ในวันที่ 29 เมษายน 1910 เสียงร้องไห้ของเด็กชายแรกคลอด นำความปีติมาสู่ผู้คนมากมาย สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิหายใจโล่งเมื่อทราบข่าวประสูติการของหลานชายคนแรก ในขณะที่ผู้คนทั่วญี่ปุ่นต่างร่วมกันแซ่ซ้องเมื่อทราบว่าราชวงศ์ที่ปกครองประเทศมาร่วมพันปี จะมีผู้สืบทอดคนใหม่ที่ช่วยให้ประวัติศาสตร์การสืบทอดบัลลังก์ผ่านทายาทฝ่ายชาย ยืนยาวต่อได้อีกหลายสิบปี
เด็กชายผู้ถือกำเนิดในพระราชวังอาโอโมริ ได้รับการพระราชทานนามว่า ฮิโรฮิโตะ เจ้าชายมิชิ ต่อมาจะขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะแห่งญี่ปุ่น ในตอนนั้นพระบิดาของพระองค์ เจ้าชายโยชิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร อายุได้ 21 ปี นอกจากมีปัญหาด้านสุขภาพ ยังเป็นโอรสเพียงคนเดียวของจักรพรรดิเมจิ วิกฤตในตอนนั้นถูกคลี่คลายหลังเจ้าหญิงซาดาโกะ พระชายา สามารถมอบทายาทเพศชายให้ราชวงศ์ดอกเบญจมาศได้สำเร็จ
หมุนเวลามาในวันที่ 6 กันยายน 2006 ราชวงศ์ญี่ปุ่นก็หายใจได้โล่งอีกครั้ง เมื่อเจ้าหญิงคิโกะ พระชายาของเจ้าชายอากิชิโนะ มีประสูติการพระโอรส หลังรอทายาทเพศชายมานานถึง 41 ปี เด็กชายคนนี้เป็นหลานชายเพียงคนเดียวของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และได้รับการขนานนามว่า ฮิซาฮิโตะ หรือ คนที่รอคอย
ปรับเวลาเข้ามาใกล้อีกหน่อย ข่าวการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และความประสงค์จะลาออกจากฐานันดรศักดิ์ของเจ้าหญิงมาโกะเพื่อแต่งงานกับสามัญชน กลายเป็นสองตัวแปรใหญ่ที่เปิดให้มีการถกเถียงเรื่องการสืบราชบัลลังก์ของญี่ปุ่นขึ้นอีกครั้ง
เรื่องนี้ถูกพูดถึงหนักเมื่อมีการประกาศศักราชเรวะ (แปลว่าความสันติปรองดองอันยั่งยืน) เป็นศักราชใหม่หลังเจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมารขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 พฤษภาคม ตามมาด้วยการประกาศ ไม่อนุญาตให้สมาชิกราชวงศ์ฝ่ายหญิงเข้าร่วมพิธี (ตามกฎที่มีมาแต่ดั้งเดิม) คำประกาศนี้ทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมงานพิธีจากฝ่ายราชวงศ์ มีเพียงสองพระองค์เท่านั้น คือเจ้าชายอากิชิโนะ (53 พรรษา) โอรสองค์รอง และเจ้าชายฮิตาชิ (83 พรรษา) อนุชาสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (เจ้าชายฮิซาฮิโตะไม่ได้เข้าร่วมเพราะถือว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะ)
ปัจจุบันราชวงศ์ญี่ปุ่นมีสมาชิกเพียง 19 พระองค์ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับราชวงศ์อื่นๆ ที่เป็นแบบนี้เพราะราชวงศ์ญี่ปุ่นมีกฎให้ทายาทเพศหญิงลาออกจากฐานันดรศักดิ์หลังแต่งงานกับสามัญชน เพื่อตัดไม่ให้ทายาทสายนอกมีสิทธิสืบทอดบัลลังก์
สาเหตุสำคัญอีกข้อมาจากการจัดระบบของสหรัฐอเมริกาที่เคยเข้ามาดูแลลดทอนอำนาจราชวงศ์ญี่ปุ่นหลังแพ้สงคราม มาตรการของสหรัฐฯ ทำเพื่อตัดงบประมาณการใช้จ่าย ระบุให้มีการถอดยศเจ้าชายญี่ปุ่น 12 สาย คงเหลือไว้แค่สายตรงขององค์จักรพรรดิเท่านั้น
ปัญหาที่ตามมาในภายหลังคือ เจ้าหญิงจากสายหลักไม่มีเจ้าชายสายรองให้แต่งงานเพื่อรักษายศอีกต่อไป ทำให้จำนวนสมาชิกลดลงอย่างหนักตั้งแต่หลังยุคโชวะลงมา
แล้วทายาทเพศชายของราชวงศ์หายไปไหน? ลองมาลำดับกลับไปตั้งแต่สมัยเมจิ
- สมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ หรือจักรพรรดิเมจิ (แปลว่าสว่างไสว) มีโอรสและธิดาทั้งสิ้น 12 พระองค์ ส่วนใหญ่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่อายุยังน้อย ในจำนวนที่รอดมา มีเพียงโยชิฮิโตะ เจ้าชายรัชทายาท ที่เป็นทายาทเพศชาย ธิดาอีก 4 พระองค์ ล้วนแต่งงานออกไปกับเจ้าชายสายรอง (แน่อนว่าทายาทที่เกิดจากเจ้าหญิงเหล่านี้ถูกตัดสิทธิและถอดยศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2)
- สมเด็จพระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ หรือจักรพรรดิไทโช (แปลว่ายุติธรรม) มีโอรส 4 พระองค์คือ 1. ฮิโรฮิโตะ สมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ 2. ยาซูฮิโตะ เจ้าชายชิชิบุ 3. โนบูฮิโตะ เจ้าชายทาคามัตสุ และ 4. ทาคาฮิโตะ เจ้าชายมิคาสะ ปรากฏว่าเจ้าชายชิชิบุ (โอรสองค์ที่ 2) กับเจ้าชายทาคามัตสุ (โอรสองค์ที่ 3) ไม่มีทายาท ส่วนเจ้าชายมิคาสะมีโอรส 3 พระองค์ ธิดาอีก 2 พระองค์ ในบรรดาโอรสทั้งสามของเจ้าชายมิคาสะ ไม่มีใครมีหลานชาย ทำให้สายของเจ้าชายมิคาสะจบแค่ตรงนี้ ทายาทคนสุดท้ายในสาย คือโอรสคนสุดท้องของเจ้าชายมิคาสะ พระนามว่า โนริฮิโตะ เจ้าชายทาคามาโดะ ประสูติปี 1954 สิ้นพระชนม์ปี 2002 พระชนมายุ 47 ปี ส่วนหลานสาวของเจ้าชายมิคาสะ 5 พระองค์ มีสองพระองค์ที่ลาออกจากฐานันดรเพื่อแต่งงาน เจ้าหญิงที่เหลืออีก 3 พระองค์คือ เจ้าหญิงอากิโกะแห่งมิคาสะ (37 พรรษา) เจ้าหญิงโยโกะแห่งมิคาสะ (35 พรรษา) และเจ้าหญิงสึงูโกะแห่งทากามาโดะ (33 พรรษา) แน่นอนว่าไม่มีสิทธิในราชบัลลังก์
- สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ หรือจักรพรรดิโชวะ (แปลว่าญี่ปุ่นที่สว่างไสว รุ่งโรจน์) มีโอรส 2 พระองค์ ธิดา 5 พระองค์ โอรสองค์โตคือ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ (จักรพรรดิเฮเซ) โอรสองค์รองคือ มาซาฮิโตะเจ้าชายฮิตาชิ ปรากฏว่าเจ้าชายฮิตาชิไม่มีทายาท สายของเจ้าชายฮิตาชิจึงจบตรงนี้ ส่วนธิดาของจักรพรรดิโชวะทั้ง 5 พระองค์ มีเพียงธิดาพระองค์โตเท่านั้นที่แต่งงานกับเจ้าชายสายรอง (แต่บรรดาทายาทของเจ้าหญิงก็โดนถอดยศหลังสงครามอยู่ดี)
- สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ จักรพรรดิเฮเซ (แปลว่าสันติสุขทุกแห่งหน) มีโอรสและธิดา 3 พระองค์ ซาโยโกะ เจ้าหญิงโนริ ลาออกจากราชวงศ์เพื่อไปแต่งงานในปี 2005 ส่วนโอรสอีกสองพระองค์ คือเจ้าชายนารูฮิโตะ มงกุฎราชกุมาร มีธิดาองค์เดียวคือไอโกะ เจ้าหญิงโทชิ (17 พรรษา) ในขณะที่โอรสองค์รอง ฟูมิฮิโตะ เจ้าชายอากิชิโนะ มีธิดา 2 พระองค์ คือเจ้าหญิงมาโกะ และเจ้าหญิงคาโกะ แห่งอากิชิโนะ พระชนมายุ 27 และ 24 พรรษา พระโอรสองค์สุดท้องของเจ้าชายอากิชิโนะ คือเจ้าชายฮิซาฮิโตะ ปัจจุบันพระชนมายุ 12 พรรษา ถือเป็นทายาทเพศชายเพียงคนเดียวของราชวงศ์
น่าคิดว่าถ้าเจ้าชายฮิซาฮิโตะไม่โผล่มาจะมีการพิจารณาเปิดทางให้ทายาทฝ่ายหญิงขึ้นเป็นจักรพรรดิได้หรือไม่? หรือเวลาเจ้าหญิงแต่งออกไปอาจไม่ต้องถวายยศคืน (เพื่อให้สิทธิทายาทจากสายนอก)?
ประเด็นนี้เคยเป็นที่ถกเถียงเหมือนกันในช่วงปี 2005 ก่อนเจ้าชายน้อยจะประสูติ เพราะญี่ปุ่นเองหลังแพ้สงครามก็มีการแก้ไขสถานะของสถาบันไปมาก จากที่ไม่อนุญาตให้มีชายาหรือสนมเป็นสามัญชน พอมาถึงยุคเฮเซ ทั้งจักรพรรดิและมกุฎราชกุมารก็สมรสกับหญิงที่ไม่ได้มีพื้นเพมาจากสายตระกูลขุนนางเก่าแก่
การยอมให้สืบสายจากฝ่ายหญิงจะทำให้เทพนิยายการสืบสายเลือดจากฝั่งชายยาวนานร่วมพันปีเสื่อมความขลังลงหรือไม่? ผลสำรวจในปี 2017 จาก Kyodo News ชี้ว่า ประชาชนญี่ปุ่น 58 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับการมีจักรพรรดิเป็นผู้หญิง หรือยอมให้ทายาทที่เกิดจากเจ้าหญิงขึ้นเป็นจักรพรรดิ
“ก่อนเจ้าชายฮิซาฮิโตะจะถือกำเนิด เคยมีการเตรียมกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ทายาทฝ่ายหญิงขึ้นเป็นจักรพรรดิ ความคิดนี้ไม่เคยถูกนำมาพิจารณาใหม่ หลังราชวงศ์มีทายาทเพศชาย แม้ว่ากระแสสังคมจะเปิดกว้างให้มีจักรพรรดิเป็นผู้หญิงก็ตาม
“และเมื่อมองผ่านบรรทัดฐานและค่านิยมในปัจจุบัน การบังคับให้ทายาทฝ่ายหญิงลาออกเมื่อแต่งงานกับสามัญชนเป็นอะไรที่คร่ำครึ แม้ในสายตาของคนญี่ปุ่นเอง” ศาสตราจารย์ Jeff Kingston ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่จาก Temple University ให้ความเห็น
น่าสนใจว่าพิธีขึ้นครองราชย์ของเจ้าชายนารูฮิโตะที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนหน้า เริ่มมีการเปิดกว้างให้สมาชิกคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงเข้าร่วมงานได้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ต่างจากการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะเมื่อปี 1989
การปรับตัวของราชวงศ์ดอกเบญจมาศจะเคลื่อนตัวต่อไปในทิศทางไหน คงต้องให้เวลาเป็นตัวตัดสิน
อ้างอิง
Bix, H. P. (2001). Hirohito and the making of modern Japan (Vol. 734). New York: Perennial.