ชุ–มัญชุสา อุดมวิทย์ เจ้าของแกลเลอรีผู้ต่อยอดการสะสมสู่การสนับสนุนวงการศิลปะไทย

Highlights

  • ชุ–มัญชุสา อุดมวิทย์ คือนักสะสมอาร์ตทอยและงานประติมากรรมฝีมือคนไทย ซึ่งมีจำนวนมากจนเธอต้องเปิดพื้นที่จัดแสดงงานขึ้นมาในนาม ณ สยาม แกลเลอรี่
  • แตกต่างจากนักสะสมหลายคนที่เราเคยเจอ มัญชุสาเล่าว่าเธอไม่ได้สะสมเพราะอยากเติมเต็มความฝันในวัยเด็ก ตรงกันข้ามการสะสมของเธอเริ่มต้นตอนเป็นผู้ใหญ่ เธอเก็บอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะความชอบและอยากสนับสนุนงานของศิลปินไทย
  • มัญชุสาเปิดแกลเลอรีของตัวเองขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้นักสะสมและนักเสพศิลปะได้มาพบปะกัน นอกจากนี้เธอยังมีสามีที่ชอบสะสมเช่นเดียวกัน ความรักในการเก็บสะสมของทั้งคู่เผื่อแผ่ไปสู่ลูกสาว จนกลายเป็นครอบครัวนักสะสม

เมื่อนึกถึงของสะสม คุณนึกถึงอะไร

หลายคนอาจนึกถึงของกระจุกกระจิก ของเล็กๆ หรือของที่เคยอยากได้ในวัยเด็กที่ตอนนั้นไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะซื้อไหว บางคนสะสมฟิกเกอร์ บางคนสะสมของเล่น บางคนสะสมตุ๊กตาที่มองเมื่อไหร่ก็นำพาความทรงจำในวัยนั้นให้หวนคืนมา ของสะสมล้วนเป็นสิ่งที่นักสะสมผูกพัน จากประสบการณ์การเจอนักสะสมหลายสิบคนเหล่านั้นทำให้ฉันตั้งคำถามว่า แล้วสิ่งที่เราไม่ได้ผูกพันแต่สะสมมัน เราจะเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าของสะสมได้ไหม

นั่นทำให้วันนี้เรามาอยู่ที่ ณ สยาม แกลเลอรี่ สถานที่จัดแสดงของสะสมของ ชุ–มัญชุสา อุดมวิทย์ และครอบครัว บนเนื้อที่กว่า 1 ไร่ถูกแบ่งสัดส่วนเป็นห้องแสดงของสะสมที่แยกประเภทชัดเจน ทั้งประติมากรรมบรอนซ์ แบร์บริก และอาร์ตทอย ของมัญชุสา มีส่วนจัดแสดงพระพุทธรูปเก่าของผู้เป็นสามี และมีโซนเล็กๆ สำหรับโมเดล Monster High ของลูกสาว

มัญชุสาบอกกับเราว่า ของสะสมของเธอนั้นไม่ใช่สิ่งที่เคยผูกพันในวัยเด็ก การสะสมไม่ได้เกิดจากปมเมื่อยังเยาว์ที่อยากได้อะไรแล้วยังฝังใจเช่นนั้น ทว่ามาจากการเก็บอย่างค่อยเป็นค่อยไปและการอยากแบ่งปัน จนกลายมาเป็นที่ๆ เรายืนอยู่ตรงนี้

ท่ามกลางอาร์ตทอยและประติมากรรมนับร้อยซึ่งรายล้อมเรา เรื่องราวของมัญชุสาทำให้เราตระหนักว่าการสะสมนั้นไม่จำเป็นต้องมีนิยามตายตัว

ที่นี่ ณ สยาม แกลเลอรี่ มีอีกโลกหนึ่งของการสะสมที่เราไม่เคยพบเจอรออยู่

 

1

“บางคนชอบอะไรสิ่งเดียวแล้วมุ่งมั่นเก็บสิ่งนั้น แต่สำหรับเราไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเราเห็นอะไรแล้วรู้สึกชอบ เราก็เก็บ ของทุกชิ้นล้วนได้มาเพราะความพอใจ” มัญชุสาเท้าความให้เราฟัง

ก่อนจะเรียกตัวเองว่านักสะสมได้เต็มปาก มัญชุสาติดนิสัยชอบเก็บเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ย้อนกลับไปเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว เธอเริ่มเก็บการ์ดโทรศัพท์ที่ใช้กับตู้โทรศัพท์สาธารณะ พัฒนามาสู่การเก็บเหรียญกับธนบัตรหายาก และเข้าสู่วงการนักสะสมอย่างจริงจังด้วยการเก็บอาร์ตทอย

Bearbrick (แบร์บริก) คืออาร์ตทอยรูปหมีสัญชาติญี่ปุ่นที่มัญชุสาเริ่มสะสมเป็นแบรนด์แรก เพราะความโดดเด่นด้านรูปทรง สีสัน ทุกตัวมีเรื่องราวเบื้องหลังและทำออกมาจำนวนจำกัดในบางรุ่น คุณสมบัติข้อสุดท้ายนี่แหละคือสิ่งที่โดนใจเธออย่างจัง

“ความพิเศษของแบร์บริกคือมันมีสตอรี่ในตัว อาจจะมาจากการที่ศิลปิน เซเลบ แบรนด์ หรือคนมีชื่อเสียง มาช่วยออกแบบ แล้วบางรุ่นก็ค่อนข้างหายาก มันเลยท้าทายเรามากเป็นพิเศษ” 

มัญชุสายังจำแบร์บริกตัวแรกที่ซื้อมาได้ขึ้นใจ มันคือแบร์บริก KAWS รุ่นแรกที่ถูกผลิตออกมา ก่อนศิลปินผู้รังสรรค์น้องหมีตากากบาทท่านนี้จะดังเป็นพลุแตก เธอได้มันมาในราคาหลักหมื่น แต่ ณ วันนี้ราคาพุ่งไปถึงหลักแสนแล้วเรียบร้อย

 

2

จากแบร์บริกตัวแรก นำมัญชุสาไปสู่การสะสมอาร์ตทอยที่หลากหลายมากขึ้น จากหนึ่งถึงสิบ และขึ้นหลักร้อยภายในเวลาอันสั้น ในขณะเดียวกัน เมื่อยิ่งซื้อเก็บสะสมมากก็มีโอกาสที่จะเจอของปลอมได้

มัญชุสายอมรับกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า เธอเองก็เคยเผชิญแง่ไม่งามจากการสะสมเช่นกัน

“เริ่มแรกเราก็ลองผิดลองถูก โดนหลอก เจอของปลอม ราคาสูงเกินจริง เจอมาหมดเลยนะ แต่สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ที่สอนให้เราต้องเข้าไปศึกษา เรียนรู้ว่าอาร์ตทอยแต่ละตัวเป็นยังไง ผลิตมาจำนวนเท่าไหร่ มี certificate ไหม เราพยายามเข้าหากลุ่มคนในวงการอาร์ตทอยที่ให้คำปรึกษาได้และพยายามหาแหล่งซื้อที่เชื่อถือได้ โดยต้องลงไปศึกษาอย่างละเอียดจริงๆ”

กลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกันนี้เองที่เข้าใจหัวอกของนักสะสมอย่างถ่องแท้ นอกจากมิตรภาพและความรู้ที่ได้แลกเปลี่ยนสื่อสารกัน ผู้คนเหล่านี้ยังช่วยให้มัญชุสาเข้าถึงอาร์ตทอยบางรุ่นที่หายาก แต่สามารถได้มาครอบครองเพราะมิตรภาพจากคนที่รักการสะสมเหมือนกัน 

 

3

ในสายตาของมัญชุสา อาร์ตทอยไม่ได้เป็นเพียงของเล่นธรรมดา แต่คือศิลปะ

จากการสะสมเพียงแบร์บริก เธอเริ่มมองหาอาร์ตทอยในแขนงอื่นซึ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน จากการลงไปคลุกคลีกับกลุ่มคนในวงการอาร์ตทอยก็ดี หรือลงพื้นที่ไปช้อปปิ้งในงาน ATT : Art Toy Thailand ซึ่งรวบรวมศิลปินทั้งในและต่างประเทศมาออกบูทเพื่อจำหน่ายอาร์ตทอยและพบปะกับบรรดาแฟนคลับก็ดี

สิ่งหนึ่งที่ดึงดูดใจมัญชุสาได้เป็นพิเศษคืออาร์ตทอยฝีมือคนไทย  

“เราอยากสนับสนุนศิลปินไทย เรามองว่าพวกเขามีผลงานดีไม่แพ้ศิลปินต่างชาติเลยนะ” เธอบอก “การทำอาร์ตทอยนั้นเกิดจากความคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการที่ไม่มีขีดจำกัดอยู่แล้ว และศิลปินไทยก็สามารถหยิบอัตลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของบ้านเราออกมาสร้างได้เหมือนกัน เช่น น้องควายเผือกตัวนี้” เธอหยิบอาร์ตทอยรูปควายเผือกตัวหนึ่งมาให้เราพิจารณา 

“เห็นรายละเอียดไหม นี่คืออาร์ตทอยจากฝีมือศิลปินไทย เขานำควายซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ้านเรามาปั้น ไม่ใช่ควายที่ไหนก็ได้นะ ต้องเป็นควายไทยเท่านั้น เพราะมันมีรายละเอียดทางวัฒนธรรมอื่นๆ อยู่ในตัวอาร์ตทอยด้วย อย่างตัวนี้ที่มีงอบ มีผ้าขาวม้า มีสัญลักษณ์แบบไทยๆ มาเป็นองค์ประกอบอยู่”

นอกจากน้องควายเผือกที่มัญชุสาเก็บไว้เป็นชุดแล้ว บนตู้โชว์ของเธอยังมีน้องปังปอนด์ที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนเรื่องดังของต่าย ขายหัวเราะ มีอาร์ตทอยไก่ต่อยมวยกับนักมวย และอาร์ตทอยไทยอีกหลายชิ้นตั้งติดกับอาร์ตทอยจากต่างชาติ

ในแง่ของมูลค่า ของแต่ละชิ้นไม่อาจเทียบกับอาร์ตทอยสากลได้ หากมัญชุสามองว่าสิ่งสำคัญกว่านั้นคือคุณค่าความเป็นไทยที่สอดแทรกอยู่ในอาร์ตทอยทุกตัว 

คุณค่าที่เธอเชื่ออย่างสุดหัวใจว่าควรได้รับการสนับสนุน 

 

4

“เชื่อไหมว่าเราไม่เคยสอนลูกให้สะสมเลยนะ” 

มัญชุสาตอบเมื่อเราถามถึงที่มาของนิสัยการชอบเก็บสะสมของน้อง บุ่นบุ๊น–อิ่มบุณ งามเกิดศิริ เด็กหญิงวัย 11 ปีที่สร้างอาณาจักร Monster High ของตัวเองด้วยการสะสมโมเดลคาแร็กเตอร์จากการ์ตูนเรื่องนี้

อันที่จริงแล้ว ความพิเศษประการหนึ่งของครอบครัวของมัญชุสาคือ ทุกคนนั้นล้วนเป็นนักสะสมทั้งสิ้น

รวมไปถึง สุนทร งามเกิดศิริ สามีของมัญชุสาผู้รักการสะสมพระพุทธรูปเก่าเป็นชีวิตจิตใจ

“สามีของเราชอบพระพุทธรูปเก่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาเก็บงานเก่าเพราะรู้สึกว่ามีเสน่ห์ ถึงคนอื่นจะมองว่าเรียบง่าย แต่เขามองว่ามันมีเสน่ห์ในความเรียบง่ายนั้น” นั่นคือสาเหตุที่มัญชุสาอุทิศโซนหนึ่งเพื่อจัดแสดงพระพุทธรูปเก่าของสามี มากกว่าแค่พระพุทธรูปเก่า วัตถุโบราณเหล่านี้ยังเป็นศิลปะที่ดูแล้วยิ่งลึกซึ้ง 

ถัดออกมาอีกโซนหนึ่งเป็นของน้องอิ่มบุณซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะเต็มไปด้วยเหล่าโมเดลฟิกเกอร์จาก Monster High กว่าร้อยตัว

“Monster High ของบุ่นบุ๊นคือตุ๊กตาโมเดลที่หมดแล้วทำซ้ำได้ สิ่งนี้เริ่มต้นมาจากลูกสาวที่ชอบซีรีส์เรื่องนี้ มันเป็นซีรีส์ว่าด้วยรุ่นลูกของมอนสเตอร์ที่เรารู้จัก อย่างแดร็กคูล่า แฟรงเกนสไตน์ คาแร็กเตอร์แต่ละตัวนั้นจะโดดเด่น มีสีสัน ออกแบบเสื้อผ้าหน้าผมสวยงาม เลยกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ลูกหลงเสน่ห์มากๆ เมื่อคุณลูกชอบ คุณแม่ก็ไม่เคยห้าม เลยไปกันใหญ่” มัญชุสาหัวเราะ “แต่เชื่อไหมว่าเราไม่เคยสอนลูกให้สะสมเลยนะ เขาเห็นว่าเราเก็บ เขาคงอยากเก็บบ้าง เรากับสามีไม่ได้ปลูกฝังหรือแนะนำ

“สิ่งหนึ่งที่เราประทับใจมากและเป็นเหตุผลที่ยอมซื้อโมเดลเหล่านี้มาให้ลูกสะสม คือพอเขาเก็บ แล้วเขาจะเป็นคนรักษาของ รู้จักเก็บของเป็นที่ ไม่มีการวางเรี่ยราด เราว่าสิ่งนี้เป็นการฝึกวินัยเขาได้ดี และทำให้เขากลายเป็นคนที่เห็นคุณค่าในสิ่งของทุกชิ้น แม้ว่าเขาจะได้มาแบบฟรีๆ ก็ตาม”

 

5

จุดไหนที่การสะสมของมัญชุสาและครอบครัวบันดาลใจให้เธอเปิดแกลเลอรี เราสงสัย

“ณ สยาม แกลเลอรี่เกิดจากความอยากชมงานของตัวเราเอง” มัญชุสาตอบพร้อมรอยยิ้ม “ต้องเท้าความก่อนว่า การสะสมอาร์ตทอยนั้นทำให้เราต่อยอดมาสู่การสะสมในงานปะติมากรรม เราเริ่มหลงใหลงานศิลปะที่สามารถเห็นได้ 360 องศา และมีความรู้สึกว่าศิลปินใช้อะไรหลายอย่างมากกว่าจะรังสรรค์งานขึ้นมาได้หนึ่งชิ้น ทั้งแนวคิด ทัศนคติ รายละเอียด ที่ต้องไปศึกษาค้นคว้าก่อนทำงาน”

ก่อนหน้าที่จะเปิด ณ สยาม แกลเลอรี่ มัญชุสาเริ่มซื้อและเก็บสะสมประติมากรรมงานบรอนซ์เป็นพิเศษ เพราะเป็นงานที่มีอายุยาวนาน เธอเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อทำความรู้จักกับศิลปิน ตั้งแต่ปรมาจารย์ถึงศิลปินรุ่นใหม่ผู้ยังเป็นนักศึกษา ติดต่อขอซื้องานของพวกเขามาชื่นชม และพบว่าบ้านของตัวเองนั้นมีที่เก็บไม่พอเสียแล้ว

“เราปรึกษาสามีว่าย้ายมาตั้งโชว์ที่ออฟฟิศดีไหม เพราะที่ตรงนี้ก็มีมากกว่า 1 ไร่ ช่วงแรกเริ่มที่ย้ายมาไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแกลเลอรีด้วยซ้ำ แค่เอางานเหล่านี้มาตั้ง ชื่นชมสิ่งที่รัก แต่หลังจากนั้นก็มีลูกค้า เพื่อนฝูง ผู้ใหญ่ มาเยี่ยม เราก็พาเดินชมอย่างภูมิใจ ผู้ใหญ่เขาก็บอกว่า สวยมาก หายากมาก ทำไมไม่เปิดให้ใครต่อใครได้ชื่นชมบ้าง เก็บไว้ชื่นชมคนเดียวมีความสุขเหรอ ตอนนั้นเลยจุดประกายให้เราอยากแบ่งปันให้คนอื่นเห็นสิ่งที่เรามี”

จนถึงวันนี้ ณ สยาม แกลเลอรี่เปิดมาได้กว่า 3 ปีแล้ว ยังคงคอนเซปต์เหนียวแน่นเช่นวันแรกคือการเปิดให้ชมฟรี นอกจากนี้ หลายคนอาจรู้จักที่นี่ในฐานะของแกลเลอรีที่รวบรวมงานประติมากรรมเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้มากที่สุดในประเทศไทย

“ตอนก่อตั้ง ณ สยาม แกลเลอรี่นั้นเป็นช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เราเห็นว่าศิลปินหลายท่านลุกขึ้นมาทำงานประติมากรรมเกี่ยวกับพระองค์ ตอนนั้นเราจึงมีแนวคิดว่า ไหนๆ ก็แสดงประติมากรรมแล้ว เราอยากทำนิทรรศการชื่อ ‘พ่อไม่ได้จากไปไหน’ เพื่อจัดแสดงประติมากรรมที่เป็นพระบรมรูปของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ได้มากที่สุด อย่างน้อยๆ ก็มีงานประติมากรรมที่สะท้อนพระราชประวัติ เล่าเรื่องราวของพระองค์ ให้ลูกหลานของเราและคนอื่นได้ชมพระบารมี”

มัญชุสายังเอื้อเฟื้อพื้นที่บางส่วนของที่นี่ให้ศิลปินหรือหน่วยงานต่างๆ เข้ามาใช้เผยแพร่นิทรรศการได้ รวมไปถึงการจัดแสดงงานของศิลปินรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีชื่อเสียงมากให้ได้ออกสู่สายตาของคนทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสในการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ได้เกิดในวงการ

“จุดเริ่มต้นของแกลเลอรีไม่ได้มาจากการที่อยากทำธุรกิจ แต่มันสามารถต่อยอดมาเป็นธุรกิจได้ การเก็บสะสมก็เหมือนการเล่นหุ้น ถ้าวันนี้หุ้นของเราขึ้นเราก็นั่งยิ้ม เช่นเดียวกับของที่เราสะสมวันนี้ เมื่อเวลาผ่านไปมูลค่าของมันเพิ่มขึ้น เราก็ภาคภูมิใจ เราเรียกสิ่งนี้ว่าออมศิลป์ หมายถึงออมทรัพย์และศิลปะ

“ถึงวันนี้ แกลเลอรีของเราก็เปิดมาได้ 3 ปีกว่าแล้ว เราภาคภูมิใจนะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวงการศิลปะไทย ภูมิใจที่ได้นำงานของคนไทยมาเผยแพร่ และใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนกลางในการแชร์ความชอบในงานศิลปะ หรือเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่มาดูนั้นอยากสะสมต่อไป” 

เมื่อบทสนทนาของเราจบลง มัญชุสาเปลี่ยนความคิดของเราไปโดยสิ้นเชิง สะสมเท่าไหร่ สะสมอะไร ถึงจะนับว่าเป็นนักสะสม คำถามเหล่านี้กลับไม่สำคัญเท่าการสะสมนั้นทำให้คุณได้เรียนรู้อะไรและนำพาคุณไปสู่อะไรบ้าง

บางทีการเก็บง่ายๆ อาจพาคุณไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ อย่างการต่อยอดวงการศิลปะไทยให้เติบโต

 


The Collector Family

เป็นที่รู้กันว่านอกจาก ณ สยาม แกลเลอรี่จะเก็บของสะสมของมัญชุสา อย่างอาร์ตทอยและงานประติมากรรมของศิลปินไทยแล้ว ที่นี่ยังมีพระพุทธรูปซึ่งเป็นของสะสมของสุนทรผู้เป็นสามี และมีคอลเลกชั่น Monster High ของน้องอิ่มบุณ ลูกสาววัย 11 ขวบ

ท่ามกลางของสะสมนับร้อยพัน เราขอให้ทั้ง 3 เลือกชิ้นที่ตัวเองโปรดปรานและผูกพันที่สุดมาให้ดู ซึ่งก็คือ 3 ชิ้นต่อไปนี้นั่นเอง

 

อาร์ตทอยแบร์บริก KAWS ของคุณแม่มัญชุสา 

“แบร์บริกเป็นตุ๊กตาสัญชาติญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ตัวที่เราชอบที่สุดคือแบร์บริกของ KAWS ตัวนี้เป็นตัวแรกที่ทำให้เราได้รู้จักศิลปินเขาเลย เราชอบเอกลักษณ์ดวงตารูปกากบาท ที่เขาได้แรงบันดาลใจจากคนเมามาทำเป็นคาแร็กเตอร์ของเขาตัวนี้”

 

พระพุทธรูปของคุณพ่อสุนทร

“พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตอนที่ทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรฯ เมื่อปี 2499 มีพิธีเททองหล่อพระบูชาในสมัยนั้น มีประวัติว่าพระพุทธชินสีห์เป็นพระประธานในโบสถ์ จะสร้างไม่เกิน 85 องค์ ปัจจุบันผมได้มาแล้ว 3 องค์เลยกลายเป็นชิ้นที่ผมชอบที่สุด”

 

Cleo de Nile จาก Monster High ของน้องอิ่มบุณ 

“Cleo de Nile เป็นมัมมี่จากอียิปต์ เขาอยู่ในเจเนอเรชั่นที่ 1 ของ Monster High และตัวละครที่หนูชอบเป็นพิเศษ หนูเคยแต่งตัวเป็นเขาไปประกวดการแต่งตัวที่จัดในธีม Monster High เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วด้วย”


ณ สยาม แกลเลอรี่

เปิดทุกวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 09:30-18:00 น
address: ซอยลาดพร้าว 122-124 แยก 1
line: nav.cx/7rFeUY0
tel: 02-514-0600, 082-559-1444

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐนิช ชนะฤทธิชัย

ช่างภาพสาวร่างเล็ก อดีต a team junior 11 ผู้หลงใหลความทรงจำในภาพถ่ายและสนุกกับการแต่งตัวเป็นที่สุด เจ้าของ instagram @mochafe