มดลูกเปลี่ยนประวัติศาสตร์ : การผลิตทายาทที่ล้มเหลวและจุดเปลี่ยนน่าสนใจในราชวงศ์อังกฤษ

Highlights

  • ศูนย์วิจัยค้าปลีก (The Centre for Retail Research) ของอังกฤษ เคยออกมาบอกว่าการประสูติของเจ้าชายจอร์ช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้าเด็กอ่อนและของที่ระลึกได้รวมกันราว 247 ล้านปอนด์ แต่ย้อนกลับไปในสมัยก่อน การมีทายาทที่ปลอดภัยไม่ได้มีผลแค่ทางเศรฐกิจ แต่เป็นทั้งความมั่นคงทางการเมืองและเรื่องใหญ่ของชาติ
  • แมรี่ราชินีนองเลือดสิ้นพระชนม์ในเดือนพฤศจิกายน 1558 ด้วยวัย 42 ปี ไม่มีทายาทสืบปณิธานทวงคืนอังกฤษสู่นิกายโรมันคาทอลิก ‘ถ้า’ แมรี่มีทายาท หรือ ครองราชย์มากกว่านี้ อังกฤษอาจกลับไปรวมกับคริสตจักรที่กรุงโรมสมความตั้งใจ
  • ในขณะที่มดลูกของราชินีแอนน์แห่งอังกฤษก็เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ‘ถ้า’ แอนน์สามารถมอบทายาทให้อังกฤษได้ตามกำหนด เป็นไปได้หรือไม่ว่าการปฏิวัติอเมริกาจะเกิดขึ้นช้ากว่านี้

ย้อนไปในปี 2013 เมื่อสำนักพระราชวังเคนซิงตันของอังกฤษ แถลงว่า ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ทรงมีพระประสูติกาลเจ้าชายจอร์จ ความปีติที่ว่ากลายเป็นข่าวใหญ่จนใครหลายคนตั้งข้อสงสัยว่าการเกิดของเด็กชายในราชวงศ์อังกฤษสำคัญกว่าการเกิดของเด็กทั่วไปในโรงพยาบาลทั่วโลกขนาดไหน?  

ทุกวันนี้การมีทายาทไม่ว่าจะสามัญชนหรือราชวงศ์คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ศูนย์วิจัยค้าปลีก (Centre for Retail Research) ของอังกฤษ เคยออกมาบอกว่าการประสูติของเจ้าชายจอร์ช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้าเด็กอ่อนและของที่ระลึกได้รวมกันราว 247 ล้านปอนด์ แต่ย้อนกลับไปในสมัยก่อน การมีทายาทที่ปลอดภัยไม่ได้มีผลแค่ทางเศรฐกิจ แต่เป็นทั้งความมั่นคงทางการเมืองและเรื่องใหญ่ของชาติ การล้มเหลวของแคเธอรีนแห่งอารากอนในการมอบลูกชายให้พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เป็นจุดเริ่มต้นความแตกแยกทางศาสนา ความพยายามจะมีทายาทของราชินีแมรี่ที่ 1 ทำให้เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ ส่วนการสูญเสียทายาท 18 ครั้ง ของราชินีแอนน์ ทำให้ราชวงศ์สจวร์ตล่มสลาย นำไปสู่การปฏิวัติอเมริกาช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18

 

แคเธอรีน แห่งอารากอน จากความล้มเหลวของราชินีสู่ความแตกแยกทางศาสนา

“ถ้าเรามีลูกสาวที่แข็งแรงได้ ด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ลูกชายที่แข็งแรงย่อมต้องตามมา”

พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ กล่าวไว้แค่นี้เมื่อเอกอัครราชทูตชาวเวนิสกล่าวแสดงความยินดีกับการมีพระประสูติการเจ้าหญิงแมรี่ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1516 ก่อนหน้านี้แคเธอรีนเคยตั้งครรภ์มาแล้วถึง 4 ครั้ง จบด้วยการแท้งไป 1 ตายคลอดอีก 2 เจ้าชายแฮนรี่ ดยุกแห่งคอร์นวอลล์ ลูกชายคนเดียวที่มีอายุนานพอให้ตั้งชื่อ สิ้นพระชนม์ไปเพราะโรคเกี่ยวกับระบบลำไส้ในเวลาเพียง 52 วัน หลังประสูติกาลเจ้าหญิงแมรี่ แคเธอรีนยังตั้งครรภ์อีกสองครั้งและจบลงด้วยความล้มเหลวถึงสองหน 

ในยุคนั้น การเสียทายาทในครรภ์เป็นความผิดของฝ่ายหญิงล้วนๆ แคเธอรีนได้แต่กล่าวซ้ำไปมาว่า “เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องการให้ลูกๆ ของเราไปอยู่กับพระองค์บนสวรรค์”  

การแพทย์สมัยหลังพยายามมอบความเป็นธรรมให้การแท้งหลายครั้งของราชินี แต่สุดท้าย ข้อสรุปที่เป็นเหตุผลมากที่สุดก็ยังจบที่ข้อบกพร่องของร่างกายแคเธอรีนมากกว่าเฮนรี่ เหตุผลแรกเพราะฝ่ายชายสามารถมีลูกนอกสมรสกับสนมลับมากมาย เหตุผลหลังเพราะครอบครัวของทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีประวัติคลอดลูกตายมากจนน่าสงสัย (ครอบครัวเฮนรี่มีลูก 7 คน 4 ใน 7 รอดชีวิตจนพ้นวัยทารก ในขณะที่แคเธอรีนมีพี่น้องถึง 7 คน เพียง 2 ใน 7 เท่านั้นที่ตายคลอด สถิติที่ว่าเป็นเรื่องธรรมดามากในช่วงเวลาดังกล่าว)

นักประวัติศาสตร์ให้ข้อสังเกตว่าแคเธอรีนน่าจะเคยป่วยเป็นโรค Anorexia (โรคคลั่งผอม) ตอนวัยรุ่น มีหลักฐานชี้ว่าแคเธอรีนเครียดหนักหลังเจ้าชายอาเธอร์แห่งเวลส์ พระสวามีคนแรกและพี่ชายคนโตของเฮนรี่สิ้นพระชนม์จนน้ำหนักตัวลงอย่างเห็นได้ชัด พระนางยังป่วยหนักอีกหลายรอบในช่วงวัย 18-23 ปี ซึ่งอาจะเป็นเหตุให้ร่างกายไม่สมบูรณ์

เป็นเวลาหลายปีที่แคเธอรีนถูกทิ้งให้อยู่กับความไม่แน่นอน กระทั่งเฮนรี่ขึ้นครองราชย์และเข้าพิธีแต่งงานกับเธออย่างเป็นทางการ ยังมีข้อบ่งชี้ว่าแคเธอรีนใช้วิธีอดอาหารเพื่อภาวนาให้ตัวเองตั้งครรภ์ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของมารดา

‘ถ้า’ แคเธอรีนมอบลูกชายที่แข็งแรงให้เฮนรี่ตามปรารถนา จุดเปลี่ยนชัดเจนแรกคืออังกฤษจะยังนับถือโรมันคาทอลิก แคเธอรีนขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งศาสนา ส่วนเฮนรี่เอง ก็ไม่มีทีท่ากระด้างกระเดื่องกับพระสันตะปาปาแห่งโรม เฮนรี่ในวัยหนุ่มเคยตั้งตนเป็นผู้ปกป้องแห่งศรัทธา ตัวเขาเคยกล่าวประณามมาร์ติน ลูเธอร์ ที่ออกงานเขียนทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย

เหตุผลเดียวที่เข้มแข็งพอให้เฮนรี่เล่นใหญ่ ตั้งนิกาย Church of England ก็เพื่อให้ตัวเองสามารถหย่าขาดจากแคเธอรีน มาแต่งงานใหม่กับแอนน์ โบลีน เจ้าสาวที่สาวกว่า สวยกว่า และสัญญาว่าจะมอบทายาทเพศชายให้พระองค์

หากเฮนรี่ยังเป็นกษัตริย์คาทอลิก จะสร้างจุดเปลี่ยนใหญ่ให้ประวัติศาสตร์ได้มากแค่ไหน?  เมื่อนับถือนิกายเดียวกัน พันธมิตรอังกฤษ-สเปน อาจยังเข้มแข็ง สงครามกับฝรั่งเศสหลายครั้งอาจไม่เกิดขึ้น ในเชิงศิลปกรรม หากไม่มีจุดเปลี่ยนทางศาสนา ศิลปกรรมคาทอลิกจำนวนมากจะไม่ถูกทำลายและยังได้รับการสนับสนุน สิ่งก่อสร้างและภาพลักษณ์ของอังกฤษจะเปลี่ยนไปในแบบที่เราเดาไม่ออก

 

แมรี่ที่ 1 ราชินีนองเลือดกับความพยายามมอบทายาทคาทอลิก

“พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ยอมให้บุตรในครรภ์ของข้าพเจ้าถือกำเนิดในแผ่นดินที่ยังมีพวกนอกรีต”

หนึ่งในเครื่องดื่มที่ลือกันว่าตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ คือ Bloody Mary–ว็อดก้า น้ำมะเขือเทศ และเครื่องปรุงรสกลิ่นแรงอีกหลายอย่างคล้ายจะสามารถบรรยายยุคสมัยของราชินีแมรี่ได้ดี

แมรี่ที่ 1 (1516-1558) เป็นลูกสาวที่รอดชีวิตเพียงคนเดียวของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และแคเธอรีนแห่งอารากอน แมรี่ได้ครองราชย์ตอนอายุ 37 ปี ไม่เคยแต่งงาน และเป็นลูกสาวคนเดียวของเฮนรี่ที่ยังนับถือคาทอลิกตามพระมารดา เมื่อได้ขึ้นครองราชย์ สิ่งที่แมรี่สนใจเป็นอย่างแรกคือการหาคู่และสร้างทายาทที่เป็น ‘คาทอลิก’ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 1554 ราชินีแมรี่เข้าพิธีสมรสกับเจ้าชายฟิลลิปแห่งสเปน

ความหวังในการมอบทายาทคาทอลิกให้อังกฤษถือเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับแมรี่ในวัยย่าง 38 ดังนั้นเมื่อราชินีน้ำหนักตัวเพิ่มเล็กน้อย หยุดมีประจำเดือน หลังแต่งงานได้ไม่กี่เดือน หมอหลวงก็ประกาศการตั้งครรภ์ของแมรี่ในทันที จากนั้นทั้งชาติก็กลั้นหายใจ เริ่มนับเดือนเพื่อรอเห็นหน้าทายาทคนใหม่ที่จะทำให้ราชวงศ์ทิวเดอร์ของพระนางยืนยาวขึ้นอีกหน่อย

ในเดือนเมษายน 1555 เมื่อเอลิซาเบท (ต่อมาคือราชินีเอลิซาเบทที่ 1) น้องสาวต่างมารดาที่เคยถูกกักบริเวณข้อหานับถือโปรแตสแตนท์ เดินทางมาพบแมรี่ในช่วงเวลาสั้นๆ ทั้งประเทศก็ลือกันว่าราชินีกำลังมีประสูติกาล แต่เมื่อไร้การประกาศจากสำนักราชวัง หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าแมรี่อาจไม่ได้ตั้งครรภ์จริง เสียงนินทาเริ่มหนาหู ‘การตั้งครรภ์ของราชินีน่าจะจบลงด้วยลมมากกว่าอะไร’

มิถุนายนปีเดียวกัน แมรี่ที่เชื่อมั่นว่าตัวเองกำลังมีทายาทออกประกาศ ‘พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ยอมให้บุตรในครรภ์ของข้าพเจ้าถือกำเนิดในแผ่นดินที่ยังมีพวกนอกรีต’ การลงโทษชาวโปรแตสแตนท์หนักขึ้นอีกขั้น

แมรี่นองเลือด ถูกจดจำจากการล่าสังหารผู้ที่หันไปนับถือนิกายโปรแตสแตนท์ (Church of England) อย่างไม่ลดละ คนหลายร้อยถูกเผาทั้งเป็นเพราะแรงศรัทธา

เดือนสิงหาคม ย่างเข้าเดือนที่ 11 ของการตั้งครรภ์ แมรี่ซูบผอม ผิดหวัง และทุกข์ระทมเพราะไม่มีใครพูดถึงการตั้งครรภ์ของพระนางอีก

กรณีครรภ์เทียมของแมรี่ถูกพูดถึงในหลายแง่มุม บ้างก็ว่าแมรี่วางอุบายให้สามีผู้มีชื่อเสียงเรื่องชู้สาวหันมาสนใจภรรยาที่แก่กว่า บ้างก็ว่าแมรี่แท้งไปนานแล้ว (อาจเป็นช่วงเดือนเมษายนที่เอลิซาเบทมาเยี่ยม) แต่เลือกปิดไว้ นักประวัติศาสตร์การแพทย์แนะว่าแมรี่อาจมีเนื้องอกในรังไข่หรือซีสต์ที่ทำให้ร่างกายแสดงอาการคล้ายตั้งครรภ์

หลายคนมองไปไกลกว่า คิดว่าผู้หญิงวัย 37 ในยุคนั้นใกล้หมดประจำเดือนเต็มที บางทีแมรี่อาจหมดประจำเดือนไปแล้วแต่พยายามหลอกตัวเองจนทำให้เกิดภาวะท้องหลอก ซึ่งถือเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง ผู้หญิงกลุ่มนี้มักเครียดเพราะอยากมีลูกจนต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งไปกระตุ้นมดลูกจนผนังมดลูกหนาตัวและขาดประจำเดือน บางคนอาจรู้สึกว่าท้องโตขึ้นเหมือนมีเด็กดิ้นอยู่ในท้อง ซึ่งที่จริงคือการเคลื่อนไหวของลำไส้ กรณีแบบนี้ถ้าอัลตราซาวนด์ตามเทคโนโลยีการแพทย์ปัจจุบันก็จะรู้ได้ทันทีว่าไม่ได้ท้องจริง

แมรี่ราชินีนองเลือดสิ้นพระชนม์ในเดือนพฤศจิกายน 1558 ด้วยวัย 42 ปี ไม่มีทายาทสืบปณิธานทวงคืนอังกฤษสู่นิกายโรมันคาทอลิก ‘ถ้า’ แมรี่มีทายาท หรือ ครองราชย์มากกว่านี้ อังกฤษอาจกลับไปรวมกับคริสตจักรที่กรุงโรมสมความตั้งใจ แมรี่ยังขึ้นชื่อว่าเป็นภรรยาที่เชื่อฟังสามี ส่วนหนึ่งเพราะพระนางเป็นคาทอลิกและเป็นอนุรักษ์นิยม อีกส่วนเพราะความรักที่พระนางมีให้ฟิลลิปอย่างท่วมท้น

ทายาทของทั้งสองอาจทำให้อังกฤษเข้าใกล้ยุโรปมากขึ้น ที่สำคัญคือราชินีเอลิซาเบทที่ 1 จะไม่ได้ขึ้นครองราชย์ การชนะกองเรืออาร์มาดาเปลี่ยนให้อังกฤษกลายเป็นเจ้าทะเลแทนสเปนคงไม่เกิด งานวรรณกรรมที่วางรากฐานให้งานเขียนอังกฤษจากวิลเลียม เชกสเปียร์ และคริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ ก็อาจไม่ได้ลืมตาอ้าปากด้วยเช่นกัน ยุคสมัยการครองราชย์ 44 ปี ของราชินีเอลิซาเบทที่ 1 ถือว่ายาวนานและวางรากฐานของความเป็นชาติของอังกฤษ หากแมรี่มีทายาท แน่นอนว่าภาพของอังกฤษคงเปลี่ยนแบบแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

 

ราชินีแอนน์กับมดลูกเจ้าปัญหาที่นำไปสู่การปฏิวัติอเมริกา

12 พฤษภาคม 1684 เด็กหญิงตายคลอด

2 มิถุนายน 1685 – 8 กุมภาพันธ์ 1687 แมรี่เสียชีวิตจากไข้ทรพิษ (1 ขวบ 8 เดือน)

12 พฤษภาคม 1686 – 2 กุมภาพันธ์ 1687 แอน โซเฟียเสียชีวิตจากไข้ทรพิษ (9 เดือน)

21 มกราคม 1687 แท้ง

22 ตุลาคม 1687 แอนคลอดเด็กชายขณะอายุครรภ์เพียง 7 เดือน หมอระบุว่าทารกตายในท้องมานานร่วมเดือนแล้ว

16 เมษายน 1688 แท้ง

24 กรกฎาคม 1689 – 30 กรกฎาคม 1700 เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งกลอสเตอร์ สิ้นพระชนม์ในวัย 11 พรรษาจากไข้ทรพิษ เจ้าชาย ได้รับการบันทึกหลังเสียชีวิตว่าเป็นเด็กอ่อนแอแต่กำเนิด และมีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ คือมีน้ำเข้าไปเลี้ยงโพรงสมองและไขสันหลังมากไป ทำให้การทำงานของร่างกายและสมองบกพร่อง

14 ตุลาคม 1690 แอนคลอดก่อนกำหนดขณะมีอายุครรภ์ 7 เดือน ลูกสาวที่เกิดหายใจอยู่เพียงสองชั่วโมง มากพอจะให้ตั้งชื่อเธอว่า แมรี่

17 เมษายน 1692 จอร์ชลืมตาเพียงไม่กี่นาที บาทหลวงทำพิธีล้างบาปก่อนส่งเจ้าชายน้อยคืนให้พระผู้เป็นเจ้า

23 มีนาคม 1693 เด็กหญิงตายคลอด

21 มกราคม 1694 แท้ง

17-18 กุมภาพันธ์ 1696 แท้งลูกสาว

20 กันยายน 1696 เด็กชายตายคลอดและแท้ง (คาดว่าเป็นแฝด แฝดพี่เสียชีวิตขณะอายุครรภ์ 7 เดือน แฝดน้องแท้งตอนอายุครรภ์ 3 เดือน คลอดห่างกัน 1 วัน)

25 มีนาคม 1697 แท้ง

ต้นเดือนธันวาคม 1690 แท้ง (อาจเป็นลูกแฝด)

15 กันยายน 1698 เด็กชายตายคลอด หมอระบุว่า น่าจะเสียชีวิตในครรภ์มารดามาแล้ว 8-10 วัน

24 มกราคม 1700 เด็กชายตายคลอด (เด็กคลอดเมื่ออายุครรภ์ 7.5 เดือน น่าจะตายในครรภ์มารดามาได้ร่วมเดือนแล้ว)

ระหว่างปี 1684-1700 แอนน์ ราชินีแห่งอังกฤษ ตั้งครรภ์ 17 ครั้ง (บ้างก็นับเป็น 18) จบลงด้วยความสูญเสีย 17 หน โศกนาฏกรรมของคนเป็นแม่ทำให้พระนางอ่อนแอทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทรงเจ็บป่วยเป็นโรคไขข้ออักเสบเรื้อรังจนต้องนั่งรถเข็นแทบจะตลอดเวลา การสิ้นพระชนม์ของแอนน์ในปี 1714 ถูกบรรยายว่าเป็นความหอมหวานครั้งสุดท้ายเพื่อปลดปล่อยราชินีผู้ทุกข์ระทมออกจากความทรงจำที่แสนทรมาน

กรณีของแอนน์ ได้รับคำอธิบายจากแพทย์ปัจจุบันว่าน่าจะมาจากโรคกลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด ซึ่งเป็นภาวะแพ้ภูมิตัวเองแบบหนึ่งทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรหลายครั้ง ทารกตายในครรภ์หลายหน อาการนี้ยังส่งผลให้คลอดบุตรก่อนกำหนด  และถึงทารกจะคลอดรอดมาได้ ก็มักมีน้ำหนักน้อยและไม่แข็งแรง

ในขณะที่แอนน์ยังครองราชย์ มีการวางตัวทายาทไว้ให้กับโซเฟีย แห่งฮาโนเวอร์ หลานสาวของพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ที่แต่งงานไปปกครองแผ่นดินในเยอรมัน โซเฟียและแอนน์ถือว่ามีปู่คนเดียวกัน จึงถือว่าเป็นญาติลำดับสอง แต่เพราะโซเฟียเสียชีวิตก่อนแอนน์เพียงไม่กี่เดือน มงกุฎอังกฤษจึงตกเป็นของลูกชายคือพระเจ้าจอร์ชที่ 1 กษัตริย์อังกฤษคนแรกแห่งราชวงศ์ฮันโนเฟอร์

จอร์ชในตอนนั้นถือเป็นเจ้าเยอรมันเต็มตัว นอกจากจะพูดอังกฤษไม่ได้ ยังมีอายุมากถึง 54 ปี จึงไม่คิดจะเรียนภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง ลูกชายของพระองค์ เจ้าชายจอร์ช หรือพระเจ้าจอร์ชที่ 2 เป็นพวกนิยมเยอรมันขนาดนำวงดนตรีทั้งวงติดตัวมาเพราะเพลงอังกฤษ ไม่ ‘ไพเราะ’ พอ หลานชายของเขา พระเจ้าจอร์ชที่ 3 คือผู้รับผิดชอบโดยตรงของเหตุการณ์การปฏิวัติอเมริกา

การปกครองของสามจอร์ชถูกมองในเชิงประวัติศาสตร์ว่ากดดัน และเอารัดเอาเปรียบอเมริกามากเกินไปเมื่อเทียบกับนโยบายผ่อนปรนของราชวงศ์สจวร์ตที่มีแอนน์เป็นผู้ปกครองคนสุดท้าย ยกตัวอย่างเช่นการขึ้นภาษีที่นำไปสู่เหตุการณ์งานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน

มดลูกของแอนน์เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ‘ถ้า’ แอนน์สามารถมอบทายาทให้อังกฤษได้ตามกำหนด เป็นไปได้หรือไม่ว่าการปฏิวัติอเมริกาจะเกิดขึ้นช้ากว่านี้ (และการปฏิวัติฝรั่งเศสก็อาจจะยังไม่เกิดตามมาในทันที) การสูญเสียอเมริกาทำให้อังกฤษต้องเร่งหาอาณานิคมใหม่ในตะวันออกและแอฟริกา เป็นเรื่องน่าสนใจหากลองมองว่า ในบางครั้งเรื่องยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ก็มาจากความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในร่างกายของผู้หญิง

 

อ้างอิง

doctorsreview.com/history

factinate.com

hforhistory.co.uk

historyextra.com

royalcentral.co.uk

serene-musings.blogspot.com

thestarsapart.com

thetudorenthusiast.weebly.com

 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา