คุยกับ ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ กลุ่มอาสาสมัครช่วงโควิด-19 ที่อยากปิดโครงการให้เร็วที่สุด

“เมื่อการบริหารงานของรัฐบาลมันห่วยแตก เราจะช่วยกันเอง” นี่คือข้อความอธิบายบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของ ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ กลุ่มอาสาสมัครที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับคำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างโดยที่ไม่มีมาตรการรองรับอย่างเป็นรูปธรรม

พวกเขาเข้าไปให้ความช่วยเหลือทั้งอาหารและสิ่งของ ผ่านการเป็นตัวกลางประสานความต้องการคู่ระหว่างผู้บริจาคและกลุ่มคนงานแคมป์ก่อสร้าง โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยระบุตำแหน่งของแคมป์คนงานก่อสร้างทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้อาสาสมัครและผู้บริจาคในแต่ละพื้นที่ได้ลงสำรวจสภาพและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของแต่ละแคมป์

แม้จะเป็นอาสาสมัครที่ทำงานช่วยดูแลประชาชนด้วยกันเอง แต่ในแถลงการณ์ฉบับแรกของกลุ่มคนดูแลกันเองย้ำจุดยืนชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องทำงานให้กับประชาชนด้วยความจริงใจ แต่หลังจากผ่านการจัดตั้งมาหนึ่งเดือน กลุ่มคนดูแลกันเองกลับต้องจริงจังกับการประสานงานให้ความช่วยเหลือเรื่องการแยกกักตัวผู้ป่วยในแคมป์คนงาน (worker camp isolation) และการแยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) ที่ขยายหน้างานจากขอบเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปในต่างจังหวัด

เกิดอะไรขึ้นกับวันที่ประชาชนต้องดูแลกันเอง นี่คือคำถามสำคัญที่พาเราไปคุยกับ อิง–ไชยวัฒน์ วรรณโคตร และ ไนล์–เกศนคร พจนวรพงษ์ สองอาสาสมัครจากกลุ่มคนดูแลกันเองถึงสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา และความหวังข้างหน้าที่รัฐต้องกลับมาทำงานของตัวเอง

กลุ่มคนดูแลกันเอง

‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ เกิดขึ้นได้ยังไง

อิง : เราเกิดขึ้นจากกลุ่มเพื่อนๆ ที่เห็นปัญหาการปิดแคมป์คนงานโดยที่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินตามนโยบายที่ตัวเองพูดไว้ พวกเราจึงเริ่มเอาข้าวของไปบริจาคให้กับแคมป์คนงาน แต่พอไปลงหน้างานจริง เราก็เห็นปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเลยชวนเพื่อนๆ ตั้งกลุ่มคนดูแลกันเองขึ้นมา

สาเหตุหลักๆ คือพอเราเข้าถึงข้อมูลบางอย่างได้ เช่น ข้อมูลแผนที่ของแคมป์คนงานก่อสร้างจากกรมแผนที่ทหาร แต่พอปักหมุดไปได้สักพัก เราพบว่ายังมีหลายแคมป์ที่ยังไม่รู้และไม่เจอ เลยไปหาข้อมูลเพิ่มจากทางสำนักงานเขตต่างๆ ที่เหลือก็คือมีผู้แจ้งมาทาง open chat แจ้งมาเราก็เอามาปักหมุดใหม่ พอทำแบบนี้ได้ เราเลยเริ่มจับคู่คนบริจาคกับคนรับบริจาคตั้งแต่ตอนนั้น

ทำไมถึงต้องทำหน้าที่จับคู่ของและคนบริจาค

ไนล์ : เพราะว่าถ้าแปะข้อมูลแคมป์ลงไปในเพจเดี่ยวๆ คนที่เห็นแคมป์นั้นเขาก็จะเฮไปบริจาคให้แคมป์เดียว แล้วการที่แคมป์ได้ของบริจาคเกิน โดยเฉพาะที่เป็นอาหารกล่องที่เก็บไว้ไม่ได้นานก็จะเน่าเสีย ในขณะที่มันยังมีแคมป์อีกหลายที่ที่เขายังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เราเลยใช้เป็นระบบให้อาสาของเราเป็นคนจับคู่ โดยคนมาเฝ้ามอนิเตอร์ว่าแคมป์ไหนต้องการอะไร และมีผู้บริจาคแบบไหนคอยจับให้แมตช์กัน 

แต่หลังจากนั้นก็พบว่ามันต้องใช้แรงงานคน แล้วเราไม่ได้มีคนเยอะมากขนาดนั้น เราเลยเปลี่ยนระบบมาเป็นเว็บแอพพลิเคชั่นที่ลงข้อมูลของแต่ละแคมป์ที่ต้องการความช่วยเหลือได้ คนที่ต้องการบริจาคของก็จะมาดูข้อมูลได้ว่าแต่ละแคมป์ต้องการอะไรและเลือกบริจาคได้เอง กระบวนการนี้ทำให้ทุ่นแรงคนได้เยอะมาก และทำให้ระบบเสถียรขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีลดความผิดพลาดของมนุษย์ (human error)

กลุ่มคนดูแลกันเอง

การลงพื้นที่ของกลุ่มคนดูแลกันเองทำให้เห็นถึงปัญหาของแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างยังไงบ้าง

อิง : ชัดเจนว่ารูปแบบการรับค่าแรงแบบวันต่อวันเป็นรูปแบบที่ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีและไม่พร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตเลย พอคนงานก่อสร้างรับค่าแรงวันต่อวัน ปุ๊บปั๊บรัฐบาลมาสั่งปิดหนึ่งเดือน นั่นหมายความว่าเขาจะไม่ได้รับค่าแรงเดือนหนึ่งเต็มๆ แล้วที่ผ่านมาเขาหาเช้ากินค่ำ พอเขาหาเช้าไม่ได้ ค่ำเขาก็ไม่มีอะไรกิน ไม่ว่าจะสร้างคอนโดห้องละ 20-30 ล้าน หรือจะสร้างห้องแถว ค่าแรงคนงานก่อสร้างก็เท่ากัน ชีวิตก็ไม่ได้ดีกว่ากัน

การเกิดวิกฤตแบบนี้มันยิ่งเปิดแผลว่า ที่ผ่านมานโยบายค่าแรงที่มันต่ำจนเกินกว่ามาตรฐานการใช้ชีวิต กฎหมายแรงงานที่ไม่ได้กำหนดรูปแบบการรับค่าจ้างให้เป็นรายเดือนทั้งหมดแบบที่อารยประเทศเขาทำกัน มันทำให้ชีวิตเขาไปต่อไม่ได้ อย่าว่าแต่โรคระบาดเลย อยู่เฉยๆ เขายังทำไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่มีรายได้ แถมบางคนมีหนี้มีสินหรือภาระครอบครัว ส่วนใหญ่คนงานในแคมป์ก็จะอยู่กันเป็นครอบครัว หนึ่งคนต้องเลี้ยงพ่อ แม่ และลูกในแคมป์

ส่วนแรงงานข้ามชาติ เราก็เห็นว่ามีการยกเลิกการตรวจแรงงานข้ามชาติ ตรวจเฉพาะแรงงานไทย เป็นคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม หลังสั่งปิดแคมป์แค่ 7 วันเอง ทั้งๆ ที่ก่อนปิดเขามีนโยบายว่าต้องตรวจแบบปูพรม ต้องปิดและทำ Bubble and Seal นี่ก็สะท้อนหลายอย่างนะ

ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นการเหยียดเชื้อชาติและความชาตินิยม อย่างการใช้ชื่อ ‘ไทยชนะ’

ไนล์ : ชัดเจนมาก มันคือการเลือกปฏิบัติระหว่างคนไทยกับแรงงานข้ามชาติ สาธารณสุขไทยไม่เข้าใจการรับมือโรคระบาด มันไม่ใช่ว่าโควิด-19 จะติดแค่คนไทย ประเทศไทยไม่ได้มีแค่คนไทย เรามีแรงงานต่างชาติอีกมากมายที่เข้ามาทำงานในประเทศและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้า เขาไม่เข้าใจว่าจะไม่มีใครปลอดภัยนอกจากทุกคนจะปลอดภัย 

คิดดูสิ ในขณะที่เราอยู่ ค.ศ. 2021 แล้ว ยังมีคนบางกลุ่มที่มีมายด์เซตแบบพม่าเผากรุงศรีฯ เหยียดแรงงานต่างชาติอยู่เลย เราไม่ได้ปฏิบัติต่อเขาเหมือนเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนและการตรวจ

แล้วนโยบายภาครัฐในมาตรการปิดแคมป์ ส่งผลกระทบต่อนายจ้างในอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้างไหม

อิง : ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกมาให้ข่าวว่า คนไม่หนีกลับบ้านหรอก เพราะเราเลี้ยงข้าว 3 มื้อ เรามีชดเชย แต่นี่คือการโยนหน้าที่ไปให้นายจ้าง โดยที่ในความเป็นจริงระบบอุตสาหกรรมก่อสร้างมีทั้งเจ้าใหญ่และเจ้าเล็ก ซึ่งเจ้าใหญ่ผมพูดตรงๆ ว่าการให้เขาเลี้ยงข้าว 3 มื้อให้กับพนักงานในหนึ่งเดือนมันง่ายมาก เพราะเขากินส่วนต่างค่าแรงของแรงงานมานาน ดังนั้นการที่รัฐบาลให้เขาทำแบบนี้มันก็ช่วยได้ แต่สำหรับบริษัทเล็กๆ ที่สายป่านไม่ยาวเท่า ปัญหาจะเกิดขึ้นกับเขาแน่นอน

และเจ้าเล็กๆ มีเยอะมากนะครับ เป็นพันๆ แคมป์รอบกรุงเทพฯ บางเจ้าก็รวย แต่บางเจ้าก็แค่มารับเหมาเฉยๆ ทำให้ช่วยข้าว 3 มื้อให้กับพนักงานได้แค่อาทิตย์เดียว หรือที่เจอแย่กว่านั้นคือให้ได้แค่ 2 วันก็มี หลังจากนั้นก็วันละมื้อ มื้อที่เหลือก็หากินเอาเอง

อย่างแย่ที่สุดที่เจอคือคนงานต้องนอนอยู่ในแคมป์เพื่อเอาแรง ยอมกินข้าวแค่มื้อเดียว สองมื้อที่เหลือก็ให้เด็กและผู้หญิง

ซึ่งกลุ่มคนดูแลกันเองช่วยเหลือครอบครัวของคนงานในแคมป์ด้วย

อิง : ใช่ครับ โดยสิ่งที่แพงมากที่สุดคือนมผง เราต้องหาทั้งนมผง ผ้าอนามัย ไปจนถึงยาคุมกำเนิดและถุงยาง หรือหลายแคมป์ที่มีผู้หญิงท้อง บางคนจะคลอดลูกเราก็ต้องติดต่อส่งตัวไปยังโรงพยาบาลให้

แต่พอเป็นแรงงานข้ามชาติก็ไม่ค่อยมีโรงพยาบาลไหนรับคลอด พอไปที่โรงพยาบาลก็โดนไล่ ดังนั้นมันก็พูดยาก

ไนล์ : ช่วงหลังเราเลยทำระบบให้คุณหมอมาให้คำปรึกษาในกรณีที่มีแรงงานข้ามชาติด้วย เพราะเคสที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเคสผู้หญิงท้องที่มีจำนวนมากและส่วนใหญ่ก็ติดโควิด-19 ซึ่งมันอันตรายกว่าทั่วไป ยาที่ใช้ก็ต้องเป็นอีกตัว ความลำบากจึงเกิดขึ้นในการดูแลส่วนนี้มากเข้าไปอีก

แล้วเรื่องการแยกกักตัวผู้ป่วยในแคมป์คนงานล่ะ กลุ่มคนดูแลกันเองช่วยจัดการตรงนี้ไหม

อิง : เราพยายาม แต่ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของแคมป์คนงาน มันแทบเป็นไปไม่ได้ ทีมแพทย์ที่มาก็ช่วยกันวางแผนและแนะนำว่า ถ้ายังงั้นคุณตีให้ติดโควิด-19 ทั้งหมด และดูแลเขาให้เหมือนทุกคนติดโควิด-19 ดีกว่า

อย่างกรณีแคมป์ที่มีการตรวจ สำหรับคนที่ตรวจเจอเราก็จะแยกออกมาพอเป็นพิธี แต่คนที่ยังไม่ได้ตรวจเราจะคาดการณ์ไปเลยว่าเขาติดแน่ๆ และใช้วิธีการเฝ้าระวัง แต่สำหรับบางแคมป์ที่ไม่ได้ตรวจสักคนแต่คนในแคมป์เป็นไข้อ่อนๆ เราก็จะใช้วิธีสันนิษฐานตามอาการและสุ่มส่งชุดตรวจเข้าไปให้ ถ้าเจอเราก็จะตีความไปเลยว่าทั้งแคมป์นั้นติดโควิด-19 และให้ความช่วยเหลือต่อไป

กลุ่มคนดูแลกันเองมีระบบให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ยังไง

อิง : เราทำงานผ่านแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างเป็นระบบ มีห้อง Discord ของคนดูแลกันเองที่เริ่มต้นโดยทีมแอดมิน ไนล์จะคอยดูแลตรงส่วนนี้และทำหน้าที่เหมือนเป็นโรงพยาบาลออนไลน์ ในนั้นจะมีห้องย่อยของเคสต่างๆ ที่จะจับหมอไปคู่กับคนไข้ในแต่ละเคส หน้าที่ของหมอคือโทรไปฟอลโลว์คนไข้ทุกๆ วันว่าอาการเป็นยังไงและสั่งยา หลังจากนั้นจะมีทีมเก็บข้อมูลยาและออกใบสั่งยา หรือในกรณีเคสหนักๆ เช่น ต้องการถังออกซิเจนที่หมอต้องสั่งพิเศษ เราก็จะมีทีมเข้าพื้นที่หน้างานที่ใส่ชุด PPE ลงไปติดตั้งเครื่องออกซิเจนให้กับคนไข้เลย แต่สำหรับกรณีที่เกิดเหตุด่วน เราก็จะมีห้องที่คุยกันเรียลไทม์เหมือนห้องฉุกเฉินขึ้น ตรงนั้นจะมีพยาบาลที่ทำเรื่องส่งตัวเก่งๆ ประจำการอยู่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเราก็ต้องถามคนไข้ก่อนการรักษาเสมอว่าเขายินดีที่จะให้เรารักษาแบบนี้ไหม ยินดีที่จะเอาตัวรอดไปกับเราหรือเปล่า เพราะว่าเราไม่ใช่โรงพยาบาลและไม่ใช่รัฐ เราทำได้แค่ในขีดความสามารถของอาสาสมัคร แต่เราจะทำให้ดีที่สุด

มีกรณีไหนไหมที่คุณรู้สึกสะท้อนใจและเห็นถึงปัญหาสาธารณสุขในไทยได้แจ่มชัด

ไนล์ : มีเคสแยกกักตัวที่บ้านคนไทยเคสหนึ่ง เขาเป็นครอบครัวกงสีใหญ่ที่อยู่ด้วยกันหลายคน และทั้งบ้านติดโควิด-19 หมด แต่ทีนี้คุณปู่อาการหนักมาก เราเลยเอาเครื่องออกซิเจนไปติดตั้งให้เพื่อพยุงอาการ อยู่มาวันหนึ่งเราก็พบว่าคุณปู่คนนี้เสียชีวิตแล้ว เพราะคนในบ้านแย่งเครื่องออกซิเจนเขาไปใช้ โดยคนที่แย่งก็ไม่ใช่คนที่อาการหนักสุดด้วย

เราว่าบ้านหลังนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่เกิดขึ้นในประเทศได้แจ่มชัด ทุกคนต่างอยากเอาชีวิตรอด ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่ความผิดของเขาเลยที่แย่งแบบนั้น เพราะว่ารัฐต่างหากที่ทำให้เราตกอยู่ในสภาพนี้ สภาพที่เหมือนล่มสลายแล้ว ไม่มีใครช่วยเหลือเราได้นอกจากตัวเราที่ต้องหาทางเอาชีวิตรอดเอง

สุดท้ายบ้านหลังนั้นเป็นยังไงบ้าง

อิง : เขาถอนการรักษาจากเรา เหมือนเขามองว่าขีดความสามารถเราไม่พอ

แสดงว่าการช่วยเหลือก็อาจจะไม่ได้สำเร็จไปในทุกกรณี

อิง : มีหลายเคสที่ขอถอนการรักษาครับ เช่น ติดต่อไม่ได้ ซึ่งเราจะสันนิษฐานว่าเขาไม่อยากรักษาต่อหรือได้โรงพยาบาลแล้วลืมแจ้งเรา หรือเคสที่ขอถอนเองเพราะคิดว่าขีดความสามารถในการซัพพอร์ตของเราไม่พอก็มี แม้กระทั่งเคสที่ขอถอนเพราะกระทบกระเทือนทางจิตใจ อยู่ในบ้านร่วมกันแล้วมีคนตาย จนรู้สึกว่าอยากตายให้มันจบๆ ไป ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากรักษา มันก็มีเกิดขึ้นเหมือนกัน

กลุ่มคนดูแลกันเอง

การทำงานอาสาที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายเช่นนี้ พวกคุณเองมีวิธีการรักษาสภาพจิตใจยังไง

ไนล์ : เราป็นคนที่ทำอยู่หลังบ้าน ไม่ได้เจอหน้างานจริง แต่เราก็ต้องนั่งอ่านรายงานของคุณหมอในแต่ละวัน พร้อมกับทำเรื่องตัวเลขว่าบ้านไหนมีคนติดเชื้อเท่าไหร่ และเมื่อบ้านหลังนั้นมีคนเสียชีวิตก็ต้องปรับตัวเลขให้ลดลง เราเลยจะเห็นตัวเลขตลอดว่าวันนี้มีคนตายหรือมีคนป่วยมากขึ้น วันนี้เคสของคนนี้เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดง ซึ่งก็สลับกันไปกับที่คนนี้หายแล้ว คนนั้นตายต่อ หรือคนนี้เคสเข้ามาใหม่ มันวนอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นก็พอพูดได้ว่าเราอยู่ในจุดที่เห็นคนตายเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่ไม่ควรเป็นเรื่องปกติ ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อเราทั้งทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคุณหมอที่เป็นเจ้าของเคสแล้วต้องโทรไปอัพเดตอาการคนไข้ทุกวัน เขาจะเป็นคนที่ใกล้ชิดคนไข้มากที่สุด

ล่าสุดเราเลยเตรียมรับจิตแพทย์เข้ามาในทีมแล้ว เพื่อให้ทั้งเรา คนไข้ และคนที่มีคนในครอบครัวเสียชีวิตได้โทรคุยกับจิตแพทย์เพื่อเยียวยาจิตใจ เพราะว่าใจกับกายมันต้องไปด้วยกัน 

ในมุมกลับกัน อะไรคือแรงที่ทำให้ทำต่อ

ไนล์ : สิ่งที่ช่วยซัพพอร์ตใจพวกเรามากที่สุดคือทุกครั้งที่เห็นว่าเคสปิดได้ คนไข้ถูกส่งไปรักษาต่อหรือว่าได้รับการช่วยเหลือ หรือเราดูแลเขาจนผลโควิด-19 กลายเป็นลบ ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้ว่าการที่เราเอาสภาพจิตใจของตัวเองมาทำลายด้วยการเป็นอาสาสมัคร มันเป็นการย้ำจุดยืนนั่นแหละว่าตอนนี้เราทำอะไรอยู่

เราไม่ได้ทำความดีเพื่อให้รู้สึกสบายใจ รู้สึกว่าเป็นคนดี รู้สึกสวย หรือรู้สึกว่าเป็นจิตอาสา แต่เราทำเพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐที่ต้องให้คนแบบเรามาทำหน้าที่ตรงนี้ มันทนไม่ไหวแล้วที่จะต้องเห็นคนที่เขามีหน้าที่แต่กลับไม่ทำอะไร ดังนั้นทุกครั้งที่เราช่วยเหลือคนได้มากเท่าไหร่ ยิ่งจำนวนของจิตอาสาในประเทศเรามีมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนี้มันผิดปกติ

สรุปคือจิตใจของอาสาสมัครที่อยู่ได้ทุกวันนี้ก็มาจากความโกรธล้วนๆ มันเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราทำอยู่ทุกวันนี้ได้

กลุ่มคนดูแลกันเอง

ตั้งแต่การเปิดกลุ่มคนดูแลกันเองมาเป็นระยะเวลาเดือนกว่า สิ่งที่กลุ่มคนดูแลกันเองย้ำคือการปิดโครงการให้เร็วที่สุด แต่ทำไมล่าสุดถึงมีการขยายขอบเขตไปในต่างจังหวัด

อิง : เพราะในตอนแรกเราทำเพราะอยากกลับไปใช้ชีวิตปกติ ทุกคนไม่อยากทำงานตรงนี้ แต่ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะเราต้องปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพื่อนมนุษย์ แต่ในสภาวะที่รัฐล้มเหลวและไม่ยอมมาทำงานของตัวเองสักที เราเลยต้องขยายงานตามหน้างานไป

อย่างตอนนี้เราก็มีเครือข่ายในการรักษาที่ใช้หมอเดียวกันกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล คือที่อยุธยา รวมถึงขอนแก่น ศรีสะเกษ และปราจีนบุรีที่กำลังติดต่อกันอยู่เหมือนกัน เพราะพวกเขาก็เจอปัญหาคล้ายๆ กรุงเทพฯ คือการแยกกักตัวที่บ้านปลอม คือลงทะเบียนไปแต่สิ่งที่ได้กลับมาเป็นการที่ อสม.เดินเอาฟ้าทะลายโจรและเครื่องวัดออกซิเจนมาให้ ไม่ได้มีการติดตามอาการอะไร หลายๆ ที่เป็นแบบนี้นะ เราเลยพยายามขยายหน้างานเพื่อดูแลคนที่ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐให้มากขึ้น

ถ้าให้สรุป ตอนนี้เป้าหมายของกลุ่มคนดูแลกันเองคืออะไร

อิง : ยังคงเหมือนเดิม คือเราต้องการปิดโครงการให้เร็วที่สุด และเงื่อนไขที่เราจะปิดโครงการคือรัฐต้องมาทำหน้าที่ปิดช่องว่างของการรักษาหลังลงทะเบียนให้ได้

ถ้าผู้ป่วยโควิด-19 นับหนึ่ง คุณควรให้หมอโทรหาและให้ยาเขาได้แล้วตั้งแต่วันนั้น ตรวจปุ๊บจ่ายยาปั๊บ ทำงานให้รวดเร็ว นี่คือสิ่งที่จะจัดการปัญหาโควิด-19 ณ ปัจจุบันได้เบื้องต้น และอันที่ 2 คือเรื่องวัคซีน mRNA เอาเข้ามาสักทีเถอะครับ

ไนล์ : เราเหมือนกับอิงที่อยากให้พรุ่งนี้ทุกคนสามารถนอนและนั่งดูเน็ตฟลิกซ์ทั้งวัน อยากเลิกทำงานอาสาตรงนี้แล้ว แต่ทุกอย่างมันไม่เอื้อให้เราหยุดเลย ดังนั้นย้ำอีกทีว่ายิ่งมีอาสาสมัครมากขึ้นเท่าไหร่ รัฐก็ยิ่งล้มเหลวมากขึ้นเท่านั้น

รัฐต้องทำหน้าที่ของตัวเองได้แล้ว ไม่ใช่ให้ประชาชนทำแทนแบบนี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน