เมื่อหนังใหม่อยากฉายชนโรง แต่โรงไม่ให้ชน : กรณีพิพาทระหว่าง Netflix คานส์ และ โรงหนังฝรั่งเศส

พอดีจริงๆ ที่บทความนี้เหมือนเป็นภาคต่อของบทความ นอนดูหนังใหม่ชนโรงที่บ้านแบบสบายใจ ใครได้? ใครเสีย? ท่านสามารถย้อนไปอ่านได้ก่อนที่จะลุยกันที่ย่อหน้าถัดไป

หลังจากที่ผมเคยพูดถึงอนาคตของการดูหนังที่บ้านและแผนการยึดโลกภาพยนตร์ของ Netflix ที่ผันตัวจากผู้ให้บริการสตรีมมิ่งกลายมาเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ และพยายามจะเติบโตกลายเป็นค่ายหนัง เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชัยชนะหนึ่งของ Netflix คือการที่หนัง Netflix Original Films (ภาพยนตร์ขนาดยาวที่สร้างขึ้นเพื่อฉายใน Netflix โดยเฉพาะ มีคุณภาพงานสร้างเหมือนหนังโรงปกติทั่วไป เพียงแต่ไม่ฉายโรง) ได้มีโอกาสเข้าสายประกวดหลักชิงปาล์มทองคำถึง 2 เรื่อง นั่นคือ Okja หนังใหม่ของผู้กำกับเกาหลีชื่อดัง บองจุนโฮ ( Memories of Murder [2003], The Host [2006], Snowpiercer [2013]) และหนังเรื่อง The Meyerowitz Stories หนังใหม่ของโนอาห์ บอมบัค (Margot at the Wedding [2007], Frances Ha [2012])

งานนี้ถือว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนมากมายสู่วงการภาพยนตร์ เพราะนี่เป็นเครื่องยืนยันว่า Netflix จะมายึดโลกแล้วจริงๆ เพราะหนังของพวกเขากระโดดออกจากแพลตฟอร์มเล็กๆ ของตัวเอง เพื่อฟาดแข้งกับหนังทั่วไปในสนามปกติ จากที่คนจะคิดว่าหนัง Netflix ก็คือหนังทีวีหรือหนังออนไลน์ การที่มันได้เข้าสายประกวดหลักนั้นทำให้ความหมายของ ‘ภาพยนตร์ขนาดยาว’ ที่เราเคยเข้าใจนั้นเปลี่ยนไปอย่างมาก และนี่เป็นคำถามสำคัญที่เป็นชนวนของเหตุการณ์ในครั้งนี้

ปกติในการรับรู้คำว่า ‘ภาพยนตร์ขนาดยาว’ นั้น หนังอาจจะเปิดตัวในโรงภาพยนตร์ทั่วไปหรือไปฉายเทศกาลหนัง ก่อนที่สุดท้ายจะถูกวางขายต่อในรูปแบบดีวีดี หรือสตรีมมิ่งเซอร์วิสในอีกหลายเดือนถัดมาหลังออกจากโรง และโดยปกติแล้วภาพยนตร์ขนาดยาวที่ว่า ก็มักจะมีคุณภาพแตกต่างจากหนังโทรทัศน์ หนังทำลงแผ่นดีวีดี หรือหนังออนไลน์อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์ถ่ายทำที่ดีกว่า หรือนักแสดงบิ๊กเนมที่ดังกว่านักแสดงโทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจของคนดูอย่างมาก

ตัวอย่างเช่น บางครั้งพอคนเกิดรู้มาว่าหนังเรื่อง ก เป็นหนังทำลงแผ่นโดยเฉพาะ ก็จะรู้สึกว่าหนังไม่ดี หรือเป็นหนังฟอร์มเล็ก ไม่คุ้มเวลาที่จะดู หรือไว้ดูบนรถทัวร์และเครื่องบินเพื่อฆ่าเวลาก็พอ (แต่ที่พูดๆ เนี่ย ตัวเองยังไม่ได้ดูหนังเลยนะ ตัดสินจากภาพลักษณ์ภายนอกล้วนๆ) แต่มาวันหนึ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายหนังโรงเป็นตัวเดียวกับหนังทีวี เพราะราคามันถูกลง ผู้กำกับบางคนถูกจ้างไปทำหนังทีวีหรือซีรีส์ และงานเหล่านั้นดันออกมาคุณภาพดีกว่าหนังโรง (อาจเป็นเพราะผู้กำกับไม่ต้องนอยด์มากเท่าตอนทำหนังโรง  เพราะลงทุนน้อยกว่า ทำให้มีอิสระในการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ แจ๋วๆ ขึ้นมา) ดารานักแสดงบางคนคงเล่นหนังมาร์เวลจนเบื่อ ก็อยากลองมาเล่นหนังเล็กๆ บ้าง ค่าตัวอาจจะน้อยกว่า แต่วันถ่ายทำก็น้อยตาม และได้เล่นบทที่หลากหลายบ้าง จบที่ว่าหนังสตรีมมิ่งบางเรื่องสร้างกระแสได้เทียบเท่าหนังโรงปกติ หนังเล็กบางเรื่องทำเงินได้เยอะกว่าหนังใหญ่ ดังนั้น เส้นแบ่งระหว่างหนังโรงกับหนังไม่โรงจึงค่อยๆ เลือนหายไปเรื่อยๆ จนเหลือแค่ ‘หนังที่ดี’ กับ ‘หนังที่ไม่ดี’ เท่านั้นเลย ดูที่ไหนก็ไม่สำคัญอีกต่อไป

ฟังแล้วดูดีและน่าเห็นด้วยครับ บางครั้งหนังเล็กๆ ไอเดียดีๆ บางเรื่องก็ไม่ถูกผลิตออกมาเพราะสตูดิโอไม่เห็นด้วยหรือไม่อยากลงทุนกับอะไรเล็กๆ ทุกคนก็มีสิทธิ์จะหาทางผลิตงานชิ้นนั้นออกมาในวิถีทางของตัวเอง จะเล็กจะใหญ่ เราก็หนังเหมือนกันและมีสิทธิ์ลงเตะในสนามเดียวกัน เอาเข้าจริงผมเชื่อว่าผู้กำกับทุกคนอยากให้งานตัวเองได้ฉายในโรงปกตินั่นแหละครับ แต่โรงหนังก็ไม่สามารถเอาหนังทุกเรื่องเข้าฉายได้เช่นกัน สิทธิ์ในการได้ฉายหรือไม่ฉายก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของโรงพิจารณาอีก ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องยอมรับว่ามาตรฐานและสิทธิ์ในการได้ฉายโรงของหนังแต่ละเรื่องไม่เท่ากันอยู่, โชคดีมากที่ยุคนี้คนดูเริ่มให้การยอมรับการดูหนังผ่านจอคอม จอทีวี และจอมือถือ มากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้หนังเล็กๆ ที่ไม่มีโอกาสไปฉายที่โรงภาพยนตร์ปกติมีสิทธิ์สร้างที่ทางและพาหนังของตัวเองให้ไปถึงสายตาคนดูมากขึ้นผ่านโลกออนไลน์ และสามารถสร้างรายได้ชนิดที่อยู่ได้ด้วยตัวเองจากการฉายผ่านช่องทางเหล่านี้ด้วย

พฤติกรรมของคนดูที่เปลี่ยนไปทำให้หนังจอเล็กมีอำนาจมากขึ้นเยอะ แถมตัว Netflix ก็เริ่มลดการซื้อหนังที่ลาโรงไปแล้วมาฉาย หันไปทุ่มทุนสร้างหนังของตัวเองขึ้นมาเพื่อป้อนกลุ่มคนดูออนไลน์โดยเฉพาะ หนังที่สร้างออกมานั้นก็ดูฟอร์มดีมีดาราดังไม่ต่างจากหนังโรงทั่วไป แถมข้อเสนอในการสร้างของ Netflix นั้นเป็นที่เย้ายวนและดึงดูดให้ผู้กำกับต่างๆ อยากเข้าไปร่วมงานอย่างมากมาย (บองจุนโฮออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้ว่าหนังเรื่อง Okja อาจจะได้ฉายแค่ในช่องทางออนไลน์ แต่สำหรับเขาในฐานะผู้กำกับแล้ว เขาก็ยังอยากทำมาก เพราะทาง Netflix ให้อิสระมากมายพร้อมด้วยเงินทุนที่เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์การสร้างหนังเกาหลี ถ้าหนังเรื่องนี้ออกมาไม่ดี มาโทษเขาได้เลย 100 เปอร์เซ็นต์) ว่าง่ายๆ คือ Netflix กำลังจะสร้างทั้งหนังและโรงหนังขึ้นมาพร้อมกันแบบเบ็ดเสร็จทีเดียว และพร้อมจะกักตัวคนดูให้อยู่กับ Netflix ตลอดเวลาโดยไม่ให้ต้องไปโรงหนังอีกเลย ซึ่งก็คงไม่เป็นไรหรอก ถ้า Netflix สร้างเองแล้วจบอยู่ในโลกออนไลน์ แต่การกระโดดออกมาชิงกับหนังปกติในเวทีประกวดระดับโลกนี่คือความแก่นแก้ว คนเสียประโยชน์ซึ่งคือเจ้าของโรงภาพยนตร์และสตูดิโอภาพยนตร์จึงไม่ยอมอีกต่อไป, ปัญหาที่เทศกาลคานส์ปีนี้เริ่มต้นตรงนี้

การที่หนัง 2 เรื่องของ Netflix ได้มีโอกาสเข้าชิงในสายประกวดสูงสุดของคานส์นั้น แม้ว่าสุดท้ายจะไม่ได้รางวัล แต่หนังสองเรื่องนั้นก็สามารถเอาไปคุย (และโฆษณา) ได้แล้วว่าได้ฉายที่คานส์มาก่อนที่จะฉายให้พวกคุณดูที่ช่องของเราในเดือนถัดไป เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่ม มูลค่าให้หนังเรื่องนั้นอย่างหนึ่ง โอเค แม้หลายคนจะคิดว่าเวทีนี้สมควรเป็นเวทีเสรีสำหรับหนังอะไรก็ได้ที่เป็นหนังดี และมันก็ดีที่หนังเล็กๆ หรือหนังออนไลน์ได้ยกระดับและมีโอกาสเทียบเท่ากับหนังใหญ่ปกติ และช่วยยืนยันว่าหนังที่ดีก็ไม่จำเป็นจะต้องดูที่โรงอีกต่อไป คนดูก็สบาย คนทำก็มีอิสระ

ฟังแล้วก็เห็นด้วยเหมือนกัน แต่ก็ต้องยอมรับจริงๆ ว่านี่เป็นธุรกิจแบบหนึ่ง การที่คานส์ยอมรับหนังของ Netflix ให้เข้าสายประกวดนั้นมีคนคิดว่านี่เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เพราะ Netflix นั้นแทบจะเป็นลูกค้าคนสำคัญในตลาดซื้อขายหนังที่คานส์ ส่วนคานส์ก็อาจจะอยากตอบแทนด้วยการมอบเหรียญติดยศให้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ของเพื่อนบ้าง ก็ช่วยๆ กันไป ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้มองว่า Netflix คือพระเจ้าผู้มาปลดล็อกและมอบอิสรภาพให้กับหนังด้อยโอกาสทุกเรื่อง เพราะสุดท้ายแล้ว Netflix เองก็ต้องเลือกว่าจะสร้างหนังแบบไหนและไม่สร้างหนังแบบไหนอยู่ดี

ทั้งหมดนี้จึงทำให้บรรดาเจ้าของโรงหนังของฝรั่งเศสลุกฮือขึ้นมาประท้วงเรื่องนี้อย่างรุนแรง แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเขาคงเสียผลประโยชน์ แต่อีกส่วนหนึ่งเขาก็ยกประเด็นขึ้นมาให้บรรดาคนจัดงานทบทวนว่า อะไรคือคำว่า Cinema กันแน่ คงเป็นฟีลว่า เราเลิกจัดคอนเสิร์ตกันเถอะ ให้คนดูผ่านแต่ YouTube ก็พอ นักดนตรี (และคนจัดคอนเสิร์ต รวมถึงผู้ให้เช่าสถานที่จัดคอนเสิร์ต) ก็คงไม่ยอมเช่นกัน ซึ่งก็คงมีนักดนตรีอีกส่วนบอกว่าก็ค่าเช่าสถานที่มันแพง ถ้าไม่เล่นให้ดูในยูทูบ กูก็ไม่ได้เล่นเลยนะ นักร้องหลายคนก็มีโอกาสเกิดและดังจากการมียูทูบนี่แหละ (แล้วการถกเถียงก็เริ่มกันต่อไปอย่างไม่รู้จบ)

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สรุปยาก ภาพยนตร์เป็นพาณิชย์และศิลป์ผสมกัน มันจึงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่าซีเรียสกับอะไร จอใหญ่ก็สำคัญ ความเงียบและสมาธิในการชมก็สำคัญ การชมเป็นหมู่คณะก็สำคัญ ความหลากหลายของภาพยนตร์ก็สำคัญ การถูกกีดกันโอกาสในการสร้างและการฉายหนังก็สำคัญ, และไม่ว่าคุณจะสรุปว่าอะไร หรือจะยังสรุปไม่ได้ ทางเทศกาลเมืองคานส์ก็สรุปมาให้เรียบร้อยแล้วว่า ปีหน้าจะไม่มีหนังของ Netflix ได้ประกวดอีก หนังทุกเรื่องที่จะเข้าชิงได้นั้นต้องคอนเฟิร์มมาก่อนเลยว่าจะได้เข้าฉายในโรงหนังที่ฝรั่งเศสแน่ๆ ตบท้ายด้วยการที่ Netflix ยอมฉาย Okja ในโรงหนังที่อเมริกา อังกฤษ และเกาหลี พร้อมกับการปล่อยสตรีมมิ่งวันแรก จากที่ไม่เคยมีแผนจะฉายโรงแต่อย่างใด

เอาเข้าจริง ผมไม่รู้จะสรุปบทความนี้อย่างไรเหมือนกัน แต่คิดว่าคงเป็นประโยชน์ดีที่จะสตาร์ทให้คุณได้ลองถกเถียงและสรุปกันเอง สงครามนี้เพิ่งเริ่มต้นและคงจะเกิดขึ้นกันไปอีกยาว ก็คล้ายๆ กับสมัยที่โทรทัศน์ถือกำเนิดขึ้นหรือเครื่องเล่นวิดีโอถูกผลิตออกมาสะเทือนเจ้าของโรงภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์, ก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่ว่ามันจะดำเนินต่อไปอย่างไร

AUTHOR