ความยุติธรรมของมนุษย์นั้นเป็นสากลไหม? เวลาเราตัดสินอะไรว่าถูกหรือผิดตามหลักจริยธรรมของมนุษย์ หลักนี้สามารถใช้ครอบจักรวาลได้ทุกสายพันธุ์หรือเปล่า?
จากเหตุการณ์ ‘เจ้าเตี้ย’ สุนัขขาสั้นแสนรักของชาว มช. กับนิสัยอินดี้สไตล์หมาเนื้อหอม แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเมื่อเจ้าเตี้ยตายอย่างปริศนา ไม่ว่าจากอุบัติเหตุหรือการวางแผนฆ่า ขณะที่มิติคดีทางกฎหมายดำเนินไป ก็ปรากฏ ‘แม่ของเจ้าเตี้ย’ ที่ขึ้นไป สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ พร้อมกับป้ายห้อยคอ ‘ฆ่าลูกฉันทำไม’ เป็นนัยที่พยายามเอาผิดกับคนที่ขับรถพาเจ้าเตี้ยออกไปจาก มช.
ไม่น่าจะมีใครคิดว่าแม่เจ้าเตี้ยเป็นผู้เขียนข้อความนี้เองใช่ไหม ถ้าแม่เจ้าเตี้ยเขียนได้จริง แวดวงวิชาการศึกษาพฤติกรรมสัตว์คงต้องชำระองค์ความรู้กันยกใหญ่ ‘ฆ่าลูกฉันทำไม’ จึงเป็นการสื่อถึงมนุษย์ที่พยายามนำบรรทัดฐานความยุติธรรมใส่ให้สัตว์ แม้แม่เจ้าเตี้ยจะไม่เข้าใจความยุติธรรมเลยก็ตาม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการที่สัตว์มีพื้นที่บนโรงพักที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบยุติธรรมมนุษย์ เหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้แท้จริงแล้วเคยเกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลก และมนุษย์ก็ดำเนินคดีกับสัตว์จริงๆ
มีบรรดาสรรพสัตว์น้อยใหญ่ต่างขึ้นโรงขึ้นศาลในช่วงกระบวนการยุติธรรมกำลังตั้งไข่ นี่ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับกรอบความเป็นสากลของจริยธรรมที่เราผนวกโลกของสัตว์เข้ามาด้วย แม้พวกมันจะไม่เข้าใจกลไกซับซ้อนเหล่านี้เลยก็ตาม
หมูกับคดีฆาตกรรม
มีเหตุการณ์พิลึกในปี 1379 ช่วงยุคกลางตอนปลายที่ฝรั่งเศส เมื่อหมูเล้าหนึ่งเกิดอาการตื่นตระหนก ไล่ทำร้ายผู้คน แล้วทำให้ชายนามว่า Perrinot Muet ที่ดันไปอยู่ในจังหวะนั้นพอดีพลาดท่าเสียชีวิต ในทางกฎหมายของยุโรปขณะนั้นมองว่าหมูเล้านี้มีความผิดฐานฆ่าคนตาย เป็นความผิดร้ายแรงและต้องประหารชีวิต เป็นคดีอุกอาจที่ไม่ควรปล่อยให้ลอยนวล
เรื่องเดือดร้อนทำให้เจ้าของหมูนามว่า Friar Humbert ต้องสูญเสียหมูหมดเล้าที่อาจทำให้เขาสิ้นเนื้อประดาตัวทันที ชายผู้นี้จึงเขียนจดหมายคำร้องไปยังท่านดยุคแห่งเบอร์กันดีเพื่อขอความช่วยเหลือในการพิจารณาคดี เพราะการประหารหมูทั้งเล้าดูเป็นการลงโทษเกินไปเสียหน่อยและอาจทำให้หมูบริสุทธ์ต้องตายไปด้วย ท่านดยุคจึงแนะนำให้เอาผิดกับหมูเพียง 3 ตัวเท่านั้น ส่วนตัวอื่นๆให้ปล่อยไป ไม่มีหลักฐานว่าพวกเขาคัดเลือกหมูที่ทำผิดยังไง แต่การประหารสัตว์ส่วนใหญ่คือการแขวนคอ ตัดหัว และเผาทั้งเป็น
ในยุโรปช่วงนั้นมีเหตุการณ์ที่สัตว์ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลบ่อยๆ โดยอำนาจเชิงตุลาการอยู่ภายใต้ฝ่ายศาสนจักร นิกายคาทอลิก เรียกการไต่สวนสัตว์นี้ว่า animal trials ส่วนใหญ่พวกมันอยู่ในฐานะจำเลยผู้กระทำความผิด พฤติกรรมของสัตว์กลับถูกจัดอยู่บนบรรทัดฐานเดียวกันกับมนุษย์ และหากละเมิดกฎหมายนี้พวกมันก็ต้องถูกลงโทษในความผิดเดียวกันกับมนุษย์ ทั้งขังลืม แขวนคอ และเผาทั้งเป็น ณ สถานที่เดียวกันกับที่ใช้ลงโทษมนุษย์ นับเป็นความแปลกพิสดารที่คนในอดีตพยายามจัดการกับตราชั่งทางศีลธรรมแบบข้ามขอบเขตสายพันธุ์
สัตว์ที่ต้องคดีบ่อยในยุโรปคือหมู เพราะพวกมันมีจำนวนมากและยังไม่มีเทคโนโลยีการเลี้ยงแบบปิด หมูเป็นกองทัพจึงเดินสะเปะสะปะอย่างอิสระ พวกมันทำลายข้าวของชาวบ้าน หมูหนุ่มๆ ก็อาจฉุนโมโหไล่ขวิดผู้คนบ้าง (อย่าลืมว่าหมูแรงเยอะนะ) ดังนั้นจึงปรากฏวีรกรรมแสบๆ ของหมูที่เลยเถิดเป็นความรุนแรงต่อมนุษย์ เช่น ไปกัดเด็ก งับแขนขาจนเนื้อแหว่งวิ่น หรือรุมเขมือบเด็กเล็กไปเลยก็มี
ศาสนจักรเห็นว่าพฤติกรรมของสัตว์จำต้องอยู่ภายใต้กฎหมายมนุษย์ แนวทางคดีส่วนใหญ่จึงแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มแรกที่สัตว์มีพฤติกรรมก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของมนุษย์โดยตรง กลุ่มที่สองคือสัตว์รำคาญที่ก่อให้สูญเสียทรัพย์และผลผลิตทางการเกษตร เช่น หนูและตั๊กแตนที่รุมกินพืชผล สัตว์พวกนี้มีปริมาณมาก จำเป็นต้องขับไล่ออกไป
คดีความเกี่ยวกับสัตว์ของฝรั่งเศสที่บันทึกไว้มีมากกว่า 200 คดี ส่วนใหญ่สัตว์มักตกเป็นจำเลยต้องโทษประหาร นอกจากหมูแล้ว ยังมีควาย กระทิง ม้า ปลาไหล แกะ แพะ และสุนัข (บางบันทึกระบุว่ามีโลมา เรายังนึกไม่ออกว่าพวกมันต้องโทษอะไร)
ส่วนสัตว์อีกจำพวกที่ศาลออกคำสั่งอัปเปหิ (excommunication) หรือการขับไล่แทนการประหาร เพราะไม่รู้จะประหารยังไง เนื่องจากพวกมันมีจำนวนมากเหลือเกิน คือสัตว์จำพวกหนู ตั๊กแตน งู หอยทาก ปลวก เรียกการไต่สวนนี้ว่า vermin trials การดำรงอยู่ของพวกมันอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ไม่เหมือนกับสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์เป็นผู้ดูแล กระบวนการดำเนินคดีจะแตกต่างออกไป
โดยเจ้าทุกข์ (ชาวเมือง) จะร้องต่อศาลว่ามีพื้นที่ที่ศัตรูพืชกำลังระบาด ศาลจะแต่งตั้งทนายเพื่อแก้ต่างให้สัตว์เพื่อนำประเด็นเข้าสู่ศาล จากนั้นข้าราชการฝ่ายราชสำนักจะเป็นผู้กล่าวประโยคทำนองว่า สัตว์จำเลยได้มาอยู่ในศาลแล้ว (แม้พวกมันจะไม่ได้มาจริงๆ ก็ตาม) สัตว์จำเลยมีโอกาส 3 ครั้งที่จะมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลและยื่นอุทธรณ์ หากไม่มาปรากฏตัวตามคำสั่งศาล ศาลจะมีอำนาจอัปเปหิโดยทันที
แน่นอนว่าไม่มีหนูหรือตั๊กแตนตัวไหนมาตามคำสั่งศาลหรอก พวกมันจึงแพ้คดีแน่เหมือนแช่แป้งและต้องถูกกำจัดอยู่ดีในท้ายที่สุด ดังนั้นศาลตัดสินคดีความเกี่ยวกับสัตว์จึงออกจะเป็น ‘พิธีกรรม’ เสียมากกว่าการใช้อำนาจตุลาการตัดสินจริงๆ โดยอำนาจทั้งหมดอยู่ในการบริหารโดยศาสนจักรทั้งสิ้น
แล้วทำไมศาสนจักรถึงมีบทบาทคดีเกี่ยวกับสัตว์
นักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันอย่าง Peter T. Leeson มีทฤษฎีที่น่าสนใจว่า คดีเหล่านี้สร้างรายได้โดยง่าย
ค่าธรรมเนียมศาลจะตกเป็นของศาสนจักร และการที่ศาสนามีส่วนร่วมในการลงโทษแทนทำให้ชาวบ้านไม่ต้องลงมือเอง จึงช่วยลดความรู้สึกผิดบาป ความยุติธรรมในศาลอยู่ภายใต้การตัดสินของพระเจ้าและมีความชอบธรรม สัตว์ที่กระทำผิดต่อมนุษย์เป็นบาป ต้องถูกลงโทษหรืออัปเปหิออกไป
เรายังต้องทำความเข้าใจอิทธิพลทางสังคมในยุคกลางตอนปลายอีกว่า ช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สังคมยุโรปพยายามจะธำรงไว้ซึ่งระเบียบและกฎเกณฑ์ เพื่อไม่ให้สังคมออกนอกลู่นอกทางหลังจากที่ผ่านยุคมืด ข้อพิพาทระหว่างคนและสัตว์จึงอาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยให้สังคมมนุษย์มีความเป็นอารยะมากขึ้น
แม้ดูเป็นการเอาเปรียบสัตว์ที่ยังไงพวกมันก็ต้องผิดอยู่วันยังค่ำ แต่ในอีกมิติหนึ่งเมื่อสัตว์มีพื้นที่ในระบบยุติธรรมช่วงแรกๆ ทำให้สังคมเริ่มมองเห็นสัตว์ การกระทำของสัตว์มีแรงจูงใจ และมีแนวคิดว่า ‘สัตว์มีสิทธิ’ ถึงจะไม่ชัดเจนเลยทีเดียว แต่เกิดการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ผ่านกระบวนทัศน์ทางสังคมที่มีต่อสวัสดิภาพสัตว์
มีเหตุการณ์น่าสนใจในฝรั่งเศสเมื่อปี 1750 เมื่อลาแก่ตัวหนึ่งถูกใช้งานอย่างหนัก พอมันล้มลงเจ้าของลาก็ยังถูกทุบตีอยู่อีกจนปางตาย ทำให้ชาวเมืองที่เห็นต้องช่วยกันห้ามและยื่นเรื่องต่อศาลว่า ผู้เป็นเจ้าของไม่สมควรครอบครองลาตัวนี้เนื่องจากมีพฤติกรรมทารุณสัตว์จนเกินไป นี่จึงเป็นแสงสว่างแรกๆ ของการนำเสนอแนวคิดสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) เข้าสู่สังคมโลก มนุษย์มิใช่เพียงผู้ใช้งานสัตว์ยังไงก็ได้ แต่ต้องให้สภาพการเป็นอยู่ที่ดีต่อสัตว์ที่ครอบครองด้วย
จากเมื่อก่อนเรามองสัตว์ว่าเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมโดยธรรมชาติ แต่สังคมมนุษย์พบว่าพวกมันเองมีความรู้สึก รับรู้ถึงความเจ็บปวด การทำความเข้าใจสวัสดิภาพสัตว์ใช้เวลาอีกหลายร้อยปีกว่าจะมาถึงปัจจุบันที่เราพยายามรักษาสิทธิบางประการที่สัตว์พึงมีเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ เช่น พยายามรณรงค์ไม่ให้มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสัตว์ ไม่สนับสนุนยาหรือเครื่องสำอางที่ทดลองในสัตว์ พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เบียดเบียนสัตว์น้อยที่สุด ไม่อยากเห็นการใช้แรงงานสัตว์อย่างทารุณ ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ฉบับแรกเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2557 คือ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ กฎหมายฉบับนี้ห้ามทารุณสัตว์ โดยห้ามทำให้สัตว์เจ็บปวดทางกายหรือใจจนพิการหรือตาย
นี่จึงเป็นความเข้าใจใหม่ๆ ที่เรามีต่อชีวิตสัตว์ ดังนั้นหากเราเอากรอบความยุติธรรมของมนุษย์โดดๆ มาสวมให้สัตว์อาจจะไม่ใช่เรื่องถูกต้องนัก เพราะเราต้องศึกษาวิถีการดำรงอยู่ของสัตว์ที่อยู่นอกเหนือสังคมมนุษย์ พวกมันมีโครงสร้างทางสังคมยังไง พวกมันอยู่กันเป็นฝูงและบริหารจัดการอำนาจยังไงเพื่อการดำรงอยู่ การอ้างความยุติธรรมของมนุษย์ไปจับใส่ปากสัตว์จึงอาจทำให้เกิดอคติต่อการตัดสินใจหลายๆ อย่างของพวกเรา
แต่ความสวยงามหนึ่งในสังคมมนุษย์ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องคือ การเรียกร้องสวัสดิภาพสัตว์ที่เราจะไม่ทนเห็นการทารุณสัตว์ในรูปแบบต่างๆ แม้ตัวสัตว์เองจะไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมใดๆ และอาจไม่เข้าใจความยุติธรรมเลย มนุษย์ยังสามารถมอบสวัสดิภาพที่ดีแก่ชีวิตพวกมันโดยไม่จำเป็นต้องตีค่ามันเป็นอื่น สัตว์ยังคงเป็นสัตว์อันมีเอกลักษณ์โดดเด่น ไม่ต้องจำแลงกายเป็นมนุษย์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
อ้างอิง
Animal Trials: A Multidisciplinary Approach
Official account of the noble lords bite! and his dangerous condition
The Trial of Animals and Insects. A Little Known Chapter of Medieval Jurisprudence