Kouno Kanae ผู้สร้างความคาวาอี้ให้กาแฟไทยบนแพ็กเกจ Akha Ama Coffee Roasters Japan

Highlights

  • อาข่าอ่ามา คือแบรนด์กาแฟที่ปลูกในไทยโดยชาวอาข่า นำทีมโดยลี อายุจือปาและเจนนี่ จันทร์จิรา หยกรุจิซึ่งตั้งใจทำธุรกิจเพื่อชุมชนที่พัฒนาคุณภาพกาแฟไทยไปพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตของชาวอาข่าอย่างยั่งยืน
  • ทางแบรนด์ได้เปิดร้าน Akha Ama Coffee Roasters Japan ในโตเกียวเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยออกแบบร้านให้มีองค์ประกอบความเป็นไทยผสมผสานอยู่อย่างกลมกลืน
  • พาไปดูเบื้องหลังการออกแบบแพคเกจกาแฟสีสันสดใส ด้วยลวดลายที่ดูมีความเป็นไทยและญี่ปุ่นผสมผสานกันอย่างลงตัวของศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ Kouno Kanae

แม้โควิด-19 จะทำให้แผนการทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวและธุรกิจต้องถูกยกเลิกหรือหยุดไว้ชั่วคราว แต่ช่างน่ายินดีที่ Akha Ama กาแฟไทยที่โด่งดังระดับโลกกับพาร์ตเนอร์ชาวญี่ปุ่นตัดสินใจเดินหน้าลุยเปิดร้าน Akha Ama Coffee Roasters Japan ในโตเกียวตามที่ตั้งใจ ชาวญี่ปุ่นจึงได้มีโอกาสรู้จักความดีงามของกาแฟไทยตั้งแต่เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

สำหรับคนที่ไม่ใช่คอกาแฟ อาข่าอ่ามาคือแบรนด์กาแฟที่ปลูกในไทยโดยชาวอาข่า นำทีมโดยลี–อายุ จือปา และเจนนี่–จันทร์จิรา หยกรุจิ ซึ่งตั้งใจทำธุรกิจเพื่อชุมชนที่พัฒนาคุณภาพกาแฟไทยไปพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตของชาวอาข่าอย่างยั่งยืน ตอนนี้ที่เชียงใหม่มีร้าน 2 สาขา และโรงคั่วอีก 1 ส่วนร้านที่ 4 มาอยู่ที่โตเกียวนั่นเอง

บรรยากาศร้านตกแต่งเรียบเท่แบบคาเฟ่ชิคๆ โดยมีองค์ประกอบความเป็นไทยผสมผสานอยู่บ้างอย่างกลมกลืน แอบได้ยินข่าวมาว่า ตั้งแต่เปิดร้านมาหนึ่งเดือนกว่าๆ ร้านไม่เงียบเหงาเลย มีทั้งชาวญี่ปุ่นชาวไทยแวะมาจิบกาแฟกันเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากเสียงชื่นชมว่า ‘โออิชี่’ ก็มีคำว่า ‘คาวาอี้’ นี่แหละที่ดังขึ้นมาถี่ไม่แพ้กัน พวกเขาชื่นชมแพ็กเกจกาแฟทั้ง 3 ชนิดได้แก่ เข้มข้น กลางๆ และผลไม้นั่นเอง

จะว่าไป สิ่งที่เตะตาเราเป็นอย่างแรกเมื่อเดินเข้าไปในร้านก็คือแพ็กเกจกาแฟสีสันสดใสที่วางเรียงสวยอยู่บนชั้นไม้หน้าเคาน์เตอร์ ลวดลายดูมีความเป็นไทยและญี่ปุ่นผสมผสานกันอย่างลงตัวจนเราต้องเอ่ยปากถาม Natsusa Yamashita หนึ่งในพาร์ตเนอร์ชาวญี่ปุ่นว่าใครออกแบบ

นัตซึสะเปิดอินสตาแกรมของ Kouno Kanae ศิลปินเจ้าของผลงานให้เราดู หลังจากแอบส่องผลงานลายเส้นอ่อนหวานอันแสนอ่อนโยน จึงอยากชวนเธอมาเล่าเรื่องราวเบื้องหลังการออกแบบนี้ โควิด-19 ทำให้เราไม่สามารถไปสัมภาษณ์โคโนะ คานาเอะ ที่ต่างจังหวัด และในขณะเดียวกัน ภารกิจการเลี้ยงลูกน้อยทั้ง 2 ก็ทำให้เธอไม่สะดวกคุยทางโทรศัพท์ สุดท้ายการพูดคุยกันครั้งนี้จึงพึ่งพาอีเมลเป็นหลัก

ฉันไม่ถนัดสื่อสารความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ แต่จะลองพยายามดูนะคะศิลปินสาวออกตัว

หลังจากผ่านไปหลายวัน กระบวนการทำงานของคนเก่งที่พูดไม่ค่อยเก่งก็ถูกถ่ายทอดมาให้อ่านกัน

จุดเริ่มต้น

นัตซึสะค้นพบโคโนะ คานาเอะ จากอินสตาแกรมและติดต่อให้ออกแบบแพ็กเกจเพราะชื่นชอบตัวอย่างงานออกแบบที่เธอลงไว้

ตัวอย่างผลงานของโคโนะ

โดยนัตซึสะให้โจทย์โคโนะไปว่าอยากให้แพ็กเกจเป็นรูปลวดลายที่ปรากฏอยู่บนเสื้อผ้าของชาวอาข่า เพราะนี่คือกาแฟที่ปลูกโดยพวกเขาเหล่านั้น

แม้จะไม่เคยดื่มกาแฟไทยหรือรับงานออกแบบแพ็กเกจมาก่อนเลยในชีวิต และความทรงจำเกี่ยวกับความวิจิตรของวัดและความอร่อยของข้าวซอยเมื่อครั้งไปเที่ยวเมืองไทยเมื่อ 13 ปีก่อนจะไม่ช่วยในการออกแบบงานครั้งนี้สักเท่าไหร่ โคโนะก็ตัดสินใจรับงานนี้เพราะอยากลองวาดรูปสำหรับใช้กับแพ็กเกจสินค้ามานานแล้ว

ปกติเวลารับงาน ฉันสามารถวาดภาพตามบรีฟได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องคิดถึงการนำไปปรับใช้ต่อกับสินค้า นี่เป็นครั้งแรกที่ต้องลองทำเอง ด้วยความที่ฉันก็ไม่ใช่ดีไซเนอร์ การนำงานที่วาดไปออกแบบแพ็กเกจเองด้วยจึงยากมากเลยค่ะ แต่ว่าปกติฉันชอบออกแบบลายผ้า วาดลวดลายต่างๆ อยู่แล้ว เลยสนุกกับการวาดลายเสื้อผ้าชาวอาข่ามากค่ะ

ลายผ้าฝีมือโคโนะ

ค้น, คิด, ค่อยๆ วาด

ความชอบและทักษะมีพร้อมอยู่แล้ว สเตปถัดมาคือการหาข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากรูปที่ได้จากนัตซึสะ ส่วนหนึ่งศิลปินแม่ลูกอ่อนยังไปค้นคว้าจากที่อื่นด้วยเช่นฐานข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา จากนั้นเธอถึงเริ่มนำคีย์เวิร์ดของกาแฟแต่ละชนิดมาคิดต่อว่าควรจะใช้ลวดลายและสีสันแบบไหน ซึ่งข้อมูลที่ได้จากผู้ว่าจ้างคือ

Ponlamai แปลว่าผลไม้, คั่วอ่อน

Klang Klang คั่วกลาง, อิตาเลียนโรสต์

Khem Kohn คั่วเข้ม, สตรองโรสต์

เมื่อได้แนวทางคร่าวๆ ในใจโคโนะก็ลงมือวาดภาพร่างกาแฟชนิดละ 2 ลายด้วยดินสอสี แล้วจึงส่งให้นัตซึสะเลือก เมื่อตกลงแบบที่ลงตัวแล้วจึงเริ่มสู่การวาดจริง

Start from Scratch

ตอนเห็นแพ็กเกจเราเข้าใจว่ามันคือการวาดด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่จริงๆ แล้วเทคนิคที่ใช้วาดคือ scratch ซึ่งใช้อุปกรณ์ภาพวาดสีอะครีลิกประกอบกับสีชอล์กน้ำมัน

วิธีคือกำหนดสีที่จะอยู่ล่างสุดก่อน จากนั้นระบายสีด้วยอุปกรณ์สีอะครีลิก ทาสีชอล์กน้ำมันสีขาวทับด้านบน ลงสีด้วยอุปกรณ์สีอะครีลิกอีกครั้ง แล้วค่อยขูดและลงสีตามจุดต่างๆ เมื่อทาสีทับกัน 3 ชั้น จะได้เทกซ์เจอร์ที่น่าสนใจ บางทีก็นำกระดาษสีขาวแปะลงที่เบส แล้ววาดตามรอยนูนค่ะ

เมื่อวาดเสร็จแล้วถึงนำไปสแกนเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบแพ็กเกจต่อไป กว่าจะจบกระบวนการทั้งหมดออกมาเป็นแพ็กเกจอันสดใสที่เราเห็นกันนั้นใช้เวลาประมาณ 1 เดือนพอดี

Ahka Ama Coffee Roasters Japan

Ahka Ama Coffee Roasters Japan

Ahka Ama Coffee Roasters Japan

Ahka Ama Coffee Roasters Japan

ดีไซน์ที่ถูกใจทั้งชาวไทยและญี่ปุ่น

เราถามโคโนะไปว่าผลงานชิ้นนี้ของเธอเป็นสไตล์ไหน คำตอบที่ได้รับคือน่าจะเป็นแนวผสมเพราะเธอเป็นคนญี่ปุ่นที่วาดงานโดยใช้ลวดลายของไทยเป็น reference งานที่ออกมาจึงน่าจะมีความเป็นไทยและญี่ปุ่นผสมกัน

Ahka Ama Coffee Roasters Japan

Ahka Ama Coffee Roasters Japan

Ahka Ama Coffee Roasters Japan

พอได้ยินว่าทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นต่างก็ชอบดีไซน์ของแพ็กเกจ ฉันดีใจมากค่ะ ความชื่นชอบงานศิลปะคงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเชื้อชาตินะคะ

นัตซึสะเคยบอกเราว่า แม้ร้านจะขายกาแฟไทยแต่แพ็กเกจไม่จำเป็นต้องไทยจ๋าขนาดนั้น อยากให้ออกมาถูกใจคนญี่ปุ่นที่น่าจะเป็นลูกค้าหลัก จะได้เป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขารู้สึกสนใจกาแฟไทย ก่อนนำไปสู่การติดใจเมื่อได้ชิม

เวลาวาดภาพ ฉันไม่คิดว่างานที่วาดจะไปเป็นส่วนประกอบของสิ่งอื่น แต่จะตั้งใจวาดสิ่งที่สวยจบในตัวเอง พร้อมนำไปประดับตกแต่งบ้าน ตอนวาดภาพสำหรับงานนี้ ฉันก็ตั้งใจให้ภาพต้นฉบับนำไปเป็นของตกแต่งได้เช่นกันค่ะ

ส่วนการนำมาทำเป็นแพ็กเกจในครั้งนี้ ความตั้งใจของฉันก็คืออยากให้เป็นหีบห่อที่เมื่อลูกค้าที่ได้เห็นรู้สึกอยากพากลับบ้านค่ะ

ใครเห็นแล้วอยากพาน้องกลับบ้านบ้าง รอวันโควิด-19 จางแล้วตามไปตำได้ที่ย่าน Kagurazaka สุดชิคในโตเกียวนะ

Akha Ama Coffee Roasters Tokyo

1-25 Akagi Motomachi, Shinjuku City, Tokyo 162-0817


ส่วนใครติดใจลายเส้นของโคโนะตามไปส่องผลงานของเธอต่อได้ที่

HPchirumichiru.jp

instagraminstagram.com/kanae_kouno

Behancebehance.net/kanae_kouno

Facebookfacebook.com/kanae.kouno.ill

AUTHOR