BANGKOK PUBLISHING RESIDENCE : นอนในมิวเซียมโรงพิมพ์เก่า

หลายสัปดาห์ก่อน เรานั่งรถผ่านห้องแถวลึกลับบนถนนหลานหลวงด้วยความสงสัยว่าอะไรที่ซ่อนตัวอยู่หลังหน้าต่างประตูที่ปิดมิดชิด คล้ายตัดขาดจากความวุ่นวายของโลกข้างนอก ความสงสัยในวันนั้นพาเรามาหยุดยืนอยู่หน้าห้องแถวแห่งนี้อีกครั้งในวันนี้

เรามองดูป้ายทองเหลืองสลักชื่อ Bangkok PubLishing Residence est. 2016 แล้วกดกริ่ง

ก่อน อุ้ม-ปณิดา ทศไนยธาดา หญิงร่างสูงผม Dreadlocks หลานสาวคุณวิชิต โรจนประภา ผู้ก่อตั้งนิตยสารระดับตำนานของไทย อย่าง ‘บางกอก’ และเจ้าห้องแถวลึกลับตรงหน้าซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงพิมพ์ จะพาเราออกค้นหาความทรงจำของตึกแถวแห่งนี้พร้อมกัน

พิพิธภัณฑ์ที่คนรื่นรมย์ไปกับกระดาษและน้ำหมึกได้

“ตอนอุ้มกลับมาที่ตึกนี้คือหายนะวิบัติซากมาก ถ้าให้คิดแบบง่ายๆ รื้อตึกทำโฮสเทล Bunk Bed ไปเลยปีเดียวเสร็จค่อยคืนทุนก็ได้ แต่ความตั้งใจของอุ้มคือ อยากยกบางกอกปี 2500 กลับมา เพราะเป็นยุคที่ถนนเส้นนี้เฟื่องฟูสุด เป็นแหล่งแฮงค์เอาต์ของพวกนักเขียน ฮิปสเตอร์ยุคคุณตา ตึกแถวนี้เคยเป็นโรงพิมพ์เก่ากันหมด คุณตาคุณยายของอุ้มเริ่มทำโรงพิมพ์จากห้องแถวตรงนี้ แล้วซื้ออีก 2 ห้อง 6 ห้อง จนเติบโตไปเป็นโรงงาน เป็นยุคที่ทำให้อุ้มมีกินอย่างทุกวันนี้ เลยเป็นที่มาว่าทำไมอุ้มถึงมีแรงที่จะทำอยู่ 6 ปี ยอมเหนื่อย ยอมขุดประวัติศาสตร์ทุกอย่าง” อุ้มเล่าถึงความตั้งใจในการรื้อฟื้นคืนชีวิตและความทรงจำของตึกสมัยที่ยังเป็นโรงพิมพ์บางกอก

“สิ่งที่เราอยากทำที่สุดคือ พิพิธภัณฑ์ แต่พิพิธภัณฑ์ทำไปก็เจ๊ง เลยต้องเพิ่มสิ่งที่เป็นไปได้ครึ่งทางคือ โรงแรม อยากให้ได้อารมณ์เหมือนมาอยู่ในบ้านของเรา อุ้มถึงใช้คำว่า Residence ก็คือบ้านพักอาศัย พักในที่นี้ก็คือ พักทั้งหนังสือบางกอก พักทั้งสิ่งพิมพ์ และก็พักทั้งคนที่มาเยี่ยมเยือน”

จริงจังกับการเล่าเรื่อง

กองทัพบล็อกตัวอักษรตะกั่วเหล็กของช่างเรียงพิมพ์สมัยก่อน เครื่องพิมพ์ดีดโบราณที่หาดูได้ยาก เครื่องจักรเก่าในโรงพิมพ์ ม้วนกระดาษเก่าสีเหลือง นิตยสารบางกอกตั้งแต่สมัยที่เริ่มพิมพ์แบบ 4 สี แฟ้ม Archive นิตยสารบางกอกและทานตะวันทุกฉบับ ห้องทำงานของคุณตาพร้อมชุดโซฟาตัวโปรดของท่าน คือตัวอย่างของข้าวของในความทรงจำจากโรงพิมพ์ที่คุณอุ้มโยกย้ายจากโรงพิมพ์สาขาศรีอยุธยา มาไว้ยังตำแหน่งแรกเกิดของมันที่นี่

เพราะตั้งต้นจากโจทย์ของการทำพิพิธภัณฑ์ เธอจึงจริงจังกับส่วนนี้เป็นพิเศษและจ้างคิวเรเตอร์คนเก่งอย่าง เกี้ยว-ประคำกรอง พงษ์ไพบูลย์ ลูกสาวอาจารย์นวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาช่วยร้อยเรียงเรื่องราววิวัฒนาการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น

“เราอยากเก็บสิ่งพิมพ์ไว้ที่นี่ อยากดึงบรรยากาศกลับมา กรุเก่าของคุณตาเป็นยังไงก็เอากลับมา ตอนทำงานกับพี่เกี้ยว เราไม่ได้รีเสิร์ชแค่ไทม์ไลน์ของโรงพิมพ์ แต่ดู 3 ไทม์ไลน์ควบกันไป ทั้งประวัติศาสตร์โรงพิมพ์ ประเทศไทยและโลก ซึ่งเชื่อมโยงไปด้วยกันหมด

จริงๆ เรามีของดีเก็บไว้อีกเยอะมาก รูปที่วาดมือ illustration สมัยก่อนตั้งแต่ยุคที่ทำด้วยดินสอ ชาร์โคล สีน้ำ การ์ตูน และงานออกแบบปก4สี สิ่งนี้คือวิวัฒนาการของ illustration ไทย เราเก็บไว้เป็นลังเลย คนอื่นเวลาทำนิทรรศการเขาอาจมีกันแค่ 50 ชิ้น แต่เรามีเป็นกองภูเขา ถ้าเราสัมผัสได้ว่าคนที่มาหาเราเขาสนใจจริงๆ เราจะนำของพวกนี้ออกมาให้ดู”

ห้องพักที่สิ่งพิมพ์กลับมามีชีวิต

กระดาษและน้ำหมึกไม่ได้จบแค่ในส่วนของมิวเซียม แต่ลุกลามมาถึงการออกแบบองค์ประกอบภายในห้องพักที่ตกแต่งต่างสไตล์ทั้ง 8 ห้อง

ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฟอนต์ที่ใช้เองเพื่อให้เข้ากับภาพรวมของสถานที่ซึ่งย้อนบรรยากาศกลับไปช่วง 60 ปีก่อน การพิมพ์โบรชัวร์และแผ่นป้ายอธิบายการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ลงบนกระดาษสีเหลืองที่ดูเก่าหรือเป็นการสร้างสรรค์สบู่เอง เพราะต้องการสร้างกลิ่นหอมอ่อนๆ ล้อไปกับกลิ่นน้ำหอมปรับอากาศของอาคาร และกำหนดสีเจลอาบน้ำให้ดำสนิทล้อไปกับสีน้ำหมึก

และที่ชอบมากคือ การจัดวางโต๊ะเขียนจดหมายอายุรุ่นคุณลุงพร้อมด้วยปากกาดีไซน์คลาสสิก (สั่งทำพิเศษโดยอ้างอิงจากปากกาคุณตา) กระดาษเปล่า และซองจดหมาย ยั่วให้คนที่มาพักลุกขึ้นมาเขียนอะไรสักอย่าง

“เราอยากให้คนได้กลิ่นหมึกพิมพ์ กระดาษ หนังสือ เราอยากเอามันกลับมา เพราะเชื่อว่าหนังสือไม่สามารถ file corrupted ใส่เราได้ มันแบตหมดใส่เราไม่ได้ แล้วดูสิ (อุ้มหยิบหนังสือแผนที่บางกอกสมัยพิมพ์4สี ด้านหลังระบุตำแหน่งโรงน้ำชาที่มีบริการอาบน้ำนวดตัวให้ดู) เราว่ามันไม่ใช่แค่นั้นนะ แต่มันคืองานศิลปะ มันบ่งบอกว่าในยุคนั้นพิมพ์ได้กี่สี การวางอาร์ตเวิร์กในยุคนั้นคืออะไร แล้วมันเจ๋งตรงที่เราจะรู้เลยว่าคนยุคก่อนเขาซื่อๆ กันขนาดไหน ถ้าเป็นยุคนี้เหรอ เนื้อหานั้นคงถูกลบไปหมดแล้ว” ไม่ทันขาดคำ คุณอุ้มหยิบหนังสืออีกเล่มขึ้นมาให้เราใจเต้นไม่เป็นจังหวะ

“แล้วพอเปลี่ยนไปอีก10ปี…(เธอพลิกหน้ากระดาษ) ดูสิ วิธีการเลย์เอาต์ก็เปลี่ยนไป เราได้เห็นทั้งอารยธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตคน สำนวนการพูด ผ่านเรื่องเล่า ดีไซน์ ฟอนต์ และอาร์ตเวิร์กบนหน้ากระดาษ”

ถ้าเขารักเรา เขาจะหาเราเจอเอง

อุ้มตั้งใจออกแบบตัวอาคารให้ดูลึกลับ เพราะไม่ได้ต้องการให้โดดเด่นจนเป็นจุดสะดุดสายตาใคร โดยอ้างอิงดีไซน์จากสถาปัตยกรรมกรุงเก่าเมื่อ 60 ปีก่อน ท่ามกลางบรรยากาศอินดัสเทรียล เราจึงได้กลิ่นอายเอเชียแบบ In The Mood For Love ซึ่งตรงกับยุคสมัยคุณตาของคุณอุ้ม เคล้าไปกับความเป็น The Grand Budapest Hotel เล็กๆ

“เราตั้งใจให้ Mysterious เพราะอยากเก็บความสงบเอาไว้ข้างใน คนนอกมองมาต้องไม่รู้ว่าข้างในเป็นอะไร เราอยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้คนที่รู้ คนที่สนใจ และเห็นค่าของสิ่งที่เราทำจริงๆ เข้ามาหาเรามากกว่า”

แล้วก็เป็นอย่างที่คุณอุ้มว่า หลายสัปดาห์ก่อน เรานั่งรถผ่านห้องแถวลึกลับบนถนนหลานหลวงด้วยความสงสัยว่าอะไรที่ซ่อนตัวอยู่หลังหน้าต่างประตูที่ปิดมิดชิด คล้ายตัดขาดจากความวุ่นวายของโลกข้างนอก

ความสงสัยในวันนั้นพาเรามาหยุดยืนอยู่หน้าห้องแถวลึกลับแห่งนี้อีกครั้งในวันนี้

เล็กๆ น้อยๆ ก่อนไป Bangkok Publishing Residence

  • ตัวอาคารมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างดี ไม่สามารถ walk-in ได้ตามใจชอบ หากใครจะเข้าชมต้องติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แนะนำให้สอบถามช่วงเวลาและราคาเข้าชมล่วงหน้าที่ 0-2282-0288 / 08-1780-6229
  • ส่วนรายละเอียดที่พักในโรงพิมพ์สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.bpresidence.com เลย!

Facebook | Bangkok Publishing Residence

Address l 31-33-35-37-37/1 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

ภาพ กฤต วิเศษเขตการณ์

AUTHOR