หากคุณเคยประจันหน้ากับสัตว์ที่คนเราไม่สามารถพบเจอได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันอย่าง ช้างป่า กระทิง หรือฉลามวาฬ คงจะพอจินตนาการออกถึงความรู้สึกท่วมท้นที่ซัดสาดใจเราเมื่อได้เห็น Shiro งานเปเปอร์คัตรูปวาฬสีน้ำเงินขนาดเท่าตัวจริงที่กำลังโผล่พ้นน้ำจากฝีมือของศิลปินญี่ปุ่น Nahoko Kojima
ลำพังด้วยขนาดที่ใหญ่ระดับหลายสิบคนโอบก็ชวนให้รู้สึกตาค้างแล้ว แต่เมื่อได้ใช้เวลาเพ่งพิจารณาลวดลายอันซับซ้อนและละเอียดอ่อนที่ประกอบกันเป็น Shiro ฟองสีขาวที่รวมตัวกันบนยอดคลื่น เส้นสายที่อ่อนช้อยคล้ายกำลังเคลื่อนไหว เหมือนกับว่าต่อให้เราเบิกตากว้างเท่าไหร่ก็ยังไม่อาจเก็บให้ครบทุกรายละเอียด
“จริงๆ วาฬสีน้ำเงินก็เป็นสีน้ำเงินนั่นแหละ แต่ฉันเลือกใช้กระดาษสีขาวและตั้งชื่อมันว่า Shiro (ภาษาญี่ปุ่นแปลว่าสีขาว) เพราะเวลามันแหวกว่ายในมหาสมุทร แสงอาทิตย์จะตกกระทบที่ผิวของมันจนดูเป็นสีขาว
“บนตัววาฬมีแพตเทิร์นเยอะมาก ผู้คนจะค่อยๆ ค้นพบแพตเทิร์นเหล่านั้นเมื่อใช้เวลามองมันนานเข้า แล้วก็ยังมีความลับที่ซ่อนอยู่อีก ฉันไม่ค่อยอยากบอกเท่าไหร่ ให้ทุกคนไปลองสังเกตดูเองดีกว่า” ศิลปินสาวกล่าวพร้อมส่งรอยยิ้มสดใส
นี่เป็นครั้งแรกที่โคจิมะจัดแสดงผลงานในประเทศไทย ทว่าก่อนหน้านี้ ผลงานเปเปอร์คัตชิ้นอื่นๆ ของเธอเคยจัดแสดงมาแล้วในมิวเซียมและแกลเลอรีชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลก เช่น Saatchi Gallery ในลอนดอน มหานครที่เธอเลือกเป็นที่พักอาศัยในปัจจุบัน, Holburne Museum แห่งเมืองบาธ และ Gerald R. Ford Presidential Museum ในรัฐมิชิแกน หรือกระทั่งดิสเพลย์หน้าร้านของ BVLGARI ทั่วทั้งเอเชียก็เคยเป็นที่พักพิงของผลงานของเธอมาแล้ว
ทว่าที่เราไล่เรียงมานั้นเป็นเพียงถ้วยรางวัลใหญ่ๆ ที่สื่อต่างๆ รวมทั้งตัวโคจิมะเองอนุญาตให้เราเห็น สิ่งสำคัญที่แท้จริงคือฝีไม้ลายมือของเธอ ซึ่งคุณจะรับรู้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อได้พิสูจน์ด้วยตาตัวเองเท่านั้น
และแน่นอนว่าฝีไม้ลายมือของเธอมีที่มาที่ไป เว็บไซต์ทางการของโคจิมะเล่าว่า เธอเริ่มจับใบมีดขึ้นมากรีดกระดาษครั้งแรกตอนอายุเพียง 5 ขวบ เราถามหญิงสาวซื่อๆ ว่าพ่อแม่ของเธอยอมให้ลูกสาวตัวเล็กจับของมีคมด้วยเหรอ เธอหัวเราะก่อนให้คำตอบที่แม้ไม่ได้กระจ่างมากนัก แต่ก็พอเห็นภาพเค้าลางของครอบครัวที่สนับสนุนลูกสาวบนเส้นทางศิลปะมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
“มันออกจะอันตรายเนอะ แต่ก็นะ” เธอยิ้มแล้วทิ้งจังหวะ “ฉันเริ่มเรียนวาดรูปในคอร์สส่วนตัวตั้งแต่ 3 ขวบ วันหนึ่งครูของฉันทำงานเปเปอร์คัตให้ดู ฉันเห็นแล้วเซอร์ไพรส์มาก มันใช้แค่กระดาษแผ่นเดียวเท่านั้นเอง แต่มันต่างจากการวาดรูปโดยสิ้นเชิง ฉันรอถึงอายุ 5 ขวบถึงได้ลองตัดกระดาษ”
นับแต่นั้นเธอแทบไม่เคยอยู่ห่างจากกระดาษและใบมีด แม้จะเคยหันเหไปทำงานกราฟิกดีไซน์อยู่ช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายเธอก็กลับมาหาศาสตร์แห่งการตัดฉลุกระดาษ หมกมุ่นกับมัน และพัฒนามันไปอีกขั้น จากเดิมที่เปเปอร์คัตเป็นที่รู้จักในฐานะงานฝีมืออย่างหนึ่ง ในมือของโคจิมะ มันกลายเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่งดงามไม่แพ้แขนงอื่น
“คอนเซปต์ของเปเปอร์คัตคือการใช้กระดาษแค่ 1 ชิ้น แล้วคุณสามารถสร้างสรรค์อะไรจากมันก็ได้ ศิลปินหลายคนมักทำเปเปอร์คัตแบบ 2 มิติ แต่ฉันมานั่งคิดว่าจะพัฒนาสไตล์ตัวเองได้ยังไง จึงลองทำงานแบบ 3 มิติขึ้นมา อันที่จริงฉันก็ทำงาน 2 มิตินั่นแหละ แต่การแขวน รวมทั้งแสงและเงาทำให้มันเป็น 3 มิติ”
อย่าง Shiro ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้อง 401-402 บนชั้น 4 ของหอศิลป์กรุงเทพฯ ก็ถูกแขวนกับเพดานด้วยเอ็นสีใสเส้นเล็กราวกับเส้นผม เมื่อแสงที่ถูกจัดอย่างบรรจงตกกระทบลวดลายสลับซับซ้อนของชิ้นงาน จึงเกิดเงาที่เป็นช่องๆ คล้ายกับเงายามอยู่ใต้ท้องน้ำ และด้วยคุณสมบัติอันมหัศจรรย์ธรรมดาของกระดาษ เมื่อมีลมจากเครื่องปรับอากาศ หรือจากคนที่เดินผ่าน วาฬขนาดยักษ์ก็จะวูบไหวราวกับกำลังว่ายน้ำอยู่จริงๆ แล้วห้องทั้งห้องก็ถูกเปลี่ยนเป็นท้องทะเลกว้างใหญ่
โคจิมะใช้เวลาหนึ่งปีเต็มนับตั้งแต่คิดคอนเซปต์ Shiro จนกระทั่งทำเสร็จสิ้นเป็นชิ้นงาน ใช้กระดาษวาชิ (กระดาษญี่ปุ่น) ที่สั่งทำขึ้นมาพิเศษไปกว่า 150 เมตร และใช้ใบมีดจำนวนมากเกินจะนับไหว เพราะใบมีดที่เธอเลือกใช้นั้นบอบบางและสึกง่ายจนหญิงสาวต้องเปลี่ยนมันทุกสามนาที
เธอเริ่มต้นจากไปมิวเซียมเพื่อศึกษารูปร่างและพฤติกรรมของวาฬสีน้ำเงิน จากนั้นร่างแบบโดยคิดถึงลวดลายที่อยากได้และจุดที่จะผูกเส้นเอ็น แล้วค่อยลงมือทำ กระนั้นแม้จะร่างแบบไว้ แต่เมื่อถึงเวลาจับใบมีด เธอก็มักจะปล่อยให้จิตวิญญาณศิลปินนำทาง “เพราะมันใหญ่มากๆ ต่อให้ฉันลองทำต้นแบบขนาดเล็กมาก่อน ก็ใช่ว่าพอทำขนาดใหญ่แล้วจะเหมือนกัน เพราะกระดาษต่างไซส์จะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกัน ฉันไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผลลัพธ์จริงๆ จะเป็นยังไงจนกว่าจะแขวนมันขึ้นมา”
การแขวนจึงกลายเป็นขั้นตอนที่สำคัญไม่แพ้การตัดฉลุลวดลายบนกระดาษ ต่อเมื่อแขวนเสร็จเท่านั้นที่กระบวนการจะครบจบสมบูรณ์ คล้ายเติมลมหายใจให้กับผลงาน “มันเหมือนว่าฉันสร้างสัตว์ขึ้นมาตัวหนึ่ง ตอนนี้มันกำลังมีชีวิตและกำลังเคลื่อนไหว เพราะกระดาษเคลื่อนไหวได้ด้วยแรงดึงดูดและแรงอื่นๆ นอกจากนี้กระดาษวาชิยังเปลี่ยนสีได้เมื่อโดนแสงอาทิตย์ มันเลยมีการเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับมีชีวิตอยู่จริงๆ”
คอนเซปต์ของการมีชีวิตและการเคลื่อนไหวเป็นธีมร่วมที่พบเห็นได้ในหลายๆ งานของโคจิมะ ก่อนหน้านี้เธอเคยสร้างสรรค์ผลงานอย่าง Cloud Leopard เสือดาวสีดำที่กำลังออกวิ่ง, Bakyu หมีขั้วโลกสีขาวที่กำลังว่ายน้ำ และ Honey ฝูงผึ้งสีเหลืองทองที่กำลังโบยบิน
โคจิมะเคยให้สัมภาษณ์ไว้หลายครั้งว่าเธอหลงใหลในธรรมชาติ “ฉันเติบโตมากับธรรมชาติและฉันก็รักธรรมชาติมาก มันมอบความสงบให้กับฉัน ฉันคิดว่านั่นเป็นเหตุผลที่ฉันไม่ทำงานเป็นตึก อาคาร หรืออะไรก็ตามที่มันเสร็จสิ้นแล้ว อยู่นิ่งแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้”
คล้ายกันกับธรรมชาติของตัวเธอเองที่กำลังเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราถามว่าเธอวางแผนจะทำงานแบบไหนต่อในอนาคต ศิลปินสาวอมยิ้มพลางส่ายหน้า เธอไม่เคยบอกใบ้เรื่องแบบนี้ให้กับใคร
จะทำงานที่ชิ้นใหญ่กว่านี้อีกหรือเปล่า เราจี้ถาม
คำตอบเจือเสียงหัวเราะของเธอยืนยันความเชื่อเรื่องการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลง
“หรืออาจจะทำอะไรที่เล็กมากๆ ก็ได้นะ”
ติดตามความเคลื่อนไหวของ Nahoko Kojima ได้ที่ nahokokojima.com