Do you hear the Ganesh sing? คเณศจตุรถีกับเสียงสะท้อนด้านสิ่งแวดล้อมและการเมือง

ปลายสิงหาคมถึงต้นกันยายนของทุกปีคือช่วงที่ประชากรในมุมไบ (เมืองหลวงประจำรัฐมหาราษฏระ) ครึกครื้นเป็นพิเศษ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับเดือนภัทรบทตามปฏิทินฮินดู ซึ่งกำหนดรอบเดือนด้วยการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ในรูปแบบข้างขึ้น-ข้างแรม โดยความสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่วันขึ้นสี่ค่ำ เพราะถือเป็นฤกษ์มงคลที่คเณศ (พิฆเนศ) เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ 

ทั้งนี้ คนอินเดียนิยมเรียกวันดังกล่าวว่า ‘คเณศจตุรถี’ ซึ่งสื่อความหมายถึงวันขึ้นสี่ค่ำตรงตัว เนื่องจาก ‘จตุรถี’ เป็นผลพวงจากการสนธิระหว่างจตุร- (สี่) และดิถี (วันขึ้นหรือวันแรม) 

สาเหตุที่คนมุมไบตื่นเต้นกับวันนี้เป็นพิเศษก็เพราะว่ามุมไบมีธรรมเนียมเฉลิมฉลองคเณศจตุรถียาวถึง 10 วัน! ในขณะที่เมืองอื่นๆ บูชาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ซึ่งเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่า ไม่มีเทศกาลทางศาสนาคราวใดที่คนอินเดียไม่จริงจัง ฉะนั้นหากใครได้มาเยือนมุมไบในช่วงนี้ก็จะพลันตื่นตาตะลึงใจไปกับความยิ่งใหญ่ของขบวนแห่เทวรูปคเณศ ศาลคเณศชั่วคราวในแต่ละชุมชน รวมไปถึงพิธีกรรมปิดฉากเทศกาลอันแปลกตาอย่างแน่นอน

เพื่อให้รู้จักกับคเณศมากขึ้น ปาราวตีขอเล่าเทวกำเนิดของคเณศคร่าวๆ พอสังเขป ซึ่งก็ตลกดีที่ฉันได้ฟังเรื่องนี้มาจากคนอินเดียชื่อคเณศอีกทอดหนึ่ง เขาได้ชื่อนี้เพราะคุณพ่อรักคเณศที่เป็นเทพจับใจ จึงนำมาตั้งเป็นชื่อลูกชายเพื่อสิริมงคล 

คเณศบรรยายว่าอุมา (ภรรยาของศิวะ) สร้างคเณศขึ้นมาโดยที่สามีไม่รู้ และในขณะที่เขากำลังยืนเฝ้าต้นทางยามที่อุมากำลังอาบน้ำในที่รโหฐาน ศิวะก็ดันอยากจะเข้าไปหาภรรยาขึ้นมาเสียอย่างนั้น คเณศที่ยังไม่รู้จักมหาเทพผู้มีศักดิ์เป็นพ่อจึงกีดขวางสุดพลัง ทำให้ศิวะไม่พอใจถึงขั้นตัดหัวคเณศจนหลุดหล่นไปยังเบื้องล่าง

เมื่อศิวะทราบสถานะที่แท้จริงระหว่างตัวเองกับคเณศก็เสียใจมาก สั่งให้เทพองค์หนึ่งลงไปตามหาหัวลูกชายกลับมาต่อให้เหมือนเดิม แต่เทพตัวดีดันหาไม่เจอ เลยตัดหัวช้างป่าที่พบระหว่างทางมาให้แทน ทำให้รูปลักษณ์ของคเณศมีหัวเป็นช้างและร่างเป็นคนดังที่คุ้นเคยกัน 

ตำนานข้างต้นเป็นเพียงกระแสหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องราวต้นกำเนิดของคเณศยังมีอีกหลากรูปแบบ ขึ้นอยู่กับคัมภีร์ที่ใช้อ้างอิง บ้างก็ว่าถูกวิษณุซึ่งเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่อีกหนึ่งองค์แช่งให้หัวขาด บ้างก็ว่าถูกศนิ (พระเสาร์) เผาหัวจนเป็นจุณ แต่ทุกเรื่องล้วนปิดท้ายด้วยการนำหัวช้างมาต่อทั้งสิ้น

 

กลับมาที่คเณศจตุรถี… ปาราวตีได้ร่วมเทศกาลนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2562 โดยบินไปรอที่มุมไบก่อนวันจริง (ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มเฉลิมฉลอง) สองวันถ้วน ทั้งเมืองมีเทวรูปคเณศขนาดความสูงตั้งแต่ไม่กี่ฟุตไปจนถึงหลักสิบเมตรประดิษฐานอยู่ตามศาลที่สร้างขึ้นชั่วคราวในแต่ละชุมชน นอกจากนี้ แต่ละครอบครัวยังจัดพื้นที่สำหรับตั้งเทวรูปขนาดเล็กไว้ในบ้านแทบทุกครัวเรือน

ช่วงเวลานี้ถือเป็นนาทีทองของช่างฝีมือทั่วมุมไบ เนื่องจากเป็นช่วงที่กิจการค้าขายเทวรูปทะยานขึ้นถึงขีดสุด มีคนซื้อเทวรูปคเณศนับพันองค์ต่อวัน เทวรูปที่แต่งองค์ทรงเครื่องวิจิตรขนาดความสูงสองฟุตสนนราคาอยู่ที่ 5,000 รูปีอินเดีย (ประมาณ 2,500 บาท) และแพงขึ้นอีกตามความตระการตาที่ไม่บันยะบันยัง

เพื่อนอินเดียคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ด้วยความที่มีอุปสงค์พลุ่งพล่าน ผู้ค้าเทพจึงนิยมผลิตเทวรูปด้วยการหล่อปูนแทนการใช้โคลนพอกทับโครงสร้างที่ขึ้นจากหญ้าแห้ง (เหมือนการทำเปเปอร์มาเช่) ตามวิถีดั้งเดิม เพราะสะดวกรวดเร็วและสร้างสรรค์ได้คราวละจำนวนมาก และยังใช้สีเคมีตกแต่งแทนสีจากธรรมชาติอีกด้วย 

“มันกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก เพราะพิธีกรรมวันสุดท้ายของเทศกาลคือการแห่เทวรูปคเณศทั้งน้อยใหญ่มาปล่อยลงแหล่งน้ำหลักของเมือง (สำหรับมุมไบก็คือทะเลอาหรับ) เพื่อแสดงนัยถึงการส่งคเณศกลับสู่สวรรค์ผ่านสายน้ำ” เขากล่าว และเสริมว่าคำว่าปล่อยในที่นี้คือการปล่อยทิ้งแล้วทิ้งเลย ไม่ใช่การกระทำเพื่อสื่อถึงนัยดังกล่าวแล้วเก็บกลับไป ทำให้เมื่อคเณศจตุรถีสิ้นสุดลง ชายฝั่งมุมไบจึงมีขยะจากเศษซากเทวรูปค้างเติ่งอยู่หลายตัน และสารเคมีที่เป็นวัตถุดิบก็ยังส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในทะเลเสียชีวิตอีกนับไม่ถ้วน

จากการสังเกตผู้ร่วมพิธีในวันวิสรชัน (วันสุดท้ายที่เฉลิมฉลอง) หรือที่แปลตรงตัวว่าวันลงน้ำแล้ว ปาราวตีพบว่า ประชากรหลายกลุ่มเริ่มใคร่ครวญถึงผลกระทบของพิธีกรรมต่อสิ่งแวดล้อม บางครอบครัวเพียงนำเทวรูปมาจุ่มลงน้ำพอเป็นพิธี แล้วก็นำกลับไปเก็บไว้บูชาในปีถัดไป บางกลุ่มประดิษฐ์เทวรูปคเณศจากหยวกกล้วยและกาบมะพร้าว เพื่อให้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ฯลฯ

อนึ่ง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้อนุรักษนิยมกล่าวว่า “มันคงสายเกินกว่าที่จะยกเลิกประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปี แต่อย่างน้อย ฉันก็อยากร่วมเทศกาลนี้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ ว่าความเชื่อของฉันทำร้ายสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเธอเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากคนกลุ่มน้อยจะสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่คนกลุ่มใหญ่ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ผู้ร่วมพิธีคนหนึ่งเล่าว่า การบูชาคเณศอย่างโจ่งแจ้งเริ่มตั้งแต่สมัยที่รัฐมหาราษฏระถูกราชาศิวาจีปกครอง (ต้นศตวรรษที่ 17) ซึ่งเขาคือบุคคลที่มีคุณูปการต่อแผ่นดินละแวกนี้อย่างมาก ในฐานะผู้ปลดแอกชาวมราฐา (ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์แถบมหาราษฏระในสมัยก่อน) จากการรุกรานของจักรวรรดิมุสลิมและการล่าอาณานิคมของชาวยุโรป 

สาเหตุที่เทิดทูนคเณศเป็นหลักก็เพราะว่า คนอินเดียในพื้นที่นับถือคเณศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งการที่แต่ละรัฐหรือเมืองในอินเดียมีเทพหรือเทพีในดวงใจต่างกันไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากแต่ละท้องถิ่นล้วนมีตำนานและความเชื่อเฉพาะตัว ดังกรณีที่ฟากรัฐเบงกอลตะวันตกนิยมบูชาเทพีต่างๆ อย่างกาลีหรือทุรคา (ปางอื่นๆ ของอุมา) ซึ่งที่เมืองโกลกาตา (เมืองหลวงประจำรัฐเบงกอลตะวันตก) ก็มีเทศกาลทุรคาบูชาที่อลังการไม่แพ้คเณศจตุรถีเลยทีเดียว

ทั้งนี้ การแห่เทวรูปคเณศในที่สาธารณะอย่างออกหน้าออกตาดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งอังกฤษเข้ามาตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกที่อินเดีย มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป จากนั้นจึงลุกลามกลายเป็นเจ้าอาณานิคมเหนืออินเดียในภายหลัง 

การปกครองอย่างไม่เป็นธรรมของอังกฤษเป็นชนวนสู่กบฏครั้งใหญ่ทั่วอินเดีย ซึ่งมีผู้คนจากฝั่งอังกฤษและอินเดียเสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญดังกล่าว อังกฤษจึงออกมาตรการคุมเข้มไม่ให้คนอินเดียรวมตัวกลางสาธารณะ ด้วยเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นอีกครั้ง 

นายติลัก หนึ่งในผู้นำของกบฏครั้งสำคัญเห็นดังนั้นก็ไม่สมยอม เขาเลือกเทศกาลคเณศจตุรถีเป็นโอกาสให้คนอินเดียออกมารวมตัวกัน โดยใช้การแสดงออกทางศาสนาเป็นฉากบังหน้า กระตุ้นให้คนมุมไบออกมาร่วมขบวนแห่เทวรูปคเณศกันอย่างคับคั่ง เพื่อแสดงนัยถึงการดื้อแพ่งต่อระเบียบที่อังกฤษบังคับใช้ จนกลายเป็นธรรมเนียมการเฉลิมฉลองคเณศจตุรถีมาถึงปัจจุบัน


หมายเหตุ: เนื่องจากปี 2563 นี้ ประเทศอินเดียได้รับผลกระทบหนักหน่วงจากโควิด-19 และมุมไบก็เป็นเมืองที่มีจำนวนผู้ติดเชื้ออันดับต้นๆ ของประเทศ คเณศจตุรถี (22 สิงหาคม) ที่มุมไบปีนี้เลยเงียบเฉา เพราะเฉลิมฉลองได้แค่ภายในครัวเรือนเท่านั้น 

 

อ้างอิง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. (2560). ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน.

ปรีดี หงษ์สต้น. (2562). British East India Company บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ. กรุงเทพฯ: ยิปซี กรุ๊ป.

พระยาสัจจาภิรมย์ฯ (สรวง ศรีเพ็ญ). (2562). เทวกำเนิด ภารตเทพปกรณัมอันอมตะ. พิมพ์ครั้งที่ 19. นนทบุรี: ศรีปัญญา.

AUTHOR