เบื้องหลัง ‘NANN NIK-NIK’ กับการยกภูเขาออกจากน่านมาไว้บนเสื่อพับรุ่นฮิตของ PDM

NANN NIK-NIK หากจะพูดถึงแบรนด์ที่เปลี่ยนสินค้าท้องถิ่นไทยให้ร่วมสมัย เราคิดว่า PDM BRAND คือหนึ่งในแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จด้านนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นชื่อ PDM คือแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้านสัญชาติไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการหยิบเอาของพื้นบ้านอย่างเสื่อมารีดีไซน์ใหม่ให้มีฟังก์ชั่นคล้ายพรม จนเกิดเป็นเสื่อกราฟิกลายสวยที่มีคุณสมบัติทนแดด ทนฝน ไม่อมฝุ่น ดูแลรักษาง่าย ขวัญใจของเหล่าแม่บ้าน พ่อบ้าน และอินทีเรียร์ดีไซเนอร์แทบทั้งวงการ

โจทย์ล่าสุดของ PDM คือการถ่ายทอดกลิ่นอายของจังหวัดน่านผ่านโปรดักต์สุดเก๋อย่างเสื่อพับรุ่น ‘NIK-NIK’ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามไอเทมจากโปรเจกต์ ‘โชว์เหนือ’ ที่ a day ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่ง ดิว–ดุลยพล ศรีจันทร์ ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง PDM ก็ได้ชวน โน๊ต–ขนิษฐา นวลตรณี นักออกแบบสิ่งทอประจำมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และเจ้าของสตูดิโออย่าง Kaniit.Textile มารับหน้าที่ในการออกแบบ 

ผลลัพธ์ของโจทย์ดังกล่าวออกมาเป็น NANN เสื่อพับลายสวยที่โน๊ตตั้งใจยกภูเขาออกจากน่านมาไว้บนเสื่อ แถมเธอยังใช้รอยพับของเสื่อ NIK-NIK ให้เป็นประโยชน์ จากที่ดูเหมือนจะเป็นข้อเสียเมื่อเทียบกับเสื่อผืนใหญ่ที่โชว์ลวดลายได้แบบเต็มๆ เมื่อโน๊ตตั้งใจออกแบบลายให้ล้อไปกับรอยพับจึงเกิดเป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

เบื้องหลังวิธีคิดและการทำงานเหล่านี้เองที่ถักทอรวมกันจนกลายเป็นเสื่อ NANN NIK-NIK พวกเขาทำได้ยังไง ปูเสื่อนั่งฟังโน๊ตและดิวเล่าได้เลย

PDM x Kaniit.Textile 

โดยปกติแล้ว ลายเสื่อส่วนใหญ่ของ PDM จะมีหัวเรือด้านการออกแบบและวางทิศทางหลักๆ คือ Sini Henttonen ดีไซเนอร์ชาวฟินแลนด์ เพื่อนของดิว ผู้จุดประกายให้ดิวสนใจนำเสื่อมาออกแบบให้เป็นของตกแต่งในบ้านและเริ่มต้นทำแบรนด์ PDM 

แต่ด้วยเป้าหมายของดิวเองที่อยากให้สินค้าของ PDM ผ่านการคิดจากดีไซเนอร์หลากหลายสาขา เขาจึงชวนนักออกแบบที่น่าสนใจมาทำงานด้วยกัน ซึ่งโน๊ตเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่เคยร่วมโปรเจกต์กับ PDM มาแล้วในการออกแบบเสื่อรุ่น AAMU 

“ในมุมผมการทำงานดีไซน์ของโน๊ตแตกต่างจากดีไซเนอร์คนอื่นๆ เพราะเขาไม่ได้เริ่มต้นจากการออกแบบลายก่อน แต่เริ่มจากศึกษาเทคนิคที่จะทำงานนั้นขึ้นมาแล้วค่อยออกแบบลายตามเทคนิคนั้นๆ อย่างการดีไซน์ AAMU ที่เคยทำก็เกิดจากการไปดูว่าวิธีการทำงานของเครื่องจักรเป็นยังไง แล้วโน๊ตก็เกิดไอเดียว่าอยากออกแบบลายที่ค่อยๆ วางเส้นที่จะสานเป็นเสื่อทีละเส้น ซึ่งมันเป็นวิธีการแบบนักออกแบบสิ่งทอเลย” ดิวเล่าถึงความประทับใจที่เขามีต่อดีไซเนอร์ผ้าทอ

“ทีนี้พอคอนเซปต์ของเราคือการท่องเที่ยวและภาคเหนือ เมื่อได้รับโจทย์มาปุ๊บ โน๊ตเป็นคนเดียวที่เรานึกถึง” ดิวเกริ่น ก่อนจะอธิบายต่อ

“ถ้าไปดูเส้นทางการทำงานของโน๊ต เขาผูกพันกับภาคเหนือมาตลอดแม้ว่าจะไม่ใช่คนเหนือ ก่อนหน้านี้เขาเคยฝึกงานที่ดอยตุง ตอนนี้ทำงานอยู่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ แล้วก็มีความเข้าใจเรื่องพื้นถิ่นแถวนี้ รวมถึงการทอผ้าที่เขาเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี พอรวมส่วนผสมในตัวของโน๊ตแล้วผมคิดว่าเขาตรงโจทย์ที่สุด เรานึกคนอื่นไม่ออกเลย”

ยกภูเขาออกจากน่าน (มาไว้บนเสื่อ)

แม้จะคุ้นเคยกับภาคเหนือมากแค่ไหน แต่โจทย์นี้ก็ไม่ใช่งานง่ายสำหรับโน๊ตอยู่ดี เธอจึงใช้เวลาไปไม่น้อยเพื่อตามหาคอนเซปต์ที่ใช่และลายที่เหมาะสม โดยเริ่มต้นจากการถามตัวเองง่ายๆ ก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะนึกถึงเมื่อต้องเดินทางไปจังหวัดน่าน Longer text and then longer and longer and longer text. In conclusion we need longer text

“ส่วนตัวเรานึกถึงภูเขา โดยเฉพาะเวลาที่ขึ้นไปอยู่ตรงยอดเขาจะเห็นลักษณะภูเขาเรียงซ้อนกันไปมา ซึ่งไม่ใช่แค่สำหรับน่านเท่านั้น เพราะความจริงแล้วเวลาพูดถึงภาคเหนือ เกือบทุกคนก็จะนึกถึงวิวภูเขาซ้อนต่อกันแบบนี้” หลังจากได้คอนเซปต์หลักแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการรีเสิร์ชข้อมูลและทำแบบร่าง

“เราหาข้อมูลด้วยการไปถามเพื่อนที่ชอบเดินป่า เดินเขา ซึ่งก็ได้ข้อมูลว่า หนึ่ง–ภูมิศาสตร์ของน่านกว่า 85 เปอร์เซ็นต์เป็นป่าและภูเขา สอง–มีสภาพอากาศแบบชื้น บรรยากาศเย็นๆ ครึ้มๆ หมอกเยอะ แต่ก็มีทั้งป่าทึบผสมกับพื้นที่เกษตรกรรม และสาม–ถ้าเดินลึกเข้าไปอีกจะได้บรรยากาศเหมือนป่าในเทพนิยายซึ่งมีเสน่ห์มากๆ ทั้ง 3 ข้อที่ว่าคือการตีความภูเขาของจังหวัดน่านในแบบของเรา” 

โน๊ตออกตัวว่าเธอเป็นคนที่มักจะสลับโหมดการทำงานไปมาระหว่างการออกแบบลายในคอมพิวเตอร์และการสเกตช์ด้วยมือ แต่หนึ่งในภาพร่างที่เตะตาเป็นพิเศษก็คือรูปทรงภูเขาสีดำมากมายบนกระดาษ

“เราพยายามจะหา motif หรือแม่ลายภูเขาที่ไม่แข็งจนเกินไป คือถ้าให้เราวาดมันก็อาจจะดูไม่ค่อยธรรมชาติเท่าไหร่ เราเลยใช้การฉีกกระดาษเพื่อให้ได้เส้นที่ดูเป็นธรรมชาติจริงๆ ฉีกไปเรื่อยๆ เหมือนกับที่ครูฝรั่งชอบบอกเราว่า ‘ลองเลย ไม่ต้องไปคิดหรือกะเกณฑ์อะไรมาก’ ซึ่งก็มีหลายอันที่น่าสนใจ เราจึงนำไปสแกนเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานต่อ” 

เปลี่ยนข้อจำกัดของเสื่อพับเป็นเอกลักษณ์ของ NANN

ในบรรดาเสื่อหลากรุ่นหลายไซส์ของ PDM สิ่งที่ดิวเลือกมาให้โน๊ตออกแบบคือ NIK-NIK เสื่อพับได้พกพาสะดวกที่เปิดพรีออร์เดอร์กี่รอบก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

“เรารู้สึกว่ามันเหมาะกับพฤติกรรมคนไทยที่ชอบเอาเสื่อติดรถหรือหิ้วไปไหนก็ได้ ยิ่งโปรเจกต์นี้ตั้งใจพูดถึงการท่องเที่ยวมันก็ยิ่งตอบโจทย์สำหรับใครที่ชอบเอาเสื่อไว้หลังรถ” ดิวบอกกับเรา

มาถึงตรงนี้ ใช่ว่าโน๊ตจะนำคอนเซปต์เรื่องป่าเขาที่ได้จากการรีเสิร์ชไปออกแบบลายในทันที เพราะเธอเลือกที่จะย้อนกลับไปศึกษาโครงสร้างและการใช้งานเสื่อรุ่น NIK-NIK อย่างลงลึก เพื่อให้การออกแบบลายเป็นไปอย่างราบรื่นและลงตัวที่สุด

“เราพยายามศึกษาว่าแพตเทิร์นของ NIK-NIK เป็นยังไง อธิบายง่ายๆ คือมันเป็นเสื่อที่จะมีรอยพับ 3 ทบตามแนวยาว ซึ่งจะมีผลต่อการออกแบบของเรา เพราะเราคิดว่าถ้าดีไซน์เป็นลายใหญ่เลยแล้วตอนใช้จะต้องมาพับอาจจะไม่เหมาะเท่าไหร่” โน๊ตอธิบายถึงข้อจำกัดก่อนที่ดิวจะเสริมต่อ Longer text and then longer and longer and longer text. In conclusion we need longer text

“NIK-NIK ถือว่าเป็นเสื่อที่มีความซับซ้อนในระดับหนึ่ง ต้องยอมรับว่าช่วงแรกที่เราพัฒนาดีไซน์เสื่อให้ใช้งานแทนพรมมันสวยจริง แต่พอจะต้องพับไปใช้ที่อื่นแล้วมันไม่ได้เลย ต้องดีไซน์ใหม่ตลอด” 

โชคดีที่โน๊ตจัดการกับอุปสรรคข้อนี้ได้อย่างชาญฉลาด Longer text and then longer and longer and longer text. In conclusion we need longer text

“เราคิดว่าอยากใช้รอยพับให้เป็นข้อดี โดยใช้การออกแบบลายที่คล้ายกับ patchwork หรือศิลปะการเย็บปะติดปะต่อผ้า” โน๊ตเล่า และดิวเองก็เห็นด้วยที่เธอตัดสินใจใช้รอยพับเป็นหนึ่งในการดีไซน์ ไม่ใช่แค่วิธีการเก็บเสื่อ

แต่การจะทำให้คอนเซปต์ที่คิดไว้กลายมาเป็นลายบนเสื่อก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งการต้องแยกออกมาเป็นภาพปะติดปะต่อเพื่อเล่นกับรอยพับแล้วดูจะเป็นสิ่งที่ท้าทายอยู่ไม่น้อย 

“ความยากของมันคือเราคิดไม่ออกเลย” โน๊ตยอมรับพลางหัวเราะ “พอเราอยากทำให้มันเป็น patchwork เราต้องแบ่งลายกราฟิกที่ออกแบบเป็นช่อง แล้วแบ่งช่องแบบไหนถึงจะดูสวย นอกจากนี้มันยังมีเรื่องเชิงเทคนิคด้วย อันไหนทำไม่ได้เราก็ต้องค่อยๆ ลดทอนลงมา”

จากตอนแรกโน๊ตตั้งใจจะออกแบบลายให้เห็นภูเขาทั้ง 3 ระดับ แต่การออกแบบเสื่อทำให้เธอต้องคำนึงถึงโครงสร้างการทอระหว่างออกแบบด้วย ซึ่งเทคนิคการทอแบบ jacquard ของ PDM ก็ทำให้บางอย่างที่โน๊ตออกแบบไว้ต้องลดทอนไปตามสเกลของเครื่องจักร 

สีเขียวของป่าเขาที่ไม่ได้มีแค่เฉดเดียว

นอกจากลวดลายแล้ว เครื่องจักรและเทคนิคการทอแบบ jacquard ยังสร้างข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งให้กับนักออกแบบนั่นคือ ‘สี’ ซึ่งโน๊ตสามารถเลือกใช้ได้เพียง 4 สี แล้วจึงค่อยวางแผนให้ลายออกมาได้ตามภาพที่วางไว้

เรียกได้ว่าเป็นงานออกแบบที่ยากราวกับแก้สมการเลยทีเดียว

“โครงสร้างพื้นฐานของการทอเสื่อคือเราจะดูว่าอยากให้ลายมันมาจากการเรียงตัวกันเป็นเส้นเดียวหรือจะให้มีสองสีสลับกัน” โน๊ตอธิบายวิธีการทำงานพร้อมโชว์ภาพประกอบจากแฟ้มของเธอ

“ในเมื่อเรากำลังจะพูดถึงป่าและภูเขา สีแรกที่เราเลือกจึงเป็นสีเขียว แต่เราอยากได้เฉดสีที่เพิ่มขึ้น ก็ต้องเลือกว่าสีไหนที่ผสมออกมาแล้วได้เฉดเพิ่ม เช่น สีเขียวผสมกับสีดำจะได้เขียวเข้มหรือเขียวหัวเป็ด แต่ถ้าผสมกับสีขาวจะได้เขียวอ่อน 

“ส่วนสีสุดท้ายที่เราเลือกคือสีที่จะเป็นตัวโดดเด่นขึ้นมา นั่นคือสีน้ำเงิน” ความจริงแล้วสีน้ำเงินไม่ใช่สีที่เธอนึกถึงเป็นลำดับแรกๆ แต่หลังจากลองผิดลองถูกอยู่สักพักจึงได้พบว่า สีน้ำเงินซึ่งดูจะไม่เกี่ยวข้องกับป่าเขานั้นกลับให้ความรู้สึกมืดครึ้มและเชื่อมภูเขาเข้ากับท้องฟ้าได้อย่างน่าสนใจ แถมยังให้ความรู้สึกที่ร่วมสมัยและป๊อปกว่าที่คาดไว้มากทีเดียว

ผลงานที่ออกมาจึงเป็นภาพภูเขาและป่าไม้ของจังหวัดน่านที่โน๊ตยกมาไว้บนเสื่อด้วยเทคนิค patchwork ซึ่งนอกจากจะน่าใช้แล้ว เมื่อมองนานๆ ก็ยังชวนให้เราอยากพับเสื่อใส่ท้ายรถ เพื่อออกเดินทางไปสัมผัสธรรมชาติเหมือนกับบรรยากาศที่เห็นบนเสื่ออีกต่างหาก 

“ผมว่าทิศทางงานของโน๊ตมันทำให้เรื่องธรรมดาๆ กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจด้วยเทคนิค คือใครๆ ก็เอาภูเขา ต้นหญ้า หรือใบไม้มาทำเป็นดีไซน์ได้ทั้งนั้น แต่การที่โน๊ตเข้าใจในการผลิตและเทคนิคมันช่วยทำให้งานนี้พิเศษ ผมคิดว่างานของโน๊ตแต่ละชิ้นเป็นงานศิลปะเลย

“เรื่องพวกนี้มันมาจากประสบการณ์ที่เขาเคยเจอในชีวิตด้วย เคยไปอยู่กับชาวบ้าน ดูวิธีการผลิตผ้า อยู่ต่างประเทศ เดินทาง และสังเกตเห็นธรรมชาติในหลากหลายมิติ ทั้งหมดนี้ทำให้เขาสามารถเปลี่ยนข้อจำกัดมาเป็นข้อดีได้ตลอดเวลา” ดิวกล่าวทิ้งท้าย


สั่งซื้อเสื่อรุ่น NANN NIK-NIK ได้แล้ววันนี้ที่ godaypoets.com/product/shownuea-pdm และสำหรับใครมีแผนจะเดินทางไปแอ่วเหนือหลังหมดโควิด-19 สามารถแลกรับส่วนลดทันที 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อจองที่พักกับ Agoda ผ่านทาง bit.ly/3zybPmb ภายใน 30 กันยายน 2564 และมีกำหนดการเดินทางภายใน 31 มีนาคม 2565 (เฉพาะโรงแรมที่มีป้าย ‘promo eligible’ หรือ ‘ร่วมโปรโมชั่น’)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี