ภาวิน มาลัยวงศ์ : ความเท่าเทียมของทุกเพศคือความฝันของอาจารย์ที่สอนเรื่อง Gender

Highlights

  • วิน–ภาวิน มาลัยวงศ์ คืออาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ภาวินมีความเชี่ยวชาญด้านภาษา, วรรณกรรมอังกฤษ, pop culture และเรื่อง gender ที่หลากหลาย เขาถ่ายทอดเรื่องเพศมานานหลายปี ทำหน้าที่สื่อสารว่าความหลากหลายทางเพศมีอยู่จริง
  • ในฐานะครู เขาอยากให้นักเรียนเข้าใจตัวเอง ส่วนในฐานะนักวิชาการ เขาอยากให้สังคมเคารพความแตกต่าง และมากกว่าการเคารพความแตกต่างหลากหลาย คือสิทธิพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน เพราะเขาเชื่อว่าหากรัฐให้สิทธิพื้นฐานทุกอย่างกับทุกคนโดยเท่าเทียม ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะน้อยลง

ในหลายประเทศ ‘เกย์’ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย โทษร้ายแรงที่สุดคือการหยิบยื่นความตายให้อย่างเหี้ยมโหด บางประเทศ การเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนไม่เพียงถูกผลักให้เป็นอื่น แต่ยังถูกปฏิเสธการมีตัวตนอยู่อย่างเย็นชา

หากลองเขยิบมามองให้ใกล้ตัวเราอีกสักนิด เพื่อนบ้านอาเซียนของไทยอย่างสิงคโปร์ยังคงมีภาครัฐที่ไม่ต้องการให้อนาคตของชาติเกิดความเบี่ยงเบนแม้เพียงนิด จึงตัดสินใจถอดหนังสือนิทาน 3 เล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับรักร่วมเพศออกจากหอสมุดแห่งชาติทันทีที่ค้นพบ

แม้แต่ไทย หลังผ่านการเรียกร้องในฤดูกาลร้อนหนาวมานานนับสิบปี เราก็ยังไม่ได้เห็นผลผลิตของกฎหมายที่ให้สิทธิกลุ่ม LGBTQ ได้เท่าเทียมชายหญิงแม้แต่น้อย

อาจฟังดูย้อนแย้งและน่าเศร้าใจ ในขณะที่ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ล้ำหน้าไปไกล และเป็นเครื่องมืออธิบายว่าความเป็น LGBTQ มีที่มาและมีเหตุผล แต่รากความเชื่อจากขนบ และความเคยชินทางวัฒนธรรมก็ยังคงมีส่วนสร้างกรอบคิด นำไปสู่ความไม่เข้าใจ การปิดกั้น แบ่งแยก และกดทับมนุษย์ด้วยกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากจะมองเห็นข้อเท็จจริงบนความไม่เข้าใจเรื่องเพศที่เกิดขึ้น เรามองเห็น 2 สิ่งสำคัญ

หนึ่ง ความเจ็บปวดของ LGBTQ ที่ซุกซ่อนอยู่ในซอกหลืบต่างๆ ของสังคมโลกมีอยู่จริงและยังไม่ได้จางหายไป

สอง วิชาความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นสำคัญ และละเอียดอ่อนเกินจะตัดสินกันอย่างมักง่าย

‘วิน–ภาวิน มาลัยวงศ์’ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มองเห็นสิ่งเดียวกันนี้ เขาจึงก้าวเข้ามายังโลกวิชาการ เพื่อขับเคลื่อน และมีส่วนสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในเมืองไทย

วินคือหนึ่งในคนไม่กี่คนที่ทำงานวิชาการเรื่อง gender และให้ความรู้กับนักศึกษาอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี ตั้งแต่เรื่องมิติทางเพศแสนละเอียดอ่อน ระบบภาษาที่ส่งผลต่อความเข้าใจของมนุษย์ ถูกบอกเล่าเคียงข้างกับประเด็นบนโลก pop culture มากสีสัน นี่คืองานหลักที่วินถ่ายทอด ผสานร้อยเรียงผ่านพื้นที่การศึกษาและโลกออนไลน์ได้อย่างสนุกสนานและมีชั้นเชิง

งานคือสิ่งที่เขาพยายามทำเรื่อยมาอย่างตั้งใจ ด้วยหวังจะเห็นการเคารพความหลากหลายทางเพศ ถึงแม้จะไม่ยอมรับ แต่ควรอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ สิ่งที่วินกำลังลงมือทำนั้นทำให้เรายังมองเห็นคำว่า ‘ความหวัง’ ในสังคมที่สิทธิของ LGBTQ ถูกให้ค่าน้อยจนน่าหวั่นใจ

ในเมื่อยังมีคนบาดเจ็บจากความไม่เข้าใจในความหลากหลายทางเพศมากมาย ทำให้เรานัดพบวินในช่วงบ่ายวันเสาร์ที่ครึ้มฟ้าครึ้มฝนของ pride month เดือนที่คนทั่วโลกส่วนใหญ่ออกมาเฉลิมฉลองให้กับกลุ่ม LGBTQ และสำหรับวิน ความสำคัญของการเฉลิมฉลองให้ทุกเพศบนโลก คือการทำงานวิชาการเรื่องเพศที่เขาทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยเห็นว่าศาสตร์ gender สำคัญกับสังคมไม่แพ้ศาสตร์ใดๆ

 

ทำไมคุณถึงสนใจศึกษาและเลือกถ่ายทอดความรู้เรื่องเพศ

อาจารย์ที่เราทำงานด้วยตอนปริญญาตรีเขาสนใจเรื่องสตรีนิยม ตอนนั้นเราเริ่มทำเรื่อง Women’s & Gender Studies โดยหลักๆ เน้นไปที่ความรู้เรื่องสตรีนิยม เมื่อจบปริญญาตรีด้านภาษาอังกฤษ เราเรียนต่อปริญญาโทอีก 2 ใบ พอเรียนปริญญาโทก็ยังคงสนใจเรื่องนี้ ประกอบกับสนใจเรื่องวัฒนธรรมป๊อป จึงขยายความสนใจจากสตรีนิยมไปยังเรื่องเพศสภาพและเพศสภาวะ ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เราทำเรื่อง LGBTQ อย่างจริงจัง

สมัยเรียนที่สหรัฐอเมริกา ตอนแรกเราเคยเข้าใจว่า LGBTQ เป็นความเข้าใจสากล แต่เมื่อไปอ่านงานหลายๆ ชิ้นก็ค้นพบว่าแนวคิดของการเป็น LGBTQ ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับ social construction ถูกประกอบสร้างโดยสังคม ส่วนใหญ่ในเรื่องนี้เราจะมีภาพในหัวว่า เฮ้ย เกย์ต้องเป็นแบบนี้หรือมีลักษณะแบบนี้ แต่เมื่อเราได้อ่านงานเรื่อง gender ในวัฒนธรรมลาตินอเมริกา เขากลับมองว่าการเป็นเกย์เป็นเรื่องปกติ อย่างประเด็นของ native american เราเจอคำว่า two spirit เขามองว่ามนุษย์มีสองวิญญาณในร่างเดียว เพราะฉะนั้นในสังคมเขาจะไม่แบ่งแยกตัวตนทางเพศเหมือนสังคมตะวันตก ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่าองค์ความรู้เรื่อง LGBTQ ส่วนใหญ่เป็นมุมมองจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะจากฝั่งอเมริกา และเราเริ่มเห็นเลยว่าในทุกสังคมมองเรื่อง LGBTQ แตกต่างกันออกไป พอเรียนจบ กลับมาเมืองไทย เราก็ยังคงสนใจเรื่องนี้ เลยทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

หลังจากเรียนจบกลับมาไทย ขับเคลื่อนความรู้เรื่องเพศต่อยังไง

เราตัดสินใจกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวิชาที่เราใส่เรื่องเพศเข้าไปได้ เราจึงทำเรื่องนี้ต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบัน แล้วขยายพื้นที่ความรู้ออกไปเรื่อยๆ โดยเล่าจากหนัง หรืองานวรรณกรรม ไปจนคอมิก ซึ่งตัวเองเป็นคนชอบอ่านอะไรแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ถึงแม้ไม่ได้เขียนสารนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องคอมิก แต่เอาตัวเองไปลงเรียนเรื่องซูเปอร์ฮีโร่มา จนกลายเป็นความสนใจในปัจจุบัน สรุปคือเรื่อง gender เป็นร่มที่เราสนใจกว้างๆ ทั้งเรื่องของเควียร์, สตรีนิยม, LGBTQ และการศึกษาความเป็นชาย ที่เรายังคงศึกษาอยู่ทุกวัน

 

ถ้าให้วัดระดับความสนใจและความชื่นชอบในประเด็นเรื่องเพศ ความสนใจนั้นอยู่ในระดับไหน

เราชอบเรื่องนี้มาก อาจเรียกได้ว่าเต็มร้อย หรือเกินกว่านั้นได้เลย เมื่อถามแบบนี้ เราเริ่มคิดแล้วว่า ถ้าไม่ทำเรื่องนี้จะไปทำเรื่องไหนได้ เราก็นึกไม่ออก (หัวเราะ) ยังคงมีความอยากรู้ต่อไปว่าประเด็นเรื่องเพศในประเทศไทยจะเติบโตไปยังไงต่อ เพราะว่าส่วนหนึ่ง ถ้าเราไปดูเรื่องประวัติศาสตร์การศึกษาเควียร์ เราจะเห็นช่วงแรกๆ ที่ LGBTQ ถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด เพราะว่าเป็นภัยคุกคามต่อสังคมเกษตรกรรม ในสังคมเกษตรต้องการแรงงาน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในสังคมนี้คือแรงงานที่มาทำไร่ทำนาเพื่อสร้างผลผลิต ฉะนั้น LGBTQ จะไปหยุดกระบวนการ reproduction ตรงนั้น ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก

ยกตัวอย่างเช่น หนังเรื่อง Brokeback Mountain ในหนังเราจะเห็นว่าเพศที่เป็นอื่นคือภัยคุกคามสำหรับสังคมเกษตรกรรม เราคิดว่าเขาใช้บริบทสังคมเกษตรเป็นฉากหลังอย่างจงใจ เพราะคนที่เป็น LGBTQ จะไปหยุดโครงสร้างครอบครัวที่ควรเป็น ทำให้คนเกิดขึ้นมาน้อยลงและทำให้สังคมมองความหลากหลายทางเพศเป็นตัวอันตรายและเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ถ้าเรามองในบริบทปัจจุบันจะมาอ้างว่ากลุ่ม LGBTQ หยุดการผลิตแรงงานไม่ได้แล้ว เพราะชายจริงหญิงแท้หลายคู่แต่งงานกันแล้วก็ตัดสินใจที่จะไม่มีลูกเหมือนกัน

 

แล้วจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนบนโลกส่วนใหญ่เริ่มยอมรับความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นตอนไหน

เป็นข้อสันนิษฐานนะ ถ้าสังเกตให้ดีความหลากหลายทางเพศเบ่งบานในช่วงที่ประชากรโลกเยอะมากๆ อย่างรุ่นที่เป็น Baby Boomer ผลพวงเลยมาถึงรุ่นที่พวกเราอยู่นี่แหละ ช่วงนั้นประชากรเกิดเยอะ ส่วนตัวเราไม่ได้ทำวิจัยประเด็นนี้ แต่คิดว่าการเบ่งบานเรื่องความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นได้เพราะคนมีจำนวนเยอะมาก แต่อย่าลืมว่าหลายสังคมกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ฉะนั้นเราไม่แน่ใจว่าสังคมจะ swing กลับมาเป็นความคิดแบบเดิมไหม คือตอนนี้เราชื่นชมและเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศ เพราะว่าคนค่อนข้างมีจำนวนมาก คนจึงต้องยอมรับให้ได้แล้วว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่สองเพศ แต่ที่น่าสนใจคือเราต้องมาคิดกันอีกว่าเมื่อสังคมต่างๆ เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้โลกต้องการประชากรมาขับเคลื่อนสังคม สิ่งที่รัฐหรือสิ่งที่เราต้องทำคือการเพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้นเพื่อมาทดแทนคนที่หายไป ฉะนั้นต้องติดตามต่อไปว่าประเด็น LGBTQ ในอนาคตจะออกมาประมาณไหน

ในไทยเองก็ดูเหมือนจะยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น กระแสของการเรียกร้องในบ้านเราจะเป็นยังไงต่อไป

เรื่อง LGBTQ ในไทยมีการต่อรองกันในสังคมมากขึ้น ถ้าสังเกตทั้งในกรณีของ ครูเคท–คทาวุธ ครั้งพิบูลย์ ที่เข้าไปในสถาบัน หรือการมี สส.ข้ามเพศ อย่าง กอล์ฟ–ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พวกนี้เป็นตัวอย่างที่ยังคงต้องต่อรองกับสังคม ก่อนหน้านี้คิดว่า LGBTQ เป็นวัฒนธรรมย่อย ข้อดีของการเป็น subculture คือเราจะต่อสู้แบบสุดโต่งได้ และต่อสู้ได้อย่างเต็มที่แบบไม่ต้องไปแคร์สังคมมากมาย แต่พอต้องเข้าไปในพื้นที่กระแสหลักจะมีการต่อรองบางอย่าง เช่น การแต่งตัวเข้าสภาของทรานส์ เขาจะมีการกำหนดเลยว่า เฮ้ย เรายอมรับพวกคุณได้นะ แต่เราอยากต่อรองว่าเสื้อผ้าน่ะ ช่วยแต่งให้ตรงตามเพศสภาพได้ไหม ทำให้เห็นว่าเมื่อกลุ่ม LGBTQ แบบบริบทไทยไปอยู่ในสังคมกระแสหลักจะทำตัวขบถแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ในสถานการณ์แบบนี้ เราอาจมองว่าการเรียกร้องและการต่อสู้ของเราถูกทำให้เชื่องมากกว่าเดิมหรือเปล่า ส่วนตัวเลยสนใจมากๆ ว่าโฉมหน้าเรื่อง LGBTQ ในประเทศไทย ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไงต่อไป

 

ถ้าหากลองวิเคราะห์สถานการณ์เรื่องการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง

ส่วนตัวมองว่าการต่อสู้เรื่องเพศมาพร้อมกับแนวคิดเรื่องประชาธิปไตย อย่างที่เราเห็นในต่างประเทศ เพราะว่าในบริบทของอเมริกาเอง ช่วงแรกที่ LGBTQ ต่อสู้คือเรื่องผิวสี หรือเรื่องความเท่าเทียม อย่างประเด็น civil rights movement ที่มาพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนของ Martin Luther King, Jr. ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเกิดการเปลี่ยนจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้วยกันทั้งระนาบ ถ้าเราสังเกตในช่วงยุค 60-70s ทั้งเรื่องของคนผิวสี สิทธิของผู้หญิง สิทธิของกลุ่ม LGBTQ ในอเมริกาจะเกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะฉะนั้นนักต่อสู้ หรือนักสิทธิที่เขาเรียกร้องสิทธิให้ LGBTQ เขาจะทำงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มแนวคิดประชาธิปไตย

ส่วนฝั่งไทย เราคิดว่าน่าสนใจ เพราะว่ากลุ่ม LGBTQ หลายคนอยู่ฝ่ายเดียวกับประชาธิปไตย แต่มีอีกกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราเลยพยายามที่จะไม่ยกโมเดลของต่างประเทศว่าจะต้องนำมาใช้ในไทย เพราะบริบทอาจไม่ได้เวิร์กเหมือนกัน แรงขับเคลื่อนเรื่อง LGBTQ ของไทยไม่ได้ไปในระนาบเดียวกัน เรามีสมมติฐานว่าไทยมีวาทกรรมที่ว่า ‘เป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี’ วาทกรรมนี้ทำให้ LGBTQ หลายคนเลือกที่จะอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย ทำให้ค่อนข้างเสียงแตก การเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้พลิกทั้งระนาบ และเกิดขึ้นได้ช้าเพราะว่ามีอยู่ 2 ฝั่งที่ยืนแยกกัน มันมีฝั่งหนึ่งที่อยากพลิก แต่มีอีกฝั่งที่ยังคงดึงไว้ เพราะฉะนั้นการคาดการณ์ใน 20-30 ปีที่จะถึงนี้ค่อนข้างยาก แต่ที่เราค่อนข้างมั่นใจก็คือเรื่องการยอมรับ สิ่งหนึ่งที่คิดว่าจะเกิดขึ้นไปพร้อมกับสังคมที่ควรจะเป็นประชาธิปไตยคือการโต้เถียงหลายๆ เรื่องในสังคม และสิ่งที่เราโต้แย้งกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเด็นเรื่องเพศในสังคมด้วย สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือเราน่าจะสามารถอดทนอยู่กับความต่างได้มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้สังคมมักเข้าใจว่าทุกอย่างจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอ ซึ่งความจริงไม่ใช่

ถ้ากลุ่ม LGBTQ ในไทยขัดแย้งกันมากขนาดนี้จะมีผลเสียกับสังคมเราหรือเปล่า

เราไม่ได้มองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องไม่ดี แต่ความขัดแย้งหมายถึงความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกัน ฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเรื่อง gender ขณะที่ประเทศเรากำลัง struggle ในภาพรวมมันเป็นกระบวนการของการจะกลายเป็นประชาธิปไตย ในกลุ่ม LGBTQ เองก็จะมีเสียงแตก ซึ่งเสียงแตกที่ไม่พ้องต้องกันนี้จะช่วยทำให้เราสำรวจความแตกต่างหลากหลาย การที่เราต้องอดทนอยู่กับความแตกต่างเหล่านั้นจะเป็นแบบฝึกหัดที่ดีให้คนฝึกหัดยอมรับความเห็นต่างได้ และจะมีส่วนช่วยให้คนเข้าใจเรื่องเพศสภาพอย่างยิ่งยวด เพราะเพศสภาพไม่ได้มีแค่สองแบบ และมันลื่นไหลไปเรื่อยๆ

 

แต่รูปแบบสังคมที่กดให้คนไม่มีปากมีเสียง จะยิ่งทำให้สังคมไม่มีความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า

เมื่อเราอยู่ในสังคมแบบนี้การที่พยายามกดให้ทุกคนสยบยอมนั้นย่อมทำได้ยาก ถามว่ามีแรงกดที่ว่าไหม มันมีแน่นอน แต่คนที่อยู่ภายใต้แรงกดนี้ ไม่ใช่คนเจเนอเรชั่นเดิมอีกต่อไป เพราะตอนนี้คนที่อยู่ภายใต้แรงกดนั้นมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นเขาจะมีการฝืนแรงกดที่ว่า การฝืนแรงปะทะตรงนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาควบคู่ไปสู่เรื่องการอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง

ถ้าถามว่า LGBTQ ที่อยู่ภายใต้เผด็จการจะมีการเปลี่ยนแปลงไหม คิดว่าคงมี แต่อาจจะช้านิดหนึ่ง ซึ่งเรามองว่าอัตลักษณ์ทางเพศที่ถูกกดไว้ ยิ่งกดเท่าไหร่ สุดท้ายแล้วจะต้องลอยขึ้นมา มันไม่สามารถกดให้มิด และถ้าคนยิ่งโกรธก็จะยิ่งดันขึ้นมา ยังไงการเปลี่ยนแปลงก็น่าจะเกิดขึ้น เพราะแรงกดที่ว่านั้นคุมได้แค่ระยะหนึ่งเท่านั้นเอง แต่สุดท้ายอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายก็จะต้องลอยขึ้นมา

ทำไมในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคการเมืองต่างๆ แข่งขันกันชูนโยบายสำหรับกลุ่ม LGBTQ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในการรณรงค์หาเสียงครั้งที่ผ่านมา ทุกพรรคพยายามหาเสียงกับกลุ่ม LGBTQ เท่าที่เห็นในประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยมีมาก่อน ตอนนี้แต่ละพรรคมีนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ ในเรื่องสิทธิมากขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่าอยู่ดีๆ ทำไม LGBTQ ถึงเป็นกลุ่มที่ได้รับความสนใจ แม้แต่เผด็จการยังบอกสังคมว่า เอานี่ไป พ.ร.บ.คู่ชีวิต ทำให้เห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนให้ความสำคัญแม้แต่ตัวเผด็จการเอง จำนวนของ LGBTQ อาจไม่ได้เพิ่มขึ้น เพียงแต่ว่าเสียงเขาดังขึ้น โดยเฉพาะปากเสียงที่มีผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียทำให้การเรียกร้องของเสียงดังกึกก้องมากขึ้น จนกระทั่งไม่สามารถมองข้ามเสียงของเขาได้อีก ซึ่งทำให้เขามีอำนาจต่อรองในสังคมพอสมควร เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนเริ่มรู้ตัวแล้วว่าเราละเลยเขาไม่ได้นะ

 

จำเป็นไหมว่าคนที่มีความสนใจเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี และเพศสภาวะที่หลากหลาย จะต้องเป็นเควียร์

ไม่จำเป็น เพราะวิธีการมองแบบคนในและคนนอกในปัจจุบันถูกเบลอลงไปมากแล้ว ถ้าเรามองว่าอัตลักษณ์ของตัวเองมีส่วนทำให้เราเข้าร่วมรณรงค์ต่อสู้หรือสนใจเรื่องนี้ มันจะขับเคลื่อนได้ยาก เราได้มีโอกาสเข้าไปสอนโรงเรียนฤดูร้อนเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศสภาวะ ที่น่าสนใจคือมีคนหลากหลายรูปแบบเข้ามาเรียน เขาก้าวข้ามความกลัวหลายอย่าง อย่างสมัยก่อนคนอาจลังเลที่จะเข้าร่วมวิชานี้ เพราะเดี๋ยวคนจะมองว่า เฮ้ย เธอเป็นหรือเปล่า แต่พอมีการต่อสู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น ทำให้กำแพงที่กั้นระหว่างคนในและคนนอกลดลง ทำให้เห็นว่าคนที่นิยามตัวเองเป็น straight กล้าเข้ามาเรียนวิชาพวกนี้ ในฐานะคนสอนเราไม่ได้มานั่งสันนิษฐานว่าคนที่มาเรียนเรื่องเควียร์ศึกษาต้องเป็น LGBTQ เพราะว่าถ้าเป็นแบบนั้นเท่ากับว่าตัวเราไม่สามารถก้าวข้ามผ่านและยังคงตัดสินคนโดยใช้เรื่องเพศสภาพ

อย่างในคลาสมีนักเรียนที่เป็น straight แต่ทำงานเรื่อง medical science และสุขภาพของผู้ป่วย เขาต้องเจอผู้ป่วยที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ซึ่งเขาให้ฟีดแบ็กที่น่าสนใจกับเราว่า เหตุผลที่เขามาเรียนวิชาเควียร์ศึกษา เพราะรู้สึกได้ว่าเวลาพูดคุยกับผู้ป่วยที่เป็น LGBTQ บางทีมีบางอย่างที่ปิดกั้นอยู่ แล้วเขาอยากเข้าใจมากขึ้น กรณีอย่างนี้ เราว่าต้องให้เครดิตคนข้างนอกที่เขาสนใจด้วย เพราะเขากล้าเข้ามากะเทาะกำแพงตรงนี้ให้ทลายลง

เราว่า LGBTQ เป็นแนวคิดที่เป็น Modernism มากๆ แนวคิดนี้จับคนแบ่งใส่กล่องว่านี่เป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งถ้าในกลุ่มเองยังไม่หลุดจากการคิดแบบจับคนใส่กล่อง ถ้าหากมีคนมาเคาะประตู ท่าทีแบบนี้มันไม่เป็นมิตรต่อการข้ามเข้ามา เราต้องตัดตรงนี้ทิ้งไป เพราะสุดท้ายไม่ว่าใครจะสนใจอาจจะไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับเพศสภาพของเขา ในปัจจุบันการศึกษาเรื่องเพศเติบโตมากขึ้น และจะเข้าไปอยู่ในทุกอณูของทุกศาสตร์ เราคิดว่ามันเป็นสัญญาณที่ดีมาก แล้วเราจะดีใจมาก ถ้าวันหนึ่งนักวิชาการจะเลิกพูดเรื่องนี้ เพราะว่ามันไม่ใช่สาระสำคัญที่คนจะนำเพศมาจำแนกชีวิตคนอีกต่อไป

 

ตอนนี้การเคลื่อนไหวเรื่องเพศในประเทศไทยและระดับโลกไปถึงไหนแล้ว

การเคลื่อนไหวของไทยไม่ได้ตามหลังประเทศอื่นมาก แต่ว่าเทรนด์โลกตอนนี้เขาพยายามสนใจเรื่องเพศโดยที่ไม่สนใจเรื่องเพศ เพราะตราบใดที่เราคุยกันเรื่องเพศ แสดงว่าเราใช้เรื่องเพศในการจำแนกคน อย่างถ้าเราอยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับวรรณกรรมเควียร์ แสดงว่าในหัวเรายังมีการแบ่งแยกอยู่ เพราะจริงๆ วรรณกรรมก็คือวรรณกรรรม ในระดับโลก เขาพยายามหลุดกรอบ แล้วขยับไปดูประเด็นอื่นกันบ้างแล้ว อย่างเช่น การคุยเรื่องที่เกี่ยวพันกับมนุษย์โดยรวม ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ถ้าทำงานตรงนี้เราต้องทะลุด่านนี้ให้ได้ จะเรียกว่าเป็นภาวะที่ไร้เพศก็ได้ มันเป็นเทรนด์ที่ทุกคนไม่ได้มองเรื่องเพศ แต่ว่าประเทศไทยไม่ได้หลากหลายมาก ยังมีวิธีคิดว่าทุกสิ่งอยู่ในทิศทางเดียวกัน เราพยายามรณรงค์ไม่ให้มองทุกอย่างเป็นขั้วๆ ซึ่งคิดว่าอีกหน่อยน่าจะพัฒนาไปในแบบนั้นได้

 

เทรนด์ไร้เพศเกิดมาจากอะไร

อาจเป็นผลพวงจาก postfeminism หรือแนวคิดช่วงหลังสตรีนิยม ที่มีความคิดว่าเราต้องหยุดคุยเรื่องเพศ มีการสนับสนุนให้คนเลิกพูดเรื่องสตรีนิยม เพราะถ้าเราพูดแปลว่าเรายังแบ่งแยกอยู่ เรามาเลิกพูดเรื่องสิทธิสตรี ไปพูดเรื่องมนุษย์โดยรวม อย่างพูดเรื่องการเมืองกันดีไหม เป็นอีกก้าวที่ต้องขยับไปสู่ประเด็นอื่น

ถ้าจำแนกเควียร์ไทยและเควียร์ตะวันตก อัตลักษณ์ต่างกันยังไง

ตอบยาก จริงๆ แล้วอัตลักษณ์ต่างกันแน่ๆ ของต่างชาติมีความลื่นไหลมากกว่าเรา อัตลักษณ์ของเราที่เป็น LGBTQ จะติดอยู่ในเนื้อหนังมังสามาก ถ้าเป็นสิ่งนี้ต้องเป็นสิ่งนี้เท่านั้น แต่ของเขาจะมีการใส่มีการถอดมากขึ้น ยกตัวอย่างดาราอย่าง Ezra Miller เป็นนักแสดงที่หยิบใส่อะไรก็ได้ แต่มีความลื่นไหลมาก วันนี้อยากเป็นอันนี้ อีกวันอยากเป็นอีกอย่าง แต่อัตลักษณ์ของเราจะติดตัว แต่ข้อดีคือไทยก็เริ่มตามแล้ว มันเริ่มไปในทิศทางนั้นมากขึ้น เช่น เจมส์ ธีรดนย์ เขาทำให้คนเริ่มสงสัย ตั้งคำถามในเรื่องอัตลักษณ์มากขึ้น การตั้งคำถามนี้ก็หวังว่าอัตลักษณ์จะฝังอยู่ในเนื้อตัวของเราน้อยลง มันคือการแสดง ไม่ควรมีการ assumption ว่าเขาแต่งตัวแบบนี้เขาควรเป็นคนแบบนี้ มันควรจะเหมือนกับเสื้อผ้าเรา วันนี้เราอยากใส่แบบนี้ อยากใส่แบบไหนก็ใส่แบบนั้น อยากหยิบอะไรมาก็ได้ อันนี้คือความหมาย มันคืออำนาจของเรา

หรืออีกกรณีหนึ่ง มีมิสทิฟฟานี่ที่เขาผ่าตัดเอาหน้าอกออก เห็นไหมว่าเราเริ่มมีพัฒนาการเรื่องอัตลักษณ์ ทั้งการมีสิทธิจะเลือกสวมใส่อัตลักษณ์ แต่ที่ควรไปไกลกว่านั้นคือเราควรมีสิทธิในการถอดออกด้วย

 

ถ้าให้ยกตัวอย่างแบบเห็นภาพ วงจรชีวิตของ straight และ LGBTQ นั้นต่างกันยังไง

ยกตัวอย่างการ์ตูนเรื่อง Frozen ที่มีตัวละคร Anna กับ Elsa เราจะเห็นว่าคนคู่นี้มีวงจรชีวิตไม่เหมือนกัน ตัวอันนาจะกังวลเรื่องความรัก เรียกว่า rite of passage วงจรชีวิตของเขาคือการเกิด แก่ เจ็บ ตาย กิน อยู่ หลับนอน ในขณะที่เอลซ่ามีอีกเรื่องที่โผล่ขึ้นมา และเขาต้องจัดการคือการ come out ซึ่งคนที่เป็น straight ไม่ต้องเจอ และอาจไม่ได้เข้าใจความรู้สึกนั้นทั้งหมด ไม่ต้องคิดว่าตัวเองต้อง come out ยังไง แต่เรื่องนี้สำหรับเอลซ่าเป็นเรื่องใหญ่ มันเป็นเรื่องที่เพิ่มเข้ามา วงจร narrative ของทั้งคู่จึงทำให้เราเห็นความแตกต่างชัดเจน

 

ในบทบาทอาจารย์ คิดว่าตัวเองมีส่วนในการผลักดันการศึกษาเรื่องเพศในสังคมไทยยังไงบ้าง

สิ่งที่เราพยายามทำในระดับมหาวิทยาลัย คือการพยายามบอกกับนักศึกษาว่า LGBTQ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่เป็นความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้นการสอนเรื่องพวกนี้จะเป็นประโยชน์กับคนทุกกลุ่มเลย เท่าที่ผ่านมาโรงเรียนไทยยังสอนแบบ binary แม้แต่สื่อสำหรับเด็ก อย่างการ์ตูนก็มีแค่ตัวละครเจ้าหญิงหรือเจ้าชาย แล้วถ้าหากเราให้เด็กตัวเล็กๆ อ่าน แล้วเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชาย เขาจะรู้สึกว่าตัวเองแปลก อย่างหลายคนรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นเจ้าชายเขาก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย เราต้องเป็นผู้หญิง คือถ้าเราให้ความรู้เด็กตั้งแต่ยังเล็กเขาจะเกิดความเข้าใจ มั่นใจ และมีที่ทางให้เขายืน ส่วนเด็กที่เป็น straight ก็จะเข้าใจความแตกต่าง

มีเด็กคนหนึ่งที่เรียนกับเราสนใจเรื่อง gender เขาบอกว่าอยากนำเรื่อง LGBTQ ไปทำในระดับประถมฯ กับมัธยมฯ เพราะถ้าเราไม่มีครูที่จะบอกเด็กตั้งแต่ยังเล็ก เขาคงคิดไปว่าตัวเองผิดปกติ เราพยายามบอกนักศึกษาตอนมหาวิทยาลัย ซึ่งวัยเขาก็โตมากแล้ว ถ้ามองเรื่องความรู้สึก มันเกิดปมและบาดแผลขึ้นแล้ว เพราะเขาอยู่บนโลกนี้มาถึง 18 ปี ซึ่งความคิดถูกฝังหัวลึก ถ้าเราจะไป undo ความคิดนั้นมันยาก เด็กอีกหลายๆ คน ไม่ควรต้องมีแผล เยาวชนของเราไม่ว่าจะมีเพศแบบไหนก็ตาม ถ้าเขาเข้าใจ เรื่องการกลั่นแกล้งก็จะน้อยลง เพราะเขารู้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก

เรามาทำงานปลายน้ำมากๆ ต้องขอบคุณคนทำงานในโรงเรียนประถมหรือมัธยมที่พยายามสอนเรื่องนี้มาก่อน เขาพยายามสอนเด็กเท่าที่นโยบายจะเอื้อ เพราะนโยบายส่งผลให้ทำเรื่องนี้ได้ยาก อย่างเราทำในระดับมหาวิทยาลัยมันค่อนข้างมี academic freedom เป็นข้อดีที่ผมทำได้อย่างไม่มีข้อจำกัด แต่เราหวังว่าในอนาคตในระดับประถมและมัธยมจะเปิดโอกาสให้ครูทำเรื่องพวกนี้มากขึ้น

 

ทำหน้าที่ตรงนี้คาดหวังการเปลี่ยนแปลงในสังคมมากน้อยแค่ไหน

ส่วนตัวเรามอง 2 แบบ ก็คือทั้งในฐานะครูและฐานะนักวิชาการ ในฐานะครูนั้นอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเด็กในชั้นเรียน ให้นักเรียนและนักศึกษามีความเข้าใจในตัวเอง แต่ถ้าในฐานะนักวิชาการหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม สิ่งที่ตัวเองมองว่าเป็นความสำเร็จของอาชีพนักวิชาการมากที่สุด เราอยากให้สังคมเข้าใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น

มีเรื่องที่เราประทับใจมากเรื่องหนึ่ง ตอนเป็นผู้ช่วยสอนอยู่ที่อเมริกา มีเด็กปี 1 คนหนึ่งที่เข้ามาเรียน เขายกมือในชั้นเรียน แล้วบอกว่าคิดว่าตัวเองชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง มันคือการ come out ของเขาในคาบของเรา ก็ดีใจและภูมิใจ เพราะมีความรู้สึกว่าเขาจะต้องมีความเชื่อในตัวเรา และเพื่อนๆ ที่นั่งเรียนอยู่ การที่เขากล้าพูดมันเกิดจากการที่ทุกคนในห้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขากล้าที่จะเอาข้อความออกมา การเปิดตัวในคาบไม่มีเพื่อนคนไหนที่ทำหน้าทำตาตกใจว่า เฮ้ย ยูเป็น เราว่า reaction ของนักเรียนในชั้น cool มาก นี่คือสิ่งที่เราภูมิใจมากที่สุดในชีวิตการสอน เขาถามเราว่าเขาจะทำยังไงต่อดี เราบอกเขาว่าขอบคุณมากนะที่ไว้ใจ เชื่อใจ แล้วบอก เพราะจริงๆ เขามีความลังเลในตัวเอง เราเลยบอกเขาว่าคุณก็ลองไปเดตทั้งผู้ชายและผู้หญิงดู แล้วพอจบการศึกษาคุณมาบอกฉันอีกทีว่าชอบฝั่งไหนมากกว่ากัน หรือถ้าคุณชอบทั้งผู้ชายทั้งผู้หญิง That’s OK too. ตอนจบปีการศึกษา เขาก็มาบอกตามที่สัญญากันไว้ว่า เขาไปเดตมา และชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิงเลยนะ เราก็บอกว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลก เราดีใจด้วยซ้ำที่เขาตั้งคำถามกับตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย

คุณออกแบบการสอนเรื่อง gender ในห้องเรียน ที่มีทั้งคนยอมรับและไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศยังไง

คนที่เริ่มต้นเรียนนั้นพื้นฐานไม่เท่ากัน ค่อนข้างยากและถือเป็นงานท้าทาย ส่วนมากในการสอนเราจะพยายามเล่าที่มาที่ไปในบริบทประวัติศาสตร์ อย่าง The History of Sexuality งานชิ้นสำคัญของ Michel Foucault เขาพยายามบอกว่าเพศสภาพแต่ละอย่างมีที่มา เพราะฉะนั้นเวลาตัวเองสอน เรามักจะให้บริบทกับคนเรียนก่อน ยกตัวอย่างเช่น ในวรรณกรรม มักบอกว่าส่วนมาก LGBTQ จะถูกนำเสนอว่าเป็นตัวตลก เกิดจากสาเหตุนี้นะ เราจะเล่าให้ฟังว่านักวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพในยุคแรกๆ ที่เรียกว่านัก sexologist มักทำวิจัยโดยการแอบไปดูเกย์มีเซ็กซ์กัน และเก็บข้อมูลเชิงพฤติกรรมมาประมวลเป็นตัวเลข เมื่อคิดเป็นตัวเลขแบบนั้นทำให้เกย์กลายเป็นตัวประหลาด พอเราเริ่มพูดด้วยบริบท และที่มาที่ไปนักศึกษาก็จะเริ่มเชื่อมโยงเหตุผล ในคลาสเราจะไม่ตัดสินกัน ให้ทุกคนสบายใจได้ สิ่งนี้เป็น introduction ถ้าเกิดใครสักคนข้องใจในข้อมูลให้ถามทันที อย่าคิดไปเอง ซึ่งเราก็มองว่าการเข้าไปถ่ายทอดเราก็ได้เรียนรู้จากลูกศิษย์ด้วย

 

ในกรณีของเด็กหรือคนในคลาสที่ไม่ยอมรับว่าเพศมีมากกว่าสองเพศคุณจัดการยังไง

ส่วนใหญ่จะเจอไม่เยอะนะ อย่างถ้ารู้สึกว่าเขามีกำแพงกั้นอยู่ ก่อนหน้าเราเคยคิดจะเป็นฮีโร่ แล้วทลายกำแพงที่ว่านั้น แต่ตอนหลังๆ มีความรู้สึกว่าเหนื่อยเปล่า เพราะเวลาเขาปิดกั้น จนเราเสนออะไรไปเขาก็บล็อกได้ทุกอัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำแล้วไม่ใช่เพื่อตัวเขา แต่เพื่อตัวเรา คือเวลาเราเจอคนไม่เห็นด้วยแล้วเกรี้ยวกราด เราจะหยุดฟังเขา เพื่อถามเขาว่าทำไมถึงคิดแบบนั้นล่ะ เราถือว่ามันเป็นการเรียนรู้ อย่างน้อยมันเกิดกระบวนเรียนรู้จากสิ่งที่สนทนา เราอาจจะพยายามให้ข้อมูล แต่ถ้าไม่สำเร็จเราก็ไม่ใช่พระเจ้าที่มีสิทธิจะเข้าไปเปลี่ยนเขา

 

เราจะแน่ใจได้ไงว่าสิ่งที่เราเชื่อถูกต้อง ในเมื่อชุดความรู้ทางวิชาการมีมากมาย

อาจดูกวนๆ นิดหนึ่ง แต่เราไม่สามารถแน่ใจได้ เพราะความรู้เป็นเรื่องที่ลื่นไหลและไม่นิ่ง พอมันไม่นิ่ง แล้วเราไม่สามารถแน่ใจเรื่ององค์ความรู้ได้เลย มันเป็นข้อดีที่ไม่นิ่ง สิ่งที่เรารู้จากอีกคนอาจใช้ไม่ได้กับอีกคน ในบทสนทนา พอมาเจออีกคนก็ต้อง applicable เป็นการลองผิดลองถูก เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าที่เรารู้มันจริงไหม มันอาจจริงกับบริบทหนึ่ง แต่ไม่จริงกับอีกบริบท เราต้องทดสอบความเชื่อตัวเองตลอดเวลา ต้องตรวจสอบ การทำแบบนี้จะทำให้เราไม่หยุดที่จะมีการเรียนรู้ หรือสนทนาในเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องที่คิดว่าสากลในทุกวันนี้ คือสิ่งที่เรากำลังยอมรับร่วมกัน เป็นสิ่งที่ปัจจุบันที่สุด และคนทั่วไปยอมรับว่าถูกต้องมากที่สุดเสียมากกว่า

 

อย่างการเรียกร้องสิทธิเพื่อความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่ในทุกวันนี้ คุณคิดว่าแบบไหนถึงพอเหมาะพอดี

เรื่องสิทธิพื้นฐานต้องแยกจากการเรียกร้อง การเรียกร้องไม่ใช่เพื่อการยอมรับ เพราะการยอมรับหมายความว่าถ้าอยากได้รับการยอมรับแสดงว่าอีกคนมีอำนาจมากกว่าเรา เพราะฉะนั้นเราไม่ควรเรียกร้องการยอมรับจากสังคม ความจริงเราอยู่ได้ไม่ว่าเขาจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ แต่สิ่งที่เราควรเรียกร้อง คือการเรียกร้องสิทธิพื้นฐานให้เท่ากัน อันนี้คือสิ่งที่เราคิดว่าจับต้องได้มากกว่า ยกตัวอย่างเช่น สิทธิการแต่งงานที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเลย LGBTQ ควรมี ควรได้ และควรเป็น

มันอาจอุดมคตินิดหนึ่งนะ เราคิดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเพศอย่างเดียว แต่มองว่าถ้ารัฐให้สิทธิพื้นฐานทุกอย่างกับทุกคนโดยเท่าเทียม การคอร์รัปชั่นน่าจะน้อยลง เพราะเราได้รับสิทธิที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ฉะนั้นช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะน้อยลง ถ้าประเทศเป็นไปในทิศทางนั้นอาจจะมีความสุขมากขึ้น เพราะเราไม่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้อะไรที่ดีกว่า ส่วนตัวเราก็ยังหวังให้ประเทศเรามีความเป็นไปได้แบบนั้นอยู่

 

ถ้าหากได้มีโอกาสเป็นตัวแทนนักวิชากล่าวสุนทรพจน์เรื่อง gender คุณอยากจะส่งสารอะไรถึงคนทั้งโลก

พวกเรา LGBTQ จากเอเชียไม่ใช่ Oliver T’Sien จากหนัง Crazy Rich Asians หนังเรื่องนี้เสนอ LGBTQ เอเชียด้วยภาพเหมารวมตามกระแสหลัก ว่า LGBTQ ต้องเฟียร์ซ ต้อง flashy ต้องแฟชั่นจัด ภาพเหมารวมลักษณะนี้เป็นอุปสรรคสำคัญของการสื่อสารระหว่าง LGBTQ กับคนทั้งโลก จริงๆ แล้ว ภายใต้ร่มอันใหญ่ของ LGBTQ เอเชียก็ยังมีความแตกต่างหลากหลายมากมาย ก็ไม่อยากให้โลกตะวันตกยึดติดอยู่กับวาทกรรมและภาพจำที่ค่อนข้างจำกัด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย