‘นิทรรศการให้ อภัยตัวเอง’ ศิลปะการใช้ชีวิตที่เรียนรู้ได้ในงานศิลปะสีน้ำเงินของ SlverWater

‘ไม่อยากเชื่อว่าเขาเพิ่งอายุ 26’ เรานึกในใจระหว่างฟัง ดีน-ธนกร ศิริรักษ์ อดีตนักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์จากรั้วศิลปากร เล่าถึงงานศิลปะที่เขาทำ

เราพบกันครั้งแรกในอินสตาแกรมที่ดีนใช้ชื่อ slverwater และครั้งที่ 2 ในงาน ART GROUND ที่ The Jam Factory ทั้งหมดนำมาสู่ครั้งที่สามคือที่บ้านของเขา สถานที่ที่เขาจะจัดนิทรรศการศิลปะครั้งที่ 3 ของตนเองในวันที่ 10 มีนาคมนี้

งานศิลปะของเขาดึงดูดเราด้วยสีสันโทนฟ้าน้ำเงิน กับบรรยากาศในภาพที่มองแล้วรู้สึกเบาสบายอย่างบอกไม่ถูก ทว่าในภาพที่ดูโปร่งและเรียบง่าย เราสัมผัสได้ว่ามีความรู้สึกบางอย่างซ่อนไว้

จุดเริ่มต้นงานศิลปะของดีนไม่ต่างจากเด็กคนอื่น เขาค่อยๆ ทำมันมาเรื่อยๆ ตามธรรมชาติที่แฝงฝังอยู่ในเนื้อในตัว แต่จุดเปลี่ยนหนึ่งเกิดขึ้นตอนที่เขาเตรียมทำทีสิสและมองหาข้อความที่จะส่งสารผ่านงานศิลปะ เขาไม่อยากเล่าเรื่องสังคมภายนอกที่อาจมีทั้งคนที่เห็นต่างหรือคนที่รู้จริงกว่า แต่เลือกหันกลับมามองสิ่งที่อยู่ในโลกภายใน เป็นเวลากว่า 3 ปีที่เขาพยายามเอางานศิลปะมาใช้จัดการความทุกข์ จนถึงวันนี้ เขาได้ค้นพบหนทางใหม่ที่จะคลี่คลายความรู้สึกตนเอง

สิ่งนั้นซ่อนอยู่ใน 5 ข้อความสำคัญที่เป็นเหมือนกุญแจของงานนิทรรศการครั้งนี้ และเราก็อยากให้คนอ่านได้รู้จักตัวตนของเขาผ่านข้อความเหล่านั้นเช่นกัน


ข้อความที่ 1 ‘นิทรรศการให้ อภัยตัวเอง’

ฟังก์ชั่นหนึ่งในงานศิลปะของดีนคือการใช้มันบันทึกแต่ละช่วงชีวิตเก็บไว้ “เราเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างได้จากอดีตตลอดเวลา ถ้าเราเรียนรู้กับประสบการณ์แล้วไม่ได้บันทึกเอาไว้ มันก็ไม่มีประโยชน์”

แม่ที่ชอบสอนเขาด้วยธรรมะง่ายๆ คือคนที่มีอิทธิพลต่อวิธีคิด ไม่น่าแปลกใจที่วัยรุ่นคนนี้พยายามจะสร้างระบบจัดการความทุกข์ของตนเองผ่านงานที่ทำ

“การจะซ่อมแซมอะไรสักอย่างเราก็ต้องรู้กลไกของมันก่อน เช่นจะซ่อมนาฬิกาก็ต้องศึกษากลไก เช่นกันกับความทุกข์ ถ้าเราอยากแก้ปลายทาง เราก็ต้องไปที่ต้นตอ ไปหาว่าทุกข์เพราะอะไรแล้วเริ่มจัดการที่ตรงนั้น” ดีนอธิบายวิธีการที่เขาเคยใช้จัดการปัญหา

“เวลามีปัญหา ผมจะคิดออกมาเป็นคำๆ ก่อน แล้วเอาคำไปตีความเป็นภาพ สมมติว่าวันนี้มีเรื่องเกิดขึ้นที่สะกิดใจเรา เราทบทวนแล้วพบว่าเป็นเพราะเราคาดหวัง เราก็ตีความความคาดหวังออกมาเป็นภาพงานศิลปะซึ่งเป็นการจัดระเบียบแล้วในหัวเรา พอรู้แล้วว่านี่คือปัญหา เราก็ต้องไม่ทำอีก”

เขาชี้ให้เราดูภาพวาดบริเวณโต๊ะอาหาร เขาวาดภาพนี้เพื่อสื่อสารความคิดว่า ‘สุดท้ายทุกคนก็จากไป’ ในช่วงเวลาที่เขาเป็นทุกข์จากการสูญเสียคนสำคัญ

“พ่อเสียตั้งแต่ช่วงที่ผมเรียนอยู่ ผมคิดว่าเรื่อง ‘สุดท้ายแล้วทุกคนต้องจากไป’ นั้นเป็นความรู้สึกที่เราพยายามจะยึดติด ถ้าเรายึดติดมากเราจะทุกข์มาก การวาดรูปเป็นการเขียนความเข้าใจ เราเข้าใจมันจริงๆ นะ แต่สุดท้ายแล้วผมทำอยู่ 3 ปี มันไม่ช่วยอะไร”

“ความเข้าใจที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้เราหายทุกข์ มันทำให้เรากดดันตัวเอง ทุกข์ส่วนใหญ่ของผมมาจากการคาดหวัง สมมติเรารู้แล้วว่านี่เป็นเหตุของความทุกข์ เราเลือกได้ว่าเราจะคาดหวังหรือไม่ แต่ทั้งที่มันเป็นอำนาจของเรา เรากลับหยุดตัวเองไม่ได้ ยิ่งเข้าใจว่าความทุกข์มาจากไหนและทุกปัญหาสามารถจัดการได้ที่ตัวเราตั้งแต่ต้น มันเลยยิ่งโทษตัวเองว่า ทำไมเราถึงทำไม่ได้สักที”

เมื่อนั่งคุยกัน เราเริ่มมองเห็นตัวตนของเราเองผ่านดีน คนที่หมกมุ่นกับปัญหาด้วยความคิดที่อยากจะแก้ไขให้จบสิ้น คนที่พยายามหาคำตอบให้ทุกคำถามในชีวิต เมื่อเกิดอะไรผิดพลาด เราจะคาดหวังกับตัวเองและกับผู้อื่นในเวลาเดียวกัน และนั่นคือความทุกข์รูปแบบหนึ่ง

เมื่อเวลาผ่านเขาถึงค้นพบการปลดล็อกตัวเอง ดีนไม่ลังเลที่จะต่อยอด ‘นิทรรศการให้’ โปรเจกต์ในอดีตที่เกิดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนงานศิลปะกับเพื่อนฝูงให้เป็น ‘นิทรรศการให้ อภัยตัวเอง’

ครั้งนี้สิ่งที่เขาให้ไม่ใช่งานศิลปะ แต่เป็นการแบ่งปันหนทางในการอยู่ร่วมกับความทุกข์ให้ดียิ่งขึ้น


ข้อความที่ 2 ‘It’s not your fault’

นิทรรศการครั้งนี้มีงานศิลปะที่จะจัดแสดงทั้งหมด 90 ภาพ งานแทบทุกชิ้นสอดแทรกสีสันโทนสีน้ำเงินหรือสีฟ้า สีที่ตรงจริตความรู้สึกผู้เป็นเจ้าของ แต่ภาพสุดท้ายที่ดีนกำลังสร้างสรรค์ต่างไปจากงานอื่นๆ เพราะมันเป็นฉากจากภาพยนตร์เรื่อง Good Will Hunting (1997) ที่ดีนดูแล้วดูอีกเพราะมีฉากหนึ่งที่สัมผัสใจ

Good Will Hunting ว่าด้วยเรื่องราวของอัจฉริยะคนหนึ่งที่เลือกทำงานเป็นภารโรงในมหาวิทยาลัย วันหนึ่งเขาทำโจทย์ยากที่ครูเขียนทิ้งไว้ที่หน้าห้องได้จึงถูกตามหาตัว แม้จะฉลาด แต่นิสัยก้าวร้าวท้าตีท้าต่อยก็ทำให้ถูกส่งตัวไปหาจิตแพทย์หลายคน จนกระทั่งเจอจิตแพทย์คนหนึ่งที่มีพื้นเพคล้ายคลึงกัน

“ตอนแรกเขาก็งัดกัน แต่ในที่สุดคนนี้ก็เป็นคนช่วยปลดล็อกทุกอย่าง ที่จริงแล้วคนที่มีปัญหา คนที่เลือกจะไม่ก้าวต่อในชีวิตแบบเขาทั้งที่ตัวเองมีศักยภาพ เขากำลังหยุดตัวเองด้วยความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งจิตแพทย์คนนี้เข้าใจ เขาเดินมาบอกกับพระเอกว่า it’s not your fault มันไม่ใช่ความผิดของคุณ พูดซ้ำไปเรื่อยๆ จนพระเอกเริ่มร้องไห้ ตอนพระเอกร้องไห้ ผมก็ร้องออกมา ดูสิบรอบก็ร้องไห้ที่เดิม” ดีนเล่า

“ผมคิดว่ามันต้องมีบางอย่างที่เชื่อมโยง เลยเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องให้คนมาบอกว่ามันไม่ใช่ความผิดเรา เราทำผิดอะไร เราให้อภัยตัวเองไม่ได้จึงต้องให้อีกคนมาให้อภัยเรางั้นเหรอ สิ่งที่เราทำความเข้าใจกับตัวเองมา 3 ปีมันยังมีจุดบอดอยู่ และนี่น่าจะเป็นคำตอบของเรา”

เวลานั้นงานศิลปะบางชิ้นจึงเกิดขึ้นในความก้ำกึ่งระหว่างการพยายามจะ ‘จัดการ’ ความทุกข์ และความพยายามจะ ‘ปล่อยวาง’ จนกระทั่งมีอีกเรื่องเล็กๆ มาสะกิดใจ


ข้อความที่ 3 ‘ประแจ’

“วันหนึ่งผมทะเลาะกับคนรักตั้งแต่เช้า จนเย็นจนมืดแล้วก็ยังโยงไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ลืมไปแล้วนะว่าเรื่องเดิมที่ทะเลาะกันคืออะไร จนเขาพูดว่าเดี๋ยวต้องเอาประแจไปเก็บ ผมก็นึกขึ้นมาว่า ประแจมันหน้าตาเป็นยังไงแล้วถามออกไป มันเป็นแวบหนึ่งที่รู้สึกว่างเปล่า เหมือนความรู้สึกโกรธมันหายไปแล้ว เราเลือกได้ว่าจะเอาความรู้สึกนั้นกลับมาอีกดีไหม ถ้าเราหยิบเรื่องเดิมมาคุยต่อจะทะเลาะแน่ๆ แต่ถ้าเลือกคุยเรื่องอื่น แป๊บเดียวมันก็จะถูกลืมไป”

เขารู้สึกตัวในตอนนั้นเองว่าเหตุผลที่ความทุกข์ไม่จบลง เพราะเขาเอาความทุกข์กลับมาเล่นซ้ำตลอดเวลา แม้จะเรียกว่าเป็นการไตร่ตรองเพื่อทำงานศิลปะ แต่ความจริงเรื่องนั้นได้จบไปตั้งนานแล้ว ความเข้าใจก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน

“ถ้าเวลา 50 เปอร์เซ็นต์ของเราหมดไปกับการทำงานศิลปะ แปลว่าเวลา 50 เปอร์เซ็นต์ของเราย้อนกลับไปทุกข์กับอดีต ถ้าเราไม่ให้คุณค่ามันแล้วเลือกที่จะยึดอยู่กับสิ่งอื่น เช่น ปัจจุบัน มันก็น่าจะเปลี่ยนอะไรได้เยอะ เพราะ 50 เปอร์เซ็นต์ของเราไม่กลับไปทุกข์เหมือนในอดีตแล้ว” ชายหนุ่มวัย 26 กล่าว


ข้อความที่ 4 ‘ไม่มีอะไรสำคัญขนาดนั้น’

“ทุกอย่างในชีวิตที่เราอาจเคยเป็นทุกข์มากๆ หรือให้ความสำคัญมากๆ วันนี้มันไม่มีความหมายอะไรขนาดนั้น” ระหว่างเล่าถึงประแจ เขาก็เอ่ยประโยคนี้

“ก่อนพ่อจะเสีย เรากับพ่อและพี่ชายคุยกันว่าเดี๋ยวเราจะเล่นดนตรีกัน พ่อตั้งใจจะพัฒนาแบรนด์ของเขา พยายามจะเลิกเหล้าและอยากออกกำลังกาย สิ่งที่ดีกำลังจะเกิดขึ้น แต่แล้วเขาก็เสีย มันตัดไปดื้อๆ อย่างนั้นเลย พ่อเป็นคนให้ความสำคัญกับธุรกิจ ให้ความสำคัญกับอีกหลายๆ อย่างในชีวิต มันเป็น big deal ในชีวิตเขา สุดท้ายมันไม่สำเร็จแล้วยังไงล่ะ หรือเราที่อยากจะร่วมวงกับพ่อมากๆ สุดท้ายพอไม่เกิดขึ้น มันก็เท่านั้นเอง มันไม่มีอะไรสำคัญขนาดนั้น เสียใจไปเราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้”

“มีหลายอย่างที่เรารู้สึกว่าเป็น big deal มากๆ สมมติว่าผมจริงจังมากว่างานศิลปะที่จะแสดงครั้งนี้ทุกชิ้นต้องมีความหมาย ทุกคนต้องเห็นค่ามัน แต่หลังจากนี้ไม่กี่เดือนงานนี้ก็จะหายไป ถ้าตอนเราพยายามเราเอ็นจอย ตอนวันงานเราเอ็นจอย แต่ในวันต่อๆ ไปเราก็เอ็นจอยกับเรื่องอื่นๆ ชีวิตก็จะง่ายขึ้น”

และความคิดนี้ก็ส่งผลกระทบต่อวิธีทำงานศิลปะของเขาอย่างเห็นได้ชัด


ข้อความที่ 5 ‘paint whatever’

งานยุคก่อนหน้านี้ของดีนมีความหนักและความตึงบางอย่าง เขาเล่าว่าเขาเคยแคร์สายตาคนดู เมื่อวาดอะไรที่ดูเรียบง่ายก็กลัวคนจะรู้สึกว่างานยังไม่สมบูรณ์ จึงพยายามใส่อะไรเติมลงไปอีก แต่วันนี้เขาเข้าใจแล้วว่าขอแค่ทำงานอย่างจริงใจกับตัวเองก็เพียงพอ

เหตุผลหนึ่งที่ดีนรักงานเพนติ้ง เพราะมันคืองานที่วาดความคิดลงไปได้ทันที ไม่ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย ถ้ายังคิดอะไรไม่ออก เทคนิคที่เขาชอบใช้คือการลงสีทั่วทั้งผืนผ้าใบก่อน แล้วค่อยๆ เติมแต่งเรื่องราวลงไป ร่องรอยของทีแปรงจะยังไม่เลือนหาย แต่กลายเป็นมิติ เป็นความระยิบระยับ และเป็นเข็มทิศเล็กๆ ในการวาดจนสมบูรณ์

เราคิดตามได้เองว่ามันอาจคล้ายการใช้ชีวิต บางครั้งเราก็ไม่มีแผนการล่วงหน้า เราเพียงทำสิ่งต่างๆ ไปตามสัญชาตญาน แล้วมันก็จะค่อยๆ พาเราไปสู่จุดหมาย

“ผมอยากบอกว่าปัจจุบันเท่านั้นที่สำคัญ บางคนอาจคิดถึงอดีตหรือกังวลถึงอนาคต แต่ที่จริงเราไม่รู้หรอกว่าเรามีอายุเหลือแค่ไหนในอนาคต” เขาเล่าบทเรียนที่ได้จากพ่อ

ทุกวันนี้เขาเพียงเลือกวาดสิ่งที่ชอบและดูสวยงาม นั่นคือรูปผู้คนในความรู้สึกหนึ่งบนฉากโปร่งเบา คำว่า paint whatever หมายถึงการเพนต์อะไรก็ได้ กฎการทำงานข้อเดียวคือให้อยู่กับปัจจุบัน เมื่อทำงานภายใต้แนวคิดนี้ เขารู้สึกเบาขึ้น และอยากส่งต่อสิ่งที่มีประโยชน์นี้ให้คนที่มานิทรรศการด้วย

ภาพทั้ง 89 ภาพจากการฝึกปรือที่จะอยู่กับปัจจุบัน จะถูกจัดแสดงให้ทุกคนชม ดีนเลือกจัดนิทรรศการนี้ที่บ้านด้วยความตั้งใจอยากทำให้พื้นที่ตรงนี้มีความหมาย เป็นพื้นที่ที่มี ‘ชีวิต’ หรืองานศิลปะของเขาไหลเวียนอยู่ และส่วนที่พิเศษสุดในสายตาเราก็คือ พื้นที่ที่เปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาวาดรูปจากหุ่นนิ่งเพื่อฝึกอยู่กับปัจจุบันร่วมกัน เมื่อวาดเสร็จแล้วภาพเหล่านั้นจะถูกจัดแสดงในนิทรรศการ ไม่ต่างจากงานของเขา

“ผมเรียนรู้จากตรงนี้แล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ มันเป็นสิ่งง่ายๆ ที่พอจะแชร์ได้ เพียงชั่วขณะนั้นที่เขาอยู่กับปัจจุบัน แค่นั้นก็มีประโยชน์แล้ว ถ้าเราสามารถเปลี่ยนเวลาที่เขาวาดรูปเป็นเวลาที่เขาทุกข์น้อยที่สุด ไม่ต้องคิดถึงเรื่องแย่ๆ เขาก็จะรู้ว่า ณ เวลานี้มันคือเวลาที่โอเค” ดีนยิ้มน้อยๆ

รูปภาพของดีนที่เราชอบเป็นพิเศษไม่ใช่รูปภาพขนาดใหญ่ มีเส้นสายซับซ้อน เป็นเพียงภาพที่รองพื้นด้วยสีขาว ก่อนใช้เกรียงปาดให้เกิดลายเส้น ทิ้งร่องรอยความหยาบในบางจุด แต่ยังสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยน

เราได้เรียนรู้จากงานของเขาว่า ชีวิตไม่จำเป็นต้องคิดตอนจบอย่างสมบูรณ์แบบ เพียงลงมือ เรียนรู้สิ่งที่ผิดพลาด ก่อนจะปล่อยวางและอยู่กับปัจจุบัน

นี่อาจเป็นคำตอบของคำถามทุกอย่างในชีวิตที่เราเคยตามหาก็ได้

‘นิทรรศการให้ อภัยตัวเอง’ จะจัดขึ้นในวันที่ 10 มีนาคมนี้เพียงวันเดียว ที่บ้านของดีนในซอยอารีย์สัมพันธ์ 8 ถ้าไม่อยากพลาด ดูรายละเอียดที่เพจอีเวนต์ (www.facebook.com/events/180124799417827/) และเพจหรืออินสตาแกรม SlverWater นะ

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR