#ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา คือแคมเปญที่ Netflix ไทยร่วมมือกับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) คัดเลือกหนังไทยชื่อดังในอดีต 19 เรื่องมาฉายทาง Netflix เพื่อต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเริ่มฉายมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565
รายชื่อหนังไทยทั้ง 19 เรื่อง ได้แก่ ลุงบุญมีระลึกชาติ, เรื่องตลก 69, MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY, กระเบนราหู, มหา’ลัย เหมืองแร่, สันติ-วีณา, แพรดำ, ฟ้าทะลายโจร, มนต์รักทรานซิสเตอร์, ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น, ผีเสื้อและดอกไม้, กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้, ทวิภพ, ข้างหลังภาพ, องค์บาก, รักแห่งสยาม, นางนาก, สตรีเหล็ก, บางระจัน
เห็นแล้วต้องบอกว่าเป็นหนังไทย Greatest Hits อย่างแท้จริง
นี่คือความเคลื่อนไหวที่เราได้เห็นกันชัดๆ เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ สิน-ยงยุทธ ทองกองทุน อดีตผู้กำกับหนังและโปรดิวเซอร์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยมากว่า 20 ปี เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ ประจำประเทศไทย ของ Netflix เขามีหน้าที่รับผิดชอบงานทั้งในด้านการคัดเลือกคอนเทนต์ไทยเพื่อเผยแพร่บน Netflix และดูแลการสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ไทยของ Netflix
ถือเป็นการเปิดตัวได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อเขาไปจับมือกับทางหอภาพยนตร์ภายใต้การนำของ ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการ และทำงานร่วมกันจนออกมาเป็นบิ๊กแคมเปญนี้ ซึ่งเป็นการชิมลางครั้งแรกในไทย
แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังแคมเปญ #ฉายแล้ววันนี้ที่Netflixรามา จะเป็นอย่างไร ทั้ง 2 คนจะมาให้คำตอบ
ที่มาที่ไปของแคมเปญนี้และการร่วมงานกันระหว่าง Netflix กับ หอภาพยนตร์
ยงยุทธ: เน็ตฟลิกซ์ประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้วคือปี 2021 แต่ด้วยสถานการณ์โควิดทำให้การทำงานและผลงานออกยังไม่ค่อยเต็มที่ ซึ่งเน็ตฟลิกซ์เองเห็นศักยภาพในคอนเทนต์ไทยมาโดยตลอด และมั่นใจว่าเป็นโลคัลคอนเทนต์ที่สามารถผงาดในระดับโลกได้ ทำให้จากเดิม เรามีออฟฟิศที่สิงคโปร์ ตอนนี้เรามีออฟฟิศที่ไทย มีทีมงานไทยที่มาคอยดูแลคอนเทนต์ไทยมากขึ้น เราก็จะเริ่มมาโฟกัสกับคอนเทนต์ไทยเต็มที่มากขึ้น
โครงการนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เรามีความรู้สึกเชื่อมั่นว่า เป็นสิ่งดีๆ ที่อาจจะลืมๆ หายๆ ไปบ้าง แม้กระทั่งกับคนไทยเอง เราก็อยากเอากลับมาเพื่อที่จะบอกว่า มุมมองของเน็ตฟลิกซ์ต่อคอนเทนต์ไทยนั้น เรารู้สึกว่ามีคุณค่ามากๆ และที่สำคัญอาจจะเหมือนเป็น pain point เล็กๆ สำหรับคอนเทนต์ไทยที่มักจะได้ยินว่า เอ๊ะ ทำไมสมัยนี้ไม่ค่อยหลากหลาย แต่จริงๆ ในอดีต ถ้าดูจากคอลเลกชั่นที่เราเลือกมาทั้งหมด จุดหนึ่งเลยอยากจะยืนยันว่า เรามีของดีอยู่ อาจจะถูกลืมไปบ้าง กาลเวลาเปลี่ยน รสนิยมคนดูอาจจะมองข้ามไปบ้าง แต่ว่าสิ่งนี้จะเป็นก้าวแรกของเน็ตฟลิกซ์ที่จะบอกว่า คอนเทนต์ไทยทรงคุณค่าและมีความยิ่งใหญ่จริงๆ แล้วต่อไปมันจะค่อยๆ ไปต่อยอดกับสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต ที่เราจะยืนยันความเชื่อในความสามารถของครีเอทีฟไทย ซึ่งสิ่งใหม่เหล่านั้นน่าจะเริ่มทยอยให้ได้เห็นกันภายในช่วงปลายปี
แต่ ณ วันนี้ เราใช้วิธีที่เรียกว่ากึ่งๆ ทางลัด ด้วยการวิ่งไปหาหอภาพยนตร์ ซึ่งมีโนว์ฮาวและมีข้อมูลเต็มที่อยู่แล้ว และหอภาพยนตร์เองก็ยืนยันในความเชื่อเดียวกันกับเรา ก็เลยช่วยคิวเรตออกมาเป็นตัวคอลเลกชั่นนี้
ชลิดา: ต้องบอกว่าโปรเจกต์นี้พอวันที่มันออกมาจริงๆ ตัวเองรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะว่ามันใหญ่กว่าที่เราคิดมาก แล้วเราก็ได้รับการซัพพอร์ตอย่างเต็มที่จากทีมเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งประทับใจมาก
ส่วนตัวในเรื่องของการซีเลกชั่น เราเองได้คุยกับคนทำหนังรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ หนังบางเรื่องที่เราไม่ได้รู้สึกว่าเก่า เช่น 20 ปี สำหรับเราไม่ได้รู้สึกว่ามันเก่า เพราะเราอาจจะแก่ไปโดยไม่รู้ตัว (หัวเราะ) แต่พอคุยกับน้องคนทำหนังรุ่นใหม่ที่เขาอายุ 25 เขาก็จะรู้สึกตื่นเต้นเวลาที่ทางหอฯ เอามาฉาย ก็เลยรู้สึกว่า จริงๆ ตรงนี้มันมีช่องว่างอยู่ คือพอพ้นยุคดีวีดี คนจะหาหนังดู บางอย่างก็หาดูยากเหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าแคมเปญแบบนี้มันน่าจะใช้เติมช่องว่างตรงนี้ได้ เพราะว่าหอภาพยนตร์เองก็ไม่ได้อนุรักษ์แต่หนังเก่ามากอย่างเดียว เราพยายามที่จะอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งหมดเท่าที่จะเป็นไปได้
หนังหลายๆ เรื่องโชคดี ต้นฉบับได้มาถึงหอภาพยนตร์ แล้วเราก็ได้ทำการเก็บเอาไว้ มันก็มีต้นฉบับที่ดี เพราะสิ่งที่เอามาฉายตอนนี้ ต้องบอกว่าเน็ตฟลิกซ์เขาก็มีมาตรฐานเรื่องคุณภาพด้วย เพราะฉะนั้นก็แปลว่า หนังมันต้องมีต้นฉบับที่ดีพอสมควรถึงจะสามารถเอามาเผยแพร่ได้ หนังบางเรื่องที่เราบูรณะทั้งเรื่องอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ‘สันติ-วีณา’ กับ ‘แพรดำ’ บางเรื่องเรามีมาสเตอร์หรือฟิล์มเนกาทีฟเก็บที่หอภาพยนตร์ แต่บริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้นำออกไปทำการบูรณะ ก็ถือว่าเป็น collaboration ในหลายๆ ฝ่ายที่ทำให้เห็นผลในวันนี้ เพราะส่วนตัวจะเชื่อเสมอว่า การที่คนเราจะ appreciate กับหนังต่างๆ นั้น เราต้องได้ดูมันในสภาพที่ดีหรือสมบูรณ์
เมื่อก่อนหนังหลายๆ เรื่องที่มีคนชอบกันมาก แต่ด้วยระบบของดิสทริบิวชั่น หรือความกว้างขวางของประเทศ หนังบางเรื่องก็ไปได้ไม่ไกลมาก อาจจะอยู่ได้แค่ในกรุงเทพฯ อย่างตอนที่เราจัด ‘ฟ้าทะลายโจร’ ให้กับพี่วิศิษฏ์ (วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) จัดทอล์ก ก็จะมีคนยกมือขึ้นมาคุยว่า ผมอยู่จังหวัดนี้ อยากดูมากๆ เลย ต้องนั่งรถข้ามไปอีกจังหวัดหนึ่งเพื่อที่จะได้ดู ระยะทางมันเป็นข้อจำกัด ฉะนั้นเราเลยรู้สึกว่า ตอนนี้ที่รูปแบบการดูเปลี่ยนไป โครงการนี้จะมาเติมแก๊บ เพราะว่ามีความต้องการของคนที่คิดถึงหนังอยู่แล้ว สังเกตจากปรากฏการณ์ที่เมื่อชื่อได้เล็ดลอดออกไปว่าจะฉายเรื่องอะไรกันบ้าง ก็จะมีคนตื่นเต้นว่า อยากดูเรื่องนี้มานานแล้ว อ้าว เรื่องนี้คิดถึงมาตลอด ดีใจจะได้ดู ฉะนั้นเรารู้สึกว่ามันเป็นสัญญาณที่ดี แล้วก็คิดว่าถ้าผลตอบรับดี ก็จะมีลักษณะแบบนี้อีกต่อๆ ไป
ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกหนังทั้ง 19 เรื่องนี้
ยงยุทธ: กว่าที่จะได้มาเป็น 19 เรื่องนี้ เราคุยกันเยอะมาก เพราะว่าในมุมผม มีหนังที่ผมรู้สึกว่าอยากอวดเยอะมาก แล้วตัวเองก็อยากดู เพราะฉะนั้นในซีเลกชั่นแรกนี้ เราเลยคุยกันว่า โอเค เนื่องจากว่าเป็นครั้งแรก เราอาจจะต้องเอาอะไรที่ ข้อที่หนึ่ง หายาก อันนี้เราพิสูจน์ได้ ไม่ว่าจะเป็น ‘สันติ-วีณา’ หรือ ‘แพรดำ’ เป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก เพราะว่าหอฯ เพิ่ง restore แล้วก็มีโอกาสได้ไปฉายที่คานส์คลาสสิก และยังไม่เคยถูกเผยแพร่ในวงกว้างแบบนี้ เพราะว่ามันเป็นหนังจากปี 2497 เกิน 60 ปีแล้ว
แต่ส่วนอื่นๆ เรายังรู้สึกว่า ถ้าแรกสุดเลยเราโฟกัสแต่ย้อนอดีตอย่างเดียวมากเกินไป คนดูอาจจะรู้สึกขาดความเชื่อมโยงไปนิดหนึ่ง ถ้างั้นเราลองดูสิว่า จากอดีตถึงปัจจุบันเราเลือกผสมผสานมาให้มันเห็นรอยต่อเป็นระยะๆ ก่อนจะดีมั้ย ปรึกษาหารือกันจนออกมาเป็นคอลเลกชั่นนี้ ก็จะมีตั้งแต่ 2497 จนกระทั่งมาถึงหนังที่ใหม่มากๆ เลย
ชลิดา: เราคิดว่ามันเหมือนเป็นไทม์ไลน์ของหนังไทยอย่างย่อ ถ้าเอาล็อตแรก 19 เรื่องมากางดู เราก็จะเห็นแลนด์มาร์กของหนังหลายๆ เรื่องที่ไปสร้างเกียรติประวัติในต่างประเทศ หนังที่เมื่อก่อนเข้าฉายก็อาจจะจำกัดโรง คนที่อยู่ไกลก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ดู กับอีกหลายๆ เรื่องที่ถูกลืม
มีตั้งแต่หนังที่เรียกว่า หนังขึ้นหิ้ง อย่าง ‘สันติ-วีณา’ ก็ถือว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลในต่างประเทศคือที่ญี่ปุ่น ‘แพรดำ’ ก็เป็นหนังที่เคยไปฉายเทศกาลที่เบอร์ลินในยุคโน้น แล้วคุณรัตน์ เปสตันยี ที่เป็นผู้กำกับ ก็คล้ายๆ กับมีวิสัยทัศน์ในการมองว่า ภาพยนตร์มันเป็นสื่อทางวัฒนธรรม ที่สมัยนี้เราพูดว่าซอฟต์พาวเวอร์ แล้วเขาก็แอบน้อยใจว่าทำไมประเทศของเราไม่ค่อยสนับสนุนภาพยนตร์ ประเทศอื่นเขาเห็นภาพยนตร์เป็นสิ่งที่สามารถส่งต่อหรือสร้างความเข้าใจ ฉะนั้นเขามองเห็นตั้งแต่ปี 2504 แล้ว รวมทั้งมีข้อเขียนด้วย
ถัดมาอีกหน่อยก็จะเป็นยุคท่านมุ้ย (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) เป็นยุคหนังเพื่อสังคม หลัง 14 ตุลาฯ อย่าง ‘ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น’ ก็เป็นแลนด์มาร์กอันหนึ่งของหนังท่านมุ้ย ‘ข้างหลังภาพ’ งานของคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ส่วนตัวเป็นหนังที่ดูไป 3 รอบในโรง ตอนนั้นอยู่ชั้น ม.ต้น ประทับใจ มีหนังไทยแบบนี้ด้วย มันประหลาดมาก พูดเป็นกวี เหมือนอ่านในหนังสือ เราไม่ค่อยเห็นแบบนี้ แล้วแอ็กติ้งเหมือนละครเวทีในสถานที่จริง คืออยากให้ลองดูกันว่า คุณเปี๊ยกเป็นคนทำหนังที่หลายคนอาจจะมองข้ามในบางอย่าง แต่คุณเปี๊ยกเป็นคนที่ทำหนังไม่ซ้ำเลย เป็นคนลองสิ่งใหม่ๆ ตลอดในแต่ละเรื่อง เรื่องนี้อยากจะลองเนื้อเรื่องแบบนี้ เรื่องนี้อยากจะลองสไตล์แบบนี้ เรื่องนี้อยากจะลองเทคนิคย่อขยาย ลองหลายอย่างมาก รวมถึงเรื่องนี้ที่ยึดตามตัวบทในหนังสืออย่างมาก และตอนนั้นคุณอำพล ลำพูน ก็หล่อมากค่ะ (หัวเราะ)
‘กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้’ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาบัณฑิต (บัณฑิต ฤทธิ์ถกล) เขาดังมาจาก ‘บุญชู’ แต่ ‘กาลครั้งหนึ่งเมื่อเช้านี้’ คือหนังที่อาบัณฑิตอยากทำ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีความเสี่ยงทางการตลาด เพราะว่ามันเป็นหนังครอบครัว เป็นหนังเด็ก ซึ่งตอนนั้นตลาดไม่ได้มีที่ว่างสำหรับแบบนี้ แต่หลังจากที่แกสำเร็จจาก ‘บุญชู’ มามากพอที่แกจะคุยกับนายทุนว่าขอทำหนังอย่างนี้บ้าง มันก็เป็นหนังที่พิสูจน์ตัวเอง เพราะว่ามันสวยงาม คือคนจะมาพูดว่าหนังไทยมีแต่น้ำเน่าหรืออะไรไม่ได้ อันนี้เป็นหนังครอบครัวที่ดีมากๆ แล้วก็พูดเรื่องปัญหาครอบครัวที่กระทบกับเด็ก มองในมุมที่ละเอียดอ่อน
พี่อุ๋ย (นนทรีย์ นิมิบุตร) แน่นอนอยู่แล้ว พอหลังปี 40 คนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงก็คือพี่อุ๋ย ‘นางนาก’ นี่ไปไกลระดับเอเชีย คือเราคิดว่าพี่อุ๋ย พี่ต้อม เป็นเอก (เป็นเอก รัตนเรือง) เปลี่ยนทัศนคติของคนเกี่ยวกับหนังไทย เพราะว่าก่อนหน้านั้นยุคที่เราโตมา คนก็จะคิดว่าหนังไทยมันก็จะตลกๆ หน่อย แต่ว่าพอมาถึงยุคพี่อุ๋ย คือเขาเปลี่ยนว่า หนังไทยทำโปรดักชั่นได้ มีเรื่องใหม่ๆ มีมุมมองใหม่ๆ ซึ่งเรารู้สึกว่า ‘นางนาก’ กับ ‘เรื่องตลก 69’ เป็น sample ที่ดีที่จะ represent งานของเขา เพราะว่าแต่ละคน หนังพี่อุ๋ยก็มีหลายเรื่อง หนังพี่ต้อม เป็นเอก ก็มีหลายเรื่อง ถ้าใครไม่เคยดูก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คอลเลกชั่นนี้มันเหมือน greatest hits ประมาณหนึ่ง
แล้วถัดมาก็จะเป็นยุค 2000 พวกหนังที่สำหรับเราเหมือนไม่เก่า แต่ว่าพวกคนที่เรารู้จักก็ดูไม่ทันกันเป็นแถว อย่าง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ ที่ตอนนี้มีแต่คนโหยหาอยากจะดู ‘สตรีเหล็ก’ ของพี่สินเองก็เป็นเรื่องที่เราเชียร์ให้มี
ยงยุทธ: ตอนที่คุยกันก็เขินๆ นิดหนึ่งเหมือนกัน แต่ว่าพยายามจะเกลี่ยให้เห็นถึงความหลากหลายของหนังไทยที่หลังๆ มันอาจจะน้อยลงไปหน่อย ถ้าพูดถึงความแตกต่าง พูดตามภาษาทุกวันนี้ ‘สตรีเหล็ก’ ก็เป็นหนังที่ว่าด้วย LGBTQ อาจจะไม่ใช่เรื่องแรก แต่เป็นเรื่องแรกๆ ที่สามารถสื่อสารในวงกว้างได้ แล้วไม่ใช่แค่ในประเทศเราเท่านั้น มันออกไปประสบความสำเร็จในหลายๆ ประเทศด้วย ทั้งในเชิง box office เอง หรือในเชิงเทศกาล ในยุคนั้นถือว่าเรื่องนี้ก็เป็นหมุดหมายอันหนึ่ง ปี 2000 เป็นปีที่น่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญอันหนึ่งของหนังไทยเหมือนกัน มีความหลากหลาย มีคนใหม่ๆ เข้ามา นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำเข้ามา
ชลิดา: หลายๆ เรื่องในนี้ก็เหมือนเป็นหนัง cult เล็กๆ เหมือนกัน คือเมื่อก่อนหนังคัลท์มันไม่ได้เป็นหนังอาร์ตเลยนะ อย่าง ‘ทวิภพ’ เราคิดว่า ทวิภพ ก็เหมือนหนังคัลท์ ใน pantip.com เคยมีกระทู้ที่ชื่อว่า ‘ทวิภพอัศวพักตร์’ คือตอนแรกที่ออกมาหนังก็ไม่ค่อยได้ตังค์ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่รักหนังเรื่องนี้มาก ประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นหน้าม้า แล้วก็โพสต์กระทู้นี้ให้มันมีชีวิต เข้าไปอ่าน เข้าไปเติม เลี้ยงมาตลอด เกิน 10 ปี แพสชั่นของคนเหล่านี้ เราประทับใจ แล้วทุกครั้งที่หอฯ มีโอกาสก็เอา ทวิภพ มาฉาย แล้วคนก็เต็มตลอด เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ดีใจที่คิดว่าคนจะได้ดู และถ้าคิดถึงโมเดลเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ หนังเรื่องนี้ก็เข้าข่าย เพียงแต่ว่า ณ เวลานั้นมันยังไม่ได้ถูกมองแบบนี้
จริงๆ อย่างที่พี่สินบอกว่าลิสต์มันเยอะกว่านี้มาก แต่ว่ามันก็จะมีเงื่อนไข เช่นเรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องการประสานงาน เรื่องอะไรอีกเยอะกว่านั้น ต้องพูดว่า อันนี้เราหวังว่ามันจะเป็นเซ็ตแรกที่จะมีเซ็ตอื่นต่อไป อย่างที่บอกว่าเวลาที่จะพูดถึงหนังพี่อุ๋ย มันมีตั้งหลายเรื่อง เราเอาเรื่องไหนก่อนดี พูดตรงๆ เราคิดว่าอันนี้ทางเน็ตฟลิกซ์ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน แต่ว่าพี่สินทำหนังมาก่อน พี่สินก็มีใจอยู่แล้ว เราเลยคิดว่าต้องช่วยกันทำให้มันไปได้ มันเลยเป็นเหมือนสิ่งที่เราวางเดิมพันกันไว้ ว่าถ้าประสบความสำเร็จ ก็จะมีอะไรออกมาอีกเยอะแยะมากมาย แต่ว่าเราก็พยายามที่จะเลือกคอลเลกชั่นที่ดีที่สุด แล้วเราก็จัดจานให้ดูกลมกล่อม
เป็นโปรเจกต์ทดลองครั้งแรกในไทยที่ต้องรอดูผลตอบรับ
ยงยุทธ: เนื่องจากคอนเลกชั่นนี้เป็นการทดลองครั้งแรก เราเริ่มจากที่ในประเทศไทยก่อน แล้วถ้ากระแสการตอบรับดี ก็อาจจะส่งผลให้มีคอลเลกชั่นต่อๆ ไป เพราะว่าเน็ตฟลิกซ์เอง ในเครือข่ายของเราที่มี 190 ประเทศทั่วโลก เราดูฟีดแบ็กที่อยู่บนแพลตฟอร์มของกันและกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมงานหลังบ้าน เราจะรู้กันอยู่แล้วว่า คุณมีไตเติ้ลนี้อยู่ อย่างเช่นหลังบ้านเราเห็นของบางอย่างที่มีเฉพาะเน็ตฟลิกซ์ญี่ปุ่น ถ้าเราอยากได้เราก็จะคุยกัน มันมีลักษณะนี้อยู่ แต่เนื่องจากว่าอันนี้ครั้งแรกนะ เราพยายามเลือกอะไรที่น่าจะวงกว้างมากที่สุดก่อน เพื่อดูฟีดแบ็ค
เอาแค่แม้กระทั่งตอนที่มันเริ่มหลุดรอดไปว่าจะมีคอลเลกชั่นนี้มาในวันนี้ 1 เมษาฯ บางคนไม่เชื่อตาว่าเน็ตฟลิกซ์จะฉายอะไรพวกนี้ บางคนบอก april’s fool หรือเปล่า ฉายวันที่ 1 เมษาฯ ซึ่งเราก็รู้สึกตื่นเต้น เราก็ลุ้นอยู่ หรือแม้กระทั่งวันที่ชัดเจนแล้ว เร่ิมเปิดดูได้ บทสนทนามันดีมากนะ จะมีทั้งในเชิงคนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่เคยดูส่วนหนึ่ง หรือแม้กระทั่งคนที่ชอบหนังไทยอยู่แล้ว เขาก็จะแชร์มาอีกเยอะแยะเลยว่า เรื่องนั้นล่ะ เรื่องนี้ล่ะ เต็มไปหมดเลย อันนี้แหละการบ้านหนักละ ว่าต่อไปเราจะฉายอะไร
เพราะก็ต้องบอกว่า ถึงแม้ว่าหอภาพยนตร์จะเร่ิมมีการ restore หนังไปมากมายแล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่าหนังป๊อปหลายๆ เรื่องยังไม่เคยถูกรีมาสเตอร์ก็มี ซึ่งเลยต้องใช้เวลา หรือบางบริษัทก็มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว บางทีเราก็ตามหาบางเรื่องที่เราอยากฉายไม่เจอเหมือนกัน แต่ไม่ต้องห่วงเลยครับ ถ้าเราผ่านครั้งนี้ไปได้ มีมาแน่นอน แต่ว่าอาจจะอยู่บนไอเดียของคอลเลกชั่นที่ customise แปลกๆ ขึ้นมา ไม่ได้เป็นรวมฮิตละ อาจจะไปโฟกัสอะไรบางอย่าง เพราะจริงๆ เรามีของเยอะ
หนังที่เรารวมมา หลายๆ เรื่องยังไม่เคยฉายที่ไหนเลยก็มี อย่างเช่น ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ต้องบอกว่าไม่เคยอยู่ในสตรีมมิ่งเลย นอกจากในโรงหนัง แล้วก็อาจจะอยู่ใน iTunes ที่เป็นลักษณะต้องซื้อ นี่เป็นครั้งแรกที่อยู่บนสตรีมมิ่ง ก็ต้องขอบคุณทางเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) และทาง Kick the Machine มากๆ ด้วย หรือแม้กระทั่งอย่าง แมรี่ฯ (MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY) เอง ก็ให้อยู่แค่บางที่ หรืออย่าง ทวิภพ ก็เป็นเวอร์ชั่นไดเรกเตอร์คัตที่ไม่ใช่เวอร์ชั่นปกติ ซึ่งก็จะมีมาสเตอร์อยู่ที่เดียวคือที่หอฯ
ชลิดา: เรื่อง ทวิภพ นี้ต้องอธิบายนิดหนึ่ง เพราะคนจะเข้าใจว่าไดเรกเตอร์คัตมักจะรีลิสทีหลังหนัง แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น ก็คือว่า หนังเรื่อง ทวิภพ ตอนนั้นทำออกมาฉายในโอกาสที่เป็นหนังพรีเมียร์ของเทศกาลบางกอกฟิล์ม หนังยาว 2 ชั่วโมงกว่า แล้วจำได้ว่างานก็ดึกมาก พอออกมาก็มีคนบ่นว่าหนังยาว พอจะรีลิสเขาก็เลยไปรีอีดิต แล้วตอนนั้นสำหรับตัวเองคือรู้สึกว่า การตัดต่อ การเล่าเรื่อง มันล้ำสมัยมาก ในโครงสร้างของงาน epic งานประวัติศาสตร์ แต่สตรัคเจอร์เป็นแบบหนังทดลอง ส่วนตัวคือตื่นเต้นมาก แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับภาวะตอนนั้น บริษัทก็อาจจะรู้สึกว่าคนจะเข้าใจมั้ย มันซับซ้อนเกินไปหรือเปล่า ก็ทำสั้นลง เพราะฉะนั้น ฉบับที่ฉายในโรงกับฉบับดีวีดี ก็จะเป็นฉบับที่สั้น แต่ด้วยความที่หอฯ มีก๊อปปี้นี้อยู่ เราก็เคยเอามาฉาย และอย่างที่บอก ทุกครั้งที่ฉาย คือคนก็จะแห่แหนกันมาดูจนแน่น แล้วคนที่ได้ดูทุกคนก็จะบอกว่า มันน่าประทับใจ น่าทึ่งอย่างประหลาดมากๆ เราเลยดีใจว่า เออ พอมันอยู่ตรงนี้ คนอื่นจะได้พิสูจน์ว่า ที่เราพูดนั้นจริงหรือเปล่า นี่มันคือออริจินัลคัตที่ออกมาตอนแรก และมีโอกาสฉายแค่งานบางกอกฟิล์มและอีเวนต์พิเศษไม่กี่ครั้ง
การเอาหนังขึ้นหิ้งมาฉายทางสตรีมมิ่งจะเป็นการลดทอนคุณค่าของหนังซึ่งควรดูในโรงหรือไม่
ยงยุทธ: ต้องบอกว่าอย่างนี้ครับ อย่างหนัง ลุงบุญมีฯ เราก็คุยกับทางทีม Kick the Machine ตั้งแต่ต้น ก็มีคำถามนี้ขึ้นมาเหมือนกัน แต่ว่าก็มีสิ่งที่เราแชร์กันว่า มีคนตั้งเยอะนะที่ยังไม่มีโอกาสดู แล้วพี่เจ้ยก็ยังทำหนังเรื่อยๆ อยู่ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าอย่างเรื่อง Memoria พูดตรงๆ ในฐานะคนดู ผมไม่แตะแน่นอน เพราะมันต้องเป็นประสบการณ์ของการดูในโรงจริงๆ แต่อย่างหนังเรื่อง ลุงบุญมีฯ ไม่ได้บอกว่าค่ามันต่างกันนะครับ แต่มันเป็นเรื่องที่ยังสามารถเอามาทำให้คนดูคุ้นเคยได้ หมายถึงว่า ของทุกอย่างมันต้องสร้างสักหน่อย มันต้องได้ทดลอง
อันหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่เน็ตฟลิกซ์ยืนยันชัดเจนคือ การที่มีเน็ตฟลิกซ์ขึ้นมา เราไม่ได้มาเพื่อแข่งขันหรือฆ่า หรือจะมาทำร้ายระบบ ทุกวันนี้เราก็เป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีกับผู้สร้างที่ทำฟีเจอร์ฟิล์มเข้าโรงหนัง ยิ่งหนังเรื่องไหนที่ได้เข้าโรงแล้วมาฉายที่เรา เราก็แฮปปี้ แล้วมันก็มีคนดู แต่ว่าอย่างที่บอก มันอาจจะมีเนื้อหาบางทางที่อาจจะดูเฉพาะกลุ่มหน่อย อาจจะไม่ตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจ และมันก็จะไม่มีโอกาสสร้างหรือไม่มีโอกาสฉายเลย ก็จะมีปัญหาของมันอยู่เหมือนกัน ตรงนี้เน็ตฟลิกซ์น่าจะเป็นตัวเสริมและเป็นพาร์ตเนอร์ที่ดีได้ของฟีเจอร์ฟิล์ม
เพราะฉะนั้น เราไม่ได้มองว่าการเอามาฉายมันเป็นการลดทอนคุณค่าของหนัง หลายๆ เรื่องจะเห็นว่ามันเข้าโรงหนังมาแล้ว และก็ยังไม่มีโอกาสกลับไปฉายที่โรงหนังอีก ทำยังไงให้คนได้ดูสิ่งนั้น เราถือว่าเป็นช่องทางที่ทำให้ได้ทดลองดู อย่างที่บอก เรื่องของ ลุงบุญมีฯ ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจง่าย สามารถดูในเน็ตฟลิกซ์ได้ แต่ถ้าอย่าง Memoria ปุ๊ป ไม่ได้แน่นอน เราก็จะไม่ไปแตะ โชคดีว่าทางทีมเราก็มีแบ็กกราวนด์ในเรื่องของการทำหนังเข้าโรงภาพยนตร์มา เราก็จะรู้ว่าประสบการณ์ในโรงภาพยนตร์มันเป็นยังไง
ชลิดา: หนังหลายๆ เรื่อง เมื่อก่อนเราก็ดูจากวิดีโอ ซีดี ดีวีดี มันก็เป็นทางเลือกเวลาเราไม่สามารถจะเข้าถึงตรงนั้นได้ แต่ว่าถ้ามีโอกาส หนังหลายๆ เรื่องเราคิดว่าคนก็อยากที่จะดูในโรง อย่างถ้าเป็นหนังพี่เจ้ย เมื่อก่อนฉายโรงค่อนข้างลำบาก ปัจจุบันเรายังเซอร์ไพรส์ว่า ในที่สุดพี่เจ้ยก็เหมือนแมสขึ้นมานิดหนึ่ง คือมันใช้เวลา ปัญหาคือเรื่องช่องทาง เรื่องดิสทริบิวชั่น หนังที่ไม่ได้อยู่ท็อปของบล็อกบัสเตอร์ ไม่ว่าหนังโลคัลหรือหนังอินดี้ ก็จะมีปัญหาเรื่องนี้ตลอด เราเลยคิดว่าการที่มันมีช่องทางสตรีมมิ่ง หนึ่งก็คือ ให้คนได้ชิม คนอาจจะได้ชิมหลายๆ อย่างที่เมื่อก่อนมันยากมากเลย หรือบางคนก็ต้องซื้อดีวีดี จ่ายแพงเป็นพัน สั่งมาจากเมืองนอก เราก็คิดว่าอันนี้มันทำให้ accessible มากขึ้น
ในอนาคตหอภาพยนตร์ก็อาจจะพรินต์ฟิล์มหนังบางเรื่องออกมาฉายกลางแปลง เพราะมันให้ประสบการณ์ที่ต่างกัน อย่างเราจัดงาน ‘ทึ่ง! หนังโลก’ หนังพวกนั้นทุกคนก็หาดูได้ในดีวีดีอยู่แล้ว แต่ทำไมคนถึงมาดูที่สกาล่าตอนนั้น เพราะมันให้ประสบการณ์บางอย่างที่แตกต่างกัน ต้องไหล่ชนไหล่ แล้วก็มีเสียงฮึมฮัมของคน 800 คน มันดีกว่า ก็เลยคิดว่าตรงนี้จะส่งเสริมซึ่งกันและกันมากกว่า ถ้าเราใช้มันให้ดี
สิ่งหนึ่งที่ตัวเองรอคอยมานานก็คือ เมื่อก่อนคนจะพูดว่าคนไทยไม่ดูหรอกหนังไทยแบบนี้ ส่วนตัวจะรู้สึกว่า เพราะเขาไม่มีโอกาสต่างหาก และอันนี้มันคือโอกาส แล้วเราเชื่อว่าเวลาคนได้โอกาสชิม โลกทัศน์ก็จะเปลี่ยนไป แล้วมันจะช่วยหนังใหม่ๆ ด้วย อาจจะช่วยเปลี่ยนทัศนคติคนที่จะให้เงินหรืออะไรก็แล้วแต่ว่า เฮ้ย คนก็ดูหนังแบบนี้ หนังที่คนคิดไม่ถึง ถ้ามีผู้กำกับที่เขาจะทำหนังอย่างนี้ มันเป็นไปได้นะ มันมีฐานคนดูอยู่ สิ่งที่เราคาดหวังคือ เราอยากให้คนไทยสนับสนุนหนังไทยเพราะคุณภาพมันดี ไม่ได้สนับสนุนเพราะเราเป็นคนไทย ช่วยๆ กัน ไม่ต้องก็ได้ ฉะนั้น เราอยากให้คนหลายๆ คนที่คิดว่ามีความสามารถได้มีโอกาสทำ และก็คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มันจะซัพพอร์ตให้เกิดขึ้นได้
แนวทางของหนังไทย Netflix Original
ยงยุทธ: ถ้าใช้คำให้เป็นแอ็กชั่นหน่อยคือ เรากำลัง push boundary ทุกๆ อย่างอยู่ แต่ต้องบอกว่าด้วยความเคารพนะครับ คือประสบการณ์จากที่ตัวเองเคยทำมา ประสบการณ์จากที่ได้ดูหนังยุคโน้นๆ มาตลอด เรารู้สึกว่าแนวคิดอะไรต่างๆ ของคนทำมีเยอะแยะมากมาย แต่ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง มันอาจจะเป็นเรื่องของยุคสมัย เรื่องของแฟชั่น เรื่องของกลไกการตลาดอะไรต่างๆ นานา ที่ทำให้การเลือกดูหนังกับการที่นำเสนอหนังออกไป มันมีข้อจำกัด แต่ที่ผ่านมาทั้งหมด ผมไม่เคยรู้สึกเลยว่าครีเอทิวิตี้ของคนไทยลดน้อยลง ยิ่งมีข้อจำกัดมาก ผมว่าจริงๆ แล้ว ทุกคนยิ่งครีเอทีฟมากในการที่จะพูดสิ่งนั้นออกไปโดยที่ไม่เกิดปัญหา
แต่ว่านั่นก็จะเป็นฟอร์มหนึ่งของยุค สมมติว่าผ่านไปอีกสัก 20 ปี เรามองกลับมายุคนี้ จริงๆ เราอาจจะเห็นว่า เขากำลังพูดเรื่องปัญหาสังคมอยู่นะ แต่ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่มันอยู่รอดได้ในยุคนี้ แต่ว่าในมุมของเน็ตฟลิกซ์เอง เนื่องจากว่าเราเป็นโกลบอลแพลตฟอร์ม เราเลยมีประสบการณ์ค่อนข้างเยอะในการที่เราเห็นโกลบอลคอนเทนต์จากที่ต่างๆ มันทำงานยังไง ทำงานกับคนในโลคัลเอง แล้วมันก็จะมีหลายๆ ส่วนที่ทำงานกับโกลบอลด้วย
ตอนที่ผมเข้ามาก็ต้องบอกว่าโชคดีที่ทางเน็ตฟลิกซ์เองเริ่มสำรวจความเป็นโกลบอลกับโลคัลมาสักพักหนึ่งแล้ว เขาเลยเริ่มมีความชัดเจนว่า การที่เราจะมาโฟกัสโลคัล มันเป็นสิ่งที่ทำได้ และแข็งแรงพอ เพียงแต่ว่าอาจจะต้องทำความเข้าใจกับออนกราวนด์เยอะๆ หน่อย มันเลยถึงต้องการคนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนมาดู ถ้าเป็นยุคแรกๆ ที่เคยได้ยินมาก็อาจจะเป็นแบบว่า เป็นทีมครีเอทีฟจากยูเอสมาดู แล้วก็อาจจะเบลนด์อินไม่ค่อยดีหรือเข้าใจยาก แต่มันก็ทำให้เกิดการเรียนรู้บางอย่างนะ ไม่ได้บอกว่าเราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากสิ่งที่เคยทำมา แต่ตอนนี้มันเหมือนว่าเราเริ่มชัดเจนขึ้นแล้ว แล้วสิ่งนี้เราก็กำลังจะเอามาใช้ ค่อยๆ สำรวจความหลากหลายของเนื้อหา และยิ่งตั้งแต่เข้ามา ผมได้เจอกับทีมครีเอทีฟเยอะมาก มากกว่าสมัยอยู่ในชีวิตที่แล้วอีก แล้วก็พบว่าจริงๆ ทุกคนก็มีไอเดียที่ดีอยู่ แต่อาจจะยังขาดโอกาส ขาดพื้นที่ ผมว่านี่ก็เป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ซึ่งคิดว่าเดี๋ยวพอปลายปีที่เราค่อนข้างพร้อมอีกนิดหนึ่ง จะเห็นแล้วล่ะว่าเราทำอะไรอยู่ และทำอย่างที่พูดอยู่มั้ยด้วย
ทำอย่างไรให้หนังไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในตัวเองได้บ้าง Netflix ไทยจะมีส่วนช่วยอย่างไร
ยงยุทธ: ผมว่าจริงๆ ในเชิงซอฟต์พาวเวอร์ ถ้าพูดถึงในฐานะแพลตฟอร์ม เรายินดีร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ถ้ามีคอนเทนต์ไทยที่ดี เราพร้อมฉายแน่นอน
แต่ถ้าพูดมุมส่วนตัว เราก็อยู่ในวังวนคำถามเรื่องซอฟต์พาวเวอร์มาสักพักหนึ่ง ย้อนไปตอนปี 2000 ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นอาจจะไม่เห็นภาพ อย่างคอลเลกชั่นที่เลือกมา ในวันนั้นเองคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ยังไม่มีนะ แต่ทำไมหนังไทยมันฮิตขนาดนั้น ทำไมหนังไทยสามารถปักธงในตลาดโลกได้ ทำไมคนดูเยอะ ทำไมคนรู้ว่ามีไทยซีเนม่าเกิดขึ้น อันนั้นแหละจริงๆ ซอฟต์พาวเวอร์มันได้เคยเกิดขึ้นแล้ว โดยที่ไม่มีการจำกัดรูปแบบ ซึ่งผมก็อยากจะเรียนว่า แม้กระทั่งเกาหลีเอง ณ วันเริ่มต้น เขาไม่ได้มาจากการที่ว่ามันจะคือซอฟต์พาวเวอร์หรอก แต่มันเป็นการทำให้วิชาชีพนั้นๆ หรือแนวทางนั้นๆ แข็งแรงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ตรงนั้นแหละที่มันจะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ โดยที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง โดยที่ไม่ได้มีกรอบมาก่อน แต่มันเกิดจากพื้นฐานที่แข็งแรงจริงๆ ทำหนังก็ทำให้เก่ง ทำอาหารก็ทำให้เก่ง ทำการท่องเที่ยวก็ทำให้เก่ง มันจะเริ่มจากตรงนั้นมากกว่า
ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไป เน็ตฟลิกซ์ไทยก็เป็นหนึ่งในฐานของตรงนั้นอยู่แล้ว เราก็พร้อมช่วย อย่างน้อยการที่เราพยายามจะมีโครงการนี้ขึ้นมา เรามายืนยันว่าคนไทยเก่งนะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะเกิดความหลากหลายมากขึ้น จากคนทำหนัง คนทำซีรีส์ที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ก็จะเป็นหนึ่งในการช่วยสร้างความแข็งแรง ทุกอย่างต้อง practice ครับ ถ้าเกิดไม่ได้มีการส่งเสริมแล้วไป pratice เอง จะไปรอผลที่ปลายทางอย่างเดียวก็ไม่ได้ แล้วอย่างที่บอก เอาปลายทางมากำหนดต้นทางที่ยังไม่พร้อมก็อาจจะเหนื่อยไปนิดหนึ่ง