ตามรอย บู้ ธนันต์ แห่ง Rompboy ไปหาผ้าและเรียนรู้เรื่องการย้อมฮ่อมที่เมืองแพร่

ย้อนกลับไปก่อนออกเดินทางไปเยือนแพร่ราว 3 เดือน ผมตัดสินใจโทรศัพท์หา บู้–ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ มือเบสประจำวง SLUR และเจ้าของแบรนด์ Rompboy เพื่อเล่าถึงโปรเจกต์หนึ่งให้ฟัง ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่ a day ตั้งใจชวนแบรนด์ร่วมสมัยมาหยิบจับวัตถุดิบอันแสนมีเสน่ห์ในภาคเหนือมาตีความและบอกเล่าใหม่ในน้ำเสียงของตัวเอง

โปรเจกต์ ‘โชว์เหนือ’ ที่ a day ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

กับบางคนผมอาจเผื่อใจไว้ว่าอาจโดนปฏิเสธ แต่กับชายผู้นี้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเขาจะตอบตกลง

ไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์อันดี หากแต่ผมพอรู้ว่าด้วยนิสัยใจคอและความเชื่อในการทำธุรกิจ เขาคือคนที่พยายามหาวิธีการใหม่ๆ ไม่เหยียบย่ำซ้ำรอยสำเร็จเดิมๆ และโปรเจกต์นี้น่าจะตอบโจทย์บางอย่างในใจเขาทั้งในมุมธุรกิจและแพสชั่นส่วนตัว

สำหรับคนไม่รู้จัก Rompboy คือแบรนด์สตรีทแฟชั่นไทยที่สินค้าแต่ละคอลเลกชั่นขายหมดในหลักนาที–บางครั้งหลักวินาที จุดเด่นสำคัญนอกจากการผลิตในจำนวนจำกัด การออกแบบที่ใส่ใจรายละเอียด คือการที่เขาพยายามนำเสนอสิ่งใหม่ แม้สิ่งเก่าที่ทำมาจะสำเร็จดีอยู่แล้ว

รองเท้าผ้าใบที่ผลิตทีไรก็ขายหมดเกลี้ยงทุกที แทนที่จะผลิตซ้ำออกมาขายเรื่อยๆ เขาก็หันไปผลิตสิ่งอื่นที่กระตุ้นหัวใจให้เต้นแรงกว่า

เมื่อ 4 ปีก่อนตอนที่พบกันเขาบอกผมว่า “ถ้าทุกวันนี้ผมยังออกรองเท้าสีเดิมไปเรื่อยๆ วัสดุเดิมๆ ไปเรื่อยๆ ผมคงเกลียดตัวเอง ทั้งที่เราก็รู้นะว่าทำอีกอย่างหนึ่งมันอาจจะได้เม็ดเงินมากกว่า แต่ผมรู้สึกว่าทำอย่างนี้แล้วชีวิตมันยังมีเช็กพอยต์ให้รู้ว่าเราทำอันนี้ได้ เดี๋ยวเราลองไปทำตรงนี้ดีกว่า ซึ่งทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ แต่เราได้ลองอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ”

ด้วยความที่หนึ่งในวัตถุดิบของภาคเหนือที่ a day อยากหยิบมาบอกเล่าคือผ้าย้อมฮ่อมธรรมชาติ ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดแพร่ ผมจึงนึกถึงแบรนด์ Rompboy เป็นลำดับแรกๆ ด้วยเชื่อว่าความกล้าทดลองและพยายามหาโอกาสในวัตถุดิบใหม่ๆ รวมถึงความใส่ใจในรายละเอียด น่าจะทำให้ผลงานปลายทางออกมามีพลังและน่าสนใจ

แล้วก็เป็นอย่างที่คิด เมื่อติดต่อหาเขาเพื่อชวนมาร่วมโปรเจกต์นี้ เขาถามคำถามที่จำเป็นต้องรู้ไม่กี่คำถามก่อนจะตกปากรับคำ และแน่นอน หนึ่งในคำถามในวันนั้นคือ

“พวกเราจะไปแพร่กันวันไหนดี”

This image has an empty alt attribute; its file name is แพร่_123-1024x683.jpg

การเดินทางไปเยือนแพร่เพื่อตามหาผ้าย้อมฮ่อมธรรมชาติมาทำผลิตภัณฑ์แบรนด์ Rompboy ครั้งนี้นั้นทั้งง่ายและยาก

ง่าย–เพราะใครๆ ก็รู้กันว่าผ้าย้อมฮ่อมธรรมชาติคุณภาพดีนั้นหาได้ง่ายดายในจังหวัดแห่งนี้ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่พืชอย่างฮ่อมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญเติบโตได้ดี

ยาก–เพราะท่ามกลางร้านคุณภาพสูงใกล้เคียงกันหลายๆ ร้าน การเลือกผ้าจากเพียงร้านใดร้านหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องออกเดินทางไปเห็นไปสัมผัสด้วยมือและตาตัวเองจึงเลือกได้ และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่เราเดินทางไปจังหวัดแพร่

ที่สนามบินดอนเมือง ก่อนขึ้นเครื่องออกเดินทางผมชวนบู้คุยถึงความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่ปลายทาง

จากการตอบรับอย่างรวดเร็วเมื่อวันที่ชวนมาร่วมโปรเจกต์ ผมเดาว่าเขาน่าจะมีความทรงจำกับจังหวัดแพร่มาไม่น้อย แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม

“ยอมรับเลยว่าแพร่เป็นจังหวัดที่ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยคิดถึงเลย เพราะว่าถ้าให้เรานึกถึงภาคเหนือ เราจะนึกถึงแค่เชียงใหม่ เชียงราย หรือแม่ฮ่องสอนที่เป็นภูเขาไปเลย ผมเพิ่งมารู้จักแพร่ช่วงหลัง ได้ยินชื่อแล้วก็อ่านบทความตามเว็บไซต์ต่างๆ บ้าง เลยรู้ว่า แพร่มันเป็นเมืองท่าของสินค้าแฮนด์เมดนะ แล้วผ้าที่มาจากแพร่ก็เป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ 

“อย่างผมจะรู้จักการย้อมครามของที่สกลนครว่าเป็นยังไง แต่ว่าพอได้รู้จักแพร่คร่าวๆ ก็รู้สึกว่าคาแร็กเตอร์ผ้าย้อมฮ่อมของแพร่มันมีความแตกต่างบางอย่างอยู่ในเรื่องของพื้นผิว การทอ ลายทอ แล้วก็สีที่มันดูพิเศษ”

อย่างที่เขาว่า เมื่อพูดถึงการเดินทางไปเยือนภาคเหนือ แพร่อาจไม่ใช่จังหวัดแรกๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง แต่เมื่อพูดถึงผ้าย้อมฮ่อม แพร่คือชื่อแรก และอาจเป็นชื่อเดียวที่ผุดขึ้นในความทรงจำ

“ทริปนี้เรามาเพื่อหาวัตถุดิบที่มันพิเศษมากๆ มาหาผ้าที่เป็นผ้าท้องถิ่นที่ผมคิดว่าผมน่าจะเอามาใช้กับโปรดักต์ของผมได้ นี่น่าจะเป็นครั้งแรกของ Rompboy ที่ได้เอาผ้าไทยๆ วัตถุดิบไทยมาใช้กับงานร่วมสมัย

“และอีกอย่าง ผมคิดว่าผมสนใจในการย้อมฮ่อม ซึ่งเท่าที่หาข้อมูลมา ฮ่อมตอนนี้เป็นที่แพร่หลายมากในจังหวัดแพร่ แล้วก็เป็นเหมือนภูมิปัญญาชาวบ้านที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จัก เราเลยอยากจะเอาตรงนี้มานำเสนอ เพราะเราคิดว่านี่แหละมันคืออาวุธลับของจังหวัดแพร่เลย เราไม่เห็นว่ามันเป็นอะไรที่เชย ตรงกันข้าม สำหรับเรามันเป็นอะไรที่ร่วมสมัยสุดๆ แค่เราหยิบยกมันมาพรีเซนต์แบบใหม่ในสไตล์ที่เป็นของเรา”

และเพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนวันที่ไปเยือนแพร่ การเดินทางครั้งนี้เราวางแผนกันไว้ว่าจะไปยัง 5 ร้านที่นอกจากจะเป็นร้านที่มีผ้าย้อมฮ่อมธรรมชาติให้เลือกซื้อแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการย้อมฮ่อมกับพวกเราได้ด้วย

01 : ร้านแก้ววรรณา

“การได้เห็นผ้าย้อมฮ่อม ยังไม่รู้สึกเท่าการสัมผัส”

ร้านแรกที่เราไปเยือนคือร้านแก้ววรรณาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสนามบินจังหวัดแพร่ แต่ระยะทางไม่ใช่เหตุผลที่เรามาเยือนที่นี่

เมื่อพูดถึงวงการฮ่อมธรรมชาติ ชื่อแรกๆ ที่คนในจังหวัดที่สนใจภูมิปัญญานี้เอ่ยถึงเป็นเสียงเดียวกันคือ ไกร–วุฒิไกร ผาทอง ชายผู้เมื่อกว่ายี่สิบกว่าปีก่อนลุกขึ้นมารื้อฟื้นภูมิปัญญาย้อมฮ่อมธรรมชาติที่ ณ ขณะนั้นเกือบสูญหายไปจากจังหวัด

“ในแง่ของคนแพร่ ที่นี่เรามีต้นฮ่อมอยู่ในป่า มีเสื้อม่อฮ่อมที่มีชื่อเสียงมานานแล้ว แล้วคำว่าเสื้อแพร่ ฮ่อมคือเสื้อแพร่ กระบวนการทั้งหมดของเราใช้ระบบพืชผักผลไม้ตามฤดูกาล เราไม่ได้ใช้เคมีหรือสารสังเคราะห์” ไกรเล่าถึงจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ผ้าย้อมฮ่อมของที่นี่ต่างจากที่อื่น นั่นคือการย้อมฮ่อมร้อยเปอร์เซ็นต์

ไม่ง่ายและเหนื่อยกว่าการใช้สารเคมีแน่ๆ แต่ไกรก็ยืนยันว่าเขามาถูกทาง ไม่ใช่แค่สามารถรื้อฟื้นภูมิปัญญาที่เกือบสูญหายได้สำเร็จ แต่ผ้าของเขายังได้รับการยอมรับอย่างดีจากตลาด มีลูกค้าที่เห็นค่าของการย้อมธรรมชาติคอยสนับสนุนจนแก้ววรรณาสามารถอยู่รอดมาได้จนขวบปีนี้

ไม่ใช่แค่ขายผ้า เขายังตั้งใจให้ที่แห่งนี้เป็นพื้นที่กระจายความรู้และภูมิปัญญาดั้งเดิมให้คนที่สนใจได้เรียนรู้อีกด้วย ด้านหลังร้านแก้ววรรณาซึ่งเป็นโรงย้อมฮ่อมจึงมีผู้แวะเวียนมาเรียนรู้และลองย้อมรวมถึงพวกเราโดยมี พยอม คำวาง ผู้จัดการร้านทำหน้าที่เป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชา

“ผมรู้สึกว่าการที่ผมได้เห็นผ้าฮ่อมมันยังไม่รู้สึกเท่าการสัมผัสหรือว่าการลงไปย้อมจริงๆ มันคือการที่เราเหมือนใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น แล้วน้ำฮ่อมนี่เย็นมาก แล้วกลิ่นมันเป็นเอกลักษณ์ มันรู้สึก unseen มากๆ สำหรับผม ความรู้สึกเหมือนตอนที่ผมเริ่มปั้นเซรามิกครั้งแรกเมื่อนานมาแล้ว” บู้เล่าความรู้สึกที่มือได้ถือเส้นด้ายจุ่มลงไปในหม้อฮ่อมเพื่อย้อมเป็นครั้งแรกในชีวิต

This image has an empty alt attribute; its file name is แพร่_7-1024x683.jpg

หลังจากย้อมเสร็จบู้โชว์มือทั้งสองที่กลายเป็นสีคราม หลังจากล้างน้ำสะอาดสีครามนั้นก็ยังติดมือติดเล็บอยู่

“นี่แหละที่เขาเรียกว่า Blue Nails” พยอมพูดถึงคำที่คนในวงการใช้เรียกนักย้อมครามแต่สำหรับผมแล้วคือครั้งแรกที่ได้ยินคำนี้

หลังจากเรียนรู้กระบวนการย้อมจากการลงมือทำจริง เราจึงเดินมาส่วนที่เป็นช็อปขายผ้า เมื่อเรารู้ถึงความพิเศษกว่าจะกลายมาเป็นผ้าผืนหนึ่ง เราจึงมองผ้าแต่ละผืนด้วยสายตาที่ต่างออกไป

“ไม่ว่าร้านอื่นราคาจะถูกกว่ายังไง ผมคิดไว้แล้วว่ายังไงจะกลับมาซื้อผ้าร้านนี้กลับไปใช้ทำอะไรสักอย่าง” บู้บอกกับผมหลังออกจากแก้ววรรณามาเพื่อเดินทางต่อ

02 : บ้านมัดใจ

“ความเจ๋งของการมัดย้อมคือผลงานทุกชิ้นมีความเป็นเราอยู่ในนั้น”

มองจากด้านนอก ‘บ้านมัดใจ homemade & café’ อาจจะไม่ต่างจากคาเฟ่ทั่วไปที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง ภายใต้เรือนไม้หลังเล็กตกแต่งน่ารักมีเครื่องดื่มให้บริการผู้มาเยือน

หากแต่เมื่อเดินลึกเข้าไปเราจะพบความพิเศษที่ทำให้ที่นี่แตกต่างจากร้านกาแฟอื่นๆ คือด้านในร้านยังเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เวิร์กช็อปให้แก่ผู้มาเยือน

This image has an empty alt attribute; its file name is แพร่_22-1024x683.jpg
This image has an empty alt attribute; its file name is แพร่_27-1024x683.jpg

“ก่อนที่จะมาเปิดคาเฟ่ตรงนี้เราไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มาก่อน 2-3 ปี แล้วอยากอยู่บ้าน อยากกลับมาทำอะไรที่บ้าน เราก็คุยกับแม่ว่า ที่บ้านเราทำไมเวลาคุณแม่ใส่เสื้อผ้าม่อฮ่อม ทำไมปรางใส่ไม่ได้ ทำไมวัยปรางจับต้องไม่ได้’ เราก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่ดีไซน์สิ่งนี้ให้เข้ากับตัวเองบ้าง” มะปราง–ชิดชนก สุชนก ผู้ร่วมก่อตั้งนั่งเล่าบริเวณโซนที่เป็นร้านกาแฟเมื่อบู้ชวนคุยถึงจุดเริ่มต้น โดยปลาย–ชฎานุช สุชนก น้องสาวผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนยืนอยู่ที่เคาน์เตอร์รับออร์เดอร์ผู้มาเยือน

จากความตั้งใจทำให้เสื้อผ้าย้อมฮ่อมร่วมสมัยและคนรุ่นใหม่เข้าถึงได้อย่างเป็นมิตร นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เวิร์กช็อปงานศิลปะทั้งการปั้นการเพนต์เซรามิก ปักผ้า และสอนมัดย้อมฮ่อมให้ผู้มาเยือน

และที่แห่งนี้บู้ได้ทดลองมัดและย้อมฮ่อมเพื่อสร้างงานของตัวเองโดยมีมะปรางประกบติดคอยแนะนำทุกขั้นตอน

“ที่นี่ผมได้ลองมัดย้อมผ้าเช็ดหน้าด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งความเจ๋งของการมัดย้อมคือไม่ว่าเราจะย้อมกี่ชิ้นก็ตาม ผลที่ออกมามันจะไม่ซ้ำกันเลย ผลงานทุกชิ้นมีความเป็นเราอยู่ในนั้น ซึ่งผลลัพธ์มันก็แตกต่างกันตามสไตล์ของแต่ละคนว่าใครชอบอะไรยังไง นี่คือเอกลักษณ์ของการมัดย้อม”

เป็นอย่างที่เขาว่า ผ้าที่ออกมาของผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปนั้นต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลวดลายหรือความเข้มอ่อนของสี นี่เป็นอีกสถานที่ที่ทำให้ผู้มาเยือนเข้าใจเสน่ห์ของงานทำมือได้อย่างเป็นรูปธรรม

03 : KAMON Indigo

“สิ่งที่ผมอิจฉามากๆ คือเรื่องเวลา”

มาที่นี่แล้วอยากย้ายมาอยู่ต่างจังหวัด

บู้บอกกับผมด้วยใจความประมาณนี้เมื่อมาเยือน KAMON Indigo

ครั้งหนึ่งนิตยสาร a day ฉบับกลับบ้าน ที่บอกเล่าเรื่องราวของเหล่าผู้คนที่เดินทางออกจากเมืองหลวงมุ่งหน้ากลับบ้านไปทำสิ่งที่น่าสนใจ เคยเล่าถึง กุ๊กกิ๊ก–กมลชนก แสนโสภา อดีตนักศึกษาด้านแฟชั่นที่ตัดสินใจกลับแพร่ก่อตั้ง KAMON Indigoเพื่อลงลึกในศาสตร์การย้อมฮ่อม ก่อนจะต่อยอดไปสู่การย้อมสีธรรมชาติอื่นๆ และสร้างแบรนด์จนเป็นที่รู้จักตามมา

ครั้งนี้เมื่อมาเยือนแพร่เพื่อเรียนรู้การย้อมฮ่อม เราจึงมาเยือนที่ KAMON Indigo อีกครั้ง

หลังจากทักทายกุ๊กกิ๊กพาเราเดินผ่านส่วนที่เป็นร้านขายสินค้าซึ่งอยู่ด้านหน้าสุดในบริเวณบ้าน ห้องทำงานซึ่งอยู่ถัดมา ไปสู่โซนที่เธอใช้ทำงานเป็นหลัก นั่นคือพื้นที่ที่เธอใช้เป็นคล้ายสตูดิโอในการย้อมรวมถึงถ่ายทอดวิชาให้คนที่สนใจ

ท่ามกลางสิ่งของต่างๆ ที่เป็นอุปกรณ์ในการย้อม บู้ชวนหญิงสาวเจ้าของพื้นที่พูดคุยถึงที่มาที่ไป

This image has an empty alt attribute; its file name is แพร่_50-1024x683.jpg

“ที่นี่มันคืออะไร” บู้ถามหญิงสาวเจ้าของพื้นที่ว่าที่ที่เรานั่งอยู่คืออะไร มีไว้ทำสิ่งใด

“คือบ้าน” กุ๊กกิ๊กตอบด้วยคำตอบที่เจ้าของคำถามอาจจะไม่ได้นึกถึง แต่มันก็ครอบคลุมความหมายทั้งในเชิงพื้นที่และความรู้สึก

“แล้วอะไรทำให้เราต้องกลับมาทำที่บ้าน” บู้ถามต่อ

“เพราะว่าตอนเรียนรู้สึกว่าเวลาตอนไปซื้อของมันหมดเวลาไปเป็นวันๆ แล้วสิ่งที่เราอยากทำมันไม่มีอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่มันมีอยู่ที่บ้านเรา เราอยากเล่าเรื่องที่บ้าน” เธอพูดถึงเหตุผลที่เธอกลับมาสร้างพื้นที่แห่งนี้

จากความสนใจเรื่องการทอผ้าและการย้อมสีธรรมชาติ โดยเฉพาะการย้อมด้วยภูมิปัญญาในบ้านเกิดอย่างการย้อมฮ่อมทำให้เธอกลับบ้านสร้างแบรนด์ KAMON Indigo ลองถูกลองผิดหลายหน ตามหาวิชาการย้อมแบบธรรมชาติที่แท้ในทุกขั้นตอนจากผู้อาวุโสหลายๆ คน จนกลายเป็นแบรนด์ KAMON Indigo อย่างที่เห็นในวันนี้

ไม่ใช่แค่ย้อมฮ่อม แต่หญิงสาวยังสนใจการย้อมสีธรรมชาติด้วยพืชอื่นๆ ที่หาได้ในท้องถิ่นซึ่งให้สีที่แตกต่างออกไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นใบหูกวางและดอกดาวเรืองที่ให้สีเหลือง มะเกลือที่ให้สีน้ำตาล หรือครั่งที่ให้สีชมพู ผลิตภัณฑ์ของ KAMON Indigo จึงมีสีหลากหลายกว่าที่อื่นๆ จนกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของแบรนด์

หลังพูดคุยกุ๊กกิ๊กพาไปดูหม้อต้มพืชต่างๆ ที่โซนหลังบ้าน ก่อนจะพามาดูโซนที่มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแบรนด์วางขาย ซึ่งแน่นอน สินค้าทุกชิ้นที่ทำเองย้อมเองในบ้านหลังนี้ เรียกว่าเป็นสินค้าโฮมเมดเต็มความหมาย

“สิ่งที่ผมอิจฉากุ๊กกิ๊กมากๆ คือเรื่องเวลา ผมรู้สึกว่าการที่คนเรากลับมาทำอะไรอย่างนี้มัน concentrate ได้ดีกว่า แล้วก็โฟกัสกับงาน แล้วอยู่กับงานอย่างแท้จริง พวกความครีเอทีฟมันจะมาจากตรงนี้แหละ” บู้บอกหลังจากเห็นชีวิตของเจ้าของบ้าน และบางทีนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาบอกว่า

มาที่นี่แล้วอยากย้ายมาอยู่ต่างจังหวัด

04 : บ้านป้าเหงี่ยม

“รู้เลยว่าที่นี่พยามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากๆ”

บ้านเมืองใดหรือพื้นที่ใดสิ่งใดขึ้นชื่อ เป็นไปได้ว่าเราจะเห็นย่านสักย่าน หรือถนนสักสายเต็มไปด้วยสิ่งนั้น

หนึ่งในย่านที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตสำคัญของผ้าย้อมฮ่อมในจังหวัดแพร่คือ บ้านทุ่งโฮ้ง ที่สองข้างทางความยาวหลายกิโลเมตรมีร้านขายสินค้าที่ทำจากผ้าย้อมฮ่อมเรียงรายให้หาซื้อ โดยหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังคนสำคัญคือ ป้าเหงี่ยม–ประภาพรรณ ศรีตรัย หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ตำบลทุ่งโฮ้ง และเป็นผู้ก่อตั้ง ‘บ้านป้าเหงี่ยม’ ศูนย์การเรียนรู้ย้อมฮ่อมที่คอยให้ความรู้และเป็นพื้นที่ให้ผู้มาเยือนทดลองลงมือทำด้วยตัวเอง

หลังพบเจอกันป้าเหงี่ยมเริ่มให้ความรู้เรื่อง ‘ฮ่อม 101’ กับเรา โดยไล่ตั้งแต่เรื่องพื้นที่ การปลูก การย้อม จนกระทั่งเสร็จสิ้นออกมาเป็นผ้าสีครามสวยงามอย่างที่เราเห็น

“ผ้าย้อมฮ่อมจริงๆ แล้วเป็นผ้าพื้นเมืองของจังหวัดแพร่ ที่สำคัญคือเป็นสินค้า GI (Geographical Indication) ของจังหวัด GI ก็คือตัวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อย่างไข่เค็มก็ต้องที่ไชยา สับปะรดห้วยมุ่นก็ต้องอุตรดิตถ์ แต่ถ้าฮ่อมก็ต้องเป็นที่แพร่ ไม่ใช่ที่อื่น”

แม้จะเป็นสถานที่ที่สอนเรื่องการย้อมฮ่อมโดยผู้อาวุโส แต่สิ่งที่ป้าเหงี่ยมพยายามทำคือการปรับตัวให้เข้ายุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการหาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายทรงร่วมสมัยมาให้เลือกในการย้อมแทนที่จะเป็นเสื้อทรงเดิมๆ ที่คุ้นชิน

โดยบู้เลือกหยิบกางเกงทรงบอลลูนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมาทำการมัดย้อมฮ่อม

“ถ้ามีโลโก้นี่เป็นกางเกง Rompboy ได้เลย” บู้พูดด้วยอารมณ์ขันพร้อมชูกางเกงที่เลือกมาเพื่อเอาไปมัดย้อม

This image has an empty alt attribute; its file name is แพร่_71-1024x683.jpg

“เราก็พยายามพัฒนา เมื่อก่อนม่อฮ่อมมองดูแล้วก็จะเป็นเสื้อผ้าชาวนา สีพื้นๆ วัยรุ่นก็ไม่อยากจะใส่ เราก็มาพัฒนา คิดว่าจะเอาผ้านิ่มๆ มาทำ แล้วก็ทำเป็นมัดย้อม มีลวดลาย พอทำมัดย้อมได้หลายปีเราก็คิดต่อว่า เอาสีที่ได้จากฮ่อมมาเพนต์ต่อได้ไหม ก็เลยได้ลวดลายเยอะขึ้น” คำอธิบายนี้ของป้าเหงี่ยมพอจะอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็นในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน

This image has an empty alt attribute; its file name is แพร่_63-1024x683.jpg

หลังจากเลือกกางเกง เลือกลวดลายที่อยากได้ ทำการมัดตามคำแนะนำ และนำไปย้อม ช่วงเวลาที่ลุ้นที่สุดคือตอนที่ผลของมันปรากฏตรงหน้าครั้งแรก

“ชอบมาก เป็นอย่างที่จินตนาการไว้เลย” บู้พูดพร้อมกับโชว์กางเกงขายาวทรงบอลลูนหลังการมัดย้อมฮ่อม

“สิ่งที่ผมเห็นชัดเจนเลยคือป้าเหงี่ยมพยายามจูนกับแฟชั่นร่วมสมัย อย่างเราเห็นทรงกางเกงที่เป็นทรงบอลลูนหรือกางเกงแบ็กกี้ เสื้อที่ทรงโอเวอร์ไซส์หน่อย หมวกบักเก็ต หรือว่าไอเทมหลายๆ อย่าง ที่ทำให้เห็นว่าป้าเหงี่ยมทำการบ้านมาอย่างดี รู้เลยว่าที่นี่พยามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากๆ”

สิ่งที่ยืนยันถ้อยคำของบู้คือหลังจากมัดย้อมเสร็จ อบจนแห้ง เขาเปลี่ยนกางเกงแล้วถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ผลคือมีแฟนๆ Rompboy มาคอมเมนต์เฝ้ารอผลิตภัณฑ์นี้เพราะเข้าใจว่าเป็นสินค้าใหม่ของ Rompboy

บางทีที่เขาบอกว่า “ถ้ามีโลโก้นี่เป็นกางเกง Rompboy ได้เลย” อาจไม่ใช่แค่ประโยคที่พูดเล่นกันขำขัน

05 : ต้นคราม

“เขาพิถีพิถันกับงานที่เขาทำมากๆ จนได้วัตถุดิบที่ออกมามีจิตวิญญาณ”

เมื่อเดินผ่านรั้วบ้านเข้ามา สิ่งแรกที่ปะทะสายตาคือเครื่องทอโบราณจำนวนมากเรียงรายอยู่ตรงหน้า

นี่คือจุดเด่นสำคัญของร้านต้นคราม แบรนด์ที่ทำเองทั้งกระบวนการไล่ตั้งแต่การทอไปจนถึงการตัดเย็บ และย้อมฮ่อมธรรมชาติ

ยุพิน สายสำเภา คือผู้ก่อตั้งและผู้ดูแลการผลิตในทุกกระบวนการ โดยเริ่มตั้งแต่การทอ

This image has an empty alt attribute; its file name is แพร่_105-1024x683.jpg
This image has an empty alt attribute; its file name is แพร่_111-1024x683.jpg

“สำหรับการทอมือ ด้วยความที่มันจะไม่เท่ากันเหมือนเครื่องจักร เครื่องจักรทอออกมาแล้วเนื้อมันจะแน่นมาก เวลาซักออกมามันจะไม่นุ่ม แต่ผ้าที่เราทอมือซักออกมามันจะนุ่มมาก แล้วผ้าทอมือมันจะตัดได้ทั้งทางตรงกับทางขวาง”

นอกจากการได้เห็นการทอผ้าด้วยเครื่องทอโบราณและทดลองทอด้วยตัวเอง ที่นี่บู้ยังได้ชิมรสชาติของฮ่อมเป็นครั้งแรกเมื่อยุพินบอกว่าที่นี่ย้อมด้วยกระบวนการธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ก่อนจะพิสูจน์ด้วยการเอานิ้วแตะผิวน้ำที่ใช้ย้อมแล้วชิมให้ดู บู้จึงลองชิมตาม

“พี่ยุพินบอกว่า ที่ฮ่อมของเขาสามารถกินได้ เพราะว่าเขาเลี้ยงดูฮ่อมเขาอย่างดีด้วยวิธีธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ เขาเลี้ยงฮ่อมเหมือนลูกของเขาเลย” บู้อธิบาย

หากนำชื่อของยุพินไปเสิร์ชในกูเกิลจะพบว่าเธอได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์หม้อฮ่อม ไม่แปลกที่เธอจะสามารถพูดถึงเสน่ห์และวิธีการได้อย่างลงลึกถึงหัวใจของการย้อมฮ่อม

“รู้สึกเลยว่า คนที่นี่เขาตั้งใจ เขาพิถีพิถันกับงานที่เขาทำมากๆ จนได้วัตถุดิบที่ออกมามีจิตวิญญาณ แล้วก็รู้สึกว่างานที่ออกมามันมีคุณค่าสำหรับเขาเองหรือสำหรับคนที่มาพบเจอ ทำให้เราเริ่มกลับมามองงานตัวเองว่า ทุกวันนี้งานเราพิถีพิถันพอแล้วหรือยัง ตรงนี้มันเป็นเชื้อเพลิงที่ดีในการทำงาน”

06 : ร้านผ้าธรรมชาติ

“มันคุ้มอยู่แล้วสำหรับผ้าลายที่ทอมือหรือว่าเทกซ์เจอร์ที่มันแตกต่าง”

เบื้องหลังร้านขายผ้าย้อมฮ่อมขนาดหนึ่งคูหา เราไม่มีทางรู้เลยว่าเมื่อเดินทะลุร้านเข้าไปจะเจอกับพื้นที่ชาวบ้านใช้ในการย้อมฮ่อมกว้างขวางอยู่ด้านหลัง

สินค้าต่างๆ ที่วางขายอยู่ในร้านผ้าธรรมชาติก็มาจากการย้อมบริเวณนี้

“มาดูตรงนี้แล้วผมอยากได้กางเกงด้านหน้าเพิ่มขึ้นเลย” บู้บอกกับชาวบ้านที่กำลังย้อมอยู่ตรงหน้า

แม้ร้านผ้าธรรมชาติจะไม่ใช่ร้านที่มีกิจกรรมหรือให้ความรู้อะไรมากมายดังเช่นร้านอื่นๆ ที่ผ่านมา แต่ที่ร้านแห่งนี้มีสินค้ารวมถึงผ้าที่ทอและย้อมสำเร็จราคาสมเหตุสมผลให้เลือกซื้อมากมาย

“ผ้าที่ใช้ปกติอยู่ที่ราคาหลาละสองร้อยกว่าบาท ซึ่งนั่นเป็นผ้าเพลนธรรมดา แต่ว่าผ้าที่นี่บวกเพิ่มมาแค่ 150 บาท มันคุ้มอยู่แล้วสำหรับผ้าลายที่ทอมือหรือว่าเทกซ์เจอร์ที่มันแตกต่าง ลายที่มันไม่เหมือนใคร” บู้อธิบายขณะที่กำลังเลือกผ้าในชั้น

และเป็นที่ร้านนี้ที่บู้ได้ซื้อผ้าฝ้ายทอมือย้อมประดู่ คำแสด และใบหูกวาง เพื่อนำกลับไปใช้ในโปรเจกต์โชว์เหนือ

ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ เรากลับไปยังร้านแก้ววรรณาอีกเพื่อซื้อผ้าย้อมฮ่อมธรรมชาติลวดลายสวยงามอย่างที่บู้บอกเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่มาเยือน

“ในทริปนี้ที่ไปหาผ้าเพื่อโปรเจกต์โชว์เหนือ ผมได้ผ้าย้อมฮ่อมธรรมชาติจากร้านแก้ววรรณา แล้วก็ได้ผ้าฝ้ายทอมือย้อมประดู่ คำแสด และใบหูกวาง จากร้านผ้าธรรมชาติ ซึ่งผ้าสองผืนนี้เป็นผ้าที่ผมคิดว่ามันมีคุณค่ามากๆ แล้วผมอยากจะเอามาทำลงในโปรดักต์ที่ผมคิดว่ามีคุณค่าสำหรับผมเหมือนกัน นั่นก็คือ sacoche ของ Rompboy

“ซึ่งถ้าใครได้เห็นกระเป๋าใบนี้ ก็น่าจะสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของการย้อมฮ่อม อย่างที่ผมได้สัมผัสตลอดเวลาที่ผมอยู่ที่นี่”

อย่างที่เขาว่า หากใครได้สัมผัสผ้าย้อมฮ่อมและย้อมสีธรรมชาติจากจังหวัดแพร่ที่เอามาผลิตกระเป๋า sacoche ในคอลเลกชั่น ‘ฮ่อมบอย’ น่าจะรับรู้ได้ถึงความพิเศษของมัน จนอยากออกเดินทางไปเยือนแพร่เพื่อสัมผัสประสบการณ์อันมีคุณค่าเช่นเดียวกันกับพวกเรา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วงศกร ยี่ดวง

ช่างภาพที่ชอบแต่งตัวในสไตล์ที่นึกว่าตัวเองอยู่นิวยอร์ก เวลาว่างหมดไปกับการเต้นสวิง พักหลังหมกมุ่นกับงาน illustration และงานออกแบบเป็นหลัก