Night at the Museum: ย้อนเวลาสู่บางกอกยุค 60s ที่มาของวัฒนธรรมลูกครึ่งไทย–อเมริกัน

Highlights

  • งาน Night at the Museum ที่มิวเซียมสยาม คืองานที่เปิดให้คนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ยาวๆ ถึง 4 ทุ่ม โดยในปีนี้ พวกเขาจัดอีเวนต์ควบคู่กันในธีม Night Club ที่จะพาทุกคนขึ้นไทม์แมชชีนย้อนเวลาสู่บางกอกยุค 60s
  • ในยุค 60s สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งสงบ เหลือไว้เพียงทหารอเมริกันที่มาตั้งฐานทัพในไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสานวัฒนธรรมลูกครึ่งไทย–อเมริกัน และทำให้เกิดมรดกตกทอดมายังยุคนี้มากมาย เช่น เมนูต้มยำกุ้ง ข้าวผัดอเมริกัน หรือวัฒนธรรมการดูหนัง
  • นอกจากที่มิวเซียมสยาม งาน Night at the Museum ยังจัดขึ้นที่อีก 8 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ โดยแต่ละที่มีธีมและกิจกรรมแตกต่างกัน แต่รับรองว่าสนุกทุกที่แน่นอน

เตรียมชุดโก้เก๋​ ทำผมตีโป่ง และวอร์มขาสองข้างให้พร้อม เพราะสุดสัปดาห์นี้บางกอกยุค 60s กำลังจะกลับมา

ทันทีที่เห็นว่ามิวเซียมสยามกำลังจะจัดงาน Night at the Museum ครั้งที่ 8 ในวันที่ 14-16 ธันวาคมนี้ เราก็แอบกรี๊ดดังๆในใจ เพราะนอกจากที่นี่จะเปิดให้เข้าไปดูนิทรรศการ ‘ถอดรหัสไทย’ ได้ยาวๆ ถึงสี่ทุ่มแล้ว ที่สนามหญ้าด้านหลัง พวกเขายังจัดอีเวนต์เลิศสะแมนแตนในธีม Night Club ที่เหมือนพาเราขึ้นไทม์แมชชีนสู่กรุงเทพฯ ยุค 60s ไม่มีผิด

ว่าแต่ยุค 60s มีอะไร ทำไมถึงต้องย้อนเวลาไปทำความรู้จักกันนะ

“ปกติมิวเซียมสยามจะจัดงาน Night at the Museum ทุกปี เพราะส่วนใหญ่ตอนกลางวันวันธรรมดาจะมีแต่เด็กนักเรียนที่มาดูนิทรรศการ แต่คนทำงานกลับไม่มีโอกาส เราเลยมองว่าช่วงเดือนธันวาคม อากาศกำลังดี เราลองทำแบบฝรั่งไหม คือเปิดพิพิธภัณฑ์ตอนกลางคืนแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อให้คนได้มาเที่ยว” ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม ของมิวเซียมสยาม ใจดีเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของงาน

“เราอยากให้คนที่มางานได้อะไรมากกว่าการดูนิทรรศการ พอปีนี้เป็นปีที่ครบรอบความสัมพันธ์ไทย-อเมริกา 200 ปี หรือ 185 ปี แล้วแต่ใครจะนับ เราก็เลยเอามาเป็นคอนเซปต์ของงาน ปรากฏว่าเราไปเจอว่าตั้งแต่หลังสงครามโลกที่ทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพและใช้ชีวิตอยู่ คนไทยก็เริ่มซึมซับและผสมผสานวัฒนธรรมไทยกับอเมริกัน รู้สึกว่าการที่มีวัฒนธรรมแบบนี้เข้ามาทำให้ชีวิตซิวิไลซ์ขึ้น โก้เก๋ขึ้น จนกระทั่งสองวัฒนธรรมปนเปมาจนถึงทุกวันนี้ เราก็เลยหยิบจุดเปลี่ยนชัดๆ ของการเข้ามาของชาติตะวันตกขึ้นมาไฮไลต์ในงาน”

วัฒนธรรมลูกครึ่งที่ซองทิพย์เล่าให้ฟัง เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอย่างอาหารการกิน เครื่องแต่งกาย ไปจนถึงวิถีการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง และที่พิเศษและหลายคนอาจยังไม่เคยรู้ คือของหลายสิ่งที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้ ก็เริ่มต้นที่ยุค 60s ทั้งนั้น

ไม่เว้นแม้แต่อาหารประจำชาติอย่างต้มยำกุ้ง

“ยุคนั้น ฝรั่งที่เข้ามาเขาก็จะอยากกินอาหารของชาติตัวเอง อย่างเช่น ซุป คนไทยก็เลยพยายามที่จะทำซุปเอาใจฝรั่งเพื่อค้าขายกับเขา คือทำแกงแบบของเราแหละ แต่ใส่น้ำกะทิ ใส่นมให้มันดูเป็นซุป ปรากฏว่าเกิดเป็นเมนูต้มยำกุ้งขึ้นมา

“เมนูข้าวผัดอเมริกันก็เกิดขึ้นในยุคนั้น เพราะฝรั่งอยากกินไส้กรอก ไข่ดาว คนไทยก็เลยผัดข้าวกับซอสมะเขือเทศ โปะไข่ดาว กินกับไก่ทอด นี่คือการ DIY ของคนไทย ที่พยายามจะทำอาหารไทยที่มีกลิ่นอายฝรั่งเพื่อที่จะขายฝรั่ง หลังจากนั้นก็มีการเข้ามาของไอศครีม และพวกน้ำซ่าๆ อย่างโคล่าหรือไบเล่”

การแต่งกายก็เป็นอีกอย่างที่คนไทยปรับเปลี่ยนตามชาวอเมริกันไปอย่างสิ้นเชิง โจงกระเบนและผ้าถุงกลายเป็นกางเกงสแล็กและชุดเดรส เท้าเปล่าเริ่มหัดสวมรองเท้าหนังและคัตชู หญิงสาวที่เคยผมสั้นก็หัดไว้ผมยาว ตีโป่ง อัดสเปรย์ให้เป็นทรงสวอน และติดขนตาเพิ่มความเลิศ

และเพื่อให้ทุกคนได้ลองเปลี่ยนตัวเองเป็นชาว 60s อย่างเต็มรูปแบบ มิวเซียมสยามเลยชักชวนร้านเสื้อผ้าวินเทจมาออกงานให้ได้ซื้อและเช่า (พร้อมกำชับว่าขอเสื้อผ้ายุค 60s เท่านั้น!) แถมยังมีบาร์เบอร์ที่ช่างจะเปลี่ยนผมของพวกเราให้ทันสมัย (ในยุคนั้น)

เมื่อแต่งองค์ทรงเครื่องเสร็จเรียบร้อย ก็ได้เวลาออกไปท่องราตรีกันเสียที!

มุมหนึ่ง พวกเขาเปิดฟลอร์เต้นรำพร้อมวงดนตรีสดครบเครื่องที่มาโชว์ฝีมือเล่นเพลงจากยุค 60s และเปิดฟลอร์ให้โยกย้ายไปกับเพลงสวิงสนุกๆ หรือจะเต้นทวิสต์ตามจังหวะร็อกแอนด์โรลก็ได้

“ในยุค 60s คนไทยเริ่มจะฟังเพลงฝรั่ง และแต่งเพลงไทยที่มีทำนองเป็นฝรั่ง เรียกว่าเพลงแปลง และคนไทยก็เริ่มเลิกรำวง และเปลี่ยนเป็นการเต้นแบบฝรั่งแทน มีทั้งเต้นลีลาศ หรือเต้นแบบสนุกไปเลยคือเต้นทวิสต์ แบบในยุคของแดงไบเล่”

อีกมุมหนึ่งเป็นลานหนังกลางแปลงที่ฉายหนังดังตะวันตกและหนังไทยที่ได้อิทธิพลจากฝรั่ง วันละ 2 เรื่อง รวม 6 เรื่องตลอดสามวัน เช่น Blue Hawaii ที่ได้ราชาร็อก แอนด์ โรล Elvis Presley มาแสดงนำ โรงแรมนรก กำกับโดย รัตน์ เปสตันยี หรือ ยุทธนา-ศิริพร สารคดีที่บันทึกเมืองไทยยุค 60s ไว้อย่างละเอียด

และเรื่องสนุกที่เราเองก็เพิ่งรู้คือการดูหนังก็เป็นวัฒนธรรมที่เพิ่งเข้ามาในยุคนั้นเอง

“ช่วงนั้นคนไทยเริ่มออกไปสังสรรค์ที่สโมสร มีคาเฟ่เกิดขึ้น พอมีคาเฟ่ก็มีนักร้องคาเฟ่ตามมา หรือแม้กระทั่งการไปดูหนังก็เข้ามาในยุคนั้น ทำให้ผู้กำกับไทยเริ่มทำหนังไทยที่มีกลิ่นอายฝรั่ง ไม่ว่าจะด้วยพลอตเรื่อง หรือการแต่งกายของนักแสดง เช่น เงิน เงิน เงิน, โรงแรมนรก ที่เราเอามาฉายที่นี่

“แต่ละวันเราจะมี guest speaker ด้วย เช่น คุณไพโรจน์ สังวริบุตร ที่จะมาเล่าให้ฟังว่าหนังยุค 70s ได้อิทธิพลจากยุค 60s ยังไง เช่น การแต่งกาย ต้องใส่เสื้อลายสกอตพอดีตัว กางเกงขากระดิ่ง (หัวเราะ) มีคุณสุดา ชื่นบาน นักร้องคาเฟ่ยุคแรกมาเล่าให้เราฟัง คือมีทั้งความสนุกสนานและคอนเทนต์”

แค่คิดถึงกิจกรรมในงานเราก็ตื่นเต้นจนเหนื่อย ซองทิพย์จึงแนะว่าวันจริงพวกเขายังชักชวนฟู้ดทรัคมาหลายเจ้า พร้อมให้บริการทั้งเบอร์เกอร์​ ฮอตด็อก มิลก์เชค และอาหารฟาสต์ฟู้ดจากยุค 60s ที่ดีต่อใจ จะได้มีแรงกลับไปเต้นต่อบนฟลอร์เต้นรำ

งาน Night at the Museum ที่มิวเซียมสยาม จัดขึ้นวันที่ 14-16 ธันวาคม เวลา 16:00 – 22:00 น. ฟรี! พร้อมๆ กับพันธมิตรพิพิธภัณฑ์อีก 8 แห่ง เช่น พิพิธบางลำภู พิพิธภัณฑ์เหรียญ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หรือจะนั่งรถต่อไปดูดาวแบบโรแมนติกๆ ที่ท้องฟ้าจำลองก็ได้เช่นกัน

ส่วนเราขอตัวไปรีดชุดเดรสก่อน แล้ววันที่ 14 นี้เจอกัน!

AUTHOR