Finding Sisu : หนังสือที่บอกว่าความสุขมาจากเรื่องยากๆ ในชีวิต

ชื่อหนังสือ : Finding Sisu เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว
ผู้เขียน : Katja Pantza
ผู้แปล : กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์
สำนักพิมพ์ : openbooks

 

1.

ตั้งแต่ทำงานที่ a day มา วันนี้นับเป็นครั้งที่สองที่ฉันเดินขึ้นบันไดเพื่อมายังออฟฟิศบนชั้น 5 ของอาคารเตรียมชาญชัย

ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อราว 8 เดือนก่อน ฉันลองเดินขึ้นบันไดเพราะเห็นรุ่นพี่สายฟิตแอนด์เฟิร์มเดินขึ้น-ลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์เป็นประจำ

สาเหตุที่ครั้งแรกและครั้งที่สองห่างกันขนาดนี้ เพราะในครั้งแรก กว่าจะถึงชั้น 5 ฉันก็หอบไปถอดใจไป บอกตัวเองว่าไม่เอาอีกแล้ว

แต่สาเหตุที่ยังมีครั้งที่สองเพราะฉันเพิ่งอ่านหนังสือเรื่อง Finding Sisu เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว จากหนังสือที่หนากว่า 300 หน้า ประโยคหนึ่งที่ฉันติดใจและจำได้แม่นคือ ‘คุณต้องไม่เลือกทางที่ง่ายที่สุดเสมอไป’ หรือหากคัดมาอย่างครบถ้วนคือ

‘แม้รากของ ซิสุ จะมาจากความมุ่งมั่นและเน้นการลงมือปฏิบัติแบบชาวนอร์ดิกที่อยู่ในดินแดนอันหนาวเย็น แต่ทุกคนสามารถค้นพบ ซิสุ ในแบบของตัวเองได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด นี่หมายความว่า คุณต้องไม่เลือกทางที่ง่ายที่สุดเสมอไป’

ประโยคนี้แหละ ที่ผลักดันให้ฉันเดินหอบขึ้นบันได แทนที่จะเลือกทางที่ง่ายกว่าอย่างการขึ้นลิฟต์

Finding Sisu

 

2.

กัตเทีย พันต์ซาร์ ผู้เขียน Finding Sisu เกิดในครอบครัวชาวฟินน์ที่อพยพไปอยู่แคนาดา เมื่อเธอตัดสินใจย้ายไปทำงานที่ฟินแลนด์ สถานะคนในก็ไม่ใช่ คนนอกก็ไม่เชิง ทำให้เธอมองฟินแลนด์ผ่านสายตาเฉพาะของตัวเอง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เตะตาเธอมากคือ ซิสุ ปรัชญาการใช้ชีวิตแบบฉบับชาวฟินน์ที่ปรากฏชัดในทุกภาคส่วนของสังคม

เกือบครึ่งใน Finding Sisu จึงเป็นการเดินทางตามหาความหมายของซิสุ (ตามชื่อหนังสือเป๊ะๆ) ซึ่งสามารถนิยามได้กว้างๆ ว่า ‘ซิสุคือความสามารถในการก้าวต่อไปในยามที่ยากลำบาก คือการใช้ชีวิตที่เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ และก้าวข้ามผ่านสิ่งที่เคยคิดว่าเป็นข้อจำกัด’

ด้วยยึดอาชีพนักข่าวอิสระ พันต์ซาร์จึงพาเราไปพบกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ตั้งแต่นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องซิสุโดยตรง ไปจนถึงคนที่ฝึกฝนซิสุในด้านต่างๆ เช่น นักว่ายน้ำหน้าหนาวมืออาชีพ ผู้ริเริ่มวันซาวน่าเฮลซิงกิ และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้เธอยังให้ข้อมูลจำนวนมากจากผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

แต่ไม่ใช่เพราะคนดัง ตัวเลข หรือชุดข้อมูล ที่โน้มน้าวให้ฉันเดินขึ้นบันไดสำเร็จหรอกนะ สิ่งที่ฉันประทับใจอย่างมากในหนังสือเล่มนี้คือความเปิดเผยและความจริงใจของพันต์ซาร์ต่างหาก

ตั้งแต่ต้นเล่มเธอก็เปิดใจว่ารู้สึกเหมือนเป็นคนนอกมาตั้งแต่เด็ก ทำความรู้จักโรคซึมเศร้าตั้งแต่วัยรุ่น เพิ่งจะในวัยกลางคนนี่เองที่เธอรักและยอมรับตัวเองได้อย่างแท้จริง

แน่นอนว่าเธอเดินทางมาพบความสุขและสงบนิ่งในชีวิตได้ก็เพราะตัดสินใจออกไปตามหาซิสุและปัจจัยที่ช่วยดำรงซิสุไว้ รวมทั้งฝึกฝนซิสุในชีวิตประจำวันนั่นเอง

Finding Sisu

 

3.

ระหว่างอ่านมีหลายครั้งที่ฉันคิดในใจว่า ‘จะบอกทำไม ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วนี่’ เพราะวิถีการใช้ชีวิตอย่างมีซิสุและมีความสุขตามที่พันต์ซาร์แนะนำนั้นออกจะธรรมดาสามัญ เป็นต้นว่า ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะการออกกำลังกายทางอ้อมอย่างการเดินขึ้นบันไดหรือการทำงานบ้าน ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่อดอาหาร หรือทดลองวิธีการไดเอทแบบแปลกๆ หาวิธีใช้เวลาในสวนสาธารณะหรือป่าเขาลำเนาไพรเพื่อพักผ่อนกายใจ

เห็นไหม ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วนี่

แต่ประเด็นคือ เรารู้อยู่แก่ใจ แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติน่ะสิ

พันต์ซาร์ใช้ตัวเองเป็นตัวอย่างว่า เธอเติบโตในประเทศแคนาดาซึ่งเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายมาก แต่กลับไม่เคยหาเวลาไปซึมซับธรรมชาติแม้แต่นิด ต่อเมื่อย้ายมาอยู่ฟินแลนด์ที่ซึ่งการใช้เวลาวันหยุดสุดสัปดาห์ในกระท่อมกลางป่าเป็นเรื่องปกติ เธอถึงจะได้ใช้ชีวิตเชื่อมโยงกับธรรมชาติกับเขาเสียที

สรุปว่ารู้แล้วต้องลงมือปฏิบัติด้วย ถึงจะครบถ้วนกระบวนการ  

Finding Sisu

4.

แม้หลายอย่างที่พันต์ซาร์หยิบยกมาจะเป็นสิ่งที่ ‘ฟินน์สุดๆ’ อย่างการว่ายน้ำหน้าหนาว การใช้เวลาพบปะพูดคุยกับผู้คนในซาวน่า การเดินป่าเพื่อเก็บเห็ดและเบอร์รี รวมถึงปั่นจักรยานไป-กลับที่ทำงานทุกวัน ฉันก็ยังพยายามเปรียบเทียบกับบริบทของประเทศไทยไปด้วย เพราะอยากรู้ว่าปรับอะไรมาใช้กับตัวเองได้บ้าง

ว่ายน้ำหน้าหนาว-เปลี่ยนเป็นอาบน้ำเย็นทุกวัน ก็น่าจะเข้าที

เข้าซาวน่า-ถ้าไม่ได้สมัครสมาชิกฟิตเนส ก็คงไม่ได้เข้าแฮะ

เดินป่าเพื่อเก็บของป่า-กลัวจะถูกจับน่ะสิ

ปั่นจักรยานไปทำงาน-คิดถึงทางจักรยานที่กลายเป็นพื้นที่ขายของแล้วก็หน่ายใจ

ยิ่งเปรียบเทียบก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองทำตามวิถีคนมีซิสุและมีความสุขได้ยากจัง

ก่อนจะถึงบางอ้อ (ที่หลายคนคงคิดได้ตั้งแต่ก่อนอ่าน) ว่า จริงสิ ฟินแลนด์คือหนึ่งในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดในโลก ความเสมอภาคเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริงๆ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน การศึกษาอันดับหนึ่งของโลก สิทธิในการลาคลอดที่พิเศษกว่าประเทศไหนๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้พันต์ซาร์ก็พูดถึงแล้วล่ะในฐานะปัจจัยที่ทำให้ชาวฟินน์มีซิสุได้

คำถามคือ จะเป็นไปได้ไหมที่ฉัน ผู้อยู่ในบ้านเมืองแบบที่เรารู้ๆ กัน จะเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ มานะอุตสาหะ และพบความสุขแบบชาวฟินน์ได้บ้าง

Finding Sisu

5.

ระหว่างที่เดินขึ้นบันไดเพื่อมายังออฟฟิศ a day บนชั้น 5 ของอาคารเตรียมชาญชัย ฉันครุ่นคิดถึงคำตอบของคำถามนั้น

แน่นอนว่าซิสุหนึ่งที่ฉันทำได้คือเลือกเดินขึ้นบันได ซิสุสองคงเป็นการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนซิสุถัดจากนั้นฉันคงต้องขวนขวายหน่อย เช่น ย้ายบ้านไปอยู่ใกล้สวนสาธารณะสักสวน เก็บเงินซื้อบ้านหลังโตที่มีพื้นที่ทำสวนขนาดย่อม หรือเลือกที่อยู่อาศัยที่มีเส้นทางขี่จักรยานไปทำงานได้ แต่เมื่อคิดถึงซิสุถัดจากนั้นดวงตาฉันก็เริ่มมืดมน

ถึงอย่างนั้นก็อดคิดไม่ได้ว่า ในเมื่อซิสุคือ ‘ความสามารถในการก้าวต่อไปในยามที่ยากลำบาก’ แสดงว่าคนไทยเราก็มีซิสุและมีความสุขอยู่แล้วหรือเปล่านะ เพราะสำหรับฉันการก้าวต่อไปหลังจากเหยียบกระเบื้องผิดแผ่นแล้วน้ำกระเซ็นใส่ก็น่าชื่นชมไม่แพ้การก้าวต่อไปหลังจากถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้านี่นา

คิดได้ดังนั้นฉันก็สบายใจขึ้น เลิกก่นด่าความเส็งเคร็งในมิติต่างๆ ของประเทศ แล้วหันมาขอบคุณที่สร้างโอกาสให้ฉันได้ฝึกซิสุเป็นประจำทุกวัน

ต่อไปนี้ฉันเดินขึ้นบันไดทุกวันก็ยังได้ เพราะนี่เป็น ‘ทางที่ไม่ง่าย’ ที่ง่ายที่สุดในชีวิตฉันแล้วล่ะ

 

5.

ระหว่างที่เดินขึ้นบันไดเพื่อมายังออฟฟิศ a day บนชั้น 5 ของอาคารเตรียมชาญชัย ฉันครุ่นคิดถึงคำตอบของคำถามนั้น

แน่นอนว่าซิสุหนึ่งที่ฉันทำได้คือเลือกเดินขึ้นบันได ซิสุสองคงเป็นการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนซิสุถัดจากนั้นฉันคงต้องขวนขวายหน่อย เช่น ย้ายบ้านไปอยู่ใกล้สวนสาธารณะสักสวน เก็บเงินซื้อบ้านหลังโตที่มีพื้นที่ทำสวนขนาดย่อม หรือเลือกที่อยู่อาศัยที่มีเส้นทางขี่จักรยานไปทำงานได้ แต่เมื่อคิดถึงซิสุถัดจากนั้นดวงตาฉันก็เริ่มมืดมน

ถึงอย่างนั้นก็อดคิดไม่ได้ว่า ในเมื่อซิสุคือ ‘ความสามารถในการก้าวต่อไปในยามที่ยากลำบาก’ แสดงว่าคนไทยเราก็มีซิสุและมีความสุขอยู่แล้วหรือเปล่านะ เพราะสำหรับฉันการก้าวต่อไปหลังจากเหยียบกระเบื้องผิดแผ่นแล้วน้ำกระเซ็นใส่ก็น่าชื่นชมไม่แพ้การก้าวต่อไปหลังจากถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้านี่นา

คิดได้ดังนั้นฉันก็สบายใจขึ้น เลิกก่นด่าความเส็งเคร็งในมิติต่างๆ ของประเทศ แล้วหันมาขอบคุณที่สร้างโอกาสให้ฉันได้ฝึกซิสุเป็นประจำทุกวัน

ต่อไปนี้ฉันเดินขึ้นบันไดทุกวันก็ยังได้ เพราะนี่เป็น ‘ทางที่ไม่ง่าย’ ที่ง่ายที่สุดในชีวิตฉันแล้วล่ะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พนิดา มีเดช

กราฟิกดีไซเนอร์นิตยสาร a day ผู้มักตื่นสาย แต่หลงใหลแสงแดดยามเช้า และข้าวสวยร้อนๆ