Mustard Sneakers แบรนด์รองเท้าผ้าใบพื้นสีเหลือง ราคาดี ที่ครองใจคนทั้งอินสตาแกรม

‘แบรนด์รองเท้าของคนไทย รองเท้าราคาดีที่แมตช์ได้ทุกลุค’ คือคำนิยามที่บอกเล่าชื่อเสียงของแบรนด์ออนไลน์ยอดฮิต ที่เราเชื่อว่าไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่งชื่อของ Mustard Sneakers คงเคยผ่านหูผ่านตาของคุณมาบ้าง

เพราะติดตามมานาน เฝ้ามองดูแบรนด์ขยับขยายจากออนไลน์สู่การมีสาขาหน้าร้านให้คนเดินเข้าไปลองใส่อย่างสะดวก

และเพื่อล้วงเคล็ดลับความสำเร็จที่ว่า เราจึงชวนผู้อยู่เบื้องหลังรองเท้าแบรนด์นี้อย่าง นิด้า–ชนิกานต์ กาญจน์ก่อกุล มาพูดคุยดูสักครั้ง

เลื่อนบานประตูไปพร้อมกัน co-founder ของรองเท้าผ้าใบพื้นสีเหลืองสดใสที่ครองใจคนทั้งอินสตาแกรมยืนรออยู่แล้ว

ตามไปฟังวิธีคิด วิธีการทำงาน ที่เธอดูแลเองแทบทุกกระบวนการพร้อมกันเลย

 


แบรนด์ที่เริ่มต้นจากการออกเดินทาง

“Mustard Sneakers เริ่มมาจากเราและพี่ชายช่วยกันทำมาด้วยกัน” นิด้าเริ่มต้นย้อนความให้ฟังด้วยน้ำเสียงสดใส เพราะเรียนเกี่ยวกับดีไซน์ การทำธุรกิจหรือการมีแบรนด์เป็นของตัวเองจึงเป็นความคิดที่ผุดขึ้นในใจหญิงสาวมาเนิ่นนานตั้งแต่ครั้งยังเรียนอยู่ หากแต่รองเท้าผ้าใบเริ่มเข้ามามีบทบาทในความคิดชัดเจนขึ้นเมื่อครั้งที่เธอออกเดินทางแบ็กแพ็กไปต่างประเทศเมื่อหลายปีก่อน

“ปกติเราเป็นคนชอบใส่รองเท้าผ้าใบอยู่แล้ว การไปแบ็กแพ็กครั้งนั้นมันทำให้เราสังเกตและเห็นชัดเจนมากขึ้นว่า จริงๆ แล้วรองเท้าผ้าใบมันสามารถใส่ได้กับทุกชุด ใช้ได้ทุกโอกาส เลยเกิดไอเดียคิดจะทำแบรนด์นี้ขึ้นมา เพราะในตอนนั้นประเทศไทยเองก็ยังไม่ค่อยมีใครทำแบรนด์รองเท้าผ้าใบด้วย 

“ตอนนั้นเราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับรองเท้าเลย มือใหม่มาก ไม่ได้มีพื้นฐานทางแฟชั่นมาก่อน แต่ดีที่พี่ชายเขาเป็นคนชอบศึกษาเรื่องรองเท้าอยู่แล้ว เขาเลยรับหน้าที่เป็นคนรับผิดชอบในการหาโรงงานที่ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพและราคาให้ตรงกับสิ่งที่เราอยากทำกัน ส่วนเราก็ออกแบบรองเท้าโดยอิงจากความชอบของตัวเอง และพยายามรีเสิร์ชเพิ่มด้วยว่าตลาดชอบแบบไหน จับจุดจากที่เคยเรียนมาแล้วช่วยๆ กันคิด เอาไอเดียหลายๆ อย่างมารวมกัน

“เราไม่ได้ทำจากความชอบของตัวเองทั้งหมด ต้องบาลานซ์ด้วยว่าสิ่งที่คิดมาจะขายได้ไหม คนอื่นจะชอบหรือเปล่า จากนั้นก็ลุยทำโดยที่ตั้งใจไว้ว่าอยากจะให้มันเป็นรองเท้าที่ใส่ได้ในทุกๆ วัน ราคาเป็นกันเอง และที่สำคัญคือดีไซน์ต้องสวย” นิด้ายกยิ้มหลังพูดจบ ก่อนจะเดินไปหยิบชิ้นส่วนต่างๆ ที่เธอเก็บสะสมเอาไว้ออกมาอธิบายให้เราฟังถึงกระบวนการทำอย่างตั้งใจ

แน่นอนว่ากระบวนการที่ว่านั้นหมายรวมถึงที่มาของพื้นรองเท้าสีเหลืองสดใสที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ด้วย

 

ธุรกิจที่ไม่ได้มีเพียงความชอบ หากแต่คิดและวางแผน

“ช่วงเริ่มต้นสร้างแบรนด์ เริ่มต้นออกแบบรองเท้า เรานึกเปรียบเทียบกับการเพิ่มรสชาติให้อาหารเลยคิดถึงมัสตาร์ดที่เป็นซอส เพราะถึงคอนเซปต์ของรองเท้าเราจะเน้นให้ใส่ได้ง่ายก็จริง แต่เราคิดว่าถ้ารองเท้ามันเรียบไป ไม่มีจุดเด่นอะไร คนก็คงไม่รู้ว่าจะมาซื้อของของเราทำไม เราเลยเอาไอเดียนี้มาเพิ่มจุดเด่น เพิ่มกิมมิกด้วยพื้นรองเท้าสีเหลือง เพราะสีเหลืองมันเป็นสีกลางๆ ที่ใช้ได้ทั้งชายและหญิง ตรงตามความตั้งใจของเราที่อยากให้รองเท้าเป็น unisex ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย

“แต่การทำรองเท้ามันยากนะ ชิ้นส่วนมันเยอะ กว่าจะประกอบออกมาเป็นรองเท้าหนึ่งคู่มีวัสดุเป็นสิบชิ้นเลย ทั้งพื้นยาง ขอบยาง พื้นด้านใน พื้นด้านนอก เชือก ตาไก่ รายละเอียดเยอะมาก เวลาออกแบบเราเลยต้องเลือกองค์ประกอบแต่ละส่วนให้มันลงตัว” 

นิด้าเล่าว่าการทำรองเท้าผ้าใบเช่นนี้มีวิธีการทำที่แตกต่างจากรองเท้าหนังหรือรองเท้าแฟลตทั่วไป เพราะต้องประกอบด้วยมือจากช่างที่มีความชำนาญ เมื่อช่างประกอบขึ้นมาแล้ว จะต้องนำเข้าเตาอบเพื่อให้กาวและยางที่นำมาประกอบนั้นติดกัน แข็งแรง และทนทานมากขึ้น หรืออย่างสีเชือกรองเท้า เพื่อให้ออกมาสวยงามอย่างที่ตั้งใจ เธอก็ต้องสั่งทอขึ้นใหม่ให้เป็นสีเฉดเดียวกันกับตัวรองเท้า กับการเลือกวัตถุดิบเอง เธอก็พยายามรีเสิร์ชเพิ่มอยู่ตลอดว่าควรใช้ผ้าแบบไหนจึงจะรับน้ำหนักเท้าได้ดี หรือผ้าแบบไหนที่จะง่ายต่อการดูแลรักษา

“ตอนทำคอลเลกชั่นแรกๆ ออกมาเรายังมีความรู้ไม่มากพอ พอใช้ไปสักพักรองเท้าเลยจะไม่ค่อยทนหรือเปื้อนได้ง่าย ทุกวันนี้พอได้ศึกษามากขึ้นเราเลยเปลี่ยนเป็นผ้าแคนวาสที่ทนขึ้นกว่าเดิมมาก หรือกับตัวพื้นด้านในอย่าง insole เราก็ทดลองมาหลายแบบ เพราะเราอยากให้คนใส่แล้วรู้สึกสบายที่สุด สามารถใส่เดินได้นาน ไม่เมื่อยหรือเจ็บขา 

“และเราเป็นคนเสพความสวยงามในงานอาร์ต งานดีไซน์ อยู่แล้วด้วย เลยยิ่งคิด ยิ่งใส่ใจ ว่าทุกอย่างต้องออกมาสวย ไม่ใช่แค่รองเท้า แต่กับกล่องใส่รองเท้าเราก็อยากให้คนที่ได้เห็น คนที่ได้รับ รู้สึกดีใจ ตื่นเต้น และลุ้นว่าจะเจอรองเท้าด้านใน”

“พอเราใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้ค่ากับความสวยงาม มันเลยเป็นเหมือนการทำตลาดแบบ free marketing ไปในตัวด้วย การที่คนถ่ายรูปร้าน ถ่ายรูปสินค้าของเรา แล้วแชร์ต่อ มันเป็นเหมือนผลที่ตามมา สิ่งที่เราตั้งใจทำแน่ๆ คืออยากให้คนตื่นเต้นที่ได้รับสินค้าของเราไป หรือถ้าเดินเข้ามาในร้านก็อยากให้เขารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นรองเท้า ได้สัมผัสมัน

“การที่คนจำแบรนด์เราได้ อาจเป็นเพราะเราใส่ความเป็นมัสตาร์ดลงไปในดีเทลด้วย ไม่ว่าจะรองเท้า แพ็กเกจจิ้ง หรือรูปที่เราโปรโมตออกไป ก็จะมีสีเหลืองซึ่งเป็นสี CI ของเราอยู่ในนั้นเสมอ คนเลยอาจจะติดภาพตรงนี้ นึกถึงมัสตาร์ดก็นึกถึงสีเหลือง นึกถึงชื่อแบรนด์”

 

ก้าวเล็กๆ ที่เติบโต

หลังขลุกตัวอยู่ในร้านเพื่อคุยกับเธอนานนับชั่วโมง เห็นคนแวะเวียนเข้ามาลองใส่รองเท้าที่เธอตั้งใจทำ   

“จากร้านค้าออนไลน์ เติบโตสู่การมีหน้าร้าน คุณรู้สึกยังไง และกระบวนการทำงานมันแตกต่างกันหรือเปล่า” เราจึงเอ่ยถามสิ่งที่สงสัยออกไป 

นิด้านิ่งคิด แล้วเอ่ยตอบด้วยใบหน้าแฝงรอยยิ้ม

“สำหรับเรามันเป็นสิ่งที่มาเร็วกว่าที่คาดไว้มากเลย ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยพร้อมนะ แต่สุดท้ายก็ต้องทำให้มันเวิร์กให้ได้ การเปิดหน้าร้านมันยุ่งยากกว่าการขายออนไลน์ตรงที่ออนไลน์มันแค่คุยกับลูกค้าผ่านหน้าจอ แต่หน้าร้านคือเราต้องเจอกับลูกค้าจริงๆ ต้องทำให้เขาเห็นร้านเรา เจอเราแล้วยังมีอิมเพรสชั่นที่ดีอยู่ มันมีหลายปัจจัยที่มารวมกันและเราต้องคิดถึง

“ตอนยังไม่มีหน้าร้านเราเข้าใจว่าหลายๆ คนอาจไม่กล้าซื้อรองเท้าจากร้านออนไลน์อย่างเรา เพราะกลัวว่าซื้อไปแล้วไซส์จะไม่พอดี หรือไม่แน่ใจว่าจะใส่สบายหรือเปล่า ปัญหาของเราในตอนนั้นเลยเป็นเรื่องการบริการลูกค้าให้ดีที่สุด เราแก้ปัญหาโดยการออกนโยบายว่าถ้าซื้อไปแล้วใส่ไม่พอดี ต้องการเปลี่ยนไซส์ ก็สามารถเปลี่ยนให้ได้โดยไม่คิดเงินเพิ่ม พยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์มากที่สุด

“พอมีหน้าร้านเราก็ยังคิดถึงสิ่งเดิมนั่นแหละ พยายามออกแบบร้านโดยคำนึงว่าหากมัสตาร์ดเป็นคนจะเป็นคนแบบไหน เพื่อนำองค์ประกอบต่างๆ มาใช้กับการตกแต่งหน้าร้าน

“จริงๆ คนแบบมัสตาร์ดมีได้หลากหลายรูปแบบเลย แต่ถ้าให้คิดเราว่าเขาน่าจะเป็นคนที่ชอบเที่ยว รักความสนุก แต่ก็ยังชอบความสบายอยู่ ร้านที่เราออกแบบเลยให้ความรู้สึกเป็นกันเอง มีโซฟา ให้คนเข้ามาแล้วไม่รู้สึกเกร็ง อยากให้เขารู้สึกเหมือนมานั่งเล่นบ้านเพื่อนอะไรแบบนั้น”

“แต่เรารู้สึกว่าแบรนด์ยังไม่ได้โตขนาดนั้น ทุกครั้งที่เดินเล่นในสยาม เวลาเห็นคนใส่รองเท้าของเราก็ยังดีใจและตกใจเหมือนทุกๆ ครั้ง เรารู้สึกว่ายังมีอะไรใหม่ๆ ให้ทำอยู่อีกเยอะเลย 

“อาจเพราะเราสนุกไปกับการทำงาน สนุกไปกับการออกแบบมั้ง ทุกวันนี้ถ้าทำรองเท้ารุ่นใหม่ออกไปแล้วไม่เวิร์ก เราก็ไม่ได้ท้ออะไรนะ จะมองว่าถ้ายังไม่เวิร์กงั้นเราก็แค่ทำใหม่ ทำไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะออกมาดี

“เราแค่อยากให้เวลาใครนึกอยากซื้อรองเท้าผ้าใบสักคู่  ก็ให้ Mustard Sneakers เป็นแบรนด์ต้นๆ ที่เขาจะคิดถึงแค่นั้นเอง”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฎฐณิชา สะอิ

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่รักในการแต่งตัว และหลงใหลการท่องเที่ยวผจญภัยและกล้องฟิล์ม

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว