ชวนไปดู Khonkaen Manifesto #2 อนุสรณ์สถานถึงเมืองชุมทางที่ไร้กะหรี่

Highlights

 
  • เทศกาลศิลปะ Khon Kaen Manifesto #2 จัดแสดงระหว่างวันที่ 10-20 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ในพื้นที่ 4 แห่ง ได้แก่ เฮือนแม่จ้างข้างซอยเทพารักษ์ 5 (บ้านไม้ตึก VIP), ใหม่อีหลี พื้นที่ศิลปะเปิดใหม่ใกล้บึงแก่นนคร, YMD Art space และบ้านดาวดิน
  • งานครั้งนี้เป็นการร่วมแสดงงานของศิลปินและนักปฏิบัติการแรงงานทางศิลปะกว่า 60 ชีวิต ผ่านการเชิญชวน และการเปิดรับสมัครแบบ open call ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ได้โดยไม่มีข้อจำกัด
 

การมาถึงของรถไฟฟ้าความเร็วสูง อุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนระอุ และการวางศพหุ่นจำลองของผู้ถูกบังคับให้สูญหายที่อนุสาวรีย์จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จุดหมายของเราในคราวนี้ย่อมจะเป็นที่อื่นไปไม่ได้นอกจากการเยี่ยมชมเทศกาลศิลปะ ขอนแก่นมานิเฟสโต้ (Khon Kaen Manifesto #2): เฮือนแม่จ้าง ข้างอนุสาวรีย์ นางงามที่ บขส.ที่จัดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น เมืองที่เคยถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาดหมายให้เป็นศูนย์กลางของภาคอีสาน ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) จนเกิดเป็นวลีสำคัญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก”

กลับมาอีกครั้งในรอบสองปี หลังจากที่ขอนแก่นมานิเฟสโต้ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2561 ได้เปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของปฏิบัติการทางศิลปะ ผ่านสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน งานในครั้งนั้นจัดขึ้น ณ ตึกร้างอาคารจีเอฟเก่า บนถนนมิตรภาพ ภายใต้โครงสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างไม่เสร็จ ซึ่งสะท้อนภาวะความล้มเหลวและล่มสลายจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของเมืองไทย สอดคล้องกับที่ผลงานศิลปะซึ่งจัดแสดงในคราวนั้นก็ต่างสะท้อนภาพความล้มเหลวของรัฐ การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ในปีนี้ ขอนแก่นมานิเฟสโต้ ได้มุ่งประเด็นไปที่การขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ของพื้นที่ซึ่งถูกทำให้ลืมเลือนไป ผ่านการจัดแสดงผลงานศิลปะที่สัมพันธ์กับชุมชน และการเลือกทำงานศิลปะที่สัมพันธ์กับบริบทของพื้นที่ (site-specific) โดยกระจายพื้นที่จัดแสดงทั่วเมืองขอนแก่นกว่า 5 จุด ได้แก่ ซ่องร้าง, อาคารพาณิชย์ที่ไม่มีใครเช่าใกล้กับ บขส.เก่า, พื้นที่ศิลปะทางเลือก, บ้านของกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงการเปิดตัวพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยแห่งใหม่ของเมืองขอนแก่น ใหม่อีหลี

‘เฮือนแม่จ้าง ข้างอนุสาวรีย์ นางงามที่ บขส.’ คือใจความสำคัญของเทศกาลในปีนี้ ประโยคสำคัญที่บ่งบอกทั้งรูปแบบของกิจการและโลเคชั่นไปพร้อมกัน เฮือนแม่จ้าง แปลว่า ซ่อง จากคำบอกเล่าของผู้คนในพื้นที่ บริเวณถนนเทพารักษ์ในอดีตนั้นเคยเต็มไปด้วยซ่อง เพราะมันอยู่ไม่ไกลจาก บขส.มากนัก เมื่อเป็นชุมทางของการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างอีสานไปสู่ภูมิภาคอื่น การไหลมาของผู้คนจึงนำมาซึ่งความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ถนนเทพารักษ์ในอดีตจึงเต็มไปด้วยร้านค้า ผับ บาร์ และซ่อง กระทั่งในปี 2557 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ จึงออกมาตรการกวาดล้างสถานบริการทั่วประเทศ (คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558) พื้นที่เหล่านี้จึงเลือนหายไป 

ซ่องกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และการขายตัวกลายเป็นอาชญากรรมภายหลังจากที่จอมพล สฤษดิ์ออก ‘พระราชบัญญัติการค้าประเวณี พ.ศ. 2503’ ห้ามไม่ให้มีการค้าประเวณี และมีบทลงโทษทั้งจำและปรับ โดยภายหลังตัวบทกฎหมายก็ได้พัฒนาไปเป็น ‘พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539’ แม้ว่าจะซ่องกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายและถูกควบคุมโดยรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม สถานที่เหล่านี้ก็ไม่เคยจะหายไปจากหน้าของสังคมไทย

ซ่อง นครโสเภณี กะหรี่ และหญิงงามเมือง สิ่งต้องห้ามที่ถูกทำให้หายไปในภูมิทัศน์เมืองขอนแก่น

ช้างน้อยซอยห้า อนาคอนด้าประตูเหล็ก, 2020 โดย มนพร รอบรู้

‘ช้างน้อยซอยห้า อนาคอนด้าประตูเหล็ก’ ข้อความจากสติ๊กเกอร์สีดำตัวหนาติดอยู่ระหว่างช่องทางเดินของบ้านไม้สองชั้นที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่า ‘ซ่อง’ แม้ว่าปัจจุบันสถานที่แห่งนี้จะกลายเป็นบาร์ค็อกเทลที่เปิดบ้างไม่เปิดบ้าง สลับกับร้านขายเฉาก๊วย แต่อาคารหลังนี้คือหลักฐานชิ้นสุดท้ายในการมีอยู่ของซ่องที่ยังไม่โดนทุบทำลาย

มองจากด้านหน้า แม้ว่าตัวอาคารจะดูไม่ใหญ่นัก แต่ถ้าได้ลองพินิจดูดีๆ เราจะมองเห็นช่องทางเดินเรียบชิดติดกำแพง ที่หากเดินลึกเข้าไปจะพบว่าภายในอาคารถูกซอยเป็นห้องขนาดเล็กๆ หลายห้อง

ไร้ซึ่งหน้าต่าง อับชื้น มีแค่พัดลมดูดอากาศ และพื้นที่แคบๆ ที่เพียงแค่วางเตียงก็ดูจะคับเต็มห้อง และต่อให้ห้องเล็กๆ นี้จะใช้สำหรับกิจกรรมประกอบจังหวะเพียงอย่างเดียวก็ดูจะคับแคบเกินไป ในเทศกาลศิลปะครั้งนี้ ห้องต่างๆ นี้ก็ได้กลายเป็นที่จัดแสดงผลงานที่บรรดาศิลปินจับจองเพื่อใช้เล่าเรื่องการค้าประเวณีในแง่มุมที่แตกต่างกันไป

แตก, 2020 โดย กุลธิดา กระจ่างกุล ภาพ : Burindhorn Tantrakul

ผลงานศิลปะจัดวาง แตก, 2020 โดยกุลธิดา กระจ่างกุล ได้จำลองห้องห้องหนึ่ง ประหนึ่งว่ากำลังพาเราย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่ซ่องยังอยู่ในยุคเฟื่องฟู กุลธิดานำเตียง หมอน ฟูกที่ถูกทิ้งร้างมาจัดใหม่ ราวกับจะเชื้อเชิญให้เราล้มลงนอนภายใต้หลอดไฟสีส้มสลัว แต่เมื่อเพ่งมองให้ดีเราจะเห็นว่าบนฟูกกลับมีหมุดปักอยู่บนคราบรอยจางๆ ซึ่งเกิดจากการที่ศิลปินบรรจงเพนต์รูปแผนที่เมืองขอนแก่นด้วยอสุจิของอาสาสมัครชายกว่าสิบชีวิต ส่วนหมุดที่ตอกบนแผนที่ก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องบอกอาณาเขตและอาณาบริเวณของย่านบันเทิงและการค้าบริการที่ปัจจุบันถูกทำให้เลือนหายไปจากความทรงจำร่วมสมัยและประวัติศาสตร์ของเมืองขอนแก่น

ไม่ได้มีเพียงซ่องที่เสื่อมสลาย สถานบันเทิงเองก็เช่นกัน ถัดไปจากบ้านไม้ซอยห้าคือ ‘HELL CLUB’ สถานบันเทิงที่ปิดร้างไปกว่ายี่สิบปี ข้างในอาคารตกแต่งด้วยปูนปั้นและจิตรกรรมสีส้มและแดงเพลิงราวกับเราอยู่ในนรก กุญแจที่ปิดตายของ HELL CLUB ถูกสะเดาะอีกครั้งเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับกิจกรรมเปิดเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นการอ่านบทกวี การแสดงดนตรีอันเดอร์กราวนด์ รวมไปถึงเป็นเวทีให้ศิลปินหญิง วิลาวัณย์ เวียงทอง ในการทำงานศิลปะแสดงสด The Land of Compromise ที่เธอแต่งกายในชุดแม่ชีสีขาว ยืนหัวเราะสลับร้องไห้อยู่หน้ากระจกขณะเผชิญหน้ากับข้อความจากผู้ที่ไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยที่ร่างกายของเธอถูกกักขังภายใต้ชุดแม่ชีที่ร้องเรียกหาอิสรภาพในคุกนรก กลับไม่มีความประนีประนอมปรากฏแต่อย่างใด 

ภาพ : ธิติวุฒิ มะลิงาม

วิลาวัณย์ยืนอยู่อย่างนั้นเป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง 45 นาที ยาวนานพอที่จะเราให้เห็นภาพของความทรมาน ความขัดแย้งแปลกประหลาด ความเศร้าปนขมขื่น สับเปลี่ยนกับเสียงหัวเราะที่คอยกลบเกลื่อนความน่าเวทนาของชีวิต ในทางหนึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า ผลงานของวิลาวัณย์คือตัวอย่างของความเป็นหญิงที่ถูกกดทับภายใต้โครงสร้างของอำนาจชายเป็นใหญ่  

ภาพ : ธิติวุฒิ มะลิงาม

การเมือง ศิลปะใดๆ ล้วนเป็นเรื่องของการเมือง 

ลัดเลี้ยวมาอีกช่วงมุมถนน สู่อาคารห้องแถวติดกันหลายคูหา หนึ่งในนั้นถูกปักหมุดเป็น Factory B หนึ่งในพื้นที่แสดงงานของเทศกาลในครั้งนี้ โดยตัวตึกตั้งติดอยู่กับ ‘ถนน 5 พฤศจิกายน 2498’  ถนนสายสำคัญของเมืองขอนแก่นที่ตั้งชื่อตามวันที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในจังหวัดขอนแก่นโดยรถไฟพระที่นั่ง เมื่อรถไฟและรถทัวร์ บขส.ต่างทำหน้าที่เชื่อมต่อเคลื่อนย้ายพลวัตแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง และนำความเป็นเมืองสู่ชนบท ถนนสายนี้จึงเป็นอนุสรณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นการมาถึงของความเป็นเมือง 

เมื่อย่างเท้าก้าวเข้าตึก เราพบกับร่องรอยของเถ้าถ่าน และเศษซากที่มาจากผลงานแสดงสดของกลุ่มศิลปิน Performance Art Chiang Mai ที่เขียนต้อนรับว่า ‘Democracy’ ราวกับจะประกาศก้องว่า ผลงานที่เราจะได้เห็นต่อไปนี้คือพลังขับเคลื่อนประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ หากบทบาทของบ้านไม้ซอยห้าคือประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ตึก Factory B ก็เป็นดั่งพื้นที่สนทนาภาคการเมืองระหว่างศูนย์กลางอย่างกรุงเทพมหานครกับคนในพื้นที่ ผลงานในตึกนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นผลงานของนักศึกษา และเหล่าคนรุ่นใหม่ที่ออกไปเรียกร้อง เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกดทับในระบบการศึกษา ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่ชอบ และการเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ผลงานหลายชิ้นมีลักษณะการใช้สัญลักษณ์ทางการเมือง ไปจนถึงการจัดแสดงวัตถุจริงอย่างเสื้อนักศึกษาเปื้อนคราบสีฟ้าที่ผ่านประสบการณ์แก๊สน้ำตาจากความพยายามสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ณ แยกปทุมวัน กล่าวได้ว่าผลงานหลายชิ้นในนี้จึงเป็นดังเครื่องบันทึกเหตุการณ์ประเด็นทางสังคมการเมืองร่วมสมัยที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ

ยังมีอีกเรื่องที่ทำให้เราประหลาดใจ คือการได้เห็นผลงานจิตรกรรมของมิตร ใจอินทร์ ชิ้นเดียวกับที่ขอให้ถูกปลดออกเมื่องานขอนแก่นมานิเฟสโต้ครั้งแรก ผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ห้อยทิ้งลงมาจากชั้นสองสู่พื้นที่ชั้นหนึ่ง จิตรกรรมทั้งผืนถูกปูพื้นด้วยสีดำ มีช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กสีขาวแดงขาวอยู่ตรงกลาง หากมองเผินๆ ดูจะเป็นงานจิตรกรรมนามธรรมธรรมดา แต่ในขณะเดียวกันเราก็อาจตีความจากสัญญะของสีต่างๆ นี้ได้ว่าเป็นธงสหพันธรัฐไทย สัญลักษณ์ที่กลายเป็นวิญญาณหลอกหลอนเจ้าหน้าที่รัฐไทย จนเกิดเป็นการฟ้องร้องคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 อีกหลายคดี การได้เห็นผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงอีกครั้ง อาจถือว่าเป็นผลพลอยได้ที่วงการศิลปะได้รับจากการผลักเพดานของกลุ่มนักศึกษาแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ช่วยปลดปล่อยการพูดถึงประเด็นทางการเมือง ความเป็นรัฐชาติ ความเป็นสถาบันให้กว้างกว่าครั้งไหนๆ โดยที่เราก็ไม่ต้องแสดงออกอย่างกระมิดกระเมี้ยนกันอีกต่อไป 

แม้ว่าจะมีระยะเวลาเพียงแค่ 10 วันสำหรับการชมงานศิลปะกว่าหลายสิบชิ้นในเทศกาลศิลปะขอนแก่นมานิเฟสโต้ อาจจะน้อยไปสักหน่อย แต่เทศกาลนี้จะกลับมาใหม่อีกครั้งในปี 2024 ด้วยประเด็นโรคสมัยใหม่และปัญหาโครงสร้างของความเป็นเมือง ณ จังหวัดขอนแก่น และอาจเป็นที่ใดสักแห่ง สุดแดนอีสาน แถวแถบเทือกเขาภูพาน 

AUTHOR