Blade Runner 2049 : 3 ชั่วโมงกับภาพยนตร์หมองหม่นที่แฝงด้วยปรัชญาอันลุ่มลึก

Director: Denis Villeneuve
Genre: Fantasy / Science Fiction
Region: USA

เราหวั่นใจเมื่อรู้ว่า Blade Runner 2049 เป็นภาคต่อของ Blade Runner (1982) ที่กำกับโดย Ridley Scott เมื่อ 35 ปีที่แล้ว เพราะเราไม่เคยดูหนังเก่าขึ้นหิ้งเรื่องนี้เลย ตอนนั้นเรายังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ (ขำ) แต่เมื่อเพื่อนคนหนึ่งบอกว่า “ไปดูเถอะ หนังสนุก ไม่ต้องดูภาคแรกก็รู้เรื่อง” เราจึงปลอบตัวเองด้วยคำพูดนี้และเข้าไปดูหนังโดยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับจักรวาล Blade Runner ที่แสนกว้างใหญ่ไปก่อนเลย

ไม่น่าเชื่อว่าที่เพื่อนพูดจะเป็นเรื่องจริง เราไม่ต้องดูภาคแรกไปก่อนก็สามารถเข้าใจเนื้อหาและติดตามหนังเรื่องนี้ได้อย่างไม่ขาดตอน เพราะ 161 นาทีใน Blade Runner 2049 จะค่อยๆ ปูทางให้เราเข้าใจจักรวาลสมมุตินี้จนเราปะติดปะต่อเรื่องราวขึ้นเองได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้น เราจะไม่พูดถึง Blade Runner ภาคแรกมากนัก และมุ่งเน้นไปที่ Blade Runner 2049 เป็นหลัก

ศัพท์สำคัญในการเดินเรื่อง

ก่อนเราเข้าสู่จักรวาลของ Blade Runner มีศัพท์สำคัญที่ต้องรู้จักกันก่อน คือ ‘Replicant’ (มนุษย์เทียม) และ ‘Blade Runner’ (นักล่ามนุษย์เทียม) มนุษย์สร้าง Replicant เพื่อใช้แรงงาน เทียบได้กับหุ่นยนต์แต่มีรูปลักษณ์อย่างมนุษย์ แต่ Replicant กลับทรยศจึงต้องมี Blade Runner เพื่อไล่ทำลาย Replicant นั่นเอง นี่คือแกนสำคัญที่ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินไป แต่ใน Blade Runner 2049 เกิดข้อขัดแย้งอันใหญ่หลวงขึ้น นั่นคือ Replicant ที่ไม่น่าจะสืบพันธุ์ได้กลับให้กำเนิดลูกขึ้นมา ทำให้ Blade Runner ที่เป็น Replicant อย่างเจ้าหน้าที่ KD 6-3.7 (แสดงโดย Ryan Gosling) ต้องตามหาลูก Replicant และทำลายทิ้ง (เนื้อเรื่องที่กล่าวไว้เป็นเพียงแค่คร่าวๆ ในภาพยนตร์ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะ)

ฉากและภาพที่หมองหม่นแต่แฝงด้วยความละเอียดอ่อนและความสวยงาม

ตลอดระยะเวลา 3 ชั่วโมงนี้ เราขอรับประกันความสวยงามตระการตาของแต่ละฉากบนจอภาพ แค่เปิดฉากแรกมาก็สัมผัสได้ถึงความเวิ้งว้างและหมองหม่นจนขนลุกเกรียวและเผลอร้อง ‘โห’ ในใจดังๆ ไม่ใช่แค่ฉากและภาพที่เล่นใหญ่ ทั้งตัวละคร เสื้อผ้าหน้าผม และรายละเอียดของโลกสมมุติใบนี้ก็สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถัน ละเอียดลออ ทุกรายละเอียดต่างซ่อนเร้นความละมุนภายใต้ความหมองหม่นไว้ได้อย่างลงตัว เราแทบแยกไม่ออกเลยว่าเรากำลังรับชมงานศิลปะหรือภาพยนตร์ขนาดยาวอยู่

เรามองว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้ผสมผสานความหมองหม่นและความละมุนไว้ได้อย่างลงตัวคือการดำเนินเรื่องอย่างช้าๆ เหมือนให้เราค่อยๆ ซึมซับทุกอณูบรรยากาศเอาไว้ ให้เราได้จดจ้อง สังเกต ทำความรู้จักกับโลกสมมตินี้ให้มากที่สุดภายในเวลาที่พอเหมาะ ไม่นานเกินไปจนอืดอาดหรือเร็วเกินไปจนพลาดความสวยงามที่หลบซ่อนอยู่

รายละเอียดปลีกย่อยที่สร้างมิติให้จักรวาล Blade Runner

ไม่เพียงงานภาพที่สมควรได้รับคำยกย่อง รายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลักยังสนับสนุนแก่นเรื่องและสร้างมิติให้กับโลก Blade Runner ได้อย่างดี ทำให้เราอยากค้นหาและสังเกตแต่ละรายละเอียดให้มากยิ่งขึ้น เช่น เราได้ยินหลายภาษาในฉากเดียวกัน ทำให้เข้าใจว่ามนุษย์จากหลากถิ่นมารวมกันอยู่ในเมืองคับแคบที่มืดมัวและอับชื้นเพราะฝนตกตลอดเวลา หรือฉากการเกิดของ Replicant ที่คล้ายกับการคลอดลูก ก่อนจะออกมาดิ้นพรวดพราด หอบแฮ่กๆ และตัวสั่นงันงกด้วยความกลัว เป็นการออกแบบที่ชวนให้สับสนถึงการมีอยู่ของความรู้สึกภายใน Replicant ที่อาจไม่ต่างจากมนุษย์ก็เป็นได้

บทพูดและเนื้อหาที่แฝงด้วยปรัชญาลึกล้ำ

เมื่อได้ส่วนประกอบต่างๆ มาเสริมทัพแล้ว ต่อมาจึงเป็นหน้าที่ของเส้นเรื่องหลักที่ต้องเอาคนดูให้อยู่ไม่แพ้รายละเอียดอื่นๆ ซึ่งผู้กำกับ Denis Villeneuve ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง

เส้นเรื่องหลักจะค่อยๆ ทำให้เราเห็นพัฒนาการของเจ้าหน้าที่ KD 6-3.7 จากเพียง Replicant ผู้ทำตามหน้าที่ ค่อยๆ กระทำการบางอย่างเพื่อไปให้ถึงจุดหมายของตัวเองราวกับคนคนหนึ่งที่กำลังพยายามอย่างรากเลือดเพื่อสร้างคุณค่าให้ชีวิตของเขา

KD 6-3.7 เป็นเหมือนตัวแทน Replicant ที่แสดงให้เราเห็นถึงความรู้สึกและอารมณ์อันรุนแรงภายในตัวมนุษย์เทียม แม้จะเป็นมนุษย์เทียม แต่ KD 6-3.7 กลับเปี่ยมล้นด้วยความเศร้า ความรัก และความฉงนในตัวเอง ทุกๆ การกระทำอาจสื่อได้ว่าเขากำลังค้นหาบางอย่างเพื่อเติมเต็มความต้องการของตัวเองพร้อมกับให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ ที่ตัวเขาเลือก และนั่นเป็นสิ่งพื้นฐานที่มนุษย์อย่างเราเองก็ทำ

นอกจากนี้ วิวัฒนาการของ Replicant ที่ให้กำเนิดลูกได้ยังเป็นการล้ำเส้นแบ่งระหว่าง Replicant กับมนุษย์ เพราะการสืบพันธุ์เป็นความสามารถพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตเท่านั้น แต่เมื่อ Replicant ได้รับความสามารถนี้มา จึงเป็นดั่งปฏิหาริย์ที่ทำลายเส้นกั้นของ ‘ความเป็นมนุษย์’ ลง เมื่อคิดเปรียบเทียบกันดังนี้ เราจึงเผลอถามตัวเองขึ้นมาว่าเส้นกั้นระหว่าง Replicant กับมนุษย์คืออะไรกันแน่ เราไม่อาจบอกได้เลยว่า Replicant ไม่มี ‘ชีวิต’ หรือห่างไกลจาก ‘ความเป็นมนุษย์’ แค่ไหน แล้วทำไมเราถึงบอกว่า Replicant ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตหรือมนุษย์

ความสนุกของ Blade Runner 2049 จึงไม่ใช่ฉากต่อสู้เลือดสาดหรือความหวือหวาล้ำโลกของเทคโนโลยีในหนัง แต่กลับเป็นความลึกซึ้งของตัวบทและเนื้อเรื่องที่ชวนให้เราขบคิดถึงการมีชีวิต ทำให้เราเชื่อในปาฏิหาริย์แห่งชีวิต และทำให้เราตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นมนุษย์’ อย่างจริงจังอีกครั้ง

AUTHOR