ในห้วงขณะที่ผมกำลังบรรจงพิมพ์บทความนี้ ผมถามตัวเองในใจเหมือนเช่นทุกครั้งว่า ‘ใครคือกลุ่มเป้าหมายที่ผมอยากจะให้อ่านบทสัมภาษณ์นี้มากที่สุด’
ถ้าคิดในแง่การทำงานในโลกออนไลน์ โอปอล์–ปาณิสรา อารยะสกุล เป็นบุคคลที่น่าจะเหมาะกับกลุ่มผู้อ่านที่มีความเป็นหญิง เพราะด้วยตัวตนความเป็นโอปอล์ที่อยู่ในวงการบันเทิงมานับสิบปี ไม่แปลกถ้าใครหลายคนจะชมชอบและติดตามเธอมาเป็นระยะเวลานาน หรือในฐานะแม่ของเด็กหญิงอลินและเด็กชายอลัน คนเป็นแม่หลายคนก็ติดตามและยึดเธอเป็นแบบอย่าง ดังนั้นผู้หญิงดูจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนที่สุดสำหรับผม
พอคิดได้ดังนี้ ก่อนจะจรดนิ้วไปบนคีย์บอร์ด อยู่ดีๆ ผมก็หยุดชะงักและนึกถึงสิ่งที่คุยกับโอปอล์เมื่อไม่กี่วันก่อน
จำเป็นจริงๆ เหรอที่จะต้องคิดถึงเรื่องเพศ ในเมื่อสิ่งที่เราคุยกันคือความหลากหลายที่ไม่จำกัดคนให้อยู่ในกรอบๆ เดียว
ในวันนั้นและในวาระของเดือนมิถุนายนที่เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ ผมสนทนากับโอปอล์ในฐานะของลูกสาวที่มีน้องชาย และในฐานะของแม่ที่มีเด็กหญิงและเด็กชาย เธอคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นเพศในตัวมนุษย์อย่างไร นั่นคือคำถามที่นำพาผมไปหาเธอ แต่พอหนึ่งชั่วโมงแห่งการสนทนาจบลง คำตอบของเรากลับไปไกลกว่านั้น
จากเรื่องเพศ เธอขยายประเด็นไปสู่ความเป็นแม่ ความหลากหลายของคน ความไม่สมบูรณ์แบบ การเคารพซึ่งกันและกัน และความเป็นปัจเจกของมนุษย์
ดังนั้นเมื่อลองไตร่ตรองและคิดดูดีๆ ถ้าคนมีความหลากหลายและเราไม่อาจจำกัดความใครได้ด้วยกรอบๆ เดียว
บทสัมภาษณ์ชิ้นที่ทุกคนกำลังอ่านนี้ ผมคงขออุทิศให้กับความหลากหลายเหล่านั้น
ความหลากหลายที่เหนืออื่นใดยังมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน
ความเป็นมนุษย์
การโตมาในบ้านที่มีทั้งลูกชายและลูกสาวทำให้คุณมีมุมมองต่อเรื่องเพศอย่างไร
การเลี้ยงดูของพ่อแม่ทำให้เรารู้สึกว่าอะไรหลายๆ อย่างไม่ต้องแบ่งแยกขนาดนั้นก็ได้นะ โลกโดนจำกัดว่าชาย-หญิงต้องเป็นแบบไหน ผู้หญิงต้องชอบสีชมพู ผู้ชายต้องชอบสีฟ้า แต่พ่อกับแม่เลี้ยงเราและน้องชายมาแบบเชื่อในกฎเกณฑ์น้อยมาก เราไม่เคยมีอะไรสีชมพูเพราะพ่อแม่เราไม่เคยใช้สีในการแยกเพศ เขาเลี้ยงเรามาแบบปัจเจก พ่อเราเป็นอาร์ตทิสต์ เขาจับเราเลื่อยไม้ งานอดิเรกของเราคือปั้นหม้อเซรามิก ดังนั้นโมเมนต์แบบผู้หญิงเลยไม่ค่อยมี จริงๆ เราเรียนโรงเรียนหญิงล้วนนะ แต่ตัวตนเราจนถึงตอนนี้ก็มาจากการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่นั่นแหละ
พอเข้าโรงเรียนหญิงล้วน คุณเห็นความต่างระหว่างตัวเองกับเด็กหญิงคนอื่นไหม
เราเจอความหลากหลายมากกว่า เราเห็นเพื่อนที่จะไม่กินนมช็อกโกแลต แต่จะกินแค่รสสตรอว์เบอร์รีเท่านั้น เพราะเขาถูกเลี้ยงดูมาแบบผู้หญิงมากๆ ซึ่งไม่มีถูก-ผิด อย่างเราโตมากับพี่แอฟ (ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ) พี่แอฟคือต้นแบบของการที่ตัวเองมีความสุขที่เป็นผู้หญิงมากๆ เราเคารพเขาทุกอย่าง แต่เรากับเขาก็ต่างกัน มันมีความหลากหลายอีกมากมายที่เราได้เห็น ที่สำคัญคือเราจะไม่ตัดสินคนที่ไม่เหมือนเรา
เมื่อโตขึ้น คุณชนกับกรอบที่สังคมมาตัดสินคุณไหมว่าผู้หญิงต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้
ไม่เคยเลย เพราะว่ากรอบของเราไม่ได้โดนวาดโดยคนอื่น และกรอบที่เราวางตัวเองไว้คือกาลเทศะเท่านั้น เราไม่ขบถโดยการไปงานศพแล้วใส่สีชมพู หรือไปงานแต่งงานแล้วใส่สีดำ เรามีกรอบที่เป็นการเคารพเพื่อนมนุษย์ซึ่งเราแฮปปี้กับมัน แต่นั่นไม่ใช่การชนกรอบ เราไม่แคร์เรื่องแรงเสียดทานอื่นใดนะ เช่น ตอนที่เราเข้าวงการแรกๆ สมัย 17-18 ปีที่แล้ว ค่านิยมสมัยนั้นคือคนในวงการต้องสวย เราไม่สวย เขาก็คิดว่าจะกรองเราอยู่ในมุมไหนดี ตลกเหรอ หรือคนที่มีความรู้ เขาพยายามจัดให้เราอยู่ในสักมุมหนึ่ง ระหว่างนั้นก็มีคนด่าเราเรื่อยๆ ว่า อีนี่ไม่สวย ดำ ซึ่งเรารู้สึกเฉยๆ เราดำและเราเคารพความดำของเรา ดังนั้นการด่าทำอะไรเราไม่ได้ แต่ถ้ามาบอกว่าเราพูดหรือทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม อันนี้จะพอทำอะไรเราได้บ้าง
นึกถึงที่ป๋อมแป๋มเคยพูดใน TEDxBangkok ว่าอย่ามาแปะป้ายกันเลยว่าเพศนั้นต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ นับถือเราในความเป็นมนุษย์ดีกว่า (ดูได้ที่นี่)
เราคุยกับเพื่อนบ่อยมากว่าเราคือมนุษย์ เพศก็คือมนุษย์ อย่างข่าวที่ประเทศอื่นมีการกดขี่หรือทำร้ายผู้หญิง เราก็มองว่ามันไม่ใช่เรื่องผู้หญิงหรือผู้ชายหรอก มันคือการกดขี่มนุษย์ด้วยกัน การทำร้ายกันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทั้งนั้น อีกอย่างที่เราไม่ชอบคือการที่คนชอบระบุว่าคนนั้นเป็นผู้หญิง ผู้ชาย รุกหรือรับ หรือการตราหน้าว่า LGBTQ ต้องตลกหรือสร้างสรรค์ เพราะเหนืออื่นใดคือเขาเป็นคน รสนิยมหรือความชอบอะไรก็ตามมันไม่ใช่เรื่องที่เราต้องไปยุ่ง
อะไรแบบนี้ทำให้คุณโกรธหรือไม่เข้าใจบ้างไหม
ความโกรธเกิดขึ้นได้ แต่เราจะคุยกับเพื่อนที่เจออะไรแบบนี้ว่าคุณต้องไม่รู้สึกสิ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เราคือมนุษย์ ในฐานะที่เรามีเพื่อน LGBTQ จำนวนมาก เราเคารพทุกคนในฐานะมนุษย์และไม่เคยล้อกันเรื่องนี้ เราแค่รู้สึกว่ายุคนี้ต้องก้าวผ่านเรื่องนี้ไปแล้วหรือเปล่านะ อย่างตัวเราเอง ถ้าลูกเดินมาบอกว่าเป็น LGBTQ เราก็โอเค เพราะเข้าใจว่าจุดที่ยากที่สุดคือการไปบอกกับพ่อแม่ บางบ้านบอกได้ บางบ้านต้องใช้เวลา บางบ้านบอกไม่ได้จริงๆ ทุกคนมีวิธีของตัวเองเพราะสิ่งที่ต้องแคร์คือครอบครัว แต่คนอื่นๆ โปรดอย่าไปสนใจ คนแถวบ้าน ในตลาด และโดยเฉพาะคนในเน็ต ได้โปรดอย่าไปสนใจเพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด
อย่างเราเอง ตั้งแต่เด็กเราก็ถูกเหยียดหยาม เราไม่สวยและไม่มีต้นทุนอะไร แต่เรากัดฟันฝ่าทุกคำดูถูกมาได้โดยไม่พูดอะไร ในใจเรามีแต่คำว่า ‘รอดูฉัน’ วันหนึ่งความสำเร็จจะบอกทุกคนเองว่าเราทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นชีวิตไม่ง่ายหรอก ไม่ใช่แค่ LGBTQ แต่ทุกๆ คนนั่นแหละ ไม่มีใครเพอร์เฟกต์สำหรับใครเลย แค่จะเอาดีให้ได้ในชีวิตก็ยากอยู่แล้ว ดังนั้นการเอาคำพูดคนอื่นมาแบกมันไม่ใช่เรื่อง ทำชีวิตตัวเองให้ดีและก้าวผ่านตรงนั้นมาให้ได้ดีกว่า
สนใจตรงที่บอกว่าถ้าวันหนึ่งลูกเป็น LGBTQ คุณก็โอเค ความคิดนี้เกิดขึ้นตอนไหน
เรากับพี่โอ๊ค (สมิทธิ์ อารยะสกุล–สามี) คุยกันถึงวิธีการเลี้ยงลูกตลอด แล้วการมีลูกของเราไม่ได้ราบรื่น ตอนแรกเราเหมือนพ่อแม่ทุกคนแหละ ที่อยากให้ลูกเป็นผู้หญิง-ผู้ชาย อยากให้หน้าตาน่ารัก อยากให้เป็นเด็กฉลาด แต่ตอนที่จะคลอดลูกเราผ่านภาวะเป็น-ตายมา เราหัวใจวายไปรอบหนึ่ง ถ้าหัวใจวายอีกรอบ ลูกและเราไปหมด ดังนั้นการที่เขาได้หายใจคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
เราคุยกับพี่โอ๊คว่าการที่เขายังอยู่กับเราคือกำไร ดังนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตเขามีความสุข เราจะให้เขาทำ ในฐานะพ่อแม่เราให้ชีวิตเขาถือกำเนิดมา แต่พอเขาเป็นตัวตนของเขาเอง เขาต้องมีสิทธิเลือก ทุกวันนี้เรากับพี่โอ๊คทำงานเพื่อเก็บไว้เลี้ยงดูตัวเองตอนแก่ ลูกจะได้ไม่ต้องมารับผิดชอบเรา เราสั่งสอนเขาแค่เรื่องผิดชอบชั่วดี สอนศีลและสติ ที่เหลือลูกจะชอบสีอะไร อยากเป็นอะไร นับถือศาสนาอะไร อยากใช้ชีวิตกับใคร เราจะไม่ยุ่ง จงใช้ชีวิตของเขาอย่างเต็มที่แล้วเราจะคอย appreciate ทุกๆ ตอน
แล้วตอนนี้ลูกเรียนรู้เรื่องความเป็น LGBTQ หรือยัง
เขาเรียนรู้เพราะเพื่อนที่เราพาเข้าบ้านมีความหลากหลายขั้นสุด แต่อย่างพี่ป๋อมแป๋ม (นิติ ชัยชิตาทร) หรือลูกกอล์ฟ (คณาธิป สุนทรรักษ์) เขาก็จะเรียกว่าลุงลูกกอล์ฟ ลุงป๋อมแป๋ม หรืออังเคิลซันนี่ อากันต์ น้าเต้ย คือเขาจะเรียกตรงๆ มันจะยากมากถ้าให้เรียกพี่ป๋อมแป๋มว่ายาย อ้าว แล้วยายมดแดงที่เป็นแม่ของเราล่ะ ดังนั้นเรารู้สึกว่าคำเรียกเป็นแค่คำที่อธิบายเฉยๆ
ตอนแรกเราถามพี่ป๋อมแป๋มด้วยนะว่าอยากให้หลานเรียกว่าอะไร พี่ป๋อมแป๋มบอกว่าฉันจะเป็นลุง ไม่อย่างนั้นต้องมานั่งอธิบายยาวในสิ่งที่เด็กยังไม่เข้าใจ และเดี๋ยวถึงวันหนึ่งถ้าเขาอยากจะเข้าใจ เราก็พร้อมจะอธิบาย ในอนาคตถ้าลูกสงสัยว่าทำไมลุงลูกกอล์ฟมีแฟนเป็นลุงพอล เราก็จะอธิบายกับเขาอย่างชัดเจน
เหมือนคุณได้รับแนวคิดการเลี้ยงดูลูกแบบเปิดกว้างมาจากพ่อแม่
ใช้คำว่าเราเรียนรู้จากการโตมากับพ่อแม่ที่ให้อิสระทางความคิดดีกว่า เขาตีกรอบเราไว้ด้วยความรัก ดังนั้นพอโตขึ้นมาเป็นแม่คน เราคุยกับพี่โอ๊คตั้งแต่แรกเลยว่าเราจะเลี้ยงลูกในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ แต่เอาจริงก็ยากนะ เราเข้าใจเพราะเวลาไปซื้อของ แผนกเด็กหญิงที่เราเข้าไปจะมีแต่ของผู้หญิงหมดเลย สีชมพูหมด แต่เราก็พยายามเลือกสีที่เป็นธรรมชาติ จนสุดท้ายเขาสองคนก็ใช้สีด้วยกันได้หมด เราต้องการจะบอกลูกว่าเขาจะชอบสีอะไรก็ได้ หรือสมมติเขาแย่งของเล่นกันเราก็จะไม่บอกว่านี่เป็นของเล่นของเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย แต่เราจะให้เขาผลัดกันเล่น เราเคารพในความเป็นปัจเจกของเขาและจะไม่บอกว่าผู้หญิงห้ามทำอย่างนั้น ผู้ชายห้ามทำอย่างนี้
ดังนั้นในความเห็นของคุณ การเลี้ยงดูลูกผู้หญิงและผู้ชายไปพร้อมกันก็คือการเลี้ยงเด็ก 2 คนไปพร้อมกัน ไม่ได้แบ่งแยกเป็นเพศขนาดนั้น
ใช่ๆ เลี้ยงเด็ก 2 คนที่คือเด็กหญิงอลินและเด็กชายอลัน เด็ก 2 คนนี้โตมาแบบพี่น้อง เวลาอยู่บ้านก็อยู่กันแบบพี่น้อง แต่เมื่อไม่นานนี้เขาเพิ่งไปโรงเรียน เขาถึงเพิ่งรู้ว่าเขาเป็นผู้หญิง เขาเป็นผู้ชาย มันก็อัตโนมัติเวลาเขาเห็นเพื่อน อลันก็ไปเล่นกับเด็กผู้ชาย เตะบอล เล่นเทควันโด ส่วนอลินก็ไปเรียนบัลเลต์ เขาก็ไปตามทาง แต่พอกลับมาบ้าน เขาก็ขี่คอวิ่งเล่นกันเหมือนเดิม
รู้สึกอย่างไรเวลามีคนมาบอกว่าคุณเป็นไอดอลของความเป็นแม่
(นิ่งคิด) เราว่าไอดอลไม่ใช่คำที่บวกสักเท่าไหร่ เพราะการที่เรามองว่าใครเป็นไอดอล เวลาเขาผิดนิดเดียวจะกลายเป็นผิดเยอะมาก เราเป็นมนุษย์ปกตินี่แหละ ไม่ต้องมองเราเป็นไอดอลหรอก เราเป็นปุถุชนมากๆ ยิ่งพอเราได้เป็นแม่ เรายิ่งเข้าใจว่าพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ เราต้องเรียนรู้หน้าที่นี้ไปพร้อมกับลูกเรา เชื่อไหม เราไม่อ่านหนังสือเลี้ยงลูกเลยนะ เราฟังแต่ไม่ค่อยเชื่อทฤษฎีใครๆ เพราะเราเห็นจริงๆ ว่าลูกเรา โตมาในท้องเรา กินเหมือนกันทุกมื้อ อยู่กับเราตลอดเวลา ได้อะไรก็เหมือนกัน แต่อลินอลันนิสัยไม่เหมือนกันเลย มันทำให้เรารู้ว่าอย่าหวังว่าสังคมนี้จะมีคนที่เหมือนกัน ดังนั้นเราฟังเสียงลูกเราดีกว่า มันจะบอกเองว่าลูกเราเป็นอย่างไรและคัดกรองได้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะกับลูกเรา
ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ
แน่นอน เราเป็นมนุษย์ปกติ ลองผิดลองถูกในทุกๆ วัน
แต่ทุกคนก็อยากเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบหรือเปล่า
เราว่าคนเป็นแม่จะรู้เลยว่าความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง แม่ทุกคนอยากทำหน้าที่ให้ดีที่สุด แต่คำว่าดีที่สุดไม่ใช่สมบูรณ์แบบ การเป็นแม่คือการที่ต้องรับผิดชอบสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่วันหนึ่งเขาจะเติบโตมาเป็นคน ไม่มีทางที่ลูกเราจะประเสริฐเลิศล้ำ ลูกเรามีถูก-ผิดเช่นเดียวกับแม่ของเขา ดังนั้นเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดก็พอ แต่สิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญมากๆ คือการเคารพตัวเอง
เรากับพี่โอ๊คคุยกันเสมอว่าต้องสอนลูกให้เคารพตัวเอง เพราะพอเป็นพ่อเป็นแม่ สิ่งที่เสียใจที่สุดในอนาคตคือการที่ลูกเสียใจ พ่อแม่แตกสลาย ดังนั้นเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดขึ้น เราคุมลูกหรือสกรีนคนในชีวิตลูกไปตลอดไม่ได้ สิ่งที่เราต้องทำคือทำให้เขารู้ว่าพ่อแม่รักเขา เขามีคุณค่า ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในกรอบที่เข้าใจกัน ลูกต้องไม่ใช่เทวดา แค่ทำให้เขารู้ว่าทุกชีวิตมีความต่าง เขาต้องอยู่ให้ได้ในความต่างใดๆ และรักตัวเองมากๆ เพราะพ่อแม่รักเขามากๆ สิ่งเหล่านี้แหละเป็นเหตุผลที่ช่วงแรกในชีวิตลูก เราไม่ทำงานเลย เราอยากสร้างภูมิตรงนี้ให้เขา
หลายคนเคยบอกไว้ว่า ‘จะเข้าใจพ่อแม่ได้ดีที่สุด ในวันที่เราเป็นพ่อแม่เสียเอง’ คุณเป็นแบบนั้นไหม
แน่นอน ตอนแรกเรารับรู้นะว่าความเป็นแม่น่ะยิ่งใหญ่มาก แม่รักเรามาก แต่พอเป็นแม่จริงๆ โห เราไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ลูกคือทุกอย่างไปเลย ก่อนมีลูกเรามีความสุขกับอื่นๆ ใดๆ แต่พอมีลูกแล้วอื่นใดไม่มีมีความหมาย ต่อให้ไปเที่ยวกับเพื่อน สิ่งที่อยู่ในใจคือลูกอยู่ไหน นอนหรือยัง ความทรมานที่สุดในจักรวาลคือการไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศโดยไม่มีลูก มันไม่ใช่การคิดถึงแบบโหยหาแต่มันห่วงไปหมด เราคิดว่าความห่วงนี้จะยิ่งทวีคูณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนอยู่ในท้อง เขาอยู่กับเรา ตอนที่เดินไม่ได้ เราเห็นเขาในสายตา แต่ตอนนี้ลูกเราเริ่มไปโรงเรียนแล้ว เริ่มมีสังคมแล้วเดี๋ยว 17-18 จะเป็นอย่างไร ตอนนั้นคงมากยิ่งกว่านี้
คุณได้เรียนรู้อะไรมากที่สุดกับเรื่องนี้
เราต้องรับให้ได้เพราะอย่างไรก็ต้องเกิด
ในช่วงแรกที่เขาเกิดมาทำให้เราเรียนรู้ว่ามนุษย์ตอนที่เป็นทารก เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จริงๆ หาอะไรกินเองก็ไม่ได้ เขาต้องพึ่งพาเราในช่วงต้นของชีวิต แต่เมื่อวันหนึ่งที่เขาโตขึ้น เราก็ควรมีความสุขกับทุกสเต็ปในชีวิตของเขา จำได้ว่าตอนลูกเริ่มยิ้มให้เราครั้งแรก เราจะเป็นลมเลยนะด้วยความดีใจ แต่ต่อมาเขาก็เริ่มเรียกชื่อตัวเองได้ เรียกชื่อแม่ได้ ตอนนี้เขาโตพอที่จะเริ่มเข้าใจทุกอย่าง รู้แล้วว่าตัวเองต้องการอะไรและร้องขอ เราก็จะ appreciate กับทุกช่วงเวลาเหล่านั้น หรือต่อให้เขาโตกว่านี้และออกจากบ้านไป เราก็จะ appreciate
แต่ละคนเป็นมนุษย์น่ะ และเราเชื่อในความเป็นมนุษย์ เราจะไม่ใช้ความเป็นแม่บอกลูกว่าอย่าทำ อย่าไป เราเคารพเขา และเราก็เคารพเขาแบบนี้ตั้งแต่เขาเริ่มพูดว่าต้องการอะไร ดังนั้นในอนาคตถ้าเขาจะอยากเป็นอะไร เราจะไม่ห้าม ชีวิตคนเราไม่สำเร็จรูป เราไม่เอาตัวเองใส่ลูกแน่ๆ ในฐานะแม่เราทำได้แค่แนะนำ แต่ในฐานะมนุษย์เราให้เขาใช้ชีวิตได้เต็มที่เลยถ้าไม่รบกวนคนอื่น
ดังนั้นแล้วคุณคาดหวังอะไรจากลูกบ้าง
ความคาดหวังของเรากับพี่โอ๊คคือเขา 2 คนเป็นคนดี แค่นั้นเอง สิ่งที่เราทำได้คือพาเข้าโรงเรียนที่ดีและหวังว่าเขาจะมีความสุข ระหว่างการใช้ชีวิต เราจะคอยดูว่าเขาเหมาะกับอะไร เขาอยากได้อะไร เราจะผลักดันไปตามที่เขาต้องการ อย่างทุกวันนี้อลันมีจิตวิญญาณความเป็นไทยมาก ชอบรามเกียรติ์ จำชื่อยักษ์ได้ทุกตัว ส่วนอลินก็โคตรเหมือนเราเลย ดังนั้นก็ต้องรอดูกันว่าจะอะไรยังไง แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกันกับพี่โอ๊คคือ เราอยากให้เขาใช้ชีวิตและสนุกไปกับมันเพื่อเจอว่าตัวเองชอบอะไร
สุดท้ายถ้ามีใครสักคนมาขอคำแนะนำจากคุณว่าอยากเลี้ยงลูกแบบคุณ คุณจะแนะนำเขาว่าอย่างไร
ด้วยความสัตย์จริงนะ ตั้งแต่มีลูกมาจนถึงตอนนี้ สิ่งที่เราตั้งใจไว้เลยคือเราจะไม่แนะนำการเลี้ยงลูกกับใครถ้าเขาไม่ถามจริงๆ เพราะสิ่งที่เราเจอมาตลอดคือคนที่มาคอมเมนต์ว่าทำไมทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำอย่างนี้มันผิดนะคุณแม่ เราจะคิดเสมอเลยว่าคุณเป็นใคร รู้ไหมว่าฉันผ่านอะไรมาบ้าง ดังนั้นถ้าสมมติต้องให้แนะนำจริงๆ เราคงกลับไปเรื่องเดิมคือเราเลี้ยงลูกคนอื่นไม่เป็น เราเลี้ยงได้แค่ลูกเรา และการเลี้ยงของเราคืออยู่กับพวกเขาตลอดเวลาจนเข้าใจว่าลูกเราเป็นอย่างไร ไม่มีใครมาเลี้ยงอลินอลันได้ เช่นเดียวกันเราก็ไปเลี้ยงลูกคนอื่นไม่ได้ ดังนั้นถ้าเป็นคำแนะนำในฐานะพ่อแม่ที่พอให้ได้จริงๆ คือฟังลูกตัวเองเยอะๆ
เราฟังเขาตั้งแต่พูดไม่ได้ ตอนคลอดมาลูกเราต้องอยู่ห้องไอซียูเด็ก 2 เดือน เราไม่ทำอะไรเลยนอกจากมาเฝ้าข้างตู้ เรามองจ้องเข้าไปในตาเขาตลอดให้เขารู้ว่าแม่ฟัง พอโตขึ้นมาแล้วเริ่มอิ๊อ๊ะได้ เรามองตลอด ไม่เข้าใจอย่างไรเราก็ไม่เคยหัวเราะ ถามกลับว่าอะไรนะลูก ถามจนกว่าเขาจะอธิบาย ตอนนี้ลูกเราเริ่มพูดได้ อาจไม่ได้ชัดมาก แต่เขาเล่าให้เราฟังหมดเลย และเราตั้งใจฟังมากเลย ไม่มีสักครั้งที่เราจะบอกลูกว่าบ้าเหรอหรือหัวเราะการพูดไม่ชัดของเขา เพราะเรารู้สึกว่า 3 ขวบแม่ฟัง 13 แม่ก็ฟัง พอลูก 23 แม่ก็ฟังและไม่ตัดสิน มันทำให้เขากล้าที่จะเล่า เราไม่เคยขำหรือซ้ำเติมเวลาเขาพลาด ดังนั้นถ้าพ่อแม่รู้สึกไม่ได้ดั่งใจกับลูก นั่นแสดงว่าคุณคิดไว้น่ะสิว่าลูกต้องเป็นอย่างไร เราไม่คิดเลย ลูกพูดอะไรเราฟัง อลินอลันเลยกล้าวิ่ง ไม่กลัวอะไร เพราะเขารู้ว่ามีคนอยู่ข้างหลัง
ดังนั้นเคารพลูกบ้าง อย่าไปฟังคนอื่นมาก คนอื่นเขาไม่ได้อยู่กับเรา ลูกต่างหากที่อยู่กับเรา