สมัยมาญี่ปุ่นใหม่ๆ เคยคิดว่าห้องน้ำญี่ปุ่นช่างแสนดีทั้งสะดวกและสะอาด ก๊อกเอยโถเอยโมเดิร์นเก๋กรุบ จะผิดหวังนิดหน่อยก็ตรงที่ไม่ค่อยมีเครื่องขายผ้าอนามัยติดตั้งในห้องน้ำ เวลาประจำเดือนมากะทันหันต้องใช้ทิชชู (อันแสนนุ่ม) พับทบแก้ขัดอยู่เสมอ ยังดีที่ร้านสะดวกซื้อมีอยู่มากมายแถมมีห้องน้ำให้ใช้ เลยสามารถเอาตัวรอดได้ไม่ยากนัก เรื่องนี้เลยไม่ค่อยเป็นเรื่องกวนใจเท่าไหร่
จนกระทั่งพกความกังวลว่าเมนส์จะมามั้ยไปเข้าห้องน้ำของห้าง PARCO สาขา Shinsaibashi…
เขามีเครื่องแจกผ้าอนามัยหน้าตาทันสมัยติดตั้งอยู่ในห้องน้ำทุกห้อง (หรืออย่างน้อยก็ที่ชั้น 10) วิธีใช้งานแสนง่ายดาย เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปแล้วเอามือถือไปจ่อที่เครื่อง น้องผ้าอนามัยชั้นดีมีมาตรฐานจากแบรนด์ชั้นน้ำของญี่ปุ่นก็เด้งออกมาให้ใช้อย่างรวดเร็วและไร้ข้อผูกมัด สาวไทยรีบจิ้มขอ 1 แผ่นมาพกติดตัว (ไม่ต้องกลัวคนแห่มากดไปตุนจนเขาเจ๊ง เพราะ 1 คนกดได้ 1 แผ่นใน 2 ชั่วโมงและกดได้ทั้งหมด 7 แผ่นต่อเดือน ถือว่ามีความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนผ้าอนามัยที่ดี) พอได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผ้าอนามัยเข้าถึงง่ายและฟรีถึงได้รู้ว่าชีวิตดีเป็นแบบนี้นี่เอง
ราคาผ้าอนามัยในญี่ปุ่นไม่ถูกเลย ยิ่งนำของแบรนด์ดังมาแจกฟรีแบบนี้ ความประทับใจยิ่งทวีคูณ เมื่อแอบหาข้อมูลต่อจึงพบว่าคุณเครื่องแจกผ้าอนามัยเหล่านี้เป็นผลงานของบริษัทสตาร์ทอัพที่มีชื่อว่า OiTr, Inc. (อ่านว่า โอะอิเทะรุ) ซึ่งตั้งใจจะผลักดันให้ผ้าอนามัยฟรีตามห้องน้ำเป็นเรื่องธรรมดาที่ควรจะเป็นเหมือนทิชชู Toshihiko IIzaki ผู้เป็นทั้ง Senior Managing Director และ COO เป็นผู้ชายเลยไม่เข้าใจความลำบากของผู้หญิงเวลามีประจำเดือนเท่าไหร่แต่เขาตั้งบริษัทนี้กับพาร์ตเนอร์ด้วยความตั้งใจจะทำธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อสังคมเลยกำหนดปรัชญาของบริษัทไว้ว่า ‘What is good for you and good for society’ เมื่อเขาได้อ่านบทความเรื่องทำไมผ้าอนามัยไม่มีให้ใช้ฟรีเหมือนทิชชู ถึงได้ฉุกคิดถึงปัญหาสังคมข้อนี้ขึ้นมา ทั้งความลำบากทางกายและการเงิน ความเขินอายที่ต้องเดินแอบๆ ถือผ้าอนามัยไปห้องน้ำ ความแพนิกที่เมนส์มากะทันหัน สิ่งที่เราคุ้นชินว่าเป็นเรื่องธรรมดามาโดยตลอดอาจจะไม่ใช่ความปกติที่ดี แต่พวกเขาเชื่อว่าสามารถปรับให้มันดีขึ้นได้แต่ต้องทำให้มันยั่งยืนด้วยการกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐาน
OiTr เพิ่งเริ่มกิจการช่วงปลายเดือนสิงหาคม ปี 2021 อาจจะยังแพร่หลายไม่มากนักแต่ก็นับว่าไปได้สวย ในปัจจุบันติดตั้งเครื่องไปแล้วทั้งหมด 1,121 เครื่องใน 85 อาคาร ซึ่งมีทั้งโรงเรียน ออฟฟิศ สถานที่ราชการและอาคารพาณิชย์ต่างๆ ตึกดังๆ ที่คนไทยน่าจะรู้จัก (และแวะไปพึ่งพาได้) เช่น ห้าง PARCO shinsaibashi, ห้าง Shibuya 109, ห้าง Shibuya Modi และโซน Gransta Tokyo ที่สถานีโตเกียว ตอนนี้ยังกระจายไปได้แค่ 18 จังหวัดแต่ก็มีคนดาวน์โหลดแอปทะลุ 100,000 คนแล้ว
ว่าแต่ใครเป็นคนจ่ายค่าผ้าอนามัย?
OiTr นำกำไรจากการขายโฆษณาบนจอดิจิทัลของเครื่องมาจัดการค่าใช้จ่ายเหล่านั้น เจ้าของสถานที่จึงไม่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มและได้มีส่วนร่วมส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้หญิง Murana Ogura ผู้จัดการแผนก Wellness ซึ่งดูแลด้านการขายและการตลาดบอกว่าบางคนก็ไม่อยากได้ผ้าอนามัยฟรีเพราะความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณหรือรู้สึกได้รับการกุศล การมีโฆษณาให้ดูเลยเป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนกัน ไม่ทำให้คนรู้สึกไม่ดีหรืออยากปฏิเสธความช่วยเหลือ คนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัยแต่ช่วยดูโฆษณาก็เหมือนได้มีส่วนช่วยเพื่อนหญิงคนอื่นๆ เป็นการเกื้อกูลกันของชาวห้องน้ำหญิง
โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึกของคนที่ต่อต้านไม่ใช้ผ้าอนามัยฟรีเพราะรู้สึกได้รับความช่วยเหลือเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่มีคนทำสำรวจลองคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้หญิงตลอดระยะเวลาประมาณ 40 ปีที่มีประจำเดือนพบว่าสูงถึง 500,000 เยน แต่นี่คือประเทศญี่ปุ่นที่ผู้คนคิดเยอะใส่ใจรายละเอียดหลายอย่างที่เรามองข้าม ก็น่าจะเป็นไปได้ ยิ่งไปอ่านเจอเรื่องราวของคุณครูโรงเรียนประถมคนหนึ่งยิ่งเห็นภาพมากขึ้น คุณครูในวัยเด็กเคยลำบากเรื่องประจำเดือนมากเพราะสถานะทางการเงินของที่บ้านไม่เอื้อต่อการซื้อผ้าอนามัย ต้องทนใช้แผ่นเดียวทั้งวันหรือใช้ทิชชูพับแทน ซึ่งเธอเลือกที่จะซ่อนความลำบากไม่ไปขอผ้าอนามัยที่ห้องพยาบาลเพราะไม่อยากให้คนสงสาร และเมื่อมีโอกาสเธอจึงพยายามผลักดันให้มีผ้าอนามัยในห้องน้ำหญิงที่โรงเรียน ซึ่งความฝันของคุณครูดูจะใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น เพราะโตเกียวประกาศนโยบายใหม่เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วให้ห้องน้ำหญิงในโรงเรียนของรัฐมีผ้าอนามัยแจกฟรี รวมไปถึงจะพยายามขยายนโยบายไปยังสถานที่ราชการต่างๆ ด้วย (บางที่ก็ใช้ OiTr นี่แหละ)
แรงกระเพื่อมเรื่องผ้าอนามัยฟรีดูจะไปได้สวยในประเทศที่ผู้หญิงยังโดนกดทับอยู่หลายอย่าง ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แบรนด์ผ้าอนามัยชื่อดังอย่างลอรีเอะก็ประกาศโปรเจกต์ใหม่ Laurier in Workplace เริ่มนำผ้าอนามัยไปวางตามห้องน้ำของบริษัทต่างๆ หวังลดภาระจากการมีประจำเดือนให้สาวๆ และสร้าง awareness เรื่องนี้มากขึ้นเพราะจากผลสำรวจที่ลอรีเอะจัดทำพบว่าคนที่ทำงานกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ไม่เข้าใจความลำบากทางกายภาพที่เกิดขึ้นจากประจำเดือนและผู้หญิงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แทบไม่มีเวลาไปเปลี่ยนผ้าอนามัย
ตอนนี้เพิ่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ความฝันเรื่องการมีผ้าอนามัยแจกฟรีทั่วไปในห้องน้ำยังอาจจะต้องรออีกสักหน่อย แม้แต่ที่มหาวิทยาลัยของเราซึ่งรับเครื่อง OiTr มาติดตั้งด้วยก็ยังไม่ทั่วถึง แต่ไม่แน่ว่ากว่าโลกจะกลับมาเดินทางไปมาหาสู่กันได้ตามปกติอีกครั้ง ญี่ปุ่นอาจจะมีผ้าอนามัยฟรีสแตนด์บายรออวดชาวโลกแล้วก็ได้