ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ เป็นอีกครั้งที่เรื่องราวของ Netflix กลายเป็นประเด็นใหญ่ และคิดว่าใหญ่กว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำ
ปี 2017 Netflix ได้ส่ง Okja หนังออริจินัลของตัวเองเข้าสายประกวดเทศกาลหนังเมืองคานส์ จนเกิดเรื่องว่ามีการประท้วงเรื่องความเหมาะสมของหนังเมืองคานส์ว่าเดี๋ยวนี้หนัง ‘ทีวี’ หรือ หนัง ‘สตรีมมิ่งเท่านั้น’ แบบนี้ก็สามารถเข้ามาอยู่ในเทศกาลหนัง ‘ปกติ’ อย่างนี้ได้ด้วยเหรอ นิยามความเป็นภาพยนตร์ถูกยกขึ้นมาถกเถียง อนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ถูกนำมาพูดคุยอย่างกว้างขวาง บ้างบอกว่าเราไม่ควรกีดกันภาพยนตร์ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน บ้างก็บอกว่านี่คือการคืบคลานของบริษัทธุรกิจใหญ่ที่จะมาทำลายวัฒนธรรมการดูภาพยนตร์ในโรง ถ้าจะมาเข้าเทศกาล พวกคุณก็ต้องเอาหนังไปฉายโรงปกติก่อน ค่อยย้อนกลับเข้าไประบบสตรีมมิ่งของพวกคุณเหมือนหนังทั่วไป ทางฝั่งสตรีมมิ่งเองก็ไม่ยอม เพราะการพรีเมียร์หนังใหม่ (ที่เพิ่งได้ไปคานส์มา) ในระบบของตัวเองเพียงอย่างเดียวย่อมดีกว่า แล้วคนดูยุคนี้คนไหนเขาสนใจกันล่ะว่าจะดูหนังในโรงหรือดูหนังที่จอ LED ขนาด 70 นิ้วที่บ้าน หนังดีก็คือหนังดี ดูที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องโรงหนังหรอกน่า
เรื่องราวในปีนั้นส่งผลให้คานส์ในปี 2018 เกิดข้อพิพาทอีกครั้ง เนื่องจากคราวนี้ทางเทศกาลไม่ยอมให้หนัง Netflix ได้เข้าประกวดแล้ว เพราะหนังที่จะเข้าสายประกวดต้องมีผู้จัดจำหน่ายในฝรั่งเศสที่จะเอาหนังเข้าโรงและจะถูกบังคับให้ลงสตรีมมิ่งได้ต่อเมื่อ 3 ปีผ่านไป ดังนั้น Netflix จึงจัดการถอนหนังออริจินัลของตัวเองออกจากเทศกาลทันที หนังใหม่ของผู้กำกับใหญ่หลายคนเลยพาลไม่ได้ฉายไปด้วย เช่น Roma หนังใหม่ของอัลฟองโซ กัวรอง (ซึ่งจะได้เข้าสายประกวดทันที หาก Netflix ยอมหาผู้จัดจำหน่ายในฝรั่งเศส) นี่อาจจะเป็นการแยกทางกันอย่างถาวรระหว่างเทศกาลหนังอิสระที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเจ้าของระบบสตรีมมิ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน
พอเหตุการณ์เกิดซ้ำสองแบบนี้ คำถามถัดมาคือว่า Netflix ยังจำเป็นต้องไปเข้าเทศกาลหนังเพื่อปั๊มตราเทศกาลเมืองคานส์ก่อนออกฉายจริงในเซอร์วิสของตัวเองหรือไม่ คำตอบคืออาจจะจำเป็นและไม่จำเป็น
จำเป็น : จากปีที่แล้ว แม้ว่า Okja จะค่อนข้างประสบความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นก็ยังไม่ได้ไปในระดับที่กว้างขวางและสำเร็จยาวนาน ความดังของหนังถูก bold ให้ใหญ่ด้วยประเด็นของคานส์ ถูก build ด้วยความเป็นหนังออริจินัลที่ได้รับการสร้างอย่างดีจากฝีมือผู้กำกับชั้นยอดและงบประมาณสูงลิบเกินกว่าจะเป็นหนังสตรีมมิ่งปกติ แต่สุดท้ายตัวหนังก็ไม่ได้รางวัลอะไรที่เทศกาล (แถมเหมือนโดนคนเทศกาลแบนไปด้วยสักเล็กน้อย) และเมื่อมันออกฉายในระบบก็ฮือฮากันอยู่สักพักแล้วจบไป หลังจากนั้นหนังออริจินัลของ Netflix ที่ตามออกมา แม้ว่าจะพยายามปั้นสักแค่ไหน หนังอย่าง Bright ของวิลล์ สมิธก็ยังถูกมองว่าเป็นหนังเล็กๆ ทั้งที่ฟอร์มหนังก็เหมือนหนังฮอลลีวูดเข้าโรงทั่วไป ตำรวจคู่หูยิงกันผสมด้วยซีจีเยอะๆ ไม่ต่างจากหนังแบบ men in black ที่วิลล์ สมิธ เคยเล่น เพียงแค่มันไม่ได้เข้าฉายโรงปกติ ทุกคนก็ต่างคิดว่าเป็นหนังเล็กหรือเป็นหนังทีวีไปโดยปริยาย
ว่าง่ายๆ คือการรับรู้ของคนดูหนังทั่วไปที่มีต่อหนังใหม่เรื่องหนึ่งยังคงเป็นโหมดเดิมอย่างที่ถูกฝังรากกันมา คือหนังที่เข้าโรงภาพยนตร์จะดูใหญ่กว่าหนังที่ไม่เข้าโรงภาพยนตร์ ดูเป็นหนังมากกว่า ดูแพงกว่า (ทั้งๆ ที่หนัง Netflix ใช้งบสร้างเยอะกว่าหนังเข้าโรงบางเรื่อง) ไปๆ มาๆ หนังที่ฟอร์มเล็กกว่าแต่เข้าโรงอาจจะดูใหญ่กว่าด้วยซ้ำไป ล่าสุดกับหนังอย่าง Annihilation ที่นำแสดงโดยนาตาลี พอร์ทแมน ซึ่งทางสตูดิโอตัดสินใจขายสิทธิ์ฉายทั่วโลกใน Netflix ไปเลยหลังจากที่ฉายไปแล้วในโรงที่สหรัฐอเมริกา ดังนั้นหนังจึงไม่เข้าโรงที่ประเทศใดๆ และพอมันไม่เข้าโรง สภาพของหนังเรื่องนี้ในประเทศอื่นก็กลายเป็นหนังเล็กเรื่องหนึ่งไปโดยปริยาย (ทั้งที่ในตัวหนังเองมีองค์ประกอบที่เป็นหนังใหญ่ทุกอณู ไม่ว่าจะเป็นดาราเบอร์ใหญ่หรือ CG สวยงามมากมาย)
สรุปว่าหนังใหญ่หรือไม่ใหญ่นั้นอยู่ที่มันเข้าโรงหรือไม่ หรือถูกโปรโมตว่าเป็นหนังโรงหรือเปล่า จึงไม่น่าแปลกใจที่ Netflix ยังคงต้องการพาหนังไปเปิดตัวตามเทศกาลหนังจริงๆ เพื่ออย่างน้อยให้คนเข้าใจว่ามันเป็นหนังโรงหรือหนังปกติ ไม่ใช่หนังสตรีมมิ่ง กลายเป็นว่าระบบหนังทางเลือกที่พยายามจะออกจากศูนย์กลางอย่าง Netflix ก็ยังต้องพึ่งพาศูนย์กลางอย่างเทศกาลหนังหรือโรงภาพยนตร์อยู่ไม่น้อย
ไม่จำเป็น : ดังนั้นความพยายามของ Netflix ที่พยายามจะเอาหนังเข้าโรงปกติหรือเทศกาลปกติก่อนฉายในระบบตัวเองนั้น จึงค่อนข้างย้อนแย้งกับความตั้งใจของตัวเองสักเล็กน้อยในการที่จะผลิตหนังฉายเองแบบเบ็ดเสร็จโดยไม่ง้อโรงง้อค่ายอะไรกันอีกต่อไป แม้ในเวลานี้อาจจะยังเป็นเวลาที่ยากลำบากในการสร้างการรับรู้ใหม่ๆ หรือนิยามใหม่ของภาพยนตร์ให้กับคนดู แต่จริงๆแล้ว Netflix ควรมุ่งมั่นกับมันแบบไม่มีโรงอยู่ข้างกายต่อไป เพราะนั่นคือใจความสำคัญของ Netflix ในการผลิตหนังทางเลือกใหม่ๆ ออกมาโดยไม่ต้องตกอยู่ในระบบการฉายปกติ
หาก Netflix ทำได้จริงๆ คนดูก็จะไม่ติดขัดในการจะดูงานใหม่ๆ จากสตรีมมิ่งโดยไม่สนว่านี่เป็นหนังโรงหรือเปล่า เหมือนที่มันเกิดขึ้นกับซีรีส์อย่าง Stranger Things ที่ไม่มีใครสนใจว่ามันเป็นหนังโรงหรือไม่โรง และก็ดูมันอย่างที่มันเป็น จนหลายคนก็เริ่มตัดสินใจทิ้งหนังโรงมาติดซีรีส์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นการเอาหนังออริจินัลของตัวเองไปพยายามผสมกับหนังโรงปกติ อาจจะดูหลงทางไปสักเล็กน้อย แต่แน่นอนว่าการตั้งหน้าตั้งพัฒนางานออริจินัลของตัวเองให้ดีจนมีที่ทางนั้น ก็ไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายเหมือนตอนพัฒนาซีรีส์ที่คนไม่มีความคาดหวังใดๆ กับมัน ไม่ต้องต่อสู้กับการรับรู้เก่าที่ฝังรากมานานเหมือนภาพยนตร์ปกติ เพราะซีรีส์มันอยู่ในทีวีอยู่แล้ว
ในปีนี้และปีถัดๆ ไป Netflix มีแผนจะผลิตงานฟอร์มใหญ่ออกมาอีกครั้ง ใกล้ๆ นี้ก็จะมี The Irishman ของมาร์ติน สกอร์เซซี่ที่รวมดาวอย่างโรเบิร์ต เดอนีโร, อัล ปาชิโน และโจ เพสซี่ ด้วยงบผลิตประมาณร้อยล้าน น่าจะเป็นอีกของแรงหนึ่งในระบบสตรีมมิ่งนี้ในการที่จะมาพิชิตโลก และยังไม่นับบรรดาหนังเล็กหนังน้อยทั้งหลายจากผู้กำกับหนังชื่อดังคนอื่นๆ ที่ทยอยแวะเวียนกันไปทำให้เราอาจจะต้องดูกันไปยาวๆ อีกสักปีว่า Netflix จะเป็นอย่างไรต่อไป แล้วมาลุ้นกันว่าปีหน้าที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ เราจะได้เห็นหนังจาก Netflix อยู่ในโรงหนังที่นั่นหรือไม่
ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ