลอดทาง

สิ่งเก่าผ่านไป สิ่งใหม่เข้ามา

“หนึ่งแก้วคือหนึ่งเรื่องราว แต่หนึ่งเรื่องราวก็มีเรื่องยิบย่อยผสมกันเต็มไปหมด จนทำให้สีในแก้วของแต่ละคนออกมาไม่เหมือนกันเลย ถ้าสังเกตจะเห็นว่าทุกครั้งที่หยดสีลงในแก้ว สีของน้ำจะค่อยๆ เปลี่ยนไป สุดท้ายก็รวมกันเละเทะไปหมด”

ฐาน Grow ให้ทุกคนมาแยกสิ่งต่างๆ ออกจากกันให้ได้มากที่สุด โดยใช้อุปกรณ์ 2 อย่างคือ ตะแกรงและกระดาษ เปรียบเสมือนรากไม้และดินที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันทำให้ระบบนิเวศในพื้นที่สวนแห่งนี้สมบูรณ์

“รากไม้ภายในสวนได้บำบัดน้ำเสียจากคลองไผ่สิงโตจนสามารถเลี้ยงทั้งสวนและปลูกข้าวได้  สิ่งมีชีวิตรวมถึงตัวเราเองก็สามารถบริโภคพืชเหล่านี้ได้ กระบวนการนี้มีชื่อว่า Nature-based Solution ซึ่งใช้ธรรมชาติบำบัดเองทั้งหมด มนุษย์แทบจะไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไรเลยนอกจากปลูกต้นไม้ ดังนั้นรากไม้ตรงนี้ก็เลยทำหน้าที่เป็นตัวกรองตะกอนต่างๆ ที่มันไหลมาพร้อมกับน้ำ

“ดินเป็นแหล่งให้รากไม้ยึดจับ ซึ่งพื้นที่สวนได้ดูดซับน้ำเสียลงไปบนพื้นผิวของดิน ทำให้ความเป็นกรดเบสหรือสารตกค้างอยู่ในดินบางอย่างถูกดูดซึมเข้าไปจนทำให้น้ำสะอาดขึ้น ดินเป็นพื้นที่ให้รากไม้อาศัย รากไม้ก็ยึดติดดินให้อยู่รวมกันเป็นก้อน เป็นระบบนิเวศที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน”

คนส่วนใหญ่เลือกใช้ตะแกรงเพื่อกรองของแข็งก่อน จากนั้นจึงใช้กระดาษเพื่อกรองไขมัน แม้ว่าจะสามารถกรองสิ่งต่างๆ ออกไปได้หมด แต่มีหนึ่งสิ่งที่ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ใดกรองออกไปได้เลย ก็คือ ‘สี’ ของน้ำที่แทน ‘อารมณ์ความรู้สึก’ ของเรานั่นเอง

บางเรื่องก็ต้องใช้เวลา

ในชีวิตของคนเรา มีปัญหาต่างๆ เข้ามามากมาย บางเรื่องเราสามารถแก้ไขและผ่านพ้นมันไปได้ด้วยดี บางเรื่องจัดการกับปัญหาได้แล้วแต่ความรู้สึกอาจจะไม่ได้หายไปด้วย

ฐาน Grow จึงตั้งคำถามว่า ‘เราจะแยกสีในแก้วออกจากน้ำด้วยวิธีธรรมชาติยังไงได้บ้าง’ มีคนตอบว่าให้เอาน้ำในแก้วไปเทใส่ภาชนะที่มีน้ำเยอะกว่าก็จะทำให้น้ำเจือจางลงได้ แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถแยกสีออกไปทั้งหมดอยู่ดี

กรเฉลยว่าให้ตั้งทิ้งไว้เฉยๆ ใช้ ‘เวลา’ เป็นเครื่องมือในการทำให้มันหายไป

“เราตั้งทิ้งไว้เฉยๆ เมื่อน้ำระเหยไปสิ่งที่เหลืออยู่ก็คือสี เหมือนความรู้สึกของคนเราที่หายไปตามกาลเวลาของมันเอง”

ท้ายสุดของกิจกรรม ทุกคนได้แบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง และแชร์วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ เผื่อวิธีไหนน่าสนใจ สามารถนำหยิบกลับไปใช้กับตัวเองได้ไม่มากก็น้อย

หากจะสรุปสิ่งสำคัญของเส้นทางนี้ เราคิดว่าน่าจะเป็นการที่เราได้ทบทวนตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตอนนี้เรามีปัญหาอะไร อารมณ์ของเราเป็นแบบไหน และรู้ว่าตัวกรองอะไรบ้างที่มีความหมายกับเรา แม้ว่าตอนนี้บางคนอาจจะยังไม่เจอตัวกรองที่เหมาะกับตัวเองก็ไม่เป็นไร เพราะในชีวิตจริงอาจจะยังมีคนที่พอให้เราสามารถแชร์และแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ออกไปได้บ้าง อย่าง เพื่อน คนรัก ครอบครัว หรือนักจิตวิทยาที่พร้อมจะรับฟัง ถึงแม้ว่ามันจะไม่สามารถกรองออกไปจนหมด แต่อย่างน้อยก็อาจจะทำให้มันเจือจางลงไปบ้าง

ก่อนที่กิจกรรมเส้นทางในวันนี้จะสิ้นสุดลง กรชวนทุกคนเติมอากาศเข้าไปในใจโดยเอาน้ำในแก้วที่เต็มไปด้วยความรู้สึกต่างๆ เททิ้งไป แล้วกลับบ้านด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งพร้อมรับสิ่งใหม่ในชีวิต

“น้ำเสียก็ต้องเติมออกซิเจนเข้าไปบำบัด เพื่อทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ เหมือนกับใจที่ปลอดโปร่งแล้ว ก็อาจจะมีประโยชน์กับหลายๆ ชีวิตรอบตัวของเราได้เช่นกัน”