How To Fly บินไปกับ Sticky Fingers วงดนตรีเรกเก้ร็อกที่ทะยานขึ้นสุดและถลาลงจนมิด

ก่อนที่การฟังเพลงผ่านสตรีมมิงจะเป็นเรื่องปกติ และอัลกอริทึมได้พาวงดนตรีรุ่นใหม่ออกทัวร์คอนเสิร์ตไปทั่วโลกจากเพลงฮิตไม่กี่เพลงอย่างทุกวันนี้ เราพบว่าช่วงปี 2010 เป็นเหมือนช่วงเวลาของการรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการดนตรีในหลายด้าน

แผ่นเสียง เทปคาสเซต กลับมาให้เราเลือกฟังในรูปแบบที่คุณภาพดีขึ้นหลายเท่า เพลงอิเล็กทรอนิกฮิตขึ้นมาในกระแสหลักและเกิดเทศกาลดนตรีที่เกี่ยวข้องตามมา เทคโนโลยีดนตรีเข้าไปผสมผสานในหลายๆ จุด แต่ไม่ใช่สำหรับ Sticky Fingers วงดนตรีชื่อเดียวกับอัลบั้มระดับตำนานของ The Rolling Stones วงดนตรีที่ยังมีวิธีคิด การใช้ชีวิต ราวกับว่าพวกเขาอยู่ในยุค 70s

Sticky Fingers คือวงดนตรีหลงแนว หลงยุค หลงทวีป ฟร่อมออสเตร๊เหลี่ย (อ่านด้วยสำเนียงมิสแกรนด์) ที่ประกอบขึ้นจากกลุ่มเพื่อน 5 คน คือ Dylan Frost (ร้องนำและกีตาร์), Paddy Cornwall (เบส), Seamus Coyle (กีตาร์), Eric da Silva Gruener (กลอง) และ Daniel Neurath (คีย์บอร์ด) ที่เริ่มตะลุยแสดงโชว์เก็บเลเวลในระดับภูมิภาคกันมาตั้งแต่ปี 2008 พร้อมๆ กับทำ E.P. และอัลบั้มกันมาเรื่อยๆ

จุดเด่นของวงอยู่ที่เสียงร้องแหบอันเป็นเอกลักษณ์ของดีแลน ในช่วงแรกๆ วงเลือกเอาจังหวะเรกเก้มาใช้เล่าเรื่องของวง ทำให้เกิดการจดจำและแตกต่าง เพราะย้อนกลับไปในตอนนั้นวงการดนตรีเหมือนจะหลงลืมบีตนี้ไป ยังไม่พอ พวกเขายังนำไปผสมผสานเข้ากับความเป็นโซลแบบต้นฉบับ

สื่อหลายเจ้ามักอธิบายพวกเขาไว้ว่า วงดนตรีร็อก-เรกเก้ ที่ได้รับอิทธิพลของดนตรีในยุค 90s-00s ยุคที่พวกเขาโตมา สำเนียงดนตรีแบบอังกฤษจ๋าๆ จากยุค Britpop ลากยาวมาจนถึง Arctic Monkeys มีบรรยากาศเพลงแบบ Pink Floyd และออร่าร็อกสตาร์อย่างเสก โลโซ (อันนี้เสริมเอง)

แต่เอาเข้าจริงดนตรีของแก๊งนี้พาเราไปเจออารยธรรมดนตรีแทบจะทุกแนว ตั้งแต่ยุคบุปผาชนจนปัจจุบัน ผสมปนเปกันอยู่ในเพลง กลายเป็นจุดขายที่ทำให้วงมีชื่อเสียง และได้ออกเดินทางไปยังดินแดนที่สร้างตัวตนดนตรีให้พวกเขาอย่างยุโรป

เพลงส่วนใหญ่ของพวกเขาเล่าเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ โลก เจือเรื่องราวความรักแบบจางๆ ซึ่งออกมาจากตัวตนแบบฮิปปี้ไลฟ์สไตล์ที่จริงใจไม่เสแสร้ง แฟนๆ เข้าถึงได้ง่าย ทำให้เกิดฐานผู้ติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก่อนที่พวกเขาจะไปไกลได้อีกระดับ Sticky Fingers กลับสกัดดาวรุ่งตัวเอง และต้องไปทัวร์ในสถานบำบัดยาเสพติดแทน จากการใช้ชีวิตแบบ sex, drugs, rock and roll จนเกินไป ทำให้วงต้องพักตัวอยู่หลายปี

แม้ในช่วงหลังๆ พวกเขาไม่ได้ออกเพลงใหม่มากมาย แต่โชคดีที่งานเก่าๆ ยังคงทำหน้าที่ของมัน ผู้คนค่อยๆ ซึมซับรับฟัง และสำรวจแต่ละแทร็กในแต่อัลบั้มอย่างใจเย็น รอวันที่วงกลับมารวมตัว จนเกิดเป็นเพลงส่วนตัวที่แต่ละคนชอบ หากจับเอาสาวกของวงนี้มานั่งไล่ชื่อเพลง คงเก็บลิสต์ไปได้ครบทุกอัลบั้ม

Sticky Fingers เดินทางมายาวนานและพวกเขาไม่เคยย้อนกลับไปทำเพลงแบบเดิม แต่สิ่งที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงนั่นคือวิธีคิดเพลง กลั่นกรองแต่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ความเป็นเพื่อน และความเป็นแบนด์ ทำให้บางคนอาจรู้สึกว่าซาวนด์ของวงไม่ค่อยพัฒนาไปไหน แต่อีกแง่ ก็ดีเหมือนกันที่เรายังมีดนตรีดิบๆ ทื่อๆ แสนธรรมดาแต่แฝงไว้ซึ่งจิตวิญญาณรุ่นพ่อ

ข้อดีของยุคนี้คือ ศิลปะ ดนตรี และแฟชั่น กองรวมกันไปหมด ความหลงยุคและแนวเพลงของแก๊งนี้ ได้กลายเป็นความร่วมสมัยขึ้นมาเฉยๆ

ในยุคที่เราเลือกไปดูคอนเสิร์ตด้วยเพลงเดียวหรือสองเพลง แต่ world tour ของ Sticky Fingers ในบ้านเรา วันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ เตรียมเพลงมาให้เราร้องตามแบบเต็มอิ่มมากกว่า 20 เพลง

บางวงเรารู้จักไม่ถึงปีก็ได้มาเล่นคอนเสิร์ตที่ไทย แต่พวกใช้เวลาว่า 10 ปี แถมกลับมาพร้อมอัลบั้มใหม่ (อย่างกับ comeback stage ไอดอลเกาหลี) ก่อนไปคอนเสิร์ต หรืออาจจะไม่ได้ไปเพราะบัตรหมดไวเหลือเกิน ลองไปฟัง 5 เพลงที่น่าจะได้ร้องตามในวันนั้นกัน


Kiss The Breeze

ซาวนด์กีตาร์เริ่มขึ้นมาในทำนองแบบฉบับโซล ก่อนจะพาเราดริฟต์ไปอีกทางด้วยกลองแบบเรกเก้ที่ผสมผสานกันไปอย่างละเอียดลออ พยุงไว้ด้วยเสียงคีย์บอร์ด เบส และกีตาร์อีกตัว อยู่ตลอดทั้งเพลง เพลงเด่นด้วยการเปลี่ยนท่อนแบบหยาบๆ ที่เราต้องโยกช้าๆ รอดนตรีว่าจะพาเราไปทางไหน กับเนื้อหาที่เล่าเรื่องชีวิตทั้งร้ายและดีที่ผ่านมา ความคาดหวัง ความฝัน ตลอดจนการเติบโต ก่อนเข้าท่อนฮุกและร้องซ้ำๆ ว่า I kiss the breeze and let your rhythm flow out เหมาะสมกับการเป็นบทเกือบสรุปจากแทร็กรองสุดท้ายของอัลบั้มแรกของวงอย่าง Caress Your Soul


Sad Songs

เพลงจังหวะสนุกที่มีความเป็นคันทรีร็อกแบบอเมริกันอยู่เต็มเปี่ยม สไลด์กีตาร์แบบเพลงคาวบอย ท่อนร้องงึมงำๆ ทำเหมือนไม่อยากให้เรารู้ความหมาย แต่เล่าถึงการเลิกราและจมปลัก ก่อนปลุกตัวเองให้กลับมาใช้ชีวิต มีชีวา ขึ้นมาในท่อนฮุกว่า ถึงเราจะเศร้าแค่ไหนสุดท้ายก็ยังต้องเดินต่อไป วงมักวางเพลงนี้ไว้เป็นเพลงแรกๆ ทั้งในโชว์ และในอัลบั้มที่สาม Westway (The Glitter & the Slums) เพื่อเร่งอารมณ์สนุกสนาน นับเป็นเพลงเศร้าที่หลอกลวงผู้บริโภคสุดๆ


Gold Snafu

แทร็กกลางอัลบั้มที่สองของวงอย่าง Land Of Pleasure คราวนี้มาในจังหวะ R&B ก่อนตบด้วยเมโลดี้กวนๆ จากเสียงซินท์ที่ทำให้เรารู้ว่าเพลงนี้ฟีลกู๊ดชัวร์ ความเป็นระเบียบของท่อนดำเนินไปเรื่อยๆ อย่างสะอาดสะอ้านทำเอาเราสงสัยว่านี่ใช่ Sticky Fingers จริงหรือเปล่า ก่อนที่ดนตรีจะจุดชนวนความวุ่นวายในท่อนฮุก และระเบิดในท่อนคอรัส เสียงเด็กๆ ที่ร้องเข้ามาอย่างกวนประสาท ยิ่งผ่านท่อนยิ่งเจือปนไปด้วยการทับถมจากไลน์ในท่อนก่อนหน้า และแน่นอนว่าพาให้เราเต้นตามสนุกๆ แถมฟังซ้ำๆ ได้เพลินๆ


Cyclone

เพลงที่น่าจะเกิดขึ้นระหว่างการทัวร์ของวง เพลงนี้ไม่ได้บรรจุในอัลบั้มใดๆ เปิดฟังในสตรีมมิงก็ไม่มี แฟนๆ ส่วนหนึ่งบอกว่า “วงคงไม่อยากให้เพลงมันเป็นการค้าเกินไป” แต่พอดูยอดวิว 19 ล้าน ก็ยิ่งไม่น่าใช่ (สืบค้นเมื่อ 29 ม.ค. 62) โฟล์กอะคูสติกที่มีแค่เสียงร้องกับกีตาร์โปร่ง แต่กลับเติมเต็มความรู้สึก เว้นว่างให้แต่ละคนตีความคำว่าไซโคลนที่เข้ามาในชีวิตแตกต่างกันไป ในเวอร์ชั่นเล่นสดที่พี่แกมานั่งเล่นกันสองคนเหมือนเดิมไม่เพิ่มพาร์ตดนตรีอะไรขึ้นมาทั้งสิ้น


Cool & Calm

ซิงเกิลที่ปล่อยออกมาไม่นานและน่าจะไปอยู่ในอัลบั้มใหม่ สไตล์เพลงนี้อยู่ในทางแรป จังหวะกลางๆ ปูเพลงด้วยเสียงกดคอร์ดของคีย์บอร์ดและการเกากีตาร์วนๆ แบบบีตฮิปฮอป เนื้อหาบอกเล่าถึงการเจอเรื่องร้ายๆ เมื่อผ่านมันมาได้มักทำให้เราแกร่งขึ้น โตขึ้น เหมือนวงที่เพิ่งผ่านจุดตกต่ำที่สุดของพวกเขามา เป็นการเตือนตัวเอง และถามแฟนๆ ว่า ยังอยู่กับพวกเขาหรือเปล่า

และบอกกับพวกเราด้วยว่า พวกเขาพร้อมออกเดินทางครั้งใหม่แล้ว

AUTHOR