dear haters
stay updated
stay updated
เหล่านี้คือข้อความส่วนหนึ่งจากสตอรีอินสตาแกรมของแอ็กเคานต์ tishashast ของ ชาช่า–ทิชา วงศ์พิมลพร อินฟลูเอนเซอร์สาววัย 20 ต้นๆ ผู้โด่งดังจากการมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าในสไตล์ของตัวเองจนกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มียอดผู้ติดตามถึง 120,000 คน
หากไล่ดูไฮไลต์สตอรีของเธอจะเห็นว่าอัลบั้ม ‘dear haters’ นั้นว่าด้วยการอธิบายขยายความเรื่องฟาสต์แฟชั่นหรือโมเดลธุรกิจแฟชั่นที่ผลิตอย่างไม่ได้มาตรฐาน รวดเร็ว จนส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและลดทอนสิทธิมนุษยชน
ส่วนไฮไลต์ชื่อ ‘stay updated’ ทั้งสองคือการชักชวนผู้ติดตามนับแสนคนมาทำความเข้าใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในระดับโลก ตั้งแต่การเรียกร้องความเท่าเทียมให้คนดำอย่าง Black Lives Matter การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นแรงงานที่ถูกลิดรอนสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงปัญหาร้อยแปดพันเก้าในสังคมไทยอย่างปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ, พ.ร.บ.คู่ชีวิต, แคมเปญ Save Thai Wear Thai สนับสนุนธุรกิจสิ่งทอไทยกระทั่งประเด็นการเมืองที่กำลังร้อนแรง
ไม่เพียงแค่ในอินสตาแกรม ชาช่ายังเคลื่อนไหวทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนไม่น้อย–นั่นทำให้เราสนใจว่าอะไรทำให้อินฟลูเอนเซอร์ผู้มีอิทธิพลด้านแฟชั่นลุกขึ้นมาสร้างอิทธิพลด้านอื่นๆ
และถ้าแพทย์ ครู และอาชีพอื่นๆ ต่างมีจรรยาบรรณ แล้วจรรยาบรรณของอินฟลูเอนเซอร์คืออะไร
เตรียมมือถือให้พร้อม กดติดตามชาช่าในช่องทางโซเชียลมีเดีย แล้วมาฟังเหตุผลของเธอกัน
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าอาชีพที่คุณทำอยู่เรียกว่าอะไรและมีหน้าที่อะไรบ้าง
ลูกค้าเรียกเราว่าอินฟลูเอนเซอร์ซึ่งมีความสามารถในการโน้มน้าวคนอื่น เหมือนว่าเราโพสต์อะไรแล้วคนจะรู้สึกอยากซื้อตาม
คุณมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ยังไง
ตอนอายุ 17 เราเล่นอินสตาแกรมไปเรื่อยๆ พี่คนหนึ่งก็มาชวนไปเป็นนางแบบถ่ายเสื้อผ้า พอดีเราชอบดูรูปสวยๆ และรูปนางแบบอยู่แล้ว บวกกับตอนนั้นอยากทำงานเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์แต่ยังทำไม่ได้ก็เลยรับเพราะอยากเข้าไปทำงานในแวดวงนั้นก่อน จากนั้นก็มีคนติดตามเราเพิ่มขึ้นเราก็เลยเริ่มรับงานรีวิวเสื้อผ้า โปรโมตสินค้า และถ่ายเอ็มวี
รับงานรีวิวเพื่อโน้มน้าวให้คนซื้อเสื้อผ้าอยู่ดีๆ ทำไมถึงมาสนใจการรณรงค์เรื่องฟาสต์แฟชั่น ที่ในทางหนึ่งก็ดูเหมือนว่าจะสนับสนุนให้คนซื้อเสื้อผ้าน้อยลง
ไม่นานมานี้เพื่อนเล่าให้ฟังถึงประเด็นฟาสต์แฟชั่นว่ามีแรงงานของโรงงานผลิตเสื้อผ้าแห่งหนึ่งถูกเจ้านายคุกคามทางเพศ เขาพูดอะไรไม่ได้เพราะถ้าพูดก็โดนไล่ออกและถ้าโดนไล่ออกเขาจะกินอะไรเพราะเขามีเงินแค่พอกินวันต่อวันเท่านั้น เรารู้สึกไม่ดีมากๆ ก็เลยไปศึกษาต่อเอง
พอศึกษาแล้วรับรู้ว่าฟาสต์แฟชั่นคืออะไร
เท่าที่ศึกษา ประเด็นเรื่องฟาสต์แฟชั่นเป็นสเปกตรัมที่ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำแต่คือโมเดลธุรกิจของนายทุนทั้งแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก ที่จะออกเสื้อผ้าคอลเลกชั่นใหม่ทุกสัปดาห์ทั้งๆ ที่ตามปกติวงการแฟชั่นจะออกคอลเลกชั่นใหม่แค่ปีละ 2 คอลเลกชั่นเท่านั้น ถามว่าเขาออกบ่อยขนาดนั้นได้ยังไงเพราะเขาก๊อปเสื้อผ้าจากดีไซเนอร์แล้วเอามาผลิตใหม่โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์แค่งานศิลปะเท่านั้นแต่เสื้อผ้าเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างศิลปะกับของใช้
หรือบางครั้ง ฟาสต์แฟชั่นก็คือการผลิตเสื้อผ้าครั้งละมากๆ ลดต้นทุนการผลิตจนขายได้ในราคาที่ถูก และโฆษณาให้คนรู้สึกว่าต้องมีสิ่งนี้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น คนก็แห่ไปซื้อของที่ถูกกว่าซึ่งไม่ได้ทำร้ายแค่วงการดีไซเนอร์แต่ยังทำลายทรัพยากร
หมายถึงทำให้โลกร้อนเหรอ
ใช่ เพราะหนึ่ง กระบวนการผลิตผ้าแต่ละครั้งใช้สารเคมีและน้ำจำนวนมาก สอง เมื่อต้นทุนถูกลงนายทุนก็อาจบำบัดน้ำอย่างไม่ได้มาตรฐาน สาม ของพังง่ายขึ้น แทนที่คนจะเลือกซ่อมแต่คนเลือกโยนทิ้งแล้วซื้อใหม่เพราะถูกกว่า แล้วมันไม่ใช่แค่เรื่องโลกร้อนแต่ฟาสต์แฟชั่นยังเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย อย่างเคส Rana Plaza ที่เป็นตึกผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดังๆ ที่เราใส่กันถล่มเพราะสร้างไม่ได้มาตรฐานทำให้คนเสียชีวิตเป็นพันคน หรือมีข้อมูลบางส่วนอ้างว่ามีค่ายกักกันและบังคับใช้แรงงานเพื่อผลิตผ้าฝ้ายจำนวนมาก
หลังจากนั้นพอเราเห็นเสื้อผ้าของแบรนด์เหล่านี้หรือเสื้อผ้าที่ผลิตขึ้นมาจำนวนมากๆ เราก็รู้สึกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มันทำให้เราคิดว่าฟาสต์แฟชั่นอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด เสื้อผ้าที่เราใส่อยู่อาจเป็นเลือดเนื้อของใครสักคนก็ได้ และสุดท้ายต่อให้เราเลิกใช้แก้วพลาสติกทั้งชีวิต ก็อาจไม่เท่านายทุนปล่อยน้ำเสียจากการบำบัดที่ไม่ได้มาตรฐานลงไป 1 ครั้ง
อย่างนี้เรายังควรรักษ์โลกอยู่ไหม
ไม่ได้บอกให้เลิกรักษ์โลกแต่เราอยากให้รู้ว่าอย่าไปหลงเชื่ออะไรจากการที่นายทุนและรัฐบาลปัดความรับผิดชอบให้แต่ประชาชน เขาบอกเราว่าโลกร้อนเพราะเราไม่ปิดน้ำ ปิดไฟ เพราะเราขับรถ ทั้งๆ ที่ธุรกิจใหญ่ๆ ปล่อยควัน ปล่อยน้ำเสีย รุกล้ำพื้นที่ป่า
ความรู้เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้คุณออกมาเคลื่อนไหวเรื่องฟาสต์แฟชั่นหรือเปล่า
เราเป็นส่วนหนึ่งของวงการแฟชั่นไปแล้วจากการป้อนโฆษณาให้คนมาซื้อของ พอเรารู้ปัญหาเลยอยู่เฉยไม่ได้ อยากออกมาพูดเรื่องนี้ ตอนแรกก็กลัวคนจะบอกว่าเราย้อนแย้งเพราะเมื่อก่อนเรารีวิวเสื้อผ้าอยู่ดีๆ ทำไมออกมาสนับสนุนให้คนไม่ซื้อเสื้อผ้าบ่อยเกินไป หรือเลิกซื้อเสื้อผ้าจากแบรนด์ที่การผลิตไม่ดี แต่เรากลับคิดว่าก็เพราะเมื่อก่อนเราผิดไงเราถึงต้องรับผิดชอบด้วยการออกมาพูดเรื่องนี้
ในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ที่รับงานรีวิวเสื้อผ้า ทำยังไงให้งานยังเดินหน้าไปพร้อมกับอุดมการณ์ได้
เมื่อก่อนเวลาร้านเสื้อผ้าติดต่อมาเรารับตามความสะดวกและคิดว่าเป็นการช่วยธุรกิจขนาดเล็ก แต่พอรู้ว่าฟาสต์แฟชั่น ไหลไปเร็วมากจากการโฆษณาและการโปรโมตต่างๆ ซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่งที่โยนโฆษณาใส่หน้าคน เราเลยกำหนดลิมิตของตัวเองว่าจะรีวิวเสื้อผ้าเดือนละไม่เกินกี่ชิ้น
ทำไมถึงไม่เลิกรีวิวไปเลย
เพราะวงการแฟชั่นก็ยังต้องเคลื่อนไปข้างหน้า แต่เราจะทำให้เคลื่อนไปอย่างช้าลงได้ยังไงบ้าง จริงๆ การผลิตทุกอย่างไม่ว่าจะในวงการศิลปะหรือวงการอะไรก็ตามล้วนใช้ทรัพยากรอยู่แล้ว เราจึงต้องโฟกัสว่าทรัพยากรเหล่านั้นถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าแค่ไหน ดังนั้นเวลาเราสร้างอะไรออกมาควรจะมั่นใจว่ามีคุณค่าพอที่จะแลกกับทรัพยากรที่เราใช้ไป
คนอื่นที่ไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์จะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อช่วยเรื่องฟาสต์แฟชั่นได้ไหม
ตอนที่เรารู้ตัว เราก็ตกใจว่าฉิบหายแล้ว เสื้อผ้าเต็มบ้านไปหมด เลยทยอยขายเสื้อผ้ามือสองไปสู่คนที่ใส่บ่อยกว่าเรา ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่ได้บอกว่าการซื้อเสื้อผ้าของทุกคนเป็นตัวร้ายที่ทำให้เกิดฟาสต์แฟชั่นนะ แต่เราอยากให้รู้ว่าตัวร้ายจริงๆ คือรัฐบาลกับนายทุนมากกว่า
ดังนั้นใครหยุดซื้อเสื้อผ้าได้ก็ดีเลย เก่งมากๆ ส่วนใครที่ทำไม่ได้ก็อาจจะเริ่มด้วยการซื้อน้อยลง ทั้งใส่เสื้อผ้าที่มีอยู่แล้ว ใส่เสื้อผ้าวินเทจ หรือถ้าต้องซื้อจริงๆ ก็ให้สนับสนุนแบรนด์ที่ออกแบบเอง สร้างคุณค่าให้วงการแฟชั่น และแบรนด์ที่ตรวจสอบได้ เลือกแบรนด์ที่ใช้ mono material (วัสดุชนิดเดียว) ที่รีไซเคิลต่อได้ ทั้งหมดนี้ขึ้นกับว่าคุณใส่คุ้มแค่ไหนด้วย ส่วนที่อยากให้หลีกเลี่ยงการซื้อแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นเพราะคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐานมันทำให้ใส่ได้ไม่นานสร้างนิสัยให้คนซื้อบ่อยโดยไม่รู้ตัว
อุดมคติของเราคือเราอยากให้คนมองเสื้อผ้าเป็นศิลปะต้นทุนแพงมากขึ้น คือยังมีการผลิตเพื่อสร้างสรรค์ได้แต่ในปริมาณที่น้อยลงและใส่ใจในด้านคุณค่ามากขึ้น
เห็นว่าคุณเคยรับงานจากแบรนด์ที่มารู้ทีหลังว่าเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นด้วย ตอนนั้นคุณทำยังไง
เราอาจเล่ามากไม่ได้ แต่เราเคยดีลงานหนึ่งไว้แล้วไม่ได้ตรวจสอบให้ดีว่าธุรกิจเขาไม่ได้น่าสนับสนุนขนาดนั้น เราเลยลงรูปตามสัญญาแล้วนำเงินจากงานนั้นไปบริจาคเข้าองค์กรที่ช่วยเหลือด้านฟาสต์แฟชั่น นอกจากนี้ก็พยายามผลักดันให้อินฟลูเอนเซอร์คนอื่นสอบถามบรีฟงานและแจ้งเงื่อนไขต่างๆ แก่ลูกค้าก่อนรับงานให้เป็นปกติ เพื่อให้มั่นใจว่าเราไม่ได้กำลังหลอกลวงหรือโปรโมตแบรนด์ที่ไม่ควรสนับสนุนแก่ผู้บริโภค
นอกจากจะพูดเรื่องฟาสต์แฟชั่นเห็นว่าคุณออกมาเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมอื่นๆ ด้วย
ใช่ ก่อนหน้านี้เราเคยออกมาพูดหลายเรื่อง เช่น ระบบโซตัส คราฟต์เบียร์ไทย และการคุกคามทางเพศ อย่างเรื่องการคุกคามทางเพศ เราพูดเพราะอยากให้คนรู้ว่าสังคมเรามีเรื่องแบบนี้อยู่จริงๆ เราเองก็เคยโดน กว่าจะกล้าออกมาพูดก็ใช้เวลานานมากเพราะกลัวคนหัวเราะ หาว่าทำเป็นเดือดร้อนแต่จริงๆ แล้วชอบ หาว่าแต่งตัวไม่ดี หรือกลัวโดนทำร้ายอีก แต่เราก็คิดว่าถ้าไม่พูดเลยสังคมก็จะไม่รู้ว่ามีปัญหานี้อยู่ ขนาดเราออกมาพูดยังมีคนบอกว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้ชายเลย
อีกเคสหนึ่งคือมีช่วงหนึ่งที่ผู้ชายหลายๆ คนแชร์รูปผู้หญิงพร้อมแคปชั่นที่ส่อไปทางคุกคามทางเพศแล้วขำคิกคักกันเองเพราะมองว่าสิ่งนี้แหละคือความเป็นชายโดยไม่สนใจว่าคนในรูปมีตัวตนอยู่จริง หรือผู้อื่นจะรู้สึกไม่ปลอดภัย เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเลยเขียนว่าถ้าใครไม่อยากเห็นสิ่งนี้ให้แชร์สเตตัสของเราเพื่อบอกคนในไทม์ไลน์ให้หยุดทำ ซึ่งก็มีคนแชร์จริงๆ หลังจากนั้นเราก็เห็นโพสต์แบบนี้น้อยลงเรื่อยๆ จนตอนนี้ไม่ค่อยเห็นแล้ว มันทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงๆ และการเคลื่อนไหวในอินเทอร์เน็ตก็ไม่ได้ไร้ประโยชน์เพราะเราเองก็ได้รับข้อมูลจากการที่หลายคนในอินเทอร์เน็ตออกมาพูดและให้ความรู้
รวมถึงเรื่องการเมืองด้วย
ใช่ เราพยายามพูดประเด็นหลายๆ อย่างในสังคมโดยเฉพาะเรื่องการเมือง พยายามชี้ให้คนรู้ว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนเพราะหลายคนอาจเห็นภาพการเมืองเป็นเรื่องการแข่งขันและไม่ได้มองว่าใกล้ตัวทั้งที่เอาเข้าจริง แค่การที่เรารู้สึกว่าต้องมีรถยนต์เพราะขนส่งสาธารณะไม่ดีก็เป็นการเมือง หรือกระทั่งการศึกษาไทยที่แย่ๆ ก็การเมืองทั้งนั้น
คิดว่าจรรยาบรรณของอินฟลูเอนเซอร์คืออะไรถึงทำให้คุณออกมาเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ ทางสังคมขนาดนี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในจุดนี้ได้เพราะเรามีพริวิเลจมาเกี่ยวข้อง เราหากินจากการรับใช้ทุนนิยม ป้อนโฆษณาให้คนดูไปเรื่อยๆ เลยรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเราที่จะใช้พริวิเลจที่มีให้เป็นประโยชน์เพื่อทำให้สังคมดีขึ้น
พริวิเลจสำหรับคุณคืออะไร
พริวิเลจมีหลายด้านมากทั้งหน้าตา ฐานะ กระทั่งความสามารถเพราะบางทีความสามารถก็มาจากการมีพรีวิเลจทางฐานะ
ถ้าหลายคนยังนึกไม่ออกว่าตัวเองมีพริวิเลจไหมให้ลองจินตนาการว่าคุณเกิดมาในท้องแรงงานที่ขยันแทบตายก็ไม่มีวันรวยหรืออาจไม่ได้รับการศึกษาด้วยซ้ำ หรือการที่เราไปม็อบได้มันก็คือพริวิเลจแล้วเพราะชนชั้นแรงงานบางคนก็อยากมาม็อบแต่ทำได้แค่ชู 3 นิ้วจากรถเมล์ฟรีเราเลยอยากสนับสนุนรัฐสวัสดิการให้คนได้รับทุกอย่างอย่างเท่าเทียม
คุณเชื่อในความเท่าเทียม
เชื่อสิ ถ้ามันไม่มีเราก็ต่อสู้ไปเรื่อยๆ ลองคิดดูว่ากว่าเราจะมาถึงจุดที่ผู้หญิงสามารถเรียนและทำงานได้ก็ต้องผ่านการต่อสู้ในอดีตนะ ดังนั้นเราเลยไม่อยากยอมแพ้หรือปลงกับปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้น
คุณรู้ตัวตอนไหนว่ามีพริวิเลจ
ตอนที่มีกระแสกีฬาเฟรชชี่ของจุฬาฯ คนออกมาพูดว่าการมีอยู่ของเชียร์ลีดเดอร์หรือการประกวดดาวเดือนต่างๆ ถือเป็นบิวตี้พริวิเลจเพราะคนที่มีหน้าตาดีกว่าได้รับโอกาสที่ดีกว่า ได้เป็นหลีด มีพื้นที่ทางสังคม ขณะที่คนอื่นต้องไปทำงานส่วนอื่นอย่างสแตนด์เชียร์
ถึงเราจะขายคอนเทนต์ ขายไลฟ์สไตล์ แต่หลายครั้งคนก็บอกว่าชอบหน้า ชอบลุคของเรามาก ขณะที่หลายคนที่ขายไลฟ์สไตล์ซึ่งน่าติดตามกว่าเรามากได้รับโอกาสน้อยกว่าเพราะรูปลักษณ์ภายนอกไม่ตรงกับมาตรฐานความงามในปัจจุบันเราเลยเริ่มคิดว่าอาชีพที่เราทำมีพริวิเลจทั้งๆ ที่เราไม่ได้รู้สึกว่าเราหน้าตาดีเลย
ทำไมถึงคิดว่าตัวเองหน้าตาไม่ดี
เมื่อก่อนสังคมจะนิยมคนปากบาง ตัวเล็ก ผิวขาว ตาโต แต่เราหน้าตาไม่ตรงตามมาตรฐานความงามของสังคม ตอนเด็กๆ เรามักโดนบอกว่าตาเล็กเกินไป มีกระบนหน้าแล้วไม่สวย จนแม่ยังบอกว่าต้องทากันแดด ต้องไปเลเซอร์ และฟันเหยินมากๆ ปากหนาจนพยายามทำปากให้เล็กลงและไม่อยากยิ้ม เรียกได้ว่าโดนล้อมาตลอดแต่อยู่ๆ มาตรฐานความงามก็เริ่มขยายมากขึ้นจนเรากลายเป็นคนที่ได้อยู่ในกรอบความงามนั้น เราเห็นชัดมากๆ ว่าเราได้รับการปฏิบัติที่ต่างกันแค่ไหน เราเลยรู้สึกว่ามันคงจะดีถ้ากรอบนี้มันขยายออกไปจนทุกคนสามารถได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมและรู้สึก comfort กับรูปลักษณ์ภายนอกของตัวเองมากขึ้น
ถ้าเลือกเกิดได้ยังอยากเกิดเป็นคนมีพริวิเลจไหม
ตอนแรกเราเอ็นจอยกับการมีคนมาติดตามเพราะเมื่อก่อนเราเคยโดนคนป๊อปในโรงเรียนมองด้วยสายตาเหยียด แต่ตอนนี้เราอยากให้กรอบมาตรฐานความงามของสังคมหายไปเพราะเราก็อยากเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่สามารถสื่อสารคอนเทนต์ต่างๆ ไปยังคนจำนวนมากอยู่
เราไม่ได้อยากเติบโตในด้านอินฟลูเอนเซอร์ขนาดนั้น หลายครั้งแอบรู้สึกว่าถ้าเราไม่ได้มีรูปลักษณ์แบบนี้ ยอดเอ็นเกจเมนต์ของเราคงเกิดจากคอนเทนต์ของเราจริงๆ ไม่ใช่เรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก เราอยากเป็นคนเก่งที่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการกราฟิก แต่พอมีคนติดตามเยอะซึ่งมีผลต่อยอดแชร์งานของเราบางครั้งเลยรู้สึกว่าความสำเร็จของเรามันไม่ได้มาจากความสามารถเพียวๆ แต่จะไปศัลยกรรมให้หน้าเปลี่ยน หรือลบความจำทุกคนก็ไม่ได้ เราหลวมตัวเข้ามาแล้วดังนั้นเราต้องใช้มันให้เป็นประโยชน์
ในฐานะอินฟลูเอนเซอร์คุณคิดยังไงกับกระแสการ call out
บางคนจะบอกว่าอย่ามารุกล้ำสิทธิที่จะไม่พูดของเขา แต่ตอนนี้มีคนที่โดนรุกล้ำสิทธิแบบจริงๆ จังๆ ด้วยกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร เราอยากให้ทุกคนชั่งน้ำหนักให้ดีกว่านี้
คิดว่าทำไมคนอื่นไม่กล้าออกมาพูด
มันมีปัญหาตั้งแต่เรื่องการศึกษาของไทยที่สอนให้เราอยู่ในกรอบ ไม่ตั้งคำถาม รับมาแบบไหนจำแบบนั้น ต้องพินอบพิเทาคนที่อายุมากกว่า เหล่านี้แทรกอยู่ทุกที่ ทั้งองค์กร บริษัท มันคืออาวุธของรัฐที่เลี้ยงให้เราเชื่องตั้งแต่ในโรงเรียน
แล้วคุณไม่กลัวเหรอ
แล้วจะไม่ให้เราพูดได้ยังไง เราจะยอมอยู่อย่างนี้เหรอ ทำไมคนที่เชื่อในความถูกต้องต้องหลบๆ ซ่อนๆ พวกเขามากกว่าหรือเปล่าที่ต้องเป็นคนหลบๆ ซ่อนๆ ตอนนี้ถ้าเห็นว่าคนแบบเรามีน้อยเราก็ยิ่งต้องออกมาแสดงออกกันเยอะๆ ทำให้เขารู้สึกว่าเขานั่นแหละต้องละอายใจที่เชื่อว่าทุกคนไม่เท่ากัน
คิดว่าการออกมาพูดของอินฟลูเอนเซอร์หรือสื่อต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงๆ ไหม
เราไม่รู้ว่าเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน แต่เราดีใจเวลามีคนมาขอบคุณที่เราแชร์เรื่องต่างๆ เพราะเขาไม่เคยรู้มาก่อน นั่นหมายความว่าถึงเราอาจไม่ได้เป็นคนไปเปลี่ยนสังคม แต่เราอาจเป็นคนกระจายให้คนอื่นต่อได้ซึ่งสักวันหนึ่งเขาเองก็อาจเป็นคนที่ไปเปลี่ยนอะไรสักอย่างก็ได้ การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของแต่ละคนอาจจะจุดประกายให้อีกคนทำอะไรที่ใหญ่กว่า เราเองก็รู้สึกขอบคุณทุกคนที่ออกมาพูดปัญหาต่างๆ ในสังคมเพราะเราเองก็ได้รับข้อมูลจากคนในทวิตเตอร์ที่เขาย่อยมาเล่าต่อ
คุณอยากบอกอะไรกับทุกคนที่มีสื่ออยู่ในมือ
อินฟลูเอนเซอร์ดังด้วยตัวเองไม่ได้แต่ดังได้ด้วยการมีคนติดตามและซัพพอร์ต บางคนโพสต์ 1 รูปก็ได้เงินมากกว่าคนทำงานทั้งเดือนแล้ว ดังนั้นทำไมเมื่อคนที่ติดตามคุณหรือสังคมต้องการความช่วยเหลือถึงไม่ออกมาพูดอะไรเลย ขนาดธุรกิจยังต้องทำ CSR แล้วอินฟลูเอนเซอร์หรือคนในวงการจะไม่ทำอะไรหน่อยเหรอ คุณอาจเสียแฟนคลับ ได้รับเงินน้อยลง แต่คุณห่วงเงินมากกว่าห่วงชีวิตของคนหลายๆ คนเหรอ ในเมื่อเราได้รับพริวิเลจ สิ่งที่ควรทำจึงคือการเอาสปอตไลต์ที่มีไปมอบให้คนที่เสียงเบากว่าพูด นี่คือสิ่งที่คนเป็นสื่อไม่ว่าจะสื่อหลัก ดารา หรืออินฟลูเอนเซอร์ควรทำอยู่แล้ว เพราะคุณเข้าถึงประชาชนได้ง่ายที่สุด
ขณะที่คนอื่นไม่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะกลัวสูญเสียหลายๆ อย่าง แล้วมีอะไรที่คุณสูญเสียไปบ้าง
เรากลับมองว่ามันคุ้ม อย่างน้อยเราคงไม่เสียดายหรือรู้สึกแย่กับความขี้ขลาดของตัวเอง แต่ภูมิใจที่เราเชื่อในความถูกต้องและความเท่าเทียมของมนุษย์โดยที่เราเปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ และคอยเช็กตัวเองอยู่เสมอว่าสิ่งที่เชื่อนั้นถูกต้องจริงหรือไม่เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่นำสังคมไปทางที่ผิด พอถึงจุดนี้ เราคิดว่าคงตายตาหลับเพราะรู้ว่าเราได้พยายามเปลี่ยนสังคมไปในทางที่ดีขึ้นอย่างสุดกำลังแล้ว