ในวิกฤติ คนเรามักมีความคิดอะไรแผลงๆ และเซอร์เรียล
ปี 2017 เป็นปีที่โรงภาพยนตร์ดิ่งสู่ขาลงที่สุดในรอบ 25 ปี โรงภาพยนตร์หลายๆ แห่งเห็นตัวเลขรายได้ของตัวเองลดลงมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ชมเริ่มหายตัวไปจากโรงหนัง ถามว่าพี่ๆ เขาหายไปไหน ก็ Netflix ไง ก็โรคติดซีรีส์ทั้งหลายไง ที่ทำให้คนเริ่มรู้สึกขี้เกียจออกจากโซฟา อาจจะรู้สึกว่าหนังเข้าโรงมันสนุกน้อยกว่าซีรีส์ตรงหน้า บางเรื่องรออีกสักพักเดี๋ยวก็มีสตรีมมิ่งให้ดู และสุดท้ายตั๋วหนังมันก็แพงเกินไปสำหรับความบันเทิงในชีวิตประจำวัน แถมต้องมานั่งเสี่ยงอีกว่าหนังที่เอาเงินเราไปจะสนุกหรือไม่ นี่คือการพักผ่อนหรือแทงหวยกันนะ
รายได้ของโรงหนังที่ลดลงนั้น แท้จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่เรื่องตั๋วหนังหรอกครับ เพราะสิ่งที่ได้กำไรและสร้างความร่ำรวยให้กับโรงหนังอย่างแท้จริงนั่นคือน้ำและป๊อปคอร์นหน้าโรงมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่โรงหนังต้องขบคิดคือ ทำอย่างไรให้คนยังมาดูหนังที่โรงหนัง วิธีการก็มีมากมาย ที่ใช้กันอยู่ในตอนนี้ เช่น การบิลด์ประสบการณ์การดูหนังในโรงหนังที่แตกต่างจากบ้าน ในทางฝั่งค่ายหนังก็ช่วยกู้ระบบด้วยการทำหนัง IMAX หรือทำหนังบล็อกบัสเตอร์หนักๆ ที่มักมอบความรู้สึกว่า ต้องดูที่โรงเท่านั้นเพราะภาพและเสียงของหนังมันสุดขีด รวมถึงการที่ต้องดูในโรงเดี๋ยวนั้น รอไม่ได้ เพราะมันเป็นเทรนด์ หรืออีกวิธีการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเร็วๆ นี้เพื่อลดปัญหาราคาตั๋วหนังแพงแล้วคนไม่กล้ามาดูนั่นคือ โมเดลการขายตั๋วหนังแบบใหม่ด้วยไอเดียว่า “จะดีแค่ไหน ถ้าเราจ่ายรายเดือนแล้วเราสามารถดูหนังเรื่องไหนก็ได้ในโรง วันละ 1 เรื่อง ตลอดทั้งเดือนนั้น”
และนั่นคือการกำเนิดขึ้นมาของ Movie Pass สมัครแล้วดูได้เลยทุกเรื่อง เรื่องไหนก็ได้ ดูวันแรกที่ฉายก็ได้ และยังดูได้ทุกวันตลอดเดือนนั้น คอนเซปต์นี้สร้างความโด่งดังและฮือฮา ก็แน่สิ นี่กำไรคนดูชัดๆ นี่มัน Netflix แห่งหนังโรง เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการดูภาพยนตร์และธุรกิจภาพยนตร์มาก่อน นี่อาจจะเป็นหนทางที่ทำให้วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในโรงหนังนั้นยังดำรงต่อไปก็เป็นได้ และอีกทั้งเป็นการให้โอกาสหนังเล็กๆ หรือหนังอินดี้ด้วย เพราะคนดูอาจจะอยากลองดูหนังเล็กๆ เหล่านั้นมากขึ้นเพราะ Movie Pass อำนวยให้ลอง ซึ่งถ้าหากพวกเขาต้องจ่ายตั๋วราคาปกติ พวกเขาอาจจะข้ามหนังเหล่านั้นไปเลยก็ได้ (ขนาดหนังใหญ่ๆ บางเรื่อง คนยังขอข้ามเลย)
ในขณะเดียวกันหลายคนคิดว่านี่คือโมเดลธุรกิจที่ลงเหวแน่นอน เหนือจริงซะขนาดนี้ แต่ถึงกระนั้นโรงหนังหลายเครือก็เต็มใจจะลองเล่นกับสิ่งนี้ด้วยความคิดที่ว่ามันอาจจะทำให้คนมาดูหนังที่โรงมากขึ้น แล้วกำไรจากน้ำและป๊อปคอร์นก็จะกลับมามากขึ้นแน่นอน (ซึ่งเป็นสินค้าที่ความเสี่ยงต่ำ ไม่มีความผันผวนมากนัก ราคาเดิมและได้กำไรเท่าเดิมตลอด มันจึงกลายเป็นรายได้หลักที่กำไรอื้อที่สุดของการเปิดโรงหนังโรงหนึ่ง) คำถามคือว่าแล้วเรื่องราคาตั๋วหนังที่เอาไปเล่นโปรโมชั่นแบบนั้น มันจะดำเนินไปได้อย่างไร ว่าง่ายๆ คือ Movie Pass เองนั่นแหละคือผู้จ่ายเงินชดเชยค่าตั๋วที่โรงหนังสูญเสียไปจากการเข้าร่วมโปรโมชั่นนี้ ซึ่งก็หวังว่ารายได้ที่จะมาจ่ายชดเชยนั้น จะมาจากการสมัครสมาชิกที่ถล่มทลายนั่นเอง
การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะสมัยก่อนนั้นเวลาหนังฉายในโรง ราคาตั๋วหนังก็จะมีหลายราคาตามหนังที่เข้าฉายคล้ายๆ กำหนดราคาสินค้า แต่หลังจากนั้นก็มีการปฏิวัติให้ขายตั๋วราคาเดียวเท่ากันหมดเพื่อป้องกันการปรับราคาตั๋วขึ้นลงตามใจชอบ เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง การปรับตัวก็ต้องตามมาเป็นธรรมดา
แต่แล้วข่าวเรื่องการขาดทุนและการกู้ยืมเงินของ Movie Pass ก็เริ่มปรากฏขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับข่าวที่คนชอบใช้ Movie Pass ไม่ได้ในวันแรกๆ ที่หนังใหม่เข้าฉาย คืออยู่ๆ ก็เออเรอร์วันแรกพอดี ตามด้วยการเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ เช่น การที่ผู้สมัครสมาชิกโดนระงับไม่ให้สามารถดูหนังใหญ่อย่าง Mission Impossible : Fallout ได้ และล่าสุดที่เหมือนจะมีแพลนกันว่า Movie Pass จะลดจำนวนการดูหนังให้เหลือแค่เดือนละ 3 เรื่อง (จากครั้งแรกที่บอกว่าดูได้วันละ 1 เรื่องตลอด 1 เดือน) ก็บ่งบอกถึงสภาพทางธุรกิจภายในตัว Movie Pass ได้เป็นอย่างดี รวมถึงเริ่มมีโรงหนังหลายๆ แห่งก็แอบทำโปรโมชั่นแบบที่ Movie Pass ทำบ้าง เพียงแต่ไม่ฮาร์ดคอร์เท่า Movie Pass
การเกิดขึ้นและการ (อาจจะ) แตกดับของ Movie Pass เป็นสัญญาณเตือนสำหรับเจ้าของโรงหนังได้เป็นอย่างดี เพราะการมีอยู่ของ Movie Pass นั้นมีผลทำให้รายได้ของหนังบางเรื่องเพิ่มขึ้นได้จริง นั่นแสดงว่ามันค่อนข้างรองรับพฤติกรรมของคนยุคนี้ที่เปลี่ยนไป เมื่อพวกเขามีบริการสตรีมมิ่งที่ดีพอที่บ้าน การต้องจ่ายเงินซื้อตั๋วหนังในโรงเรื่องหนึ่งก็จะเกิดการคิดหน้าคิดหลังมากมาย พวกเขาสบายใจมากกว่าที่จะจ่ายครั้งเดียวและลองดูหนังอะไรก็ได้โดยไม่ต้องเสี่ยง (และอย่างที่บอกคือ Netflix มีให้พวกเขามากเพียงพอ) จนนี่ไม่ใช่เรื่องการประหยัดเงิน แต่เป็นเรื่องมายด์เซตของคนดูยุคใหม่หลังจากที่โดนผูกขาดระบบกับหนังโรงอย่างเดียวมานาน หลังจากนี้พวกเขาชอบที่จะมีอิสระในการเสพและเลือกด้วยตัวเองมากขึ้น ได้ลองอะไรใหม่ๆ มากขึ้น (หนังที่เคยไม่แน่ใจว่าจะดูดีไหม วันนี้ก็กดลองไปเลยไม่ต้องคิดมาก) มีความปลอดภัยมากขึ้นหากหนังมันห่วย (ถ้าลองแล้วไม่เวิร์ก ก็แค่กดปิดและเปลี่ยนเรื่องใหม่) วิธีคิดแบบนี้มีสิทธิ์พังระบบจัดจำหน่ายหนังแบบเก่าได้ในอีกไม่นาน ไม่ต่างอะไรจากการที่คนยุคนี้ขี้เกียจไปซื้อแผ่นซีดีและกดฟัง Spotify และ apple music ที่มีเพลงให้เลือกมากมายทั้งโลกจนเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนอกจากจะไม่ต้องออกไปไหนแล้ว อยากลองฟังอัลบั้มไหนก็ลองได้ สบายๆ ถ้ามันยังไม่มาก็รอได้ ไม่รีบ เพราะยังมีอะไรอย่างอื่นที่ไม่เคยลองอีกมากมายในนั้น คนยุคนี้เน้นไปทาง ‘เอามาเยอะๆ ไว้ก่อน แล้วขอคุ้ยสำรวจเอง สบายใจกว่า’ มากกว่าที่จะรอดูว่าอาทิตย์หน้าโรงหนังจะมีหนังอะไรบ้าง พวกเขาไม่รอคอยการหยิบยื่นทีละเรื่องสองเรื่องจากค่ายหนังและโรงหนังอีกต่อไป
ความจริงแล้ว ถ้าไม่โฟกัสที่หนังใหญ่เพียงอย่างเดียว Movie Pass นี่จะอำนวยให้คนดูได้ลองหนังอินดี้เล็กๆ มากมายในโรงภาพยนตร์โดยไม่ต้องคิดมาก ความจริงมันเป็นโอกาสทองสำหรับหนังเหล่านี้ที่จะได้ทำเงินบ้างและยังได้รับโอกาสจากคนดูมากขึ้น แต่มันก็ถูกสกัดลงไปตรงที่จุดขายของ Movie Pass ก็ยังอยู่ที่ว่า ‘พวกเราสามารถดูหนังมาร์เวลได้โดยไม่ต้องคิดมาก’ คือยังใช้หนังใหญ่เป็นจุดขาย ดังนั้นพอตัว Movie Pass ถูกสกัดไม่ให้เข้าถึงหนังใหญ่ ก็กลายเป็นว่าสิ่งนี้ก็จะล่มสลายไปเลย ทั้งๆ ที่มันก็ยังทำหน้าที่อื่นได้ด้วยเช่นกัน
ว่าง่ายๆ คือ หลังจาก Movie Pass จะเป็น Movie พลาด สตูดิโอผู้สร้างหนังกับโรงภาพยนตร์ก็ยังคงต้องรีบหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะเซฟธุรกิจของตัวเองต่อไปและพยายามเข้าใจโมเดลใหม่ๆ ในการจัดจำหน่ายหนัง เพื่อไม่ให้พลาดแบบที่ Movie Pass เพิ่งเจอมา