Nangloeng Shophouse ร้านของชำและคาเฟ่ย่านนางเลิ้งที่เสิร์ฟเฉพาะของโฮมเมดตามใจเจ้าของร้าน

ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักจนต้องล็อกดาวน์ประเทศ ใครๆ ก็คงคิดเก็บเงินไว้กับตัวให้ได้มากที่สุดเพราะไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ แต่ ก้อง–อนุภาส เปรมานุวัติ และ อีเลน ซัน กลับเลือกอีกทาง 

พวกเขาเปิด Nangloeng Shophouse ขึ้นภายในอาคารที่เช่าเพื่อพักอาศัย เป็นร้านขายของชำที่คัดสรรสินค้ามาจากสิ่งที่ปกติใช้อยู่แล้วเป็นกิจวัตร พร้อมเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มโฮมเมดที่ทดลองทำกันขึ้นมาเอง

กลายเป็นร้านของชำที่มีวัตถุดิบคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นชีส โยเกิร์ต แยมผลไม้ น้ำแข็งไส กาแฟ เนเชอรัลไวน์ หรือกระทั่งนิตยสารต่างประเทศ ร้านชำประจำย่านนางเลิ้งแห่งนี้ก็มีให้เลือกสรร

nangloeng shophouse
nangloeng shophouse

เพราะบาร์ปิด ร้านของชำจึงเปิด

“ตอนล็อกดาวน์ สิ่งที่ผมทำเป็นอย่างแรกคือซื้อเต็นท์” ก้องหัวเราะขบขัน เมื่อเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงที่โรคระบาดเข้ามากระทบกับหน้าที่การงานอย่างจัง 

nangloeng shophouse

ด้วยธุรกิจเดิมของเขาคือการเป็นเจ้าของ KU BAR บาร์ดีไซน์เก๋ย่านพระนคร ที่ทำให้เขาไม่เคยมีวันหยุดเลยสักครั้ง เมื่อบาร์ต้องปิดตัวลงชั่วคราวเพราะมาตรการควบคุมโรคระบาด สิ่งที่เขาทำจึงเป็นการมอบวันหยุดให้ตัวเอง คิดซะว่าการหยุดร้านครั้งนี้คือการพักผ่อน   

 “การวางแผนด้านการเงินของผมเป็นแบบนั้น” เขาว่าพลางหัวเราะ

nangloeng shophouse
nangloeng shophouse

แค่นั้นก็ตอบคำถามได้หมดจดว่าทำไมพวกเขาจึงกล้าเปิดธุรกิจใหม่อย่าง Nangloeng Shophouse ขึ้น ในภาวะที่ใครต่อใครต่างบอกให้เก็บเงินไว้ให้มั่นคงที่สุด

“พอบาร์ปิด เราเริ่มอยู่ไม่ได้ ผมย้ายมาอยู่ที่นี่ก่อนล็อกดาวน์ไม่นาน ทำชั้นบนเป็นที่พัก ปล่อยข้างล่างร้างไว้เพราะยังนึกไม่ออกว่าจะทำเป็นอะไรดี แต่พอเริ่มล็อกดาวน์นานเข้า เราก็คิดว่าต้องเริ่มทำอะไรสักอย่าง

“ตอนนั้นเห็นร้านสะดวกซื้อยังเปิดได้ ร้านขายของชำข้างๆ กันยังเปิดได้ นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมคิดจะเปิดร้านของชำ”

หนังสือ nangloeng shophouse

ร้านขายของชำขนาดหนึ่งคูหา ตกแต่งด้วยไม้ ปูนเปลือย และโต๊ะนั่งเพียงไม่กี่ตัวจึงเปิดขึ้น โดยได้รุ่นน้องช่างไม้ที่เขารู้จักช่วยเนรมิต 

ส่วนสินค้าภายในร้าน พวกเขาก็คิดขึ้นง่ายๆ พัฒนาเอาจากสิ่งที่ตัวเองต้องการ ต้องกินต้องใช้เป็นประจำ และอิงด้วยพฤติกรรมที่ตัวเองอยากแก้ไข อย่างเมนูอาหารเช้าที่มีเสิร์ฟในร้าน นอกจากจะมีไส้กรอกทำเองที่เคยขายอยู่แล้วที่บาร์ พวกเขายังมีเมนูผักที่กินประจำเพิ่มมาเป็นทางเลือก 

อาหารเช้า nangloeng

“ผมพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองไปด้วยในตัว คิดว่าถ้าตอนเช้าเราทำอาหารเช้ากินเองได้ก็ดี จะได้ไม่ต้องออกไปกินข้าวเช้าข้างนอก หรือการติดกินชาในร้านสะดวกซื้อผมก็เปลี่ยนใหม่ หันมาทำชากินเองซะเลย 

“เราเริ่มจากความคิดง่ายๆ แบบนั้น อะไรที่เราทำเพื่อตัวเองอยู่แล้ว ก็แบ่งเอาของเหล่านั้นมาขาย เรายังคงทำกิจวัตรเดิม เพิ่มแค่การซื้อมาในปริมาณที่มากขึ้นอีกนิด คิดเผื่อคนอื่นมากขึ้น”

ทำสินค้าเพื่อทดแทนการซื้อของในร้านสะดวกซื้อ

กระนั้นภายใต้ความเรียบง่ายที่ก้องว่า จุดเด่นหนึ่งที่ทำให้ร้านขายของชำแห่งนี้น่าสนใจกว่าร้านขายของชำทั่วไปก็คือบรรดาอาหาร เครื่องดื่มที่เขาทดลองทำเพื่อทดแทนการซื้อของราคาแพงในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้านี่แหละ

เจ้าของร้านหนุ่มรีบออกตัวว่าตัวเองไม่ได้เก่งกาจในด้านอาหารมาจากไหน แต่เพราะเดี๋ยวนี้ทุกสิ่งสามารถเรียนรู้ได้จากอินเทอร์เน็ต เมื่อมีเวลาว่างเขาจึงทดลองทำดู

“ซาวร์เคราต์ (Sauerkraut) ที่เสิร์ฟคู่กันกับไส้กรอกร้านเราก็ทำเอาเอง มันไม่เหมือนต้นแบบ หรือเป็นอย่างที่เราอยากได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก แต่ก็ถือว่ากินได้”

ไม่เพียงแค่ซาวร์เคราต์ แต่ยังรวมไปถึงมัสตาร์ด โทนิก เนเชอรัลโซดา ไปจนถึงโยเกิร์ต หรือหากมาถูกช่วง คุณอาจได้อีกสารพัดสินค้าจากวัตถุดิบหรือผลไม้ตามฤดูกาลติดมือกลับบ้านด้วย

โยเกิร์ต nangloeng

เช่นเดียวกันกับน้ำแข็งไสที่แฟนสาวของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากร้านในละแวก ก็ถูกปรับให้แตกต่างไปด้วยรสชาติ และวัตถุดิบที่คนไทยอย่างเราไม่คุ้นเคย เช่น เจลลี่แตงกวา

เพียงได้ฟังรายชื่อสารพัดสิ่งที่เขาทดลองทำขึ้นเอง เสิร์ฟและวางขายในร้านแห่งนี้ ก็ทำเอาอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเขาจึงมีแพสชั่นในการทดลองทำสิ่งต่างๆ มากมายขนาดนี้

ก้องจึงเล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจอาหาร จนเริ่มค้นคว้าหาวิธีการทำเครื่องดื่มและอาหารต่างๆ ด้วยตัวเองอย่างนี้เกิดขึ้นตอนไปทำงานที่อเมริกา 

“ผมได้งานในบาร์ โดยที่ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้เรื่องอาหารอะไรหรอก จบศิลปะมา เจ้าของบาร์ที่ผมไปทำมักจะทำค็อกเทลให้ชิม พอเรากินก็รู้สึกว่า โห ทำไมมันอร่อยจัง”

ตอนนั้นเองที่เขาค้นพบว่าอาหารเป็นเสมือนสื่อที่สามารถสร้างความประทับใจ หรือเล่าเรื่องราวได้ มุมมองเรื่องอาหารของเขาจึงเปลี่ยนไป 

กาแฟ nangloeng

“ผมรู้สึกว่าอาหารมันสร้างอะไรบางอย่าง เราใช้เค็ม หวาน เย็น ร้อน แข็ง นุ่ม สร้างความรู้สึกให้คนประทับใจ เขากินแล้วเกิดความรู้สึก มีรอยยิ้มได้ แค่นั้นผมก็แฮปปี้แล้ว แต่ก็อย่างที่บอกว่าจริงๆ แล้วเราก็เป็นแค่คนที่จับพลัดจับผลูมาทำ เราเป็นเหมือนเด็กที่เข้าไปเล่นในเครื่องมือใหม่” เขาอธิบาย ก่อนจะขยายว่าด้วยความเฉพาะทางของอาหารและสินค้าในร้านก็มีบ้างที่จำนวนลูกค้าที่เข้ามาต่อวันทำให้เขาเริ่มไม่มั่นใจในฝีมือ แต่ถึงอย่างนั้นก้องก็ยังหัวเราะได้

“สิ่งที่ทำได้ก็คือการคงคุณภาพสินค้าของเราไว้อย่างนี้นี่แหละ ถ้าเขาเห็นแล้วอยากทดลอง อยากมากิน ก็รอวันนั้นที่เราสองคนจะเดินมาเจอกัน”

ร้านทางเลือกที่ต่างไปจากร้านของชำและคาเฟ่อื่นๆ ในย่าน

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขายังยิ้มได้ก็เพราะเขาเองเลือกจะทำร้านที่มีลักษณะแบบนี้ขึ้นมาแต่แรกด้วย

“ตอนเปิดร้านนี้ผมคิดถึงตัวเองอย่างเดียวเลย ไม่ได้คิดถึงคนอื่น เพราะการทำร้านร้านหนึ่ง คุณต้องอยู่กับมันนานมาก ผมจึงคิดแค่ว่าเราอยากอยู่ในร้านแบบไหน เพราะผมไม่สามารถอยู่ในร้านที่ผมเปิดเพลงเพื่อคนอื่นได้ ร้านนี้จึงมีทั้งช่วงที่เปิดเพลงและบางทีก็เปิดข่าว เพราะผมจะฟัง ผมอยากอยู่ในแสงประมาณนี้ ร้านเลยดิมไฟให้มืด”

“ผมทำเพื่อตัวเอง แต่ก็หวังว่าคนอื่นเขาจะชอบด้วย” เขาว่าอย่างขบขัน ก่อนจะย้ำว่า Nangloeng Shophouse เป็นเสมือนร้านทางเลือก เป็นร้านที่ชุมชนในย่านนางเลิ้งยังไม่มี และเป็นร้านที่เขาทำได้ถนัด

“ถ้าให้ผมไปทำคาเฟ่แบบที่คนนิยมแบบนั้นอาจจะยากกว่านะ เพราะผมทำไม่เป็น และผมก็ไม่ได้กินอะไรแบบนั้น ผมเลยคิดว่าการทำสิ่งที่เรากิน ขายในสิ่งที่เราใช้แบบนี้แหละ เหมาะสุดแล้ว”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย