ณิชมน หิรัญพฤกษ์ : นักเขียนสาวแสนร่าเริงเจ้าของคอลัมน์ญี่ปุ่นสุดสนุก made in japan

ณิชมน หิรัญพฤกษ์หรือ แจน คือสาวไทยที่ไปใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ความคุ้นเคยกับญี่ปุ่นและความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวได้แบบเฮฮาปาจิงโกะทำให้แจนกลายเป็นคอลัมนิสต์เล่าเรื่องช่างคิดสนุกๆ ของญี่ปุ่นลงคอลัมน์ made in japan ส่วนความเป็นสาวโสดขี้เล่นก็นำมาสู่คอลัมน์เล่าทริกการใช้ชีวิตในโตเกียวไม่ให้เหงาอย่าง โตเกียวเดียวดาย ใน a day online

นอกจากเป็นกำลังสำคัญด้านเนื้อหาญี่ปุ่นให้ a day ปีที่แล้วเธอยังออกพ็อกเก็ตบุ๊กเที่ยวเมืองซากะสไตล์คราฟต์ๆ อย่าง Saga Ganbatte! ด้วย ความอินไซต์เรื่องญี่ปุ่นของเธอที่มีมาที่ไปจากไหน ชีวิตสุดสนุกในญี่ปุ่นของเธอเป็นอย่างไร ตามไปฟังพร้อมๆ กัน

คอลัมนิสต์สาวนักเล่าเรื่องในญี่ปุ่นอย่างคุณสนใจญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อไหร่
จำได้ว่าชอบอ่านการ์ตูนแต่เด็กเลย ค่อยๆ ซึมซับแนวคิดวัฒนธรรมเขามาโดยไม่รู้ตัว บ้าการ์ตูนมากระดับที่ยอมใช้เนต 56k สมัยก่อนโหลดหนังการ์ตูนมาดู ความรู้ภาษาญี่ปุ่นไม่มีแต่อยากร้องเพลงอนิเมะได้ก็ไปซื้อเทปจากสยามมาฟังที่บ้าน ตอน ม.4 ก็เลือกสอบศิลป์ญี่ปุ่นเพราะอยากหนีจากวิชาวิทย์ คิดในใจลึกๆ ว่าถ้าเข้าได้ก็มีภาษาญี่ปุ่นให้เรียน เลยจับพลัดจับผลูมาเรียนในที่สุด

แต่นี่คุณเลยเถิดมาจนเรียนจบปริญญาโทและกำลังจะต่อปริญญาเอกเลยนะ
อาจเพราะเราไม่ได้วางแผนชีวิตมั้ง ฮ่าๆๆ ตอนเอนทรานซ์ก็ไม่มีเป้าหมายแน่นอน เลยเลือกทางที่ปลอดภัยที่สุดคือเรียนต่อเอกญี่ปุ่นที่คณะอักษรฯ ไป สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเราได้ไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น 1 ปี รู้สึกเกลียดประเทศนี้มาก เพราะพอไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งในสังคมเขา มันก็เจอด้านมืด จริตสังคมที่เราอยู่แล้วไม่สบาย รู้สึกว่านี่เป็นประเทศที่ควรมาเสพสุขบันเทิง แต่ไม่ใช่ที่มาอยู่อาศัยเป็นบ้าน ฉันจะไม่กลับมาอีก! แต่พอเรียนจบก็ยังได้กลับไปทำงานที่ญี่ปุ่นเป็นระยะๆ จนตอนจะเรียนปริญญาโทต่อก็ยังเลือกที่นี่ เพราะถ้าหนีไปเรียนที่อื่น ทักษะภาษาญี่ปุ่นก็คงจะหายไปด้วย

ระหว่างที่คลุกคลีกับญี่ปุ่นไปเรื่อยๆ เจอข้อดีข้อเสียอะไรมากขึ้นไหม
เราพบว่ามันอยู่ได้ รอบแรกเราไปด้วยมุมมองแบบโลกสีพาสเทลโรยกลิตเตอร์ พอไปเจอความดาร์กเลยเหมือนโดนตบหน้ากลับมา ความดาร์กมันมีหลายแง่มุม เราเจอคนโรคจิตแบบไม่คุ้นเคย ไม่รู้จะรับมือยังไง มีแบบที่ขี่จักรยานไล่ตามเพื่อแลบลิ้นใส่ ขโมยกางเกงใน เป็นผู้หญิงคนเดียวมันก็หวั่นไหวนะ บางทีก็โดนหลอกไปเข้าลัทธิแปลกๆ เราอ่านการ์ตูนก็รู้ว่าญี่ปุ่นมีอะไรเพี้ยนๆ เยอะ แต่ไม่คิดว่ามันจะเป็นอะไรที่จริ๊งจริง ถ้าเคยดูหนัง All About Lily Chou Chou หรือ Confession อะไรพวกนั้นคือเรื่องจริงนะ คนดีก็มี แต่สภาพสังคมเขาเป็นแบบนั้น

ปรับตัวยังไงในพื้นที่แบบนั้น
ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนที่เราสบายใจ สนุกไปกับการท่องเที่ยว การกิน การเสพ pop culture ต่างๆ การ์ตูน หนัง เพลง นิทรรศการกรุบกริบ ร้านกาแฟ ร้านทำผมนี่ดีมาก ทำออกมาเหมือนในเล่มเป๊ะ ประทับใจ อาจเพราะเราแก่ขึ้นด้วย ลดความคาดหวังลงว่าคนต้องดี ไปแล้วต้องแฮปปี้ เรารู้ว่าความสุขของตัวเองคืออะไร จะหาความสุขได้ยังไง ซึ่งที่ญี่ปุ่นก็มีให้ตั้งเยอะ เมืองใหญ่อย่างโตเกียวหรือโอซาก้ามีนิทรรศการดีๆ งานเจ๋งๆ เต็มไปหมด ได้เจอคนเก่งๆ ที่นู่นมันก็สนุกนะ สวนสาธารณะก็ดี มีอะไรให้รื่นรมย์ ตอนแรกเราออกเที่ยวด้วยความรู้สึกเฟลกับสังคมญี่ปุ่น แต่ตอนหลังก็เปิดกว้าง เที่ยวอย่างมีความสุข

คุณเคยบอกว่าญี่ปุ่นสำหรับคุณเป็นประเทศที่มีความไบโพลาร์ มีสิ่งสุดขั้วหลายอย่างอยู่รวมกัน สุดท้ายมันดีหรือไม่ดี
มันดีมากเลย มันทำให้เรายังมีความสุขอยู่ในนั้นได้ เพราะญี่ปุ่นมันมีอะไรหลากหลายให้เสพ มีงานวิ่งที่วิ่งไปกินเบียร์กินเหล้าไป มีคาเฟ่คิตตี้หรือตัวการ์ตูนแบ๊วๆ ให้เข้า คือถ้าอยากหลุดไปในโลกที่เพี้ยนไปเลยก็ไปได้ หรือถ้าอยากไปสู่ความจริงจังก็มีพื้นที่เหมือนกัน ประเทศนี้มันสุดทุกทาง อยากทำอะไรก็ได้ เป็นเมืองที่มีที่อยู่สำหรับทุกคน ต่อให้เป็นลูสเซอร์มาหงอยๆ เหงาๆ มันก็มีคนที่เป็นลูสเซอร์ก้อนเดียวกันมาอยู่ด้วยเป็นเพื่อน

ในสายตาคุณ ทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีดีเอ็นเอความครีเอทีฟอยู่ในตัว
ความครีเอทีฟอาจมาจากการที่สังคมเขามีความบิดๆ เบี้ยวๆ แรงกดดันเยอะ มันเลยมีวัตถุดิบให้ผลิตงานออกมา ญี่ปุ่นมีศิลปินเยอะ มีพื้นที่ให้แสดงผลงานมาก คนก็สนุกที่จะทำ ไม่กลัวแป้ก มีงานตั้งแต่สเกลเล็กมาก ท้องถิ่นมาก ไปจนถึงงานยิ่งใหญ่อลังการ ตัวอย่างเช่นงาน Art Bookake Fair เป็นงานที่ทำล้อเลียน Art Book Fair ก็จะมีศิลปินที่ไม่ได้ดังมาก ทำสินค้าหรือทำซีน (หนังสือทำมือ) มาขาย เราเจอศิลปินคนหนึ่งมาจากเกียวโต เขาเอาก้อนหินจากเกียวโตมาวาดรูปหน้าลงไป กลายเป็นก้อนหินยิ้มให้ สื่อว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เจอตามทางมันก็มีชีวิตและสามารถให้กำลังใจคุณได้นะ คุยไปคุยมาก็รู้ว่าคุณพี่คนนี้เป็นอาจารย์สอนกราฟิกดีไซน์ในมหาลัยที่เกียวโต เราเลยรู้สึกว่าคนที่นี่มีหลายมิติ อย่างคนนี้เขาก็สร้างงานที่ดูมุ้งมิ้ง ผิดกับภาพลักษณ์การงาน กรอบหลายอย่างที่นี่กลายเป็นสิ่งผลักดันให้คนไปอยู่ในที่ทางที่เหมาะกับตัวเอง

เล่าให้ฟังหน่อยว่าคุณไปเรียนอะไรอยู่ที่นู่นมาตั้ง 2 ปี
เราอยู่คณะชื่อ Asia Pacific Study เอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนที่เราเรียนคือ Cultural Heritage Management ที่ย่อยลงมาอีกที โดยรวมแล้วเป็นคณะรัฐศาสตร์ แต่ของเราเป็นติ่งเล็กๆ ที่ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับรัฐศาสตร์แม้แต่น้อย (หัวเราะลั่น) แต่สนุก เราชอบเรียนวิชา Cultural Tourism ที่มีการศึกษามรดกโลกที่ต่างๆ ว่ากว่าจะได้ยื่นเป็นมรดกโลกต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง มีดราม่าการเมือง ดราม่าทางสังคม เรียนแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย สนุก เปิดโลกมาก ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันหมด ถึงจะไม่อยากรู้เรื่องการเมืองก็ต้องรู้ทั้งหมดนะ เพราะถ้าไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ใครจะอยากมาปกป้องพื้นที่แห่งนี้

อีกวิชาหนึ่งที่สนุกคือ Creative Industry เรียนว่าเรื่องที่ดูขำๆ ติ๊งต๊องๆ มันเอามาเป็นอุตสาหกรรมแล้วโตได้ยังไง เรื่องนึงเราเคยเล่าในคอลัมน์ made in japan คือเรื่องเรนเจอร์ท้องถิ่นที่มาช่วยคนทำนา ดูแลเกษตรกรในท้องถิ่น จุดเริ่มต้นมาจากคนที่ฝันอยากเป็นนักมวยปล้ำแต่เป็นไม่ได้เลยกลับบ้านเกิด เอาความรู้เรื่องเทรนนิ่งร่างกายมาเปิดยิม แต่ยังเก็บความฝันจะเป็นฮีโร่เอาไว้ สุดท้ายเลยจัดอีเวนต์ในท้องถิ่น สร้างคาแรกเตอร์เรนเจอร์ขึ้นมาเล่นกับเด็กๆ เรื่องราวเริ่มบูม NHK ก็มาขอซื้อไปทำหนัง พอเรียนแล้วรู้สึกว่าถ้าคนเรามีแพสชัน ทำอะไรก็ทำได้

ได้ยินว่าคุณทำทีสิสหัวข้อน่าสนใจมาก มันคือเรื่องอะไร
เป็นการศึกษาเรื่องส่งต่อความรู้ในการสร้างวัดไม้ดั้งเดิมของญี่ปุ่น ปกติคนจะต้องการรักษาพวกตึกเก่าไว้โดยสร้างความแข็งแรงเพิ่ม สตาฟฟ์มันเก็บไว้ แต่ที่นี่เขาโนแคร์ ความที่ให้ความสำคัญกับการส่งต่อความรู้มากกว่า เขาจะรื้อใหม่เพื่อใช้สอนคนรุ่นถัดไปให้ทำแบบนี้ได้ ตัวอย่างเช่นศาลเจ้าอิเสะที่จะรื้อแล้วสร้างใหม่ทุก 20 ปี เขาจริงจังถึงขั้นปลูกต้นไม้บนเขาเพื่อให้มีไม้กลับมาใช้ใหม่ทุกรอบเวลา ก่อนรื้อก็มีพิธีกรรมต่างๆ จริงจังมาก พอต้องทำทีสิสเกี่ยวกับมรดกโลก ถ้าเราจับหัวใจของการส่งต่อความรู้เหล่านี้ได้ มันก็น่าจะมาปรับใช้ที่ไทยได้ว่าเราจะรักษามรดกโลกของเราต่อไปได้ยังไง

ตอนทำก็มีปัญหาเรื่องการติดต่อ แต่สุดท้ายก็โชคดีได้คุยกับช่างไม้ตัวท็อป เป็นระดับ Master Carpenter ได้ไปดูไซต์งานจริง งานมันละเอียดมาก เลอค่ามาก รู้สึกว่าเขามีความภูมิใจและตั้งใจมากกับงานที่เขาทำ ช่างไม้ที่นี่ถ้าไม่เริ่มงานก่อนอายุ 18 เขาก็จะไม่รับเพราะมันต้องใช้เวลาเรียนตลอดชีวิต นอกจากนี้ก็ยังได้ไปคุยกับแผนก Cultural Management ที่จังหวัดนาราซึ่งมีวัดเยอะมาก ได้รู้ระบบการจัดการดูแล เขาจะทำบันทึกอย่างละเอียดให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษาว่าสมัยนั้นวัดสร้างกันยังไง ทำงานเป็นระบบมาก

ในเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าสนใจ คุณหาวัตถุดิบสนุกๆ มาเขียนเล่าจากช่องทางไหน
แรนดอมมาก บางอย่างคุยกับเพื่อนในวงเหล้าแล้วเพื่อนพูดถึงก็จดไว้แล้วไปหาเพิ่มเติม บางทีอ่านข่าวเจอก็ หื้ม แปลกดี เวลาเลือกเรื่องมาลงก็มีเกณฑ์ว่าอย่างน้อยตัวเองต้องสนุกและเรื่องต้องมีคุณค่าสักแง่หนึ่ง สมมติเรื่องที่ดูติ๊งต๊องอย่างเรื่องคุณลุงขี้เหงา ให้คนเช่าราคาวันละ 1000 เยนแล้วเอาไปทำอะไรก็ได้ ประเด็นคือมันมีคนใช้บริการ กลายเป็นเรื่องฮิต เรื่องนี้อาจจะดูขำ แต่จริงๆ แล้วน่าสนใจว่าสภาพสังคมญี่ปุ่นเขาเป็นยังไง ทำไมถึงมีบริการแบบนี้ขึ้นมา สังคมเขาเหงารึเปล่า อะไรแบบนี้

การเจออะไรแปลกๆในญี่ปุ่นหล่อหลอมอะไรในตัวเราบ้าง
มันทำให้เราเปิดใจมากขึ้นนะ รอบแรกเรามองญี่ปุ่นลบหมดเลย แต่พออยู่แล้วก็รู้สึกว่า คนที่เขาเป็นแบบนั้น จริงๆ แล้วเขาก็ไม่ได้อยากเป็น ถ้าเราใช้ชีวิตเหมือนเขาทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ เรากล้าพูดเหรอว่าเราจะไม่เป็นอย่างนั้น รอบหลังเราไปอยู่ด้วยทัศนคติแบบใหม่ เลยอยู่แบบลั้ลลาปาจิงโกะมากจนไม่มีใครเชื่อว่าไปเรียน ถ้าเราเปิดใจ เวลาเจออะไรแปลกๆ เจออะไรที่ไม่ชอบใจ สุดท้ายเราจะกลับมามองตัวเองก่อนว่าเราจัดการตัวเองได้ดีที่สุดแล้วรึยัง ก่อนจะไปโกรธเกลียดเขาหรือหงุดหงิด

ตอบสวยมาก
นี่แหละตัวตนที่แท้จริง ฮ่าๆๆ

นักท่องเที่ยวมักจะชอบไปญี่ปุ่นเพราะธรรมชาติสวย อาหารอร่อย ถามคนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอย่างคุณหน่อยว่าอะไรทำให้ญี่ปุ่นยังน่าเที่ยว
เพราะมันหลากหลายและเปลี่ยนเรื่อยๆ ไปกี่ทีก็เจออะไรที่ไม่เหมือนเดิม เช่นพอพาเพื่อนไปเที่ยวที่เดิมบ่อยๆ มันก็มีสายสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นกับคนที่นั่น ต่อให้เป็นที่เดิมๆ ก็ไม่รู้จะมีอะไรเกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่ไป อย่างตอนไปซากะก็เหมือนเป็นการเล่นตลกของโชคชะตา ได้เจอคนเจ๋งๆ เยอะด้วยความบังเอิญ จับพลัดจับผลูไปเจอคุณลุงที่ทำเพื่อความฝัน สร้างคาเฟ่ในโรงหนัง เขาเป็นคนฟุกุโอกะที่กลัวโรงหนังที่นี่จะปิดตัว เลยสร้างพื้นที่ขึ้นมาให้คนในท้องถิ่นมาทำกิจกรรม หรือเจอคนใจดีมากๆ อย่างคนในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่ขับรถพาเราไปเจอบ้านที่ซันนี่อยู่ในซีรีส์ Stay ซากะฯ มันเป็นเมืองที่วิบากพอสมควร คือไม่ได้เที่ยวง่าย แต่สนุกและมีความทรงจำที่ดี

พ็อกเก็ตบุ๊กว่าด้วยญี่ปุ่นเล่มใหม่ที่จะทำกับ a book นี่เกี่ยวกับอะไร
มีโปรเจกต์ไกด์บุ๊กกับเล่มคาเฟ่แปลกในญี่ปุ่น อย่างเช่นคาเฟ่พระสวดในโตเกียว เป็นป๊อปอัพคาเฟ่อยู่ที่สถานีรถไฟ แต่งแบบมูจิเลย ไม้ๆ โล่งๆ สว่างๆ มีเบาะกรุบกริบ แล้วมีพระนั่งสวดให้ตลอดที่เรานั่งจิบกาแฟชิกๆ คอนเซปต์คือระหว่างที่ใช้ชีวิตเร็วๆ เนี่ย ถ้าเข้าร้านนี้จะเหมือนทุกอย่างเปิดเป็นภาพสโลโมชัน ฟังพระสวด นะโม…นะโม… เคาะจังหวะต็อกๆๆ ขัดแย้งมากกับสถานีรถไฟที่คนแน่นเอี๊ยด บางคนอยากเข้าวัด อยากหาที่พึ่งทางจิตใจ แต่ไม่มีเวลาเพราะเป็นซาลารี่แมนชีวิตบีบคั้น ก็มากินกาแฟแก้วนึง เสียเวลาน้อยมากแถมได้พักและได้พบความสงบ เป็นอะไรที่อยากเขียนถึง ตอนนี้ก็รวบรวมอยู่

ขอคำถามสุดท้าย ตอนนี้มีใครจะมาทำให้โตเกียวของคุณหายเดียวดายบ้างรึยัง
เอาจริงโตเกียวของเราก็ไม่ค่อยเหงานะ มีกัลยาณมิตรอยู่รอบๆ ชีวิตก็สนุกดี…แต่ก็ยังตามหาคนที่จะทำให้โตเกียวหายเหงาได้อย่างถาวรอยู่ (ยิ้มเขิน)

พบแจน-ณิชมนได้ทุกเดือนในคอลัมน์ made in japan ใน a day online หรือ สั่งซื้อหนังสือ Saga Ganbatte! แสนสนุกของเธอได้ที่นี่

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR