Brick by Brick โรงเรียนสอนศิลปะร่วมสมัยที่อยากให้คนเรียนดูงานศิลปะเป็น

ยังจำคาบเรียนวิชาศิลปะสมัยเด็กๆ กันได้ไหมครับ

ในฐานะที่เราก็เติบโตมาตามระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำได้ว่าเราถูกสอนให้วาดภาพบ้านเป็นกล่องสี่เหลี่ยมมีประตูหน้าต่าง (อย่าลืมวาดปล่องไฟข้างบนหลังคาด้วย) วาดเส้นโค้งเหลื่อมกันให้เป็นภูเขา วาดนกเป็นเส้นโค้งหยักๆ ต้องระบายสีให้ถูกต้องตามจริงไม่เกินขอบของภาพวาดที่กำหนดไว้ ดูไปก็เป็นภาพสวยงามตามอุดมคติ

ปัญหาคือภาพวาดของเราไม่ต่างจากเพื่อนที่นั่งข้างๆ แม้แต่น้อย เพื่อนอาจได้คะแนนสูงกว่าเราเพราะเขาระบายสีได้เข้ม ชัด และเนี้ยบกว่าเท่านั้น

น่าสนใจว่าในคณะสายศิลปะระดับมหาวิทยาลัยก็ยังมีกฎเกณฑ์ชัดเจนเป็นตัวชี้วัด มากกว่าจะปล่อยให้ผู้เรียนใช้ความคิดและดึงตัวตนความสนใจของตัวเองออกมานำเสนอผ่านงาน ผลลัพธ์ของระบบการศึกษาที่สอนให้ศิลปะเป็นเรื่องของ ‘ทักษะ’ ที่เก่งกาจ มากกว่าการบอกว่าศิลปะ ‘เปิดกว้าง’ มากแค่ไหน ทำให้ในจำนวนนักศึกษาศิลปะมากมายมีคนที่จบออกมาเป็นศิลปินที่เลี้ยงชีพได้ไม่เยอะ วงการศิลปะเป็นวงการที่ศิลปินกระจุกตัวกันในกลุ่มเล็กๆ และผลักให้คนธรรมดาตีตัวออกห่างไปเรื่อยๆ

วงการศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) เป็นคำตอบของโจทย์ยากข้อนี้ แต่ปัญหาที่ลึกลงไปอีกทีคือ ยังไม่มีกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่มากพอที่จะสร้างงานให้แพร่กระจายไปในวงกว้าง

ซัน-อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล คือช่างภาพสตรีทอาร์ตในกลุ่ม Street Photography Thailand ที่หลงใหลในเสน่ห์ของภาพฟิล์มและภาพถ่ายสตรีท ย้อนกลับไปสี่ปีก่อนหน้า ซันไม่ต่างจากคนธรรมดาที่ไม่ได้เรียนด้านศิลปะ ไม่เคยถ่ายรูป ไม่มีความรู้เรื่องกล้อง เขาเพียงสนใจในศาสตร์ของของการถ่ายภาพคอนเซปชวล (Conceptual Photography) ที่เน้นไอเดียและมุมมองของผู้ถ่ายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง ความหลงใหลและตั้งใจจริงทำให้ตอนนี้ซันกลายเป็นหนึ่งในช่างภาพสตรีทที่มีผลงานโดดเด่น และเขาได้ข้อสรุปว่า ‘ถ้าเรายังพัฒนาตัวเองได้ งั้นใครก็ถ่ายภาพคอนเซปชวลได้ แค่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดนิดหน่อย’

Brick by Brick School of Contemporary Photography โรงเรียนสอนศิลปะภาพถ่ายเชิงแนวคิดในย่านเมืองทองธานีที่ซันใช้เวลาปลูกปั้นมาเป็นปี จึงเกิดขึ้นมาด้วยแนวคิดที่ว่าศิลปะเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อสร้างแค่ศิลปินใหม่ๆ แต่จะสร้างความเข้าใจให้คนที่เสพงานศิลปะด้วยเช่นกัน

ปัญหาคือไม่มีใครรู้ว่าศิลปะจำเป็นต้องสอน

หลังเอาตัวไปคลุกคลีกับกลุ่ม Street Photography Thailand และเรียนรู้ด้วยตัวเองจากคำแนะนำของพี่ๆ ช่างภาพในกลุ่ม ซันพบว่าในเมืองไทยยังมีศิลปินที่ทำงานศิลปะร่วมสมัยอยู่ไม่น้อย แต่ปัญหาคือไม่มีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาไหนที่สอนให้ผู้เรียนถ่ายทอดไอเดียในตัวเองมาสร้างสรรค์งานศิลปะ รวมถึงกระบวนการเรียนที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์งานกันเพื่อผลักดันให้เกิดผลงานใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่การผลิตซ้ำ

“ทุกคนพอพูดถึงงานคอนเทมโพรารีก็จะคิดว่าต้องบินไปเรียนที่นิวยอร์กอย่างเดียว การสอนถ่ายภาพในไทยมีแต่เรื่องอุปกรณ์ เทคนิคการถ่าย แต่การสอนศิลปะในเชิงแนวคิด กระตุ้นให้เกิดความคิดจากผู้เรียนมันไม่มี เราเชื่อว่าใครที่จะเปิดโรงเรียนแบบนี้ก็ยาก เพราะส่วนใหญ่เปิดเวิร์กช็อปสอนถ่ายรูปวันเดียวมันก็ขายได้อยู่แล้ว ได้เงินแน่นอน แต่เปิดแบบนี้คนจะงงว่าสอนอะไรวะ แต่เราคิดว่าเราต้องพยายามทำเพราะศิลปะร่วมสมัยมันเปลี่ยนวิธีคิดให้เราเข้าใจตัวเอง มุมมองของเราเวลาเห็นอะไรมันเปลี่ยนไปอีกแบบ เราอยากส่งต่อวิธีคิดแบบนี้ให้ทุกคนได้รู้ คุณไม่ต้องมาถ่ายภาพสตรีทเหมือนเราก็ได้ เราถึงตั้งมันเป็น Conceptual Art School คือคุณถ่ายทอดไอเดียจากตัวคุณเป็นวิชวลอะไรก็ได้”

งานศิลปะที่ถูกปิดกั้นตามประวัติศาสตร์

“ศิลปะร่วมสมัยในไทยไม่ค่อยถูกยอมรับในวงกว้าง เราศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในไทยเทียบกับของโลก และพบว่าในไทยไม่มีรากเหง้าของงานประเภทนี้เลย ทั้งที่ในยุค 50s 60s ก็มีงานของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ที่ถ่ายภาพคอนเซปชวล แต่มันถูกลิดรอนจนไม่มีใครรู้จักงานภาพถ่ายของเขา ไทยเรารับศิลปะมาจากอีกแขนงไม่ใช่จากอเมริกาที่ศิลปินทำงานร่วมสมัยกันมาตั้งแต่ยุค 50s

“คำว่าคอนเซปชวลคือการที่คุณวิพากษ์อะไรบางอย่าง ภาพถ่ายทั่วไปคือการที่คุณเห็นว่าภูเขาไฟฟูจิสวยก็ถ่ายเก็บไว้ มันคือการก๊อปปี้ภาพโดยที่ไม่ต้องคิดอะไร แต่ถ้าคุณมีวิธีคิดอีกแบบ รู้จักหามุมมองว่ารู้สึกกับมันอย่างไร คุณก็จะถ่ายภาพมันในอีกรูปแบบนึงซึ่งมันมีวิธีมากมายมหาศาลกว่านั้นเยอะ ที่เห็นได้ชัดคือประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม งานเหล่านี้คือคอนเซปชวลหมด เราเอาตัวเองวิเคราะห์กับทุกอย่างและวิพากษ์ออกมาได้ มันคือเครื่องมือ กระบอกเสียงของตัวคุณเองซึ่งใหญ่กว่าการก๊อปปี้วิชวลเฉยๆ มันไม่ได้ผิดนะ เพียงแต่ว่าเราควรจะมีทางเลือกอีกแบบนึง และกล้องก็ทำหน้าที่ได้มากกว่านั้น”

ไม่ใช่สอนถ่ายภาพ แต่สอนการดึงตัวตนของผู้เรียนออกมา

ถึงจะตั้งชื่อว่า Conceptual Photography School แต่เนื้อหาของ 4 คอร์สแรกที่เปิดสอนก็ไม่ได้สอนการถ่ายภาพเลย แต่เน้นการเล่าเรื่องด้วยภาพผ่านวิธีการไหนก็ได้ และเปิดมุมมองให้ผู้เรียนได้เข้าใจงานคอนเซปชวลในวิธีที่หลากหลายผ่านประสบการณ์ของคนสอน

“เราเลือกจากคนรอบตัวที่งานเขาแข็งแรงและผลิตมาจากตัวเอง ไม่ได้ลอกใคร ข้อที่สองคือเขาสามารถถ่ายทอดออกมาได้ เพราะที่นี่ไม่ได้สอนฮาวทู เมนเทอร์ต้องเอาความรู้ที่มีไกด์ให้ผู้เรียน และหาวิธีดึงความสามารถ ความสนใจของผู้เรียนแต่ละคนออกมาให้แตกต่างกันได้ นี่คือหลักการของทุกคอร์ส ซึ่งทำให้ต้องเกิดการทำงาน วิพากษ์งานกัน คนไทยจะมีกำแพงบางอย่างเกี่ยวกับการเรียนศิลปะแบบนี้ แต่เราคิดว่าการวิจารณ์งานเป็นพื้นฐานของการพัฒนาตัวเอง เราต้องปรับวัฒนธรรมนี้ให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

คอร์ส Basic of Conceptual Art ของนักรบ มูลมานัส เลยไม่ได้สอนการทำภาพคอลลาจ แต่นักรบต้องหาวิธีดึงความชอบ ความสนใจ และประสบการณ์ที่นักเรียนแต่ละคนมีอยู่แล้วออกมาสื่อสารผ่านงานศิลปะในแบบของตัวเอง หรือคอร์ส Find Your Eyes ของไก่-ณฐพล บุญประกอบ ที่ถนัดด้านการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์สารคดี ก็เน้นให้ผู้เรียนหาทิศทางและเรื่องที่อยากเล่าให้เจอโดยไม่จำเป็นต้องออกมาเป็นภาพถ่ายหรือภาพยนตร์ก็ได้

คอร์สเรียนที่ต้องทำงานจริง วิจารณ์จริง

ด้วยวิธีการเรียนที่เน้นให้เมนเทอร์ลงลึกกับผู้เรียนแต่ละคน มอบหมายงานให้ทำและนำกลับมานำเสนอในคลาสเพื่อร่วมกันวิจารณ์ ทำให้แต่ละคอร์สอาจรับคนเรียนได้ไม่เยอะ แถมยังไม่ใช่วิธีการเรียนที่คนไทยคุ้นชิน แต่ซันบอกว่าจากการสังเกตคนที่มาเรียนซึ่งยังเป็นนักศึกษาหรือคนที่ทำงานด้านถ่ายภาพก็ตั้งใจมากเพราะรู้จุดประสงค์ของตัวเอง

“ถ้าคุณอยากเรียนสิ่งนี้จริงๆ ไปเรียนที่นิวยอร์กก็ต้องเจอวิธีการสอนแบบนี้แถมหนักกว่าด้วย ศิลปะไม่มีถูกผิดและปลายเปิดมากๆ เราชอบที่บางคลาสก็มีบรรยากาศแบบนี้แล้ว เมนเทอร์ชอบสิ่งนี้แต่คนเรียนบอกว่าไม่เห็นเข้าใจเลย คุณมีสิทธิ์ที่คุณจะไม่ชอบและเป็นตัวของคุณเอง หน้าที่ของเมนเทอร์เลยต้องไกด์วิธีที่ตรงจริตกับคนเรียนให้ได้ด้วย

“เราตั้งใจแต่ต้นว่าจะทำคอร์สระยะยาว เราไม่เชื่อเรื่องการเวิร์กช็อปหนึ่งวันจบเพราะคนเรียนไม่ได้อะไรแน่นอน แต่คนสอนน่ะได้เงิน แต่มันก็ยากมากเพราะเวลาที่ไม่ลงตัว แต่เราก็เชื่อในจุดแข็งของคอร์สเราที่เน้นว่าคนเรียนแต่ละคนต้องได้อะไรกลับไปไม่เหมือนกัน คุณต้องได้ความเป็นตัวเองกลับไป การมาลงมือปฏิบัติเอง ต่อให้เรียนในคอร์สออนไลน์ของเราเองหรือจากต่างประเทศก็ไม่ได้สิ่งนี้กลับไปร้อยเปอร์เซ็นต์”

โมเดลธุรกิจที่มีทั้งออฟไลน์และออนไลน์

“เราคิดแล้วว่าต้องใช้เวลาอีกเป็นปีในการทำให้คนรู้ว่าเรากำลังสอนอะไร เราจึงตัดสินใจทำสองรูปแบบไปพร้อมกัน คลาสเรียนออฟไลน์คือการสร้างคอนเทนต์ คนมาเรียนน้อยอยู่แล้วแหละเพราะเดือนนึงเราทำได้เต็มที่ 2 – 3 คอร์สเอง แน่นอนว่ามันแทบไม่ได้กำไร แต่คอนเทนต์เหล่านี้จะไปอยู่ในคอร์สเรียนออนไลน์ให้คนที่ไม่สามารถมาเรียนได้หรือยังไม่แน่ใจมาทดลองเรียนในราคาที่รับได้ และถ้าคุณชอบจริงๆ ก็ค่อยมาเรียนแบบเต็มคอร์ส

“เราอยากทำให้วงการนี้ไปได้ คือทุกคนต้องวิน คนสอนต้องพอใจกับรายได้มากพอที่จะรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นงานที่เขาทำได้เต็มที่ ศิลปะไม่ใช่การกุศลที่คนทำต้องควักเนื้อตัวเองออกมา คนมาเรียนต้องได้ความรู้กลับไปและเราอยู่ได้ ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้มันถึงจะยั่งยืน

“เราก็ชั่งใจอยู่หลายครั้งว่าหรือควรมีคอร์สที่จะทำให้เราอยู่รอดได้บ้างดีไหม แต่ถ้าทำอย่างนั้นเราก็จะไม่ชัดเจนว่าจะพูดอะไร ฟีดแบ็กจากคนนอกเขาก็ยังไม่เข้าใจจริงๆ แต่เขาคิดว่าน่าสนใจนะ ตรงนี้ยังเป็นสิ่งที่เราต้องทำการบ้านต่อว่าควรอธิบายคอร์สให้ละเอียดและจับต้องได้ง่ายขึ้น”

พื้นที่ที่พร้อมผลักดันศิลปินที่ไม่มีใครรู้จัก

“ในเมืองไทยพอพูดถึงงานศิลปะร่วมสมัย จะรู้สึกว่ามีแค่ศิลปินไม่กี่คน มีแกลเลอรี่ไม่กี่ที่ที่มีงานให้คนดูกลุ่มเดิมๆ ไปเดินดู แต่ไม่มีพื้นที่สำหรับศิลปินใหม่ๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก แล้วเกิดวัฒนธรรมที่คนธรรมดานี่แหละอยากไปดู เราเลยอยากเข็นให้โรงเรียนนี้รันไปได้ในช่วงแรกๆ เพื่อที่เราจะได้ทำอะไรหลายอย่างต่อจากนั้น เช่น จัดนิทรรศการแสดงผลงานของศิลปินที่งานดีมากแต่ไม่มีใครรู้จัก ผลักดันโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว”

ผลผลิตที่อยากได้คือคนที่ดูงานศิลปะเป็น

“เป้าหมายของเราจริงๆ คืออยากให้ตลาดการเสพงานศิลปะกว้างขึ้น คนชอบบอกว่าทำไมคนไทยไม่ดูงานศิลปะ ก็ถ้าเขาไม่มีความรู้ ไม่มีคนบอกว่าสนุกยังไง เขาก็ไม่มาดูหรือเปล่า เราเลยคิดว่าถ้าเราส่งความรู้ไปให้ทุกคนได้มากที่สุด ทำในสิ่งที่เราทำได้และถนัดให้ทุกคนมีความรู้พื้นฐาน ถ้าเรียนจบแล้วจะไม่ผลิตงานเลยก็ได้ แต่คุณจะดูงานศิลปะเป็น

“ศิลปะต้องเรียนรู้ถึงจะเข้าใจ ฝรั่งเขาเติบโตมากับการเดินเข้าแกลเลอรี่ มิวเซียมตั้งแต่เด็ก แต่บ้านเราไม่มี โปรเจกต์ต่อไปที่เราอยากทำคือการสอนคอนเซปชวลอาร์ตให้กับเด็กๆ ทดลองทำแล้วเวิร์กมากเพราะเด็กเขาไม่มีกรอบใดๆ เลย ถ้าเราแก้ตั้งแต่ต้นทางคือการศึกษา สอนตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นมาก็สบายเลย เพราะศิลปะไม่ควรเป็น niche market แต่ควรเป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่เราต้องรู้อยู่แล้ว”

website | www.brickbybrickschool.com

ภาพ Brick by Brick School of Contemporary Photography

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!