My life as Ali Thomas วงที่โรแมนติกบางเวลาและเชื่อว่า ‘ความรักทำให้เจ็บปวดจนร่ำร้องมาเป็นเพลง’

“Passion and Love” เธอว่า

“It’s always about love. Because love is enough to hurt you, to make you sing”

เจ้าของประโยคด้านบนคือ พาย–กัญญภัค วุธรา นักร้องนักแต่งเพลงของวง My life as Ali Thomas วงดนตรีซึ่งมีสมาชิกหลักอีกสองคนคือ แร็ก–วิภาต เลิศปัญญา และ ตาว–วรรณพงศ์ แจงบำรุง

พายไม่ได้จู่ๆ ก็โยนคำคมภาษาอังกฤษใส่เรา แต่ระหว่างที่นั่งคุยกัน บทสนทนาพาเราไปถึงสิ่งที่ขับเคลื่อนให้พายจับปากกาเขียน นั่นคือความหลงใหลและความรัก ทั้งรักในความหมายของความสัมพันธ์ และรักในการงานของตัวเอง

สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เธอซื่อสัตย์ด้วย และเป็นเหตุผลที่ทำให้วงดนตรีสัญชาติไทย แต่มีเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษนี้ เลือกที่จะไม่ประนีประนอมกับ ‘ตลาดเพลง’ หรือความต้องการของใครๆ นอกเหนือไปจากสมาชิกวงทั้ง 3 คน

ในบทสัมภาษณ์นี้ เราพูดคุยกันถึงอัลบั้มที่ 2 ของพวกเขา รวมไปถึงสีสันของดนตรีที่ไม่คุ้นหู ซึ่งเกิดจากความต้องการที่จะแต่งเติมเฉดใหม่ๆ ลงไปในจานสีที่เรียกว่าวงการดนตรีไทย แต่หากถามว่า My life as Ali Thomas อยากแบกเอาภารกิจนี้ไว้เป็นภาระติดตัวหรือไม่ เราทึกทักเอาเองว่าไม่ มันอาจเป็นเพียงความต้องการของคนที่อยากถางเส้นทางใหม่ของตัวเอง เพื่อตัวเอง และบอกกับโลกว่ามันมีพื้นที่นี้อยู่เท่านั้น

ฟังดูเป็นเรื่องโรแมนติก เราก็เลยถือโอกาสถามพายดูว่าเธอเป็นคนโรแมนติกไหม คำตอบที่ได้คงช่วยเล่าบุคลิกบางแบบของเธอและความหรรษาในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ให้ผู้อ่านได้สัมผัสบ้าง

“มันแล้วแต่วันเว้ย เราไม่สามารถเหมาว่าตัวเองเป็นคนแบบนั้นได้ เพราะไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกวัน”

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งเวลาที่อยู่บนเวที วันนี้เปลี่ยนไปไหม

ตาว : ก็ยังตื่นเต้นเหมือนเดิม เราตื่นเต้นตลอดไม่ว่าจะเป็นเวทีเล็ก เวทีใหญ่ หรือที่ไหนก็ตาม

แร็ก : อาจจะเป็นเพราะว่าสถานที่ที่เราไปมันไม่ซ้ำกันด้วย สำหรับเรามันคือการที่ต้องทำโชว์ออกมาให้ดีที่สุดอยู่เสมอ เราตื่นเต้นเพราะสิ่งนี้มากกว่า

การซ้อมมีผลไหม

พาย : มี ก็เลยตื่นเต้นเพราะไม่ค่อยได้ซ้อม (หัวเราะ) เอาจริงๆ พวกเราก็ซ้อมกันตลอดนะแต่บางครั้งมันเป็นเรื่องคิวด้วย เช่น ถ้ามีโชว์ในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้าแต่ในระหว่าง 2 อาทิตย์นั้นคิวเราไม่ตรงกันเลย เราก็อาจจะไม่ได้ซ้อม เจอกันอีกทีก็คือบนเวทีเลย มันก็จะตื่นเต้น

ตาว : นอกจากนี้ก็อาจจะเกี่ยวกับการที่เราเปลี่ยนลิสต์เพลงบ่อยแล้วก็ rearrange เพลงตัวเองเกือบทุกโชว์ 

พาย : คนที่เคยดูเราเล่นแล้วมาดูอีกรอบก็อาจจะไม่เหมือนเดิมเลยแม้ว่าจะเป็นเพลงเดิมก็ตาม

ทุกครั้งที่ rearrange เพลง ใครเป็นคนคอยดูว่ามันโอเคแล้วหรือยัง

พาย : ช่วยๆ กันดู แต่หลักๆ คือการทดสอบจริงบนเวที บางทีตอนซ้อมเราอาจจะรู้สึกว่าเฮ้ย เจ๋งว่ะ แต่พอเราเอาขึ้นไปเล่นบนเวทีแล้วฟีลมันไม่ได้ ความรู้สึกตอนเล่นไม่จูน พอลงมาก็พูดพร้อมกันว่าเออ ไม่เวิร์กว่ะ นี่ก็เป็นหนึ่งเหตุผลที่เราลองแก้ ลองปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ ทุกโชว์

อัลบั้มใหม่ของวงมีความท้าทายและเรื่องเล่าแบบไหน 

พาย : ความท้าทายของอัลบั้มนี้คือการทำสิ่งที่เราไม่เคยได้ทำ มันมีหลายอย่างมากเลย เช่น เรื่องการเขียนเพลง เราก็ไม่ค่อยแน่ใจหรอกว่าโครงสร้างการเขียนเพลงอย่าง เวิร์ส ฮุก เวิร์ส แบบปกติมันป็นยังไงเพราะว่าเราไม่ค่อยได้เขียนเพลงในฟอร์มปกติขนาดนั้นอยู่แล้ว ซึ่งเราเข้าใจว่าจริงๆ แล้วท่อนฮุกมันคือก้อนที่ต้องทำหน้าที่ดึงดูดความสนใจของคน เราก็เลยคิดต่อว่ามีอย่างอื่นที่สามารถมาแทนท่อนฮุกได้ไหมโดยที่ยังมีฟังก์ชั่นดึงดูดคนฟังเหมือนเดิม จากนั้นเราเลยใช้คำถามที่มีต่อโครงสร้างของเพลงมาทำอัลบั้มนี้

จริงๆ มันอาจจะเหมือนเวลาเราอยากทำอาหารสักเมนูหนึ่งแต่เราแทนเนื้อสัตว์ด้วยเต้าหู้เพราะรู้สึกว่าเราเบื่อกับอะไรเดิมๆ รูปแบบเดิมๆ แล้วก็รู้สึกว่าทำไมไม่มีใครทำอะไรใหม่ๆ เลย เราเป็นคนขี้เบื่อแล้วก็หงุดหงิดด้วยว่าทำไมไม่มีใครทำอะไรใหม่ๆ

อะไรที่ทำให้วงอยากลองทำอะไรที่ต่างออกไป

พาย : คนชอบบอกว่าคนส่วนใหญ่เขาไม่ฟังอะไรแปลกๆ หรอก เราบอกว่าก็ใช่ แต่บางทีเขาอาจจะไม่ได้ฟังเพราะว่าเราทำให้เขาแค่นี้ เขาไม่มีตัวเลือก เราทำเพลงแบบนี้ออกมาไม่ใช่เพราะว่าไม่มีใครทำมาก่อนแต่เราอยากเพิ่มความหลากหลายในวงการเพลงไทยให้คนฟังมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น  เพลงแบบที่เราได้ฟังบ่อยๆ อาจจะเป็นแนวที่ประสบความสำเร็จและทำเงินได้ ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่าวงการเพลงไทยควรจะมีอะไรมากกว่านั้น ควรจะมีความหลากหลายของแนวดนตรี ต่อให้จะไม่ดังก็ช่างแต่มันควรจะมีสีอื่นบ้าง 

ต้องยอมรับว่าวงดนตรีหลายวงไม่มีโอกาสทำในสิ่งที่เขาอยากทำขนาดนั้น ในเมื่อเรามีโอกาสพอจะได้ทำสิ่งที่อยากจะทำ เราควรจะทำให้กับวงที่ไม่ได้มีโอกาส เราเข้าใจว่ามันมีเรื่องของแฟนคลับหรือเงินทุนต่างๆ ด้วย ซึ่งในเมื่อเรายังพอมีต้นทุนเหล่านั้นและมีโอกาสได้ทำมันเป็นครั้งที่สอง เราก็เลยเลือกทำสิ่งที่ไม่เคยได้ทำดีกว่า

ได้ยินว่าเพลง RINN เป็นเพลงที่ ‘ปราศจากความหมาย’ นิยามนี้มันจริงไหมสำหรับวง

พาย : มันมีเรื่องที่จะสื่อสารออกไปนะแต่อาจจะไม่ตรงไปตรงมาเท่าไหร่ สำหรับเราเพลงนี้เป็นเหมือนเวลาที่คนมาถามเราว่า “ทำไมต้องทำอย่างนี้” “ทำไมต้องเป็นอย่างนั้น” เราก็จะคิดว่า แล้วทำไมเราต้องเป็นอย่างที่คุณอยากให้เราเป็นล่ะ

Rinn อาจจะเป็นอารมณ์นั้น คือมีความขบถอยู่ในเพลง Like I’m crazy, but who cares? คือจริงๆ ความหมายของมันอาจจะเป็นเรื่องของฮอร์โมนส์ ทำอะไรเพราะอยากทำเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าเพราะอะไรถึงทำ ซึ่งพายคิดว่าความรู้สึกอะไรแบบนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ดีนะ คือถ้ามีก็ควรจะเก็บไว้ แต่ถ้าไม่มีก็ควรที่จะมีบ้าง ฮอร์โมนตัวนี้ 

ฮอร์โมน RINN นี้มีที่มาที่ไปยังไง

พาย : มันเริ่มมาจากว่ามีแบรนด์หนึ่งมาจ้างเราให้ทำเพลงให้ ซึ่งตอนแรกเนื้อเพลงยังไม่ค่อยมีความหมายมาก เน้นความคูล แต่พอเอาไปให้เขาฟังเขาก็ยังไม่ชอบ เราก็โอเคไม่เป็นไร ก็เขียนเพลงใหม่ให้เขาแล้วเอาเพลงนั้นกลับมา 

เราแค่รู้สึกว่าเราไม่ต้องไปยัดเยียดหรือพยายามให้เขายอมรับสิ่งที่เขาไม่ชอบก็ได้ ทีนี้พอทำอัลบั้มก็เลยเอาเพลงนี้มาทำใหม่แล้วใส่เนื้อหาที่มีมุมมองและทัศนคติของเราลงไปเพิ่ม

RINN เป็นเพลงในอัลบั้มใหม่ที่เล่าถึงความขบถ เซนส์นี้ทำให้เพลงของวงดูมันส์ขึ้น ร็อกขึ้น ดุดันขึ้น นี่คือความท้าทายใหม่ๆ ที่พูดถึงด้วยมั้ย

พาย : ก็ใช่ พายคิดว่าเพลงมันก็มีหลายสี ที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ค่อยทำเพลงสีนี้เท่าไหร่เลยอยากลองทำบ้าง ซึ่งถ้าได้ลองฟังอัลบั้มของเราก็จะพบว่ามีสีอื่นอีกมากมายที่คนฟังอาจจะไม่คุ้นชิน แต่ทั้งหมดก็ยังคงเป็นดนตรีสไตล์ในแบบของพวกเรา

ตาว : เหมือนอัลบั้มแรกมันจะมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่ายังไม่สุดเนอะ

พาย : พอเราได้ทำอัลบั้มที่ 2 อาจจะด้วยโปรดิวเซอร์ที่เขาซัพพอร์ตเราในทุกๆ แบบที่เราอยากเป็นก็เลยรู้สึกว่า fuck it! ก็ทำเลยดิ

พาแฟนเพลงของวงไปเจอสีใหม่ๆ บ้าง

พาย : ใช่ แต่ก็เพื่อตัวเราด้วย เราก็ไม่ได้ทำเพื่อเสิร์ฟคนดูขนาดนั้น อย่างที่บอกว่าพอเรามีโอกาสเป็นครั้งที่ 2 จะทำแบบเดิมทำไม อัลบั้มนี้จึงเหมือนการถามคนดูว่าเขาเห็นด้วยกับเราไหมมากกว่า 

นอกจากในส่วนของดนตรีแล้ว ส่วนของเนื้อหาเพลงล่ะ

พาย : ก็เป็นเรื่องความรักเหมือนเดิม เราจะเขียนเฉพาะเรื่องที่รู้หรือเคยสัมผัสมา เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่ควรจะเขียนอะไรที่เราไม่รู้จักมัน ซึ่งส่วนใหญ่มันก็จะไม่พ้นเรื่องความรัก ความฝัน ฝันร้าย

พายรู้สึกว่าทุกเพลงบนโลก It’s always about love. Because love is enough to hurt you, to make you sing. คือเรื่องอื่นมันดูไม่ยิ่งใหญ่เท่าความรักอะ เพลงมันเลยถูกเขียนมาเพื่อความรัก

Exclusive with Pie : My life as a songwriter

พายเริ่มเขียนตั้งแต่เมื่อไหร่

พาย : เมื่อก่อนไม่ค่อยเขียนเท่าไหร่เพราะว่าเกลียดการเขียนมากแล้วก็ไม่ค่อยอ่านด้วย เมื่อก่อนเราจะทำอะไรที่ไม่เกี่ยวกับพวกวรรณกรรมหรืออะไรแบบนี้เลย เพราะว่าเป็นคนอ่านหนังสือได้แป๊บเดียว ชอบที่จะดูหนังฟังเพลงมากกว่า

แต่อาจเป็นเพราะว่าตอนเรียนมหา’ลัยเราอยู่กับเพื่อนนักเขียนที่อินกับวรรณกรรมหลายๆ แบบ เขาก็เลยพาเราเข้าไปให้ได้รู้จักกับโลกใบนั้นโดยที่เราไม่ต้องอ่านหนังสือเพราะเขาจะเล่าหรืออ่านให้ฟัง

เรารู้สึกว่าการที่คนเราสามารถบรรยายความในใจที่ดูลึกมากออกมาได้มันเจ๋งมาก เหมือนเราได้เห็นหรือเข้าไปอยู่ในจินตนาการของคนอื่นซึ่งเราไม่เคยไปได้ถึงจุดนี้เพราะไม่เคยอ่านไปถึงหน้าที่ 2 ความทึ่งอันนี้แหละที่น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเริ่มเขียน บวกกับตอนนั้นเล่นดนตรีอยู่แล้วก็เลยเอาสองสิ่งนี้มาผสมกัน

พายเขียนเพลงออกมาจากประสบการณ์ของตัวเองหรือสิ่งที่สังเกตเอาจากคนอื่น

พาย : พายคิดว่าทุกอย่างมาจากตัวเรา สมมติเราสังเกตเห็นต้นไม้แล้วรู้สึกว่าสีมันเขียวจังเลยมันก็คือการเขียนจากตัวเราอยู่ดีเพราะว่าต้นไม้คือสิ่งที่เข้ามาสะท้อนอารมณ์ของเรา เราถึงบอกว่าไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือมาจากสิ่งที่เราสังเกตมันก็คือสิ่งเดียวกัน 

หรือบางครั้งเราเห็นผู้ชายกับผู้หญิงคู่หนึ่งแล้วรู้สึกว่าเขาดูเศร้าจังเลย แต่ความจริงแล้วเขาอาจจะไม่ได้ศร้าก็ได้ ทุกอย่างมันเกิดจากการรับรู้และมุมมองของเราเอง สมมติตอนนี้มีภูเขาไฟระเบิด เราอาจจะเขียนถึงมันว่ามันสวยงามจังเลย แบบนี้ก็ได้ เพราะมันก็คือสิ่งที่เป็นความรู้สึกของเรา เป็นตัวเรา เป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเรา

เวลาอ่านเนื้อเพลงของพายให้ความรู้สึกเหมือนอ่านกวีสักบท นี่เป็นสิ่งที่ตั้งใจไว้อยู่แล้วไหม

พาย : ก็ไม่เชิงว่าเป็นกวีขนาดนั้นแต่เราคิดเสมอว่าเนื้อเพลงของเราจะต้องอ่านแล้วรับรู้ถึงความรู้สึกที่เราอยากสื่อได้โดยที่ไม่ต้องมีดนตรี เวลาเขียนพายเลยใช้วิธีว่า ถ้าเราอ่านแล้วให้ความรู้สึกแบบเดียวกับที่เราต้องการจะสื่อ ก็ถือว่าโอเค งานชิ้นนี้จบแล้ว

คุณใช้เวลาเขียนสักเพลงนานแค่ไหน

พาย : บางเพลงก็เร็วบางเพลงก็ช้า เพลงที่เขียนได้เร็วบางทีก็ลบไปเรื่อย เราลบเพลงตลอดเวลา บางครั้งเขียนเสร็จแล้วรู้สึกว่าเพลงนี้มันเจ๋งมากเลยแต่พอมาอีกวันหนึ่งกลับไปอ่านก็รู้สึกว่านี่เราเขียนอะไรลงไป ซึ่งพายเชื่อว่าถ้าอัลบั้มนี้ไม่มีเดดไลน์เราก็น่าจะยังเขียนๆ ลบๆ อยู่นั่นแหละ จนถึงวันสุดท้ายที่จะอัดเรายังอยากแก้อยู่เลย เหมือนแก้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะพอใจแต่ใจเรามันก็เปลี่ยนไปทุกวัน

เวลาแต่งเพลงพายมีเป้าหมายในการแต่งไหม เช่น แต่งเพื่อปลอบประโลมใจคนเศร้าหรือแต่งเพราะเป็นสิ่งที่อยากจะพูดถึง

พาย : แบบที่สอง คือแต่งเพราะว่ามันเป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ของเราในตอนนั้น  ซึ่งเรารู้สึกว่าคนที่เขาชอบเพลงของเราหรือรู้สึกเชื่อมโยงกับเพลงนั้นๆ ได้เขาก็น่าจะกำลังอยู่ในความรู้สึกเดียวกับตอนที่เราเขียนเพลงออกมา

พอต้องเขียนเพลงเยอะขึ้น input ของพายมาจากที่ไหนบ้าง นอกจากเรื่องของตัวเองหรือเรื่องเล่าของเพื่อน

พาย : ก็มีอ่านหนังสือบ้างทีละ 2-3 หน้า ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยวก็ช่วยได้ มันก็มีเพลงหนึ่งที่เราเขียนได้ตอนไปเที่ยวเกาะกูด ทะเลมีอะไรให้เราเขียนถึงเยอะ ทั้งเรื่องความสวยงาม ความน่ากลัว ความลึก หรืออะไรต่างๆ เรารู้สึกว่าธรรมชาติมันมีอะไรให้เขียนถึงเยอะมาก

อย่างลมนี่ก็รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่สำคัญนะ สมมติว่าเรายืนอยู่บนระเบียง แล้วมีลมวูบหนึ่งพัดมาทำให้เรารู้สึกบางอย่าง ความรู้สึกวูบนั้นมันเป็นความรู้สึกที่เจ๋งมาก เราก็พยายามจะเอาความรู้สึกตอนที่ลมพัดไปเขียนใส่ในเพลง อยากจะถ่ายทอดความรู้สึกตรงนั้นออกมาเพื่อให้คนได้รับรู้ว่ามันคืออะไร นี่คือเป้าหมายในการเขียนเพลงของเรา อยากจะแชร์ให้คนได้เห็นหรือรู้สึกเหมือนกับที่เรารู้สึก อารมณ์เหมือนเด็กได้อวดของเล่นใหม่ให้เพื่อนดู

การทำงานของ My Life As Ali Thomas มีคำว่า target audience อยู่ในกระบวนการทำไหม

พาย : เยส Introvert! เพื่อนเราเอง จริงๆ เรารู้สึกว่ามนุษย์ไม่ได้มีความต่างกันขนาดนั้น เพราะลึกๆ แล้วเราก็มีความเหมือนกันอยู่ ซึ่งพายเชื่อว่าดนตรีของเรามันก็จะเข้าถึงคนที่เหมือนกันกับเรา

พายรู้สึกว่าการทำเพลงของเรามันเหมือนการหาเพื่อน แต่เป็นวิธีแบบลับๆ และเฉพาะตัวมาก ไม่ใช่ว่าเราแปะป้ายประกาศหาใครก็ได้มาเป็นเพื่อน แต่คนที่จะสามารถเป็นเพื่อนเราเท่านั้นถึงจะเข้าใจสิ่งที่เราส่งไป

แสดงว่ามันก็ไม่ใช่ target audience ในเชิงของมาร์เก็ตติ้งล่ะสิ

พาย : สิ่งหนึ่งที่เราคิดกันไว้ตั้งแต่ทำเพลงช่วงแรกๆ คือเราทั้ง 3 คนที่เป็นคนทำต้องชอบมันก่อน แล้วคนอื่นๆ ที่ชอบอะไรเหมือนกันคือสิ่งที่ตามมา ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์เหมือนกันนะ ที่มีคนชอบเหมือนเราเยอะขนาดนี้

ตอนที่ทำวงเราก็ไม่ได้นึกถึงเรื่องแฟนเพลงอะไรขนาดนั้น แต่พอทำไปเรื่อยๆ เราก็ค้นพบว่าแฟนเพลงของเรามีความประหลาด แต่คงประหลาดคล้ายๆ พวกเราอะ ซึ่งเราก็ appreciate ในตัวเขา แล้วเขาก็ appreciate ในตัวเรา เหมือนมีอะไรที่สื่อถึงกันได้ 

มีครั้งหนึ่งที่แฟนเพลงเดินเข้ามาหาเราแล้วเขาก็ไม่พูดอะไรกับเราเลย แต่เขายกมือเราขึ้นมาแล้วก็เอาเข็มกลัดมาใส่มือเราแค่นั้น จำได้ว่าตอนนั้นมันเป็นเข็มกลัดลายเจ้าชายน้อย (The Little Prince) ซึ่งเราก็แบบ โอเค ได้เลย

ถามในฐานะคนเล่าเรื่อง เพลงที่ผ่านๆ มามีเพลงไหนที่เรากลับไปร้องแล้วรู้สึกเขินไหม

พาย : เป็นทุกเพลงเลย คือพอไปร้องแล้วอารมณ์มันไม่ได้แล้วอะ มันเหมือนเราเป็นคนละคนไปแล้ว คือแบบชีวิตอยู่ยากมากเลย แต่ก็ไม่เป็นไรเรายังหาทางที่ไปต่อกับมันได้อยู่

ไปต่อด้วยวิธีไหน

พาย : อย่างที่เล่าว่าวงเรา rearrange เพลงบ่อย ส่วนหนึ่งก็เพราะสาเหตุนี้ด้วย คือปรับเปลี่ยนวิธีเล่าเพื่อให้เข้ากับอารมณ์ของเราในทุกวันนี้ มันเหมือนมาเจอกันครึ่งทางน่ะ ว่าเราจำเป็นต้องร้องเพลงนี้นะ เพราะเราเชื่อว่ายังมีความอยากฟัง แต่เราก็ต้องแฮปปี้ที่จะร้องมันด้วย 

สุดท้ายแล้ว My Life As Ali Thomas เคยตั้งเป้าหมายไว้ไหมว่าอยากจะเป็นอะไรในเมืองไทย

พาย : เอาจริงเป้าหมายของเราก็คือการที่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ แค่นั้นเลย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com