Milkman ความปกติของการกดขี่ทางเพศในสังคมไม่ปกติ

วันที่บางคน แม็คบางคนจ่อปืนลงตรงที่อกฉัน เรียกฉันว่าอีร่านและขู่ที่จะยิงฉัน เป็นวันเดียวกับที่คนส่งนมตายคือประโยคเปิดเรื่องของ Milkman นวนิยายของ Anna Burns นักเขียนชาวไอริชเหนือที่เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพิ่งจะคว้ารางวัล Man Booker Prize ไปหมาดๆ

หากลองพิจารณาจากประโยคเปิดเรื่อง สิ่งหนึ่งที่คุณอาจสงสัยคือบางคน แม็คบางคนหมายถึงอะไร สารภาพว่าในทีแรกผมก็งงอยู่เหมือนกัน ยิ่งพอภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘Somebody McSomebody’ ก็ยิ่งชวนให้สับสนเข้าไปใหญ่ แต่หลังจากที่ได้อ่านไปเรื่อยๆ ผมถึงพอเข้าใจว่า บางคน แม็คบางคน คือชื่อของตัวละครที่ผู้เขียนจงใจจะไม่เปิดเผยนั่นเอง

ก่อนที่จะพูดกันถึงเรื่องเนื้อเรื่อง อย่างหนึ่งที่ต้องรู้ก่อนคือการไม่เปิดเผยชื่อจริงคือโครงสร้างสำคัญของ Milkman เพราะไม่ใช่แค่ บางคน แม็คบางคน ที่เราจะไม่รู้ชื่อจริงเท่านั้น แต่ตัวละครอื่นๆ ในเรื่องต่างก็ไม่ปรากฏชื่อจริงให้เราได้รับรู้ อาศัยเพียงการกล่าวถึงเอกลักษณ์ จุดเด่น หรือสถานะของบุคคลนั้นๆ เพื่อสร้างความเป็นปัจเจกให้แต่ละตัวละคร

เรื่องราวของ Milkman ถูกเล่าผ่านน้ำเสียงของน้องสาวคนกลางเด็กสาววัย 18 ผู้มีพฤติกรรมชอบเดินอ่านหนังสือ (เธอบอกกับผู้อ่านว่า หนังสือที่อ่านจะต้องเป็นวรรณกรรมของศตวรรษที่ 19 เท่านั้น เพราะเธอไม่ชอบศตวรรษที่ 20) อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่น้องสาวคนกลางกำลังเดินอ่านวรรณกรรมเรื่อง Ivanhoe ไปเรื่อยๆ ชายแปลกหน้าวัย 41 ที่รู้จักกันในชื่อคนส่งนมก็จอดรถของเขาลงข้างๆ พลางอาสาจะขับไปส่งให้ถึงบ้าน แต่เพราะไม่รู้ว่าเขาคือใคร ทั้งยังไม่วางใจในคำเชิญชวนที่ดูจะมีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง การพบกันครั้งนั้นสิ้นสุดลงที่น้องสาวคนกลางยืนยันว่าจะเดินอ่านหนังสือต่อ ซึ่งคนส่งนมก็ยินดีจะขับรถจากไปอย่างว่าง่าย

เป็นหลังจากที่ทั้งสองเจอกันครั้งแรกที่น้องสาวคนกลางเริ่มรู้สึกว่าถูกคนส่งนมติดตามไปทุกที่ เธอพบเขาระหว่างวิ่งออกกำลังกายในยามเย็น และเธอก็ได้ยินเสียงกดชัตเตอร์ปริศนาที่คิดว่าน่าจะกำลังลอบตามถ่ายเธออยู่ แต่ที่ร้ายที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องที่ว่า การพบกันเพียงไม่กี่ครั้งของทั้งสองได้สร้างข่าวลือว่าน้องสาวคนกลางกำลังมีสัมพันธ์ลับๆ กับคนส่งนมไปเสียอย่างนั้น

Anna Burns ไม่เคยระบุชัดว่าเรื่องราวของ Milkman เกิดขึ้นที่ไหน เพราะเช่นเดียวกับที่ชื่อของตัวละครไม่เคยปรากฏให้ได้รู้ ชื่อของเมือง หรือกระทั่งชื่อประเทศเองก็ไม่เคยถูกกล่าวถึง แต่จากรายละเอียดยิบย่อยของเหตุการณ์ต่างๆ ที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นจริง เราจึงอนุมานได้ว่าฉากหลังของนวนิยายเรื่องนี้เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือระหว่าง ‘The Troubles’ (.. 1968 – 1998) ช่วงเวลาแห่งความรุนแรงที่กองทัพกู้ชาติไอริช หรือ IRA (Irish Republican Army) ซึ่งต้องการจะรวมไอร์แลนด์เหนือและไอร์แลนด์ที่ถูกอังกฤษแบ่งจากกันใน .. 1921 ให้เป็นหนึ่งอีกครั้ง เป็นช่วง The Troubles นี่เองที่ IRA ได้ก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง ความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านอังกฤษได้นำไปสู่ความรุนแรงที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ภายใต้บรรยากาศของความรุนแรงและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างฝั่งที่สนับสนุน IRA และต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือรวมเป็นหนึ่งเดียวกับไอร์แลนด์ กับฝั่งที่สนับสนุนอังกฤษที่วิตกกัลวลและหวาดระแวงจนกลายเป็นสภาวะปกติของตัวละครใน Milkman เช่นเดียวกับที่ข่าวลือ คำนินทา และการว่าร้าย ก็เสมือนเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างชินชา เพราะไม่มีใครวางใจซึ่งกันได้อีกต่อไป

ในช่วงหนึ่งของหนังสือ น้องสาวคนกลางพูดไว้ว่าการต้องเติบโตขึ้นในสังคมขนหัวลุกที่กฎกติกาพื้นฐานคือ หากคุณไม่ได้รับการแตะเนื้อต้องตัวอย่างรุนแรง และไม่มีวาจาหยามเหยียดใดๆ พ่นใส่คุณ เช่นนั้นจะถือว่าคุณถูกข่มขู่จากสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ได้อย่างไรล่ะประโยคนี้เองที่ไม่เพียงจะแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกผิดปกติที่น้องสาวคนกลางมีต่อสภาพสังคมที่เธออาศัยอยู่เท่านั้น หากยังสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจที่ปรากฏในรูปแบบของสามัญสำนึก (common sense) โดยเฉพาะเมื่อที่อำนาจนั้นๆ มีสภาพเป็นการกดทับและลิดรอนสิทธิที่จะแสดงความรู้สึกใดๆ ของผู้หญิงในสังคม เพียงเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเธอไม่ได้ปรากฏในลักษณะที่รุนแรงระดับเดียวกับที่สามัญสำนึกกำหนดไว้

หากเราลองย้อนกลับไปที่การพบกันครั้งแรกระหว่างน้องสาวคนกลางกับคนส่งนมจะเห็นว่า แม้จะไม่ได้มีการแตะเนื้อต้องตัวอย่างรุนแรงหรือการใช้ภาษาที่เป็นไปในทางหยามเหยียดแต่อย่างใด ทว่าน้องสาวคนกลางกลับรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม อึดอัด และไม่สบายใจต่อท่าทีของชายแปลกหน้าวัยกลางคนที่อยู่ๆ ก็มาพูดจาหว่านล้อม แต่ถ้าเรายึดตามกฎกติกาพื้นฐานของสังคมนี้ แน่นอนว่าการพบเจอกันของทั้งคู่ย่อมไม่ถือว่าน้องสาวคนกลางถูกข่มขู่แต่อย่างใด เพราะไม่มีการความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น ทว่าคำถามที่ตามมาคือ เช่นนี้แล้วความรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามของน้องสาวคนกลางจะไม่ถือเป็นความจริงไปโดยทันทีเลยหรือ

Anna Burns ตั้งคำถามเดียวกันนี้ต่อสภาพสังคมไอร์แลนด์เหนือในช่วงเวลานั้น ที่นอกจากผู้คนจะไม่ไว้ใจกันเองและคอยแต่จะลดทอนคุณค่าซึ่งกันและกันเพราะต่างก็คิดว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรูแล้ว สภาวะสงครามยังคอยยกชูให้อำนาจของเพศชายเข้มข้นยิ่งขึ้น แต่ก็เช่นเดียวกับที่เธอเองก็โยนคำถามเดียวกันต่อความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน เพราะแม้บางคนอาจรู้สึกว่าสังคมที่เราอยู่นับวันจะยิ่งมีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น แต่การคุกคามทางเพศต่อผู้หญิงก็ยังคงมีให้เห็นในหลายระดับ #MeToo คือหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เพียงแต่ถูกอำนาจของเพศชายปิดซ่อนไว้ และซึ่ง Milkman เองก็สะท้อนให้เห็นถึงการที่สังคมหนึ่งยินยอมให้การคุกคามทางเพศใดๆ ต่อผู้หญิงเกิดขึ้นได้ เพียงเพราะกฎกติกาของสังคมนั้นกำหนดระดับของความรุนแรงไว้โดยไม่คิดจะคำนึงหรือพยายามจะทำความเข้าใจความรู้สึกของเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำแม้แต่น้อย

Milkman ยังแสดงให้เห็นถึงสังคมที่พร้อมจะกล่าวโทษเหยื่อในทันทีโดยที่ไม่พิจารณาถึงผู้กระทำแม้แต่น้อย อย่างที่เรามักจะเห็นอยู่บ่อยๆ ในข่าวที่ผู้หญิงโดนลวนลามหรือข่มขืน แต่ผู้คนก็มักจะมารุมด่าเหยื่อว่าแต่งตัวโป๊บ้างล่ะ ยอมไปนอนห้องเดียวกับผู้ชายโดยลำพังบ้างล่ะ ทั้งที่นั่นควรเป็นเรื่องของผู้ชายต่างหากที่ต้องรับผิดชอบต่อการสะกดกลั้นตัณหาและอารมณ์ของพวกเขาให้ได้ ไม่ปลดปล่อยออกมาเพื่อสร้างบาดแผลให้กับผู้อื่น อย่างที่คนส่งนมเองเลือกที่จะติดตามน้องสาวคนกลางไปเรื่อยๆ เพียงเพราะเกิดชอบใจ แต่เมื่อเกิดเสียงซุบซิบนินทา ผู้ที่ต้องรับเคราะห์กลับไม่ใช่คนส่งนมที่เป็นผู้ชาย หากเป็นน้องสาวคนกลางที่ต้องตกเป็นจำเลยของสังคมแทน เพียงเพราะว่าเธออายุน้อยกว่าและเป็นผู้หญิง พูดอีกอย่างคือ น้องสาวคนกลางกลายสภาพเป็นผู้ไร้เสียงที่คำพูดใดๆ จากเธอกลายเป็นเรื่องไร้น้ำหนักไปโดยทันที

Anna Burns เลือกจะปิดบังชื่อจริงของตัวละครและสถานที่ในเรื่องเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Milkman ไม่ได้จำเพาะเจาะจงอยู่แค่ในโลกของนวนิยายที่เธอแต่งขึ้นมา แต่การคุกคามทางเพศล้วนเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ในโลกแห่งความเป็นจริง คำถามที่ว่าแล้วความรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามของน้องสาวคนกลางจะไม่ถือเป็นความจริงไปโดยทันทีเลยหรือจึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่กับตัวละครในเรื่องเท่านั้น เพราะในทุกๆ วัน คำถามเดียวกันนี้ย่อมอาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงอีกนับไม่ถ้วนที่ต้องกลายเป็นเหยื่ออำนาจของเพศชาย หากน้องสาวคนกลางคือตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกกระทำ คนส่งนมเองก็คือตัวแทนของเพศชายที่เชื่ออย่างเป็นตุเป็นตะว่า ผู้หญิงทุกคนล้วนสามารถเป็นของเล่นหรือทรัพย์สินในครอบครองของพวกเขาได้ และอำนาจของเพศชายก็เป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือท้าทายได้แม้แต่น้อย

AUTHOR