คุยกับปากกาของ giftmeme ผู้เขียนนิยายรักหวานหม่นระหว่างคนกับผี ‘Pumpkin Head’ #นายหัวฟักทอง

ถ้าจู่ๆ วันหนึ่งคุณเจอวิญญาณแปลกหน้าในห้องตัวเองจะรู้สึกยังไง

กลัวใช่ไหม ต้องกลัวและตกใจก่อนแน่ๆ แต่ถ้าหลังจากนั้นเจ้าผีกลับดีกับคุณเหลือแสน และคุณกับเขาก็ดันกลายเป็นเพื่อนกันโดยไม่ได้ตั้งใจ พอจินตนาการออกไหมว่าจะเป็นยังไงต่อ

“เบรนดอลไม่เคยเชื่อว่าผีมีจริง จนกระทั่งเขาสาดกาแฟใส่ผีตนหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นในห้อง หลังจากนั้น สิ่งไม่มีชีวิตเย็นเยียบแสนอบอุ่นก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแสนสามัญของนายหัวฟักทอง”

ใช่แล้ว นี่คือเรื่องราวของนายหัวฟักทอง หรือ เบรนดอล ใน Pumpkin Head นิยายปกส้มสะดุดตาที่เขียนโดย giftmeme

จากวันที่ 1 ตุลาคมที่พวกเขาพบกัน จนกระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันฮัลโลวีน เราค่อนข้างมั่นใจว่าคุณจะค่อยๆ หลงรักเจ้าผีไคล์และนายหัวฟักทองไปพร้อมๆ กับที่พวกเขาทำความรู้จักกัน

ช่วงแรกมวลอารมณ์อุ่นๆ บรรยากาศหวานจางๆ จะไหลเวียนไปทั่วตัวอักษร ก่อนจะเจอกับความขมปร่าของส่วนผสมที่ผู้เขียนเติมเข้ามา และปิดท้ายด้วยรสชาติหวานหอมเหมือนฟองนมที่ทิ้งให้เราโหยหาเรื่องราวที่จบไป–นี่คือความรู้สึกของฉันตอนที่อ่านนิยายเล่มนี้จบ

Pumpkin Head ถือกำเนิดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ตั้งแต่ปี 2016 จากกิจกรรม #fictober ที่ผู้ร่วมกิจกรรมจะเขียนฟิกชั่นทุกวันติดต่อกันในเดือนตุลาคม และรวมเล่มครั้งแรกในปี 2018 ปัจจุบันนิยายเล่มนี้ได้เดินทางมาอยู่ใต้การดูแลของสำนักพิมพ์น้องใหม่ Begonia Publishing รวมถึงเปลี่ยนปกใหม่ และพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 3 แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ เรียกว่ากระแสตอบรับยังดีอย่างต่อเนื่อง

แน่นอน เดือนนี้ไม่ใช่เดือนตุลาคม และประเทศเราก็ไม่หนาวแบบเซตติ้งในนิยายสักนิด แต่เราก็อยากนัดคุยกับนักเขียนผู้สร้างผลงานชิ้นนี้ อาจเพราะสถานการณ์บ้านเมืองอันแสนหดหู่ จนทำให้เราคิดถึงงานเขียนอบอุ่นๆ จนต้องหยิบนายหัวฟักทองมาอ่านซ้ำรอบที่สองก็ได้นะ

แต่น่าเสียดายชะมัดที่ giftmeme กำลังยุ่งอยู่ เธอเลยขอส่งเจ้าปากกาที่หน้าตาธรรมดาทว่าขีดเขียนได้อย่างลื่นมือมาตอบคำถามเราแทน

เหตุผลใดที่ทำให้เธอเลือกเขียนเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนกับผีในเมืองนิวยอร์ก ไปหาคำตอบกันเถอะ

คุณมาอยู่กับ giftmeme ได้ยังไง

ก่อนหน้านี้เธอเป็นพวกเขียนตัวบรรจงด้วยดินสอ ไม่ก็จดโน้ตเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยปากกาลูกลื่น แต่พอเป็นเรื่องทดความคิดชั่ววูบทีไร เธอชอบคว้าปากกาเจลสีน้ำเงินมาใช้เพราะมันลากลื่นไร้รอยต่อดี แถมไม่เกี่ยงด้วยว่าต้องมีแท่งโปรด เพราะงั้นเราจึงได้มาอยู่ที่นี่เพราะแม่ของเธอไปรับตัวมาให้จากตลาด ไม่มีอะไรโรแมนติกสักนิด แถมในอนาคตเธออาจเปลี่ยนใจอีกก็ได้

ถ้าอย่างนั้นพอรู้ไหมว่า giftmeme เริ่มต้นเขียนนิยายได้ยังไง

บรรดาดินสอปากกาที่อยู่ในกล่องตั้งแต่สิบกว่าปีก่อนให้การว่าเธอเริ่มขีดๆ เขียนๆ สมัยเรียนประถม แรงผลักแรกมาจากการอ่านวรรณกรรมเยาวชนยุค 2000s อันเฟื่องฟู หลังจากเขียนลงสมุดแบ่งเพื่อนอ่าน ลงเว็บบอร์ดชมรมตอนมัธยมต้น เก็บไว้อ่านคนเดียวตอนมัธยมปลาย และห่างหายไปช่วงเรียนมหา’ลัย ช่วงเรียนจบใหม่ ๆ เธอก็นึกครึ้มใจกลับมาเขียนอีกครั้ง คราวนี้ต้องขอบคุณแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำให้มีพื้นที่เผยแพร่งาน จากการเขียนย่อหน้าภาษาอังกฤษสั้นบ้างยาวบ้าง เลยพัฒนามาเป็นนิยายที่เป็นชิ้นเป็นอันในที่สุด

ปกติเธออ่านหนังสือแนวไหน มีใครเป็นนักเขียนในดวงใจหรือเปล่า

ตอนนี้เธออ่านนิยายแปลเป็นส่วนใหญ่ ที่ถูกจริตและทำหัวใจสั่นไหวได้มากที่สุดคือนิยายและเรื่องสั้นญี่ปุ่น นักเขียนที่ทำให้เธอทึ่งมากคือโอตสึ อิจิ ที่มีผลงานดังๆ อย่างรวมเรื่องสั้น Zoo, โทรศัพท์สลับมิติ, หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ ในฐานะคนที่สับเปลี่ยน genre ของงานได้อย่างมีเสน่ห์และฉลาดเฉลียว ส่วนชั่วโมงนี้เธอกำลังสนใจงานของนักเขียนหญิงเป็นพิเศษ ทั้งโยโกะ โอกาวะ, ฮิโรมิ คาวาคามิ และเอคุนิ คาโอริ  ซึ่งมอบความละเอียดอ่อนและประสบการณ์ที่ไม่ค่อยได้เห็นจากไหน

แล้วอะไรทำให้เธอเริ่มต้นเขียน Pumkin Head

เดือนตุลาคมในปีนั้นมีกิจกรรม #fictober ซึ่งชวนคนมาเขียนทุกวันตลอดเดือน เธอที่ว่างงานและเคว้งคว้างเลยนึกสนุกลองดู ไม่ได้ใช้หัวข้อที่เขากำหนดมาให้ แต่ว่าเขียนจากคีย์เวิร์ดที่อยากเขียน จากนั้นเรื่องราวก็ดำเนินไปตามสถานการณ์วันต่อวันของเธอเอง

ทำไมเรื่องนี้ถึงต้องเป็นเรื่องราวของคนเป็นกับคนตาย เพราะเดือนตุลาคมมีวันฮัลโลวีนหรือเปล่า

ตอนแรกเธอคิดซื่อๆ แบบนั้นแหละ เดือนตุลาคมมาพร้อมกับวันฮัลโลวีน เพราะงั้นก็ต้องเป็นเรื่องผีน่ะสิ แต่ลึกๆ แล้วเธอก็หมกมุ่นกับเรื่องความตายในฐานะโลกอีกใบหนึ่ง เช่นเดียวกับความโหยหาอาลัยและเรื่องน่าเสียดายในชีวิตคน เธอเลยเล่าเรื่องผ่านตัวละครคนเป็นและคนตาย นอกจากนี้ก็ยังอยากลองเขียนเรื่องผีในห้องให้ออกมาเป็นแนวชีวิตประจำวันดูเพราะอยากรู้ว่าเรื่องสามัญธรรมดากับผีจะออกมาเป็นยังไง

แต่จริงๆ เรื่องผีกับคนจะเล่าที่ไหนก็ได้นี่ ทำไมฉากหลังของเรื่องถึงเป็นนิวยอร์กล่ะ

เพราะต้นแบบตัวละครที่เธอแคสติ้งในใจเป็นชาวต่างชาติ เธออยากให้พวกเขาอยู่ท่ามกลางบรรยากาศฤดูใบไม้ร่วง ความหนาวเย็น วัฒนธรรม วิถีชีวิต และกิจกรรมที่ตัวละครทำ ตลอดจนสถานที่ที่พวกเขาไป ซึ่งโลกใน Pumpkin Head ที่แจ่มชัดในใจเธอนั้นก็คือนิวยอร์ก ถึงเธอจะไม่เคยไปเยือนที่นั่นก็ตามที

แล้วเขียนเรื่องที่พูดถึงโลกของคนเป็นกับคนตายแบบนี้ ส่วนตัวแล้วเจ้าของคุณเชื่อเรื่องโลกหลังความตายไหม

เธอทั้งเชื่อและไม่เชื่อในคราวเดียวกัน ส่วนที่เชื่อจะจินตนาการว่ามันเป็นอีกมิติหนึ่ง บางทีเราอาจไปเกิดใหม่ในนั้นโดยไม่รู้ตัวหรือจำความไม่ได้ และถ้าเป็นแบบนั้นจริงโลกที่เราหายใจอยู่ในตอนนี้ก็อาจเป็นโลกหลังความตายโลกที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ ส่วนอีกครึ่งใจที่ไม่เชื่อมักคิดว่าตายแล้วก็เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าถูกดึงปลั๊ก ดับวูบ ไม่มีอะไรอีก เพราะถ้าต้องมีสติรับรู้ต่อไปคงเหนื่อยน่าดู โลกหลังความตายที่เป็นระบบระเบียบแบบในนิยายเป็นการทดลองทางความคิดของเธอมากกว่าความเชื่อ เผลอๆ อาจจะเป็นความฝันถึงสวรรค์ในอีกรูปแบบหนึ่งก็เป็นได้

ถ้าจู่ giftmeme เห็นวิญญาณได้แบบนายหัวฟักทองขึ้นมา คุณคิดว่าเธอจะรีแอกต์เหมือนเขาไหม

เธอจะเป็นลมล้มตึงไปก่อนน่ะสิ ถึงจะเขียนเรื่องผีสางแต่ก็เธอก็เชื่อว่าวิญญาณน่ะน่ากลัวสุดฤทธิ์ เว้นแต่ว่าจะเป็นวิญญาณที่สนทนากันได้แบบในเรื่อง ถ้าเป็นแบบนั้นเธอคงรู้สึกตื่นเต้นเหมือนเด็กที่มีความลับเร้าใจอยู่คนเดียว จนวิญญาณตนนั้นอาจจะเบื่อที่ต้องฟังเธอถามนู่นนี่ก็เป็นได้ 

แต่ถ้ามองเห็นวิญญาณของคนรู้จักและผูกพันก็คงเป็นอีกเรื่องทีเดียว ถ้าไม่กระอักกระอ่วน ก็คงเต็มไปด้วยเรื่องน่าเสียดายมากเกินไป

ถ้าให้แบ่งหมวดหมู่ตามประเภทนิยาย คุณคิดว่า Pumkin Head ควรไปอยู่ประเภทไหน

นิยายแนวชีวิตประจำวัน (slice of life) ที่มีตัวละครเพศหลากหลาย ที่เธอไม่ได้ขึ้นต้นด้วยเรื่องเพศก่อนไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นความสำคัญ แต่เพราะอยากให้มิตินี้อยู่ในนิยายแนวต่างๆ ได้อย่างกลมกลืน ไม่ว่าตัวละครจะมีเพศสภาพหรือเพศวิถีใดล้วนเป็นตัวเอกในนิยายได้ทั้งหมด ทั้งนี้เธอก็เข้าใจดีว่า representation ของกลุ่มเพศหลากหลายในสื่อหลักมีน้อยกว่ามาก การจัดเป็นหมวดหมู่เฉพาะก็ช่วยเพิ่มพื้นที่ให้คนมองเห็นมากขึ้นได้จริง แต่สักวันหนึ่งเธออยากเห็นงานหลายแนวที่มีตัวละครหลากเพศบนชั้นหนังสือมากพอ ๆ กับงานแนวโรแมนซ์ที่ครองกระแสมานานเหมือนกัน

เพราะเขียนงานที่มีตัวละครหลักเป็นเพศหลากหลาย อยากรู้เลยว่า giftmeme คิดยังไงกับนิยายชายรักชายไทยที่บางเรื่องก็หยิบฉวยอัตลักษณ์ของคนในคอมมิวนิตี้ไปใช้ แต่ไม่ได้ถ่ายทอดความจริงของพวกเขาออกมา

เธอคิดว่าสาเหตุของการหยิบฉวยไปใช้อาจมาจากความต้องการผลิตสื่อเพื่อความบันเทิงเฉยๆ แต่ตกหลุมพรางว่าเรื่องบันเทิงไม่จำเป็นต้องสมจริงและเป็นแค่แฟนตาซีในจินตนาการของผู้เขียน ส่วนหนึ่งเธอก็เห็นด้วยว่าคนเขียนควรมีอิสระในการสร้างผลงาน และการเขียนเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวก็ไม่ใช่เรื่องผิดในตัวมันเอง

แต่เธอก็ไม่อยากให้หลงลืมว่าความสัมพันธ์ของกลุ่มชายรักชาย (เช่นเดียวกับกลุ่ม LGBTQIA+ ทั้งหมด) นั้นเป็นของจริง มีอยู่ในโลกความเป็นจริงนอกหนังสือหรือหน้าจอ และมีคนอีกมากที่กำลังลำบากเพราะสังคมไม่เข้าใจเพศสภาพ เพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศของเขา ดังนั้นการผลิตสื่อโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงหรือวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงมีโอกาสทำให้คนรับสื่อเข้าใจผิด หรือยิ่งกว่านั้นคือเผลอมองว่าคนในชุมชนนี้เป็นเพียงแค่ตัวละครไปเสียหมด 

โดยเฉพาะกับงานเขียนร่วมสมัยที่คนอ่านปิดหนังสือปุ๊บก็เจอสังคมเดียวกับที่อ่านปั๊บ โลกของเรื่องแต่งและเรื่องจริงจึงซ้อนกันอยู่ ทั้งที่ความเป็นจริงทุกคนไม่ได้หน้าตาตรงตามพิมพ์นิยม ฝ่ายรุกไม่ได้มีแค่คนที่แสดงความเป็นชายมากกว่ารับ ฝ่ายรับไม่จำเป็นต้องบอบบางหรือออกสาวเสมอไป เซ็กซ์เองก็ไม่ได้ราบรื่นง่ายดายเท่าที่นิยายเขียนให้เห็น และตอนจบแสนสุขก็อาศัยแค่ความรักอย่างเดียวไม่พอในเมื่อคนรักเพศเดียวกันยังไม่มีสิทธิทางกฎหมายเท่ากับคู่สมรสชาย-หญิงเลย

เธอไม่ได้จะบอกว่าทุกคนต้องเขียนแง่มุมเหล่านี้ลงไปในเรื่องแต่งทั้งหมดหรอกนะ เพียงแต่ว่าเมื่อถึงคราวต้องเขียนถึงประเด็นเหล่านี้ก็อยากให้ลองจับต้องมันอย่างใส่ใจหน่อย เธอเชื่อว่ามันมีวิธีที่ความรู้ความเข้าใจอยู่ร่วมกับความบันเทิงได้ ถ้ารู้เท่าทันเรื่องนี้ตอนเขียนและอ่านเราน่าจะตระหนักได้ว่าต้องจัดการกับไอเดียที่มีอยู่ในมือออกมาในรูปแบบไหน

แล้วในฐานะคนผลิตงาน เธอคิดว่านักเขียนที่ไม่ได้เป็นเพศหลากหลายจะแน่ใจได้ยังไงว่าสามารถสื่อเรื่องนี้ออกมาได้ซื่อตรง

เริ่มจากฟัง ดู และรับสารจากคนในชุมชนก่อนได้ จริงๆ ต่อให้มีประสบการณ์ของตัวเองก็ใช่ว่าจะตรงกันไปทั้งหมด เธอคิดว่านักเขียนหลายคนเริ่มต้นมาจากการเป็นผู้อ่าน เลยอาจอ้างอิงข้อมูลจากสื่อที่เคยเห็นมาเป็นส่วนใหญ่ พอมาผลิตงานเองเลยกลายเป็นการผลิตซ้ำได้ง่ายๆ เพราะอนุมานเอาเองว่า ‘น่าจะ’ เป็นแบบนี้ หรือคิดว่าไม่เป็นไรเพราะเป็นแค่เรื่องแต่งอยู่แล้ว พอมันถูกทำซ้ำไปเรื่อยๆ ก็อาจชวนให้คิดว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือฝังในระบบคิดไป

ยกตัวอย่างเรื่อง sexual position ซึ่งเธอคิดว่าการมีตำแหน่งที่ชอบไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การผูกติดลักษณะแบบหนึ่งกับตำแหน่งรุก/รับจนเป็นภาพจำรูปแบบเดียว กลายเป็นกระทบคนที่ไม่ fit in ลักษณะเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง ทั้งที่เราไม่สามารถตัดสินเรื่องนี้จากภายนอกได้และจะเสียมารยาทถ้าคิดเอาเอง นอกจากนี้ความสัมพันธ์ของบางคู่ก็ไม่ได้อยู่ในรูปแบบโรแมนติกหรือ sexual เท่านั้น เธอคิดว่าตอนนี้กลุ่มคนเพศหลากหลายได้ออกมาแบ่งปันข้อมูลตามช่องทางต่างๆ ไม่น้อย และไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงเลยที่เราจะฟังพวกเขาก่อนลงมือเขียน

ฟังดูแล้วเจ้าของคุณน่าจะมองว่านิยายหรือเรื่องแต่งใดๆ จำเป็นต้องรับผิดชอบสังคม?

แน่นอน เหมือนที่เราต้องมีความรับผิดชอบต่อคำพูดหรือการกระทำตัวเองต่อผู้อื่น เพียงแต่ตอนนี้นิยายเป็นสื่อที่แพร่ไปในวงกว้างได้ง่ายขึ้นมาก แถมกลวิธีการเขียนก็อาจทำให้คนอ่านคล้อยตามได้ เธอคิดว่าผู้เขียนต้องตกลงกับตัวเองให้ได้ก่อนว่าเขียนแบบนี้ไปเพื่ออะไร จำเป็นต้องเล่าแบบนี้หรือไม่ และเมื่อถ่ายทอดออกไปแล้วมันจะก่อให้เกิดปัญหาได้ไหม จากนั้นก็หาวิธีจัดการกับมันอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะผ่านเทคนิคการเล่าเรื่อง การใส่คำเตือนเนื้อหาเพื่อแนะนำคนอ่าน รวมถึงการจัดเรตและหาที่ทางให้รัดกุม เพื่อไม่ให้พฤติกรรมหรือความคิดที่สุ่มเสี่ยงกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป

แน่นอนว่าสังคมที่ทุกคนมีวิจารณญาณแยกแยะได้เป็นปลายทางในอุดมคติของเรา แต่จะไปถึงจุดนั้นได้ก็ต้องคำนึงถึงคนที่ยังไม่มีความตระหนักเท่ากันด้วย เพราะบางครั้งการหวังพึ่งวิจารณญาณส่วนบุคคลก็อยู่เหนือการควบคุมของคนเขียน การคิดเผื่อจึงเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เธอเห็นว่าคนอ่านเองก็ต้องร่วมมือและย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าสิ่งที่เห็นจนชินไม่ได้ถูกต้องเสมอไป การตระหนักว่ามันมีโอกาสผิดได้คือจุดเริ่มต้นของการคิดวิเคราะห์

ยุคนี้เมืองไทยมีสื่อเกี่ยวกับเพศหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะหนัง ซีรีส์ หนังสือ หรือสื่อบันเทิงทั้งหลายซึ่งนำเสนอได้ตรงกับชีวิตจริงของพวกเขา หรือบางเรื่องก็เน้นความบันเทิงอย่างสุดโต่งจนละเลยความเป็นจริงไป giftmeme มองปรากฏการณ์นี้ยังไง

เธอมองว่าการมีพื้นที่ของเพศหลากหลายให้คนทั่วไปเห็นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่โจทย์ต่อไปคือทำยังไงถึงจะขยับขยายที่ตรงนั้นให้กว้างขึ้น เพราะจำนวนที่เพิ่มไม่ได้แปลว่ามีเนื้อหาหลากหลาย และในบรรดาความหลากหลายที่มีไม่มากมาย เสียงและพื้นที่ที่ผู้ผลิตแต่ละคนได้ก็ไม่เท่ากัน 

ยิ่งไปกว่านั้นมันไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าสังคมโอบรับเพศหลากหลายในชีวิตจริง ในเมื่อผู้ผลิตและผู้ชมส่วนหนึ่งมองว่ามันแยกจากโลกที่ตัวเองอยู่ จนบางครั้งปฏิเสธชื่อเรียกความสัมพันธ์ของ ‘เกย์’ ด้วยซ้ำ (คนละอย่างกับการไม่ตัดสินเพศวิถีล่วงหน้า แต่เป็นไปเพื่อละเลยมิตินี้หรือจงใจเลี่ยงว่ามันไม่ใช่) ดังนั้นเธอจึงคิดว่าผู้อ่านและผู้ชมมีส่วนสำคัญมากในการกำหนดทิศทางของสื่อ เป็นการสะท้อนไปยังผู้ผลิตว่าเนื้อเรื่องที่แตกต่างไปจากกระแสหลักก็ขายได้

ในขณะเดียวกันผู้ผลิตเองก็ต้องเฟ้นหา นำเสนอ และกล้าลงทุนกับผลงานเหล่านั้นโดยไม่ยึดกับสูตรทำเงินอย่างเดียว ถ้าสองส่วนนี้มาบรรจบกันได้ เธอคิดว่าเราน่าจะได้เห็นอะไรดีๆ มากขึ้นทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยไม่ต้องอาศัยการรับสื่อต่างประเทศเป็นหลักหรือจำกัดงานกระแสรองให้เป็นงาน niche เท่านั้น ที่สำคัญสังคมเองจะได้มองเห็นแง่มุมต่างๆ ของคนในคอมมิวนิตี้มากขึ้น รู้สึกยึดโยงกันมากขึ้น มากกว่าแค่ให้พวกเขามีที่ทางแค่ในสื่อแล้วจบไป

ถ้าเป็นไปได้ เจ้าของคุณอยากสร้างงานเขียนแบบไหนออกมาในอนาคต

ถ้ายึดตัวเธอเป็นหลัก ตอนนี้เธอตัดสินใจแล้วว่าจะเขียนงานที่ทำให้ตัวเองไม่เสียดายและมีความสุขทุกครั้งที่ย้อนมาอ่าน โดยไม่เกี่ยงแนวหรือความเป็นไปได้ และถ้ามันทำให้หัวใจคนอ่านสั่นไหวและทิ้งความทรงจำบางอย่างไว้ได้บ้าง นั่นก็เป็นยิ่งกว่าของขวัญสำหรับเธอแล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย