Call Me By Your Name : ฤดูร้อนไม่มีเธอ เหมือนก่อน เหมือนเก่า

Director: Luca Guadagnino
Region: Italy / USA / France
Genre: Drama

นี่คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่เรารอคอยมาตลอดครึ่งปีหลังจากเห็นเทรลเลอร์สั้นๆ ที่ทำเอาตกหลุมรักมู้ดโทนในหนังไปหมดใจ Call Me By Your Name ฉบับภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของนักเขียนอเมริกัน อันเดร อาซิแมน (André Aciman) โดยได้ ลูก้า กัวดาญิโน (Luca Guadagnino) ผู้กำกับที่เคยสร้างผลงานลือเลื่องอย่าง I Am Love (2009) และ A Bigger Splash (2015) มารังสรรค์ โดยลูก้าบอกว่าเรื่องนี้ถือเป็นการปิดไตรภาคของภาพยนตร์ที่เขาตั้งใจเล่าเรื่องความปรารถนาได้อย่างสมบูรณ์

เกริ่นเรื่องย่อสั้นๆ ฤดูร้อนปี 1983 ทางตอนเหนือของอิตาลี เอลิโอ รับบทโดย ทิโมธี ซาลาเมต (Timothee Chalamet) เด็กชายวัย 17 ที่ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อยในคฤหาสน์เก่าแก่กับครอบครัวโดยทั้งพ่อและแม่เป็นนักวิชาการ จนเมื่อ โอลิเวอร์ รับบทโดย อาร์มี่ แฮมเมอร์ (Armie Hammer) นักศึกษาหนุ่มชาวอเมริกันเดินทางมาช่วยงานวิจัยของพ่อเขา การปรากฏตัวของโอลิเวอร์ไม่เพียงทำให้เอลิโอรู้ว่าเขาช่างเป็นเด็กหนุ่มที่ไม่รู้เรื่องราวอะไร แต่ยังพาเขาไปยังสำรวจพื้นที่ใหม่ที่เขาไม่เคยรู้สึกมาก่อนอีกด้วย

สิ่งแรกที่ชวนเราเพลิดเพลินไปกับเวลา 2 ชั่วโมงกว่าของ Call Me By Your Name คืองานการกำกับภาพที่งามงด (ฝีมือของสยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพชาวไทยที่เคยสร้างผลงานในหนังหลายเรื่องของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล) หนังถ่ายทำที่เมืองเครมาทางตอนเหนือของอิตาลีที่เต็มไปด้วยสีสันและชีวิตชีวา ฉากสระว่ายน้ำ สนามหญ้า ทะเลตอนเหนือ และทิวทัศน์ของทุ่งหญ้าสุดลูกหูลูกตา ถูกใช้เป็น ‘ตัวละคร’ ที่เสริมให้หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยเสน่ห์กลมกล่อม รวมไปถึงสไตล์และสีสันของเสื้อผ้าตัวละครที่ชวนจัดวางมาอย่างดีก็ยิ่งทำให้เราอยากแพ็คกระเป๋าแล้วออกเดินทางไปทดลองใช้ชีวิตไม่ต้องคิดอะไรแบบเอลิโอเดี๋ยวนี้เลย

ช่วงต้นของหนังเล่าเรื่องตามลำดับเวลาอย่างรวดเร็ว ทำให้เราสนุกกับวิธีการทำความรู้จักกันของเอลิโอและโอลิเวอร์ ซึ่งยิ่งดูการแสดงของซาลาเมตและแฮมเมอร์แล้วก็ยิ่งตกหลุมรักเพราะเสน่ห์ของทั้งคู่แทบจะล้นทะลักออกมานอกจอ (เรียกได้ว่าดูแล้วใจละลายนั่นแหละ) รวมถึงเคมีบางอย่างที่เข้ากันดีเหลือเกิน แต่ดูเหมือนว่าช่วงกลางๆ เรื่องที่ความสัมพันธ์ของตัวละครเริ่มขยับมาใกล้กันและอยู่ในภาวะสับสน หนังค่อนข้างยืดเวลาส่วนนี้ให้นานขึ้น จะด้วยเหตุผลว่าอยากให้เป็นซีนพิเศษหรือไม่ เราไม่แน่ใจ แต่ก็รู้สึกว่าหนังยืดย้วยและวนไปวนมานิดหน่อย

ความน่าสนใจอีกอย่างของ Call Me By Your Name คือหนังย้ำให้เราเห็นถึงภาวะสับสนของตัวละครได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเอลิโอ โอลิเวอร์ หรือแม้แต่ตัวละครวัยรุ่นหญิงอื่นๆ ที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับสองหนุ่ม ตัวละครต้องเผชิญหน้ากับความปรารถนา อยากรู้อยากลอง และต้องพร้อมจะยอมรับความผิดพลาดเพื่อเรียนรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรจริงๆ

กัวดาญิโนกำกับฉากเซ็กส์ในเรื่องให้จัดวางตัวเองไว้ในคำว่า ‘ศิลปะ’ และ ‘น่าหลงใหล’ ได้อย่างพอดี มีมุกตลกในซีนที่ทำให้เราคนดูทั้งเขินและเหวอ (ถ้าใครดูจบแล้วอาจจะมองลูกพีชเปลี่ยนไป) ซึ่งเราเข้าใจว่าในฉบับนวนิยายก็อาศัยการบรรยายคำที่ทำให้เรา ‘รู้สึก’ แต่ไม่ถึงกับ ‘ปลุกเร้า’ อารมณ์เช่นกัน การเคลื่อนไหว อากัปกิริยาของนักแสดง ทุกการกระทำมีความหมาย สะท้อนว่าตัวละครอยู่ในภาวะไม่แน่ใจและห้วงอารมณ์ใคร่ที่ต้องการหาทางออก และหาคำตอบให้ตัวเองให้ได้ก่อนที่ทั้งเอลิโอและโอลิเวอร์จะไม่ได้เจอกันอีก

หากมองเผินๆ Call Me By Your Name ก็คือหนังที่พูดเรื่อง coming of age ตามสไตล์หนังวัยรุ่นทั่วไป แต่หนังเรื่องนี้เรียกร้องให้คนดูมองลึกลงไปกว่านั้น เพราะมันพูดถึงอิทธิพลของสังคมรอบๆ ตัวละครด้วย เราคิดว่าการที่เอลิโอเติบโตมาในครอบครัวนักวิชาการน่าจะมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้ครอบครัวของเขาเปิดกว้างและพร้อมจะเข้าใจสิ่งที่เขาเป็น เราจะเห็นว่าพ่อและแม่ของเอลิโอเหมือนจะรู้เห็นถึงความสัมพันธ์ของลูกชายกับโอลิเวอร์มาตลอด ซีนเล็กๆ ที่เอลิโอนั่งอยู่บนรถกับแม่หลังจากโอลิเวอร์ขึ้นรถไฟกลับประเทศไป หรืออย่างฉากที่พ่อเรียกเอลิโอมานั่งคุยกันคือซีนที่เราชอบมากที่สุด

“ตอนนี้อาจจะทุกข์ อาจจะเจ็บ แต่อย่าเร่งลืมมันจนลืมความสุขที่เคยมีอยู่ด้วย” คือประโยคที่พ่อของเอลิโอบอกกับลูกชายอย่างตรงไปตรงมา เป็นประโยคที่เรารีบจดจำใส่ไว้ในหัวและบันทึกลงไปให้หนัก

บทสนทนาว่าด้วยความเจ็บปวดและการเติบโตอาจฟังดูคลีเช่ แต่ถ้าไม่ผ่านมันไป เราจะเติบโตขึ้นได้จริงหรือ? และการเติบโตที่เกิดจากความเข้าใจว่าตัวเองเป็นใคร ต้องการอะไร ไม่ว่าจะเจ็บปวดอย่างไร ก็คงต้องขอบคุณอยู่ดี

ฉากจบของ Call Me By Your Name อาศัยการแสดงที่ทรงพลังของซาลาเมตอย่างร้ายกาจ และส่วนตัวเราถือคติที่ว่าถ้าฉากจบของภาพยนตร์เรื่องไหนทำเราใจสะเทือนได้ นี่ก็เป็นหนังที่ควรค่าแก่การดูแล้วล่ะ

Call Me By Your Name เข้าฉายวันที่ 14 ธันวาคมนี้ที่ House RCA เท่านั้น

AUTHOR