หากการฟื้นฟูราชวงศ์โรมานอฟเป็นจริง ใครจะมีศักดิ์และสิทธิ์ในราชบัลลังก์รัสเซีย?

Highlights

  • ปัจจุบันหากมีการฟื้นฟูราชวงศ์ขึ้นจริง ผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์คือ แกรนด์ดัชเชสมาเรีย ทายาทเพียงคนเดียวของแกรนด์ดยุกวลาดิเมียร์กับเจ้าหญิงลีโอนิด้า แม้ว่าการสืบราชสมบัติของราชวงศ์จะให้สิทธิ์ทายาทฝ่ายชายก่อนฝ่ายหญิง แต่ก็ถือเอาความจริงที่ว่าการมีสายเลือดกษัตริย์ (dynast) เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด
  • กฎการขึ้นครองราชย์ของราชวงศ์รัสเซีย (Pauline Laws) ระบุว่า “ผู้ถือสายเลือดกษัตริย์ (จากทั้งบิดา/มารดา) ไม่ว่าหญิงหรือชายต่างมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ สิทธิ์ที่ว่านี้จะถูกส่งผ่านให้ทายาทฝ่ายชายก่อน แต่หากไม่มีทายาทฝ่ายชายที่คงสายเลือดกษัตริย์ ให้ยกสิทธิ์กลับสู่ทายาทฝ่ายหญิง ขึ้นปกครองเป็นจักรพรรดินีแห่งรัสเซีย ด้วยศักดิ์และสิทธ์ในการปกครองโดยสมบูรณ์”
  • ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยความคิดเห็นสาธารณะรัสเซีย (VTSIOM) ชี้ให้เห็นว่าประชาชนรัสเซียส่วนใหญ่ในทศวรรษท่ีผ่านมาไม่ได้ต่อต้านการมีอยู่ของสถาบัน และยินดีมอบคืนพื้นที่ทางความทรงจำให้ระบบกษัตริย์ที่สาบสูญ

17 กรกฎาคม 1918 คือวันสิ้นสุดการปกครองโดยราชวงศ์โรมานอฟที่ยาวนานร่วม 300 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลาร่วม 100 ปี ที่ความทรงจำเกี่ยวกับราชวงศ์กลายเป็นยาขมที่ไม่อาจผสานเข้ากับภาพลักษณ์ความเป็นรัสเซียได้อย่างแนบสนิท

ในสมัยของโจเซฟ สตาลิน เป็นที่ทราบกันว่าวัตถุหรือการกระทำใดๆ ที่สื่อถึงพระเจ้าซาร์เป็นเรื่องต้องห้าม ภาพวาด หรือแม้แต่พิธีกรรมทางศาสนาถูกมองว่าล้าหลังและเป็นภัย จึงต้องแอบทำกันอย่างลับๆ

กระนั้นชาวรัสเซียที่เคร่งศาสนา โดยเฉพาะคนที่เกิดทันยุคพระเจ้าซาร์ ก็ยังแอบภาวนาให้กษัตริย์ผู้ล่วงลับ และแอบนำไม้กางเขนแบบรัสเซียออร์ทอดอกซ์ไปปักตรงพื้นที่เดิมของบ้านอิปาเตียฟ–สถานที่สังหารพระเจ้าซาร์ (เพื่อให้รัฐบาลมานำออกไป และนำกลับมาปักอีกซ้ำๆ ไม่สิ้นสุด สงครามปักไม้กางเขนที่ว่า ดำเนินต่อไปกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991)

บอริส เยลต์ซิน ประธานาธิบดีคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย เริ่มประนีประนอมกับอดีตที่ถูกปิดกั้น ยอมรับว่าการฆาตกรรมครอบครัวพระเจ้าซาร์ เป็นการกระทำที่ ‘ป่าเถื่อนโหดร้าย’ ในขณะที่วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำคนปัจจุบันมองว่าภาพลักษณ์ของประเทศ ควรถูกบอกเล่าผ่าน 3 บุคคลสำคัญ คือ พระเจ้าซาร์ (ความงดงามและรุ่งเรืองในอดีต) เลนิน (ผู้นำทางความคิด) และสตาลิน (วีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 2)

ในปี 2015 มีข่าวลือว่ารัฐบาลรัสเซียตั้งใจผ่านกฎหมายใหม่ มอบสถานะพิเศษคืนให้สมาชิกราชวงศ์ พร้อมสนับสนุนให้ทายาทของพระเจ้าซาร์กลับมาอยู่รัสเซีย ‘ในสถานะเดียวกับเจ้านายในราชวงศ์ยุโรป’

เซอร์เก มาร์คอฟ ผู้อำนวยการสถาบันการเมืองศึกษาให้ความเห็นว่า ‘ถ้า’ สถาบันกษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูจริง เรื่องนี้ย่อมมีผลต่อสภาพสังคมในปัจจุบัน

“ชาวรัสเซียแน่ใจว่าควรวางพระเจ้าซาร์ไว้ตรงไหน สถาบันกษัตริย์อยู่กึ่งกลางระหว่าง ‘ผู้รับเคราะห์’ จากสถานการณ์ทางการเมือง และ ‘ผู้ร้าย’ ที่ทำให้ผู้คนมากมายต้องตายเพราะความอดอยาก”

หลายคนเชื่อว่าสถาบันในอดีตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีพอ ส่วนการกลับมาของราชวงศ์ในปัจจุบันยังคงถูกละไว้ในเครื่องหมายคำถาม

 

Emperor-in-exile : หลังซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกปลงพระชนม์ ราชวงศ์โรมานอฟทำอย่างไรในภาวะไร้ผู้นำ?

ในปี 1924 แกรนด์ดยุกคิริล วลาดิโมวิช หลานชายสายตรงของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ตั้งตัวเองเป็นพระเจ้าซาร์ขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศฟินแลนด์ การประกาศตัวของเขาได้รับการยอมรับจากเจ้านายสายโรมานอฟส่วนใหญ่ เพราะทรงมีศักดิ์และสิทธิ์ตรงตามกฎการขึ้นครองราชย์ของราชวงศ์รัสเซีย (Pauline Laws) คือ หนึ่ง–เป็นทายาทสายตรงของพระเจ้าซาร์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดในขณะนั้น สอง–เกิดจากบิดา/มารดาที่เป็นสายเลือดกษัตริย์ (equal-born) สาม–มีตำแหน่งเป็นแกรด์ดยุกแต่กำเนิด (ตำแหน่งแกรนด์ดยุก เป็นสิทธิ์ของลูกชายและหลานชายของพระเจ้าซาร์)

ก่อนการปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แกรนด์ดยุกคิริล เป็นทายาทลำดับสามของราชบัลลังก์ ตามหลังแค่ซาเรวิชอเล็กเซย์ (โอรสองค์เดียวของพระเจ้าซาร์) และแกรนด์ดยุกมิคาอิล (อนุชาของพระเจ้าซาร์) ทั้งสองถูกปลงพระชนม์โดยคณะปฎิวัติในปี 1918 ตามกฎการสืบราชบังลังก์ตำแหน่งจักรพรรดิจะถูกมอบให้ทายาทลำดับต่อไปโดยทันที (หากไม่มีการประกาศเป็นอื่น)

คิริล หรือ ซาร์คิริลที่ 1 (ตามที่ทรงเรียกพระองค์เอง) ใช้เวลาส่วนใหญ่ระดมทุนและหาลู่ทางฟื้นฟูราชวงศ์โรมานอฟ ทรงตั้งวลาดิเมียร์ ลูกชายคนเดียวเป็นแกรนด์ดยุกเพื่อคงสิทธิ์ในบัลลังก์ที่ไม่มีอยู่ หลังซาร์คิริลสิ้นพระชนม์ แกรนด์ดยุกวลาดิเมียร์ไม่เคยประกาศตัวเองเป็นพระเจ้าซาร์ แต่รักษาฐานะเป็นประมุขของราชวงศ์โรมานอฟเช่นเดียวกับราชวงศ์บูร์บงของฝรั่งเศสและราชวงศ์ฮับส์บูร์กของออสเตรีย

ในปี 1948 แกรนด์ดยุกวลาดิเมียร์เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงลีโอนิด้า บากราติออน แห่งจอร์เจีย ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากสมาชิกราชวงศ์ที่มองว่าราชวงศ์จอร์เจียไม่ถือเป็น ‘equal-born’ เพราะจักรวรรดิรัสเซียเคยผนวกจอร์เจียมาเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้ซาร์รัสเซียมีฐานะเป็น ‘ซาร์แห่งจอร์เจีย’ อยู่แล้ว กระนั้นแกรนด์ดยุกวลาดิเมียร์กลับมองว่า ถึงราชวงศ์บากราติออนจะไม่มีดินแดนในปกครอง แต่ราชวงศ์โรมานอฟในตอนนี้ก็มีสภาพไม่ต่าง ทรงแจ้งว่าราชวงศ์ควรใจกว้าง มองว่าสายตระกูลบากราติออนของเจ้าหญิงเป็นสายราชวงศ์เก่าแก่ที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่ยุคกลาง ควรถือว่ามีสถานะเท่าเทียมกัน

ปัจจุบันหากมีการฟื้นฟูราชวงศ์ขึ้นจริง ผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์คือ แกรนด์ดัชเชสมาเรีย ทายาทเพียงคนเดียวของแกรนด์ดยุกวลาดิเมียร์กับเจ้าหญิงลีโอนิด้า

 

ราชวงศ์โรมานอฟเปิดให้ผู้หญิงขึ้นเป็นกษัตริย์ได้หรือไม่?

คำตอบคือได้ แบบไม่มีข้อกังขา แม้ว่าการสืบราชสมบัติของราชวงศ์จะให้สิทธิ์ทายาทฝ่ายชายก่อนฝ่ายหญิง แต่ก็ถือเอาความจริงที่ว่าการมีสายเลือดกษัตริย์ (dynast) เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด

กฎการขึ้นครองราชย์ของราชวงศ์รัสเซีย (Pauline Laws) ระบุว่า “ผู้ถือสายเลือดกษัตริย์ (จากทั้งบิดา/มารดา) ไม่ว่าหญิงหรือชายต่างมีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ สิทธิ์ที่ว่านี้จะถูกส่งผ่านให้ทายาทฝ่ายชายก่อน แต่หากไม่มีทายาทฝ่ายชายที่คงสายเลือดกษัตริย์ ให้ยกสิทธิ์กลับสู่ทายาทฝ่ายหญิง ขึ้นปกครองเป็นจักรพรรดินีแห่งรัสเซีย ด้วยศักดิ์และสิทธ์ในการปกครองโดยสมบูรณ์”

ทายาทที่ ‘คงสายเลือดกษัตริย์’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายความแค่เกิดจากบิดา/มารดาที่เป็น ‘equal-born’ เท่านั้น แต่ควบรวมไปถึงคู่สมรส ว่าต้องเป็นสายเลือดกษัตริย์เท่าเทียมกัน ไม่สามารถเป็นสามัญชน (commoner) หรือชนชั้นสูง (high nobility)  

ตัวอย่างที่เห็นชัดจากกฎที่ว่า คือกรณีแกรนด์ดยุกคอนสแตนติน อนุชาพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ทรงอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเจ้าหญิงแห่งซัคเซิน-โคบวร์กและโกทา แต่ทรงหย่าเพื่อมาอภิเษกใหม่กับหญิงสามัญชน ตามกฎสืบราชบัลลังก์ ทายาทที่เกิดกับเจ้าหญิง สามารถคงสิทธิ์เป็นรัชทายาท ส่วนตัวแกรนด์ดยุกคอนสแตนตินถือว่าเสียสิทธิ์ กระทั่งทายาทที่เกิดจากภรรยาสามัญชน ก็ไม่นับเป็นสายเลือดราชวงศ์ ทายาทเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้นามสกุลโรมานอฟ แต่จะได้รับพระราชทานนามสกุลอื่นเช่น ยูริเยฟสกี้ (Yurievsky), อิสคันเดอร์ (Iskander), ตอร์บี้ (Torby), ปาเลย์ (Paley) และบราสซอฟ (Brassov)

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน เราอาจเห็นทายาทของราชวงศ์บางคนที่ใช้นามสกุล โรมานอฟ ทายาทเหล่านี้ไม่มีสิทธิ์ในการขึ้นครองบัลลังก์ แต่ได้สิทธิ์ใช้นามสกุลตามกฎหมายของประเทศที่เกิด ยกตัวอย่าง นายอเล็กซานเดอร์ โรมานอฟ ลูกชายของเจ้าชายนิกิต้า โรมานอฟแห่งรัสเซีย สามารถใช้นามสกุลของบิดาได้ ไม่เกี่ยงว่ามารดาเป็นสามัญชนหรือไม่ เพราะเกิดในประเทศฝรั่งเศสจึงมีสิทธิ์ตามกฎหมายฝรั่งเศส

หากว่ากันตามนี้ ราชวงศ์โรมานอฟจะเหลือทายาทที่สามารถขึ้นนั่งบัลลังก์ได้เพียงสองท่านเท่านั้นคือ หนึ่ง–แกรนด์ดัชเชสมาเรีย หลานสาวของซาร์คูริลที่ 1 (ปัจจุบันอายุ 65 ปี) เพราะทรงอภิเษกกับเจ้าชายฟรานซ์ วิลเฮล์ม แห่งปรัสเซีย (ถือเป็น equal-born) สอง–แกรนด์ดยุกจอร์ช มิฮาเอลวิช ทายาทคนเดียวของทั้งสอง (ปัจจุบันอายุ 37 ปี และยังครองตัวเป็นโสด)

 

เป็นไปได้ไหมที่รัสเซียจะรื้อฟื้นราชวงศ์ขึ้นใหม่ ชาวรัสเซียคิดอย่างไรกับประเด็นนี้?

ในปี 2000 สมาชิกครอบครัวของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ถูกตั้งให้เป็นเซนต์ (นักบุญ) เงินทุนมากมายหลั่งไหลมายังเมืองเยคาเตรินบูร์ก เพื่อสร้างโบสถ์ใหญ่บนพื้นที่เดิมของบ้านอิปาเตียฟ (ปัจจุบันคือ The Church on Blood in Honour of All Saints Resplendent in the Russian Land สร้างเสร็จในปี 2003)

การมีอยู่ของโบสถ์ที่ว่า กลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้นิยมราชวงศ์โรมานอฟ ให้มารวมตัวกันในคืนวันที่ 16 กรกฎาคมของทุกปี ในเทศกาลที่เรียกกันว่า ‘Tsar’s Days’ (วันแห่งพระเจ้าซาร์) เพื่อระลึกถึงคืนที่พระเจ้าซาร์และครอบครัวถูกสังหาร

น่าสนใจว่าจำนวนผู้เข้าร่วมงานมีมากขึ้นในทุกปี จากจำนวน 60,000 คนในปี 2017 เพิ่มเป็นราว 200,000 คนในปี 2018 เพราะเป็นปีครบรอบ 100 ปีการสิ้นสุดราชวงศ์โรมานอฟ (1918-2018)

ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยความคิดเห็นสาธารณะรัสเซีย (VTSIOM) ชี้ให้เห็นว่าประชาชนรัสเซียส่วนใหญ่ในทศวรรษท่ีผ่านมาไม่ได้ต่อต้านการมีอยู่ของสถาบัน และยินดีมอบคืนพื้นที่ทางความทรงจำให้ระบบกษัตริย์ที่สาบสูญ

แกรนด์ดัชเชสมาเรียในฐานะที่เป็นประมุขของราชวงศ์ในปัจจุบัน ให้คำตอบกับสื่อเพียงสั้นๆ ว่า หากจะมีการรื้อฟื้นระบบก็ขอให้เป็นไปด้วยความเต็มใจของชาวรัสเซีย และแนะให้มีการเปิดลงคะแนนเสียงอย่างเสรีตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

ด้านนายอเล็กซานเดอร์ ซาคานรอฟ ผู้แทนราชวงศ์โรมานอฟในรัสเซียกล่าวถึงกรณีนี้ว่า

“ทายาทของราชวงศ์โรมานอฟส่วนใหญ่พร้อมที่จะเดินทางกลับรัสเซียโดยไม่ต้องการเรียกคืนที่ดิน ทรัพย์สิน หรืออสังหาใดๆ ไม่ต้องการแม้แต่สิทธิพิเศษทางการเมือง สิ่งเดียวที่พวกเขาปรารถนาคือการยอมรับว่าราชวงศ์โรมานอฟเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่มีค่าของประเทศรัสเซีย”

 

 

อ้างอิง

express.co.uk

historyextra.com

russianlegitimist.org

washingtonpost.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา