Vein / Vain : นิทรรศการภาพวาดจากเลือดคนที่เริ่มต้นจากความสงสัยสู่การทดลองทางศิลปะ

ทันทีที่เราก้าวเข้าไปในห้องสีขาวเล็กๆ สถานที่จัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ ปั๋น-ดริสา การพจน์ หรือ Riety ศิลปินสาวที่มีลายเส้นมีพลังเป็นเอกลักษณ์ รูปวาดหญิงสาวในมุมต่างๆ ของห้องสะกดให้เรารู้สึกราวกับหลุดเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ทั้งลายเส้นและสีของรูปที่ดึงดูดให้เข้าไปใกล้และตรึงเราไว้…โดยเฉพาะเมื่อได้รู้ว่าสีทั้งหมดที่เราเห็นในรูปนั้นคือเลือดคนจริงๆ


‘Vein / Vain’
คือนิทรรศการที่พูดถึงความสวยงามของมนุษย์โดยชวนเรามองมุมใหม่ผ่านการเล่าเรื่องที่ใช้เลือด สิ่งที่ดูขัดกับคำว่าความสวยงามในภาพจำของคนทั่วไปมาวาดรูปพอร์เทรตผู้หญิงทั้ง 15 คนที่มีเสน่ห์ในตัวเองต่างกันออกไป

ในวันที่เห็นหยดเลือดเคลื่อนไหว

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้มาจากความช่างสังเกตและนิสัยชอบทดลองของปั๋นตั้งแต่เด็ก บวกกับความหลงใหลในศิลปะทำให้เธอมักจะมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการวาดรูปเสมอ โดยเฉพาะจากสิ่งรอบตัวที่หาได้ง่ายในชีวิตประจำวันอย่าง ต้นไม้ ใบหญ้า เม็ดยา ที่ขัดรองเท้า น้ำยาย้อมผม หรือแม้กระทั่งขนม M&M’s

อะไรที่น่าจะใช้ในการวาดรูปได้ ปั๋นมักจะหยิบมาลองวาดเสมอ รวมถึงสิ่งที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายของมนุษย์อย่างเลือด

“เราพิมพ์ไปถามว่า น้องๆ ขอเจาะเลือดมาวาดรูปหน่อยได้เปล่า แล้วเขาก็ตอบว่า ‘ได้สิ’ ทันที โห จบง่ายๆ แค่นั้น” ปั๋นเล่าให้เราฟังถึงวินาทีที่ตัดสินใจทักไปหานางแบบคนแรกของเธอ

“ไทม์ไลน์คือคืนก่อนหน้านี้เรานอนโรงพยาบาล ตอนเช้าออกจากโรงพยาบาล บ่ายสาม บ่ายสี่ เรากลับมาถึงบ้าน เราก็เลยไปซื้อเข็มฉีดยามาเจาะเลือดตัวเองแล้ววาดเลย ตอนประมาณหนึ่งทุ่มก็ทักไปหาแบบ น้องก็โอเคเลย เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นมากและเราก็เริ่มวาดเลย” ปั๋นเล่า

จากการสังเกตหยดเลือดที่ไหลไปตามสายยางน้ำเกลือและเห็นความคล้ายกันระหว่างฮีโมโกลบินของเลือดกับพิกเมนต์ของสี ทำให้ปั๋นลองเจาะเลือดของเธอออกมาวาดรูปดู ปั๋นพบว่าสีของเลือดคล้ายคลึงกับสีผิวของคนอย่างน่าประหลาด รูปวาดตัวเองจากเลือดของเธอซึ่งเป็นหนึ่งในรูปจำนวน 16 ชุดที่แสดงในงานจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้ ก่อนที่ปั๋นจะชวนนางแบบอีกกว่าสิบคนไปเจาะเลือดด้วยกัน

สร้างงานจากเลือดที่มีจำกัด

ช่วงเวลาสำคัญของงานเซตนี้คือปั๋นต้องลงมือวาดรูปแบบแต่ละคนด้วยเลือดที่มีอยู่อย่างจำกัด นั่นหมายความว่า โอกาสที่เธอจะทำพลาดได้จึงแทบเป็นศูนย์ ช่วงเวลาก่อนลงพู่กันจึงเป็นช่วงเวลาที่ปั๋นกังวลที่สุด

“มีรูปนึงที่ใช้เปลืองมาก อ้าว เลือดหมดกลางคัน เลยต้องหยุดวาดแค่นั้น เราใช้เทคนิคหลายอย่าง ภาพที่เป็นเลือดล้วนๆ ก็มี มีเลือดที่ลงกับดินสอก็มี แต่ละรูปเทคนิคไม่ซ้ำกันเลยเพราะว่าเราลองได้แค่ครั้งเดียว เราก็เลยลองทุกอย่างที่อยากลอง ผสมกับพิกเมนต์ ผสมกับสีพาสเทล ผสมกับสีน้ำ ลงกระดาษเรียบ กระดาษหยาบ ดราฟต์แรกและดราฟต์เดียว มีโอกาสครั้งเดียวต่อหนึ่งรูป”

แน่นอนว่าการลองผิดลองถูกย่อมต้องเกิดความผิดพลาดขึ้นบ้าง ปั๋นเล่าว่าบางครั้งเลือดก็ไม่ซึมลงไปในกระดาษ ทำให้เป็นรอยด่างหรือแห้งเกาะหน้ากระดาษบ้าง ก่อนที่จะวาดรูปแต่ละรูปจึงต้องคิดให้ดีและลองก่อนเพื่อไม่ให้เป็นการใช้เลือดที่มีค่าไปอย่างเปล่าประโยชน์

“ทิ้งครึ่งครึ่งเหมือนกันนะ แต่ก่อนจะวาดรูปจริง เราจะทำแพนโทนออกมาก่อน คือลองเอาเลือดแต่ละคนผสมน้ำด้วยสัดส่วน 100, 90, 80 แล้วดูสีว่าความเข้มข้นไหนที่เหมาะกับเลือดของเขา ลองวาดเป็นสเก็ตช์เล็กๆ แล้วค่อยขึ้นรูปใหญ่”

งานครั้งนี้ปั๋นยังทดลองใช้เลือดของแบบในการล้างฟิล์มรูปถ่ายด้วย ถึงผลจะออกมาล้มเหลว แต่ปั๋นก็เชื่อว่าการทดลองคือส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ที่ศิลปินต้องมี “ทุกครั้งที่เราวาดรูปมันเป็นกึ่งๆ การทดลอง อาจจะเป็นเราคนเดียว เพราะเราชอบเปลี่ยนเทคนิคใหม่ไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์คือการกล้าทำอะไรใหม่ๆ พอทำแล้วก็ต้องสังเกต วิเคราะห์ ซึ่งมันก็เป็นขั้นตอนของการทดลอง”

“การเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์มันดีต่องาน แต่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต” ปั๋นสรุปบทเรียนหนึ่งที่ได้จากการทำงานครั้งนี้ด้วยรอยยิ้ม “เราอยากควบคุมให้มันดี แต่ว่างานนี้ทำให้เราตาสว่างว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ ไม่งั้นจะทรมานเปล่าๆ”

การทดลองภายนอกสู่การค้นพบภายใน

ปั๋นกระซิบบอกเราว่าคอนเซปต์ของงานเป็นสิ่งที่เธอค้นพบในขณะที่กำลังวาดรูปของแบบคนแรก

“คำว่าความงามภายในมันได้มาจากความรู้สึกที่เรามีต่อนางแบบคนแรก คือริชชี่ (วโรชา สุนทรศิริ) ตอนพาริชชี่ไปเจาะเลือด เรารู้สึกว่า เลือดเป็นของที่ intimate มากๆ เป็นของที่อยู่ข้างในตัว แล้วเราเอามันออกมา expose เราค่อยๆ คิดจากงานแรกว่า เรารู้สึกว่าแบบเป็นคนอย่างนี้ น่าจะอยากแสดงตัวตนของตัวเองแบบนั้นแบบนี้ อย่างเราและนางแบบหลายคนจะมีปัญหาเรื่องที่มีคนมองเราแต่รูปลักษณ์ภายนอก เราเลยคิดว่านี่เป็นปมที่เราอยากนำเสนอ”

“จุดร่วมของแบบที่เหมือนกันคือเป็นผู้หญิงที่สวย โดนตราหน้าว่าสวย ส่วนใหญ่ก็เป็นเน็ตไอดอล ถ้าจะใช้คำนั้น มีคนจำนวนมากยอมรับว่าคนนี้สวย ตอนแรกมีจุดที่เราอยากจะลองแม้กระทั่งหาจุดร่วมว่าความสวยมีทฤษฎีของมันไหม อะไรทำให้ผู้หญิงเหล่านี้มีคนชอบ แต่ว่ามันไปไม่ถึงจุดนั้น”

เพราะแบบนี้ ปั๋นจึงเลือกถ่ายทอดเสน่ห์ของแบบแต่ละคนด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ผนวกกับความชอบและอยากลองเทคนิคบางอย่างเป็นการส่วนตัวเพื่อดึงความสวยงามของคนคนนั้นออกมาให้มากที่สุด

“เรามองเองก่อนว่าเราคิดว่าคนนี้มีตรงนี้ๆ สวย แล้วเราก็ถามแบบด้วยว่า มีส่วนไหนในร่างกายที่อยากจะเล่าไหม มีแบบคนนึงชอบใส่รองเท้า ชอบรองเท้ามากๆ รองเท้าจะกัดเจ็บเท่าไหร่ก็ใส่ แล้วหลังเท้าเขาแผลเยอะมากก็เลยถ่ายหลังเท้ามา หรือแบบคนนึงเป็นคนตาสวย เราประทับใจตาเขา อันนี้เราไม่ถามเลยว่าเขาชอบอะไร จะวาดตา”

“เราคิดว่าเรามีข้อเสียอย่างนึงคือรูปวาดของเราไม่ว่ายังไงก็จะใส่บุคลิกของเศร้าๆ ของเราเข้าไปด้วย แบบทุกคนของเราจะดูเศร้าๆ นิดนึง เพราะว่ามันมีส่วนนึงของเรา”

โลกในรูปวาด: ความงาม ความตาย ความหมาย และ เวลา

Vein / Vain เป็นผลงานที่เกิดจากการเอาความชอบของปั๋นมากลั่นและแสดงตัวตนของเธออย่างชัดเจน “การวาดรูปด้วยเลือดเป็นสิ่งที่เราร่ำร้องอยากทำมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วแหละ เพราะที่บ้านเราเปิดคลินิกทำฟัน เราดูดน้ำลายคนไข้แล้วก็ถามแม่ว่าเลือดมันน่าจะวาดรูปได้นะ” ปั๋นหัวเราะ

ในขณะที่ปั๋นเล่า เรามองไปรอบๆ ห้องแสดงงานที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังมาเยี่ยมบ้านเพื่อนสักคน ปั๋นช่วยคลายข้อสงสัยถึงที่มาของห้องที่จำลองมุมเล็กๆ ในโลกของเธอห้องนี้ “คนสมัยก่อนเวลาไปผจญภัยที่ต่างๆ ก็จะเอาของสะสมมาใส่ในห้องแล้วอวดว่าไปที่นั่นที่นี่มา ห้องนี้ก็เป็น cabinet of curiosity ของเรา เป็นของสะสมของเรา เราอยากให้คนรู้สึกเหมือนมาเยี่ยมบ้านนักวิทยาศาสตร์บ้านิดนึง”

นี่จึงเป็นสาเหตุที่เรารู้สึกราวกับว่าห้องสีขาวเล็กๆ นี้ถูกหยุดเวลาไว้ตลอดช่วงที่คุยกัน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของเธอ

“เราไม่ชอบความจริงที่โลกนี้เป็นอยู่ มันจะล่มสลาย ทรัพยากรจะหมด เราอยากหนีเข้าไปอยู่ในจินตนาการของตัวเองที่ไร้กาลเวลา ที่ที่เราหนีไปได้คือรูปวาดของเรา”

“เราอยากจะเก็บช่วงเวลาที่สวยที่สุด ดีที่สุดของผู้หญิงไว้ในงานเรา พอเราวาด เขาก็เป็นอมตะอยู่ในงานเรา เลือดก็เป็นค่าเลือดตอนที่เขามีร่างกายนั้น เหมือนหยุดเวลาไว้ เป็นความงามแบบไม่มีวันตายนิดนึง ในรูปเราจะไม่มีเวลา ไม่รู้สถานที่ มันคือที่ในหัวเรา มันมีโลกที่สวยงามอยู่ตรงนั้นนะ แล้วทุกคนในนั้นก็เป็นผู้หญิงสวยๆ ฉันอยากเข้าไปอยู่ในโลกนั้น”

สิ่งนี้ยังเชื่อมโยงกับความสนใจเรื่องความตายของปั๋น เธออยากสร้างโลกที่เวลาหยุดเดินและไม่มีความตาย ด้วยการสร้างโลกนั้นขึ้นในงานศิลปะ

“เรามองว่าความตายเป็นจุดสิ้นสุดของทุกอย่าง ไม่มีโลกหลังความตายอีกต่อไป ทุกครั้งที่วาดรูป เราเหมือนหลุดไปอยู่อีกโลกนึง เราเป็นตัวเองที่สุดตอนที่เราวาดรูป นี่คือที่ของเราจริงๆ โลกจะแตก เราจะตาย ใครจะป่วย ไม่มีอะไรสำคัญอีกแล้วพอเราได้วาดรูป”

แต่เพราะรู้ว่าในความเป็นจริง ไม่มีใครที่จะหยุดเวลาเอาไว้ได้ ปั๋นจึงให้งานศิลปะของเธอเป็นตัวแทนที่จะมีชีวิตยืนยาวในความทรงจำของผู้คนบนโลกใบนี้แทน รูปทุกรูปในงาน Vein / Vain จึงมาจากความเป็นตัวเธอและความหลงใหลในศิลปะที่มีอยู่ในหัวใจจริงๆ

Note

  • ที่มาของชื่อนิทรรศการคือ Vien ตัวแรกมาจากคำว่า ‘เส้นเลือด’ ส่วน Vain ตัวที่สองพูดถึงความสวยงามในด้านลบ เมื่อนำเลือดมาเล่าเรื่องความสวยงามผ่านรูปวาดผู้หญิง เหมือนตัว V สองตัวที่ชนกันจนกลายเป็นตัวอักษรนำของคำว่า Woman
  • ปั๋นบอกเราว่าการตรวจเลือดทำให้รู้ว่าแบบภาพแต่ละคนใช้ชีวิตและมีไลฟ์สไตล์ยังไง “ทันทีที่เรารู้ค่าเลือดของคนคนนั้น เราจะรู้ทันทีว่า เฮ้ย เขากินอาหารไม่ระวัง ทั้งค่าโคเลสเตอรอล น้ำตาล โซเดียม จริงๆ มันตรวจได้ละเอียดกว่านั้นอีก แต่เราเลือกตรวจแค่ไม่กี่ค่า”
  • ตัวตนของแบบแต่ละคนยังแสดงออกผ่านลายมือที่แปะไว้ข้างๆ ภาพ เพื่อให้คนดูได้เห็นความงามของแบบในหลายมุม

นิทรรศการ VEIN / VAIN Exhibition จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2561 ที่ร้านอาหาร Daydream Believer พหลโยธิน 12


facebook |
Riety
instagram | Riety

ภาพ เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด