Where India Goes: เมื่อการขับถ่ายของคนอินเดียสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของวรรณะ

Highlights

  • Where India Goes คือหนังสือที่ช่วยตอบปัญหาคาใจเรื่องการขับถ่ายกลางแจ้งของอินเดียได้อย่างแจ่มแจ้ง
  • ปัญหาการขับถ่ายกลางแจ้งในสังคมชนบทของอินเดียผูกยึดอยู่กับความเหลื่อมล้ำทางสังคม เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งมีการแบ่งชนชั้นวรรณะ
  • ไม่ว่ารัฐบาลยุคใดจะออกนโยบายสาธารณสุขเพื่อช่วยสร้างห้องน้ำให้มากมายเพียงไร คนอินเดียกลุ่มนี้ก็ไม่ยอมใช้อยู่ดี ด้วยปัจจัยเรื่องโครงสร้างทางสังคมอย่างระบบวรรณะซุกซ่อนอยู่

อินเดียกับการขับถ่ายกลางแจ้ง (open defecation) เป็นสิ่งที่อยู่เคียงคู่กันมาเนิ่นนาน จนกลายเป็นเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ผูกติดกับชื่อประเทศอย่างสลัดไม่หลุด เรียกได้ว่า… ถ้าหากซุบซิบนินทาเกี่ยวกับประเทศอินเดียเมื่อไหร่ นอกจากความสกปรก ความยากจน อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องแทรกตัวเข้ามาอยู่ในบทสนทนาจะต้องมีการขับถ่ายกลางแจ้ง

ต้องขออภัยที่ใช้ภาษาปากอันหยาบคาย แต่เราจำได้แม่นยำว่า ครูสังคมศึกษาสมัยมัธยมต้นเคยเล่าเสริมบทเรียนเรื่องสังคมอินเดียอย่างขำขันให้ฟังว่า “คนอินเดียชอบออกมาขี้กลางแจ้ง แล้วระหว่างที่ขี้ก็จะพูดคุยกันไปด้วย เลยเกิดเป็นวลีที่ว่า ‘ขี้คุย’ เพราะทั้งขี้และคุยไปพร้อมๆ กัน” ซึ่งเรียกเสียงเฮฮาจากนักเรียนได้เกรียวกราว

แม้ว่าตอนนี้เราจะรู้แจ้งด้วยวิจารณญาณส่วนตัวแล้วว่า สิ่งที่ครูพูดในวันนั้นไม่น่าจะจริงก็ตาม เพราะคำว่า ‘ขี้’ ในบริบทนี้สามารถนำไปประกอบร่วมกับกริยาและอาการอื่นๆ ได้มากมาย เช่น ขี้หึง ขี้ลืม ขี้โมโห ฯลฯ โดยรับหน้าที่เป็นคำวิเศษณ์ ซึ่งมีหน้าที่ขยายคำนามหรือกริยา เพื่อเน้นความหมายถึงลักษณะหรืออาการที่มักจะเป็นเช่นนั้น ไม่ได้เจาะจงว่าต้องใช้ในวลีว่าขี้คุยได้เพียงหนึ่งเดียว

ส่วนประเด็นเรื่องการขับถ่ายกลางแจ้งนั้น หลังจากที่เราได้เหยียบผืนแผ่นดินอินเดียด้วยตัวเอง ก็ต้องยอมรับเลยว่าจริงแท้แน่นอน โดยเฉพาะย่านชานเมืองและเมืองชนบทนานา ชวนให้เราสงสัยมากว่าเพราะเหตุใดเพื่อนร่วมโลกแถบเอเชียใต้ถึงยังขับถ่ายกลางแจ้งกันอยู่ ในยุคที่ห้องน้ำพัฒนาไปไกลจนถึงขั้นมีชักโครกที่ปรับอุณหภูมิฝารองก้นได้อัตโนมัติแล้ว

หนังสือ Where India Goes ช่วยตอบปัญหาคาใจเรื่องนี้ให้เราได้อย่างแจ่มแจ้ง ทีมนักเขียนระบุว่า “การขับถ่ายกลางแจ้งในสังคมชนบทของอินเดียเป็นปัญหาที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่โดดเด่นระดับโลก” เพราะไม่สามารถแก้ไขอย่างง่ายๆ ด้วยการระดมทุนจัดสร้างห้องน้ำให้ประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้น เหมือนอย่างประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาเดียวกัน เช่น บังกลาเทศและประเทศแถบทวีปแอฟริกา

เนื่องจากมีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ว่ารัฐบาลแต่ละยุคจะนำเสนอนโยบายสาธารณสุขที่ผลาญงบประมาณไปกับการสร้างห้องน้ำ ทั้งห้องน้ำส่วนตัวและสาธารณะอย่างหนักหน่วงเพียงใด ตัวเลขค่าเฉลี่ยของการขับถ่ายกลางแจ้งในสังคมชนบทของอินเดียก็ยังมากกว่าร้อยละ 50 และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศซึ่งด้อยพัฒนากว่า กลับจัดการกับปัญหาการขับถ่ายกลางแจ้งได้ จนค่าเฉลี่ยของประชากรที่ยังขับถ่ายกลางแจ้งลดเหลือเพียงร้อยละ 5 จากจำนวนที่ทัดเทียมกัน ด้วยวิธีแก้ปัญหาแบบเดียวกัน

แล้วการขับถ่ายการแจ้งไม่ดียังไง ทำไมถึงปล่อยไว้แบบนั้นไม่ได้นี่คือข้อสงสัยของเรา

หลังจากที่ทีมนักเขียนสาธยายถึงความพยายามของรัฐบาลอย่างยิ่งยวดต่อการแก้ปัญหานี้ ทั้งนโยบาย Central Rural Sanitation Programme เมื่อปี 1986, Total Sanitation Campaign เมื่อปี 1999, และ Swachh Bharat ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้คำตอบว่า การขับถ่ายกลางแจ้งนั้นส่งผลกระทบต่อคนอินเดียในระดับมหภาค เนื่องจากการขับถ่ายกลางแจ้งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างผืนดินและแม่น้ำปนเปื้อน เนื่องจากสิ่งปฏิกูลจากร่างกายมนุษย์เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคระบาดในอดีต เช่น อหิวาตกโรค (Cholera) ซึ่งมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการขับถ่ายกลางแจ้งจะมีอัตราการรอดชีวิตของทารกต่ำ เพราะมักเสียชีวิตจากการสัมผัสดินและน้ำที่ปนเปื้อน ส่วนในกรณีที่รอดชีวิตมาได้ก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามเกณฑ์ และมีปัญหาด้านการเรียนรู้ เนื่องจากถูกเชื้อแบคทีเรียต่างๆ จากสิ่งปฏิกูลยื้อแย่งสารอาหารจนร่างกายไม่สามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตก็ไม่สามารถประกอบอาชีพดีๆ ได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประชากรเกินครึ่งหนึ่งมีรายได้ต่ำ

ถึงแม้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะตระหนักถึงผลกระทบของการขับถ่ายกลางแจ้งเป็นอย่างดี การแก้ปัญหานี้ในประเทศอินเดียกลับไม่ง่ายดาย ดังที่ทีมนักเขียนได้กล่าวไว้ข้างต้น ว่าปัญหาการขับถ่ายกลางแจ้งในสังคมชนบทของอินเดียผูกยึดอยู่กับความเหลื่อมล้ำทางสังคม เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ซึ่งศาสนาฮินดูมีการแบ่งชนชั้นวรรณะ

แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้คนอินเดียทุกคนมีสถานะเท่าเทียมกัน แต่วรรณะก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อสังคมอินเดีย อาจเจือจางลงบ้างในเขตพื้นที่เมือง ด้วยประชากรส่วนใหญ่เข้าถึงการศึกษา และรับเอาแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมมาปรับใช้อย่างสากล ทว่าสถานการณ์วรรณะในสังคมชนบทนั้นยังเข้มข้นไม่ต่างจากเดิม

สำหรับใครที่สงสัยเรื่องวรรณะ เราขอสรุปคร่าวๆ ให้พอเข้าใจสถานการณ์ว่า ระบบวรรณะคือการแบ่งกลุ่มตามหน้าที่ ซึ่งมีทั้งหมด 4 วรรณะ ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร เรียงศักดิ์จากสูงไปต่ำตามลำดับ โดยพราหมณ์มีหน้าที่ศึกษาคัมภีร์ศาสนาและสอนวิชาความรู้ต่างๆ, กษัตริย์คอยปกปักรักษาบ้านเมือง, แพศย์คือกลุ่มพ่อค้าแม่ขายและดูแลเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนศูทรเป็นชนชั้นแรงงาน นอกจากนี้ยังมีจัณฑาล ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกขับไล่ออกจากระบบวรรณะ มีสถานะต่ำต้อยและคอยทำหน้าที่ซึ่งคนในระบบวรรณะมองว่าสกปรก

ทั้งนี้ ประชากรในแต่ละกลุ่มต้องปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตของวรรณะตัวเองอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นกฎจากพระเจ้า ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ปัจจัยที่จะหนุนนำให้คนเกิดมาในวรรณะใดวรรณะหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับบุญที่สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน ซึ่งการเก็บแต้มบุญที่คัมภีร์แนะนำว่าดีเลิศก็คือการปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตของวรรณะตัวเอง ส่งผลให้ประชากรในแต่ละวรรณะมีแรงจูงใจในการก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตัวเอง โดยมีความหวังว่าชาติหน้าจะได้เกิดในวรรณะที่ดีขึ้นกว่าเดิม

แล้ววรรณะเกี่ยวข้องกับการขับถ่ายกลางแจ้งยังไง

ทีมนักเขียนระบุว่า สาเหตุหลักที่ปัญหานี้ยังไม่หมดไปจากอินเดียเป็นเพราะว่า เมื่อมีห้องน้ำก็ต้องมีการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ถูกขับถ่ายในห้องน้ำ ซึ่งสสารเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสกปรก มีแค่จัณฑาลเท่านั้นที่จับต้องได้ ถ้าคนจากระบบวรรณะสัมผัสเข้าจะทำให้ร่างกายแปดเปื้อน แต่เนื่องจากสังคมอินเดียในปัจจุบันเริ่มตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมที่จัณฑาลเผชิญ ประกอบกับการรวมกลุ่มของจัณฑาลเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม จัณฑาลจึงดื้อแพ่งและไม่ยอมอ่อนข้อต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มของตนมาอย่างยาวนาน

พวกเขาปฏิเสธหน้าที่การกำจัดสิ่งปฏิกูล เพราะการกลับไปทำหน้าที่อันโสมมเช่นนั้นเป็นเสมือนการกลับไปก้มหัวให้คนในระบบวรรณะมองว่าตัวเองต่ำต้อยและแปดเปื้อนอีกครั้ง ซึ่งเท่ากับว่าความพยายามในการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมของจัณฑาลรุ่นเก่าก่อนต้องเสียเปล่า

เมื่อจัณฑาลไม่ยอมจำนนให้กับหน้าที่ดังกล่าว จึงส่งผลให้คนอินเดียในระบบวรรณะสะดวกใจที่จะไปขับถ่ายกลางแจ้งมากกว่า เพราะไม่อยากมีภาระในการกำจัดสิ่งปฏิกูล (ของตัวเอง) ด้วยตัวเอง เนื่องจากเกรงว่าการแตะต้องสสารเหล่านั้น และการยื่นมือไปทำหน้าที่ที่พวกตนมองว่าต้อยต่ำจะทำให้ความบริสุทธิ์ของวรรณะต้องด่างพร้อย ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลยุคใดจะออกนโยบายสาธารณสุขเพื่อช่วยสร้างห้องน้ำให้มากมายเพียงไร คนอินเดียกลุ่มนี้ก็ไม่ยอมใช้อยู่ดี

ในฐานะคนที่เข้า-ออกประเทศอินเดียอยู่เนืองๆ ข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้เปิดโลกเราอย่างมาก เพราะเราไม่เคยคิดเลยว่าการขับถ่ายกลางแจ้งของคนอินเดียที่เรามักขำขันด้วยความประหลาดตายามพบเจอ จะมีสาเหตุจากปัจจัยเรื่องโครงสร้างทางสังคมอย่างระบบวรรณะซุกซ่อนอยู่

ตราบใดที่ชนชั้นวรรณะยังคงสืบทอดต่อไปในอินเดีย การขับถ่ายกลางแจ้งก็คงจะยังอยู่คู่คำซุบซิบนินทา ในยามที่กล่าวถึงอินเดียอยู่ร่ำไป

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปัณณทัต เอ้งฉ้วน

เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา