“เข้ามาเลยค่ะ”
หญิงสาวต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มสดใสพร้อมชักชวนเราเข้าไปในทาวน์เฮาส์ย่านลาดพร้าวที่เป็นทั้งบ้านและที่ตั้งของ เติมเต็ม สตูดิโอ สถานที่ทำงานสิ่งทอของเธอ เราพบกับกี่ทอผ้าเหล็กขนาดใหญ่ 2 ตัวตั้งอยู่ทางซ้าย และโต๊ะทำงานที่เต็มไปด้วยข้าวของกระจุกกระจิก มีตะกร้าใส่ตัวอย่างผ้า รวมทั้งกระดาษแพตเทิร์นการทอวางทับกันอยู่ทางขวา
ในเวลากลางวันจันทร์ถึงศุกร์ แพรวา รุจิณรงค์ รับราชการเป็นนักวิชาการออกแบบ แต่หลังเลิกงานและในวันเสาร์-อาทิตย์ เธอจะสวมบทบาทเป็นนักออกแบบสิ่งทอและลงมือทอผ้าด้วยตัวเอง พื้นฐานเทคนิคการทอของเธอล้วนเป็นวิธีดั้งเดิมของไทยที่สืบทอดกันมา แต่สิ่งที่ทำให้งานของเธอน่าสนใจคือการทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ เข้ามาผสมผสาน คิดหาเทคนิคที่เหมาะสมกับโจทย์ของงานแต่ละชิ้น โดยหน้าที่ของเติมเต็ม สตูดิโอ มีทั้งเป็นพาร์ตเนอร์หลังบ้านให้กับนักออกแบบต่างสาขา เช่น แฟชั่น หรือเฟอร์นิเจอร์ ทำงานทดลองวัสดุร่วมกับนักศึกษา ทำวิจัยสิ่งทอ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อย่างเส้นไหม
แม้จะเปิดสตูดิโอมาได้เพียง 3 ปี แต่นักออกแบบสาขาอื่น โดยเฉพาะนักออกแบบแฟชั่น สนใจร่วมงานกับแพรวาเป็นจำนวนมาก เราถามแพรวาว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
“ดีไซเนอร์ชอบผ้าไทย ชอบการทอของชุมชนกันหมด เพราะการทอผ้าเป็นภูมิปัญญาเฉพาะของประเทศไทย สร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับงาน แต่ไม่รู้ว่าจะเอาผ้าไทยไปใช้งานอย่างไร เพราะลายผ้าและสีสันที่มีไม่ตรงกับคอนเซปต์ พอไปคุยกับชาวบ้านก็มีปัญหาการสื่อสารไม่เข้าใจกัน เราจึงตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะเราจะมีส่วนร่วมในการคิด มานั่งคุยกันก่อนออกแบบ ช่วยขึ้นตัวอย่าง ถกกันเรื่องต้นทุน วางไทม์ไลน์ ตีความคอนเซปต์ คิดถึงทุกองค์ประกอบ ทั้งเส้น สี แสง เงา ความวาว เราทำงานกันลึกก่อนที่จะไปถึงการผลิต”
กว่าจะมาเป็นวันนี้ หญิงสาวเล่าให้ฟังว่าเธอคุ้นเคยกับผ้าไทยมาตั้งแต่เด็กจากการนุ่งผ้าถุงคุณย่าคุณยายและการแวะไปบ้านญาติที่เป็นร้านผ้า เมื่อโตขึ้นมา เธอก็เลือกเรียนสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มสั่งสมทักษะการทอผ้ามาตั้งแต่ตอนนั้น ก่อนจะเข้าทำงานเป็นข้าราชการในตำแหน่งนักวิชาการออกแบบให้กับกรมหม่อนไหม จึงมีองค์ความรู้เรื่องการสาวไหม การทำไหม การเลี้ยงไหมทุกขั้นตอน รวมถึงเพิ่มเติมความรู้ที่ในมหาวิทยาลัยไม่ได้สอน เช่น การย้อมสีผ้าธรรมชาติ การทำมัดหมี่ จากการลงไปทำงานกับแม่ๆ นักทอผ้าในชุมชน จนในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเปิดเติมเต็ม สตูดิโอขึ้นมา เพื่อเติมเต็มความต้องการของตัวเธอเอง
“เราอยากทดลองน้ำมือของตัวเอง อยากขัดเกลาฝีมือ ฝึกทักษะการทำเส้นไหม การทอผ้า การย้อมสี ให้ดีขึ้น ให้เกิดเป็นความชำนาญ ไม่ได้คิดว่ามันจะมาไกลขนาดนี้”
แพรวาพาเดินขึ้นไปยังชั้นสองของสตูดิโอที่มีกี่สองตัวเช่นเดียวกันกับชั้นล่าง ต่างกันตรงที่ตัวหนึ่งเป็นกี่เขมรซึ่งทำจากไม้ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โฮงสำหรับการปั่นเส้นไหมเข้าหลอด หญิงสาวเดินไปนั่งประจำที่ที่กี่เหล็ก ขั้นตอนแรกของการทอผ้าจะต้องเริ่มจากการเตรียมหัวม้วนเส้นยืนด้านหลัง ระหว่างเส้นยืนจะมีไม้คู่คีบที่จะช่วยให้เราหาเส้นไหมที่ขาดได้ง่ายเมื่อมีปัญหา แต่เนื่องจากเป็นการทำงานต่อจากที่ค้างเอาไว้ แพรวาจึงหยิบกระสวยใส่ด้ายพุ่งจากด้านขวาไปซ้าย ใช้มือสองข้างดึงฟันหวีหรือฟืมเข้าหาตัวเพื่อให้เส้นไหมจากกระสวยเข้ามาชิดกับเส้นก่อนหน้า ก่อนจะเหยียบตีนเหยียบล็อกเส้นให้อยู่กับที่ แล้วเริ่มทำซ้ำอีกครั้งโดยคราวนี้พุ่งกระสวยจากซ้ายไปขวา
“การทอผ้าเป็นงานถึก งานแรงงาน ไม่ได้สวยงามแบบหญิงสาวไหมทอผ้าอย่างที่คนคิดนะ” แพรวาพูดติดตลก ก่อนจะชี้ชวนให้เรามองการทำงานของน้องในทีมที่กำลังมัดเชือกรอบเส้นไหมเพื่อทำมัดหมี่
“ในขั้นตอนทุกอย่างจะมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ถูกส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่นจนเป็นวัฒนธรรม อย่างตอนทำมัดหมี่ก็จะมีเทคนิคการมัดปม การขยับนิ้ว การนั่ง ทุกคนจะทำเหมือนกันหมด เหมือนเวลาที่แม่สอนเราไหว้พระ ไหว้ผู้ใหญ่ ต้องทำแบบไหนให้ถูกวิธี” เธออธิบาย
ถึงตอนนี้ แพรวารู้จักกับการทอผ้ามาเป็นเวลาถึง 16 ปี และเธอเชื่อว่าถึงตอนนี้ เธอก็ยังคงเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากมันอยู่เสมอ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจแล้วจะทำเป็นหรือเชี่ยวชาญขึ้นมาได้ในทันที แต่เป็นการสั่งสมทักษะ ประสบการณ์ และเรียนรู้ในระยะยาว
“การทอผ้ามันเป็นสิ่งที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุขที่สุดเลยอยากอยู่กับมันไปตลอด เห็นภาพตัวเองตายไปพร้อมกับอาชีพนี้ในบั้นปลายชีวิตจะทอผ้าอยู่บ้าน แค่นั้นเลย”