“ยุคสมัยเปลี่ยนไปแต่หัวใจที่เป็นเด็กไม่เปลี่ยนแปลง” เกร็ด 50 ข้อฉลอง 50 ปีโดราเอมอน

Highlights

  • ในปี 2020 เป็นปีที่โดราเอมอนมีอายุครบรอบ 50 ปี พิพิธภัณฑ์ Fujiko F. Fujio Musuem จึงจัดนิทรรศการฉลองวาระนี้ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และคอลัมน์ Made in Japan ก็ไม่พลาดไปคุยกับตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์ถึงเกร็ดสนุกๆ ของหุ่นยนต์แมวสีฟ้าที่เป็นที่รักของคนทั่วโลก
  • ไม่ว่าจะเป็นส่วนสูงของโดราเอมอนกับโนบิตะในแต่ละตอนไม่เท่ากัน, อาจารย์ Fujiko F. Fujio เคยถอดใจอยากเลิกเขียนโดราเอมอน ไปจนถึงความจริงที่ว่าโดราเอมอนมีตอนจบถึง 3 แบบ หรือไม่ก็ไม่มีตอนจบเลย!
  • แม้ถ้านับกันด้วยอายุอานาม โดราเอมอนจะควรถูกเรียกว่าเป็น 'คุณลุง' ได้แล้วแต่ตัวแทนผู้ใกล้ชิดกับโดราเอมอนก็ยืนยันว่าหัวใจของโดราเอมอน โนบิตะ และคนอ่านทุกคนนั้นจะยังเป็นเด็กตลอดไป

50 ปีโดราเอมอน

ถ้าจำไม่ผิด การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องแรกๆ ที่อ่านตั้งแต่ตอนอยู่ประถมคือ โดราเอมอน ฉบับพ็อกเก็ตบุ๊กที่มีทั้งหมด 45 เล่ม ที่จำได้แม่นคือ แต่ละเล่มถูกอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางเล่มก็บวมน้ำ ปกเยินหลุด ตามประสาเด็กที่ยังไม่รู้จักให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งของ โชคดีที่ให้ความสำคัญกับความทรงจำ เมื่อมีเงินเดือนเลยได้โอกาสดูแลเพื่อนในวัยเด็กอย่างตั้งใจอีกครั้ง คราวนี้ นอกจากจะมีการ์ตูนเซตปกติ เรายังมีการ์ตูนตอนพิเศษมากมาย รวมไปถึงสินค้าโดราเอมอนนานาชนิด

ปี 2020 ที่ผ่านมานี้ เพื่อนคนสำคัญอายุครบ 50 ปีพอดี นอกจากจะมีภาพยนตร์ Stand By Me ภาค 2 เข้าฉาย เขายังทยอยจัดนิทรรศการฉลองครบรอบครึ่งศตวรรษมาตั้งแต่ปลายปี 2019 และคอลแล็บสนุกๆ กับหลายแบรนด์ดัง เราเลยขอแวะไปคุยกับ Ikeda Mitsuko จาก Fujiko F. Fujio Musuem เกี่ยวกับโดราเอมอนและเรื่องราวตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้แฟนคลับรู้จักเจ้าแมวสีฟ้าและผู้เขียนการ์ตูนอมตะตลอดกาลเรื่องนี้ให้ดียิ่งขึ้น

 

Part 1 : Doraemon

1. โดราเอมอนเดบิวต์ครั้งแรกด้วยการลงนิตยสารรายเดือน 6 เล่มพร้อมกัน! ในปี 1970 การ์ตูนโดราเอมอนตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการ์ตูนรายเดือน 6 เจ้า ได้แก่ Yoiko นิตยสารการ์ตูนเด็กเล็ก Yochien นิตยสารการ์ตูนเด็กอนุบาล (อายุ 3-6 ปี) และนิตยสารการ์ตูนสำหรับเด็ก ป.1-4 รวม 4 เล่ม อาจารย์ Fujiko F. Fujio ยังเขียนเนื้อหาการ์ตูนสำหรับนิตยสารทั้ง 6 เล่มไม่เหมือนกันเลยเพื่อให้เข้ากับความสนใจของเด็กแต่ละวัย

2. CoroCoro Comic คือนิตยสารการ์ตูนสำหรับเด็กประถมที่เริ่มวางแผงในปี 1977 โดยมีโดราเอมอนเป็นดาวเด่นเพราะเป็นเรื่องที่เด็กๆ อ่านได้แบบไม่ต้องแบ่งแยกชั้นปี (ฉบับเปิดตัวนั้นมีการ์ตูนโดราเอมอนถึง 200 หน้าจากความหนาทั้งหมด 520 หน้า เลือกมาจากตอนที่เคยลงนิตยสารการ์ตูนสำหรับเด็กประถมรวม 18 ตอน) ผลคือนิตยสารก็ป๊อป เด็กๆ ก็แฮปปี้มาก ความพิเศษอีกอย่างของนิตยสารนี้คือภาพหน้าปกที่วาดด้วยปากกาเมจิกหัวใหญ่ซึ่งนักวาดการ์ตูนมักไม่ใช้กัน ต่อมาภาพแบบนี้ก็กลายเป็นจุดเด่นและภาพจำของ CoroCoro Comic ในที่สุด

3. การ์ตูนโดราเอมอนแบบรวมเล่มเกือบมีแค่ 6 เล่มเท่านั้น เพราะตอนรวมเล่มครั้งแรกในปี 1974 อาจารย์แค่อยากให้คนที่ไม่ได้ติดตามนิตยสารเด็กได้อ่านด้วยแต่ด้วยความนิยมจึงยิงยาวมาถึง 45 เล่ม และในปี 2019 ได้มีการนำตอนแรกของนิตยสารทั้ง 6 เล่มมารวมกันเป็นเล่มพิเศษหรือเล่มที่ 0 

4. โดราเอมอนกับโนบิตะในการ์ตูนรวมเล่มแต่ละตอนสูงไม่เท่ากัน! เนื่องจากเนื้อหามาจากนิตยสารหลายเล่ม บางครั้งเราจึงเห็นว่าลายเส้นเปลี่ยนไปบ้าง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือความสูงของโนบิตะกับโดราเอมอนที่ไม่เท่ากัน ถ้าเป็นตอนที่มาจากนิตยสารสำหรับเด็กเล็ก โดราเอมอนจะตัวสูงกว่าโนบิตะ แต่ถ้ามาอ่านตอนที่มาจากนิตยสารสำหรับเด็ก ป.4 จะพบว่าโนบิตะตัวสูงกว่าโดราเอมอนเสียแล้ว

5. ตอนที่โดราเอมอนได้ทำเป็นอนิเมะครั้งแรก อาจารย์ไว้ใจทีมงานและไม่ยุ่งเรื่องโปรดักชั่นเลย แต่เคยเอ่ยปากขอร้องแค่ครั้งเดียวว่าให้วาดตัวการ์ตูนให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบหน้าซึ่งเป็นส่วนที่อาจารย์ใส่ใจมากที่สุด

6. การ์ตูนโดราเอมอนที่ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกคือ ไดโนเสาร์ของโนบิตะ (Doraemon, Nobita no Kyoryu) โดยได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเรื่อง Born Free โดย Joy Adamson เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ Adamson รับลูกสิงโตชื่อ Elsa มาเลี้ยง อาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ ประทับใจมากจนอยากจะเขียนเรื่องราวแบบนี้ในโลกของโดราเอมอนบ้างจึงออกมาเป็นเรื่องสั้นความยาว 25 หน้าที่เราได้อ่านกันในการ์ตูนรวมเล่มฉบับที่ 10

credit : dora-movie.com/images/poster1.jpg

7. จริงๆ แล้ว การ์ตูนโดราเอมอนตอนลงนิตยสารรายเดือนไม่ดังเลยแต่มาแจ้งเกิดตอนทำรวมเล่ม! นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โดราเอมอนมีตอนจบถึง 3 แบบ

8. แล้วตอนจบที่แท้จริงของโดราเอมอนคืออะไร?

ในทางเทคนิค จะบอกว่าโดราเอมอนมีตอนจบ 3 แบบก็ได้ แบบแรกอยู่ในนิตยสารสำหรับเด็ก ป.4 (เด็กโตที่สุดที่อาจารย์เขียนการ์ตูนให้) ซึ่งพอถึงฉบับเดือนมีนาคมที่เป็นเดือนสุดท้ายก่อนปิดเทอมใหญ่ทีไร อาจารย์ก็จะเขียนตอนจบให้โดราเอมอนกับโนบิตะแยกจากกันเพราะโดราเอมอนต้องกลับไปยังโลกอนาคต จึงพูดได้ว่าตอนจบของโดราเอมอนรอบแรกอยู่ในนิตยสารเด็ก ป.4 ประจำเดือนมีนาคม 1971 ส่วนตอนจบครั้งที่ 2 อยู่ในฉบับเดือนมีนาคม ปี 1972

หลังจากนั้นอาจารย์คิดจะเลิกเขียนการ์ตูนรายเดือนจึงวาด ‘ตอนจบครั้งที่ 3’ ไว้ในนิตยสารสำหรับเด็ก ป.3 ฉบับเดือนมีนาคม ปี 1974 ด้วยแต่พอทำการ์ตูนรวมเล่มและได้รับความนิยม โดราเอมอนจึงได้กลับมาเจอโนบิตะอีกครั้งในนิตยสารเด็ก ป.4 เดือนถัดมา และอาจารย์ฟุจิโกะก็เขียนการ์ตูนเรื่องนี้ต่อเนื่องจนวันสุดท้ายของชีวิต

ดังนั้นแม้จะดูเหมือนว่าโดราเอมอนมีตอนจบถึง 3 แบบ แต่จริงๆ แล้วคือ ‘ไม่มี’ เพราะอาจารย์เสียไปก่อนที่จะได้เขียนตอนจบที่แท้จริง

 

Part 2 : Fujiko. F. Fujio

9. อาจารย์เป็นคนรักงาน : เขาเขียนการ์ตูนลงนิตยสารรายเดือนไปพร้อมๆ กับการทำการ์ตูนฉบับรวมเล่มซึ่งมักจะวาดเพิ่มเพื่ออธิบายเนื้อหาให้เข้าใจง่ายขึ้นเพราะไม่โดนจำกัดจำนวนหน้าแบบตอนลงนิตยสาร บางครั้งเขาวาดเพิ่มทั้งหน้าหรือไม่ก็เพิ่มหน้าสีเข้าไปด้วยแถมยังตั้งชื่อตอนใหม่ต่างหาก ยังไม่รวมงานอนิเมะ งานภาพยนตร์อื่นๆ อีก

10. อาจารย์เป็นคนใส่ใจในรายละเอียด : ตั้งแต่ตอนเขียนนิตยสาร 6 เล่มพร้อมกันนอกจากเนื้อเรื่องจะไม่เหมือนกัน ลายเส้นและหน้าตาของตัวละครก็ไม่เหมือนกันด้วยเพราะอาจารย์ตั้งใจวาดให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย

นอกจากนี้ที่มาของความคิดสร้างสรรค์และไอเดียล้ำสมัยต่างๆ น่าจะมาจากความรักการอ่าน เขาชอบอ่านหนังสือและค้นคว้าข้อมูลจึงทำให้ผลงานมีความละเอียดแม้เป็นการ์ตูนสำหรับเด็กประถม เช่น การวาดห้องของโนบิตะ อาจารย์เขียนคอมเมนต์ตอนตรวจต้นฉบับละเอียดมากว่าของควรจะสุมกันแบบไหน ชั้นหนังสือควรเป็นยังไง เพื่อให้ห้องดูมีชีวิตที่สุด

credit : fujiko-museum.com/img/welcome/pc/img_fujiko.jpg

11. อาจารย์เป็นคนสุภาพอ่อนโยน : แม้จะประสบความสำเร็จแค่ไหนแต่เขาปฏิบัติกับพนักงานด้วยความสุภาพและให้เกียรติเสมอจึงเป็นที่รักของทุกคน จดหมายที่เขาเขียนขอบคุณพนักงานบริษัท Fujiko Pro ด้วยลายมือนั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกขอบคุณและความถ่อมตัว (มีจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Fujiko. F. Fujio Musuem)

12. อาจารย์เป็นเฟมิลี่แมน : แม้จะทำงานหนักแค่ไหน แต่วันเสาร์-อาทิตย์เขาจะทุ่มเทเวลาให้ครอบครัวอย่างเต็มที่ แม้จะเป็นวันเสาร์ที่ตอนเช้าลูกสาวทั้งสองมีเรียนหรือเขาต้องทำงาน ตอนบ่ายก็ยังต้องมีกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวเสมอ เช่น ไปดูหนังด้วยกัน 

ของขวัญที่เขามักซื้อให้ลูกๆ คือนิทานภาพที่เขาตั้งใจเลือกให้เข้ากับวัยลูกสาวทั้งสองที่อายุค่อนข้างห่างกัน และแน่นอนว่าคุณพ่อผู้แสนดีคนนี้จะอ่านนิทานภาพเหล่านั้นให้ลูกฟังก่อนนอน

13.​ อาจารย์ชอบไดโนเสาร์มาก : บนโต๊ะทำงานของเขามีฟิกเกอร์ไดโนเสาร์เต็มไปหมด แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นแฟนตัวยงของดิสนีย์และชอบของเล่น ชอบต่อโมเดลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถไฟ

14. แม้จะเขียนการ์ตูนเนื้อเรื่องใสๆ แต่อาจารย์ชอบวาดเครื่องจักร เครื่องยนต์ต่างๆ มากเช่นกัน มักจะลงดีเทลละเอียดสุดๆ

50 ปีโดราเอมอน

15. อาจารย์ชอบฟังเพลงคลาสสิกตอนทำงานหรือเปิดวิทยุฟังรายการตลก (Rakugo) 

16. อาจารย์ชอบท่องเที่ยวและมีงานอดิเรกคือการถ่ายรูป เวลาไปเที่ยวมักจะถ่ายรูปเสมอ

17. อาจารย์ใส่หมวกเบเรต์ตามอาจารย์ Tezuka Osamu ซึ่งเป็นไอดอลของเขา 

18. อาจารย์อ่านการ์ตูนของอาจารย์เท็ตซึกะ โอซามุ แล้วชื่นชอบมากจึงอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนบ้าง สมัยเป็นนักเรียนเคยเขียนจดหมายถึงอาจารย์เท็ตซึกะซึ่งอาจารย์เท็ตซึกะก็ตอบกลับมา จดหมายของทั้งคู่มีจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ด้วย

19. จริงๆ แล้วคนที่ชวนอาจารย์ไปอยู่ด้วยกันที่ Tokiwa-sou (อพาร์ตเมนต์ในโตเกียวที่เป็นที่อยู่ของนักเขียนการ์ตูนชื่อดังแห่งยุคหลายคน) คืออาจารย์เท็ตซึกะ โอซะมุ นี่เอง สมัยนั้นอาจารย์ฟูจิโกะเป็นนักวาดหน้าใหม่ที่ยังไม่มีผลงานสักเรื่องเลย การ์ตูนดังๆ ต่างๆ ก็มาเริ่มเขียนตอนย้ายมาอยู่เมืองคาวาซากิแล้ว

20. ผมคือโนบิตะ : อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ผมคือโนบิตะ ตอนเด็กๆ ผมก็เล่นกีฬาไม่เก่ง ไม่ค่อยกล้าตัดสินใจ ไม่ค่อยชอบเรียนหนังสือ เอาแต่เล่น พอใกล้หมดช่วงปิดเทอมหน้าร้อนก็ร้องไห้โวยวาย เรื่องพวกนี้ที่เขียนไปเป็นประสบการณ์ของผมเองครับ สาเหตุที่คนรู้สึกอินไปกับความไม่เอาไหนนี้น่าจะเป็นเพราะมีเด็กที่เป็นแบบโนบิตะเยอะนะครับ”

credit : fujiko-museum.com/blog/

 

Part 3 : Fujiko. F. Fujio Museum

21. ปีนี้โดราเอมอนมีอายุครบรอบ 50 ปี ส่วนปีหน้า Fujiko. F. Fujio Museum จะมีอายุครบ 10 ปี 

credit : matcha-jp.com

22. Fujiko. F. Fujio Museum ถูกสร้างขึ้นเพื่อผู้ใหญ่

ตัวตั้งตัวตีในการสร้าง Fujiko. F. Fujio Museum คือภรรยาของอาจารย์ฟุจิโกะ ความตั้งใจของเธอคือการรวบรวมต้นฉบับทั้งหลายเอาไว้ไม่ให้สูญหายหรือกระจัดกระจายไปไหน ทั้งยังอยากตอบแทนน้ำใจและขอบคุณแฟนๆ ของโดราเอมอนที่ติดตามมาตั้งแต่ตัวเองยังเป็นเด็กจนตอนนี้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เธอเลยอยากสร้างพื้นที่ให้คนเหล่านั้นได้กลับมาหาเพื่อนเก่าและได้ย้อนความทรงจำในอดีตของตนเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่สัดส่วนคนที่มาที่นี่เป็นผู้ใหญ่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และมีสัดส่วนเด็กๆ เพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

23. ภายในมิวเซียมมีต้นฉบับการ์ตูนกว่า 50,000 แผ่นซึ่งถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในห้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้น 

24. ทั้งด้านนอกและด้านในของมิวเซียมจึงเน้นดีไซน์เรียบชิคแบบมิวเซียมศิลปะเพราะอยากให้ผู้ใหญ่ชอบนั่นเอง

ในมิวเซียมแอบมีรายละเอียดเล็กๆ จากเรื่องโดราเอมอนซ่อนอยู่ ดูอย่างที่นั่งที่ทำเป็นท่อนั่นสิ

25. ส่วนสาเหตุที่ภายนอกอาคารแทบไม่มีอะไรบ่งบอกถึงความเป็นพิพิธภัณฑ์โดราเอมอนเลยเพราะเขาต้องการรักษาบรรยากาศในชุมชน ไม่แย่งซีนเพื่อนบ้าน แล้วทดแทนความสดใสด้วยการแอบซ่อนกิมมิกสนุกๆ เกี่ยวกับโดราเอมอนไว้ที่ผนังและจุดต่างๆ ของอาคารอย่างกลมกลืน 

26. สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดคือ มีป้ายห้าม ‘หนู’ เข้า (เพราะโดราเอมอนกลัวหนูจนแทบขาดใจน่ะสิ)

27. ท้องฟ้าที่อยู่ตรงทางเข้า มองดีๆ จะเห็นโดราเอมอนในก้อนเมฆ

28. ส่วนสูงของการติดภาพบนผนังส่วนใหญ่คือ 129.3 เซนติเมตร เท่ากับส่วนสูงของโดราเอมอน เด็กๆ จะได้มองเห็นง่ายด้วย 

29. ภาพไหนที่เป็นของทำขึ้นมาใหม่จะแอบติดสติ๊กเกอร์ copy robot จาก parman ไว้เป็นสัญลักษณ์ (เพื่อรักษาสภาพของกระดาษต้นฉบับเลยต้องนำภาพก๊อบปี้มาสลับโชว์เป็นระยะ) 

30. ในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ซึ่งลูกค้าทั่วไปเข้าไม่ได้แอบมีนิทรรศการเล็กๆ เล่าเรื่องราวความเป็นมาของที่นี่ ตั้งแต่ภาพสเกตช์ก่อนสร้างและพัฒนาการด้านดีไซน์ของพิพิธภัณฑ์ สิ่งนี้มีไว้เพื่อถ่ายทอดเจตนารมณ์ในการสร้างมิวเซียมแห่งนี้ให้กับพนักงานเพราะคนที่ใกล้ชิดกับผู้มาเยือนที่สุดคือพวกเขา

31. แม้มิวเซียมจะมีอายุเกือบ 10 ปี แต่ปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่มีการจัดนิทรรศการเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโดราเอมอนตั้งแต่สมัยลงนิตยสารจนถึงปัจจุบัน เพราะเด็กๆ สมัยนี้รู้จักโดราเอมอนจากอนิเมะที่ยังมีฉายทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่เข้าโรงสม่ำเสมอ ทางพิพิธภัณฑ์จึงอยากให้เด็กๆ รู้ว่าจริงๆ แล้วโดราเอมอนเริ่มมาจากการ์ตูนนะ

50 ปีโดราเอมอน

credit : fujiko-museum.com

32. พิพิธภัณฑ์ Fujiko. F. Fujio Museum เลือกเมืองคาวาซากิเป็นที่ตั้งเพราะเป็นเมืองที่อาจารย์อาศัยอยู่เป็นหลักตอนทำงาน เมืองนี้อยู่ไม่ไกลจากโตเกียว นั่งรถไฟไปออฟฟิศที่ชินจูกุได้ง่าย บรรยากาศก็แสนสงบ ส่วนจังหวัดโทยามะที่เป็นบ้านเกิดของอาจารย์ก็มีมิวเซียมเช่นกัน  

33. ในโมเดลบ้านโนบิตะแอบมีหนูซ่อนอยู่ใต้หลังคาเหนือที่นอนของโดราเอมอน (ห้ามให้โดราเอมอนรู้เด็ดขาด) 

34. กาชาปองโดราเอมอนและโดเรมี่ยักษ์มีให้หมุนที่นี่เท่านั้น 

35. สินค้า 90 เปอร์เซ็นต์ที่ขายในมิวเซียมเป็นสินค้าออริจินอล แน่นอนว่ามีขายที่นี่ที่เดียว 

36. สินค้าขายดีคือคอปเตอร์ไม้ไผ่ เด็กชอบซื้อใส่แล้วเดินเที่ยวเล่นที่นี่เลย 

37. ในสวนด้านนอกมีตัวละครจากเรื่องโดราเอมอนซ่อนอยู่มากมาย ลองมองหากันดู 

38. แฟนโดราเอมอนหลายคนตั้งใจพาลูกมาเที่ยวที่นี่เพราะอยากให้เป็นมิวเซียมแรกของลูก บางคนก็ให้ลูกดูหนังโดราเอมอนเป็นหนังเรื่องแรกในชีวิต ก่อนจะมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์เหมือนจัดเซตสร้างความทรงจำกับโดราเอมอน เพราะตอนเด็กๆ พ่อแม่เหล่านี้ก็เติบโตมาพร้อมความรู้สึกดีๆ ที่ได้จากการ์ตูนเรื่องนี้เหมือนกัน

39. มีหลายครอบครัวที่จูงมือกันมาเป็นทีมใหญ่ เชื่อมสายใยคน 3 รุ่นไว้ด้วยการ์ตูนโปรดเรื่องเดียวกัน 

40. บางคนใช้ที่นี่เป็นที่เยียวยาหัวใจ มาบ่อยจนพนักงานจำหน้าได้ 

41. ส่วนสิ่งที่พิพิธภัณฑ์อยากสื่อถึงคนที่มาเที่ยวคือ “อย่าลืมความเป็นเด็กในตัวเอง”

ทางพิพิธภัณฑ์อยากให้คนที่มาได้เจอกับหัวใจของตัวเองในวัยเด็กสมัยที่ยังอ่านโดราเอมอน เพราะบางทีเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เราอาจจะลืมไปแล้วว่าตอนเด็กเคยมีความฝันแบบไหน อยากเป็นคนยังไง การได้มาเจอกับตัวเองในตอนเด็กอีกครั้งอาจจะทำให้ชีวิตประจำวันสดใสขึ้นบ้าง

 

Part 4 : Fujiko. F. Fujio Forever

42. หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โดราเอมอนยังได้รับความนิยมเสมอเพราะโดราเอมอนเป็นแรงบันดาลใจให้ดีไซเนอร์ ศิลปิน ครีเอเตอร์ต่างๆ มากมาย โดราเอมอนจึงถูกถ่ายทอดในรูปแบบใหม่ที่อัพเดตเรื่อยๆ เช่น การทำอนิเมะแบบ 3D การทำสินค้าหรือคอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ จนไม่เคยตกยุคเลย

43. ของวิเศษของโดราเอมอนที่ต้านโควิดได้คือกระเป๋าคุณหมอ

44. ในวาระฉลองครบรอบ 50 ปี โดราเอมอนแวะไปคอลแล็บกับแบรนด์ดังมากมาย เช่น Porter, Nike, Reebok, Kose, Paul & Joe, Uniqlo, ทำวุ้นแปลภาษากับบริษัทผลิตเครื่องแปลแบบพกพา (pocket talk), ทำแสตมป์และเครื่องเขียนกับไปรษณีย์ญี่ปุ่น รวมไปถึงร่วมงานกับช่างฝีมืองานคราฟต์เก่าแก่อย่างงานเป่าแก้วและเซรามิก

45. แบรนด์หรูสุดที่โดราเอมอนเคยคอลแล็บด้วยคือ GUCCI!

credit : dora-world.com/contents/1762

credit : esquireme.com/content/50321-gucci-continues-its-wild-collabs-this-time-with-doraemon

46. อิสรภาพในการสร้างสรรค์คือหัวใจสำคัญที่ทำให้โดราเอมอนมีความเป็นสากล เข้าได้กับทุกคน 

ในการคอลแล็บกับโดราเอมอนมีข้อบังคับพื้นฐานเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ส่วนมากจะให้ดีไซเนอร์อีกฝั่งออกไอเดียได้เต็มที่ และเพราะแต่ละแบรนด์มีอิมเมจต่อโดราเอมอนต่างกันไป เลยทำให้ผลงานออกมาหลากหลาย 

47. กฎในการคอลแล็บที่ว่าคือห้ามเปลี่ยนหน้าคาแร็กเตอร์จากภาพออริจินัลและจะไม่คอลแล็บกับอบายมุข เพราะยังไงก็เป็นการ์ตูนที่เด็กๆ ทุกยุคทุกสมัยต้องดู

48. อีกหนึ่งโปรเจกต์คอลแล็บที่สนุกมากของปีนี้คือการที่โดราเอมอนโผล่ไปแจมบนหน้าปกนิตยสารการ์ตูนในเครือ Shogakukan จำนวนมาก รวมไปถึงนิตยสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนเลยอย่างนิตยสารกีฬาและนิตยสารสำหรับสาวๆ

49. Murakami x Doraemon : Takashi Murakami ศิลปินร่วมสมัยชื่อดังเจ้าของคาแร็กเตอร์ดอกไม้หน้ายิ้มก็มาคอลแล็บกับโดราเอมอนในปี 2019 ทาคาชิยอมรับว่าหนักใจมากและใช้เวลาหลายเดือนในการคิดว่าสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในโดราเอมอนคืออะไร กระทั่งมาสรุปได้ที่ความไร้กาลเวลา เพราะโดราเอมอนเป็นที่รักมาได้ทุกยุคสมัย​ มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งภาพยนตร์หรือโฆษณาต่างๆ ซึ่งเขาคิดว่านี่คือความตั้งใจของอาจารย์ฟุจิโกะ

ดังนั้น ในงานคอลแล็บกับโดราเอมอน ทาคาชิจึงเลือกภาพวาดที่อาจารย์นั่งอยู่บนไทม์แมชชีนเพราะสำหรับเขาภาพนี้สื่อถึงสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณในงานศิลปะที่ก้าวข้ามทั้งมิติและเวลา

credit : jw-webmagazine.com/the-doraemon-exhibition-kyoto-2020

50. ทำไมโดราเอมอนถึงยืนหนึ่งมาได้ถึง 50 ปี

สำหรับคำถามข้อนี้ อิเคะดะซังจาก Fujiko. F. Fujio Musuem ช่วยตอบให้

“จริงๆ แล้วก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนะคะ อาจจะเป็นเพราะว่าสิ่งที่อาจารย์วาดเป็นสิ่งที่ทุกคนมีจุดร่วม รู้สึกอินไปด้วยได้ เนื้อเรื่องไม่ซับซ้อน ไม่ว่าจะคนยุคไหนอายุเท่าไหร่ก็เข้าใจ อาจารย์เองก็เคยพูดว่าต่อให้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปแต่หัวใจที่เป็นเด็กของคนเรานั้นไม่เปลี่ยนแปลง”

credit : fujiko-museum.com/english

AUTHOR