“ต่อให้เป็นหนังผี แกนหลักของหนังก็คือความเป็นคน” ถอดรหัสการทำหนังกับโอ๋ ภาคภูมิ

(หมายเหตุ–บทความมีการสปอยล์เนื้อหาของ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, Homestay และ #HATETAG the project ตอน นักเกรียน)

ถ้านับจนถึงปัจจุบัน โอ๋–ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ก้าวเข้าสู่โลกภาพยนตร์เต็มตัวมาได้ 17 ปีแล้ว

นับตั้งแต่ก้าวแรกในการร่วมกำกับ ชัตเตอร์ กดติดวัญญาน กับโต้ง–บรรจง ปิสัญธนะกูล ต่อเนื่องมาจนถึง แฝด, สี่แพร่ง, ห้าแพร่ง, ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง, Homestay และล่าสุดอย่าง #HATETAG the project ที่เขามีโอกาสได้ทำหนังสั้นอีก 3 เรื่อง ทั้งหมดเป็นหลักฐานยืนยันถึงการทำงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของเขาได้เป็นอย่างดี

แต่นอกเหนือจากจำนวนเหล่านั้น อีกหนึ่งสิ่งที่โอ๋สร้างไว้คือคุณภาพของผลงานที่ชัดเจนจนเป็นดั่งลายเซ็น 

ทั้งการดำเนินเรื่องชวนระทึก โทนหนังสีหม่นและมู้ดของหนังชวนซีเรียส เหล่านี้ล้วนเป็นความเด่นชัดในผลงานเขาที่หลายคนจำได้เมื่อเห็น และนี่ยังเป็นเหตุผลที่พาเราเดินทางมาสนทนากับโอ๋ด้วยในวาระที่ #HATETAG the project กำลังออนแอร์

ในฐานะของรุ่นใหม่ที่กลายเป็นรุ่นใหญ่ในวงการ โอ๋มีเคล็ดลับวิชาอะไรในการสร้างงานที่เป็นดั่งภาพจำ สิ่งเหล่านั้นมีที่มาจากไหน และในปัจจุบันเขามองแนวทางการทำงานของตัวเองยังไง

ฟังเขาบอกเล่าได้ ผ่านถ้อยคำและผลงานในบรรทัดต่อจากนี้

โอ๋ ภาคภูมิ

คนทำหนังที่มีแนวทางและมู้ดแอนด์โทนชัดอย่างคุณ ชอบดูหนังแนวไหน แนวเดียวกับที่ตัวเองทำหรือเปล่า

ถ้านับตั้งแต่เริ่มเลย ผมคิดว่าตัวเองดูหนังทุกแนวนะ แต่ถ้าเอาที่ชอบเป็นพิเศษจะเป็นแนว ไซ-ไฟและทริลเลอร์ เมื่อก่อนผมไม่ใช่คอหนังแนวสยองขวัญเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นปัจจุบันคือไม่จำกัดแนวหนังแล้วครับ แนวไหนก็ได้แล้วแต่โอกาสที่ได้ดู

แล้วหนังที่ชอบส่งผลต่อหนังที่คุณทำบ้างไหม

ผมคิดว่ามันมีอิทธิพลต่อผมแน่นอน โดยเฉพาะหนังในยุคแรกๆ ที่ผมเริ่มดู ซึ่งถ้าให้คิดก็มีหนังหลายเรื่องที่เข้าข่าย แต่ถ้านับเฉพาะเรื่องที่ขึ้นมาในหัวบ่อยๆ ก็จะเป็น SEVEN (1995), The Silence of the Lambs (1991), Oldboy (2003) และ 12 Monkeys (1995) ที่มีสิ่งหนึ่งเหมือนกันคือการพลิกความคาดหมาย มันเป็นแนวหนังที่ทำให้ผมรู้สึกระทึก ตื่นเต้น และละสายตาจากมันไม่ได้เสมอ พูดง่ายๆ ว่ามันทำงานกับใจผม ซึ่งนี่ไม่ได้แปลว่าหนังต้องเครียดตลอดเวลานะ แต่เป็นหนังที่สามารถตราตรึงเราผ่านความจริงจังได้ ผมชอบโทนหนังแนวนี้ ดังนั้นพอมีโอกาสทำเองมันเลยถ่ายทอดออกมาผ่านงานของผมด้วย

แต่ผลงานแรกของคุณคือ ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ นั่นถือว่าไม่ตรงกับแนวที่ชอบหรือเปล่า

ชัตเตอร์ฯ เกิดจากโอกาสที่ค่ายให้เราทำ ซึ่งที่จริงเขาให้อิสระเราเลือกแนวหนัง แต่ตอนนั้นถ้าดูจากคอนเซปต์ทั้งหมดที่มี ชัตเตอร์ ถือว่าน่าสนใจที่สุด ผมกับโต้งเลยเลือกทำเรื่องนี้ที่ถึงแม้เป็นหนังสยองขวัญแต่ผมก็คิดว่าหนังยังสามารถอยู่ในกรอบความสนใจของผมได้ นั่นคือยังมีความเป็นทริลเลอร์อยู่ 

โอ๋ ภาคภูมิ

แล้วคุณที่ไม่ค่อยได้ดูหนังผี ทำยังไงเมื่อรู้ว่าจะได้กำกับหนังผี

ศึกษาและเรียนรู้ครับ

ช่วงก่อนทำ ชัตเตอร์ฯ ผมกับโต้งต้องดูหนังผีเยอะมากๆ ดูแล้วก็ต้องมาคัดว่าเรื่องไหนที่เราชอบ พอคัดแล้วก็ต้องเอามาวิเคราะห์ว่าแต่ละเรื่องมีจุดเด่น-จุดด้อยยังไง ถ้าเป็นเรื่องการเดินเรื่อง วิธีการคือผมกับโต้งจะเอาหนังที่ชอบมาแบ่งเป็นช่วงแล้วสังเกตว่า 10 นาทีแรกของหนังคืออะไร 15 นาทีต่อไปหนังพาเราไปจุดไหน จุดหักเหของเรื่องเกิดขึ้นนาทีใด และโดยรวมเส้นเรื่องเป็นยังไง เหมือนเราพยายามจับโครงสร้างที่ดีจากหนังเหล่านั้นเพื่อเอามาตั้งเป็นโจทย์ และพยายามคิดเรื่องของเราเองให้มีจังหวะที่เหมาะสม ไม่สะเปะสะปะ  

นอกจากนั้นในแต่ละเรื่องเราก็จะดูด้วยว่าพวกเขาใช้วิธีหลอกผีแบบไหน อะไรคือเหตุผลที่เราชอบซีนผีนั้นๆ และความรู้อะไรที่สามารถเอามาประยุกต์ใช้กับหนังได้ เพื่อให้สุดท้ายเนื้อเรื่องจะได้ออกมาดูน่าสนใจและคนดูอยากดูต่อจนถึงตอนจบ

แล้วจากการทำการบ้านนั้น คุณค้นพบเคล็ดลับในการสร้างเรื่องไหม

(นิ่งคิด) ผมคิดว่าเคล็ดลับต่างๆ มีช่วงเวลาจำกัดนะ เพราะความนิยมในพล็อตหรือวิธีการเล่าในแต่ละยุคมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ลองสังเกตจากหนังผีดูก็ได้ว่าในแต่ละยุคจะมีวิธีการดำเนินเรื่องที่ไม่เหมือนกันเลย อย่างยุคที่ผมทำ ชัตเตอร์ฯ ก็จะมีจังหวะแบบหนึ่ง ซึ่งไอ้จังหวะแบบนั้นไม่สามารถนำมาสร้างเป็นหนังผีในยุคนี้ได้ เพราะคนดูชินและไม่รู้สึกตื่นเต้นเท่าเดิมแล้ว

อย่างตอนชัตเตอร์ ยุคนั้นหนังผีจะนิยมสิ่งที่เรียกว่า ‘ตอนจบซ้อนตอนจบ’ คือคนดูคิดว่าหนังจบ ทุกอย่างเหมือนจะคลี่คลาย แต่อยู่ๆ ก็เฉลยว่ายังไม่จบ ผียังขี่คออยู่ ในยุคนั้นท่าเล่าแบบนี้มันทำให้หนังสนุกมาก คนดูเองก็รู้สึกเหนือความคาดหมาย แต่พอผ่านยุคนั้นมาคนดูก็เริ่มคาดเดาได้ ดังนั้นตอนนี้คนทำหนังก็ต้องหาท่าเล่าใหม่แล้ว

พอได้เรื่องมา คุณทำยังไงเพื่อสร้างงานให้ออกมาตามที่คิด

สำหรับผมคืออธิบายและถ่ายทอดภาพที่เห็นกับทีมงานอย่างชัดเจน หนังจะหม่นแค่ไหน ตัวละครมีความคิดความเชื่อยังไง ผมต้องอธิบายให้ทีมงานเห็นโลกของหนังอย่างชัดเจน เพื่อที่หลังจากนั้นทุกฝ่ายทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม ฉาก หรือการถ่ายทำ จะทำงานร่วมกัน ไม่แยกกันทำเพื่อให้งานออกมาในทางเดียว ในขณะเดียวกันก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทีมงานเช่นกัน

ยกตัวอย่างเรื่อง Homestay หนังเรื่องนี้ว่าด้วยพระเอกที่ได้รับโอกาสจากสวรรค์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ช่วงเขียนบทผมเลยเห็นภาพที่เป็นแนวเหนือจริงและอะไรที่เกี่ยวข้องกับสวรรค์หน่อยๆ ผมเห็นภาพในหลายๆ ซีนที่ใกล้ท้องฟ้า เห็นภาพซีนที่ฉากหลังใหญ่กว่าตัวละครมากเพราะแสดงถึงสิ่งยิ่งใหญ่ที่กำลังควบคุมชีวิตพระเอกอยู่ ผมเล่าภาพเหล่านี้ให้ทีมงานฟัง ซึ่งสุดท้ายใน Homestay ก็ออกมาเป็นแบบนั้น เช่น การที่มีฉากบนดาดฟ้าบ่อยๆ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการกำหนดมู้ดให้ทีมงานรับช่วงต่อจนเกิดเป็นโลเคชั่นและมุมกล้องอย่างที่ตั้งใจ

หรืออย่างเรื่องตัวละคร นี่ก็เป็นอีกหนึ่งการทำงานที่ทั้งตัวผม แอ็กติ้งโค้ช และนักแสดงต้องมาสร้างทิศทางร่วมกัน ตัวละครจะเป็นแบบไหน ต้องเล่นออกมาเบอร์ไหน เราต้องเตรียมทุกคนให้เห็นภาพเดียวกันเพื่อให้ตอนออกกองเราจะได้ไม่ต้องคุยกันแล้ว ผมจะพยายามจัดการทั้งหมดให้เรียบร้อยตั้งแต่ขั้นเวิร์กช็อปเลย

ในแง่วิธีการสร้าง คุณมีเคล็ดลับในการทำให้ภาพในหัวออกมาเวิร์กบ้างไหม

ต้อมยอมรับว่าหลายๆ อย่างก็เกิดจากเซนส์ แต่ถ้าเอาที่พอเล่าได้คือ ถ้าเลือกได้ผมจะใช้วิธีหยิบรายละเอียดจากเรื่องที่เกิดขึ้นจริงมาใส่ในซีนหนัง เพราะโดยส่วนตัวผมไม่ค่อยเก่งเรื่องการเขียนบทที่ต้องมโนสถานการณ์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

อย่างเวลานั่งเขียนบทกับน้องๆ ผมมักจะถามพวกเขาเสมอว่าอย่างเหตุการณ์นี้น้องๆ เคยเจอมาแบบไหนบ้าง หรือถ้าไม่มีใครเคยเจอเลย ผมก็จะพยายามไปหาคนอื่นที่เคยเจอเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อหาต้นทุนจากความจริงมาร้อยเรียงและสร้างขึ้นมาใหม่

ทำไมการมีส่วนหนึ่งของความจริงอยู่ในหนังถึงเวิร์กสำหรับคุณ

ผมคิดว่าคือเรื่องของความรู้สึกนะ ความบีบคั้นในชีวิตจริงของคนมันมากกว่าที่ใครสามารถจินตนาการถึงเสมอ ซึ่งหลายครั้งสิ่งนี้ทำงานกับจิตใจผม ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะมันทำให้ผมเชื่อว่าเรื่องราวนี้น่าจะทำงานกับจิตใจคนดูเช่นกัน นั่นเลยเป็นสิ่งที่ผมมองหาเพื่อเอามาผสมกับองค์ประกอบอื่นๆ ให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องราว

โอ๋ ภาคภูมิ

เมื่อสร้างภาพในหัวให้เกิดขึ้นจริงในกอง ในฐานะผู้กำกับคุณมีเกณฑ์ผ่านในใจไหม

ส่วนใหญ่ถ้าถึงขั้นตอนการถ่ายผมและทีมงานจะมีภาพคร่าวๆ อยู่แล้วว่าอยากได้แบบไหน ดังนั้นโดยปกตินั่นจะเป็นเหมือนมาตรฐานที่ต้องทำให้ได้ ถ้าเกิดความผิดพลาดก็ต้องพยายามทำจนกว่าจะผ่าน แต่ในทางตรงกันข้าม กรณีที่หน้างานดันถ่ายออกมาได้ ‘มากกว่า’ ที่คาดหวัง ก็ถือเป็นเรื่องที่โชคดีมากๆ

ยกตัวอย่างเช่น นักเกรียน ที่เพิ่งออกอากาศไป ตอนแรกฉากจบผมวางแผนไว้ว่าให้ตัวเอกยืนพูดบนโพเดียมสูงๆ แต่พอไปลองถ่ายจริงภาพที่เกิดขึ้นทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเอกอยู่ในระดับที่สูงกว่าครูมากเกินไป ทั้งที่ตามบทเขากำลังตกเป็นเหยื่อและถูกสังคมประนาม การยืนพูดอยู่ล่างโพเดียมน่าจะเมคเซนส์กว่า ซึ่งพี่สีบาน (ตากล้อง) ก็เข้ามาเสริมไอเดียว่างั้นเราน่าจะถ่ายให้เห็นอาจารย์และ ผ.อ.ที่อยู่บนจุดที่สูงกว่าด้วยเพื่อแสดงออกถึงระดับช้ัน 

หรืออย่างตอนแรกตามบทในตอนจบตัวเอกต้องพูดขอโทษพร้อมยกมือไหว้ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไร แต่พอถ่ายจริงนนท์ (ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์–นักแสดงนำ) กลับไม่ยกมือไหว้สักที ผมก็พูดผ่านไมค์ไปว่า ‘ไหว้ ไหว้สิ!’ นนท์ก็ยังไม่ไหว้ แล้วอยู่ดีๆ เขาก็โยนไมค์ทิ้งไปและเดินออกไปเลย สารภาพว่าตอนแรกผมงงนะที่เขาไม่ทำตามบทที่วางไว้ แต่พอกลับมาดูภาพแล้วมันกลายเป็นซีนที่โคตรดี ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าเออว่ะ ตัวละครมันควรทำแบบนี้มากกว่าไหว้จริงๆ ด้วย และสุดท้ายนั่นก็กลายเป็นซีนที่ใช้จริง 

เหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่าหน้างานมันมีโอกาสเกิดสิ่งที่ดีกว่าที่เราคาดหวังไว้ได้เสมอ

เหมือนสุดท้ายถ้ามากกว่าภาพที่คิดไว้ แต่ถ้ามันทำงานกับใจมากกว่า คุณก็จะให้ฉากนั้นผ่านอยู่ดี

(พยักหน้า) ผมว่าอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้คือซีนผี ผมให้ค่ากับความรู้สึกหน้างานครึ่งต่อครึ่งเลย เพราะต่อให้คิดมาดียังไง หลายครั้งมากที่ซีนผีหน้างานจะออกมาเป็นอีกแบบ หรือเลวร้ายที่สุดผมเคยเลิกกองไปเลยเพราะซีนที่คิดไว้ไม่เวิร์กก็มี

ยกตัวอย่างเช่น ชัตเตอร์ฯ ที่ในหนังจะมีอยู่ซีนหนึ่งที่ตัวเอกเห็นผีเกาะกระจกรถ แต่ในความเป็นจริงเดิมทีฉากนี้ไม่ใช่แบบนั้น แต่จะเป็นผีวิ่งตามรถซึ่งผมคิดไว้ว่าน่ากลัวกว่า แต่ปรากฏว่าพอถ่ายจริงภาพที่ออกมากลับตลกมาก กองถ่ายหัวเราะกันก๊าก แน่นอนว่าไม่มีทางใช้ได้แน่ๆ ดังนั้นเลยต้องเปลี่ยน ผมจึงลองวิธีแบบง่ายๆ คือให้ผียืนใกล้รถแล้วเกาะกระจกก่อน ผลปรากฏว่าเวิร์กเฉย ก็เลยใช้ซีนนี้ในหนังจริง

พอจะเปิดเผยถึงซีนที่ไม่เวิร์กจนทำให้ต้องเลิกกองได้ไหม

เป็นตอน รถมือสอง ที่ผมกำกับในหนังเรื่อง ห้าแพร่ง ปัญหาของเรื่องนี้คือแกนหลักของเรื่องที่ผมคิดนั้นไม่แข็งแรง ทำให้มุกผีต่างๆ ที่เตรียมการออกแบบมาเลยดูฝืนมาก เหมือนผมพยายามยัดลงไปเพื่อให้คนดูกลัวสักที ทั้งที่มันไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะหัวใจของหนังผีหรือหนังแนวใดๆ ก็ตามมันไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น แกนหลักของหนังคือการทำให้คนดูเชื่อในเรื่องของคนมากกว่า

เราต้องทำให้คนดูเชื่อว่าตัวละครของเรามีลมหายใจ มีอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง เพราะถ้าคนดูเชื่อเมื่อไหร่เขาจะรู้สึกเชื่อมต่อกับตัวละคร และถ้าเชื่อมต่อแล้ว ต่อให้แค่ปากกาหล่น แต่ถ้าตัวละครทำสีหน้ากลัวจัด คนดูก็สามารถกลัวจนถึงขีดสุดได้เช่นกันเพราะเขาเชื่อในตัวละครนั้นแล้ว ซึ่งนี่ก็เป็นแกนหลักที่ผมใช้ในหนังทุกเรื่องมาจนถึงตอนนี้

โอ๋ ภาคภูมิ

กับโปรเจกต์ล่าสุดอย่าง HATETAG ก็เช่นกัน

(พยักหน้า) โปรเจกต์นี้ผมทำ 3 เรื่อง ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ที่ดัดแปลงจากเรื่องจริงทั้ง 3 เรื่อง แกนหลักที่ผมใช้ในการทำงานก็ยังเหมือนเดิม เหมือนผมเริ่มชัดเจนแล้วว่าตัวเองเหมาะกับงานแบบไหน สไตล์และวิธีการเล่าเริ่มอยู่ตัวแล้วอย่างที่เล่าไป แต่สิ่งที่ต่างไปคงเป็นความผ่อนคลายที่มีมากขึ้น รวมถึงความสนุกกับเรื่องราวใหม่ๆ ที่รอให้ผมเอาตัวตนของตัวเองไปเล่าด้วย

ฟังมาทั้งหมดแล้วเหมือนคุณให้ค่ากับความชอบและสัญชาตญาณของตัวเองระหว่างการทำหนังมาก ถ้าให้สรุป คุณคิดว่าสิ่งนี้สำคัญยังไง

เพราะผมมองว่าการทำหนังยาวมันกินเวลาชีวิตเยอะ อย่างน้อยก็ 2 ปีที่ต้องอยู่กับมัน ดังนั้นถ้าผมไม่เชื่อในหนังของตัวเองมันจะเป็นความทรมาน สมมติง่ายๆ ว่าถ้าให้ผมไปทำหนังคอเมดี้ผมคงเครียดมาก เรื่องนี้จึงจำเป็นกับผมอย่างรุนแรง 

อีกอย่างคือเพราะในท้ายที่สุดการที่งานของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่เราเชื่อมันจะทำให้ผมรับฟังคอมเมนต์ทั้งดีและร้ายได้เพื่อพัฒนา ต่างกับการหลอกตัวเองให้ทำงานที่ไม่เชื่อ ซึ่งพอถูกตำหนิขึ้นมาบางครั้งใจผมก็จะไม่ยอมรับเพราะคิดว่านั่นไม่ใช่งานที่มาจากตัวเราทั้งหมด 

ดังนั้นในเมื่อผลงานของเราทุกชิ้นมันถูกวิจารณ์อยู่แล้ว ผมว่าให้คนวิจารณ์เราที่เป็นเราดีกว่า 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone