นอเทรอดาม หอไอเฟล ประตูชัย ทำไมสัญลักษณ์ประจำชาติรอดพ้นการทำลายในสงครามโลกครั้งที่ 2

Highlights

  • ในขณะที่เมืองใหญ่ๆ เสียมรดกทางวัฒนธรรมไปมากระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทำไมสัญลักษณ์ประจำชาติของฝรั่งเศสจึงรอดพ้นการทำลาย และทั้งที่ฮิตเลอร์มีคำสั่งให้นายพลดรีดีทริซ ฟอน โคลทิซ เข้าประจำการ ณ กรุงปารีสและเตรียมเผาทำลายเมืองเสียให้สิ้น
  • คำตอบหนึ่งคือ นายพลฟอน โคลทิซ ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งฮิตเลอร์ แต่เลือกส่งคืนเมืองให้ฝรั่งเศส ก่อนเข้ามอบตัวกับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 25 สิงหาคม ไลโอเนล ดาร์เดนน์ ภัณฑารักษ์ชาวฝรั่งเศสจาก Museum of Order of the Liberation มองว่าการเผาทำลายตามคำสั่งเป็นเรื่องที่ ‘ทำไม่ได้’ ไม่ใช่ ‘ไม่อยากทำ’
  • ส่วนปารีสเองก็เคยเสียหายหนักจากการทิ้งระเบิดในช่วงปี 1944 นับเป็นการโจมตีที่ดุดันและร้ายแรงที่สุดแต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะความเสียหายส่วนใหญ่เกิดและจบไปในย่านโรงงาน ไม่เฉียดโดนอาคารสำคัญ

ในปี 1944 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใกล้จะรู้ผล เบอร์ลิน ลอนดอน หรือแม้กระทั่งเมืองประวัติศาสตร์อย่างเนเปิลส์ แทบต้องปาดเหงื่อเมื่อคิดถึงงบประมาณมหาศาลสำหรับงานบูรณะสิ่งก่อสร้าง ในขณะที่เมืองใหญ่ๆ เสียมรดกทางวัฒนธรรมไปมากระหว่างสงคราม เพชรน้ำงามอย่างปารีส กลับบอกลาสนามรบไปด้วยสภาพสวยกริบแทบไร้การแตะต้อง ปารีสทำได้อย่างไร?

 

“เปลี่ยนปารีสเป็นเศษซากก็ไม่สร้างความแตกต่างให้สงคราม”

จอมพลฟิลิป เปแตง รองนายกฝรั่งเศสและวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้คำตอบกับฝ่ายสัมพันธมิตรตอนวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีของอังกฤษเสนอให้ปารีสทำการสู้รบแบบ ‘จากถนนสู่ถนน’ คือให้วางกำลังรบในทุกมุมเมืองเพื่อปกป้องตัวเองจากการยึดครองของกองทัพนาซี

คำตอบที่ว่านี้สร้างความแปลกใจให้เชอร์ชิลเป็นอย่างมาก เปแตงอธิบายว่า ตอนสงครามโลกครั้งที่ 1 เขามีกำลังรบถึง 60 กองพล แต่ตอนนี้ฝรั่งเศสแทบไม่มีกำลังทหาร ยุทธการที่ฝรั่งเศสรู้ผลไปนานแล้วและการเอาชีวิตพลเรือนเกือบ 9 ล้าน มาเดิมพันนอกจากไม่เปลี่ยนผลของสงครามยังทำให้เกิดความทุกข์ยากที่ไม่จำเป็น

เปแตงและรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มิถุนายน 1940 ให้ปารีสเปิดเมืองโดยปราศจากการต่อต้าน ทหารฝ่ายเยอรมนีเดินทัพถึงปารีสในอีก 2 วันต่อมา เปแตงเซ็นสัญญาสงบศึก มอบเมืองให้อยู่ในการดูแลของนาซี และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำรัฐวิชีฝรั่งเศส (Vichy France)–รัฐบาลหุ่นเชิดของนาซี อีกไม่นานนับจากนั้น ธงตราสวัสดิกะจะถูกประดับบนประตูชัย (Arc de Triomphe) เพื่อต้อนรับการมาถึงของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีที่ในวันที่ 24 มิถุนายน

 

“ปารีสสวยมากไม่ใช่หรือ? แต่เบอร์ลินจะสวยยิ่งกว่า เมื่อเราสร้างเบอร์ลินเสร็จสมบูรณ์ ปารีสที่เห็นอยู่นี้จะกลายเป็นแค่เงาของอาณาจักรไรช์อันยิ่งใหญ่”

ฮิตเลอร์มาเยียมปารีสเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว ว่ากันว่าท่านผู้นำประทับใจกับความงามของปารีสและรู้สึกชื่นชมหลุมศพของนโปเลียนเป็นพิเศษ ข้อแรกเพราะนโปเลียนเป็นผู้นำทางทหารที่ยิ่งใหญ่ ข้อหลังเพราะทั้งฮิตเลอร์และนโปเลียนต่างเคยถูกมองเป็นชาวต่างชาติในประเทศที่ตัวเองปกครอง (นโปเลียนเกิดที่อิตาลี ส่วนฮิตเลอร์เกิดที่ออสเตรีย)

หลังกลับมาเยอรมนี ฮิตเลอร์มีความคิดทำลายปารีสให้สิ้นซาก ไม่ใช่ด้วยระเบิดหรือเปลวไฟ แต่ด้วยการสร้างเบอร์ลินให้ยิ่งใหญ่กว่า ฮิตเลอร์เคยปรึกษา อัลแบร์ท ชเปียร์ สถาปนิกคู่ใจ ถึงไอเดียที่จะทำให้ปารีสหมดราคา ด้วยการนำศิลปะชิ้นสำคัญของโลกมารวมกันไว้ที่เยอรมนี สร้างอาณาจักรไรช์ให้กลายเป็นศูนย์รวมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งใหม่

การยึดครองปารีสดำเนินไปถึงปี 1944 เมื่อเยอรมนีส่อแววแพ้สงคราม ฮิตเลอร์มีคำสั่งใหม่ เปลี่ยนใจให้นายพลดรีดีทริซ ฟอน โคลทิซ เข้าประจำการ ณ กรุงปารีสและเตรียมเผาทำลายเมืองเสียให้สิ้น ไม่เว้นกระทั่งอนุสาวรีย์ มรดกทางวัฒนธรรม รวมทั้งตัวหอไอเฟล “ถ้าศัตรูได้ปารีสกลับคืนไป พวกเขาจะได้แค่ซากปรักหักพัง”–ท่านผู้นำกล่าวทิ้งท้าย

 

“ปารีสไหม้หรือยัง!?”

นายพลฟอน โคลทิซ มาถึงปารีสในวันที่ 8 สิงหาคม 1944 เขาไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่เลือกส่งคืนเมืองให้ฝรั่งเศส ก่อนเข้ามอบตัวกับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 25 สิงหาคม “คืนก่อนปารีสได้รับอิสรภาพ ฮิตเลอร์ตะคอกใส่หูโทรศัพท์ถามว่าทำไมตอนนี้ปารีสยังไม่ลุกเป็นไฟ!? ผมคิดว่าท่านผู้นำคงเสียสติไปแล้ว” นายพลฟอน โคลทิซ ให้การในศาลอาชญากรสงคราม เขาย้ำว่านี่เป็นครั้งแรกที่ตัวเองขัดคำสั่งของฮิตเลอร์

บทบาทของนายพลฟอน โคลทิซ ในการรักษากรุงปารีสกลายเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบัน คนฝรั่งเศสส่วนน้อยมองว่าฟอน โคลทิซ เป็นวีรบุรุษ และอยากให้สร้างอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงความดี ในขณะที่เสียงอีกฝั่งไม่ยอมรับ เพราะมองว่าคำสั่งของฮิตเลอร์ไม่สามารถปฏิบัติตามจริงได้อยู่แล้ว หนึ่งเพราะปารีสไม่เคยอยู่ในเส้นทางการทิ้งระเบิดมาก่อน ต่างจากลอนดอนที่โดนทิ้งระเบิดอย่างสม่ำเสมอ การเจียดกองบินให้มาทิ้งระเบิดปารีสเพราะความสะใจในช่วงการรบเข้าขั้นวิกฤตเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ สองเพราะการเผาเมืองทั้งเมืองด้วยกำลังทหารเป็นเรื่องยากและเสียเวลามากเกินไป กองทัพเยอรมนีตอนนั้นไม่ได้เข้มแข็งเหมือนก่อน แทนที่จะเอาเวลามาเผาเมืองใหญ่ สู้เอาเวลาไปจัดการเอกสาร หรือเตรียมการถอนทัพยังจะสมเหตุผลกว่า

“เราทุกคนต่างต้องการสร้างภาพจำในประวัติศาสตร์ ฟอน โคลทิซ สร้างบทบาทของตัวเองในฐานะวีรบุรุษ” ไลโอเนล ดาร์เดนน์ ภัณฑารักษ์ชาวฝรั่งเศสจาก Museum of Order of the Liberation ให้ความเห็น ดาร์เดนน์มองว่าการเผาทำลายตามคำสั่งเป็นเรื่องที่ ‘ทำไม่ได้’ ไม่ใช่ ‘ไม่อยากทำ’

“นายพลคนเดียวกันเคยระเบิดเมืองรอตเทอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์และเซวัสโตปอลของยูเครน ไม่มีเหตุผลที่ต้องใจดีกับปารีส” แม้ไม่มองในฐานะวีรบุรุษ แต่ดาร์เดนน์ก็ให้ยกความดีให้ฟอน โคลทิซ เพราะเขาไม่ระเบิดสะพานหรือต่อสู้ยืดเยื้อซึ่งอาจทำให้เมืองได้รับความเสียหายที่ไม่จำเป็น

 

“หากใครสักคนรักษาได้แม้เพียงวิหารนอเทรอดาม เขาคนนั้นควรได้รับคำขอบคุณจากคนฝรั่งเศส”

ทีโม ฟอน โคลทิซ ลูกชายของนายพลดรีดีทริซให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2004 “พ่อของผมทำมากกว่ารักษานอเทรอดาม มันน่าแปลกใจที่คนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ยกความดีให้กับกลุ่มต่อต้าน ทั้งที่พวกเขามีกำลังพลแค่ 2,000 และไม่มีอาวุธหนักที่จะเอาชนะกองทัพนาซีในปารีสได้”

เขาอธิบายต่อว่า พ่อของเขาถูกปฏิเสธเพียงเพราะคนฝรั่งเศสไม่อยากยอมรับว่าตัวเองได้รับการช่วยเหลือจากนายพลนาซี “คุณพ่อเป็นทหารอาชีพ ท่านจบโรงเรียนทหารและเข้ารับราชการในกองทัพตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ความจริงที่ว่าเยอรมนีเปลี่ยนไปมากนักในช่วงไม่กี่สิบปี และนาซีกลายเป็นระบบการปกครองใหม่ ไม่ได้หมายความว่าท่านต้องถูกตราหน้าเป็นกลุ่มหัวรุนแรงนาซี เพียงเพราะปฏิบัติหน้าที่รับใช้กองทัพเยอรมนีในเวลาเดียวกัน”

นายพลดรีดีทริซ ฟอน โคลทิซ ถูกจับขึ้นศาลอาชญากรสงครามแต่ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด ในขณะที่จอมพลฟิลิป เปแตง อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่รักษาปารีสในช่วงต้นสงครามถูกดำเนินคดีด้วยข้อหากบฏต่อชาติ เปแตงถูกตัดสินโทษประหาร ภายหลังได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ควีนแมรี่แห่งอังกฤษและดยุกแห่งวินเซอร์เคยพยายามขออภัยโทษให้จอมพลผู้แก่ชราแต่ว่าไม่เป็นผล เปแตงเสียชีวิตในปี 1951 อายุ 95 ปี

นายพลชาร์ล เดอ โกล เขียนถึงชีวิตของเปแตงว่า ‘ขึ้นสูง ลงต่ำ ไม่มีตรงกลาง’ และแม้จะผ่านมาหลายปี ความรู้สึกของชาวฝรั่งเศสต่อจอมผลผู้นี้ก็ยังเป็นเรื่องเปราะบาง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน โดนโจมตีอย่างหนักเมื่อให้ความเห็นว่า จอมพลเปแตงสมควรได้รับความเคารพในฐานะวีรบุรุษสงครามในวาระการฉลองครบรอบ 100 ปีสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 2018

มาครงบอกกับสื่อว่าแม้เปแตงจะทำพลาดในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ความผิดและความชอบต้องมองให้แยกขาด การตัดสินใจพลาดไม่ควรล้างความดีในอดีต

ฌอง-ลุค เมลองชอ นักการเมืองฝ่ายซ้ายจัด ออกมาประณามว่ามาครงพูดเล่นเป็นเด็กขายของในขณะที่ฟร็องซัว ออล็องด์ อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ออกมาตอบโต้ความคิดนี้ โดยชี้ว่าประวัติศาสตร์ไม่อาจมองแยกเป็นส่วน แต่ควรถูกพิจารณาร่วมกัน การใช้ชื่อเสียงในฐานะวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อเอื้อประโยชน์กับนาซีไม่ใช่การปกป้องเมือง แต่เป็นการขายชาติ

 

ปารีสไม่ได้รับความเสียหายจากสงครามจริงหรือ?

อาจเป็นเรื่องตลกร้ายแต่ที่จริงแล้วปารีสเสียหายจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นหลัก ในช่วงต้นของสงคราม ฮิตเลอร์มีความต้องการจะรักษาปารีสไว้เพื่อใช้ตั้งโรงงานผลิตอาวุธสนับสนุนแนวรบตะวันตก ในช่วงปลายของสงคราม พันธมิตรอังกฤษ-สหรัฐฯ ระบุว่าปารีสของนาซีเป็นหนึ่งในเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ที่ผลิตยุทโธปกรณ์ป้อนกองทัพนาซี จึงมีมติให้ทิ้งระเบิดกรุงปารีสอยู่หลายครั้ง

ปารีสเสียหายหนักจากการทิ้งระเบิดในช่วงปี 1944 นับเป็นการโจมตีที่ดุดันและร้ายแรงที่สุดเกิดในคืนวันที่ 21 เมษายน มีพลเรือนบาดเจ็บ 377 คน เสียชีวิต 641 คน ตัวเลขนี้สูงยิ่งกว่ายอดรวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในวันที่นาซีทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1940

แน่นอนว่าการโจมตีคืนวันที่ 21 เมษายน ไม่ค่อยถูกพูดถึงในหน้าประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งเพราะความเสียหายส่วนใหญ่เกิดและจบไปในย่านโรงงาน ไม่เฉียดโดนอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่อีกด้าน ก็สามารถอธิบายได้ด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “ประวัติศาสตร์ไม่ต้องการผู้ร้ายมากกว่าหนึ่งคน”

 

อ้างอิง

allthatsinteresting.com

edition.cnn.com

historychannel.com.au

quora.com

thelocal.fr

thevintagenews.com

wsj.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา