น้อยนิด มหาศาล

22:30 น. งาน GYPSY BANGKOK

คืนนี้คือครั้งที่สองที่ผมได้พบกับ น้อย–กฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือ น้อย วง PRU

ครั้งนี้ผมไม่ได้ไปหาในฐานะนักสัมภาษณ์เหมือนครั้งแรกที่เจอกันเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แต่มาหาเขาในฐานะคนดูคนหนึ่ง น้อยมีคิวขึ้นแสดงในฐานะศิลปินเดี่ยวในช่วงดึกคืนนี้

เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า น้อยเพิ่งแจ้งข่าวน่าเป็นห่วงในเพจ NOi Pru ว่าเขาประสบอุบัติเหตุกระดูกเท้าแตกระหว่างเล่นคอนเสิร์ตที่จังหวัดเชียงใหม่ ในโพสต์นั้นมีภาพน้อยที่กำลังเดินโดยใช้ไม้ค้ำช่วย แม้จะดูน่าเป็นห่วงขนาดไหน แต่เขายังทิ้งท้ายโพสต์ว่าจะมาเล่นที่งานวันนี้ตามแผนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

แม้อาการที่ขาจะทำให้หลายคนรวมถึงตัวผมกังวลว่าบนเวทีในวันนี้น้อยจะกระโดดโลดเต้นได้เท่าเดิมหรือเปล่า

นาฬิกาบอกเวลาสี่ทุ่มครึ่ง ทันทีที่น้อยก้าวขาขึ้นมาบนเวที ความสงสัยทั้งหมดพลันหาย

ทรงพลัง ไร้ขอบเขต พลุ่งพล่าน หวือหวา จัดจ้าน แต่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์น่าค้นหา

น้อย วงพรู

 

 


น้อย วงพรู

13:30 น. บ้านสุโกศล

บ่ายวันนั้นคือครั้งแรกที่ผมได้พบกับน้อย

เราพบกันที่บ้านของเขาย่านพระนคร เมื่อไปถึง น้อยออกมาเปิดประตูต้อนรับด้วยตัวเอง แทบทุกส่วนของบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยของเก่าแบบที่เขาชอบ มุมหนึ่งของบ้านถูกออกแบบให้เป็นที่เก็บชิ้นส่วนความทรงจำตลอดเกือบ 20 ปีในการทำงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารที่เขาเคยลง ภาพในงานคอนเสิร์ต หรือเทปคาสเซตต์ของพรูทั้ง 2 อัลบั้มเมื่อครั้งอดีต

องค์ประกอบเหล่านี้เป็นแกนหลักที่ผมอยากพูดคุยกับน้อยในวันนี้ ด้วยวัย 48 ปีและบทบาทใหม่ในการเป็นศิลปินเดี่ยวในนาม NOi PRU ความรู้สึกนึกคิดของเขายังเป็นคนเดิมแบบที่เราเคยรู้จักอยู่หรือเปล่า

ท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ และเวลาที่ล่วงเลยไปเป็นหลักชั่วโมง สารภาพตามตรงว่าการสนทนาระหว่างผมกับน้อยไม่ใช่การพูดคุยที่อัดแน่นไปด้วยคำพูดสักเท่าไหร่ การถาม-ตอบของเราดำเนินไปด้วยจังหวะแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ถ้าจะให้นิยาม ผมคงจะบอกว่านี่คือจังหวะแบบ ‘น้อยๆ’

สบายๆ ช้าๆ ไม่หวือหวา ไม่จัดจ้าน ค่อยเป็นค่อยไป แต่เปี่ยมไปด้วยความหมาย


น้อย วงพรู

“วันนี้น้อยอาจจะเต้นไม่ได้ แต่หวังว่าทุกคนจะสนุกไปกับเพลงของน้อย”

“เพลงต่อไปเป็นเพลงใหม่ของน้อย ชื่อเพลง แด่ศาลที่เคารพ ใครร้องได้ ช่วยกันร้องนะ”


น้อย วงพรู

พูดให้น้อย ทำให้มาก

“จริงๆ แล้วน้อยเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองเลยนะฮะ กดดันเหมือนกัน”

น้อยกระซิบบอกผมเช่นนั้นตั้งแต่เริ่มการสนทนา

คำว่าไม่มั่นใจในตัวเอง ดูจะไม่เข้ากับน้อยเอาเสียเลย การเป็นนักร้องนำวงพรู นักแสดงภาพยนตร์ นักธุรกิจที่สร้างโรงแรมเดอะสยาม และการเป็นศิลปินเดี่ยวในปัจจุบัน ทั้งหมดนี้น่าจะส่งเสริมให้น้อยเป็นคนที่จัดการกับเรื่องนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น

“แต่ก่อนเวลาไปออกรายการทีวีหรือให้สัมภาษณ์ สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์ – พี่ชายของน้อยและมือกีตาร์ของวงพรู) จะเป็นคนพูด เขาพูดเก่งฮะ น้อยจะแค่เสริม แต่ตอนนี้พอเป็นศิลปินเดี่ยวแล้ว มีเราคนเดียว มันก็ (นิ่งคิด) ตื่นเต้นนะฮะ มันมีหลายเรื่องเลยที่เราต้องลุยคนเดียว ตั้งแต่งานไปจนถึงการออกสื่อ น้อยปรับตัวเยอะเหมือนกัน เหนื่อยแต่ก็พยายามอยู่ครับ”

ความพยายามสังเกตได้อย่างไม่ยากเย็น

น้อย วงพรู

เมื่อเริ่มคุยกัน น้อยไม่ใช่คนที่สนทนาด้วยแล้วจะเต็มไปด้วยคำคมสวยหรู หลายครั้งมักจะเป็นคำง่ายๆ แต่สัมผัสได้ว่าผ่านกระบวนการคิดมาแล้วทั้งนั้น บางครั้งเขาสะดุด บางครั้งเขาขอเวลานิ่งคิดก่อนตอบ ทั้งหมดนี้มาจากความตั้งใจและความพยายามให้ทุกอย่างออกมาจริงที่สุดและดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์หรือการทำเพลงในอัลบั้มใหม่

“น้อยยอมรับว่าเป็น perfectionist ดังนั้นทุกอย่างที่ออกมาจากน้อยมันใช้เวลามาก พรูอัลบั้มที่ 2 ก็ห่างจากอัลบั้มแรกถึง 4 ปี อัลบั้มของน้อยที่กำลังจะออกใช้เวลาทำตั้ง 8 ปี ส่วนหนึ่งเพราะน้อยรู้สึกว่ามันไม่สมบูรณ์สักที น้อยขอโหน่ง Photo Sticker Machine (วิชญ วัฒนศัพท์) ที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่เยอะมาก บางเพลงมิกซ์และมาสเตอร์เสร็จแล้ว แต่พอน้อยมาฟังอีกรอบแล้วมันขาดเสียงไปเสียงหนึ่ง น้อยต้องโทรหาโหน่งแล้วบอกว่าโหน่ง อย่าโมโหน้อยนะ แต่น้อยขอเพิ่มเสียงหนึ่งได้ไหม โหน่งก็ยอมทำให้นะฮะ เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญคือน้อยต้องรู้สึกว่าเพลงเรามันเพราะ”

น้อย วงพรู

แด่ศาลที่เคารพ คือเพลงแรกจาก 12 เพลงในอัลบั้มใหม่ที่น้อยปล่อยออกมาให้คนฟังเมื่อไม่นานนี้ หลายเสียงชื่นชมงาน หลายเสียงบอกว่าคิดถึงเขา ถือเป็นก้าวแรกที่ดีทีเดียวในฐานะศิลปินเดี่ยว

“กดดันเหมือนกันนะ” เขาพูดแบบนี้สองครั้งแล้ว

“จริงๆ ตอนนี้ 12 เพลงเสร็จหมดแล้ว บางทีน้อยก็อยากปล่อยออกไปทั้งอัลบั้มให้มันจบไป แต่ส่วนหนึ่งก็กลัว ทำมาตั้ง 8 ปี ถ้าปล่อยไปแล้วดับน้อยคงเศร้า ดังนั้นการลุ้นแบบที่ปล่อยออกมาทุก 2 เดือนก็สนุกดี เพลงนี้จะเชื่อมกับคนฟังไหม มันทำให้เราลุ้น โอเค สุดท้ายถ้ามันไม่ไปในทิศทางที่เราอยากให้เป็นมันก็ไม่สนุก น้อยก็จะดาวน์ เหมือนกับพรูอัลบั้มที่ 2 ที่ไม่เวิร์ก ดังนั้นน้อยรู้ดีว่าถ้ามันไม่เวิร์กมันจะรู้สึกยังไง”

เขาหยุดคิดอีกครั้ง และแววตาของเขาดูเศร้า


น้อย วงพรู

“เชื่อน้อยนะ น้อยอยากให้ทุกคนนั่งลง เราจะมาร้องเพลงนี้ด้วยกัน”

ทุกสิ่ง… ที่ใจฉันเคยใฝ่หา


น้อย วงพรู

เห็นแก่ตัวให้น้อย ทำให้มาก

ในอดีต ครึ่งหนึ่งของการแสดงสดของวงพรูจะจบลงด้วยน้ำตาของน้อย

ท่ามกลางการกระโดดโลดเต้นรอบเวทีหรือแหกปากร้องตะโกนปลดปล่อยพลัง เมื่อลงจากเวที ภาพที่สมาชิกวงพรูมักเห็นจนชินตาคือน้อยที่มีอาการดาวน์และเสียใจจากความผิดหวัง

“สุกี้เคยบอกน้อยนะ ว่ายูไม่น่ามาเป็นนักร้องเลยว่ะ” น้อยย้อนคำพูดของพี่ชายตัวเอง

“ผิดหวังจากอะไร” ผมถาม

“(นิ่งคิดไปนานมาก) บางทีน้อยก็รู้สึกไม่สนุก พูดไปอย่างนี้คนดูอย่าโกรธน้อยนะ คือเวลาน้อยต้องเอนเตอร์เทนคน บางทีน้อยก็รู้สึกกับมันจริงๆ แต่บางทีน้อยก็รู้สึกเฟค นี่ไม่ใช่เราแล้วว่ะ This is not me anymore. แต่ในเวลาเดียวกันเราก็รู้ว่ามันเป็นความรับผิดชอบ เขาจ้างเรามาเล่น คนดูยอมเสียเงินมาดูเรา เฮ้ย อะไรของเราวะ เราต้องสนุกสิ มันเกิดเป็น conflict กับตัวเอง ตอนนั้นเราจะเริ่มดาวน์”

น้อย วงพรู

อย่างที่เราเข้าใจ ยามที่ศิลปินอยู่บนเวที สิ่งที่คนดูคาดหวังจากพวกเขาคือการเอนเตอร์เทน ดังนั้นด้วยหน้าที่ ศิลปินแต่ละคนจะมีวิธีจัดการตัวเองต่างกัน และสำหรับน้อย เขาเลือกระบายมันออกมาผ่านร่างกาย

มันคือการสู้กับตัวเอง น้อยว่าอย่างนั้น

“พอเป็นแบบนี้ เราจะเริ่มรู้สึกว่าเราเห็นแก่ตัว น้อยว่าศิลปินต้องระวังสิ่งนี้นะ อย่าไปคิดว่าทุกอย่างจะต้องยึดติดกับตัวเรา หลายคนพลาดตรงนี้ It’s not about you. It’s about them. คนดูเขาอยากมาดูเรา ดังนั้น don’t be selfish”

“เคยย้อนกลับไปคิดไหมว่ามันมีที่มาจากอะไร” ผมถามย้ำ

“ความ perfectionist สร้างแรงกดดันให้เรามากเกินไป น้อยคิดเสมอว่าเวลาร้องเพลง ต้องรู้สึกกับเพลงที่ร้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในความเป็นจริงมันมีอะไรมากกว่านั้น น้อยเป็นคนที่คิดอะไรในแง่ลบบ่อย อย่างเวลาเล่นโชว์แล้วมีใครเดินออก น้อยจะเริ่มเสียเซลฟ์ ทั้งๆ ที่เขาอาจจะออกไปเข้าห้องน้ำก็ได้ สุกี้ยังเคยบอกเลยว่ายูต้อง concentrate ไปที่คนที่สนุกกับยูสิ จะไปสนใจคนที่เดินออกแค่ 5-6 คนทำไม คือน้อยคิดกับตัวเองมากไปหน่อย แต่มันก็ทำให้เราเป็นเรา เราเล่นแบบสุดๆ แรงๆ เพื่อที่จะสู้กับมัน and it’s not a bad thing.”

เขาหยุดคิดอีกครั้ง แต่คราวนี้เขายิ้ม


น้อย วงพรู

“ทุกคนสุดยอดมาก”

“เต้นขาเดียวก็ได้วะ”


น้อย วงพรู

เศร้าให้น้อย ทำให้มาก

“Sadness is very powerful.” ประโยคนี้ดูสมเหตุสมผลขึ้นทันตาเมื่อออกมาจากปากของน้อย

“น้อยชอบความเศร้า เหมือนเวลาดูหนังเศร้า มันจะอยู่กับเราได้นาน มันมีพลังของมัน น้อยเองสนุกกับการร้องเพลงร้าวๆ มากกว่าเพลงยิ้มๆ It’s too happy for me.”

ในอัลบั้มใหม่ของน้อย เขาเล่าให้ผมฟังว่าเนื้อในใจความหลักของทั้ง 12 เพลงจะสื่อถึงคำว่า redemption น้อยอธิบายว่าข้อดีของการเป็นศิลปินเดี่ยวคือการที่เขาสามารถควบคุมงานตัวเองได้เต็มที่ เขาจึงอยากสร้างอัลบั้มนี้ให้เหมือนการหลุดพ้น ราวกับให้ทุกบทเพลงประกอบเป็นคนหนึ่งคนที่อยากจะลุกขึ้นมาจากอะไรแย่ๆ ที่เคยเจอ

เหมือนกับตัวเขาเอง

น้อย วงพรู

“สุดท้ายน้อยว่าอะไรแบบนี้มันสนุกนะ ถ้าน้อยแฮปปี้ทุกโชว์มันก็คงไม่มีอะไรใหม่อีกแล้ว มัน predictable แต่เราเป็นศิลปินเพราะอยากเจอกับอะไรที่มัน unpredictable เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบนนั้น นั่นคือความสนุก

“น้อยยินดีที่จะยอมเสี่ยง ถึงบางโชว์ไม่เวิร์กแล้วเราจะดาวน์ แต่ถ้าวันไหนโชว์มันเพอร์เฟกต์ ความรู้สึกมันสุดยอดจริงๆ มัน high หรือที่ฝรั่งเขาบอกว่า It’s better than sex. เวลาเราได้ connect กับคนดูแล้วเพลงมันพาไปเหมือนเราบินได้จริงๆ ความรู้สึกนั้นมันคุ้มค่ากับการที่เราจะยอมเสี่ยงเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น”

ปัจจุบันอาการเศร้าหลังจบโชว์ของน้อยลดลงแล้ว ถ้าสัก 10 โชว์ในปัจจุบันจะมีแค่ประมาณ 1-2 โชว์เท่านั้นที่เขาจะดาวน์

น้อย วงพรู

“อาจฟังดู cliche แต่น้อยคิดว่าสุดท้ายเราก็ต้องเข้าใจการ enjoy journey มากกว่า destination เราพยายามโฟกัสที่ความสนุก เราได้กลับมาเดินสาย มาเล่นตามผับ ตอนนี้อาจจะไม่เหมือนแต่ก่อน ทุกคนรู้จักน้อยแล้ว ไม่เหมือนตอนแรกที่คนอาจจะคิดว่าไอ้นี่ทำอะไร เขาอาจจะไม่เข้าใจว่าการแสดงเหล่านั้นเป็นของจริงหรือเปล่า แต่ตอนนี้ทุกคนเข้าใจแล้ว ดังนั้นมันเลยโอเคขึ้นและสร้างความกดดันให้เราอยากพิสูจน์ตัวเองมากขึ้น

“น้อยคิดว่าศิลปินทุกคนอยากได้รับการยอมรับอยู่แล้ว สำหรับสิ่งที่น้อยเป็น สุดท้ายถ้าจะมีคนที่ชอบหรือไม่ชอบ น้อยโอเคนะ เพราะศิลปะมันเป็นเรื่องแล้วแต่บุคคล แต่สิ่งเดียวที่น้อยรู้สึกว่าไม่ว่าคนที่ชอบหรือไม่ชอบเราก็ตาม One thing that you can’t say that I didn’t try. ตรงนี้น้อยชัดเจนมาก ไม่ว่าจะเป็นยังไง น้อยจะพยายาม”

ยูเหมาะจะเป็นนักร้องว่ะ ผมนึกเถียงสุกี้ขึ้นมาในใจ


น้อย วงพรู

“อึดอัดฉิบหายเลยนะขาเป็นแบบนี้ ดังนั้นตอนนี้คงเหมาะกับเพลงสุดท้ายที่สุดแล้วครับ”

“เพลงนี้มีชื่อว่า Live & Learn”


น้อย วงพรู

หวังให้น้อย ทำให้มาก

เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว a day เคยสนทนากับน้อยในฉบับที่ 19

ครั้งนั้นมีคำถามที่ว่าอีก 10 ปี น้อยเห็นตัวเองทำอะไรอยู่ น้อยตอบว่าเขาอยากจะมีร้านขายของเก่า และถ้าสังขารยังไหว เขายังอยากอยู่บนเวทีที่เขารักต่อไป

เมื่อมองดูปัจจุบันที่เวลาล่วงเลยผ่านมามากกว่า 10 ปี น้อยทำได้ใกล้เคียงกับที่เคยบอกไว้มาก เปลี่ยนเพียงแค่จากร้านขายของเก่ากลายเป็นบ้านหลังนี้ และเขายังคงเป็นศิลปินที่ได้โชว์บนเวทีแถมกำลังมีอัลบั้มใหม่อีกต่างหาก  

ดูเหมือนเขาจะทำสำเร็จกับเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ แต่เขาเห็นตัวเองในอดีตและอนาคตอีก 10 ปีเป็นอย่างไร ผมสงสัย

“น้อยคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องจังหวะเวลา ปัญหาของน้อยคือในแต่ละอย่างน้อยใช้เวลามากไป กลับไปมองก็เสียดายเวลานะครับ น้อยเริ่มทำเพลงกับพรูก็อายุ 30 แล้ว ปลายปีนี้น้อยก็จะ 48 แต่ก็ยังเสือกมาร้องเพลงอีก ดังนั้นน้อยเสียเวลาไปเยอะฮะ อย่างในส่วนของภาพยนตร์ น้อยว่าจังหวะเวลาของน้อยมันจบแล้ว ในเมืองไทยเขาคงไม่อยากเห็นพระเอกอายุเกือบ 50 หรอก

น้อย วงพรู

“แต่กับงานเพลง น้อยว่าเพลงมันเป็นเรื่องของความรู้สึก ถ้าคุณมีเอกลักษณ์จริง เพลงดีจริง มันก็ไปได้เรื่อยๆ ตอนนี้น้อยเหนื่อยง่ายขึ้น ยอมรับนะ แต่น้อยยังมีเพลงในหัวที่เรารู้สึกว่าดี ดังนั้นถ้าเป็นไปได้น้อยคงปล่อยอีกอัลบั้มหนึ่ง แต่หลังจากนั้นน้อยว่าน้อยตันแล้ว อย่างที่บอกว่าทุกอย่างมันเกี่ยวกับช่วงเวลา การทำเพลงก็เหมือนกัน ดังนั้นในอีก 10 ปีข้างหน้าเหรอ ถ้ายังไหว อาจจะเห็นน้อยยังเต้นบัลเลต์อยู่บนเวทีก็ได้ (นิ่งคิด) แต่ตอนนั้นน้อยก็จะ 58 แล้วนะ ทุกวันนี้เพื่อนน้อยยังแซวอยู่เลยว่า What are you doing, you’re gonna be fifty soon but you still move your butt on stage, it’s stupid, man.”

“แล้วคุณตอบเพื่อนไปว่ายังไง” ผมถาม

“น้อยตอบกลับไปว่า ไอ้เหี้ย” เสียงหัวเราะครืนใหญ่ตามมา เป็นเหมือนตัวปิดบทสนทนาระหว่างเรา

น้อย วงพรู

ก่อนจากกัน ผมบอกกับน้อยว่าอีกไม่กี่อาทิตย์ผมคงมาพบเขาอีก แต่เป็นในฐานะคนดู น้อยยิ้มตอบและยังไม่วายบอกกับผมว่าอย่าคาดหวังมากเพราะเขากดดัน ผมอวยพรเขาในสิ่งที่ผมคิด อย่างน้อยถ้าเขาตั้งใจจะโลดแล่นบนเวทีต่อไป ผมก็อยากให้เขามีร่างกายที่ยังไหว ไม่เจ็บ ไม่หักไปเสียก่อน และยังคงปลดปล่อยพลังงานให้พวกเราได้ชมไปอีกนานๆ

“หวังว่าจะเป็นอย่างนั้นนะ (หัวเราะ) แล้วพบกันนะครับ” น้อยยิ้มขอบคุณและบอกลา

ต้องเป็นแบบนั้นแน่ๆ ผมนึกในใจ เพราะตราบใดที่น้อยยังไหว

ผมเชื่อว่าเขาจะทำออกมาอย่างเต็มที่ที่สุด


น้อย วงพรู

อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิด สติ เราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่ สิ่งที่ฝัน

และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด