Nympheart แบรนด์จิวเวลรีที่เปลี่ยนเศษไม้เหลือใช้เป็นเครื่องประดับที่มีชิ้นเดียวในโลก

Highlights

  • Nympheart คือแบรนด์จิวเวลรีทำมืออายุ 6 ปีที่โดดเด่นเรื่องการจับคู่ ‘ไม้’ และ ‘Epoxy’ เรซินที่ใช้ราดปูพื้นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์​ นับเป็นส่วนผสมที่ยังไม่เคยมีใครทำในเอเชียเมื่อ 6 ปีก่อน
  • ปาล์ม–ธีรพล ธนมณฑล และโมโม–เปลี่ยนกาล ไตรคุ้มพันธุ์ อดีตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คือผู้ทดลองส่วนผสมสูตรนี้โดยเริ่มต้นจากการทำงานกันสนุกๆ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ในปี 2013 และผลิตงานจิวเวลรีครั้งแรกออกมาขายในงานประจำปีของลาดกระบัง หลังจากนั้นงานออกแบบของพวกเขาก็ได้รับความสนใจ จึงทำให้ทั้งคู่พัฒนาแบรนด์มาต่อเนื่องจนถึงวันนี้
  • นอกจากการผสมผสานวัสดุแบบใหม่ๆ และลายไม้ที่ไม่เหมือนกันสักชิ้น เอกลักษณ์ของแบรนด์ยังเป็นโปรดักต์จิวเวลรีผนึกอัฐิของผู้ที่รัก ซึ่งปาล์มและโมโมใส่หัวใจลงไปในการทำทุกชิ้น เพื่อเก็บรักษาความทรงจำอันมีค่าของลูกค้าไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด

1

คุณเคยเห็นจิวเวลรีจากแบรนด์ไหน แล้วรู้ได้เลยไหมว่ามาจากแบรนด์นี้?

เราเชื่อว่าเมื่อคุณได้รู้จักกับ Nympheart ได้เห็นโปรดักต์ของเขาไม่ว่าจะเป็นชิ้นไหนก็น่าจะเข้าข่ายที่ว่ามา ทั้งๆ ที่งานดีไซน์ออกมาหน้าตาไม่เหมือนกันเลยสักชิ้น

Nympheart (อ่านว่า นิ้มป์-ฮาร์ต) คือแบรนด์เครื่องประดับงานไม้ทำมือของ ปาล์ม–ธีรพล ธนมณฑล และ โมโม–เปลี่ยนกาล ไตรคุ้มพันธุ์ อดีตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เริ่มต้นทำแบรนด์ด้วยการใช้ช็อปของมหาวิทยาลัยเป็นแล็บทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำจิวเวลรีจากไม้แล้วนำมาขายที่งานประจำปีของมหาวิทยาลัย

Nympheart

ด้วยพื้นฐานด้านเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์และจิวเวลรีดีไซน์ ทำให้ปาล์มคุ้นเคยกับการทำงานไม้ และค้นพบว่ามีไม้จำนวนไม่น้อยเลยที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์จากการทำเฟอร์นิเจอร์ จึงเกิดเป็นไอเดียในการนำไม้ส่วนที่เหลือมาใช้เป็นวัสดุหลัก ร่วมกับ epoxy หรือเรซินจากยางไม้ที่ถูกเร่งปฏิกิริยาทางเคมีให้แข็งตัวเร็วขึ้น ในอุตสาหกรรมก่อสร้างมักใช้เรซินชนิดนี้ในการทำพื้นหินเทียมและเคลือบผิวพื้น ส่วนในวงการจิวเวลรีจะใช้ในการเชื่อมต่อวัสดุและอุดตาไม้ นับเป็นคุณสมบัติที่ช่างไม้ต่างคุ้นเคยกันดี

ทั้งคู่เริ่มต้นปล่อยผลงานคอลเลกชั่นแรกออกมาที่งาน Art Street ปี 2013 โดยเริ่มจากการทำสร้อยและแหวนจากไม้สักที่ผสาน Epoxy สีใสไว้อย่างมีเอกลักษณ์ นับได้ว่าในช่วงเวลานั้น Nympheart เป็นแบรนด์แรกในเอเชียที่นำ 2 วัสดุหลักนี้มาสร้างงาน

ด้วยความแปลกใหม่และความโดดเด่นไม่ซ้ำใครของแบรนด์ ทำให้งานเปิดตัวครั้งแรกของทั้งคู่มีชาวฮ่องกงมาติดต่อเซ็นสัญญาขอนำ Nympheart ไปขาย โดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องเป็นตัวแทนนำเข้าสินค้าเพียงเจ้าเดียวในประเทศฮ่องกงเท่านั้น

Nympheart

“ช่วงเริ่มแรกเราทำกันสนุกๆ เข้าช็อปไปทำงานบ่อยมากจนอาจารย์ไม่ให้ทำ บอกว่าทำบ่อยไปแล้วนะ” โมเล่ากลั้วหัวเราะ

“แต่ยิ่งเห็นคนชอบสิ่งที่เราทำเราก็มีแรงบันดาลใจทำงานต่อ ยิ่งพอเริ่มมีสื่อเข้ามาสัมภาษณ์ เริ่มมีตัวแทนจากฮ่องกง ไต้หวัน จากเอเชียติดต่อมา เราก็คิดว่าเราน่าจะจริงจังกับแบรนด์แล้ว ช่วงนั้นเรากำลังจะเรียนจบซึ่งจะเข้าไปใช้ช็อปของมหาวิทยาลัยไม่ได้แล้ว เราเลยคิดอย่างจริงจังว่าต้องลงทุนทำสตูดิโอของตัวเองแล้วล่ะ”

Nympheart

2

นับตั้งแต่เรียนจบในปี 2015 ทั้งคู่ก็ย้ายสนามทดลองใหม่จากลาดกระบังมาเป็นดาดฟ้าห้องพักของปาล์มย่านบางเขน จากโปรดักต์ที่เริ่มต้นด้วยสร้อยและแหวน พวกเขาแตกไลน์สินค้าออกเป็นต่างหู พวงกุญแจ แหวน จี้ และพัฒนาสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น เคสโทรศัพท์มือถือ นาฬิกาตั้งโต๊ะ นาฬิกาแขวน และของแต่งบ้านอื่นๆ โดยที่ยังยึดวัสดุหลักที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์อย่างไม้และเรซิน และพัฒนารายละเอียดความงามของเนื้อไม้ ใส่ลูกเล่นริ้วสีมากขึ้น พัฒนาวัสดุให้แข็งแรงขึ้น มาถึง ‘Interstellar’ คอลเลกชั่นปัจจุบันที่เริ่มใช้โลหะเข้ามาผสมด้วย

Nympheart

Nympheart

“หัวใจหลักของแบรนด์ก็คือความงามของลายไม้ ในยุคเริ่มต้นเราใช้ไม้ไทย ไปซื้อกันที่บางโพที่เขาขายกันเยอะๆ โดยเลือกไม้ที่มีขอบด้านนอกนิ่มๆ ดูมีเศษรุ่ยๆ ไม้พวกนี้เขาจะตีว่ามันมีตำหนิ ราคาก็จะถูก เวลานำมาใช้เราก็นำไปตัดขอบข้างๆ คัดเลือกชิ้นที่คิดว่าสวยแล้วก็เอาไปทำโปรดักต์

“ทำมาสักระยะ เราก็ยังรู้สึกว่ามันสวยไม่สุด จนได้มาเจอพี่ชาวลาวคนหนึ่ง เขาทำงานไม้เหมือนกันแต่เป็นชิ้นงานขนาดใหญ่ เพราะเศษไม้สวยๆ จากลาวก็ถูกทิ้งเผาเป็นฟืนเหมือนกัน พอเขามาเห็นเราทำงานโดยใช้เศษไม้ชิ้นเล็กๆ เมื่อเจอกันอีกปีเขาเลยแบกไม้ลายสวยๆ มาให้เรา 8 กระสอบ”

Nympheart

นับตั้งแต่นั้นโปรดักต์ของ Nympheart จึงใช้ไม้ Ebony ซึ่งเป็นไม้เก่าแก่บนภูเขาแห้งแล้งจากฝั่งลาวซึ่งหายากและมีราคาสูงในไทย ปาล์มเล่าให้เราฟังว่าความพิเศษอยู่ที่ลักษณะเนื้อไม้ที่มี 2 สีชัดเจน รวมไปถึงยังเป็น ‘ไม้ปุ่ม’ ที่มีผิวขรุขระมีปุ่ม ที่มาช่วยทำให้สินค้าของ Nympheart โดดเด่นจากสินค้าไม้แบรนด์อื่นๆ มากขึ้น

ความน่าสนใจอีกหนึ่งอย่างของ Nympheart ก็คืองานทุกชิ้นของแบรนด์จะมีชิ้นเดียวในโลก เพราะต่อให้เป็นคอลเลกชั่นเดียวกันลายไม้แต่ละชิ้นก็แตกต่างกันไป ให้รสนิยมและสุนทรีที่มีต่อความงามของแต่ละคน แต่งานทำมือทีละชิ้นแบบนี้เองก็กลายเป็นสิ่งท้าทายให้กับคนทำงานได้เหมือนกัน  

Nympheart

“เพราะความงามของงานเราคือความแรนด้อมของไม้แต่ละชิ้น บางทีเราก็ต้องรับมือกับความต้องการของลูกค้า เพราะลูกค้าบางคนเขาไม่เข้าใจคอนเซปต์นี้ เขาสั่งงานกับเราเพราะชอบงานชิ้นเก่าๆ แต่พอเราทำงานชิ้นใหม่ออกมา เขาก็จะมีคำถามว่าทำไมไม่เห็นเหมือนไม้ชิ้นนั้นที่ฉันชอบเลย เราเลยต้องใช้เวลาอธิบายกับลูกค้ากลุ่มนี้เยอะหน่อย แต่ก็เป็นบางกลุ่มเท่านั้นนะ บางกลุ่มเขาก็เข้าใจเราดี”

ถึงจะมีคนไม่เข้าใจบ้าง แต่ทุกวันนี้ปาล์มและโมโมยังสนุกกับการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการนำไม้ลายแปลกตาที่พวกเขาหลงรักมาจับคู่กับเรซินให้กลายเป็นไลฟ์สไตล์โปรดักต์ที่คงเอกลักษณ์ของแบรนด์เอาไว้

Nympheart

3

หนึ่งในโปรดักต์ของ Nympheart ที่โดดเด่นจนได้รับการบอกต่อคือการทำจิวเวลรีผนึกอัฐิ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและบรรเทาความคิดถึงที่มีต่อผู้ที่จากไป ซึ่งแม้จิวเวลรีอัฐินี้จะเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง แต่ทั้งคู่กลับบอกว่าจุดเด่นของแบรนด์นี้ได้มาด้วยความบังเอิญ

“เราไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เป็นโปรดักต์หลักของแบรนด์ด้วยซ้ำ” โมโมอธิบาย “เราไม่เคยคิดเลยว่าจะออกแบบโปรดักต์แบบนี้เพราะการผนึกอัฐิไว้ในจิวเวลรีดูเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่วันหนึ่ง มีลูกค้าอยากให้เราทำ แล้วเขาก็พูดถึงเราในแง่ดีมันเลยเป็นที่พูดถึงเยอะ ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ค่อยอยากชูโปรดักต์นี้เป็นจุดขายเท่าไหร่ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นการทำงานบนความรู้สึกของคนเกินไป”

Nympheart

เมื่อพูดถึงตรงนี้ ปาล์มจึงเล่าเสริมถึงจุดเริ่มต้นของจิวเวลรีอัฐิให้เราฟัง

“ผมเข้าใจว่าเริ่มแรกโปรดักต์นี้มันเกิดขึ้นจากคอลเลกชั่นหนึ่งที่เรานำแร่หินสีต่างๆ มาฝังด้านในจี้ เหมือนเป็นอัญมณี แล้วค่อยหล่อทับด้วยเรซินอีก ลูกค้าเขาคงชอบไอเดียนั้นเลยอยากนำอัฐิมาผนึกไว้ เพราะธรรมชาติของอัฐิ ถ้าโดนอากาศ โดนลม โดนความชื้น อัฐิที่เป็นรูปทรงมันจะแตกเป็นฝุ่น การนำมาทำเป็นเครื่องประดับจะช่วยคงรูปทรงเดิมของอัฐิไว้

“เสน่ห์ของโปรดักต์นี้ก็คือการที่เราสามารถผนึกทั้งรูปทรงของอัฐิได้เลย คนอื่นที่รับทำอาจจะต้องนำมาอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมหรือทำเป็นผงก่อน แต่งานของเราไม่ต้องปรับเปลี่ยนรูปทรงดั้งเดิม”

Nympheart

ถึงปาล์มจะพูดแล้วฟังดูเหมือนง่าย แต่ในรายละเอียดแล้ว ความเปราะบางของอัฐิทำให้การนำมาทำเป็นเครื่องประดับต้องให้ความใส่ใจมากกว่าการทำจิวเวลรีทั่วไปเสียอีก

“อัฐิมีรูพรุนเยอะ ทำให้เกิดปัญหาเยอะเหมือนกันในด้านเทคนิคของการหล่อเรซิน เพราะถ้าหล่อไม่ดีจะเกิดเป็นฟองกาศ ไหนจะเรื่องการคงรูปทรงของอัฐิที่เปราะบางอีก แต่เราก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาเรื่อยๆ เรียนรู้จนรู้ว่าจะต้องใช้วิธีไหนให้ปลอดภัยต่ออัฐิและทำให้งานออกมาดีที่สุด ซึ่งก็ยังไม่เคยทำชิ้นไหนพังนะ” ปาล์มนายช่างประจำแบรนด์อธิบาย

Nympheart

หลังจากที่โพสต์ผลงานชิ้นแรกไป ลูกค้ารายต่อไปก็แวะเวียนมาสั่งทำเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในแบบฉบับของตัวเองกับแบรนด์อย่างไม่ขาดสาย จนปัจจุบันพวกเขาทำจิวเวลรีอัฐิไปแล้วกว่า 30 ชิ้น โดยไม่ได้มีเพียงแค่อัฐิของคนเท่านั้น แต่ยังมีอัฐิของสุนัข แมว กระต่าย ไปจนถึงขนสัตว์ด้วย

“เวลาทำงานแต่ละชิ้นเราจะกดดันมาก” ปาล์มออกปาก “มีลูกค้าคนหนึ่งที่นำอัฐิมาให้เราทำสร้อย พอเขาได้รับของไปก็ชอบเลยโพสต์ในเฟซบุ๊ก เล่าเรื่องราวว่าเขามีอัฐิแค่ชิ้นเดียว ซึ่งถ้ารู้ก่อนผมคงกดดันกว่านี้”

Nympheart

แต่นอกจากความกดดันที่ทั้งคู่พบเจอเมื่อต้องทำงานกับของชิ้นสำคัญต่อจิตใจของลูกค้า การทำงานนี้ยังหล่อเลี้ยงจิตใจของผู้ทำอย่างปาล์มและโมโมด้วย

“โมรู้สึกว่าตั้งแต่ทำแบรนด์มา โปรดักต์นี้มีคุณค่าทางจิตใจเราอย่างมาก เพราะลูกค้าแต่ละคนมีเรื่องราวการสูญเสียของตัวเอง อย่างลูกค้าคนหนึ่งมาเล่าให้เราฟังว่าเพื่อนเลี้ยงหมามา 10 ปี ก่อนที่หมาตัวนี้จะแก่ตาย เขาก็ลาออกจากงานมาอยู่กับหมา พาไปเที่ยวนู่นเที่ยวนี่ สักสองสามเดือนหมาก็เสีย เพื่อนเขาทำใจไม่ได้ ถือโกศใส่อัฐิไปไหนมาไหนด้วยตลอด ลูกค้าเรามาเห็นก็เลยบอกเราให้ทำจี้ให้เพื่อนของเขาหน่อย เขาจะได้พกพาง่าย เราก็รู้สึกว่างานที่เราทำมันมีคุณค่านะ

“หรือมีลูกค้าที่คุณแม่เป็นมะเร็ง ตอนที่คุณแม่ยังไม่เสียเขาก็ทักมาหาเราเพื่อสั่งจองจี้ ถามว่าต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง สุดท้ายเขาก็ทักมาสั่งทำในวันวาเลนไทน์ที่คุณแม่เสียพอดี คือทุกคนมีเรื่องราวหมด แล้วก็จะเล่าให้เราฟังก่อน เราก็ต้องตั้งใจทำหนักเลย”

“บางคนชอบไปเที่ยวทะเลกับแม่ เขาก็อยากให้จี้ของเขาเป็นสีน้ำทะเล และขอว่าต้องเป็นรูปทรงหัวใจเท่านั้นแล้วบอกกับจี้ว่าผมพาแม่มาเที่ยวทะเลที่แม่ชอบแล้วนะ เราก็รู้สึกดีนะที่ทำให้เขารู้สึกดีขึ้นเพราะโปรดักต์เรา มันยิ่งกว่าได้เงินอีก”

Nympheart

จากจุดเริ่มต้นแบรนด์จนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 6 ปีที่ปาล์มและโมโมสร้างสรรค์ผลงานออกมาหลากหลายรูปแบบ หลากหลายประเภท แต่ทั้งคู่ยังคงจุดแข็งที่ทำให้คนจำคาแร็กเตอร์ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี พวกเขากำลังสนุกกับการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบสินค้า

แล้วมาคอยดูกันว่าการทดลองต่อๆ ไปของพวกเขาจะออกมาในรูปแบบไหนกัน


Nympheart

Website : nympheart.wixsite.com
Facebook : Nympheart
Instagram : Nympheart

ขอบคุณภาพจาก Nympheart

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด