แด่ทุกการต่อสู้และบาดแผลอันงดงามของผู้หญิง ‘ชื่อของเธอคือ…’

Highlights

  • ชื่อของเธอคือ... คือหนังสือเล่มใหม่จากปลายปากกาของ Cho Nam-joo นักเขียนสาวชาวเกาหลีใต้ผู้จุดประกายการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศด้วยหนังสือ คิมจียอง เกิดปี 82
  • โช นัมจู สัมภาษณ์ผู้หญิงเกาหลีใต้กว่าหกสิบคนเพื่อนำเรื่องราวจริงที่พวกเธอเผชิญมาถ่ายทอดเป็นฟิกชั่นอ่านง่าย เรียบง่าย ทว่าทรงพลัง
  • นอกจากเรื่องการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศแล้ว โช นัมจู ยังให้ความสำคัญกับการต่อสู้ความอยุติธรรมใดๆ และสนับสนุนให้ทุกคนลุกขึ้นมาส่งเสียงเรียกร้องเพื่อสิทธิที่ตนพึงมีและเพื่อสังคมที่ตนอยากเห็น

ในแต่ละขวบปีที่ผันผ่านของชีวิต เราทุกคนล้วนต้องต่อสู้กับอะไรบางอย่างอยู่เสมอ

ต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ต่อสู้เพื่อที่ทางของตัวเองในสังคม ต่อสู้เพื่อสิทธิที่ถูกลิดรอน ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของระบบและสังคม ต่อสู้เพื่อคัดคานกับอำนาจที่ฝังรากลึก ไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไร ต่างคนต่างมีเหตุผลของการต่อสู้ที่ไม่เหมือนกัน

และสำหรับผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ พวกเธอต้องต่อสู้อย่างไม่หยุดหย่อนในทุกช่วงชีวิต ต่อสู้กับปัญหาหลากหลายที่เปรียบเสมือนข้าศึกที่รายล้อมรอบด้าน

อย่างที่หลายคนอาจจะรู้กันอยู่แล้วว่า ผู้หญิงเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับการกดขี่ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ แรงกดดันและความคาดหวังมหาศาลจากสังคมบังคับให้พวกเธอต้องเป็นทั้งลูกสาว แม่ ภรรยา และผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในทำนองคลองธรรมอย่างไม่อาจกลายเป็นอื่น ไม่เช่นนั้นเธอจะถูกคำว่า ‘ผู้หญิงที่ใช้ไม่ได้’ ทาบทับในทุกก้าวย่างของชีวิต

เมื่อแรงกดทับนั้นถาโถมหนักหนาขึ้นทุกวัน การส่งเสียงเพื่อเรียกร้องและตอบโต้จึงเกิดขึ้น

หนังสือคือกระบอกเสียงรูปแบบหนึ่งที่ผู้หญิงชาวเกาหลีใต้เลือกใช้ และ คิมจียอง เกิดปี 82 คือหนึ่งในหนังสือเหล่านั้น

เล่าอย่างสั้นๆ คิมจียอง เกิดปี 82 คือบันทึกชีวิตของผู้หญิงชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมมากมายเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง จนจิตใจไม่อาจรับไหว 

คิมจียอง เกิดปี 82 ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไหวในสังคมระลอกใหญ่ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในเกาหลีใต้

ในวันนี้ Cho Nam-joo ผู้เขียน คิมจียอง เกิดปี 82 กลับมาอีกครั้งกับ ชื่อของเธอคือ…

“ฉันได้รับฟังเรื่องราวของผู้หญิงกว่าหกสิบคน ตั้งแต่วัยรุ่นอายุ 19 ปี ไปจนถึงคุณยายวัย 60 ปี ฉันเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องนี้จากเสียงเหล่านั้น” หญิงสาวผู้เขียนว่าอย่างนั้น

ชื่อของเธอคือ… เป็นบทบันทึกชีวิตผู้หญิงชาวเกาหลีใต้จำนวน 28 คน พวกเธอมีอายุ อาชีพ สถานะ ที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เชื่อมโยงเรื่องราวของพวกเธอเข้าด้วยกันคือ ความไม่เป็นธรรมที่พวกเธอได้รับอันเนื่องมาจากการเป็นผู้หญิง

การล่วงละเมิดทางเพศ การใช้อำนาจความเป็นชายเข้ากดข่มในที่ทำงาน การสูญเสียตัวตนและตำแหน่งแห่งหนของตัวเองบนโลกนี้

“ฉันได้เป็นลูกสาวของพ่อ ภรรยาของคุณ แม่ของลูกๆ และยังได้เป็นคุณยายของซูบิน แล้วชีวิตของฉันอยู่ที่ไหนกัน” –จากเรื่อง ถึงพ่อจินมย็อง 

การถูกผลักให้กลายเป็นอื่นเนื่องด้วยเพศสภาพที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม หรือแม้กระทั่งการกดทับจากผู้หญิงด้วยกันเอง อย่างเช่นเรื่องราวระหว่างแม่สามีและลูกสะใภ้ 

โช นัมจู เล่าเรื่องราวเหล่านี้ในลักษณะของเรื่องแต่ง เธอถ่ายทอดมันอย่างเรียบง่าย ภาษาที่ใช้นั้นไม่มีทั้งอคติหรือสำเนียงของการประณามหยามหมิ่นหรือโกรธขึ้ง เป็นเพียงการบอกเล่าสิ่งที่ตัวละครต้องประสบพบเจออย่างตรงไปตรงมา จนมันทำให้เราเชื่ออย่างไร้ข้อกังขาว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงแทบทุกคนในเกาหลีใต้

“ไม่มีเรื่องอะไรเป็นพิเศษ”

“เรื่องที่ฉันเผชิญมันไม่ได้แปลกใหม่”

เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้หญิงที่พูดคุยกับโช นัมจู กล่าวไว้

เพราะเรียบง่ายสามัญที่สุด ในแต่ละประโยค แต่ละตัวอักษรที่สายตาเลื่อนผ่านจึงส่งแรงสั่นสะเทือนและเจ็บปวดให้เรามากกว่าที่คิด มันทำให้เราตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องราวเหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่หลายๆ คนเลือกที่จะยอมรับและมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน เราก็ไม่สามารถทำใจยอมรับว่ามันคือความปกติได้เลย

แต่อย่างน้อยตัวละครในหนังสือเล่มนี้ก็คงจะรู้สึกอย่างที่เรารู้สึก มันจึงนำไปสู่การต่อสู้เพื่อทวงคืนสิทธิที่ตนเองพึงมีกลับคืนมา ซึ่งแน่นอน ไม่มีการต่อสู้ใดเกิดขึ้นและจบลงโดยไม่เจ็บปวด พวกเธอต้องเหน็ดเหนื่อย ร้าวรานทั้งกายและใจ และเมื่อทุกสิ่งผ่านพ้น มันก็ฝากแผลลึกที่ไม่อาจมีใครมองเห็นเอาไว้

ชื่อของเธอคือ… เป็นเหมือนส่วนขยายของ คิมจียอง เกิดปี 82 ที่พาเราไปสำรวจและมองเห็นชีวิตของผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ในรูปแบบหลากหลายมากขึ้น แต่นอกจากนั้นแล้วหนังสือยังมีแง่มุมที่เซอร์ไพรส์เราไม่น้อย นั่นคือนอกจากการทวงสิทธิในฐานะผู้หญิงแล้ว หลากตัวละครในหลายๆ เรื่องยังทวงสิทธิของตัวเองในฐานะ ‘ประชาชนชาวเกาหลีใต้’ เมื่อต้องเจอกับความไม่เป็นธรรมและการทุจริตภายในประเทศ

เราจึงได้เห็นเรื่องราวที่อิงมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น การประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา ที่ไม่พอใจอธิการบดีที่บริหารและออกนโยบายที่เน้นแต่เรื่องเงินและผลกำไรโดยไม่สนใจฟังเสียงนักศึกษา ทั้งยังมีการเอื้อประโยชน์ให้ลูกสาวของคนสนิทประธานาธิบดี Park Geun-hye จากการชุมนุมเล็กๆ นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ที่ส่งผลให้อธิการบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง (จากเรื่อง โลกใบใหม่)

หรือเหตุการณ์ ‘การปฏิวัติแสงเทียน’ ที่เป็นการรวมตัวกันของมวลชนชาวเกาหลีใต้เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีพัค กึนฮเย พ้นจากตำแหน่ง และถูกตรวจสอบจากกรณีใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง ถือเป็นหนึ่งในการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเกาหลีใต้ การประท้วงเกิดขึ้นที่จัตุรัสควางฮวามุนและนำไปสู่ชัยชนะของประชาชน พัค กึนฮเย ถูกโค่นลงจากตำแหน่งและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย (จากเรื่อง เส้นทางการสอบใหม่)

นอกเหนือจากการตีแผ่ชีวิต ความเจ็บปวด และความเข้มแข็งอันงดงามของผู้หญิงชาวเกาหลีใต้แล้ว ดูเหมือนสิ่งที่ ชื่อของเธอคือ… พยายามบอกกับเราก็คือ ความอยุติธรรมทั้งหลายในโลกนี้อาจจะยังคงอยู่อย่างนั้น หากเราไม่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อทวงคืนสิ่งที่เราถูกลิดรอนไป ใช่ มันอาจจะเหนื่อยยากแสนสาหัส เจ็บปวดจนแทบจะทนไม่ไหว และอาจทิ้งแผลลากยาวไว้ให้เรานานแสนนานหรืออาจจะชั่วชีวิต แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เราจะเห็นความสวยงามของมัน และภาคภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเราเคยยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งที่ควรค่าจะเป็นของเราและก้าวผ่านมันมาได้

“แม้จะเต็มไปด้วยใบหน้าแดงก่ำ น้ำเสียงที่ขาดห้วงอยู่เรื่อยๆ แต่ฉันจะไม่ลืมเลือนเลยว่า ที่สุดแล้วน้ำตาของพวกเธอก็ไม่หลั่งออกมาแม้แต่หยดเดียว…”

เพราะชีวิตคือการต่อสู้

เมื่อต่อสู้ย่อมมีบาดแผล

แต่เพราะมีบาดแผลจึงรู้ได้ว่าชีวิตนั้นเข้มแข็งและงดงามได้มากเพียงใด


อ่านเพิ่มเติม

dek-d.com/studyabroad

eastasiaforum.org

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone