‘Delta’ ความพยายามครั้งที่ 4 ของ Mumford & Sons โฟล์กร็อกสายวรรณกรรม

Highlights

  • Delta คือสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 4 ของ Mumford & Sons ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งใน US Billboard 200 และอันดับสองของ UK Albums Chart
  • เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมคลาสสิกแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเชกสเปียร์ หรือจอห์น สไตน์เบ็ก ขณะที่ภาคดนตรีก็ถูกขับเคลื่อนผ่านแรงบันดาลใจที่มีต่อบ็อบ ดีแลน
  • Delta เริ่มโปรโมตเมื่อปลายปี 2018 ออกทัวร์ฝั่งตะวันตกตั้งแต่ต้นปี 2019 และกำลังจะเริ่มทัวร์เอเชียในเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 21 พฤศจิกายนปีนี้

12 ปีบนเส้นทางดนตรีอาจฟังดูไม่ค่อยคร่ำหวอดมากนัก ไม่ว่าจะในแง่ของประสบการณ์หรือชั้นเชิงของเนื้อหาและดนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบ้านเกิดคุณอยู่ในเมืองหลวงของดนตรีอัลเทอร์เนทีฟอย่างลอนดอน เมืองที่แทบจะมีวงดนตรีเกิดขึ้นไม่ซ้ำหน้าในแต่ละวัน แต่ก็ไม่ได้บดบังวงโฟล์กร็อกลอนดอนอย่าง Mumford & Sons เลยแม้แต่น้อย

เพียงแค่เสียงแบนโจที่โดดเด่นชัดเจนกว่าบรรดาวงร่วมรุ่นอินดี้ป๊อปได้เริ่มบรรเลงขึ้นมาแล้วละก็ คุณจะนึกถึงพวกเขาในทันที แถมการกลับมาในครั้งนี้ ลายเซ็นของท่วงทำนองดนตรีของพวกเขาก็ยังคงชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนอย่างเคย

แม้ชื่อเสียงจะไม่เปรี้ยงปร้างโครมครามและเป็นที่รู้จักของคนส่วนใหญ่ แต่คุณภาพและมาตรฐานของงานดนตรีที่รักษาไว้ได้ดีตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ Mumford & Sons วงจากเมืองหลวงของอังกฤษวงนี้ สามารถดำรงสถานภาพการเป็นวงดนตรีฝีมือเยี่ยม ใส่ใจกับทุกโชว์ และแน่นอนว่าได้รับการสนับสนุนจากฐานแฟนเพลงของตัวเองด้วยดีมาตลอด

ยิ่งไปกว่านั้นความละเมียดละไมของพวกเขายังสามารถหอบหิ้วชื่อเสียงข้ามน้ำข้ามทะเลไปเป็นที่รักของชาวอเมริกันอีกต่างหาก โดยเฉพาะเมื่ออัลบั้มลำดับที่ 2 ของวงอย่าง Babel ออกมาแผลงฤทธิ์เมื่อปี 2012 ก็ยิ่งเสริมให้วงเป็นที่น่าจับตามองจากคนทั่วโลกมากขึ้น แม้การเดบิวต์อัลบั้มแรกอย่าง Sigh No More (2009) จะได้รางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปีจาก Brit Awards รวมถึงการพาอัลบั้มขึ้นถึงอันดับ 2 ใน Billboard 200 ของฝั่งอเมริกา แต่สำหรับอัลบัม Babel (2012) พวกเขาทำสำเร็จ ด้วยการขึ้นถึงอันดับ 1 ใน Billboard 200 แต่ต้องอย่าลืมว่าพวกเขาเป็นวงจากลอนดอน และไม่บ่อยครั้งนักที่วงจากสหราชอาณาจักรจะขึ้นถึงจุดสูงสุดของ Billboard 200

แต่นี่ก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความน่าสนใจของโฟล์กร็อกวงนี้เท่านั้น ก่อนจะมาเป็น Delta อัลบั้มชุดล่าสุด วงโฟล์กจากอังกฤษวงนี้ก็ผ่านอะไรมาเยอะเหมือนกัน

 

จาก ‘บ็อบ ดีแลน-โฟล์ก’ สู่ ‘โฟล์กร็อก’ สมัยใหม่

ในปลายปี 2018 ไลน์อัพของวงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้จะเดินทางมาจนถึงสตูดิโออัลบั้มที่ 4 แล้วก็ตาม ทั้ง Winston Marshall เจ้าของเสียงแบนโจอันเป็นเอกลักษณ์ของวง Ted Dwane มือเบสจอมลีลา Ben Lovett อัจฉริยะของวง เจ้าของหลายตำแหน่งทั้งเปียโน คีย์บอร์ด เพอร์คัสชั่น และอื่นๆ อีกมากมาย และที่ขาดไม่ได้ หัวหน้าวงอย่าง Marcus Mumford

เช่นเดียวกันกับแนวเพลงของวง แม้จะเดินทางมาถึงชุดที่ 4 แต่แนวทางหลักของพวกเขายังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง การทำเพลง ‘โฟล์ก’ ให้หลากหลาย ติดหู ยังคงเป็นสิ่งที่พวกเขาสนุกกับมัน

แต่สิ่งหนึ่งที่ Mumford & Sons มักถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด ทั้งจากนักวิจารณ์และแม้กระทั่งนักดนตรีด้วยกันคือ เรื่องของความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (authenticity) ของแท้ที่ไม่เลียนแบบใคร รวมถึงการมีแนวเพลงของตัวเองที่ชัดเจน แต่มาร์คัสก็ไม่เคยเห็นว่ามันเป็นปัญหาสำหรับวงเลย เหตุผลก็คือพวกเขาได้เรียนรู้มาจาก Bob Dylan

“บ็อบไม่เคยสนใจความเป็น authenticity เขาสามารถเปลี่ยนชื่อ ทรงผม เลียนแบบเสียง หรือจะเป็นใครก็ได้ที่คุณโปรดปรานและอยากจะเป็น และเราไม่มีทางมาถึงจุดนี้ได้ หากไม่ได้เป็นเพราะบ็อบ ดีแลน”

LONDON, ENGLAND – DECEMBER 10: Marcus Mumford, Winston Marshall and Ted Dwane of Mumford & Sons perform live on stage at The O2 Arena on December 10, 2015 in London, England. (Photo by Samir Hussein/Redferns)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงที่แหลมคมและรวดเร็วของแบนโจเป็นสิ่งที่ทำให้ Mumford & Sons เป็นที่จดจำและแตกต่างจากวงดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกันวงอื่น แต่ก็เป็นเพราะเสียงจากแบนโจเจ้าปัญหาอีกเช่นกันที่ทำให้ Mumford & Sons ต้องเผชิญกับความไม่มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของตัวเองที่เป็นของแท้ (inauthenticity) แต่วินสตันพูดถึงประเด็นนี้ไว้ได้น่าสนใจทีเดียว

“วงของเราถูกกล่าวหาเรื่อง inauthenticity เพราะว่าเครื่องดนตรี (แบนโจ) ที่ผมเล่นนั่นแหละ แต่คุณลองดูวงอื่นๆ ดู Peter Green แห่งวง Fleetwood Mac สิ เขาก็มาจากลอนดอนเหมือนกับเรา แต่ก็เล่นกีตาร์แบบบลูส์ (British blue guitarist) เก่งฉิบหาย แบบนี้มันไม่ authentic ตรงไหน เราคิดว่าถ้าเราทำสิ่งที่เรารักได้ดีมากๆ เรื่องที่มันจะเป็นอัตลักษณ์ของเราแบบแท้จริงหรือเปล่าช่างมันเถอะ เพราะผมไม่ได้มาจากเดลต้า มิสซิสซิปปี และฝึกเล่นแบนโจที่นั่น ผมเป็นคนลอนดอน!”

แม้อาจจะฟังดูน่าเบื่อหน่ายที่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ แต่วินสตันก็อธิบายมันได้อย่างมีเหตุผล และนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ Mumford & Sons ได้รับการยอมรับจากทั้งแฟนเพลงและนักดนตรีด้วยกัน ดังนั้นเครื่องสายทั้งหมดที่ถูกใส่มาในอัลบั้มจึงผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว

อย่างไรก็ดี Mumford & Sons ได้ท้าทายอุตสาหกรรมดนตรีอย่างมากในช่วงสองอัลบั้มแรก โดยที่ตลาดดนตรีทั้งในอังกฤษและอเมริกาในขณะนั้นล้วนเป็นพื้นที่ของศิลปิน ‘อินดี้ป๊อป’ แทบทั้งสิ้น จนกระทั่งพวกเขาได้เข้าชิงรางวัลศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมของ Grammy ในปี 2011 ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังได้แสดงสดร่วมกับบ็อบ ดีแลน ฮีโร่ในวัยเด็กของพวกเขา เปรียบเสมือนการได้ใบรับรองจากอาจารย์ใหญ่สายโฟล์ก ทำให้พวกเขาโลดแล่นอยู่ในวงการดนตรี และตามมาด้วยรางวัลอีกมากมายในปีถัดมา

Time

 “อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าเราอยากจะเดินตามรอยของบ็อบ ดีแลนหรือเปล่า เพราะเขาเองก็เปลี่ยนแนวเพลงของตัวเองตั้งแต่อัลบั้มที่ 5 หลังจากที่เขารู้สึกว่าเหนื่อยหน่ายกับแนวเพลงเดิม และนั่นก็ทำให้แฟนเพลงใจหายไปตามๆ กัน เมื่อเขาใช้กีตาร์ไฟฟ้าและไม่เล่นฮาร์โมนิกาอีกแล้ว เราพูดได้เพียงว่าโฟล์กในแบบของเรามันจะหนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ปิดกั้นที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ” มาร์คัสเล่าถึงอนาคตของวงเมื่อถูกถามถึงการตามรอยฮีโร่ในวัยเด็กของพวกเขา

ก่อนหน้านี้  Mumford & Sons เคยพักวงไปในระยะสั้นๆ ก่อนที่จะกลับมาทำเพลงอีกครั้งในปี 2013 ซึ่งพวกเขาได้ทดลองใช้เครื่องดนตรีและเสียงใหม่ๆ แต่ก็ยังคงเป็นที่ถูกใจของแฟนเพลงยุคแรกเริ่ม และแน่นอนว่าเนื้อหายังคงมีเสน่ห์และชวนให้นึกถึงบ็อบ ดีแลนในเวอร์ชั่นที่ร็อกกว่านั่นเอง

 

เริ่มจาก ‘Sigh No More’ ของโฟล์กร็อกนักอ่านวรรณกรรม

ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ในช่วงที่มาร์คัสอายุครบ 20 ปี เขากำลังศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวรรณกรรมคลาสสิก ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระในสกอตแลนด์

จะว่าโชคร้ายสำหรับเขาก็ได้ที่ท้ายที่สุดเขาเรียนไม่จบ แต่นั่นก็เป็นความโชคดีต่อวงการเพลงอย่างยิ่ง เพราะมาร์คัสหันหลังให้กับการศึกษาในระบบ เพื่อมาทำอัลบั้มอย่างจริงจัง ก่อนจะมีสตูดิโออัลบั้มแรกขึ้นมา และนั่นเป็นที่มาของหลายต่อหลายเพลงของ Mumford & Sons ที่มักจะอ้างอิงถึงวรรณกรรมคลาสสิก หรือแม้กระทั่งบางท่อนที่มาร์คัสประทับใจเป็นการส่วนตัวก็ถูกบรรจุอยู่ในบทเพลงของเขา

“Sigh no more, ladies, sigh no more”

ใช่ครับ ชื่อของสตูดิโออัลบั้มแรก ‘Sigh No More’  มาจากวรรณกรรมเรื่อง Much Ado About Nothing ของเชกสเปียร์ รวมถึงซิงเกิลในอัลบั้มดังกล่าว ‘Roll Away Your Stone’ ก็ใช้วรรคทองจากวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง Macbethในตอนที่ 1 ฉาก 4 “Stars, hide your fires / Let not light see my black and deep desires” สมกับเป็นแฟนของเชกสเปียร์จริงๆ

ไม่เพียงเท่านั้น เพลงที่หลายคนน่าจะร้องตามกันได้ไม่ยากอย่าง ‘The Cave’ ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากบทประพันธ์มหากาพย์กรีกโบราณอย่าง The Odyssey โดยเฉพาะตอนที่ Odysseus เจอเมืองไซเรนระหว่างเดินทางกลับบ้าน

So make your siren’s call and sing all you want I will not hear what you have to say ‘Cause I need freedom now and I need to know how To live my life as it’s meant to be”

รวมถึงเพลงที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดในช่วงแรกของการเป็นนักดนตรีของพวกเขา ‘Little Lion Man’ ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทประพันธ์โรมานซ์ Yvain, the Knight of the Lion ของกวีชาวฝรั่งเศส Chretien de Troyes’ Yvain เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอัศวินที่กลายเป็นคนบ้า หลังเอ่ยปากสัญญาต่อภรรยาว่าจะกลับไปพบอีกครั้งหนึ่ง

แม้กระทั่งเพลง Timshel และ Dust Bowl Dance ก็ยังได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมคลาสสิกตลอดกาลอย่าง Of Mice and Men, East of Eden และ The Grapes of Wrath ของ John Steinbeck คนหลังสุดนี้น่าจะคุ้นหูกันพอสมควร เพราะมีหลายเล่มที่ถูกแปลเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทยเรียบร้อย

และด้วยความคลั่งไคล้ในงานวรรณกรรมมาร์คัสถึงกับสร้างบุ๊กคลับของตนเอง เพื่อแชร์หนังสือและวรรณกรรมกับแฟนเพลง

“ผมอยากอ่านให้มากขึ้นกว่านี้อีก สิ่งที่คุณเขียนมันมาจากสิ่งที่คุณอ่านนั่นแหละ นักดนตรีก็เช่นกัน เราทำเพลงแต่ละครั้งก็ได้รับอิทธิพลจากการฟังของเรา การอ่านงานให้เยอะไว้ก่อน มันต้องพัฒนาการเขียนเพลงของเราอย่างแน่นอน” มาร์คัสเล่าเหตุผลของการสร้างชมรมหนังสือของเขาเอง ซึ่งสร้างความประทับใจอยู่ไม่น้อยให้กับบรรดาแฟนเพลงที่เป็นทั้งนักอ่านและนักฟัง

ยังไม่รวมอีกหลายต่อหลายเพลงที่หากเล่ากันจริงจัง เกรงว่าจะไม่สามารถอธิบายความได้หมด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักอ่านวรรณกรรมคลาสสิกก็แล้วกัน

 

จาก Babel ถึง Delta ปักหมุด ‘บริติชโฟล์กร็อก’ แนวหน้าของโลก

เสียงแซ่ซ้องและชื่นชมว่า Babel เป็นหนึ่งในงานที่ดีที่สุดของศิลปินสหราชอาณาจักรในปีนั้น (2012) ยอดขายก็ถึงขั้นได้รับแผ่นเสียงทองคำไปชื่นชม แน่นอนว่าพลังและความยึดมั่นต่อพัฒนาการที่ไม่หยุดยั้งทำให้วงยังออกทัวร์อย่างสม่ำเสมอและผลิตสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 ออกมาคือ Wilder Mind (2015) ที่แม้จะค่อนข้างเงียบเหงา ไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนกับสองอัลบั้มแรกที่คว้าทั้งรางวัลและยอดขาย แต่เสียงของนักวิจารณ์ก็ยังยกย่องพวกเขาในฐานะนักดนตรีที่ผลิตงานมาตรฐานออกมาโดยไม่สนใจกระแสดนตรีอินดี้ป๊อปที่กำลังถาโถมเกาะอังกฤษในขณะนั้น

แต่ถึง Sigh No More, Babel และ Wilder Mind จะสร้างชื่อและการประสบความสำเร็จขนาดไหน Mumford & Sons ก็ไม่ได้คิดที่จะอนุรักษ์ความดีงามในชุดนั้นมารวมไว้ใน ‘Delta’ สตูดิโออัลบั้มที่ 4 อัลบั้มล่าสุดของพวกเขา ที่ปล่อยซิงเกิลแรกตั้งแต่ปลายปี 2018 และเริ่มออกทัวร์อย่างจริงจังในช่วงต้นปีนี้

ไม่ใช่เพราะงานเก่ามีความป๊อปเป็นส่วมผสมที่สูงเกินสมควร หรือเพราะมันซึมซับติดหูง่ายจนเกินไป ทำให้งานดูหน่อมแน้ม ไม่เหมาะกับความเป็นโฟล์กร็อกเหมือนอย่างใครๆ เขา แต่เพราะวงต้องการสร้างความครึกครื้น จึงเลือกที่จะดึงความเป็นตัวเองสมัยวัยรุ่นกลับมาอีกครั้ง ซึ่งมาร์คัสเห็นว่าแม้มันจะค่อนข้างโฉ่งฉ่างและมีความเป็นร็อกแอนด์โรลที่สะพรั่งแพรวพราว แต่มันก็ทำให้ Mumford & Sons ดูกร้าวแกร่ง เข้มข้น และขึงขัง ขณะเดียวกันก็ยังรักษาความละเอียดอ่อน ละเมียดละไม อย่างที่พวกเขาถนัด ทำให้ Delta มีส่วนผสมที่ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับแฟนตัวยงของ Mumford & Sons แต่ก็ท้าทายสำหรับผู้ฟังหน้าใหม่ที่อยากสัมผัสกับโฟล์กร็อกที่ทรานสฟอร์มกลิ่นอายดนตรีของตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง

วงเลือก ‘Guiding Light’ เป็นซิงเกิลแรกในการเปิดตัวอัลบั้ม เสียงที่คุ้นเคยของมาร์คัสพร้อมเสียงประสานของกีตาร์โปร่ง เปียโน และแบนโจ ท่อนฮุกที่ยังเอาเราอยู่หมัดตั้งแต่ได้ฟังครั้งแรก “Cause even when there is no star in sight, you’ll always be my only guiding light” เหมือนเป็นเทรเลอร์สั้นๆ เพื่อบอกกับเราว่า พวกเขากำลังจะมีงานมาสเตอร์พีซอีกหนึ่งชิ้น

ไม่ผิดจากที่คาดหมายสักเท่าไหร่ เพราะซิงเกิลแรกค่อนข้างบ่งบอกตัวตนที่ชัดเจนของ Mumford & Sons ได้เป็นอย่างดี ยอดวิวในยูทูบทะยานขึ้นสู่หนึ่งล้านวิวในระยะเวลาเพียงสองสัปดาห์

จริงอยู่ที่นักวิจารณ์จากหลายสำนักเห็นว่า Delta พยายามเข้ามาอยู่ในดนตรีเมนสตรีม ซึ่งถูกคาดว่าเป็นการปูทางไปสู่อัลบั้มถัดไป หรือเพื่อที่จะ collaborate กับศิลปินอื่นๆ ได้มากขึ้น ทั้งการทำเพลงและการทัวร์คอนเสิร์ต แต่หลายสำนักก็ยังคงชื่นชมในความลงตัวของ Delta

นิตยสาร NME พูดถึง Delta ไว้ได้น่าสนใจว่า ‘คุณสามารถเอาเพลงทั้งหมด 14 เพลงใน Delta ไปใส่ไว้ในรวมเพลงฮิตของศิลปิน เช่น Imagine Dragons หรือ Twenty One Pilots ได้อย่างลงตัว ซึ่งมันจะเป็นสิ่งดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ฟัง แต่ Delta คือการรวบรวมเพลงของ Mumford & Sons ที่ลงตัวที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยทำมา ไม่คันทรีจนเกินไป และไม่ใช่อัลบั้มทดลองจนออกทะเล Delta ให้บรรยากาศสบายๆ ไม่รีบร้อน บวกกับเมโลดี้ที่ชวนฝัน’

การตั้งใจฟัง Delta ครั้งแรก ค่อนข้างตื่นตาตื่นใจพอสมควร พวกเขาวางเพลย์ลิสต์ให้เดาทางยาก และสลับสับเปลี่ยนจังหวะที่แตกต่างจากสามอัลบั้มแรกเป็นอย่างมาก จากแทร็กเปิด ‘42’ ไปจนถึงคอรัสในแทร็ก ‘Woman’ และ ‘October Skies’ ทำให้รู้สึกว่างเปล่า แต่ในขณะเดียวกันก็ร้าวราน ถูกคั่นกลางด้วยแทร็ก ‘Beloved’ ที่ค่อยพาเรากลับไปยัง Mumford & Sons ในยุคแรกอีกครั้ง เสียงแบนโจที่ชัดเจนบวกกับเสียงนุ่มโทนต่ำและแผดเสียงก่อนเข้าท่อนฮุก เท่านี้ก็เบาใจแล้วว่าพวกเขายังอยู่ในหนทางของโฟล์กร็อกยุคบุกเบิกก่อนจะถึงแทร็กสำคัญอย่าง ‘Picture You’ ที่พอได้ฟังหลายรอบแล้วทำให้นึกถึง Damon Albarn ที่กำลังพยายามร้องเพลงเศร้าต่อหน้าผู้คนนับหมื่นในคอนเสิร์ตด้วยแววตาที่จริงใจ

แม้งานใหม่ของ Mumford & Sons จะรักษามาตรฐานเอาไว้ได้คงที่ แต่ความอืดและความจืดชืดในบางแทร็กทำให้นักวิจารณ์เพลงก็ไม่ได้ชอบคาแร็กเตอร์ของอัลบั้มมากนัก

Delta ทำให้เรานึกถึงอัลบั้ม X&Y ของ Coldplay ที่ออกมาในปี 2005 ซึ่งน่าเบื่อที่สุดที่ Coldplay เคยทำไว้ เพราะมีความยาวเยิ่นเย้อ คล้ายคลึงกับ Delta อย่างมากเพราะมีความยาวถึง 61 นาที ที่สำคัญคือเสียงในอัลบั้มส่วนใหญ่จะเรียบๆ และไม่หวือหวา หากฟังเข้านานๆ เหมือนยาลดกรดที่ไร้รสชาติที่กำลังละลายในแก้วนม” คอลัมนิสต์จาก Pitchfork พูดถึงความน่าเบื่อของ Delta ได้เห็นภาพทีเดียว

หลากหลายความเห็นต่อ Delta ค่อนข้างกระจัดกระจาย แต่แทร็กยอดเยี่ยมของอัลบั้มจะไม่มีไม่ได้ โมเมนต์ที่โชว์ความยอดเยี่ยมและการเติบโตในเส้นทางดนตรีถูกถ่ายทอดออกมาในแทร็ก Wild Heart ช่วงท้ายอัลบั้มที่สุดแสนจะบัลลาด เพลงนี้เหมือนได้ปลุกรากความเป็นเพลงโฟล์กของวงอีกครั้งอย่างน่าฉงน พลังเสียงของมาร์คัสเคล้าด้วยเสียงกลอง เปียโนที่นุ่มนวล และกีตาร์อะคูสติกที่เงียบงัน แต่เปี่ยมไปด้วยตัวโน้ตชัดเจน จนไม่ต้องเร่งเสียง

No one is better armed

To tear me down with a slight of the tongue”

มาร์คัสร้องพึมพำอยู่ในลำคอ เพลงนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาด้วยความดุดัน แต่ก็เป็นความความรักที่ซับซ้อน เร่าร้อนและสานสัมพันธ์แบบเอื้อเฟื้อต่อกัน คงเป็นจุดนี้ล่ะมั้งที่ทำให้แฟนเพลงต่างก็เติบโตไปกับบทเพลงของพวกเขา ที่ถึงแม้จะสลับซับซ้อนแต่ก็เข้าถึงง่ายในเวลาเดียวกัน ทำให้เห็นว่าพวกเขาเองก็ต้องการยกระดับมาตรฐานงานเพลงของวง แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งความเป็นโฟล์กอังกฤษที่เปิดฟังได้ในทุกช่วงเวลา

21 พฤศจิกายน จะเป็นการทัวร์คอนเสิร์ตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกของวง เพราะก่อนหน้านี้ทำได้แค่เฉียดไปเฉียดมา ใกล้ที่สุดก็ยังไกลถึงโตเกียว ประสบการณ์ทั้ง 4 อัลบั้มและการออกทัวร์ไม่ต่ำกว่าพันรายการ คงไม่ต้องอธิบายอะไรไปมากกว่านี้ ใครที่เพิ่งฟัง Delta จบและยังลังเลว่าควรจะไปดูสดหรือเปล่า ก็อย่าพลาดโอกาสนี้ไปเลย นานๆ ทีจะมีโฟล์กดีๆ มาเสิร์ฟถึงบ้าน ส่วนแฟนฮาร์ดคอร์สมัยบุกเบิกแทบไม่ต้องห่วง เพราะมั่นใจว่าขนเซตลิสต์มาจากทั้ง 4 อัลบั้มอย่างแน่นอน

ขอให้สนุกกับการฟังเพลง แล้วพบกันที่ Mumford & Sons Live in Bangkok

 

ทำการบ้านกับ 3 แทร็กที่ควรฟังก่อนไปคอนเสิร์ต


อ้างอิง

NME

Pitchfork

The Atlantic

The Boot

The Guardian

AUTHOR