คุยกับปากกาของ มุทิตา พานิช ผู้แปลหนังสือของมูราคามิและวรรณกรรมญี่ปุ่นชั้นดีหลายเล่ม

1Q84, ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ, ชายที่คนรักจากไป, ผู้อัญเชิญไฟ ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างงานเขียนฟิกชั่นญี่ปุ่นที่ มุทิตา พานิช แสดงฝีมือแปลจากภาษาดั้งเดิมมาสู่ภาษาไทย

สำหรับนักอ่านผู้ชื่นชอบงานเขียนญี่ปุ่น โดยเฉพาะแฟนคลับสำนักพิมพ์กำมะหยี่น่าจะคุ้นชื่อนักแปลมากฝีมือคนนี้อยู่แล้ว เพราะถ้าหากพลิกดูปกหลังของวรรณกรรมแปลญี่ปุ่นที่สำนักพิมพ์กำมะหยี่ปล่อยออกมา มีจำนวนไม่น้อยเลยที่มีชื่อของมุทิตาเด่นหราในฐานะคนแปล

สิ่งที่บางคนอาจไม่รู้คือนอกจากวรรณกรรม เธอยังทำงานแปลและงานเขียนประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือน็อนฟิกชั่นหรือกระทั่งบทละคร พูดได้ว่าในสิบกว่าปีที่ผ่านมา มุทิตาคือหนึ่งในนักแปลที่มีผลงานให้เห็นอยู่ตลอด และเธอก็มีความสุขกับงานที่ทำจนไม่เคยคิดอยากเปลี่ยนอาชีพ

ล่าสุดมุทิตาได้แปลรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนหญิงมือรางวัล นักเพาะกายผู้โดดเดี่ยว โดย ยูกิโกะ โมโตยะ ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่ อีกทั้งในปีนี้ยังถือเป็นปีที่ 16 ที่เธอทำงานแปลมาอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงทำให้ฉันอยากชวนเธอมาพูดคุยถึงเส้นทางอาชีพนักแปลหนังสือที่เธอใช้หล่อเลี้ยงชีพมาอย่างยาวนาน

แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก ทำให้ต้องส่งปากกาคู่ใจมาเป็นตัวแทนสนทนา

มุทิตา

“เมื่อไม่นานมานี้เธอแปลนิยายเล่มหนึ่งอย่างเมามันมากไปหน่อย แปลเพลินน็อนสตอป 3-4 ชั่วโมง เป็นประจำจนเจ็บข้อมือมากขนาดจับปากกาไม่ได้ไปพักใหญ่ ต้องไปทำกายภาพบำบัดเลยล่ะ”

แค่ฟังเจ้าปากกาเล่าถึงเจ้าของแค่นิดเดียว ก็ทำให้ฉันอยากรู้แล้วล่ะว่าอาชีพนักแปลนี่มันโหดหินขนาดนั้นเลยเหรอ ไปอ่านบทสนทนาเต็มๆ กันเลยดีกว่า

คุณรู้จักมุทิตาและเป็นปากกาของเธอได้ยังไง 

เราเป็นปากกาด้ามละ 4-5 บาทตามท้องตลาดทั่วไปนั่นแหละ เธอเจอพี่น้องเราครั้งแรกน่าจะตอนไปฟังสัมมนาที่ไหนสักแห่งแล้วเขาแจกให้จดโน้ต ชอบใจว่ายี่ห้อนี้เขียนลื่นดี หลังจากนั้นเธอก็เป็นแฟนคลับพวกเรามาตลอด พกในกระเป๋าดินสออย่างน้อย 2 ด้ามตลอดเวลา ตอนที่เจอกันครั้งแรกก็เห็นเธอแปลโน่นแปลนี่แทบทุกวันอยู่แล้ว เหมือนเป็นงานอดิเรกของเธอก็คงว่าได้

แล้วเธอเคยคิดไหมว่าวันหนึ่งจะได้ทำงานเป็นนักแปลหนังสือและวรรณกรรมญี่ปุ่น

มันเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของเธอเลยล่ะว่าจะได้ทำงานแปลอยู่บ้าน หิวขนมก็แปลไปกินไป วันไหนอยากออกไปทำอย่างอื่นก็ไปได้ แต่ตอนแรกเธอไม่ได้คิดว่าจะเป็นนักแปลหนังสือหรอกนะ

มุทิตา

แล้วจุดเริ่มต้นของการทำงานแปลเป็นอาชีพเริ่มได้ยังไง

น่าจะเป็นตอนที่รุ่นพี่คนหนึ่งมาชวนเธอไปช่วยแปลหนังสือให้สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งที่กำลังหานักแปล เพื่อแปลหนังสือภาษาญี่ปุ่นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นเธอเป็นล่ามฟรีแลนซ์อยู่ งานแปลก็ทำพวกแปลเอกสาร และเป็นอาสาสมัครแปลจดหมายเด็กๆ ให้มูลนิธิแห่งหนึ่งอยู่นานแล้ว เคยคิดเหมือนกันว่าตัวเองจะแปลหนังสือเป็นเล่มๆ ไหวไหม แต่พอมีโอกาสมาเธอก็เลยคว้าไว้ 

แล้วพอได้มาทำงานแปลหนังสือจริงจัง มุมมองที่มีแต่วิชาชีพนี้ของมุทิตาเปลี่ยนไปยังไง

พอได้แปลอะไรสนุกๆ ยาวๆ เธอยิ่งชอบเลย เธอคิดว่ามันเป็นงานที่เหมาะกับเธอมาก เพราะเธอชอบทำอะไรเงียบๆ อยู่คนเดียวมาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าเธอจะไม่เคยคิดถึงงานนี้ในแง่วิชาชีพมาก่อน อาจเพราะเธอไม่เคยร่ำเรียนเป็นเรื่องเป็นราว อาศัยประสบการณ์ล้วนๆ

จำได้ไหมว่าหนังสือเล่มแรกที่มุทิตาแปลคือเล่มไหน จำได้ไหมว่าตอนแปลเล่มนั้นรู้สึกยังไง

เล่มแรกเป็นหมวดน็อนฟิกชั่นเรื่อง เปลี่ยนรางชีวิต ของมาซารุ คาตาโอกะ 

เธอเป็นนักแปลช่างเลือกนะ ถ้าไม่ได้อ่านก่อนหรืออ่านแล้วไม่ชอบก็ไม่รับงาน แต่เล่มนี้มีบางส่วนคล้ายชีวิตเธอ หลายส่วนไม่คล้ายแต่เธอสนใจ แปลแล้วอินจัด แปลเสร็จยังไปทำเวิร์กช็อปกับนักเขียนที่ญี่ปุ่นด้วยแน่ะ

ถ้าเป็นหมวดฟิกชั่นจะเป็น 1Q84 ของ ฮารูกิ มูราคามิ ที่จริงเพื่อนเธอแปลอยู่ก่อนแล้วแต่มาหาทีมช่วยเพราะหนังสือเล่มหนามาก แถมเพื่อนดันโฆษณาว่า “อ่านเรื่องนี้แล้วนึกถึงเธอ” ก็เลยรับมาลองแปลดู ตอนนั้นไม่ค่อยแน่ใจว่าสำนักพิมพ์จะโอเคหรือเปล่าเพราะไม่ได้เรียนเอกภาษาอย่างเพื่อน แต่สุดท้ายก็ได้แปล ต้องบอกเลยว่าเล่มนี้แปลมันมาก เพราะนักเขียนวางพล็อต วางคาแร็กเตอร์เหมือนเขียนการ์ตูน อ่านไปแปลไปแบบลื่นปรื๊ดๆ ตอบคำถามของ บ.ก.และส่งงานเป็นระยะ เป็นการเริ่มแปลฟิกชั่นที่อิ่มเอมสุดๆ เลย

การแปลวรรณกรรมมีวิธีการคิดและทำงานต่างจากการแปลประเภทอื่นๆ ไหม

ถ้าเป็นน็อนฟิกชั่นก็ไม่ต่างจากงานแปลเอกสารเท่าไหร่ ต้องคอยเช็กความถูกต้องของเนื้อหาเป็นหลัก อาจจะเพิ่มเทคนิคการเล่าเข้าไปหน่อย แต่สำหรับฟิกชั่นมีเรื่องละเอียดอ่อนกว่านั้น ส่วนตัวเธอยึดอารมณ์บรรยากาศของเรื่องเป็นหลัก เวลาจะเลือกใช้คำหรือวางรูปประโยคก็ต้องรู้จักนักเขียนก่อน เพราะบางคนมีลายเซ็นเฉพาะของตัวเองแฝงอยู่ ที่ผ่านมาจะแปลฟิกชั่นของใครต้องอ่านงานของเขา จะเป็นเรื่องสั้นก็ได้ อย่างน้อยสัก 2-3 เรื่อง ให้พอรู้แนวของนักเขียนก่อน

แล้วตลอดหลายปีที่ผ่านมาคุณเห็นพัฒนาการการแปลของมุทิตายังไงบ้าง

ถ้าเป็นเรื่องพัฒนาการคงต้องถามนักอ่านล่ะมั้ง แต่ถ้าถามจากมุมมองของเรา ดูแล้วก็ไม่เห็นเธอจะไปเรียนอะไรเพิ่ม ก็เห็นอ่านนิยายไทย นิยายญี่ปุ่น หนังสือทั่วไป การ์ตูน บทความในอินเทอร์เน็ต บ้างก็ดูหนัง ดูซีรีส์ หรือฟังเพลง เธอว่าสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยพัฒนาทักษะทุกอย่างแหละ รวมทั้งงานอื่นๆ อย่างงานล่าม งาน บ.ก.ตรวจภาษาญี่ปุ่นก็ช่วยเหมือนกัน

แล้วคุณพอรู้ไหมว่าเธอมารู้จักกับกำมะหยี่ และยืนพื้นแปลงานเขียนญี่ปุ่นให้สำนักพิมพ์นี้ได้ยังไง

อ๋อ เพราะโชคชะตาพัดพาเธอมาพบกับกำมะหยี่ในปี 1Q84 ไง พอพบกันแล้ว คุยกับเจ้าสำนักรู้เรื่อง รู้ว่าเสนอหนังสือที่อยากแปลได้ สำนักพิมพ์ยอมให้อ่านหนังสือก่อนแล้วค่อยเลือกว่าจะรับหรือปฏิเสธงาน วันส่งงานส่วนมากกำหนดเองได้ แปลไปแล้วมี บ.ก.ที่รู้ภาษาญี่ปุ่นดีช่วยตรวจทานให้ บ.ก.ตรวจแล้วส่งกลับมาให้พิจารณาอีกที บางที บ.ก.ภาษาไทยอยากจะปรับก็ยังส่งมาให้พิจารณาอีก มีการให้ออกความเห็นเวลาเลือกปกหนังสือ ให้ค่าแปลเป็นเปอร์เซ็นต์จากราคาหนังสือ จ่ายค่าแปลตรงเวลา 

พอเริ่มแก่ เอ๊ย! เริ่มมีประสบการณ์มาก ก็ชวนสลับมาทำงานเป็น บ.ก.ตรวจความถูกต้องของต้นฉบับแปลบ้าง นานๆ ทีก็มีให้เป็นกรรมการคัดนักแปลรุ่นใหม่บ้าง เธอว่าสำนักพิมพ์กำมะหยี่นี่คือที่ทำงานสวรรค์สำหรับนักแปลอย่างเธอเลยล่ะ

หลังจากแปลงานวรรณกรรมญี่ปุ่นมาไม่น้อย โดยเฉพาะงานของมูราคามิ เจ้าของคุณชอบหรือเห็นเอกลักษณ์อะไรในงานเขียนของประเทศนี้ที่ทำให้นักอ่านชาวไทยสนใจ

คนไทยส่วนใหญ่ชอบญี่ปุ่น อาจจะได้รับอิทธิพลจากสินค้าวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และความรู้สึกต่อคนญี่ปุ่นที่เคยพบเจอด้วย งานเขียนไม่ว่าของประเทศไหนก็ล้วนสะท้อนสังคมวัฒนธรรม สภาพความเป็นจริงของประเทศนั้นๆ ออกมาผ่านมุมมองของนักเขียนแต่ละคน โดยรวมแล้วคิดว่างานเขียนของญี่ปุ่นมีหลากหลาย เพราะว่าประเทศเขามีประชากรอ่านหนังสือเยอะ และรัฐก็สนับสนุน ที่บ้านเมืองเขามีห้องสมุดดีๆ กระจายอยู่เยอะมาก แถมยังมีหนังสือให้ยืมอ่านซื้ออ่านกันตั้งแต่เด็กๆ

งานวรรณกรรมของทางญี่ปุ่นมีหลายยุคหลายสมัย ที่คนไทยชอบอ่านกันตอนนี้น่าจะเป็นพวกไลต์โนเวล ซึ่งเป็นนิยายอ่านง่าย ลักษณะเด่นคือจะมีบทสนทนาเป็นส่วนใหญ่ งานมูราคามิหรือนักเขียนอีกหลายคนที่สำนักพิมพ์กำมะหยี่พิมพ์ออกมาเป็นวรรณกรรมอ่านยากขึ้นมาหน่อย อธิบายละเอียดยาวเป็นหน้าๆ มีการเปรียบเปรยที่บางครั้งแปลไปก็อุทานว่าคิดได้ไงวะ (บางทีก็อิหยังวะ) กลิ่นอายของนักเขียนแต่ละคนจะแตกต่างกันไป

ธีมที่คนไทยสนใจดูเหมือนจะเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมญี่ปุ่น ความคิขุอาโนเนะ ความโอตาคุบ้าคลั่งชอบอะไรจริงจังสุดลิ่มทิ่มประตู ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ความเครียด ความพยายามที่จะสมบูรณ์แบบ อะไรพวกนี้ ก่อนยุคโควิด-19 คนไทยไปญี่ปุ่นเหมือนไปเที่ยวต่างจังหวัด ได้เห็นญี่ปุ่นกับตาตัวเองมากขึ้น คงมีความรู้พื้นฐานพอสมควรอยู่แล้ว น่าจะมีส่วนกระตุ้นความสนใจอยากรู้จักญี่ปุ่นให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งการอ่านวรรณกรรมก็ช่วยตอบความสนใจได้มาก

ส่วนตัวเธอชอบงานญี่ปุ่นแนวที่แปลอยู่บ่อยๆ ตรงที่บรรยายบรรยากาศไว้ละเอียดยิบ ชนิดหยิบไปทำหนังได้ง่ายๆ ได้ปล่อยใจบริหารอารมณ์ความรู้สึก สร้างหนังอยู่ในหัว แต่ก็มีบางเรื่องที่แค่สนุกไปกับพล็อตและตัวละคร ไม่ได้ล็อกสเปกแปลเฉพาะงานแนวเดียวหรอก ถ้าอ่านแล้วชอบก็แปลได้ทั้งนั้น

มุทิตา

พอทำงานแปลหนังสือแล้วมันทำให้มุทิตาอ่านหนังสือมากขึ้นหรือน้อยลงบ้างไหม

ปกติเธอเป็นคนอ่านหนังสือไม่มากเท่าไหร่อยู่แล้ว แต่ถ้าติดใจหรือคาใจเล่มไหนมักจะอ่านซ้ำ บางเรื่องอ่านเพราะชอบ บางเรื่องไม่ชอบเลยแต่อยากรู้ว่าทำไมถึงไม่ชอบ เวลาผ่านไปจะเปลี่ยนมาเป็นชอบได้หรือเปล่า 

พอเธอทำงานแปล แน่นอนว่าใช้เวลาไปกับการแปลเยอะ แต่ก็ชอบที่ได้อ่านซ้ำอย่างที่ทำบ่อยๆ รวมๆ แล้วก็อ่านเล่มใหม่น้อยลงจริงนั่นแหละ ทั้งที่ความถี่ในการซื้อก็ไม่ได้ลดลงเท่าไหร่ ที่ผ่านมาก็เห็นหาช่วงพักงาน เคลียร์กองดองอยู่เป็นระยะนะ

แล้วเธอเคยคิดอยากลองเขียนหนังสือของตัวเองบ้างไหม

เธอเคยลองเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อยู่พักหนึ่ง ราวๆ 3 ปี พบว่าไม่เหมาะกับนิสัยเท่าไหร่ เธอไม่ค่อยชอบแสดงตัวตน ชอบอ่านมากกว่าเขียน ที่ชอบงานแปลนี่ก็รู้สึกว่าได้อ่านหนังสือภาษาญี่ปุ่นให้เพื่อนคนไทยฟังหรอกนะ

มุทิตาเคยถามตัวเองไหมว่าเสน่ห์ของการแปลวรรณกรรมคืออะไร ทำไมเธอยังทำงานนี้มาอย่างยาวนาน

ง่ายๆ เลยเธอชอบอ่านนิยาย อ่านมาตั้งแต่สมัยนิตยสารพวก สตรีสาร, สกุลไทย ยังเฟื่องฟู (รู้แล้วสินะว่าเธอเป็นคนยุคไหน) การทำงานแปลสำหรับเธอคือได้ลองอ่านนิยายฟรีหลายๆ เรื่อง ถ้าชอบก็จะได้อ่านทวนซ้ำหลายรอบ ได้ใช้เวลาทำงานแปลง่วนอยู่คนเดียว ไม่มีใคร (กล้า) ขัดจังหวะ คือได้มีจังหวะชีวิตแบบที่ชอบ แถมได้ค่าแปลด้วย มีแต่ได้กับได้ แล้วจะเลิกทำไมล่ะ

เธอเคยเล่าให้คุณฟังไหมว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำอาชีพนักแปล

จะบอกว่าเมื่อไม่นานมานี้เธอแปลนิยายเล่มหนึ่งอย่างเมามัน อาจจะเมามันมากไปหน่อย เพราะแปลเพลินน็อนสต็อป 3-4 ชั่วโมงเป็นประจำ ผลที่ตามมาหลังจากนั้นคืออาการเจ็บข้อมือมากถึงขั้นจับปากกาไม่ได้ไปพักใหญ่ แล้วต้องไปทำกายภาพบำบัดเลยล่ะ แต่ตอนนี้ก็ดีขึ้น กลับมาทำงานแปลได้แล้ว เธอเตือนมาว่านักแปลต้องไม่ทำงานเพลินจนลืมดูแลตัวเองนะ ต้องบังคับตัวเองลุกจากโต๊ะมาบิดขี้เกียจ ยืดเหยียดร่างกายทุกชั่วโมง ต้องออกกำลังกายให้เป็นนิสัยจะได้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากความชอบ ความอึด ยังต้องมีร่างกายที่แข็งแรงด้วย 

ส่วนเรื่องที่ได้เรียนรู้จากการแปลน่ะเหรอ วันก่อนเธอมีโอกาสเสวนากับ โยโกะ ทาวาดะ นักเขียนเรื่อง ผู้อัญเชิญไฟ มีนักแปลที่แปลเล่มเดียวกันนี้เป็นภาษาอื่นมานั่งคุยด้วย สนุกมาก โดยสรุปก็คือนอกเหนือจากการแปลให้ถูกความหมายถูกบรรยากาศ ไม่มีอะไรถูกผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะนักแปลแต่ละคนก็มีภูมิหลัง ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ กัน แต่ละภาษาก็มีบริบทต่างๆ กัน นักแปลก็คือนักอ่านที่อ่านจากภาษาหนึ่งแล้วเล่าให้เพื่อนฟังเป็นอีกภาษาหนึ่งนั่นแหละ นักอ่านบางคนอาจจะชอบสำนวนนักแปลคนนี้ ขณะที่บางคนอาจจะร้องยี้ เวลาอ่านคอมเมนต์ของคนอ่านก็ทำใจร่มๆ รับฟังเพื่อพัฒนาฝีมือ ไม่เก็บเอาไปคิดมากนะ  

ในความคิดของคุณ การเผยแพร่วรรณกรรมภาษาต่างประเทศมันสำคัญยังไง ทำไมเราถึงต้องอ่านงานเขียนของประเทศอื่นๆ

การอ่านเป็นการเปิดโลกให้กว้างขึ้น ทั้งโลกภายนอกและโลกในตัวเรา ช่วยให้เราค่อยๆ ละเลียดเรียนรู้ตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา จะทำให้เราเข้าใจได้ว่าคุณค่าแบบไหนที่ตัวเราอยากยึดถือ เวลาอ่านเราอ่านคนเดียว โต้เถียงกับตัวเองจนสรุปได้ในระดับหนึ่งก่อนจะเอาไปพูดคุยอภิปรายกับคนอื่น 

ที่จริงจะเป็นงานเขียนของคนไทยหรือคนต่างชาติอ่านแล้วก็มีประโยชน์ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เราก็อยากจะทำความรู้จักคุณค่าแบบอื่นๆ เพื่อเอามาเปรียบเทียบกับที่เรามีอยู่ อาจจะทำให้เราปลื้มปริ่มกับของเดิมยิ่งกว่าเก่าหรือเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปก็ได้นะ ส่วนจะอินจนคิดส่ายสะโพกโยกย้ายไปประเทศนั้นเลยหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่สนใจอยากแปลหนังสือ รวมถึงมีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ นำงานเขียนต่างประเทศมาแปลเป็นภาษาไทยมากมาย มุทิตาคิดเห็นยังไงกับปรากฏการณ์นี้บ้าง

เธอพยักหน้าแรงๆ ตอบทันทีว่า ดีสิ ใครชอบทำอะไรก็ทำเลย ได้อ่านงานของนักเขียนหลายๆ คนจากหลายๆ ประเทศ เปิดโลกกว้างดีนะ

มุทิตา

หากมองในระดับโครงสร้าง อาชีพนักแปลหนังสือในไทยสามารถเติบโตในสายงานได้หรือเปล่า

เจ้าสำนักกำมะหยี่เคยพูดว่าอยากทำให้นักแปลสามารถอยู่ได้ด้วยการทำงานแปลอย่างเดียว ฟังแล้วเป็นสุดยอดอุดมคติเลย แต่จากประสบการณ์ เธอคิดว่าแค่ค่าตอบแทนทำงานแปลอย่างเดียวอยู่ยาก เพราะเป็นงานที่ใช้เวลาเยอะ (ขนาดเธอเป็นคนแปลเร็วแล้วนะ) ถ้าจะให้อยู่ได้ สำนักพิมพ์ต้องให้ค่าตอบแทนดี ซึ่งก็ยากอีก เพราะประชากรที่อ่านภาษาไทยมีไม่มาก จำนวนพิมพ์เลยน้อยตาม น่าเห็นใจสำนักพิมพ์เหมือนกัน เมื่อให้ค่าตอบแทนดียาก นักแปลที่คิดจะทำงานแปลอย่างเดียวก็ต้องเป็นคนที่ไม่มีภาระ มีกิเลสน้อย คนที่พร้อมแบบนี้มีไม่มากหรอก นักแปลส่วนใหญ่ก็ทำงานอื่นไปด้วยทั้งนั้น

เรื่องเติบโตในสายงานยิ่งน่าสงสัยว่างานนี้มีสายงานอยู่ด้วยเหรอ นักแปลก็น่าจะเหมือนช่างคนหนึ่ง  พอทำงานไปแล้วมีคนชอบฝีมือก็เรียกซ้ำ บางทีคนอื่นเห็นผลงาน ชอบใจก็มาติดต่อ คงเรียกได้ว่ามีคนรู้จักกว้างขึ้น มีโอกาสรับงานมากขึ้นมากกว่ามั้ง

มีการเปลี่ยนแปลงใดที่มุทิตาอยากเห็นในแวดวงนักแปลหนังสือของไทยบ้างไหม

คงเป็นเรื่องคุณภาพงานแปลนั่นแหละ เดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ต มีแอพฯ แปลภาษามากขึ้น ความสามารถของแอพฯ ก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น หลายคนเลยคิดว่าเดี๋ยวนี้เป็นนักแปลกันง่ายๆ มีความรู้ภาษาต่างประเทศนิดๆ หน่อยๆ ก็พอ ที่เหลือใช้แอพฯ แปลเอา เราก็เลยได้เห็นงานแอพฯ แปลในหนังสือที่พิมพ์ออกมาขายอยู่เรื่อยๆ (ที่เห็นบ่อยจะเป็นพวกหนังสือฝึกภาษา หนังสือนำเที่ยว อะไรพวกนี้)

แต่ในความเป็นจริงงานแปลโดยเฉพาะพวกงานวรรณกรรมไม่ใช่งานของแอพฯ แน่นอน การใช้แอพฯ เป็นตัวช่วยเวลาแปลนั้นทำได้ แต่เราต้องใช้เป็น ต้องฉลาดกว่าแอพฯ รู้วิธีตรวจสอบย้อนกลับ อยากให้ใช้อินเทอร์เน็ตในการพัฒนาความสามารถทางภาษาและความรู้รอบตัวเกี่ยวกับภาษาต้นทางและปลายทางของตัวเองมากกว่าหวังพึ่งการแปลอัตโนมัติ

ในอนาคตเจ้าของคุณจะยังทำงานแปลไปเรื่อยๆ ใช่ไหม

ใจน่ะมีเกินร้อย แต่คงต้องถามสังขารล่ะนะว่าไหวถึงไหน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย