“ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ถ้ารัฐบาลมาจากเสียงของประชาชน” คุยกับภาคีบุคลากรสาธารณสุข

เมื่อนึกถึงคำว่า ‘นักรบ’ ภาพของเหล่าทหารที่สวมเกราะป้องกันมั่นคง หยิบจับดาบ ปืน ธนู และสารพัดอุปกรณ์ออกรบฉายขึ้นมาในหัวเรา แต่หากพูดถึง ‘นักรบชุดขาว’ ที่คนในสังคมใช้เรียกแทนเหล่าบุคลากรสาธารณสุขในยามที่ต้องรักษาและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาพที่ฉายขึ้นกลับไม่ใช่เหล่าแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ และอีกสารพัดสาขาวิชาที่มีอุปกรณ์พร้อมสรรพ ภาคีบุคลากรสาธารณสุข

เกราะป้องกันอย่างชุด PPE ถังออกซิเจนสำหรับช่วยผู้ป่วยอาการหนัก อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น กระทั่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันนักรบเหล่านี้ให้ปลอดภัย คงไม่ใช่แค่เราที่ตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้หายไปไหนในยามที่เรายัดเยียดให้เขาเป็น ‘นักรบ’ภาคีบุคลากรสาธารณสุข

ในโมงยามปกติ ยอมรับตามตรงว่าเราไม่ค่อยเห็นนักรบเหล่านี้ออกมาส่งเสียงเรียกร้องเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานและทางสังคมเท่าไหร่ แต่ไม่นานมานี้ อาจารย์อาวุโสหลายท่านเริ่มออกมาพูดถึงข้อเท็จจริงของสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกินควบคุม บุคลากรรุ่นใหม่เริ่มออกมาส่งเสียงเรียกร้องว่าพวกเขาเริ่มทำงานกันไม่ไหว รวมถึงมีการตั้งแคมเปญล่ารายชื่อให้รัฐบาลนำเข้าวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนหลักโดยกลุ่ม ‘หมอไม่ทน’ และ ‘ภาคีบุคลากรสาธารณสุข’ และที่สำคัญยังมีการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างจริงจัง 

หลายคนอาจสงสัยว่าระบบสาธารณสุขไทยกำลังเดินไปในทิศทางไหน การเรียกร้องครั้งนี้คือการเรียกร้องในฐานะคนทำงาน หรือในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐบาลที่ได้ชื่อว่าทำงานรับใช้ประชาชน ความรู้สึกของคนที่ถูกเรียกว่า ‘นักรบชุดขาว’ แต่ไม่ได้รับอุปกรณ์การรบจากรัฐบาลเลยเป็นแบบไหน และสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นที่สุดคืออะไร

คำตอบจากตัวแทนภาคีบุคลากรสาธารณสุขอย่าง นายแพทย์สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ด้านล่างนี้พร้อมตอบคำถามเหล่านั้น

ย้อนกลับไปช่วงที่โควิด-19 เข้ามาในไทย สถานการณ์ในวงการสาธารณสุขตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง 

ตอนนั้นยังไม่มีใครคาดคิดว่าสถานการณ์จะแย่ขนาดไหน แต่เรามองภาพว่ามันจะระบาดและวุ่นวายแบบตอนนี้ด้วยซ้ำเพราะมันใหม่มาก เราไม่มีความรู้ ไม่มีวัคซีน ไม่มีวิธีการป้องกัน ไม่มีกระทั่งยารักษา จึงเกิดโปรเจกต์ในวงการแพทย์และวิศวกรที่ชื่อ Covid-19 Roundtable ที่ร่วมกันวางแผนเรื่องการจัดสรรอุปกรณ์ขาดแคลน แต่ด้วยโควิด-19 ที่ระบาดช่วงนั้นคือสายพันธุ์อู่ฮั่นที่ไม่ได้รุนแรงมาก และประชาชนทุกคนก็ร่วมมือหยุดเชื้อเพื่อชาติเพราะเชื่อว่าถ้าเจ็บแต่จบครั้งเดียวก็โอเค สถานการณ์จึงเริ่มดีขึ้นจนหลายประเทศชมว่ารัฐบาลไทยควบคุมสถานการณ์ได้ดี

ทั้งที่เบื้องหลังความสำเร็จนั้นคือการร่วมมือกันของประชาชนและบุคลากร ตอนนั้นบุคลากรทางการแพทย์หลายส่วนต้องทนอยู่ในสภาพที่ไม่มีชุดจนต้องแอบขอบริจาค แต่ก็ถูกสั่งห้ามเพราะมีการพยายามปิดข่าวที่รัฐบาลบริหารจัดการไม่ดี 

แล้วสถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง เหมือนกับที่ข่าวนำเสนอเลยไหม

ตอนพบว่ามีโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่าจากอังกฤษที่ทองหล่อ เรายังพอเอาอยู่นะ กระทั่งสายพันธุ์เดลต้าจากอินเดียเข้ามา การระบาดก็สูงมากจนยอดคนติดแตะหลักหลายพัน ซึ่งเราเดาออกแล้วแหละว่าระบบกำลังจะล่มแน่ๆ จนตอนนี้สถานการณ์มันก็เหมือนในข่าวเลย 

บุคลากรต้องเลือกเป็นเลือกตายว่าคนไข้คนไหนจะอยู่ คนไหนจะไป หรือถ้าไม่ไหวก็อาจขอให้ไปตายที่บ้าน มันกลายเป็นอย่างนั้นไปแล้ว

ส่วนตัวเราเป็นหมอเวชปฏิบัติทั่วไปที่ทำงานในห้องฉุกเฉิน ซึ่งงานก็หนักเป็นปกติอยู่แล้ว พอมีโควิด-19 เข้ามาก็ยิ่งกระทบกับงานห้องฉุกเฉิน เพราะการมีคนไข้โควิด-19 มากขึ้นทำให้ทรัพยากรการทำงานเราลดลงไป อย่างตอนนี้คนไข้เต็มหมดทุกวอร์ด เขาก็ต้องฝากคนไข้โควิด-19 มาที่ห้องฉุกเฉิน พื้นที่การทำงานเราจึงลดลงและเราก็เสี่ยงมากขึ้น ส่วนคนไข้ที่ควรจะได้รักษาที่ห้องนั้นก็โดนเลื่อนออกไปเรื่อยๆ บางทียอดคนเสียชีวิตในช่วงนี้อาจไม่ได้มาจากโควิด-19 ด้วยซ้ำ แต่มาจากโรคทั่วไปที่ถ้าได้รับการรักษาตามปกติเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกหลายสิบปี 

คนที่หนักกว่าเรามากๆ คือหมอด่านหน้า หมอหนึ่งคนต้องดูแลคนไข้โควิด 50-60 เตียงต่อวัน บางคนก็หลักร้อย หรือพยาบาลบางคนก็ควบกะไปเกือบ 24 ชั่วโมง จนล่าสุดมีข่าวพยาบาลกระโดดตึกเพราะเครียด ซึ่งเราไม่โทษเขาเลยเพราะเขาคงสิ้นหวังจริงๆ

พูดตรงๆ เราก็สิ้นหวัง เพราะถ้ารัฐบาลบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่านี้จะไม่มีคนตายหลักหมื่นเลย นี่ยังไม่รวมคนที่ฆ่าตัวตายเพราะเศรษฐกิจอีกนะ

นี่คือเหตุผลที่บุคลากรทางการแพทย์ออกมาส่งเสียงกันมากขึ้นหรือเปล่า

ใช่ เพราะเขาต้องทำงานกันมากขึ้นจนไม่ได้กลับบ้านกลับช่อง เขาต้องเจอสถานการณ์หดหู่จนรู้สึกถึงจุดเดือด ประชาชนทั่วไปอาจจะบอกว่าออกมาช้าไปไหม แต่อย่างน้อยมันก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าวงการนี้ตื่นตัวมากขึ้นแล้ว

แล้วที่ผ่านมา อะไรทำให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่กล้าออกมาเรียกร้องถึงปัญหาที่เผชิญ

บุคลากรอาวุโสมักมีมายาคติว่าบุคลากรสาธารณสุขไม่ควรแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะเขากลัวว่าจะเกิดอคติในการรักษา ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นจริงในยุคเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. แต่พอเราถามว่าแล้วทำไมตอนนั้นถึงออกไปเป่านกหวีดได้ เขาก็จะมีข้ออ้างสารพัดมาบอกเรา 

ถามว่าเราเถียงหรือทำอะไรต่อไม่ได้เพราะอะไร หนึ่ง–เรามองว่าบุคลากรสาธารณสุขอิงกับระบบข้าราชการ พอมันเป็นข้าราชการไม่ว่าหน่วยไหนก็เหมือนถูกบล็อกไม่ให้แสดงความคิดเห็นและต่อรองกับผู้ใหญ่ ชนิดที่แค่ออกมาขอรับบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งเกิดจากความเดือดร้อนของคนทำงานจริงๆ ยังโดนเตือนเลย ดังนั้นการเรียกร้องประเด็นอื่นๆ ในสังคมแม่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในวงการนี้

สอง–ทุกหน่วยงานมีระบบอาวุโสอยู่แล้ว แต่วัฒนธรรมการทำงานในวงการนี้มันต้องทำเป็นทีม ต้องขอความช่วยเหลือ ต้องปรึกษาเคสกับคนที่มีประสบการณ์มากกว่า มันเลยมีความคิดที่ว่าฉันเป็นพี่ที่ให้คำปรึกษา เธอเป็นน้องที่มาขอความช่วยเหลือ เธอต้องเคารพฉันสิ หรือถ้าใครเพิ่งจบใหม่แล้วออกไปใช้ทุนก็จะโดนเจ้าหน้าที่ใช้งานหนักมากโดยเฉพาะช่วงนี้ที่งานหนักสุดๆ ถ้าใครเริ่มตั้งคำถามหรือเรียกร้องบางอย่างก็จะโดนหมายหัวว่าน้องคนนี้แม่งแรง พูดจาไม่ไว้หน้ารุ่นพี่ โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่น้องพูดคือการสะท้อนปัญหา การต้องเคารพและเชื่อฟังผู้ใหญ่มันจึงสำคัญต่อความก้าวหน้าในอาชีพ ทั้งเรื่องการเรียนต่อและการเลื่อนตำแหน่ง

ถามว่าปัญหาเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นช่วงโควิดเหรอ เปล่าเลย มันมีมานานแล้ว แพทยสภารู้ถึงปัญหาการทำงานเกินเวลา ปัญหาพักผ่อนไม่เพียงพอ ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนที่ออกช้า และปัญหาการบรรจุตำแหน่งข้าราชการของพยาบาลมาตลอด แต่เขาไม่เคยแก้ไข โควิด-19 จึงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้คนในวงการเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น

แล้วคนในวงการเคยยื่นแก้ไขปัญหาภายในองค์กรไหม

มันก็มีแหละ แต่คนที่อยู่บนหอคอยงาช้างเขาไม่ได้มาสนใจไยดีกับคนทำงานเท่าไหร่ 

เพราะแบบนี้ ภาคีบุคลากรสาธารณสุขจึงก่อตั้งเพื่อทำให้ปัญหาที่ผ่านมาและช่วงโควิด-19 ชัดเจนขึ้นใช่ไหม

จริงๆ ภาคีบุคลากรสาธารณสุขเกิดขึ้นจากการพูดคุยกันใน Clubhouse ในห้องที่เป็นเหมือนศาลาคนเศร้าที่บุคลากรทางการแพทย์มารวมตัวกันเพื่อปรับทุกข์เรื่องปัญหาการแพร่ระบาดและปัญหาอื่นที่มันสะสมมานาน พอดีช่วงนั้นคุณฟลุค เดอะสตาร์ (พชร ธรรมมล) ก็รวมดาราที่เคยโดนกระทำมาก่อตั้งภาคีดาราเพื่อขับเคลื่อนสังคม เรากับเพื่อนเลยมีไอเดียว่าเรามาเปลี่ยนการพูดกันเองใน Clubhouse เป็นการทำภาคีอาชีพเราไหม จะได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้บุคลากรสาธารณสุขกล้าออกมาพูดกันมากขึ้น

พอคิดแบบนั้นก็รวบรวมสมาชิกในวงการสาธารณสุขได้ 200 คน ก่อตั้งภาคีฯ ขึ้นมาช่วงเมษายน แต่ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นรูปเป็นร่าง กระทั่งช่วงโควิด-19 เริ่มระบาดอีกครั้ง สถานการณ์มันแย่ลงเรื่อยๆ รัฐบาลก็ยังไม่เอาวัคซีน mRNA เข้ามาเสียที ซึ่งมันสำคัญมากกับการควบคุมการระบาด สมาชิกภาคีฯ คนหนึ่งเลยมีไอเดียว่าอยากเรียกร้องให้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนหลักให้ประชาชนและบุคลากรด่านหน้า จากแคมเปญนั้นทำให้ภาคีฯ เป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีบุคลากรเข้าร่วมกว่า 600 คนในปัจจุบัน

รู้สึกยังไงบ้างที่แคมเปญครั้งนั้นได้รับเสียงตอบรับที่ดี 

มันเกินความคาดหมาย มีคนร่วมลงชื่อจำนวนมากและมีสื่อมาสัมภาษณ์เยอะมาก แต่เรากลับรู้สึกว่าสังคมไทยบาร์ต่ำจังเลย เพราะถ้าประเทศเรามันปกติ การออกไปเรียกร้องเรื่องวัคซีนไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวดังทุกช่อง เพราะนี่คือการยื่นเรื่องเพื่อขอสิทธิทั่วไปในฐานะคนทำงานและพลเมืองที่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการออกมาครั้งนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการที่แม่ค้าหรือศิลปินกลางคืนไปยื่นเรื่องด้วยซ้ำ และในต่างประเทศก็เรียกร้องกันเป็นปกติ

แต่ถามว่าประชาชนและสื่อให้การตอบรับที่ดีแล้วเรื่องมันคืบหน้าไหม เราเข้าไปยื่นเอกสารวันที่ 7 กรกฎาคม คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขก็ตอบรับ แล้วบอกว่าจะนัดประชุมวันที่ 15 แต่พอวันที่ 13 เขาขอเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้ประชุมเลย

แต่เรือดำน้ำได้ประชุมไปเรียบร้อยแล้วนะ ส่วนการขอ mRNA จะคืบหน้าแค่ไหนก็ต้องรอดู

แล้วจากแคมเปญแรก ภาคีฯ เคลื่อนไหวเรื่องอะไรอีกบ้าง 

เราออกมาเรียกร้องให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจด้วยตัวเอง (Covid-19 self-test kits) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่รัฐบาลก็อนุมัติให้นำเข้าในช่วงเดียวกันพอดี แต่ก็ยังเป็นปัญหาว่ามันราคาสูงอยู่ นอกจากนั้นเราก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์จริงและการดำเนินการจัดหาวัคซีนอย่างโปร่งใส รวมถึงอธิบายเรื่องทางการแพทย์ต่างๆ เช่น วิธีการใช้และทิ้ง Antigen Test Kit ซึ่งทั้งหมดนี้เราพูดตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์โดยไม่บิดเบือนและเติมแต่ง ถ้าใครมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีกว่าก็นำเสนอกลับมาได้

ส่วนการเรียกร้องใหญ่ๆ อีกครั้งคือการสนับสนุนข้อเรียกร้องของม็อบวันที่ 18 กรกฎาคม 3 ข้อ คือ หนึ่ง–ประยุทธ์ต้องลาออก สอง–ปรับลดงบสถาบันฯ และงบกองทัพ และสาม–เอาวัคซีน mRNA เข้ามา เพราะเราเห็นว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องมันตรงกับสิ่งที่เราเรียกร้องอยู่ นั่นก็คือประชาธิปไตย

เพจของภาคีฯ จึงระบุว่านี่คือการรวมตัวกันของบุคลากรสาธารณสุขในระบอบประชาธิปไตย

ใช่ มันคือจุดประสงค์หลักของกลุ่มด้วยซ้ำ

แล้วปัญหาระบบสาธารณสุขยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตยยังไง

ปัญหาสังคมมันเชื่อมโยงกันเหมือนใยแมงมุม ดังนั้นปัญหาระบบสาธารณสุขจึงไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาเดี่ยวๆ แล้วแก้ไขได้ด้วยตัวมันเอง เช่น ทั้งที่มีการรณรงค์เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมากมาย ไหนจะห้ามขายเหล้าอีก แต่ทำไมกี่ยุคกี่สมัยเราก็ไม่เคยแก้ปัญหาการเมาแล้วขับได้ เพราะหนึ่ง–เราไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี พอไปกินเหล้าก็ต้องขี่มอเตอร์ไซค์กลับเองจนอาจเกิดอุบัติเหตุ และสอง–เราไม่มีระบบการใช้กฎหมายที่เด็ดขาด เมาเสร็จเจอตำรวจ ยัดเงินร้อยหนึ่ง ผ่าน นี่ไง แค่ปัญหาสาธารณสุขเรื่องเดียวมันขยายภาคสังคมให้กว้างขึ้นจนเชื่อมไปถึงระบบคมนาคม ระบบการทำงานของตำรวจ และระบบการใช้กฎหมาย

เราจึงเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ถ้ามีรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย อย่างน้อยเสียงของประชาชนจะเข้าถึงรัฐบาลได้ และเราจะตรวจสอบการทำงานของเขาได้ ไม่ใช่มีรัฐบาลที่มีหน้าที่แค่จับคนเห็นต่าง ปราบปรามคนชุมนุม แล้วปล่อยให้ประชาชนช่วยเหลือกันเอง ซึ่งการช่วยกันมันดีแหละในวิกฤตแบบนี้ แต่ไม่ว่าสถานการณ์เป็นแบบไหน รัฐบาลควรต้องมีรัฐสวัสดิการที่ดีให้ประชาชนเพื่อให้คุ้มค่ากับภาษีที่เสียไป ไม่ใช่ว่าเสียภาษีไปแล้วก็ต้องมาเสียเงินช่วยคนอื่นอีก

ทั้งนี้ทั้งนั้น ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต้องมีการขับเคลื่อนจากทุกวงการ แล้วยิ่งวงการแพทย์ที่ไม่มีประชาธิปไตยเลยสักนิดก็ยิ่งต้องขับเคลื่อน ไม่ใช่มัวแต่คิดว่าบ่นไปก็เท่านั้น ตื่นเช้ามาก็ต้องตรวจคนไข้เหมือนเดิม

นอกจากวงการสาธารณสุข วงการอื่นๆ ก็ต้องออกมาเรียกร้องด้วย

ใช่ มันสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องออกมาเรียกร้อง ให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงกับสังคมในสายงานที่ทำอยู่ เพราะทุกคนเหมือนจิ๊กซอว์ที่จะช่วยกันเติมปัญหาของแต่ละวงการให้เห็นปัญหาในภาพที่ใหญ่ขึ้น ถ้าภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งไม่ออกมาเรียกร้องมันก็ไปด้วยกันไม่ได้ อย่างถ้าวงการข้าราชการไม่ออกมาเอาด้วย มันก็ทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่เผชิญปัญหาก็อยู่ในวงการข้าราชการทั้งนั้น

ประเทศไทยเป็นประเทศวัวหายล้อมคอกที่ต้องเกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยแก้ และเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยการด่า ถ้าเราไม่ด่าป่านนี้ก็คงไม่มีวัคซีนอื่นๆ เข้ามาเลย ถ้าเราไม่ด่าเราก็คงไม่รู้หรอกว่าสัญญานำเข้า AstraZeneca คือ 3 ล้านโดสต่อเดือน ทั้งๆ ที่รัฐบาลพูดตั้งแต่ปีที่แล้วว่าเขาจะให้ 5-10 ล้านโดส หรือปลายปีจะฉีดได้ 60 กว่าล้านโดส 

เราเลยอยากให้กำลังใจคนที่ออกมาด่าว่าการด่าของคุณมันไม่ใช่การด่าลมๆ แล้งๆ แต่มันส่งเสียงถึงรัฐบาลได้ มันทำให้เขาเสียหน้าได้จนต้องออกมาทำสิ่งต่างๆ

การออกมาเรียกร้องครั้งนี้ทำให้คุณได้รับผลกระทบบ้างไหม

ด้วยความที่เราไม่เคยออกตัวในนามโรงพยาบาลและเราก็ทำงานในโรงพยาบาลเอกชน เขาเลยไม่มายุ่งอะไรกับเรา ซึ่งเราว่ามันแฟร์นะ เพราะถึงเราจะออกมาเรียกร้องเราก็ยังรักษาคนไข้เต็มที่เหมือนเดิม แต่ในเชิงสังคมเราก็โดนจับจ้องจากฝั่งตรงข้าม แค่ออกมาเรียกร้องเรื่องวัคซีนก็โดนขุดประวัติ โดนนู่นโดนนี่ ซึ่งจริงๆ ถ้าไม่เห็นด้วยกับการเอา mRNA เข้ามา ทำไมเขาไม่ทำจดหมายไปยื่นล่ะ จะมาล่าแม่มดทำไม 

ถามว่าเรากลัวไหม มันเลยจุดนั้นไปแล้วมากกว่า เพราะถ้ากลัวแล้วไม่ออกมาพูดก็ไม่รู้จะพูดตอนไหนได้อีก แล้วทุกวันนี้ก็เหมือนตกนรกและเหมือนจะตายอยู่แล้ว ถ้าเราต้องตายจากการออกมาพูดความจริงก็ขอให้รู้ว่าคนไทยอยู่ในสังคมอะไรกันแน่ ที่แค่ออกมาพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างการมีข้าวกิน เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี มีเบี้ยเลี้ยงตอนแก่ ก็ต้องตายเหรอ 

แล้วรู้สึกยังไงกับการที่รัฐเรียกบุคลากรว่าเป็น ‘นักรบชุดขาว’ 

ถ้าจะเรียกเราว่า ‘นักรบชุดขาว’ ก็ต้องถามกลับไปว่า ถ้าให้เราเป็นนักรบแล้วหน้าที่ของทหารคืออะไร แล้วเอาตรงๆ ก็ไม่ได้จบทหารมาเลยไม่อยากจะไปรบกับใคร เราก็แค่ทำหน้าที่รักษาคนไข้ ถ้าจะให้รบก็คงจะรบกับรัฐบาลนี่แหละ คงจะเป็นได้อย่างเดียว

คุณรบกับรัฐบาลด้วยความรู้สึกแบบไหน

(นิ่งคิด) ยอมรับตรงๆ ว่าโกรธ เพราะความโกรธนี่แหละทำให้เราออกมาเรียกร้องและผลักดันในสิ่งที่ทำได้อย่างการยื่นจดหมายในฐานะบุคลากร และเรียกร้องผ่านภาคีฯ ให้ประชาชนโหมความโกรธมากขึ้นเพื่อให้เสียงมันดังขึ้น

แล้วสิ่งที่คุณอยากเรียกร้องมากที่สุดในตอนนี้คืออะไร

หนึ่ง–รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีควรลาออกแล้วให้คนที่ทำงานเป็นมาบริหารประเทศได้แล้ว ออกไปเถอะ

สอง–การออกมาเรียกร้องของภาคีฯ ไม่ใช่ว่าพอได้ mRNA แล้วเราจะหยุด เราอยากให้การออกมาครั้งนี้ส่งเสียงและเรียกร้องให้ทุกคนที่ยังไม่กล้าออกมาได้กล้าพูดสะท้อนปัญหา กล้าที่จะเลิกเพิกเฉยกับปัญหา เพราะการเมืองมันใกล้ตัวทุกคนมาก ถ้าคุณยังไม่เห็นปัญหาหรือเลือกเพิกเฉยมันมีอยู่ 2 อย่าง ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ได้ผลประโยชน์จากระบบแย่ๆ นี้ คุณก็ต้องเป็นคนเห็นแก่ตัว ทุกคนมันต้องเอาตัวเองรอดอยู่แล้ว แต่ทำไมคุณไม่เอาให้มันรอดไปด้วยกัน ถ้ากิจการคุณรอดแต่ประชาชนตาย ถามว่ากิจการคุณจะรอดไปตลอดไหม ก็ไม่รอดอยู่ดี

จริงๆ ตอนนี้เราเริ่มเห็นคนในวงการสาธารณสุขออกมาเรียกร้องมากขึ้นแล้ว ชนิดที่คนรุ่นอาจารย์ก็ออกมา มันสะท้อนว่าคนที่มีมโนสำนึกและมีความเป็นมนุษย์เริ่มเห็นว่าสังคมมันบิดเบี้ยวขนาดไหน ซึ่งก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี


Call Out By Your Name คือซีรีส์ที่รวมการต่อสู้เรียกร้องในนามประชาชนผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมและได้รับผลกระทบจากรัฐในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ติดตามตอนต่อไปที่หน้าเว็บไซต์และทุกช่องทางของ a day

AUTHOR